การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2556
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3010 กฎหมายล้มละลาย
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ
ข้อ 1 ก. กู้เงิน ข. 1 ล้านบาท โดยเอาที่ดินจํานองไว้เป็นประกันหนี้ โดย ก. ได้ทําสัญญารับผิดในมูลหนี้ที่ขาดไว้ ดังนั้น ถ้า ก. ผิดนัด ข. ฟ้องทางแพ่งบังคับขายที่ดินทอดตลาดได้เงินสุทธิเพียง 7 แสนบาท หนี้ยังขาดอยู่ 3 แสนบาท ข. จะนํามูลหนี้ 3 แสนบาท ที่ยังขาดอยู่ไปฟ้องลูกหนี้คนเดียวกันนี้ให้ ล้มละลายได้อีกหรือไม่ เพราะเหตุใดประการหนึ่ง
อีกประการหนึ่ง จากโจทย์เดิมข้างต้น ถ้าการกู้เงินดังกล่าว ก. ได้ทําสัญญาต่อท้ายจํานองว่าขอรับผิด ในมูลหนี้ที่ยังขาดอยู่อีกไว้กับ ข. เจ้าหนี้ด้วย ดังนั้น เมื่อ ก. ผิดนัด ข. ฟ้องแพ่งบังคับขายที่ดิน ทอดตลาดได้เงิน 7 แสนบาท ขาดอยู่อีก 3 แสนบาท ให้ท่านวินิจฉัยว่า ข. จะนํามูลหนี้ที่ยังขาดอยู่ 3 แสนบาท ไปฟ้องลูกหนี้คนเดียวกันนั้นให้ล้มละลายได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483
มาตรา 6 “ในพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่ข้อความจะแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น
“เจ้าหนี้มีประกัน” หมายความว่า เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ในทางจํานอง จํานํา หรือสิทธิยึดหน่วง หรือเจ้าหนี้ผู้มีบุริมสิทธิที่บังคับได้ทํานองเดียวกับผู้รับจํานํา”
มาตรา 9 “เจ้าหนี้จะฟ้องลูกหนี้ให้ล้มละลายได้ก็ต่อเมื่อ
(1) ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว
(2) ลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเป็นหนี้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์คนเดียวหรือหลายคนเป็น จํานวนไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท…. และ
(3) หนี้นั้นอาจกําหนดจํานวนได้แน่นอน ไม่ว่าหนี้นั้นจะถึงกําหนดชําระโดยพลันหรือใน อนาคตก็ตาม”
มาตรา 10 “ภายใต้บังคับมาตรา 9 เจ้าหนี้มีประกันจะฟ้องลูกหนี้ให้ล้มละลายได้ก็ต่อเมื่อ
(1) มิได้เป็นผู้ต้องห้ามมิให้บังคับการชําระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้เกินกว่าตัวทรัพย์ ที่เป็นหลักประกัน และ
(2) กล่าวในฟ้องว่า ถ้าลูกหนี้ล้มละลายแล้ว จะยอมสละหลักประกันเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ ทั้งหลาย หรือตีราคาหลักประกันมาในฟ้องซึ่งเมื่อหักกับจํานวนหนี้ของตนแล้วเงินยังขาดอยู่ สําหรับลูกหนี้ซึ่งเป็น บุคคลธรรมดาเป็นจํานวนไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท หรือลูกหนี้ซึ่งเป็นนิติบุคคลเป็นจํานวนไม่น้อยกว่าสองล้านบาท
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 733 “ถ้าเอาทรัพย์จํานองหลุด และราคา ทรัพย์สินนั้นมีประมาณต่ำกว่าจํานวนเงินที่ค้างชําระกันอยู่ก็ดี หรือถ้าเอาทรัพย์สินซึ่งจํานองออกขายทอดตลาด ใช้หนี้ ได้เงินจํานวนสุทธิน้อยกว่าจํานวนเงินที่ค้างชําระกันอยู่นั้นก็ดี เงินยังขาดจํานวนอยู่เท่าใด ลูกหนี้ไม่ต้องรับ ในเงินนั้น”
วินิจฉัย
ตาม พ.ร.บ. ล้มละลายฯ มาตรา 10 (1) การที่เจ้าหนี้มีประกันจะฟ้องให้ลูกหนี้ล้มละลายหรือ จะขอรับชําระหนี้ได้นั้น จะต้องเป็นเจ้าหนี้ที่มิได้เป็นผู้ต้องห้ามมิให้บังคับการชําระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ เกินกว่าตัวทรัพย์ที่เป็นหลักประกัน
และสําหรับเจ้าหนี้มีประกันในกรณีเป็นผู้รับจํานองนั้น ถ้าจะฟ้องลูกหนี้ให้ล้มละลายหรือจะ ขอรับชําระหนี้ในคดีล้มละลายนั้น จะต้องเป็นผู้รับจํานองที่มี “สัญญาพิเศษ” นอกเหนือจาก ป.พ.พ. มาตรา 733 กล่าวคือจะต้องเป็นผู้รับจํานองที่มีสัญญาพิเศษนอกเหนือมาตรา 733 กับผู้จํานองว่า ถ้าบังคับจํานองได้เงินไม่พอ ชําระหนี้ ผู้จํานองยอมให้บังคับจํานองบังคับชําระหนี้เอากับทรัพย์สินอื่นได้อีก (ซึ่งเป็นข้อตกลงที่ใช้บังคับกันได้ ตามกฎหมาย)
กรณีตามอุทาหรณ์ วินิจฉัยได้ดังนี้ คือ
กรณีแรก การที่ ก. กู้เงิน ข. โดยนําที่ดินจํานองไว้เป็นประกันหนี้นั้น ถือว่า ข. เป็นเจ้าหนี้ มีประกันตามนัยมาตรา 6 แต่เมื่อในการกู้เงินครั้งนี้ ก. ไม่ได้มีสัญญาพิเศษนอกเหนือ ป.พ.พ. มาตรา 733 กับ ข. คือ ไม่ได้ทําสัญญารับผิดในมูลหนี้ที่ขาดไว้กับ ข. ดังนี้ เมื่อมีการบังคับขายทอดตลาดที่ดินแล้วหนี้ยังขาดอยู่ 300,000 บาท หนี้ดังกล่าวนี้ ก. ลูกหนี้จึงไม่ต้องรับผิด ดังนั้น ข. จึงไม่สามารถนํามูลหนี้ที่ยังขาดอยู่ไปฟ้อง ก. เป็นคดีล้มละลายได้ เพราะต้องห้ามตามมาตรา 10 (1) ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 733 ที่ห้ามมิให้เจ้าหนี้บังคับชําระหนี้เกินกว่าตัวทรัพย์ ของลูกหนี้ที่เป็นหลักประกัน
กรณีที่สอง เมื่อการกู้เงินดังกล่าว ก. ได้มีสัญญาพิเศษนอกเหนือ ป.พ.พ. มาตรา 733 กับ ข. คือ ได้ทําสัญญารับผิดในมูลหนี้ที่ยังขาดอยู่ไว้ด้วย จึงถือว่า ข. เป็นเจ้าหนี้มีประกันที่มิได้เป็นผู้ต้องห้ามมิให้บังคับ ชําระหนี้เกินกว่าตัวทรัพย์ที่เป็นหลักประกันตามมาตรา 10 (1) ดังนั้น เมื่อมีการบังคับขายทอดตลาดที่ดินแล้วหนี้ ยังขาดอยู่ 300,000 บาท ข. ย่อมสามารถนํามูลหนี้ที่ยังขาดอยู่นั้นไปฟ้องลูกหนี้เป็นคดีล้มละลายอีกได้ ไม่ต้องห้าม ตามมาตรา 10 (1) ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 733
แต่อย่างไรก็ดี การฟ้องให้ลูกหนี้ล้มละลายของเจ้าหนี้มีประกันนั้น จะต้องอยู่ภายใต้บังคับ ของมาตรา 9 (2) และมาตรา 10 (2) ด้วย กล่าวคือ ถ้าลูกหนี้เป็นบุคคลธรรมดา ลูกหนี้จะต้องเป็นหนี้เจ้าหนี้ ผู้เป็นโจทก์คนเดียวหรือหลายคนเป็นจํานวนไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท ดังนั้น ตามอุทาหรณ์ เมื่อ ข. ได้ฟ้องบังคับ เอาที่ดินออกขายทอดตลาด และหนี้ยังขาดอยู่ 300,000 บาท นั้น ถ้าหาก ข. จะฟ้องให้ ก. ลูกหนี้ล้มละลาย ข. จะต้องนํามูลหนี้ไปรวมกับเจ้าหนี้คนอื่น ๆ เพื่อให้มีมูลหนี้ไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาทด้วย จึงจะสามารถฟ้องให้ ก. ลูกหนี้ล้มละลายได้
สรุป
กรณีแรก ข. จะนําเงิน 300,000 บาท ที่ยังขาดอยู่นั้นไปฟ้อง ก. เป็นคดีล้มละลายไม่ได้
กรณีที่สอง ช. จะนํามูลหนี้ที่ยังขาดอยู่นั้นไปฟ้องลูกหนี้เป็นคดีล้มละลายได้อีก แต่กรณีนี้ ข. จะต้องนํามูลหนี้ไปรวมกับเจ้าหนี้คนอื่น ๆ เพื่อให้มีมูลหนี้ไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาทด้วย จึงจะสามารถฟ้องให้ ก. ลูกหนี้ล้มละลายได้
ข้อ 2 เจ้าหนี้มีกี่ประเภทที่มีสิทธิ์ที่จะมาขอรับชําระหนี้ตามที่ประกาศของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามมาตรา 27 มาตรา 91 และในแต่ละประเภทมีใครบ้าง
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483
มาตรา 27 “เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว เจ้าหนี้จะขอรับชําระหนี้ได้ก็ แต่โดยปฏิบัติตามวิธีการที่กล่าวไว้ในพระราชบัญญัตินี้ แม้จะเป็นเจ้าหนี้ตามคําพิพากษา หรือเป็นเจ้าหนี้ที่ได้ ฟ้องคดีแพ่งไว้แล้ว แต่คดียังอยู่ระหว่างพิจารณาก็ตาม”
มาตรา 91 วรรคแรก “เจ้าหนี้ซึ่งจะขอรับชําระหนี้ในคดีล้มละลายจะเป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ หรือไม่ก็ตาม ต้องยื่นคําขอต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกําหนดเวลาสองเดือนนับแต่วันโฆษณาคําสั่ง พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด แต่ถ้าเจ้าหนี้อยู่นอกราชอาณาจักร เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะขยายกําหนดเวลาให้อีกได้ ไม่เกินสองเดือน”
มาตรา 92 “บุคคลใดได้รับความเสียหายเพราะสิ่งของของตนถูกยึดไปตามมาตรา 109 (3) ก็ดี หรือเพราะการโอนทรัพย์สินหรือการกระทําใด ๆ ถูกเพิกถอนตามมาตรา 115 ก็ดี หรือเพราะเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ไม่ยอมรับทรัพย์สินหรือสิทธิตามสัญญาตามมาตรา 112 ก็ดี มีสิทธิขอรับชําระหนี้ สําหรับราคาสิ่งของหรือหนี้เดิม หรือค่าเสียหายได้แล้วแต่กรณี ภายในกําหนดเวลาตามมาตรา 91 แต่ให้นับจากวันที่อาจใช้สิทธิขอรับชําระหนี้ได้ ถ้ามีข้อโต้เถียงเป็นคดีให้นับจากวันคดีถึงที่สุด”
มาตรา 93 “ในกรณีที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าว่าคดีที่ค้างพิจารณาอยู่แทนลูกหนี้ ถ้าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แพ้คดี เจ้าหนี้ตามคําพิพากษามีสิทธิขอรับชําระหนี้ภายในกําหนดเวลาตามมาตรา 91 แต่ให้นับจากวันคดีถึงที่สุด”
อธิบาย
กําหนดระยะเวลาในการยื่นคําขอรับชําระหนี้ในคดีล้มละลาย มี 2 กรณี คือ
1 การขอรับชําระหนี้กรณีปกติ ตามมาตรา 27 ประกอบมาตรา 91 วรรคแรก คือ หากเจ้าหนี้อยู่ในราชอาณาจักร กฎหมายกําหนดเวลายื่นคําขอรับชําระหนี้ไว้ภายใน 2 เดือนนับแต่วันโฆษณา คําสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ แต่หากเจ้าหนี้อยู่นอกราชอาณาจักร กฎหมายให้อํานาจ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะขยายระยะเวลาได้อีกไม่เกิน 2 เดือน ซึ่งการขยายระยะเวลานี้ถือเป็นดุลพินิจของ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่จะพิจารณาตามความเหมาะสม และพฤติการณ์ของเจ้าหนี้เป็นราย ๆ ไป
2 การขอรับชําระหนี้กรณีพิเศษ ตามมาตรา 92 และ 93 โดยมาตรา 92 จะเป็นกรณีที่ ทรัพย์ของบุคคลภายนอกซึ่งอยู่ในความครอบครองของลูกหนี้ ถูกเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยึดไปตามมาตรา 109 (3) หรือเจ้าหนี้ถูกเพิกถอนการโอนตามมาตรา 115 หรือเพราะเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ยอมรับทรัพย์สินหรือสิทธิ์ตาม สัญญาของลูกหนี้ตามมาตรา 112 ส่วนมาตรา 93 นั้น จะเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าว่าคดีที่ค้างพิจารณา อยู่แทนลูกหนี้แล้วแพ้คดี ซึ่งทั้งสองกรณีนี้กฎหมายกําหนดให้บุคคลที่ถูกกระทบสิทธิดังกล่าวยื่นคําขอรับชําระหนก โดยกรณีตามมาตรา 92 จะต้องยื่นภายในกําหนดเวลาตามมาตรา 91 นับจากวันที่อาจใช้สิทธิขอรับชําระหนี้ได้ แต่ถ้ามีข้อโต้เถียงกันเป็นคดีให้นับจากวันคดีถึงที่สุด ส่วนกรณีตามมาตรา 93 จะต้องยืนภายในกําหนดเวลาตาม มาตรา 91 นับจากวันคดีถึงที่สุด
ส่วนเจ้าหนี้ที่มีสิทธิจะมาขอรับชําระหนี้ตามที่ประกาศของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตาม มาตรา 27 มาตรา 91 มี 4 ประเภท ดังนี้
1 เจ้าหนี้ตามคําพิพากษา (ในคดีแพ่ง) ซึ่งอาจจะเป็นคําพิพากษาตามยอม หรือคําพิพากษา ที่ศาลตัดสินจากพยานหลักฐานในคดีก็ได้ (มาตรา 27)
2 เจ้าหนี้ที่ฟ้องคดีแพ่งไว้แล้วแต่คดีค้างพิจารณา กล่าวคือ เป็นกรณีที่คดีอยู่ระหว่าง การพิจารณาของศาล โดยศาลยังมิได้ตัดสินพิพากษาคดีนั่นเอง (มาตรา 27)
3 เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ (ฟ้องคดีแล้ว) ในที่นี้หมายถึง เป็นโจทก์ในคดีล้มละลาย กล่าวคือ แม้ในคดีล้มละลายดังกล่าว เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์จะเป็นผู้ฟ้องคดี แต่กฎหมายก็กําหนดให้เจ้าหนี้ดังกล่าวมายื่นขอรับ ชําระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ด้วย (มาตรา 91)
4 เจ้าหนี้ที่ยังไม่เป็นโจทก์ (ยังไม่ฟ้องคดี) ในที่นี้ก็หมายถึง ยังไม่ได้เป็นโจทก์ในคดี ล้มละลายนั่นเอง และไม่ว่าจะเป็นเจ้าหนี้ในมูลหนี้ตามคําพิพากษา (ในคดีแพ่ง) หรือไม่ก็ตาม เช่น เจ้าหนี้ในมูลหนี้ กู้ยืมเงิน สัญญาซื้อขาย สัญญาเช่าซื้อ สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี ฯลฯ ก็มีสิทธิ์มาขอรับชําระหนี้ในคดีล้มละลาย เช่นกัน โดยยื่นคําขอรับชําระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกําหนด (มาตรา 91)
ข้อ 3 เจ้าหนี้ไม่มีประกันขอรับชําระหนี้มีหลักเกณฑ์ว่าอย่างไร
– หนี้ประเภทใดที่ไม่อาจนํามาขอรับชําระหนี้ได้ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483
มาตรา 21 เจ้าหนี้ไม่มีประกันอาจขอรับชําระหนี้ได้ ถ้ามูลแห่งหนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาล มีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ แม้ว่าหนี้นั้นยังไม่ถึงกําหนดชําระหรือมีเงื่อนไขก็ตาม เว้นแต่
(1) หนี้ที่เกิดขึ้นโดยฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี หรือหนี้ที่จะฟ้องร้องให้ บังคับคดีไม่ได้
(2) หนี้ซึ่งเจ้าหนี้ยอมให้ลูกหนี้กระทําขึ้นเมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ถึงการที่ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว แต่ไม่รวมถึงหนี้ที่เจ้าหนี้ยอมให้กระทําขึ้นเพื่อให้กิจการของลูกหนี้ดําเนินต่อไปได้”
อธิบาย
ตามบทบัญญัติมาตรา 94 วรรคแรก ได้กําหนดหลักเกณฑ์ที่เจ้าหนี้ไม่มีประกันจะขอรับชําระหนี้ ไว้ดังนี้ คือ
1 เป็นเจ้าหนี้ไม่มีประกัน คือ เป็นเจ้าหนี้ที่ไม่มีสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ในทางจํานอง จํานํา หรือสิทธิยึดหน่วง หรือมีสิทธิบังคับได้ทํานองเดียวกับผู้จํานํา หรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เจ้าหนี้สามัญนั่นเอง
2 มีมูลหนี้เกิดขึ้นก่อนศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ ซึ่งหมายความถึงทั้งคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราว และคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เพราะเมื่อศาลมีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แล้ว กฎหมายห้ามลูกหนี้กระทําการ ใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินหรือกิจการของตน
3 มาขอรับชําระหนี้ ภายในกําหนด 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด (พ.ร.บ. ล้มละลาย มาตรา 27 ประกอบมาตรา 91)
4 หนี้ยังไม่ถึงกําหนดชําระ ก็มาขอรับชําระหนี้ได้ แต่หากสิทธิเรียกร้องยังไม่เกิดขึ้น จะนํามาขอรับชําระหนี้ไม่ได้
5 หนี้มีเงื่อนไข ก็นํามาขอรับชําระหนี้ได้
6 ถ้าไม่มาขอรับชําระหนี้ภายในกําหนด หนี้นั้นเป็นศูนย์ หมายความว่า ถ้าเจ้าหนี้ไม่มายื่นขอรับชําระหนี้ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกําหนด เจ้าหนี้ย่อมหมดสิทธิที่จะบังคับคดีเพื่อชําระหนี้นั้น
7 ดอกเบี้ยหรือค่าป่วยการอื่นแทนดอกเบี้ยที่เจ้าหนี้จะนํามาขอรับชําระหนี้นั้น คิดได้ ถึงวันที่ศาลมีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเท่านั้น (พ.ร.บ.ล้มละลาย มาตรา 100)
และหนี้ซึ่งไม่อาจนำไปขอรับชำระหนี้ได้นั้น ตามมาตรา 94 (1) และ (2) ได้กําหนดไว้ดังนี้ คือ
1 หนี้ที่เกิดขึ้นโดยฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี หรือหนี้ที่จะฟ้องร้องให้ บังคับคดีไม่ได้ (มาตรา 94 (1)) เช่น หนี้ขาดอายุความ หนี้การพนัน หักกลบลบหนี้ หนี้เงินกู้ที่ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ หนี้ตามเช็คที่เจ้าหนี้ไม่นําสืบถึงที่มาของมูลหนี้ เป็นต้น
2 หนี้ซึ่งเจ้าหนี้ยอมให้ลูกหนี้กระทําขึ้นเมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ถึงการที่ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว แต่ไม่รวมถึงหนี้ที่เจ้าหนี้ยอมให้กระทําขึ้นเพื่อให้กิจการของลูกหนี้ดําเนินต่อไปได้ (มาตรา 94 (2))