การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2550
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW3010 กฎหมายล้มละลาย
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน จำนวน 3 ข้อ
ข้อ 1 ในคดีล้มละลายเรื่องหนึ่ง ศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ประกาศให้เจ้านี้ทั้งหลายที่มีหนี้ที่อาจขอรับชำระได้ ให้มาขอรับชำระหนี้ในวันเวลาและสถานที่ตามที่กำหนดไว้ในประกาศนี้ สำหรับเจ้าหนี้ที่จะมาขอรับชำระหนี้ในระยะเวลาธรรมดา ในคดีล้มละลายนี้ลูกหนี้ได้ขอประนอมหนี้ไว้ 60% โดยผ่านการประชุมเจ้าหนี้ยอมรับและศาลได้เห็นชอบแล้ว โดยมีเจ้าหนี้ดังนี้คือ
1 นาย ก มาขอรับชำระหนี้ และการกู้เงินรายนี้มี จ เป็นผู้ค้ำประกัน
2 นาย ข ไม่มาขอรับชำระหนี้ แต่มีนาย ส เป็นผู้ค้ำประกัน
3 นาย ค ไม่มาขอรับชำระหนี้ และการกู้เงินไม่มีผู้ค้ำประกัน
4 นาย ง ไม่ทันได้ฟ้องคดี เพราะศาลได้สั่งพิทักษ์ทรัพย์ คดีล้มละลายที่เจ้าหนี้คนอื่นฟ้องไว้เสียก่อนจึงฟ้องไม่ทัน แต่ก็ได้มาขอรับชำระหนี้ และในการกู้เงินครั้งนี้ อ เป็นผู้ค้ำประกัน
ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า เจ้าหนี้ทั้ง 4 ท่านนี้ จะได้รับหรือไม่ได้รับชำระหนี้อย่างไร และผู้ค้ำประกันจะต้องผิดด้วยหรือไม่ อย่างไร (ให้ท่านตอบพร้อมหลักกฎหมายประกอบให้ครบถ้วนด้วย)
ธงคำตอบ
มาตรา 56 การประนอมหนี้ซึ่งที่ประชุมเจ้าหนี้ได้ยอมรับและศาลเห็นชอบด้วยแล้วผูกมัดเจ้าหนี้ทั้งหมดในเรื่องหนี้ซึ่งอาจขอรับชำระหนี้ได้ แต่ไม่ผูกมัดเจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดในเรื่องหนี้ซึ่งตามพระราชบัญญัตินี้ ลูกหนี้ไม่อาจหลุดพ้นโดยคำสั่งปลดจากล้มละลายได้ เว้นแต่เจ้าหนี้คนนั้นได้ยินยอมด้วยในการประนอมหนี้
มาตรา 59 การประนอมหนี้ไม่ทำให้บุคคลซึ่งเป็นหุ้นส่วนกับลูกหนี้หรือรับผิดร่วมกับลูกหนี้หรือค้ำประกัน หรืออยู่ในลักษณะอย่างผู้ค้ำประกันลูกหนี้ หลุดพ้นจากความรับผิดไปด้วย
มาตรา 91 วรรคแรก เจ้าหนี้ซึ่งจะขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายจะเป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์หรือไม่ก็ตาม ต้องยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเวลาสองเดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด แต่ถ้าเจ้าหนี้อยู่นอกราชอาณาจักร เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะขยายกำหนดเวลาให้อีกได้ไม่เกินสองเดือน
มาตรา 94 เจ้าหนี้ไม่มีประกันอาจขอรับชำระหนี้ได้ ถ้ามูลแห่งหนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ แม้ว่าหนี้นั้นยังไม่ถึงกำหนดชำระหรือมีเงื่อนไขก็ตาม เว้นแต่
(1) หนี้ที่เกิดขึ้นโดยฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย หรือศีลธรรมอันดีหรือหนี้ที่จะฟ้องร้องให้บังคับคดีไม่ได้
(2) หนี้ที่เจ้าหนี้ยอมให้ลูกหนี้กระทำขึ้นเมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ถึงการที่ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว แต่ไม่รวมถึงหนี้ที่เจ้าหนี้ยอมให้กระทำขึ้นเพื่อให้กิจการของลูกหนี้ดำเนินต่อไปได้
วินิจฉัย
เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาด ตามมาตรา 14 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องประกาศให้เจ้าหนี้ทั้งหลายที่มีหนี้อันอาจขอรับชำระได้ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์หรือไม่ก็ตาม และหนี้นั้นเกิดขึ้นก่อนศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ แม้หนี้จะยังไม่ถึงกำหนดชำระหรือมีเงื่อนไขก็ตาม ตามมาตรา 94 มายื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเวลา 2 เดือน สำหรับเจ้าหนี้ผู้อยู่ในราชอาณาจักรหรือภายใน 4 เดือน สำหรับเจ้าหนี้ผู้อยู่นอกราชอาณาจักรนับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ตามมาตรา 91 วรรคแรก และเมื่อลูกหนี้ขอประนอมหนี้ไว้เพียงใด ถ้าที่ประชุมเจ้าหนี้โดยมติพิเศษยอมรับและศาลเห็นชอบด้วยแล้ว การประนอมหนี้ย่อมผูกมัดเจ้าหนี้ทั้งหมดในเรื่องหนี้ซึ่งอาจขอรับชำระหนี้ได้ ตามมาตรา 56 เว้นแต่เป็นเจ้าหนี้ตามมาตรา 77
เมื่อข้อเท็จจริงในกรณีนี้ปรากกว่า ลูกหนี้ได้ขอประนอมหนี้ไว้ 60% โดยมติพิเศษของที่ประชุมเจ้าหนี้ยอมรับและศาลได้เห็นชอบแล้ว ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยจึงมีว่าเจ้าหนี้ทั้ง 4 ราย จะได้รับชำระหนี้หรือไม่ และผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดหรือไม่อย่างไร กรณีจึงแยกพิจารณาได้ดังนี้
1 กรณีของนาย ก เจ้าหนี้ เมื่อมาขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 91 วรรคแรกประกอบมาตรา 94 ย่อมต้องผูกมัดด้วยกับการประนอมหนี้ตามมาตรา 56 กล่าวคือ นาย ก มีสิทธิได้รับชำระหนี้ร้อยละ 60 ของจำนวนหนี้ทั้งหมด ส่วนหนี้ที่เหลืออีกร้อยละ 40 นาย ก สามารถเรียกให้นาย จ ผู้ค้ำประกันชำระได้ เพราะการประนอมหนี้ไม่ทำให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิด ตามมาตรา 59
2 กรณีของนาย ข เจ้าหนี้ เมื่อไม่ได้มาขอรับชำระหนี้ย่อมเป็นอันหมดสิทธิได้รับชำระหนี้ร้อยละ 60 จากการประนอมหนี้ และการประนอมหนี้ก็ยังผูกมัดนาย ข ตามมาตรา 56 คือจะมาฟ้องให้ลูกหนี้รับผิดอีกไม่ได้ (ฎ. 1243/2519) อย่างไรก็ตามการประนอมหนี้ไม่ใช่การปลดหนี้และมีผลผูกพันเฉพาะเจ้าหนี้และลูกหนี้ในคดีล้มละลายเท่านั้น ดังนั้นนาย ส ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันยังคงต้องรับผิดต่อนาย ข ในหนี้ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 40 ตามมาตรา 59 (ฎ. 1808/2512)
3 กรณีของนาย ค เจ้าหนี้ เมื่อไม่มาขอรับชำระหนี้ก็ไม่ได้รับชำระหนี้และต้องผูกมัดด้วยการประนอมหนี้ ตามมาตรา 56 อีกทั้งหนี้รายนี้ไม่มีผู้ค้ำประกัน นาย ค จึงไม่มีสิทธิได้รับชำระหนี้เลย
4 กรณีของนาย ง เจ้าหนี้ เมื่อมาขอรับชำระหนี้ ย่อมต้องผูกมัดด้วยกับการประนอมหนี้ตามมาตรา 56 กล่าวคือ นาย ง มีสิทธิได้รับชำระหนี้ร้อยละ 60 ของจำนวนหนี้ทั้งหมด แม้จะมิได้ฟ้องคดีก็ตาม ส่วนหนี้ที่เหลืออีกร้อยละ 40 นาย ง สามารถเรียกให้นาย อ ผู้ค้ำประกันชำระได้ เพราะการประนอมหนี้ไม่ทำให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิด ตามมาตรา 59
สรุป
1 นาย ก ได้รับชำระหนี้ร้อยละ 60 และเรียกจากนาย จ ได้อีกร้อยละ 40
2 นาย ข ไม่ได้รับชำระหนี้ร้อยละ 60 แต่เรียกจากนาย ส ได้ร้อยละ 40
3 นาย ค ไม่ได้รับชำระหนี้เลย
4 นาย ง ได้รับชำระหนี้ร้อยละ 60 และเรียกจากนาย อ ได้อีกร้อยละ 40
ข้อ 2 ในคดีล้มละลายเรื่องหนึ่ง ศาลสั่งประทับรับฟ้องไว้แล้ว คดีอยู่ระหว่างพิจารณา โจทก์จำเลยประนีประนอมยอมความกันได้ โดยจำเลยจะยอมชำระหนี้ที่ค้างไว้ให้โจทก์ทั้งหมด ขอให้โจทก์ถอนฟ้อง เมื่อโจทก์มาขอถอนฟ้อง ถ้าท่านเป็นศาลท่านจะส่งคำขอถอนฟ้องโจทก์อย่างไร (ให้ท่านตอบพร้อมยกหลักกฎหมาย และฎีกาประกอบในการตอบให้ครบถ้วนด้วย)
ธงคำตอบ
มาตรา 11 เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ต้องวางเงินประกันค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนห้าพันบาทในขณะยื่นฟ้องคดีล้มละลาย และจะถอนคำฟ้องนั้นไม่ได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาต
ศาลมีอำนาจเรียกให้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์วางเงินประกันค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมได้ตามที่เห็นสมควร
วินิจฉัย
ตามบทบัญญัติมาตรา 11 แห่ง พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 นั้น เมื่อได้ยื่นฟ้องคดีล้มละลายต่อศาลแล้ว ห้ามมิให้ถอนฟ้อง เว้นแต่เข้าหลักเกณฑ์ทั้ง 3 ประการดังต่อไปนี้คือ
1 ศาลอนุญาตให้ถอนฟ้อง ซึ่งเป็นดุลพินิจของศาลว่าจะอนุญาตหรือไม่
2 การถอนฟ้องจะกระทำได้เฉพาะแต่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นเท่านั้น ตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1636/2532
3 จะต้องขอถอนฟ้องก่อนศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดเท่านั้น ตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3286/2530
เมื่อศาลสั่งประทับรับฟ้องไว้แล้ว คดีจึงอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น การที่โจทก์และจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันได้ และโจทก์มาขอถอนฟ้อง ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยจึงมีว่า ศาลจะสั่งขอถอนฟ้องของโจทก์อย่างไร เห็นว่า เมื่อโจทก์ได้ยื่นคำขอถอนฟ้องในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้นและก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ทั้งการขอถอนฟ้องเพราะจำเลยยอมรับชำระหนี้ที่ค้างไว้ให้แก่โจทก์ทั้งหมดก็ถือว่ามีเหตุผลอันสมควร และไม่ขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมาย ศาลจึงต้องมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องได้ ตามมาตรา 11
สรุป ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาลจะสั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องตามคำร้องได้
ข้อ 3 “มติพิเศษ” มีหลักเกณฑ์ว่าอย่างไร จะมีขึ้นเมื่อไร และถ้ามีมติพิเศษที่ขัดต่อข้อกฎหมาย ในฐานะที่ท่านเป็นประธานในการประชุมเจ้าหนี้ ท่านจะแก้ไขประการใด และเมื่อเรื่องนั้นส่งมายังศาล ถ้าท่านเป็นศาลท่านจะสั่งอย่างไรบ้าง (ให้ท่านตอบพร้อมยกหลักกฎหมาย และถ้าท่านเป็นศาลจะต้องสั่งตามขั้นตอนด้วย)
ธงคำตอบ
มาตรา 6 ในพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่ข้อความจะแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น
“มติพิเศษ” หมายความว่า มติของเจ้าหนี้ฝ่ายข้างมาก และมีจำนวนหนี้เท่ากับสามในสี่แห่งจำนวนหนี้ทั้งหมดของเจ้าหนี้ ซึ่งได้เข้าประชุมด้วยตนเองหรือมอบฉันทะให้ผู้อื่นเข้าประชุมแทนในที่ประชุมเจ้าหนี้และได้ออกเสียงลงคะแนนในมตินั้น
มาตรา 31 วรรคแรก เมื่อศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้ทั้งหลายโดยเร็วที่สุด เพื่อปรึกษาว่าจะควรยอมรับคำขอประนีประนอมหนี้ของลูกหนี้หรือควรขอให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายและปรึกษาถึงวิธีที่จะจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ต่อไป การประชุมนี้ให้เรียกว่าประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรก
มาตรา 33 ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นประธานในการประชุมเจ้าหนี้ทุกคราว และให้มีรายงานการประชุม ลงลายมือชื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เก็บไว้เป็นหลักฐาน
มาตรา 33 ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นประธานในการประชุมเจ้าหนี้ทุกคราว และให้มีรายงานการประชุม ลงลายมือชื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เก็บไว้เป็นหลักฐาน
มาตรา 36 เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เห็นว่า มติของที่ประชุมเจ้าหนี้ขัดต่อกฎหมาย หรือประโยชน์อันร่วมกันของเจ้าหนี้ทั้งหลาย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาล และศาลอาจมีคำสั่งห้ามมิให้ปฏิบัติการตามมตินั้นได้ แต่ต้องยื่นต่อศาลภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ที่ประชุมเจ้าหนี้ลงมติ
มาตรา 45 วรรคสาม ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้เพื่อปรึกษาลงมติพิเศษว่าจะยอมรับคำขอนั้นหรือไม่
มาตรา 61 วรรคแรก เมื่อศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานว่า เจ้าหนี้ได้ลงมติในการประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกหรือในคราวที่ได้เลื่อนไป ขอให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายก็ดี หรือไม่ลงมติประการใดก็ดี หรือไม่มีเจ้าหนี้ไปประชุมก็ดี หรือการประนอมหนี้ไม่ได้รับความเห็นชอบก็ดี ให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจจัดการทรัพย์สินของบุคคลล้มละลายเพื่อแบ่งแก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย
อธิบาย
“มติพิเศษ” ตามคำนิยามมาตรา 6 ดังกล่าวข้างต้น จะเห็นว่าต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์สำคัญ 2 ประการ ดังนี้ คือ
1 เป็นมติของเจ้าหนี้ฝ่ายข้างมาก กล่าวคือ ต้องมีเสียงของเจ้าหนี้มากกว่ากึ่งหนึ่งของเจ้าหนี้ที่ออกเสียงลงคะแนน และ
2 มีจำนวนหนี้ไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนหนี้ทั้งหมดของเจ้าหนี้ที่ได้ออกเสียงลงคะแนน
สำหรับมติพิเศษนี้จะมีขึ้นก็ต่อเมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด และลูกหนี้ประสงค์จะทำความตกลง ในเรื่องหนี้สินโดยวิธีขอชำระแต่บางส่วนหรือโดยวิธีอื่น โดยทำคำขอประนอมหนี้เป็นหนังสือยื่นต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามกลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติไว้ แล้วต่อมาเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินการเรียกประชุมเจ้าหนี้ทั้งหลายครั้งแรก ตามมาตรา 31 เพื่อที่จะปรึกษาลง “มติพิเศษ” ว่าจะยอมรับคำขอประนอมหนี้นั้นหรือไม่ ตามมาตรา 45 วรรคสาม
อนึ่งถ้ามติพิเศษที่ออกมาในที่ประชุมเจ้าหนี้ตามมาตรา 31 ขัดต่อกฎหมาย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในฐานะที่เป็นประธานในที่ประชุมเจ้าหนี้ตามมาตรา 33 จะต้องทำคำร้องยื่นต่อศาลภายใน 7 วันนับแต่วันที่ที่ประชุมเจ้าหนี้ลงมติที่จัดต่อกฎหมายนั้นเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามมิให้ปฏิบัติการตามมตินั้น ตามมาตรา 36
อย่างไรก็ดี เมื่อเรื่องนั้นได้ส่งมายังศาล ศาลจะต้องมีคำสั่งตามขั้นตอนดังต่อไปนี้
1 มีคำสั่งทำลายมติที่ประชุมเจ้าหนี้นั้นเสีย เพราะมติพิเศษของที่ประชุมเจ้าหนี้ขัดต่อกฎหมาย ตามมาตรา 36
2 เมื่อมีคำสั่งทำลายมติพิเศษที่ขัดต่อกฎหมายดังกล่าวแล้วเท่ากับการประนอมหนี้ก่อนล้มละลายไม่ได้รับความเห็นชอบ ศาลจึงอยู่ในบังคับของกฎหมายที่จะต้องพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายต่อไป ตามมาตรา 61 วรรคแรก จะงดพิพากษาหรือพิพากษาเป็นอย่างอื่นไม่ได้