การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2556

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3011 กฎหมายลักษณะพยาน

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1 โจทก์ฟ้องว่าจําเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจําเลยที่ 2 ขับรถยนต์บรรทุกไปในทางการที่จ้างของจําเลยที่ 2 ด้วยความประมาทเลินเล่อชนกับรถยนต์คันที่โจทก์ขับ เป็นเหตุให้รถยนต์คันที่โจทก์ขับได้รับ ความเสียหายหลายรายการ จําเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุ ขอให้บังคับ จําเลยทั้งสามร่วมกันชําระค่าเสียหาย 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี แก่โจทก์ จําเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า ขณะเกิดเหตุ ยางหน้าของรถยนต์บรรทุกคันที่จําเลยที่ 1 ขับเกิดระเบิด รถเสียหลักไถลลงไปที่ไหล่ทางโจทก์ขับรถตามหลังรถยนต์บรรทุกคันที่จําเลยที่ 1 ขับมาอย่างกระชั้นชิด และด้วยความเร็วสูง จนไม่สามารถหลบหลีกหรือห้ามล้อได้ทัน จึงแล่นชนรถยนต์บรรทุกคันที่ จําเลยที่ 1 ขับ จําเลยที่ 1 ไม่ได้ประมาทเลินเล่อ เหตุชนกันจึงเกิดจากความประมาทเลินเล่อของโจทก์ ฝ่ายเดียว โจทก์เสียหายเป็นเงิน 500,000 บาท จริงหรือไม่ จําเลยไม่ทราบไม่รับรอง อย่างไรก็ตาม หากศาลฟังได้ว่า จําเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ โจทก์ก็มีส่วนผิดอยู่ด้วย โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ย ตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง จําเลยที่ 3 ให้การว่า จําเลยที่ 2 มิได้เป็นนายจ้างของจําเลยที่ 1 และขณะเกิดเหตุ จําเลยที่ 1 ไม่ได้ ขับรถไปในทางการที่จ้าง จําเลยที่ 1 มิได้ขับรถด้วยความประมาท ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้อง สูงเกินจริง ขอให้ยกฟ้อง

ในวันชี้สองสถาน โจทก์ยื่นคําร้องขอถอนฟ้องจําเลยที่ 3 เนื่องจากจําเลยที่ 3 ชําระค่าเสียหาย ตามสัญญาประกันภัยจนเป็นที่พอใจแก่โจทก์แล้ว ศาลอนุญาตและมีคําสั่งให้จําหน่ายคดีเฉพาะ จําเลยที่ 3 ออกจากสารบบความ

ให้วินิจฉัยว่า คดีนี้ประเด็นข้อพิพาทประการใด และฝ่ายใดมีภาระการพิสูจน์

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 84/1 “คู่ความฝ่ายใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงเพื่อสนับสนุนคําคู่ความของตนให้คู่ความ ฝ่ายนั้นมีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงนั้น แต่ถ้ามีข้อสันนิษฐานไว้ในกฎหมายหรือมีข้อสันนิษฐานที่ควรจะเป็น ซึ่งปรากฏจากสภาพปกติธรรมดาของเหตุการณ์เป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใด คู่ความฝ่ายนั้นต้องพิสูจน์เพียงว่าตนได้ปฏิบัติตาม เงื่อนไขแห่งการที่ตนจะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานนั้นครบถ้วนแล้ว”

มาตรา 177 วรรคสอง “ให้จําเลยแสดงโดยชัดแจ้งในคําให้การว่า จําเลยยอมรับหรือปฏิเสธ ข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการนั้น”

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 425 “นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้าง ในผลแห่งละเมิด ซึ่งลูกจ้างได้กระทําไปในทางการที่จ้างนั้น”

มาตรา 438 “ค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใดเพียงใดนั้น ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่ พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด…”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัย ดังนี้คือ

1 คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทว่าอย่างไร

2 ภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบตกแก่คู่ความฝ่ายใด

ประเด็นที่ 1 คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทว่าอย่างไร

คําว่า “ประเด็นข้อพิพาท” หมายถึง ข้ออ้างข้อเถียงในปัญหาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่ ฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างในคําคู่ความ และคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งไม่รับ ดังนั้นปัญหาข้อใดที่ฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างและคู่ความ อีกฝ่ายหนึ่งรับแล้ว ย่อมไม่เกิดเป็นประเด็นข้อพิพาท

จากข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์ โจทก์ฟ้องว่า (1) จําเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจําเลยที่ 2 (2) จําเลย ที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกไปในทางการที่จ้างของจําเลยที่ 2 (3) จําเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกด้วยความประมาทเลินเล่อ ชนกับรถยนต์คันที่โจทก์ขับ เป็นเหตุให้รถยนต์คันที่โจทก์ขับได้รับความเสียหายหลายรายการตามฟ้อง

จําเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า (1) จําเลยที่ 1 ไม่ได้ประมาทเลินเล่อ เหตุชนกันเกิดจากความ ประมาทเลินเล่อของโจทก์ฝ่ายเดียว (2) โจทก์เสียหายเป็นเงิน 500,000 บาท จริงหรือไม่ จําเลยไม่ทราบไม่รับรอง (3) โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยตามฟ้อง

จากคําฟ้องของโจทก์และคําให้การของจําเลยที่ 1 และที่ 2 มีประเด็นแห่งคดีที่คู่ความฟังได้ เป็นยุติ ดังนี้คือ

1 ประเด็นตามฟ้องที่ว่า จําเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจําเลยที่ 2 และจําเลยที่ 1 ขับ รถยนต์บรรทุกไปในทางการที่จ้างของจําเลยที่ 2 นั้น จําเลยทั้งสองไม่ได้ให้การปฏิเสธข้อเท็จจริงในส่วนนี้ จึง ถือว่าจําเลยทั้งสองยอมรับข้อเท็จจริงในส่วนนี้แล้ว และต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่โจทก์ ถ้าพิสูจน์ได้ว่า ความเสียหายนั้นได้เกิดขึ้นจากความประมาทเลินเล่อของจําเลยที่ 1

และตามข้อเท็จจริง แม้ว่าจําเลยที่ 3 จะให้การว่า จําเลยที่ 2 มิได้เป็นนายจ้างของจําเลย ที่ 1 และขณะเกิดเหตุ จําเลยที่ 1 ไม่ได้ขับรถไปในทางการที่จ้างก็ตาม คําให้การของจําเลยที่ 3 ก็ไม่ก่อให้เกิดเป็น ประเด็นข้อพิพาท เพราะคําให้การของจําเลยที่ 3 มิได้เป็นคําให้การในฐานะคู่ความ (จําเลย) ทั้งนี้เพราะโจทก์ได้ยื่นคําร้องขอถอนฟ้องจําเลยที่ 3 และศาลอนุญาตและมีคําสั่งให้จําหน่ายคดีของจําเลยที่ 3 ออกจากสารบบความแล้ว ดังนั้นคดีนี้จึงฟังได้เป็นยุติตามคําให้การที่ถือว่าเป็นการรับของจําเลยที่ 1 และที่ 2

2 ประเด็นที่ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายหรือไม่ เมื่อจําเลยทั้งสองให้การว่าไม่ทราบไม่รับรอง ซึ่งเป็นคําให้การที่ไม่ชัดแจ้งว่ารับหรือปฏิเสธ จึงถือว่าจําเลยทั้งสองรับว่าโจทก์ได้รับความเสียหายตามฟ้องจึงไม่เป็น ประเด็นข้อพิพาท คดีนี้จึงฟังได้เป็นยุติว่า ถ้าความเสียหายนั้นได้เกิดขึ้นจากความประมาทเลินเล่อของจําเลยที่ 1 จําเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องร่วมกันรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น

ดังนั้นจากคําฟ้องและคําให้การของจําเลยที่ 1 และที่ 2 คดีนี้จึงมีประเด็นข้อพิพาทว่า

1 จําเลยที่ 1 ประมาทเลินเล่อทําให้โจทก์เสียหายตามฟ้องหรือไม่

2 โจทก์ประมาทเลินเล่อทําให้เกิดความเสียหายตามฟ้องหรือไม่

3 โจทก์เสียหายเพียงใด

4 โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยสําหรับค่าเสียหายในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีหรือไม่

 

ประเด็นที่ 2 ภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบตกแก่คู่ความฝ่ายใด

สําหรับภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบนั้นตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 8/1 ได้กําหนดหลักเกณฑ์ ไว้ว่า ผู้ใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงใด ผู้นั้นมีหน้าที่นําสืบ ซึ่งแยกพิจารณาตามประเด็นข้อพิพาทได้ดังนี้

1 จําเลยที่ 1 ประมาทเลินเล่อทําให้โจทก์เสียหายตามฟ้องหรือไม่ เมื่อโจทก์กล่าวอ้างว่า จําเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกด้วยความประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้ชนกับรถยนต์คันที่โจทก์ขับ ทําให้รถยนต์คันที่ โจทก์ขับได้รับความเสียหาย แต่จําเลยให้การปฏิเสธว่าจําเลยมิได้ประมาทเลินเล่อ ดังนั้นเมื่อโจทก์เป็นฝ่ายกล่าวอ้าง แต่จําเลยให้การปฏิเสธ โจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงตามที่กล่าวอ้าง

2 โจทก์ประมาทเลินเล่อทําให้เกิดความเสียหายตามฟ้องหรือไม่ เมื่อจําเลยเป็นฝ่าย กล่าวอ้างว่าเหตุที่รถชนกันเกิดจากความประมาทเลินเล่อของโจทก์ แต่โจทก์ปฏิเสธ ดังนั้น จําเลยจึงมีภาระการพิสูจน์ ข้อเท็จจริงตามที่กล่าวอ้าง

3 โจทก์เสียหายเพียงใด เมื่อโจทก์กล่าวอ้างเรื่องความเสียหาย แม้จําเลยจะไม่ได้ให้การ โต้แย้งจํานวนเงินค่าเสียหายด้วย หน้าที่นําสืบข้อนี้ก็ยังคงตกแก่โจทก์ กล่าวคือ เป็นหน้าที่ของฝ่ายที่เรียกร้องจะต้อง นําสืบถึงจํานวนค่าเสียหายให้ได้ตามที่ฟ้องมา แต่หากโจทก์ไม่นําสืบหรือนําสืบไม่ได้ตามฟ้อง ศาลก็มีอํานาจกําหนด ค่าเสียหายให้โจทก์ได้เองตามสมควร โดยพิจารณาจากพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 438

4 สําหรับประเด็นข้อพิพาทที่ว่า โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี หรือไม่นั้น ประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวถือว่าเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่ศาลวินิจฉัยได้เอง คู่ความไม่ต้องนําสืบ

สรุป

คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทและภาระการพิสูจน์ ดังนี้

1 จําเลยที่ 1 ประมาทเลินเล่อหรือไม่ ภาระการพิสูจน์ตกแก่โจทก์

2 โจทก์ประมาทเลินเล่อหรือไม่ ภาระการพิสูจน์ตกแก่จําเลย

3 โจทก์เสียหายเพียงใด ภาระการพิสูจน์ตกแก่โจทก์

4 โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีหรือไม่ คู่ความไม่มีภาระการพิสูจน์(คู่ความไม่ต้องนําสืบ) ศาลวินิจฉัยได้เอง

 

ข้อ 2 นายดําถูกฟ้องเป็นจําเลยในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา นายเหลืองประจักษ์พยานโจทก์เบิกความว่า นายดํามิใช่คนร้ายกระทําความผิดตามฟ้อง เพื่อช่วยเหลือนายดําซึ่งขัดกับคําให้การของนายเหลืองที่ ให้ไว้ต่อพนักงานสอบสวนหลังเกิดเหตุทันทีว่า นายดําเป็นผู้ฆ่าผู้ตาย พนักงานอัยการโจทก์จึงขอ อนุญาตต่อศาลเพื่อซักถามนายเหลืองโดยใช้คําถามนำ และขอสืบบันทึกคําให้การของนายเหลือง ในชั้นสอบสวนประกอบการถาม แล้วอ้างส่งเป็นพยานต่อศาล ศาลอนุญาต ทนายความของนายดํา คัดค้านว่า โจทก์จะใช้คําถามนําและสืบบันทึกคําให้การของนายเหลืองดังกล่าวไม่ได้ และบันทึก คําให้การของนายเหลืองในชั้นสอบสวน เป็นพยานบอกเล่ารับฟังไม่ได้ ให้วินิจฉัยว่า ข้อคัดค้าน ของทนายความนายดําฟังขึ้นหรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 117 วรรคหก “ถ้าพยานเบิกความเป็น ปรปักษ์แก่คู่ความฝ่ายที่อ้างตนมาคู่ความฝ่ายนั้นอาจขออนุญาตต่อศาลเพื่อซักถามพยานนั้น เสมือนหนึ่งพยานนั้น เป็นพยานซึ่งคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งอ้างมา”

มาตรา 118 วรรคแรก “ในการที่คู่ความฝ่ายที่อ้างพยานจะซักถามพยานก็ดี หรือถามถึงพยาน ก็ดี ห้ามมิให้คู่ความฝ่ายนั้นใช้คําถามนํา เว้นแต่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งยินยอมหรือได้รับอนุญาตจากศาล”

มาตรา 120 “ถ้าคู่ความฝ่ายใดอ้างว่าคําเบิกความของพยานคนใดที่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งอ้าง หรือที่ศาลเรียกมาไม่ควรเชื่อฟัง โดยเหตุผลซึ่งศาลเห็นว่ามีมูล ศาลอาจยอมให้คู่ความฝ่ายนั้นนําพยานหลักฐาน มาสืบสนับสนุนข้ออ้างของตนได้แล้วแต่จะเห็นควร”

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 15 “วิธีพิจารณาข้อใดซึ่งประมวลกฎหมายนี้ มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ให้นําบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับเท่าที่พอจะใช้ บังคับได้”

มาตรา 226/3 “ข้อความซึ่งเป็นการบอกเล่าที่พยานบุคคลใดนํามาเบิกความต่อศาล หรือที่ บันทึกไว้ในเอกสารหรือวัตถุอื่นใดซึ่งอ้างเป็นพยานหลักฐานต่อศาล หากนําเสนอเพื่อพิสูจน์ความจริงแห่งข้อความนั้น เห้ถือเป็นพยานบอกเล่า

ห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานบอกเล่า เว้นแต่

(1) ตามสภาพ ลักษณะ แหล่งที่มา และข้อเท็จจริงแวดล้อมของพยานบอกเล่านั้น น่าเชื่อว่า จะพิสูจน์ความจริงได้”

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว ในการที่คู่ความฝ่ายที่อ้างพยานจะซักถามพยานก็ดี หรือถามติงพยานก็ดี ย่อม ต้องห้ามมิให้คู่ความฝ่ายนั้นใช้คําถามนํา แต่อย่างไรก็ตาม คู่ความฝ่ายที่อ้างพยานอาจใช้คําถามนําได้ หากปรากฎ ว่าพยานเบิกความเป็นปรปักษ์แก่ตน ทั้งนี้โดยให้คู่ความฝ่ายนั้นอาจขออนุญาตต่อศาลเพื่อซักถามพยานนั้น เสมือนพยานนั้นเป็นพยานซึ่งคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งอ้างมา (ป.วิ.พ. มาตรา 117 วรรคหก และมาตรา 118 วรรคแรก ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15)

กรณีตามอุทาหรณ์ คําเบิกความของนายเหลืองประจักษ์พยานโจทก์ที่ว่า นายดํามิใช่คนร้าย กระทําความผิดตามฟ้อง ย่อมเป็นคําเบิกความที่เป็นปรปักษ์แก่โจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิขออนุญาตต่อศาลเพื่อซักถาม นายเหลืองเสมือนหนึ่งเป็นพยานที่ฝ่ายจําเลยอ้างมาและใช้คําถามนําได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 117 วรรคหก และมาตรา 118 วรรคแรก ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 และมีสิทธินําบันทึกคําให้การของนายเหลืองในชั้นสอบสวนเข้าพิสูจน์ พยานต่อศาลเพื่อแสดงว่าคําเบิกความของนายเหลืองในชั้นศาลไม่ควรเชื่อฟังได้ เพราะต้องการช่วยเหลือจําเลย ให้พ้นความผิดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 120 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ดังนั้น ข้อคัดค้านของทนายประเด็นนี้จึงฟังไม่ขึ้น

ส่วนประเด็นที่ว่า บันทึกคําให้การของนายเหลืองในชั้นสอบสวนเป็นพยานบอกเล่ารับฟัง ไม่ได้นั้น เห็นว่า แม้บันทึกคําให้การของนายเหลืองในชั้นสอบสวนจะเป็นพยานบอกเล่าตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226/3 วรรคแรก ซึ่งห้ามมิให้ศาลรับฟังก็จริง แต่เมื่อคํานึงถึงตามสภาพ ลักษณะ แหล่งที่มา และข้อเท็จจริงแวดล้อมของบันทึกคําให้การของนายเหลืองในชั้นสอบสวนที่ให้การต่อพนักงานสอบสวนทันทีหลังเกิดเหตุว่า นายดําเป็นผู้ฆ่า ผู้ตายโดยยังไม่มีโอกาสปรุงแต่งข้อเท็จจริงให้เป็นอย่างอื่นเพื่อช่วยเหลือนายดําในตอนนั้น น่าเชื่อว่าจะพิสูจน์ ความจริงได้ ศาลจึงรับฟังบันทึกคําให้การของนายเหลืองในชั้นสอบสวนได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226/3 วรรคสอง (1) ดังนั้นข้อคัดค้านของทนายในประเด็นนี้ก็ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน

สรุป

ข้อคัดค้านของทนายฟังไม่ขึ้น อัยการโจทก์มีสิทธิขออนุญาตต่อศาลเพื่อซักถามนายเหลือง เสมือนหนึ่งเป็นพยานที่ฝ่ายจําเลยอ้างมาและใช้คําถามนําได้

และบันทึกคําให้การของนายเหลืองแม้จะเป็นพยานบอกเล่าศาลก็รับฟังได้

 

ข้อ 3 นายแก้วฟ้องนายขวดให้ชําระหนี้เงินกู้จํานวน 200,000 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยที่ระบุไว้ในสัญญากู้นายขวดจําเลยให้การว่าได้ทําสัญญากู้ตามฟ้องจริง และในสัญญาได้ระบุว่า “นายขวดยอมให้ดอกเบี้ย ร้อยละ 15 แก่นายแก้วทุกเดือน” เป็นการกําหนดอัตราดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกําหนด จึงตกเป็น โมฆะ นายขวดขอชําระเฉพาะเงินต้นคือ 200,000 บาทตามสัญญาเท่านั้น ในชั้นสืบพยาน นายแก้ว แถลงว่าอัตราดอกเบี้ยตามที่ระบุไว้ในสัญญาดังกล่าวคิดกันเป็นร้อยละ 15 ต่อปี ขอนําพยานบุคคลมาสืบถึงข้อตกลงนี้ ดังนี้ ศาลจะอนุญาตให้นายแก้วนําสืบพยานบุคคลได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 94 “เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ห้ามมิให้ศาลยอมรับฟัง พยานบุคคลในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ แม้ถึงว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะได้ยินยอมก็ดี

(ก) ขอสืบพยานบุคคลแทนพยานเอกสาร เมื่อไม่สามารถนําเอกสารมาแสดง

(ข) ขอสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้างอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อได้นําเอกสารมาแสดงแล้วว่า ยังมีข้อความเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นอยู่อีก

แต่ว่าบทบัญญัติแห่งมาตรานี้ มิให้ใช้บังคับในกรณีที่บัญญัติไว้ในอนุมาตรา (2) แห่งมาตรา 93 และมีให้ถือว่าเป็นการตัดสิทธิคู่ความในอันที่จะกล่าวอ้างและนําพยานบุคคลมาสืบประกอบข้ออ้างว่า พยานเอกสารที่ แสดงนั้นเป็นเอกสารปลอมหรือไม่ถูกต้องทั้งหมด หรือแต่บางส่วน หรือสัญญาหรือหนี้อย่างอื่นที่ระบุไว้ในเอกสารนั้น ไม่สมบูรณ์ หรือคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตีความหมายผิด”

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ย่อมต้องห้ามมิให้นํา พยานบุคคลมาสืบแทนพยานเอกสาร ในเมื่อไม่สามารถนําเอกสารมาแสดง หรือขอสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้าง อย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อได้นําเอกสารมาแสดงแล้วว่ายังมีข้อความเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความ ในเอกสารนั้นอยู่อีก เว้นแต่กรณีอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ที่สามารถนําสืบพยานบุคคลหักล้างพยานเอกสารได้ คือ

1 กรณีต้นฉบับเอกสารสูญหาย หรือถูกทําลายโดยเหตุสุดวิสัย หรือไม่สามารถนําต้นฉบับมาได้โดยประการอื่น

2 พยานเอกสารที่แสดงนั้นเป็นเอกสารปลอม

3 พยานเอกสารที่แสดงนั้นไม่ถูกต้องทั้งหมดหรือบางส่วน

4 สัญญาหรือหนี้ที่ระบุไว้ในเอกสารไม่สมบูรณ์

5 คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตีความหมายผิด

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายแก้วประสงค์จะนําสืบถึงอัตราดอกเบี้ยที่ระบุไว้ในสัญญาดังกล่าว คิดเป็นร้อยละ 15 ต่อปี ไม่ใช่ร้อยละ 15 ต่อเดือน กรณีจึงถือว่าเป็นการนําสืบว่านายขวดตีความหมายของข้อความ ในเอกสารผิดไป และเป็นการนําสืบอธิบายความหมายที่แท้จริงในสัญญา ไม่ถือว่าเป็นการนําพยานบุคคลมาสืบ เพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข) นายแก้วจึงนําพยานบุคคล มาสืบได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 วรรคท้าย ศาลจึงอนุญาตให้นําพยานบุคคลมาสืบได้ (เทียบ ฎ. 1601/2520)

สรุป

ศาลอนุญาตให้นายแก้วนําสืบพยานบุคคลได้

Advertisement