การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2546
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW3010 กฎหมายล้มละลาย
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน จำนวน 3 ข้อ
ข้อ 1 นาย ก กู้เงินนาย ข เป็นจำนวนเงิน 500,000 บาท โดยทำสัญญากู้ไว้ต่อกัน ต่อมานาย ก โดนเจ้าหนี้อื่นฟ้องล้มละลาย และศาลได้สั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว หลังจากนั้นนาย ก ได้มาพบนาย ข และขอกู้เงินจากนาย ข ไปเป็นจำนวนเงิน 200,000 บาท นาย ข ให้กู้เงินไปเพราะสงสาร เห็นว่านาย ก ไม่มีเงินเลย และการกู้เงินครั้งหลังที่ว่านี้ นาย ก อ้างว่าเพื่อจะนำไปเลี้ยงลูกเมียให้มีชีวิตรอดต่อไปได้ ต่อมาเมื่อมีประกาศของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่าให้เจ้าหนี้ทั้งหลายที่มีหนี้ที่อาจขอรับชำระได้มาขอรับชำระหนี้ตามวันเวลาที่กำหนดไว้ในมาตรา 91 นาย ข จึงนำหนี้ทั้ง 2 จำนวนไปขอรับชำระหนี้กับเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ หากท่านเป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ท่านจะรับคำขอรับชำระหนี้ของนาย ข ไว้พิจารณาหรือไม่ อย่างไร ให้ท่านวินิจฉัย
ธงคำตอบ
มาตรา 94 เจ้าหนี้ไม่มีประกันอาจขอรับชำระหนี้ได้ ถ้ามูลแห่งหนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ แม้ว่าหนี้นั้นยังไม่ถึงกำหนดชำระหรือมีเงื่อนไขก็ตาม เว้นแต่
(1) หนี้ที่เกิดขึ้นโดยฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย หรือศีลธรรมอันดีหรือหนี้ที่จะฟ้องร้องให้บังคับคดีไม่ได้
(2) หนี้ที่เจ้าหนี้ยอมให้ลูกหนี้กระทำขึ้นเมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ถึงการที่ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว แต่ไม่รวมถึงหนี้ที่เจ้าหนี้ยอมให้กระทำขึ้นเพื่อให้กิจการของลูกหนี้ดำเนินต่อไปได้
วินิจฉัย
เจ้าหนี้ไม่มีประกันอาจยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้ได้ ถ้ามูลแห่งหนี้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ แม้ว่าหนี้นั้นจะยังไม่ถึงกำหนดชำระหรือมีเงื่อนไขก็ตาม เว้นแต่ หนี้อย่างหนึ่งอย่างใดต่อไปนี้ที่ไม่สามารุนำมาขอชำระหนี้ได้ คือ
1 หนี้ที่เกิดขึ้นโดยฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย หรือศีลธรรมอันดี หรือหนี้ที่จะฟ้องร้องให้บังคับคดีไม่ได้ (มาตรา 94(1))
2 หนี้ที่เจ้าหนี้ยอมให้ลูกหนี้กระทำขึ้นเมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ถึงการที่ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว แต่ไม่รวมถึงหนี้ที่เจ้าหนี้ยอมให้กระทำขึ้นเพื่อให้กิจการของลูกหนี้ดำเนินต่อไปได้ (มาตรา 94(2))
หนี้เงินที่นาย ก กู้มาจากนาย ข ในจำนวนแรกเป็นจำนวน 500,000 บาท เป็นหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด อันถือว่ามูลแห่งหนี้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จึงเป็นหนี้ที่นำมาขอชำระหนี้ได้ตามมาตรา 94 ตอนต้น ดังนี้ หากข้าพเจ้าเป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ จะต้องรับหนี้จำนวนนี้ไว้พิจารณาต่อไป
ส่วนหนี้จำนวน 200,000 บาท เป็นหนี้ที่เกิดขึ้นภายหลังที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว จึงเป็นหนี้ที่ต้องห้ามมิให้นำมาขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 94 ตอนต้น ดังนี้ หากข้าพเจ้าเป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะไม่รับหนี้จำนวน 200,000 บาท ไว้พิจารณา ทั้งกรณีดังกล่าวไม่จำต้องพิจารณาว่าในขณะที่นาย ข ให้นาย ก กู้เงินไปในครั้งหลังนี้นาย ข จะรู้ว่านาย ก เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่ เพราะหนี้ดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์อันต้องด้วยหลักทั่วไปตามมาตรา 94 ตอนต้นแล้ว จึงไม่จำต้องพิจารณาถึงข้อยกเว้นตามมาตรา 94(2) แต่อย่างใด
สรุป หากข้าพเจ้าเป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ จะรับหนี้จำนวน 500,000 บาท ที่เกิดขึ้นก่อนที่ศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเท่านั้นไว้พิจารณา ส่วนหนี้จำนวน 200,000 บาท ที่เกิดขึ้นภายหลังศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดจะไม่รับพิจารณา
ข้อ 2 (ก) นายเอกเป็นผู้รับจำนองที่ดินของนายโทไว้เป็นจำนวนเงิน 1,200,000 บาท โดยในสัญญาจำนองไม่มีข้อตกลงพิเศษในสัญญาจำนองว่า หากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ นายโทจักต้องรับผิดใช้หนี้ในส่วนที่ขาด ต่อมาปรากฏว่านายโทมีหนี้สินล้นพ้นตัว ดังนี้นายเอกผู้รับจำนองจะฟ้องนายโทตามสัญญาจำนองนั้นให้ล้มละลายได้หรือไม่ ประการหนึ่ง
อีกประการหนึ่ง
(ข) กรณีตามข้อ (ก) หากนายเอกไม่ฟ้องเอง แต่มีเจ้าหนี้รายอื่นฟ้องนายโทให้ล้มละลาย และศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว
ดังนี้ นายเอกจะยื่นคำขอรับชำระหนี้จำนองจำนวน 1,200,000 บาท ตามประกาศของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลายนั้นได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 10 ภายใต้บังคับมาตรา 9 เจ้าหนี้มีประกันจะฟ้องลูกหนี้ให้ล้มละลายได้ก็ต่อเมื่อ
(1) มิได้เป็นผู้ต้องห้ามมิให้บังคับการชำระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้เกินกว่าตัวทรัพย์ที่เป็นหลักประกัน และ
(2) กล่าวในฟ้องว่า ถ้าลูกหนี้ล้มละลายแล้ว จะยอมสละหลักประกันเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย หรือตีราคาหลักประกันมาในฟ้องซึ่งเมื่อหักกับจำนวนหนี้ของตนแล้ว เงินยังขาดอยู่สำหรับลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท หรือลูกหนี้ซึ่งเป็นนิติบุคคลเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าสองล้านบาท
มาตรา 96 วรรคแรกและวรรคท้าย เจ้าหนี้มีประกันอาจขอรับชำระหนี้ภายในเงื่อนไขดังต่อไปนี้
(1) เมื่อยินยอมสละทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายแล้ว ขอรับชำระหนี้ได้เต็มจำนวน
บทบัญญัติแห่งมาตรานี้ไม่ให้ใช้บังคับในกรณีที่ตามกฎหมายลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดเกินกว่าราคาทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 733 ถ้าเอาทรัพย์จำนองหลุด และราคาทรัพย์สินนั้นมีประมาณต่ำกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกันอยู่ก็ดี หรือถ้าเอาทรัพย์สินซึ่งจำนองออกขายทอดตลาดใช้หนี้ ได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกันอยู่นั้นก็ดี เงินยังขาดอยู่จำนวนเท่าใด ลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดในเงินนั้น
(ก) วินิจฉัย
การที่เจ้าหนี้มีประกันจะฟ้องลูกหนี้ให้ล้มละลายได้นั้น นอกจากจะต้องประกอบด้วยหลัดเกณฑ์ตามมาตรา 9 แล้ว ยังต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ คือ
1 มิได้เป็นผู้ต้องห้ามมิให้บังคับการชำระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้เกินกว่าตัวทรัพย์ที่เป็นหลักประกัน และ
2 กล่าวในฟ้องว่า ถ้าลูกหนี้ล้มละลายแล้ว จะยอมสละหลักประกันเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย หรือตีราคาหลักประกันมาในฟ้องซึ่งเมื่อหักกับจำนวนหนี้ของตนแล้ว เงินยังขาดอยู่สำหรับลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท
นายเอกผู้รับจำนองจะฟ้องนายโทตามสัญญาจำนองนั้นให้ล้มละลายได้หรือไม่ เห็นว่า นายเอกเป็นผู้รับจำนองที่ดินของนายโทอันถือว่านายเอกเป็นเจ้าหนี้มีประกัน ตามนัยมาตรา 6 เมื่อปรากฏว่านายโทมีหนี้สินล้นพ้นตัว กรณีเช่นนี้นายเอกเจ้าหนี้มีประกันก็ไม่สามารถฟ้องนายโทตามสัญญาจำนองให้ล้มละลายได้ เนื่องจากสัญญาจำนองระหว่างนายเอกและนายโทบังคับได้ภายใต้มาตรา 733 เท่านั้น กล่าวคือ ถ้าบังคับจำนองเอาทรัพย์สินซึ่งจำนองออกขายทอดตลาดใช้หนี้ ได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกันอยู่ เงินยังขาดอยู่เท่าใด ลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดในเงินนั้น อันถือว่านายเอกเป็นผู้ต้องห้ามมิให้บังคับการชำระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้เกินกว่าตัวทรัพย์ที่เป็นหลักประกัน ทั้งกรณีนี้ก็ไม่มีสัญญาพิเศษยกเว้น ป.พ.พ. มาตรา 733 นายเอกจึงนำคดีมาฟ้องนายโทไม่ได้ เพราะเป็นผู้ต้องห้ามตามมาตรา 10(1) ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 733
(ข) วินิจฉัย
กรณีตาม (ก) หากนายเอกไม่ฟ้องเอง นายเอกจะยื่นคำขอรับชำระหนี้จำนวน 1,2000,000 บาท ตามประกาศของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลายได้หรือไม่ เห็นว่า เมื่อสัญญาจำนองระหว่างนายเอกและนายโทบังคับได้ภายใต้มาตรา 733 อันถือว่านายโทลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันตามมาตรา 96 วรรคท้าย ดังนั้น นายเอกจึงไม่สามารถยินยอมสละทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันแล้วมายื่นขอรับชำระหนี้เต็มจำนวนตามมาตรา 96(1) ได้ เพราะมูลหนี้ที่นายเอกมายื่นขอชำระหนี้ต้องห้ามตามมาตรา 96 วรรคท้าย ทั้งกรณีก็ไม่มีสัญญาพิเศษยกเว้น ป.พ.พ. มาตรา 733 แต่อย่างใด
สรุป
(ก) นายเอกผู้รับจำนองจะฟ้องนายโทตามสัญญาจำนองให้ล้มละลายไม่ได้
(ข) หากนายเอกไม่ฟ้องเอง นายเอกก็จะยื่นคำขอรับชำระหนี้จำนวน 1,200,000 บาท ตามประกาศของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลายไม่ได้เช่นกัน
ข้อ 3 นายหนึ่งฟ้องนายสองให้ล้มละลาย พร้อมทั้งยื่นคำขอฝ่ายเดียวโดยทำเป็นคำร้อง ขอให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยชั่วคราว ศาลได้ไต่สวนคำร้องของโจทก์ที่ขอให้พิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราวนั้นแล้ว ศาลเห็นว่าคดีไม่มีมูล ดังนี้ ศาลจะสั่งคำร้องของโจทก์ว่าอย่างไร และศาลจะดำเนินกระบวนพิจารณาคดีล้มละลายคดีนี้อย่างไรต่อไป
ธงคำตอบ
มาตรา 14 ในการพิจารณาคดีล้มละลายตามคำฟ้องของเจ้าหนี้นั้น ศาลต้องพิจารณาเอาความจริงตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 หรือมาตรา 10 ถ้าศาลพิจารณาได้ความจริง ให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด แต่ถ้าไม่ได้ความจริง หรือลูกหนี้นำสืบได้ว่าอาจชำระหนี้ได้ทั้งหมดหรือมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลายให้ศาลยกฟ้อง
มาตรา 17 ก่อนศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์จะยื่นคำขอฝ่ายเดียวโดยทำเป็นคำร้องขอให้พิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ชั่วคราวก็ได้ เมื่อศาลได้รับคำร้องนี้แล้วให้ดำเนินการไต่สวนต่อไปโดยทันที ถ้าศาลเห็นว่าคดีมีมูล ก็ให้สั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ชั่วคราว แต่ก่อนจะสั่งดังว่านี้จะให้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ให้ประกันค่าเสียหายของลูกหนี้ตามจำนวนที่เห็นสมควรก็ได้
วินิจฉัย
เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์จะยื่นคำขอฝ่ายเดียวโดยทำเป็นคำร้องขอให้พิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ชั่วคราวก็ได้ ก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด ถ้าศาลเห็นว่าคดีมีมูลก็ให้ศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ชั่วคราว (มาตรา 17)
เมื่อนายหนึ่งยื่นฟ้องนายสองให้ล้มละลายแล้ว ได้ยื่นคำขอฝ่ายเดียวโดยทำเป็นคำร้อง ขอให้พิทักษ์ทรัพย์ของนายสองจำเลยชั่วคราว เมื่อศาลไต่สวนคำร้องของนายหนึ่งแล้ว เห็นว่าคดีไม่มีมูล กรณีเช่นนี้ศาลต้องมีคำสั่งยกคำร้องของโจทก์ที่ขอให้พิทักษ์ทรัพย์ของนายสองจำเลย แล้วดำเนินการพิจารณาคดีล้มละลายเรื่องนั้นต่อไป ตามมาตรา 14 จนกระทั่งศาลชี้ขาดตัดสินคดี
สรุป ศาลต้องยกคำร้องของนายหนึ่ง และดำเนินการพิจารณาคดีต่อไปจนกระทั่งชี้ขาดตัดสินคดี