การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2559
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3011 กฎหมายลักษณะพยาน
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ
ข้อ 1 (1) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 84 บัญญัติว่า การวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงในคดีใดจะต้องกระทําโดยอาศัยพยานหลักฐานในสํานวนคดีนั้น เว้นแต่ (3) ข้อเท็จจริงที่คู่ความ รับหรือถือว่ารับกันแล้วในศาล
ให้อธิบายว่า ในคดีแพ่ง ข้อเท็จจริงใดเป็นข้อเท็จจริง ที่คู่ความรับหรือถือว่ารับกันแล้วในศาล
(2) โจทก์ฟ้องว่า จําเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจําเลยที่ 2 ในวันเวลาเกิดเหตุ จําเลยที่ 1 ขับรถโดยสารของจําเลยที่ 2 ไปในทางการที่จ้าง และด้วยความประมาท จําเลยที่ 1 ขับรถชนเสาไฟฟ้าข้างถนน เป็นเหตุให้โจทก์ซึ่งนั่งมาในรถโดยสารคันดังกล่าวได้รับอันตรายแก่กาย ต้องเสียค่ารักษาพยาบาล 50,000 บาท ขอให้จําเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย จําเลยทั้งสองให้การว่า จําเลยที่ 1 ไม่ได้ขับรถโดยสารด้วยความประมาท ความเสียหายเกิดแต่ เหตุสุดวิสัยเพราะมีเด็กวิ่งข้ามถนนตัดหน้ารถโดยสารที่จําเลยที่ 1 ขับโดยกะทันหัน ในวันเกิดเหตุ จําเลยที่ 1 มาสมัครเข้าทํางานกับจําเลยที่ 2 จําเลยที่ 2 ให้ไปทดลองขับรถโดยสารคันเกิดเหตุ ยังไม่ได้เป็นลูกจ้างของจําเลยที่ 2 จําเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง เช่นนี้ คดีมีประเด็น ข้อพิพาทและภาระการพิสูจน์ประการใด
ธงคําตอบ
(1) ในคดีแพ่ง ข้อเท็จจริงที่คู่ความรับหรือถือว่ารับกันแล้วในศาล มีดังนี้คือ
1 คําให้การรับโดยชัดแจ้ง (ของจําเลย) ซึ่งข้อเท็จจริงตามคําฟ้อง (ของโจทก์) พร้อมทั้ง แสดงเหตุแห่งการรับ ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง
2 คําให้การโดยไม่ชัดแจ้ง แต่ให้ถือว่าจําเลยยอมรับหรือที่เรียกว่าเป็นการยอมรับ โดยปริยาย ซึ่งได้แก่กรณีดังต่อไปนี้
2.1 กรณีจําเลยไม่ให้การปฏิเสธคําฟ้องข้อใด ให้ถือว่าจําเลยยอมรับข้อเท็จจริงใน คําฟ้องข้อนั้นแล้ว เว้นแต่ในเรื่องค่าเสียหายและในกรณีที่จําเลยขาดนัดยื่นคําให้การ แม้จําเลยจะไม่ได้โต้แย้งใน เรื่องค่าเสียหาย หรือไม่ได้ยื่นคําให้การ จะถือว่าจําเลยยอมรับในข้อนั้นไม่ได้
2.2 จําเลยให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์พร้อมทั้งเหตุแห่งการปฏิเสธโดยไม่ชัดแจ้ง ซึ่งถือ ว่าเป็นคําให้การที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.แพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง เช่น
(ก) คําให้การที่ว่า “นอกจากที่จําเลยให้การต่อไปนี้ให้ถือว่าปฏิเสธฟ้อง “หรือ”
นอกจากให้การไปแล้วให้ถือว่าปฏิเสธ”
(ข) คําให้การที่ว่า ข้อเท็จจริงจะเป็นตามคําฟ้องหรือไม่ “จําเลยไม่ทราบและไม่รับรอง”
(ค) ให้การหลายนัย หลายข้อต่อสู้ซึ่งขัดแย้งกัน หรือที่เรียกว่า คําให้การขัดกัน ซึ่งคําให้การในลักษณะนี้ ถือเป็นคําให้การที่ไม่ชัดแจ้ง ต้องถือว่าจําเลยยอมรับตามฟ้อง
3 คํารับตามที่ศาลสอบถามในการชี้สองสถาน กล่าวคือ ในการชี้สองสถานแต่ละฝ่าย จะต้องตอบคําถามที่ศาลถามเอง หรือถามตามคําขอของคู่ความฝ่ายอื่น อันเกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่คู่ความฝ่ายอื่น ยกขึ้นอ้าง ถ้าคู่ความฝ่ายใดไม่ตอบคําถามเกี่ยวกับข้อเท็จจริงใด หรือปฏิเสธข้อเท็จจริงใดโดยไม่มีเหตุผลอัน สมควร ให้ถือว่า ยอมรับข้อเท็จจริงนั้นแล้ว เว้นแต่คู่ความฝ่ายนั้นไม่อยู่ในวิสัยที่จะตอบหรือแสดงเหตุผลแห่งการ ปฏิเสธได้ขณะนั้น (ป.วิ.แพ่ง มาตรา 183 วรรคสอง)
4 คํารับตามที่คู่ความสอบถาม กล่าวคือ คู่ความฝ่ายใดประสงค์จะอ้างข้อเท็จจริงใด และ ขอให้คู่ความฝ่ายอื่นตอบว่าจะรับรองข้อเท็จจริงนั้นว่าถูกต้องหรือไม่ เมื่อได้ร้องขอต่อศาลในวันสืบพยาน ให้ศาล สอบถามคู่ความฝ่ายอื่น ว่าจะยอมรับข้อเท็จจริงตามที่ได้รับคําบอกกล่าวนั้นว่าถูกต้องหรือไม่ ถ้าคู่ความฝ่ายนั้น ไม่ยอมตอบคําถามเกี่ยวกับข้อเท็จจริงใด หรือปฏิเสธข้อเท็จจริงใดโดยไม่มีเหตุแห่งการปฏิเสธโดยชัดแจ้งใน ขณะนั้น ให้ถือว่าได้ยอมรับข้อเท็จจริงนั้นแล้ว เว้นแต่ศาลจะเห็นว่าคู่ความฝ่ายนั้นไม่อยู่ในวิสัยที่จะตอบหรือ แสดงเหตุแห่งการปฏิเสธโดยชัดแจ้งในขณะนั้น กรณีเช่นนี้ ศาลจะมีคําสั่งให้คู่ความฝ่ายนั้นทําคําแถลงเกี่ยวกับ ข้อเท็จจริงมายื่นต่อศาลภายในเวลาที่ศาลเห็นสมควรก็ได้ (ป.วิ.แพ่ง มาตรา 100)
5 คํารับเกี่ยวกับเอกสาร กล่าวคือ การไม่ส่งต้นฉบับเอกสารในความครอบครองตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 123, 124 ให้ถือว่าข้อเท็จจริงแห่งข้ออ้างที่ผู้ขอจะต้องนําสืบโดยเอกสารนั้น คู่ความฝ่ายที่ไม่ยื่น เอกสารดังกล่าวได้ยอมรับแล้ว หรือการไม่คัดค้านเอกสารโดยเหตุที่ว่าไม่มีต้นฉบับหรือต้นฉบับนั้นปลอมทั้งฉบับหรือ บางส่วน หรือสําเนาไม่ถูกต้องกับต้นฉบับ ก็ถือว่าคู่ความฝ่ายที่ไม่ได้คัดค้านได้ยอมรับความถูกต้องในเอกสารนั้นแล้ว ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 125
6 คํารับตามข้อตกลง (คําท้า) กล่าวคือ เป็นการกระทําในศาลโดยยอมรับข้อเท็จจริง ตามที่อีกฝ่ายหนึ่งอ้างโดยมีเงื่อนไขบังคับก่อน แต่เงื่อนไขนั้นจะต้องเป็นเงื่อนไขที่เกี่ยวกับการดําเนินกระบวนพิจารณา อย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าผลแห่งการดําเนินกระบวนพิจารณานั้นสมความประสงค์ของคู่ความฝ่ายใดตามที่ท้ากัน อีก ฝ่ายหนึ่งก็ต้องยอมรับตามข้ออ้างของฝ่ายที่สมประสงค์นั้นทั้งหมด
(2) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
84/1 “คู่ความฝ่ายใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงเพื่อสนับสนุนคําคู่ความของตนให้คู่ความ ฝ่ายนั้นมีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงนั้น แต่ถ้ามีข้อสันนิษฐานไว้ในกฎหมายหรือมีข้อสันนิษฐานที่ควรจะเป็นซึ่ง ปรากฏจากสภาพปกติธรรมดาของเหตุการณ์เป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใด คู่ความฝ่ายนั้นต้องพิสูจน์เพียงว่าตนได้ ปฏิบัติตามเงื่อนไขแห่งการที่ตนจะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานนั้นครบถ้วนแล้ว”
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 425 “นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้าง ในผลแห่งละเมิด ซึ่งลูกจ้างได้กระทําไปในทางการที่จ้างนั้น”
มาตรา 437 วรรคหนึ่ง “บุคคลใดครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะอย่างใด ๆ อัน เดินด้วยกําลังเครื่องจักรกล บุคคลนั้นจะต้องรับผิดชอบเพื่อการเสียหายอันเกิดแต่ยานพาหนะนั้น เว้นแต่จะ พิสูจน์ได้ว่าการเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือเกิดเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหายนั้นเอง”
มาตรา 438 “ค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใดเพียงใดนั้น ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่ พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด…”
วินิจฉัย
ประเด็นข้อพิพาท หมายถึง ข้ออ้างข้อเถียงในปัญหาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่ฝ่ายหนึ่ง ยกขึ้นอ้างในคําคู่ความ และคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งไม่รับ ดังนั้นปัญหาข้อใดที่ฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างและคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง รับแล้ว ย่อมไม่เกิดเป็นประเด็นข้อพิพาท
กรณีตามอุทาหรณ์ เมื่อพิจารณาจากคําฟ้องและคําให้การของโจทก์จําเลยรับฟังได้ว่า ขณะเกิด เหตุจําเลยที่ 1 เป็นผู้ควบคุมดูแลรถโดยสารซึ่งเป็นยานพาหนะอันเดินด้วยกําลังเครื่องจักรกล และโจทก์ได้รับ ความเสียหายอันเกิดแต่ยานพาหนะนั้น จําเลยที่ 1 ไม่ได้ให้การปฏิเสธข้อเท็จจริงในส่วนนั้น ต้องถือว่าจําเลยที่ 1 ยอมรับข้อเท็จจริงในส่วนนี้แล้ว จําเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดในอันตรายแก่กายที่เกิดขึ้นแก่โจทก์ เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่า ความเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัยตามที่จําเลยทั้งสองให้การต่อสู้ไว้
ส่วนจําเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธแต่เพียงว่าจําเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นนายจ้างของจําเลยที่ 1 หาก ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จําเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจําเลยที่ 2 ก็ต้องถือว่าจําเลยที่ 2 ยอมรับว่าจําเลยที่ 1 ได้ กระทําไปในทางการที่จ้างของจําเลยที่ 2 นอกจากนี้ จําเลยทั้งสองไม่ได้ปฏิเสธว่าโจทก์ไม่ได้รับความเสียหาย ตามฟ้อง จึงต้องถือว่าจําเลยทั้งสองรับกันว่าโจทก์ได้รับความเสียหายตามฟ้องด้วยเช่นกัน
ดังนั้น คดีตามอุทาหรณ์จึงมีประเด็นข้อพิพาท ดังนี้
1 ความเสียหายตามฟ้องเกิดแต่เหตุสุดวิสัยหรือไม่
2 จําเลยที่ 2 เป็นนายจ้างของจําเลยที่ 1 หรือไม่
3 โจทก์เสียหายเพียงใด
สําหรับหน้าที่นําสืบหรือภาระการพิสูจน์นั้นตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84/1 ได้กําหนดหลักเกณฑ์ ไว้ว่า ผู้ใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงใด ผู้นั้นมีหน้าที่นําสืบ ซึ่งแยกพิจารณาตามประเด็นได้ดังนี้
ประเด็นแรก ที่ว่า ความเสียหายตามฟ้องเกิดแต่เหตุสุดวิสัยหรือไม่ ในส่วนนี้เนื่องจากโจทก์ ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา 437 ที่ว่า “บุคคลใดครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะ อย่างใด ๆ อันเดินด้วยกําลังเครื่องจักรกล บุคคลนั้นจะต้องรับผิดชอบเพื่อการเสียหายอันเกิดแต่ยานพาหนะนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือเกิดเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหายนั้นเอง” ดังนี้ ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่จําเลยทั้งสองที่ต้องพิสูจน์หักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่าเหตุตามฟ้องเกิดแต่เหตุ สุดวิสัย ซึ่งหากจําเลยทั้งสองพิสูจน์ไม่ได้ จําเลยที่ 1 ก็ต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่โจทก์
ประเด็นที่สอง ที่ว่า จําเลยที่ 2 เป็นนายจ้างของจําเลยที่ 1 หรือไม่ ในส่วนนี้เมื่อโจทก์กล่าวอ้าง จําเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ ภาระการพิสูจน์ในประเด็นนี้จึงตกแก่โจทก์
ประเด็นที่สาม ที่ว่า โจทก์เสียหายเพียงใด เมื่อโจทก์กล่าวอ้าง แม้จําเลยจะไม่ได้ให้การโต้แย้ง จํานวนเงินค่าเสียหายด้วย ภาระการพิสูจน์ข้อนี้ก็ยังคงตกแก่โจทก์ (เป็นหน้าที่ของฝ่ายที่เรียกร้องจะต้องนําสืบถึง จํานวนค่าเสียหาย) แต่หากโจทก์ไม่นําสืบหรือนําสืบไม่ได้ตามฟ้อง ศาลก็มีอํานาจกําหนดค่าเสียหายให้โจทก์ได้เอง ตามสมควร โดยพิจารณาจากพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 438 วรรคหนึ่ง
สรุป คดีมีประเด็นข้อพิพาท ดังนี้
1 ความเสียหายตามฟ้องเกิดแต่เหตุสุดวิสัยหรือไม่ ภาระการพิสูจน์ข้อนี้ตกแก่จําเลยทั้งสอง
2 จําเลยที่ 2 เป็นนายจ้างของจําเลยที่ 1 หรือไม่ ภาระการพิสูจน์ข้อนี้ตกแก่โจทก์
3 โจทก์เสียหายเพียงใด ภาระการพิสูจน์ข้อนี้ตกแก่โจทก์
ข้อ 2 พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาแก่นายดินว่าปลอมเอกสารสิทธิ มีโทษจําคุก โดยนายเอชาวต่างประเทศเป็นผู้เสียหายซึ่งจะต้องเดินทางออกนอกราชอาณาจักร และไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง นายบี ชาวต่างประเทศอีกคนหนึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญได้ทําความเห็นเป็นหนังสือในข้อหาดังกล่าวไว้แต่จะต้อง เดินทางกลับประเทศของตนโดยด่วน ส่วนนายน้ําเป็นประจักษ์พยานรู้เห็นการกระทําผิดของนายดิน ซึ่งพนักงานสอบสวนได้สอบถามคําให้การไว้ตามระเบียบแล้ว พนักงานอัยการโดยการร้องขอของ พนักงานสอบสวนได้ยื่นคําร้องต่อศาลขอสืบนายเอและนายบีไว้ล่วงหน้า เมื่อถึงวันนัดนายเอมาศาล ส่วนนายบีพนักงานสอบสวนติดตามตัวมาเบิกความไม่ได้ พนักงานอัยการจึงนํานายเอเข้าเบิกความ ในศาลต่อหน้านายดินผู้ต้องหาจนเสร็จ ศาลอ่านคําเบิกความให้นายเอและนายดินฟังกับให้ลงลายมือ ชื่อไว้ โดยก่อนนายเอเบิกความศาลมิได้ถามนายดินว่ามีทนายความหรือไม่ หรือซักถามนายเอให้ แทนเพราะนายดินแถลงว่าไม่ต้องการทนายความ จากนั้นพนักงานอัยการส่งความเห็นเป็น หนังสือของนายบีต่อศาลแทนคําเบิกความของนายบี ต่อมาพนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องนายดินใน ข้อหาดังกล่าวเป็นจําเลยต่อศาล นายดินให้การปฏิเสธ แต่ก่อนถึงวันนัดสืบพยานโจทก์ นายน้ำ ประจักษ์พยานโจทก์ซึ่งรับหมายเรียกโดยชอบแล้วมีเหตุขัดข้องไม่อาจมาศาลตามที่นัดไว้ได้
ให้ วินิจฉัยว่า
ก. คําเบิกความของนายเอและความเห็นเป็นหนังสือของนายบีที่พนักงานอัยการสืบไว้ล่วงหน้า การรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้หรือไม่ และ
ข. พนักงานอัยการโจทก์จะขอสืบนายน้ำประจักษ์พยานไว้ก่อนถึงวันนัดสืบพยานโจทก์ได้หรือไม่
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา 55/1 วรรคหนึ่ง “ในคดีพนักงานอัยการเป็นโจทก์ ถ้าศาลมีคําสั่งให้ออกหมายเรียก พยานโจทก์ โดยมิได้กําหนดวิธีการส่งไว้ ให้พนักงานอัยการมีหน้าที่ดําเนินการให้หัวหน้าพนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ เป็นผู้จัดส่งหมายเรียกแก่พยาน และติดตามพยานโจทก์มาศาลตามกําหนดนัด แล้วแจ้งผลการส่งหมายเรียกไปยัง ศาลและพนักงานอัยการโดยเร็ว หากปรากฏว่าพยานโจทก์มีเหตุขัดข้องไม่อาจมาศาลได้หรือเกรงว่าจะเป็นการยาก ที่จะนําพยานนั้นมาสืบตามที่ศาลนัดไว้ ก็ให้พนักงานอัยการขอให้ศาลสืบพยานนั้นไว้ล่วงหน้าตามมาตรา 173/2 วรรคสอง
มาตรา 173/2 วรรคสอง “ในกรณีจําเป็นเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม เมื่อศาลเห็นสมควร หรือคู่ความฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดร้องขอ ศาลจะมีคําสั่งให้สืบพยานหลักฐานที่เกี่ยวกับประเด็นสําคัญในคดีไว้ล่วงหน้า ก่อนถึงกําหนดวันนัดสืบพยานก็ได้”
มาตรา 237 ทวิ “ก่อนฟ้องคดีต่อศาล เมื่อมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าพยานบุคคลจะเดินทางออกไป นอกราชอาณาจักร ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง หรือเป็นบุคคลมีถิ่นที่อยู่ห่างไกลจากศาลที่พิจารณาคดี หรือมีเหตุอันควร เชื่อว่าจะมีการยุ่งเหยิงกับพยานนั้นไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม หรือมีเหตุจําเป็นอื่นอันเป็นการยากแก่การนํา พยานนั้นมาสืบในภายหน้า พนักงานอัยการโดยตนเองหรือโดยได้รับคําร้องขอจากผู้เสียหายหรือจากพนักงานสอบสวน จะยื่นคําร้องโดยระบุการกระทําทั้งหลายที่อ้างว่าผู้ต้องหาได้กระทําผิดต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคําสั่งให้สืบพยานนั้นไว้ ทันทีก็ได้ ถ้ารู้ตัวผู้กระทําความผิด และผู้นั้นถูกควบคุมอยู่ในอํานาจพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ ให้ พนักงานอัยการนําตัวผู้นั้นมาศาล หากถูกควบคุมอยู่ในอํานาจของศาล ให้ศาลเบิกตัวผู้นั้นมาพิจารณาต่อไป
เมื่อศาลได้รับคําร้องเช่นว่านั้นให้ศาลสืบพยานนั้นทันที ในการนี้ผู้ต้องหาจะซักค้าน หรือตั้ง ทนายความซักค้านพยานนั้นด้วยก็ได้
ในกรณีตามวรรคสอง ถ้าเป็นกรณีที่ผู้ต้องหานั้นถูกกล่าวหาว่ากระทําความผิดอาญา ซึ่งหาก มีการฟ้องคดีจะเป็นคดีซึ่งศาลจะต้องตั้งทนายความให้ หรือจําเลยมีสิทธิขอให้ศาลตั้งทนายความให้ตามมาตรา 173 ก่อนเริ่มสืบพยานดังกล่าว ให้ศาลถามผู้ต้องหาว่ามีทนายความหรือไม่ ในกรณีที่ศาลต้องตั้งทนายความให้ ถ้าศาล เห็นว่าตั้งทนายความให้ทันก็ให้ตั้งทนายความให้และดําเนินการสืบพยานนั้นทันที แต่ถ้าศาลเห็นว่าไม่สามารถตั้ง ทนายความได้ทัน หรือผู้ต้องหาไม่อาจตั้งทนายความได้ทัน ก็ให้ศาลซักถามพยานนั้นให้แทน
คําเบิกความของพยานดังกล่าว ให้ศาลอ่านให้พยานฟัง หากมีตัวผู้ต้องหาอยู่ในศาลด้วยแล้ว ก็ให้ศาลอ่านคําเบิกความดังกล่าวต่อหน้าผู้ต้องหา
ถ้าต่อมาผู้ต้องหานั้นถูกฟ้องเป็นจําเลยในการกระทําความผิดอาญานั้น ก็ให้รับฟังคําพยาน ดังกล่าวในการพิจารณาคดีนั้นได้”
มาตรา 243 วรรคสอง “ผู้เชี่ยวชาญอาจทําความเห็นเป็นหนังสือก็ได้ แต่ต้องส่งสําเนา หนังสือดังกล่าวให้ศาลและคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งทราบ และต้องมาเบิกความประกอบหนังสือนั้น เว้นแต่มีเหตุ จําเป็น หรือคู่ความไม่ติดใจซักถามผู้เชี่ยวชาญนั้น ศาลจะให้รับฟังความเห็นเป็นหนังสือดังกล่าวโดยผู้เชี่ยวชาญ ไม่ต้องมาเบิกความประกอบก็ได้”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้
ก คําเบิกความของนายเอรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้ เพราะเป็นการดําเนิน กระบวนพิจารณาสืบพยานบุคคลไว้ล่วงหน้าก่อนฟ้องคดีต่อศาลตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 237 ทวิ วรรคหนึ่ง และในวัน สืบพยานนั้นเมื่อนายดินผู้ต้องหาไม่ต้องการทนายความ ก่อนนายเอเบิกความศาลก็ไม่จําต้องสอบถามนายดินเรื่อง มีทนายความหรือไม่ และไม่จําต้องซักถามนายเอให้แทนนายดิน เพราะมิใช่กรณีที่ศาลไม่สามารถตั้งทนายความได้ทัน หรือนายดินไม่อาจตั้งทนายความได้ทันตามมาตรา 237 ทวิ วรรคสาม อีกทั้งศาลได้อ่านคําเบิกความของนายเอต่อหน้า นายดินซึ่งอยู่ในศาลและให้นายดินลงลายมือชื่อไว้แล้ว ดังนั้นเมื่อนายดินถูกฟ้องเป็นจําเลยในข้อหาปลอมเอกสารสิทธิ ศาลจึงรับฟังคําเบิกความของนายเอในการพิจารณาคดีนั้นได้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 237 ทวิ วรรคสี่และวรรคห้า
ส่วนความเห็นเป็นหนังสือของนายบีผู้เชี่ยวชาญรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดี ไม่ได้ เพราะเมื่อติดตามตัวนายบีมาเบิกความเป็นพยานต่อศาลไม่ได้ นายบีจึงไม่ได้มาเบิกความประกอบความเห็น เป็นหนังสือนั้น และไม่ปรากฏด้วยว่านายดินแถลงรับข้อเท็จจริงตามความเห็นเป็นหนังสือดังกล่าว หรือไม่ติดใจ ซักถามนายบี ดังนั้น ความเห็นเป็นหนังสือของนายบีจึงรับฟังไม่ได้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 243 วรรคสอง
ข การที่พนักงานอัยการโจทก์ขอสืบนายน้ําประจักษ์พยานโจทก์ซึ่งได้รับหมายเรียกไว้โดยชอบแล้ว ไว้ก่อนถึงวันนัดสืบพยานโจทก์ตามที่ศาลได้นัดไว้ เพราะนายน้ํามีเหตุขัดข้องไม่อาจมาศาลได้ตามนัดนั้น เมื่อนายน้ำ เป็นประจักษ์พยานซึ่งเป็นพยานหลักฐานที่เกี่ยวกับประเด็นสําคัญในคดี และเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลย่อมมีอํานาจสั่งให้สืบนายน้ําไว้ล่วงหน้าก่อนถึงกําหนดวันนัดสืบพยานโจทก์ตามที่พนักงานอัยการโจทก์ ร้องขอได้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 55/1 วรรคหนึ่ง และมาตรา 173/2 วรรคสอง
สรุป
ก. คําเบิกความของนายเอที่พนักงานอัยการสืบไว้ล่วงหน้ารับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้ แต่ความเห็นเป็นหนังสือของนายบีรับฟังเป็นพยานหลักฐาน
ในการพิจารณาคดีไม่ได้
ข. พนักงานอัยการโจทก์จะขอสืบนายน้ำประจักษ์พยานไว้ก่อนถึงวันนัดสืบพยานโจทก์ได้
ข้อ 3 โจทก์ฟ้องขอเลิกสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินเพราะจําเลยไม่ยอมถมดินตามสัญญา ซึ่งโจทก์ตกลงจะซื้อขายกับจําเลยในราคา 6 ล้านบาท โดยโจทก์วางมัดจํา 500,000 บาท และให้ถือมัดจําเป็นส่วนหนึ่ง ของราคาที่ดิน โดยโจทก์จะชําระส่วนที่เหลือในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ ซึ่งกําหนดให้กระทํา ภายใน 90 วันนับแต่วันวางมัดจํา พร้อมกันนั้นจําเลยจะถมดินให้เรียบร้อยก่อนวันไปจดทะเบียน โอนกรรมสิทธิ์ แต่พอครบกําหนด 90 วันแล้ว จําเลยยังไม่ทําการถมดินตามสัญญา โจทก์จึงฟ้อง ขอเลิกสัญญาและขอคืนมัดจําพร้อมดอกเบี้ยผิดนัด จําเลยให้การต่อสู้ว่า โจทก์กับจําเลยไม่มีเจตนา ผูกพันตามข้อความเกี่ยวกับการถมดินโดยจะขอนําสืบนายปรีชาซึ่งเป็นพยานในวันวางมัดจําดังกล่าว ระหว่างโจทก์และจําเลย กรณีนี้จะสามารถนําสืบนายปรีชาได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 94 “เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ห้ามมิให้ศาลยอมรับฟัง พยานบุคคลในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ แม้ถึงว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะได้ยินยอมก็ดี
(ก) ขอสืบพยานบุคคลแทนพยานเอกสาร เมื่อไม่สามารถนําเอกสารมาแสดง
(ข) ขอสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้างอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อได้นําเอกสารมาแสดงแล้วว่า ยังมีข้อความเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นอยู่อีก”
และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 456 วรรคหนึ่งและวรรคสอง “การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ถ้ามิได้ทําเป็นหนังสือและ จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นโมฆะ วิธีนี้ให้ใช้ถึงซื้อขายเรือมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป ทั้งซื้อขายแพและ สัตว์พาหนะด้วย
สัญญาจะขายหรือจะซื้อ หรือคํามั่นในการซื้อขายทรัพย์สินตามที่ระบุไว้ในวรรคหนึ่ง ถ้ามิได้ มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสําคัญ หรือได้วางประจําไว้ หรือได้ชําระหนี้ บางส่วนแล้ว จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่”
วินิจฉัย
โดยหลักแล้ว เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ย่อมต้องห้ามมิให้นํา พยานบุคคลมาสืบแทนพยานเอกสาร ในเมื่อไม่สามารถนําเอกสารมาแสดง หรือขอสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้าง อย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อได้นําเอกสารมาแสดงแล้วว่ายังมีข้อความเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความ ในเอกสารนั้นอยู่อีก
กรณีตามอุทาหรณ์ ในการทําสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินระหว่างโจทก์และจําเลยเป็นเงิน 6 ล้านบาทนั้น การที่โจทก์วางเงินมัดจําให้แก่จําเลยเป็นเงิน 500,000 บาท เมื่อตามสัญญาคู่สัญญาตกลงกัน ให้เงินมัดจําดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการชําระเงินค่าที่ดินตามสัญญาด้วย จึงถือเป็นการชําระค่าที่ดินบางส่วน ซึ่งกรณีเช่นนี้จึงไม่จําเป็นต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือก็สามารถฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคสอง และกรณีนี้ก็มิใช่กรณีที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีเอกสารมาแสดง ดังนั้น จําเลยจึงมีสิทธิที่จะนําพยานบุคคล มาสืบได้ว่าโจทก์กับจําเลยไม่มีเจตนาผูกพันกันตามข้อความเกี่ยวกับการถมดินในสัญญาได้ เพราะไม่ใช่เป็นการฟ้อง บังคับตามสัญญาจะซื้อจะขายแต่อย่างใด จึงไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 94
สรุป จําเลยสามารถนําสืบนายปรีชาพยานบุคคลในกรณีดังกล่าวได้