การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2557

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3011 กฎหมายลักษณะพยาน

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1 โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจําเลยชําระเงิน 500,000 บาท ตามสัญญากู้เงินท้ายฟ้อง พร้อมด้วยดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชําระเสร็จแก่โจทก์ จําเลยให้การว่า จําเลยไม่เคยกู้และรับเงิน 500,000 บาท ตามฟ้อง แต่จําเลยกู้และรับเงินจากโจทก์ เพียง 300,000 บาท โดยจําเลยลงลายมือชื่อในของผู้กู้ในสัญญากู้เงินท้ายฟ้อง ซึ่งขณะนั้นยังไม่มี การกรอกข้อความจํานวนเงินกู้และมอบให้โจทก์ยึดถือไว้ โจทก์กรอกข้อความในสัญญากู้เงินนั้นเกิน ความจริงโดยจําเลยมิได้ยินยอม สัญญากู้เงินที่โจทก์นํามาฟ้องจึงเป็นสัญญาปลอม ขอให้ยกฟ้อง ในวันชี้สองสถาน ศาลกําหนดประเด็นข้อพิพาทว่าสัญญากู้ที่โจทก์นํามาฟ้องเป็นสัญญากู้ปลอมหรือไม่ แต่เมื่อทนายจําเลยแถลงขอให้ศาลกําหนดประเด็นข้อพิพาทด้วยว่า จําเลยชําระหนี้ 300,000 บาท ตามคําให้การแก่โจทก์เรียบร้อยแล้ว ศาลจึงกําหนดประเด็นข้อพิพาทเพิ่มอีกข้อหนึ่งว่า จําเลยชําระหนี้ 300,000 บาท ตามคําให้การแล้วหรือไม่ ตามคําแถลงของจําเลย

ให้วินิจฉัยว่า คดีมีประเด็นข้อพิพาท ประการใด และถ้าในวันสืบพยาน คู่ความแถลงร่วมกันว่าพยานที่จะนํามาสืบถึงแก่กรรมไปหมดแล้ว ทั้งสองฝ่ายต่างไม่ติดใจสืบพยาน เช่นนี้ ศาลจะพิพากษาให้ฝ่ายใดชนะคดี

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 84/1 “คู่ความฝ่ายใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงเพื่อสนับสนุนคําคู่ความของตนให้คู่ความ ฝ่ายนั้นมีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงนั้น แต่ถ้ามีข้อสันนิษฐานไว้ในกฎหมายหรือมีข้อสันนิษฐานที่ควรจะเป็นซึ่ง ปรากฏจากสภาพปกติธรรมดาของเหตุการณ์เป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใด คู่ความฝ่ายนั้นต้องพิสูจน์เพียงว่าตนได้ปฏิบัติ ตามเงื่อนไขแห่งการที่ตนจะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานนั้นครบถ้วนแล้ว”

มาตรา 177 วรรคสอง “ให้จําเลยแสดงโดยชัดแจ้งในคําให้การว่า จําเลยยอมรับหรือปฏิเสธ ข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการนั้น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัย ดังนี้คือ

1 คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทประการใดบ้าง และ

2 ถ้าคู่ความทั้งสองฝ่ายต่างไม่ติดใจสืบพยาน ศาลจะพิพากษาให้ฝ่ายใดชนะคดี

ประเด็นที่ 1 คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทประการใด

ประเด็นข้อพิพาท หมายถึง ข้ออ้างข้อเถียงในปัญหาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่ฝ่ายหนึ่ง ยกขึ้นอ้างในคําคู่ความ และคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งไม่รับ ดังนั้นปัญหาข้อใดที่ฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างและคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง รับแล้ว ย่อมไม่เกิดเป็นประเด็นข้อพิพาท

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจําเลยชําระเงิน 500,000 บาท ตามสัญญากู้เงิน ท้ายฟ้อง แต่จําเลยให้การว่าจําเลยไม่เคยกู้และรับเงิน 500,000 บาทตามฟ้อง แต่จําเลยกู้และรับเงินจากโจทก์เพียง 300,000 บาทนั้น จากคําฟ้องและคําให้การดังกล่าว จะเห็นได้ว่าจําเลยมิได้ปฏิเสธว่าไม่ได้กู้เงินจากโจทก์ เพียงแต่ ปฏิเสธว่าไม่ได้กู้เงินและรับเงินจากโจทก์ 500,000 บาท แต่จําเลยได้กู้และรับเงินจากโจทก์เพียง 300,000 บาทเท่านั้น

ดังนั้น ประเด็นข้อพิพาทประการแรกจึงมีว่า “จําเลยได้กู้เงินและรับเงินจากโจทก์ 500,000 บาท จริง หรือไม่” ซึ่งประเด็นนี้โจทก์เป็นฝ่ายกล่าวอ้าง ดังนั้นภาระการพิสูจน์จึงตกแก่โจทก์

และการที่จําเลยให้การว่า จําเลยลงลายมือชื่อในช่องผู้กู้ในสัญญากู้เงินท้ายฟ้อง ซึ่งขณะนั้น ยังไม่มีการกรอกข้อความจํานวนเงินกู้และมอบให้โจทก์ยึดถือไว้ โจทก์กรอกข้อความในสัญญากู้เงินนั้นเกินความจริง โดยจําเลยมิได้ยินยอม สัญญากู้เงินที่โจทก์นํามาฟ้องจึงเป็นสัญญาปลอม เป็นกรณีที่จําเลยให้การต่อสู้ว่าเอกสารที่ โจทก์นํามาฟ้องนั้น เป็นเอกสารปลอม มิใช่เป็นกรณีที่จําเลยได้กล่าวอ้างข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ ดังนั้น ประเด็นข้อพิพาท ประการที่ 2 จึงมีว่า “สัญญากู้ที่โจทก์นํามาฟ้องเป็นสัญญากู้ปลอมหรือไม่” ซึ่งเมื่อโจทก์เป็นฝ่ายกล่าวอ้าง สัญญากู้ดังกล่าว ภาระการพิสูจน์ถึงความถูกต้องแท้จริงของสัญญากู้จึงตกแก่โจทก์ (ฎีกาที่ 2370/2529)

ประเด็นที่ 2 ถ้าคู่ความทั้งสองฝ่ายต่างไม่ติดใจสืบพยาน ศาลจะพิพากษาให้ฝ่ายใดชนะคดี

กรณีดังกล่าว เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า ในวันสืบพยาน คู่ความแถลงร่วมกันว่าพยานที่จะนํามา สืบถึงแก่กรรมไปหมดแล้ว ทั้งสองฝ่ายต่างไม่ติดใจสืบพยาน เมื่อโจทก์ซึ่งมีภาระการพิสูจน์ย่อมต้องเป็นฝ่ายแพ้คดี และจําเลยจะเป็นฝ่ายชนะคดี ดังนั้น ศาลจะพิพากษายกฟ้องโจทก์และให้จําเลยเป็นฝ่ายชนะคดี

สรุป

คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทว่า

(1) จําเลยได้กู้เงินและรับเงินจากโจทก์ 500,000 บาท จริงหรือไม่

(2) สัญญากู้ที่โจทก์นํามาฟ้องเป็นสัญญากู้ปลอมหรือไม่ และเมื่อคู่ความทั้งสองฝ่ายแถลงไม่ติดใจสืบพยาน ศาลจะพิพากษาให้จําเลยเป็นฝ่ายชนะคดี

 

ข้อ 2 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจําเลยทั้งสองฐานร่วมกันลักทรัพย์ จําเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ โดยจําเลยที่ 1 อ้างนายหนึ่งและนายสองเป็นพยาน ส่วนจําเลยที่ 2 อ้างนายสามเป็นพยาน เมื่อสืบพยานโจทก์และ ตัวจําเลยทั้งสองเสร็จแล้ว ทนายความของจําเลยที่ 1 นํานายหนึ่งเข้าเบิกความเป็นพยานจําเลยที่ 1 จนจบ ปรากฏว่านายสองและนายสามนั่งฟังคําเบิกความของนายหนึ่งอยู่ด้วย ต่อมาทนายความ ฝ่ายจําเลยนํานายสองและนายสามเข้าเบิกความเป็นพยานจําเลยจนจบ โจทก์คัดค้านว่า ศาลไม่ควร ฟังคําเบิกความของนายสองและนายสามเพราะเป็นการผิดระเบียบ หรือถ้าก่อนที่ทนายความของ จําเลยที่ 1 จะซักถามนายหนึ่งนั้น ศาลทราบว่านายสองและนายสามนั่งอยู่ในห้องพิจารณาด้วย จึงมีคําสั่งให้นายสองและนายสามออกไปอยู่นอกห้องพิจารณาจนกว่าจะเข้ามาเบิกความ

ให้วินิจฉัยว่า

ข้อคัดค้านของโจทก์ฟังขึ้นหรือไม่ และคําสั่งของศาลในกรณีดังกล่าวชอบหรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 114 “ห้ามไม่ให้พยานเบิกความต่อหน้าพยานอื่นที่จะเบิกความภายหลัง และศาล มีอํานาจที่จะสั่งพยานอื่นที่อยู่ในห้องพิจารณาให้ออกไปเสียได้

แต่ถ้าพยานคนใดเบิกความโดยได้ฟังคําพยานคนก่อนเบิกความต่อหน้าตนมาแล้ว และ คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งอ้างว่าศาลไม่ควรฟังคําเบิกความเช่นว่านี้ เพราะเป็นการผิดระเบียบ ถ้าศาลเห็นว่าคําเบิกความ เช่นว่านี้เป็นที่เชื่อฟังได้ หรือมิได้เปลี่ยนแปลงไปโดยได้ฟังคําเบิกความของพยานคนก่อน หรือไม่สามารถทําให้ คําวินิจฉัยชี้ขาดของศาลเปลี่ยนแปลงไปได้ ศาลจะไม่ฟังว่าคําเบิกความเช่นว่านี้เป็นผิดระเบียบก็ได้”

 

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 15 “วิธีพิจารณาข้อใดซึ่งประมวล กฎหมายนี้มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ให้นําบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับ เท่าที่พอจะใช้บังคับได้”

มาตรา 236 “ในระหว่างพิจารณาศาลมีอํานาจสั่งให้ผู้ที่จะเป็นพยานซึ่งมิใช่จําเลย ออกไป อยู่นอกห้องพิจารณาจนกว่าจะเข้ามาเบิกความ…”

วินิจฉัย

ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 114 เป็นเรื่องการห้ามพยานเบิกความต่อหน้าพยานอื่น ซึ่งกําหนดไว้ว่า ห้ามมิให้พยานเบิกความต่อหน้าพยานอื่นที่จะเบิกความภายหลัง ซึ่งคําว่า “พยานอื่นที่จะเบิกความภายหลัง” นี้ หมายถึงเฉพาะพยานฝ่ายตนเท่านั้น ดังนั้น หากมีพยานอื่นดังกล่าวมานั่งฟังคําเบิกความอยู่ด้วย ศาลมีอํานาจที่จะสั่งพยานอื่นที่อยู่ในห้องพิจารณาให้ออกไปจากห้องได้ และบทบัญญัติตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 114 ดังกล่าวให้ นํามาใช้บังคับกับการพิจารณาคดีอาญาด้วย ป.วิ.อาญา มาตรา 15)

กรณีตามอุทาหรณ์ เมื่อจําเลยที่ 1 อ้างนายหนึ่งและนายสองเป็นพยาน ส่วนจําเลยที่ 2 อ้าง นายสามเป็นพยานนั้น การที่ทนายความของจําเลยที่ 1 นํานายหนึ่งเข้าเบิกความเป็นพยานจําเลยที่ 1 จนจบ และ ปรากฏว่านายสองและนายสามนั่งฟังคําเบิกความของนายหนึ่งอยู่ด้วยนั้น กรณีของนายสองถือว่าเป็น “พยานอื่น ที่จะเบิกความภายหลัง” ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 114 ประกอบ ป.วิ.อาญา มาตรา 15 จึงไม่สามารถเข้าฟังนายหนึ่ง เบิกความได้ ดังนั้นโจทก์จึงสามารถคัดค้านว่าศาลไม่ควรฟังคําเบิกความของนายสอง เพราะเป็นการผิดระเบียบได้ และถ้าศาลทราบว่านายสองนั่งอยู่ในห้องพิจารณาก่อนที่ทนายความของจําเลยที่ 1 จะซักถามนายหนึ่ง ศาลก็มีอํานาจ สั่งให้นายสองออกไปอยู่นอกห้องพิจารณาจนกว่าจะเข้ามาเบิกความได้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 236

ส่วนกรณีของนายสามนั้น เป็นพยานของจําเลยที่ 2 มิใช่พยานของจําเลยที่ 1 ย่อมสามารถ เข้าฟังนายหนึ่งเบิกความได้ เพราะไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 114 ประกอบ ป.วิ.อาญา มาตรา 15 ดังนั้น โจทก์จึงไม่อาจคัดค้านว่าศาลไม่ควรฟังคําเบิกความของนายสาม เพราะเป็นการผิดระเบียบได้ และศาลก็จะสั่งให้ นายสามออกไปอยู่นอกห้องพิจารณาจนกว่าจะเข้ามาเบิกความตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 236 ไม่ได้ เพราะนายสาม มิใช่พยานของจําเลยที่ 1 แต่อย่างใด

สรุป

ข้อคัดค้านของโจทก์ฟังขึ้นเฉพาะกรณีของนายสอง แต่กรณีของนายสามฟังไม่ขึ้น และ คําสั่งของศาลกรณีของนายสองชอบด้วยกฎหมาย แต่คําสั่งกรณีของนายสามไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ 3 นายนพเป็นโจทก์ฟ้องนางอรจําเลยให้ชําระราคาค่าที่ดินตามสัญญาซื้อขายที่ดิน นางอรได้ให้การต่อสู้ว่าไม่ได้ทําสัญญาซื้อขายที่ดินกับนายนพ และที่ตนยอมลงชื่อในสัญญาซื้อขายที่ดินก็เพราะ หลงเชื่อคําที่นายนพอ้างว่าเพื่อสะดวกในการแบ่งแยก ในวันสืบพยานนางอร นางอรได้ขอนํา พยานบุคคลคือนายเอกและนายโทเข้าสืบพยานเพื่อยืนยันว่านางอรได้ลงชื่อในสัญญาซื้อขายที่ดิน แปลงดังกล่าวด้วยเหตุผลดังกล่าวจริง กรณีนี้ นางอรจําเลยจะนํานายเอกและนายโทเข้าสืบพยาน ในชั้นศาลได้หรือไม่ อย่างไร

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 94 “เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ห้ามมิให้ศาลยอมรับฟัง พยานบุคคลในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ แม้ถึงว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะได้ยินยอมก็ดี

(ก) ขอสืบพยานบุคคลแทนพยานเอกสาร เมื่อไม่สามารถนําเอกสารมาแสดง

(ข) ขอสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้างอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อได้นําเอกสารมาแสดงแล้วว่า ยังมีข้อความเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นอยู่อีก

แต่ว่าบทบัญญัติแห่งมาตรานี้ มิให้ใช้บังคับในกรณีที่บัญญัติไว้ในอนุมาตรา (2) แห่งมาตรา 93 และมิให้ถือว่าเป็นการตัดสิทธิคู่ความในอันที่จะกล่าวอ้างและนําพยานบุคคลมาสืบประกอบข้ออ้าง พยานเอกสารที่ แสดงนั้นเป็นเอกสารปลอมหรือไม่ถูกต้องทั้งหมด หรือแต่บางส่วน หรือสัญญาหรือหนี้อย่างอื่นที่ระบุไว้ในเอกสารนั้น ไม่สมบูรณ์ หรือคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตีความหมายผิด”

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ย่อมต้องห้ามมิให้นํา พยานบุคคลมาสืบแทนพยานเอกสาร ในเมื่อไม่สามารถนําเอกสารมาแสดง หรือขอสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้าง อย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อได้นําเอกสารมาแสดงแล้วว่ายังมีข้อความเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความ ในเอกสารนั้นอยู่อีก เว้นแต่กรณีอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ที่สามารถนําสืบพยานบุคคลหักล้างพยานเอกสารได้ คือ

1 กรณีต้นฉบับเอกสารสูญหาย หรือถูกทําลายโดยเหตุสุดวิสัย หรือไม่สามารถนําต้นฉบับมาได้โดยประการอื่น

2 พยานเอกสารที่แสดงนั้นเป็นเอกสารปลอม

3 พยานเอกสารที่แสดงนั้นไม่ถูกต้องทั้งหมดหรือบางส่วน

4 สัญญาหรือหนี้ที่ระบุไว้ในเอกสารไม่สมบูรณ์

5 คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตีความหมายผิด

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายนพเป็นโจทก์ฟ้องนางอรจําเลยให้ชําระราคาค่าที่ดินตาม สัญญาซื้อขายที่ดิน และนางอรได้ให้การต่อสู้ว่าไม่ได้ทําสัญญาซื้อขายที่ดินกับนายนพ แต่ที่ตนยอมลงชื่อใน สัญญาซื้อขายที่ดิน ก็เพราะหลงเชื่อคําที่นายนพอ้างว่าเพื่อความสะดวกในการแบ่งแยก และในวันสืบพยานนางอร นางอรได้ขอนําพยานบุคคลคือนายเอกและนายโทเข้าสืบพยานเพื่อยืนยันว่านางอรได้ลงชื่อในสัญญาซื้อขายที่ดินแปลงดังกล่าวด้วยเหตุผลดังกล่าวจริงนั้น มิใช่กรณีที่นางอรจําเลยขอนําพยานบุคคลมาสืบเพื่อเปลี่ยนแปลงแก้ไข ข้อความในเอกสารตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 94 (ข) แต่เป็นการนําพยานบุคคลมาสืบประกอบข้ออ้างว่าหนี้ที่ระบุ ไว้ในเอกสารไม่สมบูรณ์ ดังนั้น นางอรจําเลยจึงสามารถนํานายเอกและนายโทเข้าสืบพยานในชั้นศาลได้ (ฎีกาที่ 2058/2523)

สรุป

นางอรจําเลยสามารถนํานายเอกและนายโทเข้าสืบพยานในชั้นศาลได้

Advertisement