การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2551 

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW3010 กฎหมายล้มละลาย 

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  จำนวน  3  ข้อ

ข้อ  1  นายฟ้าฟ้องนายเหลืองให้ล้มละลายโดยบรรยายฟ้องว่า  นายเหลืองเป็นบุคคลที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว  เป็นหนี้ตามสัญญาซื้อขายจำนวน  1,500,000  บาท  มีนายเขียวนำที่ดิน  1  แปลงมาเป็นประกัน  โดยนายเหลืองยอมให้นายฟ้าบังคับชำระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินของตนเกินกว่าตัวทรัพย์ที่นายเขียวนำมาเป็นหลักประกัน  และนายเหลืองยังเป็นหนี้เงินตามสัญญากู้ซึ่งยังไม่ถึงกำหนดชำระจำนวน  1,000,000  บาท  ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องแล้วเห็นว่า  นายฟ้าเป็นเจ้าหนี้มีประกันในหนี้ตามสัญญาซื้อขายจำนวน  1,5000,000  บาท  แต่ไม่ได้บรรยายฟ้องว่า  จะยอมสละประกันหรือตีราคาหลักประกัน  ส่วนหนี้เงินกู้จำนวน  1,000,000  บาทนั้น  เป็นหนี้ที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระจึงมีคำสั่งไม่รับฟ้องของนายฟ้า

ดังนี้  ให้วินิจฉัยว่าคำสั่งไม่รับฟ้องของศาลชั้นต้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  6  ในพระราชบัญญัตินี้  เว้นแต่ข้อความจะแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น

เจ้าหนี้มีประกัน  หมายความว่า  เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ในทางจำนอง  จำนำ  หรือสิทธิยึดหน่วงหรือเจ้าหนี้ผู้มีบุริมสิทธิที่บังคับได้ทำนองเดียวกับผู้รับจำนำ

มาตรา  9  เจ้าหนี้จะฟ้องลูกหนี้ให้ล้มละลายได้ต่อเมื่อ

(1) ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว

(2) ลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเป็นหนี้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์คนเดียวหรือหลายคนเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท  และ

(3) หนี้นั้นอาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนไม่ว่าหนี้นั้นจะถึงกำหนดชำระโดยพลัน  หรือในอนาคตก็ตาม

มาตรา  10  ภายใต้บังคับมาตรา  9  เจ้าหนี้มีประกันจะฟ้องลูกหนี้ให้ล้มละลายได้ก็ต่อเมื่อ

(1) มิได้เป็นผู้ต้องห้ามมิให้บังคับการชำระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้เกินกว่าตัวทรัพย์ที่เป็นหลักประกัน  และ

(2) กล่าวในฟ้องว่า  ถ้าลูกหนี้ล้มละลายแล้ว  จะยอมสละหลักประกันเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย  หรือตีราคาหลักประกันมาในฟ้องซึ่งเมื่อหักกับจำนวนหนี้ของตนแล้ว  เงินยังขาดอยู่สำหรับลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท

วินิจฉัย

โดยหลัก  การฟ้องบุคคลธรรมดาเป็นคดีล้มละลายโดยเจ้าหนี้ธรรมดา  ตาม  พ.ร.บ.  ล้มละลาย  พ.ศ. 2483  มาตรา  9  มีหลักเกณฑ์  3  ประการคือ

1       ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว

2       ลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา  เป็นหนี้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์คนเดียวหรือหลายคนเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า  1  ล้านบาท

3       หนี้นั้นอาจกำหนดจำนวนได้แน่นอน  ไม่ว่าหนี้นั้นจะถึงกำหนดชำระโดยพลันหรือในอนาคตก็ตาม

ส่วนการฟ้องคดีล้มละลายโดยเจ้าหนี้มีประกัน  ตามนัยมาตรา  6  นอกจากหลักเกณฑ์ที่กล่าวมาข้างต้นแล้วจะต้องปรากฏว่าเจ้าหนี้นั้นมิได้เป็นผู้ต้องห้ามมิให้บังคับชำระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้เกินกว่าตัวทรัพย์ที่เป็นหลักประกัน  และต้องกล่าวในฟ้องว่าถ้าลูกหนี้ล้มละลายแล้วจะยอมสละหลักประกัน  ทั้งนี้ตามมาตรา  10

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่า  คำสั่งไม่รับฟ้องของศาลชั้นต้นที่ว่า  นายฟ้าเป็นเจ้าหนี้มีประกันแต่ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าจะยอมสละหลักประกันหรือตีราคาหลักประกันนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เห็นว่า  เจ้าหนี้มีประกัน  ตามนัยมาตรา  6  นั้น  จะต้องเป็นกรณีที่เจ้าหนี้มีสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ในทางจำนอง  จำนำ  หรือสิทธิยึดหน่วงหรือมีบุริมสิทธิที่บังคับได้ทำนองเดียวกับผู้รับจำนำเท่านั้น  เมื่อข้อเท็จจริงในกรณีนี้ปรากฏว่าที่ดินที่นำมาจำนองเป็นประกันการชำระหนี้นั้นเป็นของนายเขียวซึ่งเป็นบุคคลภายนอกมิใช่ของนายเหลือลูกหนี้ จึงมิใช่กรณีเจ้าหนี้มีสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ในทางจำนอง  นายฟ้าจึงไม่ใช่เจ้าหนี้มีประกัน  นายฟ้าสามารถฟ้องนายเหลืองให้ล้มละลายได้ในฐานะเจ้าหนี้ธรรมดา  ตามมาตรา  9  โดยมิต้องปฏิบัติตามมาตรา  10  กล่าวคือ  แม้จะมิได้บรรยายฟ้องว่าถ้าลูกหนี้ล้มละลายแล้วจะยอมสละหลักประกันหรือตีราคาหลักประกันตามมาตรา  10(2)  ก็ย่อมทำได้  คำสั่งไม่รับฟ้องของศาลในกรณีนี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย  (ฏ. 3437/2536)

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการต่อมามีว่า  คำสั่งไม่รับฟ้องของศาลชั้นต้นที่ว่าหนี้เงินกู้  1,000,000  บาทนั้นเป็นหนี้ที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เห็นว่า  เมื่อนายเหลืองลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว  เป็นหนี้เจ้าหนี้จำนวนไม่น้อยกว่า  1  ล้านบาท  และหนี้เงินกู้  1,000,000  บาท  เป็นหนี้ที่กำหนดจำนวนได้แน่นอน  แม้ว่าหนี้นั้นจะยังไม่ถึงกำหนดชำระก็ตาม  นายฟ้าก็สามารถฟ้องนายเหลืองเป็นบุคคลล้มละลายได้  ตามมาตรา  9(3)  คำสั่งไม่รับฟ้องของศาลในกรณีนี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน

สรุป  คำสั่งไม่รับฟ้องของศาลชั้นต้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย


ข้อ  2  นายจันทร์กู้เงินนายอังคารจำนวน  
2,000,000  บาท  โดยทำหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือลงลายมือชื่อนายจันทร์ผู้กู้  มีนายพุธเป็นผู้ค้ำประกันหนี้เงินกู้นั้น  ต่อมาหนี้เงินกู้ถึงกำหนดชำระ  นายจันทร์ไม่ชำระหนี้  นายอังคารจึงส่งหนังสือทวงถามถึงนายจันทร์และนายพุธให้ชำระหนี้แล้วจำนวน  2  ครั้ง  ซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่า  30  วัน  และนายจันทร์กับนายพุธก็ไม่ชำระหนี้นั้น  นายอังคารจึงฟ้องนายจันทร์และนายพุธเป็นคดีล้มละลาย  นายจันทร์ไม่ต่อสู้คดี  ส่วนนายพุธต่อสู้ว่า  แม้ตนจะมีหนี้สินล้นพ้นตัว  ไม่สามารถชำระหนี้ได้  แต่นายจันทร์มีทรัพย์สินมูลค่าเกิน  2,000,000  บาท  สามารถชำระหนี้ได้ทั้งหมด  จึงขอให้ศาลยกฟ้อง

ดังนี้  ถ้าท่านเป็นศาล

1)    ท่านจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์นายจันทร์เด็ดขาดหรือไม่  เพราะเหตุใด

2)    ท่านจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์นายพุธเด็ดขาดหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  8  ถ้ามีเหตุอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้เกิดขึ้นให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า  ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว

(9) ถ้าลูกหนี้ได้รับหนังสือทวงถามจากเจ้าหนี้ให้ชำระหนี้แล้วไม่น้อยกว่าสองครั้ง  ซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่าสามสิบวัน  และลูกหนี้ไม่ชำระหนี้

มาตรา  9  เจ้าหนี้จะฟ้องลูกหนี้ให้ล้มละลายได้ต่อเมื่อ

(1) ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว

(2) ลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเป็นหนี้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์คนเดียวหรือหลายคนเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท  และ

(3) หนี้นั้นอาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนไม่ว่าหนี้นั้นจะถึงกำหนดชำระโดยพลัน  หรือในอนาคตก็ตาม

มาตรา  14  ในการพิจารณาคดีล้มละลายตามคำฟ้องของเจ้าหนี้นั้น  ศาลต้องพิจารณาเอาความจริงตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  9  หรือมาตรา  10  ถ้าศาลพิจารณาได้ความจริง  ให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด  แต่ถ้าไม่ได้ความจริง  หรือลูกหนี้นำสืบได้ว่าอาจชำระหนี้ได้ทั้งหมดหรือมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลาย  ให้ศาลยกฟ้อง

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  แยกพิจารณาได้ดังนี้

1)    ศาลจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของนายจันทร์เด็ดขาดหรือไม่  เห็นว่า  การที่ศาลจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาดได้นั้น  ศาลจะต้องพิจารณาให้ได้ความจริงตามมาตรา  9  หรือมาตรา  10  แล้วแต่กรณี  (มาตรา  14)  และในการฟ้องคดีล้มละลาย  ถ้าโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายโดยอ้างว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว  ตามข้อสันนิษฐานของกฎหมาย  มาตรา  8  จำเลยมีหน้าที่ต่อสู้คดีเพื่อนำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าว  ถ้าจำเลยไม่ต่อสู้คดีนำสืบหักล้างหรือสืบหักล้างไม่ได้  ศาลก็ต้องฟังว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว  เมื่อพิจารณาประกอบหลักเกณฑ์อื่นตามมาตรา  9  หรือมาตรา  10  ศาลก็อาจมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดได้

ข้อเท็จจริงปรากฏว่า  นายจันทร์กู้ยืมเงินนายอังคารจำนวน  2,000,000  บาท  โดยทำหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินเป็นหนังสือลงลายมือชื่อนายจันทร์ผู้กู้เป็นสำคัญ  จึงสามารถฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  653  วรรคแรก

เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระ  นายจันทร์ไม่ชำระหนี้  นายอังคารจึงส่งหนังสือทวงถามถึงนายจันทร์และนายพุธให้ชำระหนี้  2  ครั้ง  ซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่า  30  วัน  แต่นายจันทร์และนายพุธก็ไม่ชำระหนี้  กรณีจึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่า  เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวตามมาตรา  8(9)  ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของนายจันทร์และนายพุธที่จะต้องต่อสู้คดีพิสูจน์หักล้างข้อสันนิษฐานนั้น

เมื่อนายจันทร์ไม่ต่อสู้คดี  ก็ต้องฟังว่านายจันทร์มีหนี้สินล้นพ้นตัว  ทั้งพิจารณาหลักเกณฑ์ตามมาตรา  9  แล้ว  นายจันทร์ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเป็นหนี้จำนวนไม่น้อยกว่า  1  ล้านบาท  และหนี้นั้นกำหนดจำนวนได้แน่นอนและถึงกำหนดชำระแล้ว  ศาลจึงต้องมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของนายจันทร์เด็ดขาด  ตามมาตรา  14  (ฎ. 4287/2543 , ฎ. 1196/2541)  โดยไม่จำต้องพิจารณาว่านายจันทร์อาจชำระหนี้ได้ทั้งหมดหรือมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลายหรือไม่  เพราะนายจันทร์มิได้เข้าต่อสู้คดี

2)    ศาลจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของนายพุธเด็ดขาดหรืออไม่นั้น  เนว่า  กรณีโจทก์ฟ้องให้ลูกหนี้ร่วมหลายคนล้มละลายเป็นคดีเดียวกัน  การพิจารณาว่า  ลูกหนี้ร่วมคนใดมีหนี้สินล้นพ้นตัว  ไม่สามารถชำระหนี้ได้  หรือมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลายนั้น  เป็นเรื่องเฉพาะตัวของลูกหนี้ร่วมหรือผู้ค้ำประกันแต่ละคน

ข้อเท็จจริงปรากฏว่าเมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระ  นายจันทร์ลูกหนี้ชั้นต้นผิดนัดไม่ชำระหนี้นายพุธในฐานะผู้ค้ำประกันจึงต้องร่วมรับผิดกับนายจันทร์อย่างลูกหนี้ร่วม  ตาม ป.พ.พ.  มาตรา  686  การที่นายอังคารฟ้องนายจันทร์และนายพุธให้ล้มละลายเป็นคดีเดียวกัน  แม้นายพุธจะต่อสู้ว่าแม้ตนจะมีหนี้สินล้นพ้นตัว  ไม่สามารถชำระหนี้ได้  แต่นายจันทร์มีทรัพย์สินที่มีมูลค่าเกิน  2,000,000  บาท  สามารถชำระหนี้ได้ทั้งหมดก็ตาม  นายพุธก็จะนำข้อต่อสู้ของนายจันทร์มาเป็นข้อต่อสู้ของตนไม่ได้  เพราะเป็นเรื่องเฉพาะตัวของนายจันทร์เท่านั้น  จึงต้องฟังว่านายพุธมีหนี้สินล้นพ้นตัว  (ฎ. 2776/2540)  ทั้งการที่นายจันทร์มีทรัพย์สินพอที่จะชำระหนี้แก่นายอังคารได้  ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นเหตุอื่นที่ไม่ควรให้นายพุธล้มละลายแต่อย่างใด  (ฎ. 4287/2543)  ดังนั้นเมื่อพิจารณาได้ความจริงตามมาตรา  8(9)  ประกอบมารา  9  ศาลจึงต้องมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์นายพุธเด็ดขาด  ตามมาตรา  14

สรุป  ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาล  จะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์นายจันทร์และนายพุธเด็ดขาด


ข้อ  3  นายหนึ่งตกลงยืมเงินนายสอง  โดยได้ส่งมอบเช็คสั่งจ่ายเงินลงวันที่  20  สิงหาคม  2552  เพื่อชำระเงินยืมดังกล่าว  ต่อมานายหนึ่งถูกเจ้าหนี้อื่นฟ้องเป็นคดีล้มละลาย  ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์นายหนึ่งเด็ดขาดวันที่  22  พฤษภาคม  2552

ดังนี้  ถ้านายสองต้องการนำหนี้ตามเช็คที่นายหนึ่งลงวันที่ล่วงหน้ามายื่นคำขอรับชำระหนี้ได้หรือไม่  เพราะเหตุใด 

ธงคำตอบ

มาตรา  94  เจ้าหนี้ไม่มีประกันอาจขอรับชำระหนี้ได้  ถ้ามูลแห่งหนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์  แม้ว่าหนี้นั้นยังไม่ถึงกำหนดชำระหรือมีเงื่อนไขก็ตาม  เว้นแต่

(1) หนี้ที่เกิดขึ้นโดยฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย  หรือศีลธรรมอันดีหรือหนี้ที่จะฟ้องร้องให้บังคับคดีไม่ได้

(2) หนี้ที่เจ้าหนี้ยอมให้ลูกหนี้กระทำขึ้นเมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ถึงการที่ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว  แต่ไม่รวมถึงหนี้ที่เจ้าหนี้ยอมให้กระทำขึ้นเพื่อให้กิจการของลูกหนี้ดำเนินต่อไปได้

วินิจฉัย

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า  นายสองจะนำหนี้ตามเช็คที่นายหนึ่งลงวันที่ล่วงหน้ามายื่นขอรับชำระหนี้ได้หรือไม่  เห็นว่า  ตามบทบัญญัติมาตรา  94  นั้น  โดยหลักแล้วเจ้าหนี้ไม่มีประกันจะขอรับชำระหนี้ได้  ก็ต่อเมื่อมูลแห่งหนี้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ไม่ว่าชั่วคราวหรือเด็ดขาด  แม้ว่าหนี้นั้นจะยังไม่ถึงกำหนดชำระหรือมีเงื่อนไขก็ตาม  ถ้ามูลแห่งหนี้เกิดขึ้นภายหลังวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เจ้าหนี้จะอาศัยมูลหนี้ดังกล่าวมาขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ไม่ได้

ข้อเท็จจริงในกรณีนี้ฟังได้ว่า  มูลเหตุที่นายหนึ่งลูกหนี้ออกเช็คให้แก่นายสองเจ้าหนี้ดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะนายหนึ่งได้รับเงินไปจากนายสองตามที่ตกลงยืมกัน  ซึ่งมีลักษณะเป็นการขายลดเช็คหรือนำไปแลกเงินสดจากเจ้าหนี้  มิใช่กรณีออกเช็คโดยไม่ปรากฏมูลหนี้  จึงถือได้ว่ามูลแห่งหนี้ตามเช็คเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่นายหนึ่งลูกหนี้รับเงินไปและมอบเช็คให้แก่นายสองยึดถือไว้  ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด  กรณีจึงไม่ต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ตามมาตรา  94  แม้เช็คจะลงวันที่ล่วงหน้า  (20  สิงหาคม)  อันเป็นเวลาหลังจากที่ศาลสั่งพิทักษ์นายหนึ่งเด็ดขาดก็ตาม  (ฎ. 2969/2531)  ทั้งนี้เพราะวันสั่งจ่ายที่ลงในเช็คเป็นเพียงวันถึงกำหนดชำระหนี้หรือกำหนดเวลาใช้เงินเท่านั้น  หาทำให้มูลแห่งนี้ซึ่งเกิดขึ้นก่อนที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์กลับกลายเป็นเกิดขึ้นภายหลังไปไม่  นายสองจึงสามารถนำเช็คดังกล่าวมายื่นขอรับชำระหนี้ได้ตามมาตรา  94  (ฎ. 3565/2525)

สรุป  นายสองสามารถนำเช็คดังกล่าวมายื่นคำขอรับชำระหนี้ได้

Advertisement