การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2558

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3011 กฎหมายลักษณะพยาน

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1 โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทซึ่งมีโฉนดที่ดิน ก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์ยื่นคําขอรังวัดแนวเขตที่ดินพิพาท จําเลยคัดค้านแนวเขตที่ดินด้านทิศใต้ว่าโจทก์นํารังวัดรุกล้ำเข้าไปในที่ดินที่จําเลยครอบครองอยู่ เจ้าพนักงานที่ดินเปรียบเทียบแล้วแต่ตกลงกันไม่ได้ ขอให้จําเลยถอนคําคัดค้าน แนวเขตที่ดินพิพาท จําเลยให้การว่า ที่ดินส่วนที่จําเลยคัดค้านเป็นที่ดินของจําเลย หากแท้จริงไม่ใช่ที่ดินของจําเลย จําเลยก็ครอบครองโดยสงบ โดยเปิดเผยและด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นระยะเวลาติดต่อกันเกินกว่า สิบปีจนได้กรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองแล้ว อนึ่ง ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมเพราะมิได้บรรยาย โดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา ขอให้ยกฟ้อง ในวันชี้สองสถาน ทนายจําเลยแถลงตอบการสอบถามของศาลว่า ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม เพราะมิได้ระบุตําแหน่งและจํานวนเนื้อที่ของที่ดินพิพาท

ให้วินิจฉัยว่า คดีมีประเด็นข้อพิพาทประการใด และคู่ความฝ่ายใดมีภาระการพิสูจน์บ้าง

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 84/1 “คู่ความฝ่ายใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงเพื่อสนับสนุนคําคู่ความของตนให้คู่ความ ฝ่ายนั้นมีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงนั้น แต่ถ้ามีข้อสันนิษฐานไว้ในกฎหมายหรือมีข้อสันนิษฐานที่ควรจะเป็นซึ่งปรากฏจากสภาพปกติธรรมดาของเหตุการณ์เป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใด คู่ความฝ่ายนั้นต้องพิสูจน์เพียงว่าตนได้ปฏิบัติ ตามเงื่อนไขแห่งการที่ตนจะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานนั้นครบถ้วนแล้ว”

มาตรา 177 วรรคสอง “ให้จําเลยแสดงโดยชัดแจ้งในคําให้การว่า จําเลยยอมรับหรือปฏิเสธ ข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการนั้น”

มาตรา 183 “ข้อกฎหมายหรือข้อเท็จจริงที่คู่ความฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างแต่คู่ความฝ่ายอื่นไม่รับ และเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับประเด็นข้อพิพาทตามคําคู่ความ ให้ศาลกําหนดไว้เป็นประเด็นข้อพิพาท และกําหนดให้ คู่ความฝ่ายใดนําพยานหลักฐานมาสืบในประเด็นข้อใดก่อนหรือหลังก็ได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัย ดังนี้คือ

1 คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทว่าอย่างไร

2 ภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบตกแก่คู่ความฝ่ายใด

ประเด็นที่ 1 คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทว่าอย่างไร

คําว่า “ประเด็นข้อพิพาท” หมายถึง ข้ออ้างข้อเถียงในปัญหาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่ ฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างในคําคู่ความ และคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งไม่รับ ดังนั้นปัญหาข้อใดที่ฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างและคู่ความ อีกฝ่ายหนึ่งรับแล้ว ย่อมไม่เกิดเป็นประเด็นข้อพิพาท

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทซึ่งมีโฉนดที่ดิน และจําเลย ให้การในตอนแรกว่า ที่ดินส่วนที่จําเลยคัดค้านเป็นที่ดินของจําเลยเองนั้น จากคําฟ้องและคําให้การดังกล่าว คดีจึงมีประเด็นพิพาทว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือไม่

การที่จําเลยให้การตอนหลังว่า หากแท้จริงไม่ใช่ที่ดินของจําเลย จําเลยก็ได้ครอบครองจนได้ กรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองแล้วนั้น เป็นคําให้การที่ขัดแย้งกับคําให้การของจําเลยในตอนแรก คําให้การ ในตอนหลังนี้เท่ากับจําเลยได้ให้การว่าที่ดินพิพาทไม่ได้เป็นของจําเลย แต่จําเลยครอบครองติดต่อกันโดยสงบ โดยเปิดเผยและด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นระยะเวลาติดต่อกันเกินกว่า 10 ปี ถือว่าเป็นคําให้การที่ไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.แพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง ดังนั้น จึงเป็นคําให้การที่ไม่มีประเด็นเรื่องจําเลยได้กรรมสิทธิ์ โดยการครอบครองปรปักษ์หรือไม่ เพราะการครอบครองปรปักษ์มีได้แต่เฉพาะที่ดินของผู้อื่นเท่านั้น (คําพิพากษา ฎีกาที่ 1069/2554)

ส่วนข้อที่จําเลยให้การว่า คําฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมนั้น จําเลยให้การเพียงการยกถ้อยคํา ในกฎหมายมาอ้าง โดยมิได้บรรยายว่าสภาพแห่งข้อหาในคําฟ้องของโจทก์ข้อใดที่ไม่ชัดแจ้ง และไม่ชัดแจ้ง อย่างไร ถือเป็นคําให้การที่ไม่แสดงเหตุแห่งการปฏิเสธอย่างชัดแจ้ง จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.แพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง เช่นกัน ทําให้ไม่มีประเด็นว่าคําฟ้องเคลือบคลุมหรือไม่ (คําพิพากษาฎีกาที่ 6382/2550) และเมื่อ ตามคําคู่ความคดีไม่มีประเด็นข้อพิพาทแล้ว แม้ศาลมีอํานาจสอบถามคู่ความเพื่อให้ได้ความชัดเจนในประเด็น ข้อพิพาท แต่การสอบถามนั้นก็จําต้องตรวจจากคําคู่ความที่ชอบ หากไม่เป็นคําคู่ความที่ชอบเสียแล้ว แม้คู่ความ จะแถลงเป็นประการใดก็หาทําให้คําคู่ความนั้นกลับเป็นคําคู่ความที่ชอบและมีประเด็นขึ้นตามที่ศาลสอบถาม และที่คู่ความแถลงไม่ (คําพิพากษาฎีกาที่ 122-130/2520)

ประเด็นที่ 2 ภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบตกแก่คู่ความฝ่ายใด

สําหรับภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบนั้นตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84/1 ได้กําหนดหลักเกณฑ์ ไว้ว่า ผู้ใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงใด ผู้นั้นมีหน้าที่นําสืบ

ตามอุทาหรณ์ เมื่อโจทก์กล่าวอ้างว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาท และจําเลยให้การปฏิเสธ ดังนั้น โจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงตามที่กล่าวอ้าง

สรุป

คดีมีประเด็นข้อพิพาทว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือไม่ และโจทก์มีภาระการพิสูจน์ ตามที่กล่าวอ้าง

 

ข้อ 2 นายเควินชาวเนเธอร์แลนด์มาเที่ยวประเทศไทยได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนว่า นายเควินถูกคนร้ายใช้อาวุธมีดขู่ชิงเอาทรัพย์ไป นายขาวเห็นเหตุการณ์จําได้ว่าคนร้ายคือนายดําคนรู้จักกัน นายเควินจะต้องเดินทางออกไปนอกราชอาณาจักรยากแก่การนํามาสืบต่อศาลในภายหน้า

ให้วินิจฉัยว่า

(ก) ถ้ายังจับนายดําไม่ได้ พนักงานอัยการจะขอสืบนายเควินและอาวุธมีดของกลางไว้ก่อนฟ้องตามที่พนักงานสอบสวนร้องขอได้หรือไม่ และ

(ข) ถ้าจับนายดําได้และถูกฟ้องเป็นจําเลยต่อศาลแล้ว แต่ก่อนถึงวันนัดสืบพยานโจทก์ ปรากฏว่า นายขาวพยานโจทก์มีเหตุขัดข้องไม่อาจมาศาลได้ตามนัด พนักงานอัยการโจทก์จะขอสืบนายขาว ไว้ล่วงหน้าได้หรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 55/1 วรรคแรก “ในคดีพนักงานอัยการเป็นโจทก์ ถ้าศาลมีคําสั่งให้ออกหมายเรียก พยานโจทก์ โดยมิได้กําหนดวิธีการส่งไว้ให้พนักงานอัยการมีหน้าที่ดําเนินการให้หัวหน้าพนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ เป็นผู้จัดส่งหมายเรียกแก่พยาน และติดตามพยานโจทก์มาศาลตามกําหนดนัด แล้วแจ้งผลการส่งหมายเรียก ไปยังศาลและพนักงานอัยการโดยเร็ว หากปรากฏว่าพยานโจทก์มีเหตุขัดข้องไม่อาจมาศาลได้หรือเกรงว่า จะเป็นการยากที่จะนําพยานนั้นมาสืบตามที่ศาลนัดไว้ ก็ให้พนักงานอัยการขอให้ศาลสืบพยานนั้นไว้ล่วงหน้า ตามมาตรา 173/2 วรรคสอง”

มาตรา 237 ทวิ วรรคแรก “ก่อนฟ้องคดีต่อศาล เมื่อมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าพยานบุคคลจะ เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักร ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง หรือเป็นบุคคลที่มีถิ่นที่อยู่ห่างไกลจากศาลที่พิจารณาคดี หรือมีเหตุอันควรเชื่อว่าจะมีการยุ่งเหยิงกับพยานนั้นไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม หรือมีเหตุจําเป็นอื่นอันเป็นการยาก แก่การนําพยานนั้นมาสืบในภายหน้า พนักงานอัยการโดยตนเองหรือโดยได้รับคําร้องขอจากผู้เสียหายหรือจาก พนักงานสอบสวนจะยื่นคําร้องโดยระบุการกระทําทั้งหลายที่อ้างว่าผู้ต้องหาได้กระทําผิดต่อศาล เพื่อให้ศาลมีคําสั่ง ให้สืบพยานนั้นไว้ทันทีก็ได้ ถ้ารู้ตัวผู้กระทําความผิด และผู้นั้นถูกควบคุมอยู่ในอํานาจพนักงานสอบสวนหรือ พนักงานอัยการ ให้พนักงานอัยการนําตัวผู้นั้นมาศาล หากถูกควบคุมอยู่ในอํานาจของศาล ให้ศาลเบิกตัวผู้นั้น มาพิจารณาต่อไป”

มาตรา 237 ตรี วรรคแรก “ให้นําความในมาตรา 237 ทวิ มาบังคับใช้โดยอนุโลมแก่กรณี การสืบพยานผู้เชี่ยวชาญ และพยานหลักฐานอื่น และแก่กรณีที่ได้มีการฟ้องคดีไว้แล้ว แต่มีเหตุจําเป็นที่ต้อง สืบพยานหลักฐานไว้ก่อนถึงกําหนดเวลาสืบพยานตามปกติตามมาตรา 173/2 วรรคสองด้วย”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ วินิจฉัยได้ดังนี้

(ก) ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 237 ทวิ วรรคแรก ประกอบมาตรา 237 ตรี วรรคแรก ได้กําหนดไว้ว่า กรณีก่อนฟ้องคดีต่อศาล หากมีเหตุอันควรเชื่อว่าพยานบุคคลจะเดินทางออกไปนอกราชอาณาจักร อันเป็นการยาก แก่การนําพยานมาสืบในภายหน้า พนักงานอัยการโดยได้รับคําร้องขอจากพนักงานสอบสวนจะยื่นคําร้องต่อศาล โดยระบุการกระทําทั้งหลายที่อ้างว่าผู้ต้องหาได้กระทําผิด เพื่อให้ศาลมีคําสั่งให้สืบพยานนั้นไว้ทันทีก็ได้

ตามข้อเท็จจริง เมื่อปรากฏว่ายังจับนายดําผู้กระทําผิดไม่ได้ และนายเควินจะต้องเดินทาง ออกไปนอกราชอาณาจักรซึ่งเป็นการยากแก่การจะนํามาสืบต่อศาลในภายหน้า ดังนั้นเมื่อพนักงานอัยการ ได้รับคําร้องขอจากพนักงานสอบสวน จึงสามารถขอสืบนายเควินและอาวุธมีดของกลางไว้ก่อนฟ้องได้ ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 237 ทวิ วรรคแรก และมาตรา 237 ตรี วรรคแรก

(ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 55/1 วรรคแรก กําหนดไว้ว่า กรณีที่จับตัวผู้ต้องหาได้ และถูกฟ้องเป็นจําเลยต่อศาลโดยมีพนักงานอัยการเป็นโจทก์นั้น หากปรากฏว่าพยานโจทก์มีเหตุขัดข้องไม่อาจมาศาลได้ หรือเกรง ว่าจะเป็นการยากที่นําพยานนั้นมาสืบตามที่ศาลนัดไว้ พนักงานอัยการจะขอให้ศาลสืบพยานนั้นไว้ล่วงหน้าก็ได้

ตามข้อเท็จจริง เมื่อปรากฏว่า นายดําถูกจับได้และถูกฟ้องเป็นจําเลยต่อศาลแล้ว แต่ก่อนถึงวันนัดสืบพยานโจทก์ ปรากฏว่านายขาวพยานโจทก์มีเหตุขัดข้องไม่อาจมาศาลได้ตามนัด ดังนั้น พนักงานอัยการโจทก์จึงขอสืบนายขาวพยานโจทก์ไว้ล่วงหน้าก่อนถึงวันนัดสืบพยานโจทก์ได้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 55/1วรรคแรก

สรุป

(ก) ถ้ายังจับนายดําไม่ได้ พนักงานอัยการจะขอสืบนายเควินและอาวุธมีดของกลาง ไว้ก่อนฟ้องตามที่พนักงานสอบสวนร้องขอได้

(ข) ถ้าจับนายดําได้และถูกฟ้องเป็นจําเลยต่อศาลแล้ว แต่ก่อนถึงวันนัดสืบพยานโจทก์ ปรากฏว่านายขาวพยานโจทก์มีเหตุขัดข้องไม่อาจมาศาลได้ตามนัด พนักงานอัยการโจทก์จะขอสืบนายขาวไว้ ล่วงหน้าได้

 

ข้อ 3 โจทก์ฟ้องว่าจําเลยกู้เงินโจทก์ 1,000,000 บาท และตกลงจะชําระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีแก่โจทก์ จําเลยได้รับเงินกู้จากโจทก์ทั้งหมดแล้ว กําหนดใช้คืนภายใน 1 ปี เมื่อครบกําหนดจําเลย กลับไม่ยอมชําระหนี้ให้แก่โจทก์ โจทก์จึงฟ้องขอให้บังคับจําเลยชําระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยดังกล่าว ขณะสืบพยานจําเลยนั้นจําเลยนําสืบว่าจําเลยไม่ได้กู้เงินโจทก์ 1 ล้านบาทตามสัญญากู้ยืมเงิน ความจริงจําเลยกู้เงินโจทก์เพียง 850,000 บาท แต่โจทก์นําดอกเบี้ยมารวมเข้ากับต้นเงิน จึงกลายเป็น 1,000,000 บาท ความจริงรับเงินไปแค่เพียง 850,000 บาท เท่านั้น โดยจําเลยจะขอนําพยานบุคคล มาสืบตามข้อที่กล่าวอ้างได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 94 “เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ห้ามมิให้ศาลยอมรับฟัง พยานบุคคลในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ แม้ถึงว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะได้ยินยอมก็ดี

(ก) ขอสืบพยานบุคคลแทนพยานเอกสาร เมื่อไม่สามารถนําเอกสารมาแสดง

(ข) ขอสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้างอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อได้นําเอกสารมาแสดงแล้วว่า ยังมีข้อความเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นอยู่อีก

แต่ว่าบทบัญญัติแห่งมาตรานี้ มิให้ใช้บังคับในกรณีที่บัญญัติไว้ในอนุมาตรา (2) แห่งมาตรา 93 และมิให้ถือว่าเป็นการตัดสิทธิคู่ความในอันที่จะกล่าวอ้างและนําพยานบุคคลมาสืบประกอบข้ออ้างว่าพยานเอกสาร ที่แสดงนั้นเป็นเอกสารปลอมหรือไม่ถูกต้องทั้งหมด หรือแต่บางส่วน หรือสัญญาหรือหนี้อย่างอื่นที่ระบุไว้ในเอกสารนั้น ไม่สมบูรณ์ หรือคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตีความหมายผิด”

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ย่อมต้องห้ามมิให้นํา พยานบุคคลมาสืบแทนพยานเอกสาร ในเมื่อไม่สามารถนําเอกสารมาแสดง หรือขอสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้าง อย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อได้นําเอกสารมาแสดงแล้วว่ายังมีข้อความเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความ ในเอกสารนั้นอยู่อีก เว้นแต่กรณีอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ที่สามารถนําสืบพยานบุคคลหักล้างพยานเอกสารได้ คือ

1 กรณีต้นฉบับเอกสารสูญหาย หรือถูกทําลายโดยเหตุสุดวิสัย หรือไม่สามารถนําต้นฉบับมาได้โดยประการอื่น

2 พยานเอกสารที่แสดงนั้นเป็นเอกสารปลอม

3 พยานเอกสารที่แสดงนั้นไม่ถูกต้องทั้งหมดหรือบางส่วน

4 สัญญาหรือหนี้ที่ระบุไว้ในเอกสารไม่สมบูรณ์

5 คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตีความหมายผิด (ป.วิ.แพ่ง มาตรา 94)

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่จําเลยนําพยานบุคคลมาสืบอ้างว่าจําเลยไม่ได้กู้เงินโจทก์ 1 ล้านบาท ตามสัญญากู้ยืมเงิน ความจริงจําเลยกู้เงินโจทก์เพียง 850,000 บาท แต่โจทก์นําดอกเบี้ยมารวมเข้ากับต้นเงินจึง กลายเป็น 1,000,000 บาท นั้น เป็นการนําสืบโต้แย้งเกี่ยวกับจํานวนเงินที่กู้จากโจทก์ว่าไม่ได้รับเงินจํานวนดังกล่าว อันถือเป็นการนําสืบถึงความไม่สมบูรณ์แห่งหนี้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 94 วรรคท้าย ไม่ใช่การนําสืบเปลี่ยนแปลง แก้ไขข้อความในเอกสาร ดังนั้น จําเลยย่อมมีสิทธินําพยานบุคคลเข้าสืบได้ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 94

สรุป

จําเลยจะขอนําพยานบุคคลมาสืบตามข้อที่กล่าวอ้างได้

Advertisement