การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2552
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW3011 กฎหมายลักษณะพยาน
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน จำนวน 3 ข้อ
ข้อ 1 โจทก์ฟ้องว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตโฉนดที่ดินของโจทก์ โจทก์ขอรังวัดตรวจสอบแนวเขต แต่จำเลยคัดค้าน โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้พิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์และห้ามจำเลยคัดค้านการรังวัดสอบเขต จำเลยให้การว่า โจทก์นำรังวัดไม่ถูกต้อง ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยเนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามโฉนดที่ดิน เลขที่ 5555 ซึ่งจำเลยซื้อมาจากพี่สาวของจำเลยตั้งแต่ปี 2540 และในปีเดียวกันนั้นเอง จำเลยได้ให้น้องสาวปลูกบ้านอาศัยอยู่ในที่ดินซึ่งส่วนหนึ่งเป็นที่ดินพิพาท อย่างไรก็ดี หากฟังว่าที่ดินพิพาทอยู่ในโฉนดที่ดินของโจทก์ จำเลยก็ได้ครอบครองที่ดินพิพาทโดยสงบเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลานานกว่า 10 ปี จนจำเลยได้กรรมสิทธ์โดยการครอบครองปรปักษ์แล้ว ขอให้ยกฟ้อง ให้วินิจฉัยว่า
(1) คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทและภาระการพิสูจน์ประการใด กับคู่ความฝ่ายใดควรมีหน้าที่นำสืบก่อน
(2) ถ้าในวันชี้สองสถาน โจทก์และจำเลยแถลงร่วมกันต่อศาลชั้นต้นขอให้สั่งเจ้าพนักงานที่ดินไปรังวัดทำแผนที่พิพาทโดยให้รังวัดตามหลักวิชาการ หากผลการทำรังวัดปรากฏว่าบ้านของน้องสาวจำเลยปลูกอยู่ในเขตที่ดินของโจทก์ จำเลยยอมแพ้ หากปลูกอยู่นอกเขตที่ดินของโจทก์ โจทก์ยอมแพ้ ต่อมาเจ้าพนักงานที่ดินได้ทำการรังวัดทำแผนที่พิพาทด้วยวิธีการส่องกล้องถูกต้องตามหลักวิชาการแล้ว มีความเห็นว่า ที่ดินพิพาทน่าจะอยู่ในแนวเขตที่ดินของโจทก์แต่จำเลยอ้างว่า การที่เจ้าพนักงานที่ดินให้ความเห็นว่า “น่าจะ” นั้นไม่เป็นไปตามคำท้า ขอให้ศาลสืบพยานโจทก์จำเลยต่อไป ดังนี้ ข้ออ้างของจำเลยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ธงคำตอบ
มาตรา 84 การวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงในคดีใดจะต้องกระทำโดยอาศัยพยานหลักฐานในสำนวนคดีนั้น เว้นแต่
(3) ข้อเท็จจริงที่คู่ความรับหรือถือว่ารับกันแล้วในศาล
มาตรา 84/1 คู่ความฝ่ายใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงเพื่อสนับสนุนคำคู่ความของตนให้คู่ความฝ่ายนั้นมีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงนั้น แต่ถ้ามีข้อสันนิษฐานไว้ในกฎหมายหรือมีข้อสันนิษฐานที่ควรจะเป็นซึ่งปรากฏจากสภาพปกติธรรมดาของเหตุการณ์เป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใด คู่ความฝ่ายนั้นต้องพิสูจน์เพียงว่าตนได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขแห่งการที่ตนจะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานนั้นครบถ้วนแล้ว
มาตรา 183 ข้อกฎหมายหรือข้อเท็จจริงที่คู่ความฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างแต่คู่ความฝ่ายอื่นไม่รับและเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับประเด็นข้อพิพาทตามคำคู่ความให้ศาลกำหนดไว้เป็นประเด็นพิพาท และกำหนดให้คู่ความฝ่ายใดนำพยานหลักฐานมาสืบในประเด็นก่อนหรือหลังก็ได้
วินิจฉัย
(1) ประเด็นข้อพิพาท หมายถึง ข้ออ้างข้อเถียงในปัญหาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่ฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างในคำคู่ความ และคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งไม่รับ ดังนั้นปัญหาข้อใดที่ฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างและคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งรับแล้ว ย่อมไม่เกิดเป็นประเด็นข้อพิพาท
กรณีตามอุทาหรณ์ คดีมีประเด็นข้อพิพาทอย่างไรนั้น เห็นว่า เมื่อโจทก์ฟ้องกล่าวอ้างว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาท จำเลยให้การตอนแรกว่าจำเลยเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทโดยซื้อมาจากพี่สาวของจำเลยตั้งแต่ปี 2540 ถือเป็นคำให้การปฏิเสธโดยชัดแจ้งพร้อมด้วยเหตุแห่งการปฏิเสธตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง คดีจึงมีประเด็นพิพาทที่ว่าที่ดินเป็นของโจทก์หรือไม่
ส่วนข้อที่จำเลยให้การในตอนท้ายว่า หากฟังได้ว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตที่ดินของโจทก์จำเลยที่ 1 ก็ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์แล้วนั้น เป็นคำให้การขัดแย้งกับคำให้การตอนแรก ซึ่งอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยเพราะซื้อมา จึงไม่มีประเด็นเรื่องการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 เพราะการครอบครองปรปักษ์จะมีได้ก็แต่ในที่ดินของผู้อื่นเท่านั้น (ฎ. 5473/2548)
นอกจากนี้ข้อที่โจทก์อ้างว่าโจทก์ได้รับความเสียหายนั้น เนื่องจากโจทก์ไม่ได้มีคำขอให้จำเลยชำระค่าเสียหายมาด้วย จึงไม่มีประเด็นที่ศาลต้องวินิจฉัย ไม่ต้องกำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาท
สำหรับภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นำสืบนั้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84/1 ได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า ผู้ใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงใดเพื่อสนับสนุนคำคู่ความของตน ผู้นั้นมีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงนั้น ดังนั้นเมื่อโจทก์กล่าวอ้างข้อเท็จจริงว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ และจำเลยให้การปฏิเสธ ภาระการพิสูจน์ย่อมตกแก่โจทก์ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว
อนึ่งหน้าที่นำสืบก่อนนั้น เป็นหน้าที่ของคู่ความในการนำเสนอพยานหลักฐานตามลำดับก่อนหลังซึ่งเป็นกระบวนการหรือขั้นตอนการนำข้อเท็จจริงเข้าสู่สำนวนคดีของศาลเพื่อความสะดวกและรวดเร็วในการดำเนินกระบวนพิจารณาตามมาตรา 183 บัญญัติให้ศาลกำหนดให้คู่ความฝ่ายใดนำพยานหลักฐานมาสืบในประเด็นข้อพิพาทข้อใดก่อนหรือหลังก็ได้ กรณีตามอุทาหรณ์ เมื่อโจทก์มีภาระการพิสูจน์ ศาลก็สมควรสั่งให้โจทก์นำพยานหลักฐานเข้าสืบก่อนแล้วห้ำเลยสืบแก้
(2) คำท้า คือ การที่คู่ความแถลงว่าจะรับในข้อเท็จจริงอย่างใดอย่างหนึ่งถ้าอีกฝ่ายหนึ่งจะยอมดำเนินกระบวนการพิจารณาเพียงเท่าที่ท้ากันนั้นได้ ถ้าไม่ได้ อีกฝ่ายหนึ่งก็จะยอมรับข้อเท็จจริงตามที่ฝ่ายนั้นกล่าวอ้าง กรณีนี้ เมื่อโจทก์และจำเลยตกลงท้ากันให้ถือเอาผลการรังวัดสอบเขตที่ดินพิพาทตามหลักวิชาการเป็นข้อชี้ขาดปัญหา เมื่อเจ้าพนักงานที่ดินได้ดำเนินการรังวัดทำแผนที่พิพาทโดยถูกต้องตามหลักวิชาการแล้ว ละให้ความเห็นว่า ที่ดินพิพาทน่าจะอยู่ในแนวเขตที่ดินของโจทก์ ย่อมถือได้ว่าผลของการรังวัดสอบเขตสมความประสงค์ของคู่ความและตรงตามคำท้าของโจทก์และจำเลยที่ตกลงกันแล้วตามมาตรา 84(3) การที่เจ้าพนักงานที่ดินให้ความเห็นว่า “น่าจะ” นั้น เป็นเพราะความเห็นที่ให้นั้นเกิดจากข้อเท็จจริงที่พบเห็นจากพยานหลักฐานในขณะกำลังทำการรังวัด หาใช่เป็นการไม่ยืนยันมั่นคงแต่อย่างใดไม่ จำเลยจึงต้องเป็นฝ่ายแพ้คดีตามคำท้า ข้ออ้างของจำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงฟังไม่ขึ้น (ฎ. 4476/2544, ฎ.5992/2545)
สรุป
(1) ประเด็นข้อพิพาทมีว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือไม่ และภาระการพิสูจน์เป็นของโจทก์ ดังนั้นโจทก์จึงควรมีหน้าที่นำสืบก่อน
(2) ข้ออ้างของจำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ฟังไม่ขึ้น
ข้อ 2 คดีมีประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยกู้เงินโจทก์ตามฟ้องหรือไม่ ชั้นพิจารณาโจทก์นำสืบมีตัวโจทก์ ทนายโจทก์ และผู้เขียนสัญญากู้เป็นพยานเบิกความทำนองเดียวกันว่า จำเลยกู้เงินโจทก์โดยลงชื่อในช่องผู้กู้เงินในสัญญากู้ที่อ้างส่งเป็นพยาน ส่วนจำเลยนำสืบโดยอ้างว่าส่งรายงานความเห็นของผู้เชี่ยวชาญที่ทำการตรวจพิสูจน์ลายเซ็นของจำเลยในช่องผู้กู้ในสัญญากู้เป็นพยาน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญลงความเห็นว่า ลายเซ็นของจำเลยในช่องผู้กู้ในสัญญากู้ไม่ใช่ลายเซ็นของจำเลย แลละมาเบิกความประกอบความเห็นดังกล่าว กับข้อเท็จจริงฟังได้อีกว่า ลายเซ็นของจำเลยในใบรับหมายเรียกมีลักษณะการเขียนและขนาดของตัวหนังสือคล้ายคลึงกันกับลายเซ็นของจำเลยในช่องผู้กู้ในสัญญากู้
ให้วินิจฉัยว่า พยานหลักฐานของฝ่ายใดมีน้ำหนักดีกว่ากัน
ธงคำตอบ
มาตรา 104 วรรคแรก ให้ศาลมีอำนาจเต็มที่ในอันที่จะวินิจฉัยว่าพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบมานั้นจะเกี่ยวกับประเด็นและเป็นอันเพียงพอ ให้เชื่อฟังเป็นยุติได้หรือไม่ แล้วพิพากษาคดีไปตามนั้น
มาตรา 130 วรรคแรก ผู้เชี่ยวชาญที่ศาลแต่งตั้งอาจแสดงความเห็นด้วยวาจาหรือเป็นหนังสือก็ได้ แล้วแต่ศาลจะต้องการ ถ้าศาลยังไม่เป็นที่พอใจในความเห็นของผู้เชี่ยวชาญที่ทำเป็นหนังสือนั้น หรือเมื่อคู่ความฝ่ายใดเรียกร้องโดยทำเป็นคำร้อง ให้ศาลเรียกให้ผู้เชี่ยวชาญทำความเห็นเพิ่มเติมเป็นหนังสือหรือเรียกให้มาศาลเพื่ออธิบายด้วยวาจา หรือให้ตั้งผู้เชี่ยวชาญคนอื่นอีก
วินิจฉัย
ในการรับฟังพยานความเห็นนั้น โดยหลักแล้วตาม ป.วิ.พ. มาตรา 95 ห้ามมิให้รับฟังพยานบุคคลใด เว้นแต่บุคคลนั้นเป็นผู้ได้เห็น ได้ยิน หรือได้ทราบข้อความในเรื่องที่จะให้การเป็นพยานนั้นด้วยตนเอง ดังนั้นจึงห้ามมิให้รับฟังถ้อยคำของพยานในลักษณะที่เป็นความเห็นหรือการคาดคะเน เว้นแต่
1 ให้อำนาจศาลในการรับฟัง หรือปฏิเสธพยานหลักฐานใด (มาตรา 86)
2 ให้อำนาจศาลในการรับฟังความเห็นของพยานผู้เชี่ยวชาญ (มาตรา 99, 130 วรรคแรก)
สำหรับในเรื่องการชั่งน้ำหนักความเห็นของพยานผู้เชี่ยวชาญนั้น ศาลมีอำนาจเต็มที่ในการที่จะวินิจฉัยว่าพยานหลักฐานที่คู่ความนำมาสืบนั้นจะเกี่ยวกับประเด็นและเป็นอันเพียงพอให้เชื่อฟังเป็นยุติได้หรือไม่ แล้วพิพากษาไปตามนั้นตามมาตรา 104 วรรคแรก แม้รายงานความเห็นของผู้เชี่ยวชาญจะเป็นพยานที่ศาลรับฟังได้ก็จริง แต่มิใช่ว่าผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นอย่างไรแล้ว ศาลต้องรับฟังและเชื่อได้เป็นยุติในการวินิจฉัยคดีเสมอไป เพราะความเห็นของผู้เชี่ยวชาญเป็นเพียงพยานหลักฐานชิ้นหนึ่งในการที่ศาลจะใช้ดุลพินิจในการชั่งน้ำหนักประกอบกับพยานหลักฐานอื่นในการวินิจฉัยชี้ขาดคดีเท่านั้น เว้นแต่ในกรณีที่คู่ความท้ากันให้เอาความเห็นของผู้เชี่ยวชาญเป็นยุติ เช่นนี้ถือว่าความเห็นของผู้เชี่ยวชาญมีน้ำหนักมากและถือเป็นข้อยุติ ศาลต้องพิจารณาให้เป็นไปตามคำท้านั้น
กรณีตามอุทาหรณ์ เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าโจทก์และจำเลยตกลงท้ากัน ให้ถือเอาความเห็นของผู้เชี่ยวชาญในการตรวจพิสูจน์เป็นข้อแพ้ชนะ แม้ความคิดเห็นของตามหลักวิชาของพยานผู้เชี่ยวชาญจะเป็นพยานที่ศาลรับฟังได้ แต่ก็มิใช่ว่าจะต้องถือตามนั้นเสมอไป เมื่อลายเซ็นของจำเลยในใบรับหมายเรียกมีลักษณะการเขียนและขนาดของตัวหนังสือคล้ายคลึงกับลายเซ็นของจำเลยในช่องผู้กู้ในสัญญากู้ และโจทก์มีพยานบุคคลที่เป็นประจักษ์พยานมาเบิกความยืนยันว่าจำเลยกู้เงินโจทก์โดยลงชื่อในช่องผู้กู้ในสัญญากู้ กับอ้างส่งสัญญากู้เป็นพยานต่อศาล สนับสนุนข้อกล่าวอ้างของตน ส่วนจำเลยคงมีแต่รายงานความเห็นของผู้เชี่ยวชาญเป็นพยานเท่านั้น ดังนั้นพยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลย (ฎ. 3117/2535)
สรุป พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลย
ข้อ 3 โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินกู้ตามสัญญากู้ยืม โดยเบิกความยืนยันว่า จำเลยยังไม่ชำระเงินกู้คืน ส่วนจำเลยนำสืบว่าจำเลยชำระเงินกู้คืนแล้วโดยโจทก์ตักหน้าดินในที่ดินของจำเลยไปขายและนำเงินไปชำระหนี้เงินกู้จนหมดแล้ว แต่จำเลยยังไม่ได้รับสัญญากู้คืนมา และในการสืบพยานนั้นจำเลยได้นำนางแพงศรีมาเบิกความสนับสนุนจำเลยด้วย ดังนี้ การที่ศาลยอมรับฟังพยานบุคคลมาสืบดังกล่าวข้างต้นนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 94 เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ห้ามมิให้ศาลยอมรับฟังพยานบุคคลในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ แม้ถึงว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะได้ยินยอมก็ดี
(ข) ขอสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้างอย่างใดอย่างหนึ่งว่า เมื่อได้นำเอกสารมาแสดงแล้วว่า ยังมีข้อความเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นอยู่อีก
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 321 วรรคแรก ถ้าเจ้าหนี้ยอมรับการชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ที่ได้ตกลงกันไว้ ท่านว่าหนี้นั้นก็เป็นอันระงับสิ้นไป
มาตรา 653 วรรคสอง ในการกู้ยืมเงินมีหลักฐานเป็นหนังสือนั้น ท่านว่าจะนำสืบการใช้เงินได้ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง ลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดงหรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้เวนคืนแล้ว หรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้ว
วินิจฉัย
โดยหลักแล้ว เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ย่อมต้องห้ามมิให้นำพยานบุคคลมาสืบแทนพยานเอกสาร ในเมื่อไม่สามารถนำเอกสารมาแสดง หรือขอสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้างอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อได้นำเอกสารมาแสดงแล้วว่ายังมีข้อความเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นอยู่อีก ซึ่งจะเห็นว่ากฎหมายห้ามมิให้รับฟังพยานบุคคลเฉพาะกรณีที่มีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดงเท่านั้น ดังนั้นกรณีที่ไม่มีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง แม้จะมีการทำสัญญากันไว้เป็นหลักฐาน คู่สัญญาก็อาจนำพยานบุคคลมาสืบแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94
กรณีตามอุทาหรณ์ ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า กรที่ศาลยอมรับฟังพยานบุคคลมาสืบดังกล่าวข้างต้นนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคสอง วางหลักในเรื่องการนำสืบการใช้เงินกู้ยืมในกรณีที่การกู้ยืมมีหลักฐานเป็นหนังสือ ซึ่งจะทำได้ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดง หรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้เวนคืนแล้ว หรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้น หมายถึง กรณีชำระหนี้ด้วยการใช้เงินตราเท่านั้น ดังนั้นการที่จำเลยอ้างนางแพงศรีมาสืบสนับสนุนว่ามีการชำระหนี้ให้โจทก์ครบถ้วนตามสัญญาแล้ว โดยยอมให้โจทก์ตักหน้าดินไปขายและนำเงินไปชำระหนี้เงินกู้เป็นการชำระหนี้อย่างอื่นตาม ป.พ.พ. มาตรา 321 วรรคแรก ไม่ใช่การนำสืบการชำระหนี้ด้วยเงินตราตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคสอง จึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติดังกล่าว
และการนำสืบเช่นว่านี้ไม่ใช่เป็นกรณีที่กฎหมายบังคับว่าต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 เช่นกัน ดังนั้นจำเลยสามารถอ้างนางแพงศรีเป็นพยานบุคคลเพื่อนำสืบว่ามีการชำระหนี้โดยขุดดินไปขายได้ การสืบพยานบุคคลดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมาย (ฎ. 4742/2550)
สรุป การที่ศาลรับฟังพยานบุคคลมาสืบดังกล่าวข้างต้นชอบด้วยกฎหมายแล้ว