การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2545
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW3010 กฎหมายล้มละลาย
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน จำนวน 3 ข้อ
ธงคำตอบ
มาตรา 11 เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ต้องวางเงินประกันค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนห้าพันบาทในขณะยื่นฟ้องคดีล้มละลาย และจะถอนคำฟ้องนั้นไม่ได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาต
วินิจฉัย
ตามบทบัญญัติมาตรา 11 แห่ง พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 นั้น เมื่อได้ยื่นฟ้องคดีล้มละลายต่อศาลแล้ว ห้ามมิให้ถอนฟ้อง เว้นแต่เข้าหลักเกณฑ์ทั้ง 3 ประการดังต่อไปนี้คือ
1 ศาลอนุญาตให้ถอนฟ้อง ซึ่งเป็นดุลพินิจของศาลว่าจะอนุญาตหรือไม่
2 การถอนฟ้องจะกระทำได้เฉพาะแต่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นเท่านั้น ตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1636/2532
3 จะต้องขอถอนฟ้องก่อนศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดเท่านั้น ตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3286/2530
คำสั่งของศาลที่อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องได้และจำหน่ายคดีออกจากสารบบความชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า กรณีนี้เมื่อปรากฏว่าศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว ถือว่าศาลได้วินิจฉัยชี้ขาดคดีแล้ว อีกทั้งคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดย่อมก่อให้เกิดสิทธิและหน้าที่แก่บุคคลหลายฝ่ายแล้ว แม้จะปรากฏว่ามีเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ยื่นขอรับชำระหนี้เพียงรายเดียวก็ตาม ก็ไม่มีเหตุอันสมควรให้ศาลอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องในชั้นนี้ได้ การที่ศาลอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องและจำหน่ายคดีภายหลังจากศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา 11
สรุป คำสั่งของศาลที่อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องและจำหน่ายคดีออกจากสารบบความไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อ 2 นายต้นกู้เงินนายรองไป 100,000 บาท โดยนำแหวนเพชรของตนมามอบให้นายรองไว้เป็นประกันหนี้ โดยไม่มีหลักฐานการจำนำเป็นหนังสือและมิได้มีหลักฐานการกู้ยืมเงินเป็นหนังสือแต่อย่างใด ต่อมานายต้นถูกเจ้าหนี้อื่นฟ้องล้มละลายและศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด นายรองขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โดยตีราคาแหวนเพชรเป็นเงิน 60,000 บาท แล้วขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่ยังขาดอยู่อีก 40,000 บาท ดังนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะสั่งคำขอรับชำระหนี้ของนายรองอย่างไร
ธงคำตอบ
มาตรา 95 เจ้าหนี้มีประกันย่อมมีสิทธิเหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันซึ่งลูกหนี้ได้ให้ไว้ก่อนถูกพิทักษ์ทรัพย์โดยไม่ต้องขอรับชำระหนี้ แต่ต้องยอมให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตรวจดูทรัพย์สินนั้น
มาตรา 96 วรรคแรกและวรรคท้าย เจ้าหนี้มีประกันอาจขอรับชำระหนี้ภายในเงื่อนไขดังต่อไปนี้
(4) เมื่อตีราคาทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันแล้ว ขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่ยังขาดอยู่ ในกรณีเช่นนี้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจไถ่ถอนทรัพย์สินตามราคานั้นได้ถ้าเห็นว่าราคานั้นไม่สมควรเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจขายทรัพย์สินนั้นตามวิธีการที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และเจ้าหนี้ตกลงกัน ถ้าไม่ตกลงกัน จะขายทอดตลาดก็ได้แต่ต้องไม่ให้เสียหายแก่เจ้าหนี้และเจ้าหนี้หรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจเข้าสู้ราคาในการขายทอดตลาดได้ เมื่อขายได้เงินจำนวนสุทธิเท่าใดให้ถือว่าเป็นราคาที่เจ้าหนี้ได้ตีมาในคำขอ
บทบัญญัติแห่งมาตรานี้ไม่ให้ใช้บังคับในกรณีที่ตามกฎหมายลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดเกินกว่าราคาทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคแรก การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่
วินิจฉัย
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ (จ.พ.ท.) จะสั่งคำขอรับชำระหนี้ของแดงอย่างไร เห็นว่า ตามกฎหมายแล้ว เจ้าหนี้มีประกันมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ได้ 2 วิธี คือ
1 ใช้สิทธิตามมาตรา 95 โดยไม่ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 91 เพียงแต่แจ้งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทราบว่าจะถือเอาสิทธิเหนือทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน และยอมให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าตรวจดูทรัพย์สิน
2 ใช้สิทธิตามมาตรา 96 โดยยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 91 ภายใต้เงื่อนไขดังที่ระบุไว้ในมาตรา 96 แต่อย่างไรก็ตาม ถ้ามีกรณีใดที่ตามกฎหมาย ลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดเกินกว่าราคาทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน เจ้าหนี้มีประกันจะยื่นคำขอรับชำระหนี้ไม่ได้ ทั้งนี้ตามบทบัญญัติมาตรา 96 วรรคท้าย
นายต้นกู้ยืมเงินนายรองไป 100,000 บาท โดยได้นำแหวนเพชรของตนมามอบให้นายรองไว้เป็นประกันเงินกู้ แม้การจำนำจะไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ แต่เมื่อมีการส่งมอบทรัพย์สินที่จำนำ การจำนำย่อมมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายแล้ว (ป.พ.พ. มาตรา 747) กรณีนี้ถือว่านายรองผู้รับจำนำอยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้มีประกัน ตามมาตรา 6 แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อหนี้เงินกู้ยืมของนายต้นและนายรองเป็นการกู้ยืมเงินเกินกว่า 2,000 บาท แต่ไม่มีหลักฐานการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ นายรองเจ้าหนี้จึงไม่อาจฟ้องบังคับให้นายต้นลูกหนี้ชำระหนี้ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคแรก ดังนั้นในกรณีนี้ นายต้นลูกหนี้จึงไม่ต้องรับผิดเกินกว่าราคาทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน
การที่นายรองตีราคาแหวนเพชรเป็นเงิน 60,000 บาท และขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่ยังขาดอยู่อีก 40,000 บาท อันถือว่าเป็นกรณีที่เจ้าหนี้มีประกันจะใช้สิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 96(4) แต่เมื่อนายรองเป็นเจ้าหนี้มีประกันที่ตามกฎหมายลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดเกินกว่าราคาทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน นายรองจึงไม่มีสิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 96 วรรคท้ายได้ ดังนี้ หากข้าพเจ้าเป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะสั่งไม่รับคำขอรับชำระหนี้ของนายรอง
อย่างไรก็ตาม แม้นายรองจะยื่นคำขอรับชำระหนี้ไม่ได้ นายรองก็ยังคงมีสิทธิเหนือแหวนเพชรที่จำนำอันเป็นหลักประกัน ซึ่งลูกหนี้ได้ให้ไว้ก่อนถูกพิทักษ์ทรัพย์โดยไม่ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ได้ แต่ต้องยอมให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตรวจดูทรัพย์สินตามมาตรา 95
สรุป หากข้าพเจ้าเป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ จะสั่งไม่รับคำขอรับชำระหนี้ของนายรอง
ข้อ 3 คดีล้มละลายเรื่องหนึ่ง ลูกหนี้ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ลูกหนี้ได้ยื่นคำขอประนอมหนี้โดยการขอชำระหนี้เป็นบางส่วน ซึ่งที่ประชุมเจ้าหนี้ลงมติพิเศษยอมรับ และศาลสั่งเห็นชอบด้วย จนกระทั่งลูกหนี้ชำระหนี้ตามข้อตกลงในการประนอมหนี้แล้ว หลังจากนั้นเจ้าหนี้รายหนึ่งซึ่งได้ให้ลูกหนี้กู้เงินไปตั้งแต่ก่อนศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ แต่ไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายที่ลูกหนี้ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดนั้นได้ยื่นฟ้องลูกหนี้และผู้ค้ำประกันเงินกู้ให้ร่วมกันรับผิดชำระเงินต้นทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ย ให้ท่านวินิจฉัยว่าเจ้าหนี้รายนี้จะฟ้องลูกหนี้และผู้ค้ำประกันเงินกู้ให้รับผิดได้หรือไม่
ธงคำตอบ
มาตรา 56 การประนอมหนี้ซึ่งที่ประชุมเจ้าหนี้ได้ยอมรับและศาลเห็นชอบด้วยแล้ว ผู้มัดเจ้าหนี้ทั้งหมดในเรื่องหนี้ซึ่งอาจขอรับชำระหนี้ได้ แต่ไม่ผูกมัดเจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดในเรื่องหนี้ซึ่งตามพระราชบัญญัตินี้ลูกหนี้ไม่อาจหลุดพ้นโดยคำสั่งปลดจากล้มละลายได้ เว้นแต่เจ้าหนี้คนนั้นได้ยินยอมด้วยในการประนอมหนี้
มาตรา 59 การประนอมหนี้ไม่ทำให้บุคคลซึ่งเป็นหุ้นส่วนกับลูกหนี้หรือรับผิดร่วมกับลูกหนี้ หรือค้ำประกันหรืออยู่ในลักษณะอย่างผู้ค้ำประกันของลูกหนี้ หลุดพ้นจากความผิดไปด้วย
มาตรา 94 เจ้าหนี้ไม่มีประกันอาจขอรับชำระหนี้ได้ ถ้ามูลแห่งหนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ แม้ว่าหนี้นั้นยังไม่ถึงกำหนดชำระหรือมีเงื่อนไขก็ตามเว้นแต่
1 หนี้ที่เกิดขึ้นโดยฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย หรือศีลธรรมอันดี หรือหนี้ที่จะฟ้องร้องให้บังคับคดีไม่ได้
2 หนี้ที่เจ้าหนี้ยอมให้ลูกหนี้กระทำขึ้นเมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ถึงการที่ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว แต่ไม่รวมถึงหนี้ที่เจ้าหนี้ยอมให้กระทำขึ้นเพื่อให้กิจการของลูกหนี้ดำเนินต่อไปได้
วินิจฉัย
เจ้าหนี้จะฟ้องลูกหนี้และผู้ค้ำประกันให้รับผิดได้หรือไม่ เห็นว่า หนี้ของเจ้าหนี้เป็นหนี้ซึ่งอาจขอรับชำระหนี้ได้ เพราะเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตามมาตรา 94 วรรคแรก เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าลูกหนี้ได้ยื่นคำขอประนอมหนี้ซึ่งที่ประชุมเจ้าหนี้ได้ลงมติยอมรับและศาลสั่งเห็นชอบด้วยแล้ว จนกระทั่งลูกหนี้ชำระหนี้ตามข้อตกลงในการประนอมหนี้แล้ว กรณีเช่นนี้เจ้าหนี้ดังกล่าวย่อมต้องผูกมัดตามผลของการประนอมหนี้ด้วยแม้จะไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ก็ตาม กรณีเช่นนี้เจ้าหนี้ดังกล่าวย่อมต้องผูกมัดตามผลของการประนอมหนี้ด้วยแม้จะไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ก็ตาม เจ้าหนี้รายนี้จึงไม่สามารถฟ้องลูกหนี้ให้รับผิดได้อีกตามมาตรา 56 (ฎ.1243/2519)
แต่อย่างไรก็ตาม การประนอมหนี้ย่อมไม่ทำให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดไปด้วย เจ้าหนี้จึงมีสิทธิฟ้องผู้ค้ำประกันให้รับผิดได้ ภายในขอบเขตความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันตามมาตรา 59 แม้เจ้าหนี้จะไม่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ไว้ก็ตาม (ฎ. 1808/2512)
สรุป เจ้าหนี้จะฟ้องลูกหนี้ให้รับผิดไม่ได้ แต่สามารถฟ้องให้ผู้ค้ำประกันรับผิดได้