การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2555

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3011 กฎหมายลักษณะพยาน

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1 ในคดีเรื่องหนึ่ง โจทก์ฟ้องว่าจําเลยเป็นภริยาของนายกนก นายกนกกู้ยืมเงินโจทก์ไปแล้วไม่ชําระหนี้ตามกําหนด ต่อมานายกนกถึงแก่ความตาย จําเลยเป็นทายาทผู้รับมรดกของนายกนก จึงต้องรับผิด ชําระหนี้ให้โจทก์ โจทก์ทวงถามแล้วจําเลยไม่ชําระ ขอบังคับให้จําเลยใช้ต้นเงินและดอกเบี้ย จําเลยให้การว่า นายกนกไม่เคยกู้ยืมเงินโจทก์ สัญญากู้ยืมเงินตามฟ้องเป็นเอกสารปลอม นายกนก เคยเช่าที่ดินแปลงหนึ่งของโจทก์และลงลายมือชื่อในสัญญากู้ยืมเงินซึ่งไม่ได้กรอกข้อความให้โจทก์ ยึดถือไว้ฉบับหนึ่งเพื่อประกันการชําระค่าเช่าที่ดินซึ่งจะเป็นฉบับเดียวกับสัญญากู้ยืมเงินที่โจทก์ นํามาฟ้องจําเลยหรือไม่ จําเลยไม่ทราบ แต่จําเลยขอยืนยันว่าลายมือชื่อในช่องผู้กู้ไม่ใช่ลายมือชื่อ ของนายกนก สัญญากู้ยืมเงินที่โจทก์นํามาฟ้องเป็นเอกสารปลอม ขอให้ยกฟ้อง ให้วินิจฉัยว่า คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทหรือไม่ ประการใด และหากมีประเด็นข้อพิพาท ฝ่ายใดมีภาระการพิสูจน์

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 84/1 “คู่ความฝ่ายใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงเพื่อสนับสนุนคําคู่ความของตนให้คู่ความ ฝ่ายนั้นมีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงนั้น แต่ถ้ามีข้อสันนิษฐานไว้ในกฎหมายหรือมีข้อสันนิษฐานที่ควรจะเป็นซึ่ง ปรากฏจากสภาพบกติธรรมดาของเหตุการณ์เป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใด คู่ความฝ่ายนั้นต้องพิสูจน์เพียงว่าตนได้ ปฏิบัติตามเงื่อนไขแห่งการที่ตนจะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานนั้นครบถ้วนแล้ว”

มาตรา 183 “ข้อกฎหมายหรือข้อเท็จจริงที่คู่ความฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างแต่คู่ความฝ่ายอื่น ไม่รับและเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับประเด็นข้อพิพาทตามคําคู่ความให้ศาลกําหนดไว้เป็นประเด็นข้อพิพาท และกําหนดให้คู่ความฝ่ายใดนําพยานหลักฐานมาสืบในประเด็นข้อใดก่อนหรือหลังก็ได้”

วินิจฉัย

ประเด็นข้อพิพาท หมายถึง ข้ออ้างข้อเถียงในปัญหาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่ฝ่ายหนึ่ง ยกขึ้นอ้างในคําคู่ความ และคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งไม่รับ ดังนั้นปัญหาข้อใดที่ฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างและคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง รับแล้ว ย่อมไม่เกิดเป็นประเด็นข้อพิพาท

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์ฟ้องว่าจําเลยเป็นภริยาของนายกนก นายกนกกู้ยืมเงินโจทก์ไป แล้วไม่ชําระหนี้ตามกําหนด ต่อมานายกนกถึงแก่ความตาย จําเลยเป็นทายาทผู้รับมรดกของนายกนกจึงต้องรับผิด ชําระหนี้ให้โจทก์ และจากคําให้การของจําเลยซึ่งจําเลยให้การตอนแรกปฏิเสธว่า นายกนกสามีจําเลยไม่เคย กู้ยืมเงินโจทก์ สัญญากู้ยืมเงินโจทก์ทําปลอมขึ้นนั้น เท่ากับจําเลยปฏิเสธว่าไม่มีมูลหนี้ที่จําเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ ส่วนที่จําเลยให้การตอนหลังว่า นายกนกเคยลงลายมือชื่อในสัญญากู้ยืมเงินซึ่งไม่ได้กรอกข้อความให้โจทก์ยึดถือ ไว้ฉบับหนึ่งเพื่อประกันการชําระค่าเช่าที่ดินซึ่งจะเป็นฉบับเดียวกับสัญญากู้ยืมเงินที่โจทก์นํามาฟ้องจําเลยหรือไม่ จําเลยไม่ทราบได้ เท่ากับจําเลยไม่ได้ให้การยอมรับ และในตอนสุดท้ายจําเลยก็ยืนยันว่าสัญญากู้เงินที่โจทก์นํามาฟ้อง เป็นเอกสารปลอมเพราะลายมือชื่อในช่องผู้กู้ไม่ใช่ลายมือชื่อของสามีจําเลยอันเป็นการปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้น ดังนั้นคดีนี้จึงมีประเด็นข้อพิพาทว่า นายกนกสามีจําเลยทําสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ตามฟ้องจริงหรือไม่ (เทียบเคียง คําพิพากษาฎีกาที่ 384/2525)

 

สําหรับหน้าที่นําสืบหรือภาระการพิสูจน์นั้น ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84/1 ได้กําหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า “ผู้ใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงใดผู้นั้นมีหน้าที่นําสืบ” และตามอุทาหรณ์ เมื่อโจทก์กล่าวอ้างว่านายกนกสามีจําเลย ได้ทําสัญญากู้ยืมเงินของโจทก์ไป แต่จําเลยให้การปฏิเสธ ดังนั้นโจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงตามที่กล่าวอ้าง

สรุป

คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทว่านายกนกสามีจําเลยทําสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ตามฟ้องจริงหรือไม่ และโจทก์มีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงตามที่กล่าวอ้าง

 

ข้อ 2 พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องนายหนึ่งและนายสองเป็นจําเลยในข้อหาร่วมกันลักทรัพย์ หลังจากศาลอ่านและอธิบายฟ้องให้จําเลยฟังแล้ว นายหนึ่งให้การรับสารภาพ นายสองให้การปฏิเสธ ศาลสั่งจําหน่ายคดี สําหรับนายสองโดยให้โจทก์แยกฟ้องนายสองเป็นคดีใหม่ และพิพากษาลงโทษจําคุกนายหนึ่ง ซึ่งคดีถึงที่สุดแล้ว ในคดีที่โจทก์ฟ้องนายสองเป็นคดีใหม่ นายสองให้การปฏิเสธ โจทก์นํานายหนึ่ง มาเบิกความว่า นายสองได้ร่วมลักทรัพย์กับนายหนึ่งตามฟ้อง นายสามผู้ร่วมลักทรัพย์อีกคนหนึ่ง แต่ถูกกันไว้เป็นพยานมาเบิกความว่า นายสองร่วมกับนายหนึ่งและนายสามลักทรัพย์ตามฟ้อง และนายสีซึ่งโจทก์ระบุไว้ในบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมและศาลอนุญาตแล้ว แต่พนักงานสอบสวน ไม่ได้สอบคําให้การนายสีไว้ในชั้นสอบสวน ทั้งโจทก์ก็มิได้สอบคําให้การไว้เช่นกันมาเบิกความว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุ นายสี่เห็นนายหนึ่ง นายสองและนายสามร่วมกันลักทรัพย์ตามฟ้อง

ให้วินิจฉัยว่า คําเบิกความของนายหนึ่ง นายสามและนายสี่พยานโจทก์รับฟังได้หรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 226 “พยานวัตถุ พยานเอกสาร หรือพยานบุคคลซึ่งน่าจะพิสูจน์ได้ว่าจําเลยมีผิดหรือ บริสุทธิ์ ให้อ้างเป็นพยานหลักฐานได้ แต่ต้องเป็นพยานชนิดที่มิได้เกิดขึ้นจากการจูงใจ มีคํามั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวง หรือโดยมิชอบประการอื่น และให้สืบตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นอันว่าด้วยการสืบพยาน”

มาตรา 232 “ห้ามมิให้โจทก์อ้างจําเลยเป็นพยาน”

วินิจฉัย

การห้ามโจทก์อ้างจําเลยเป็นพยานตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 232 หมายถึง จําเลยในคดีเดียวกัน เท่านั้น ผู้ที่ร่วมกระทําความผิดด้วยกันแต่ถูกฟ้องเป็นอีกคดีหนึ่ง หรือผู้ที่ร่วมกระทําผิดกับจําเลยแต่มิได้ถูกฟ้อง เป็นจําเลยเพราะถูกกันไว้เป็นพยาน กรณีเช่นนี้ก็ย่อมไม่ต้องห้ามตามมาตรานี้แต่อย่างใด

กรณีตามอุทาหรณ์ คําเบิกความของนายหนึ่ง นายสามและนายสี่รับฟังได้หรือไม่ เห็นว่า แม้นายหนึ่งและนายสองจะเป็นผู้ร่วมกระทําความผิดด้วยกันก็ตาม แต่เมื่อศาลสั่งจําหน่ายคดี โดยให้โจทก์ แยกฟ้องนายสองเป็นคดีใหม่ กรณีเช่นนี้ นายหนึ่งจึงไม่ได้เป็นจําเลยในคดีที่โจทก์แยกฟ้องนายสองเป็นคดีใหม่ โจทก์จึงอ้างนายหนึ่งเป็นพยานได้ ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 232 แต่อย่างใด

กรณีนายสาม ซึ่งเป็นผู้ร่วมลักทรัพย์ไม่ได้ถูกฟ้องเป็นจําเลยด้วย โดยถูกกันไว้เป็นพยาน ดังนั้น เมื่อนายสามมิได้อยู่ในฐานะเป็นจําเลย โจทก์จึงอ้างนายสามเป็นพยานได้ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 232

และนายสี่ซึ่งเป็นประจักษ์พยาน เมื่อพิจารณาแล้วน่าจะพิสูจน์ได้ว่านายสองกระทําความผิดจริง ตามฟ้อง ทั้งไม่ปรากฏว่านายสี่เป็นพยานชนิดที่เกิดจากการจูงใจ มีคํามั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวง หรือโดยมิชอบประการอื่น ดังนั้น โจทก์จึงอ้างนายสี่เป็นพยานใต้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 226 และไม่มีกฎหมายบัญญัติ ไว้ว่าพยานบุคคลของโจทก์ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 226 นั้น พนักงานสอบสวนต้องสอบคําให้การในชั้นสอบสวน หรือพนักงานอัยการได้เรียกมาสอบคําให้การเป็นพยานไว้แล้ว จึงจะอ้างเป็นพยานในชั้นศาลได้

ดังนั้น คําเบิกความของนายหนึ่ง นายสามและนายสี่ พยานโจทก์จึงรับฟังได้ ส่วนจะเพียงพอ ให้แน่ใจว่ามีการกระทําผิดจริงและนายสามเป็นผู้กระทําความผิดนั้นหรือไม่ เป็นดุลพินิจของศาลในการชั่งน้ำหนัก พยานบุคคลว่าพอฟังลงโทษนายสามจําเลยได้หรือไม่ ทั้งนี้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 227

สรุป

คําเบิกความของนายหนึ่ง นายสามและนายสี่ พยานโจทก์รับฟังได้

 

ข้อ 3 โจทก์เช่าที่ดินของจําเลยเพื่อก่อสร้างสถานีบริการน้ำมัน แต่ทางจังหวัดไม่อนุญาตให้สร้าง โจทก์จึงบอกเลิกการเช่าที่ดินกับจําเลยซึ่งตามสัญญาให้สิทธิบอกเล็กได้ และฟ้องเรียกค่าเช่าล่วงหน้าคืน จํานวน 8 ล้านบาท ในสัญญาเช่าที่ดินมีข้อความระบุไว้ว่า ชําระค่าเช่าล่วงหน้าสําหรับการเช่า 21 ปี เป็นเงิน 8 ล้านบาท ดังนี้ จําเลยจะนําพยานบุคคลมาสืบว่าจําเลยมีเจตนาที่จะให้เงินจํานวน 8 ล้านบาทเป็นเงินค่าตอบแทนพิเศษหรือเงินกินเปล่าได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 94 “เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ห้ามมิให้ศาลยอมรับฟัง พยานบุคคลในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ แม้ถึงว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะได้ยินยอมก็ดี

(ก) ขอสืบพยานบุคคลแทนพยานเอกสาร เมื่อไม่สามารถนําเอกสารมาแสดง

(ข) ขอสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้างอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อได้นําเอกสารมาแสดงแล้วว่า ยังมีข้อความเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นอยู่อีก”

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ย่อมต้องห้ามมิให้นํา พยานบุคคลมาสืบแทนพยานเอกสาร ในเมื่อไม่สามารถนําเอกสารมาแสดง หรือขอสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้าง อย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อได้นําเอกสารมาแสดงแล้วว่ายังมีข้อความเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความ ในเอกสารนั้นอยู่อีก

กรณีตามอุทาหรณ์ เมื่อเอกสารสัญญาเช่าที่ดินมีข้อความระบุไว้ชัดเจนแล้วว่า ชําระค่าเช่าล่วงหน้า สําหรับการเช่า 21 ปี เป็นเงิน 8 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเช่าอสังหาริมทรัพย์เกิน 3 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 538 ที่บัญญัติ ให้ต้องทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ การที่จําเลยจะนําพยานบุคคลมาสืบว่าจําเลยมีเจตนาที่จะ ให้เงินจํานวน 8 ล้านบาท เป็นเงินค่าตอบแทนพิเศษหรือเงินกินเปล่านั้น ย่อมถือว่าเป็นการสืบเพื่อเปลี่ยนแปลงแก้ไข ข้อความในเอกสารนั้น ซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 94(ข) ดังนั้น จําเลยจะนําพยานบุคคลมาสืบในกรณีนี้ไม่ได้

สรุป

จําเลยจะนําพยานบุคคลมาสืบในกรณีดังกล่าวไม่ได้

Advertisement