การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2550
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW3010 กฎหมายล้มละลาย
ข้อ 1 ในคดีล้มละลายเรื่องหนึ่ง ลูกหนี้ยื่นคำขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลาย โดยขอชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ทุกรายที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ได้รับชำระหนี้แล้วในอัตราร้อยละ 50 ที่ประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกมีมติไม่ให้ลูกหนี้ล้มละลายโดยเจ้าหนี้ฝ่ายข้างมาก และมีจำนวนหนี้เท่ากับสองในสาม ยอมรับคำประนอมหนี้ของลูกหนี้หากท่านเป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ท่านจะดำเนินการอย่างไรเกี่ยวกับมติที่ประชุมเจ้าหนี้ดังกล่าว
ธงคำตอบ
หลักกฎหมายพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483
มาตรา 6 บัญญัติว่า ในพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่ข้อความจะแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น
มติพิเศษ หมายถึง มติของเจ้าหนี้ฝ่ายข้างมากและมีจำนวนหนี้เท่ากับสามในสี่แห่งจำนวนหนี้ทั้งหมดของเจ้าหนี้ซึ่งได้เข้าประชุมด้วยตนเองหรือมอบฉันทะให้ผู้อื่นเข้าประชุมแทนในที่ประชุมเจ้าหนี้ และได้ออกเสียงลงคะแนนในมตินั้น
มาตรา 31 เมื่อศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้ทั้งหลายโดยเร็วที่สุด เพื่อปรึกษาว่า จะควรยอมรับคำขอประนอมหนี้ของลูกหนี้ หรือควรขอให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายและปรึกษาถึงวิธีที่จะจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ต่อไป การประชุมนี้ให้เรียกว่าประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรก
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องโฆษณากำหนดเวลา และสถานที่ๆจะประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์รายวันไม่น้อยกว่าหนึ่งฉบับ ล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน และต้องแจ้งไปยังเจ้าหนี้ทั้งหลายเท่าที่ทราบด้วย
มาตรา 45 เมื่อลูกหนี้ประสงค์จะทำความตกลงในเรื่องหนี้สินโดยวิธีขอชำระหนี้แต่เพียงบางส่วนหรือโดยวิธีอื่น ให้ทำคำขอประนอมหนี้เป็นหนังสือยื่นต่อพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเจ็ดวัน นับแต่วันยื่นคำชี้แจงเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สินตามมาตรา 30 หรือภายในเวลาตามที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้กำหนดให้
คำขอประนอมหนี้ต้องแสดงข้อความแห่งการประนอมหนี้ หรือวิธีจัดกิจการ หรือทรัพย์สินและรายละเอียดแห่งหลักประกัน หรือผู้ค้ำประกัน ถ้ามี
ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้เพื่อปรึกษาลงมติพิเศษว่า จะยอมคำขอนั้นหรือไม่
มาตรา 61 เมื่อศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานว่า เจ้าหนี้ได้ลงมติในการประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกหรือในคราวที่ได้เลื่อนไป ขอให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายก็ดี หรือไม่ลงมติประการใดก็ดี หรือไม่มีเจ้าหนี้ไปประชุมก็ดี หรือการประนอมหนี้ไม่ได้รับความเห็นชอบก็ดี ให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจจัดการทรัพย์สินของบุคคลล้มละลายเพื่อแบ่งแก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย
ให้พนักงานพิทักษ์ทรัพย์โฆษณาคำพิพากษาในราชกิจจานุเบกษาและในหนังสือพิมพ์รายวันไม่น้อยกว่าหนึ่งฉบับ ในคำโฆษณาให้ระบุชื่อ ตำบลที่อยู่ อาชีพของลูกหนี้และวันที่ศาลได้มีคำพิพากษา
วินิจฉัย
มาตรา 45 วรรคสาม บัญญัติให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรก เพื่อปรึกษาลงมติพิเศษว่า จะยอมรับคำขอประนอมหนี้หรือไม่ และมาตรา 6 บัญญัติว่า มติพิเศษหมายความว่า มติของเจ้าหนี้ฝ่ายข้างมาก และมีจำนวนหนี้เท่ากับสามในสี่ แห่งจำนวนหนี้ทั้งหมดของเจ้าหนี้ซึ่งได้เข้าประชุมด้วนตนเอง หรือมอบฉันทะให้ผู้อื่นเข้าประชุมแทนและได้ออกเสียงลงคะแนนในมตินั้น
การที่ๆประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกในคดีนี้มีมติโดยเจ้าหนี้ฝ่ายข้างมาก และมีจำนวนหนี้เท่ากับสองในสามยอมรับคำขอประนอมหนี้ของลูกหนี้ มติดังกล่าวย่อมไม่ใช่มติพิเศษ เพราะมีจำนวนหนี้ไม่ถึงสามในสี่ของมาตรา 6 บัญญัติไว้ ซึ่งที่ประชุมเจ้าหนี้จะต้องมีมติขอให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายตามมาตรา 31 ดังนั้น มติยอมรับคำขอประนอมหนี้ดังกล่าวย่อมขัดต่อกฎหมาย จึงเป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่จะต้องยื่นคำร้องขอต่อศาลให้เพิกถอนมติที่ประชุมดังกล่าวตามมาตรา 36 และขอให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายตามมาตรา 61 ต่อไป
ดังนั้น ข้าพเจ้าจะยื่นคำร้องต่อศาลให้เพิกถอนมติที่ประชุมดังกล่าวและขอให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายต่อไป
ข้อ 2 นายดำเป็นหนี้ค่าสินค้านายแดงจำนวนห้าแสนบาท กำหนดชำระค่าสินค้าในวันที่ 21 ธันวาคม 2551 และนายดำเป็นหนี้เงินกู้ธนาคาร ไทยเอก จำกัด จำนวนแปดแสนบาท โดยมีนายดีเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ดังกล่าว และเป็นหนี้เจ้าหนี้อื่นอีกหลายราย ต่อมาวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2550 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของนายดำเด็ดขาด ปรากฏว่าธนาคารไทยเอกจำกัดและเจ้าหนี้อื่นๆ ยื่นคำขอรับชำระหนี้ ส่วนนายแดงไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้เนื่องจากเห็นว่าหนี้ยังไม่ถึงกำหนดชำระ นายดำได้ขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลาย โดยจะชำระหนี้ให้ร้อยละ 70 ของจำนวนหนี้ที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติพิเศษยอมรับคำขอประนอมหนี้ โดยในการประชุมดังกล่าวธนาคารไทยเอกจำกัด ลงมติไม่ยอมรับคำขอประนอมหนี้ และศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้
ให้วินิจฉัยว่า คำสั่งศาลที่เห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ผูกมัดนายแดงและธนาคารไทยเอก จำกัดหรือไม่เพียงใด และหากต่อมานายดำได้ชำระหนี้ตามคำขอประนอมหนี้ครบถ้วนแล้ว ธนาคารไทยเอกจำกัด จะเรียกร้องให้นายดีในฐานะผู้ค้ำประกันชำระหนี้ส่วนที่ยังขาดได้หรือไม่
ธงคำตอบ
หลักกฎหมายพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483
มาตรา 56 การประนอมหนี้ซึ่งที่ประชุมเจ้าหนี้ได้ยอมรับและศาลเห็นชอบด้วยแล้ว ผู้มัดเจ้าหนี้ทั้งหมดในเรื่องหนี้ซึ่งอาจขอรับชำระหนี้ได้ แต่ไม่ผูกมัดเจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดในเรื่องหนี้ซึ่งตามพระราชบัญญัตินี้ลูกหนี้ไม่อาจหลุดพ้นโดยคำสั่งปลดจากล้มละลายได้ เว้นแต่เจ้าหนี้คนนั้นได้ยินยอมด้วยในการประนอมหนี้
มาตรา 59 การประนอมหนี้ไม่ทำให้บุคคลซึ่งเป็นหุ้นส่วนกับลูกหนี้หรือรับผิดร่วมกับลูกหนี้ หรือค้ำประกันหรืออยู่ในลักษณะอย่างผู้ค้ำประกันของลูกหนี้ หลุดพ้นจากความผิดไปด้วย
มาตรา 91 เจ้าหนี้ซึ่งจะขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายอาจจะเป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทย์หรือไม่ก็ตาม ต้องยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเวลาสองเดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด แต่ถ้าเจ้าหนี้อยู่นอกราชอาณาจักร เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะขยายกำหนดเวลาให้อีกได้ไม่เกินสองเดือน
คำขอรับชำระหนี้นั้นต้องทำตามแบบพิมพ์ โดยมีบัญชีแสดงรายละเอียดแห่งหนี้สิน และข้อความระบุถึงหลักฐานประกอบหนี้และทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดของลูกหนี้ที่ยึดไว้เป็นหลักประกันหรือตกอยู่ในความครอบครองของเจ้าหนี้
มาตรา 94 เจ้าหนี้ไม่มีประกันอาจขอรับชำระหนี้ได้ ถ้ามูลแห่งหนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ แม้ว่าหนี้นั้นยังไม่ถึงกำหนดชำระหรือมีเงื่อนไขก็ตามเว้นแต่
1 หนี้ที่เกิดขึ้นโดยฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย หรือศีลธรรมอันดี หรือหนี้ที่จะฟ้องร้องให้บังคับคดีไม่ได้
2 หนี้ที่เจ้าหนี้ยอมให้ลูกหนี้กระทำขึ้นเมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ถึงการที่ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว แต่ไม่รวมถึงหนี้ที่เจ้าหนี้ยอมให้กระทำขึ้นเพื่อให้กิจการของลูกหนี้ดำเนินต่อไปได้
วินิจฉัย
นายแดงเจ้าหนี้ค่าสินค้าในมูลหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ แม้ว่าหนี้ดังกล่าวจะยังไม่ถึงกำหนดชำระ ก็ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในกำหนดเวลา 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 9 และมาตรา 94 เมื่อนายแดงไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้และศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ก่อนล้มละลายแล้ว นายแดงจะต้องผูกมัดด้วยการประนอมหนี้ดังกล่าว โดยนายแดงหมดสิทธิ์ที่จะได้รับชำระหนี้จากนายดำอีก
ธนาคารไทยเอกจำกัด เจ้าหนี้ในมูลหนี้กู้ยืม ซึ่งเป็นหนี้ที่อาจขอรับชำระได้ และได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ไว้แล้ว แม้ว่าจะมีมติไม่ยอมรับคำขอประนอมหนี้ แต่เมื่อที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติพิเศษยอมรับ และศาลเห็นชอบด้วยกับการประนอมหนี้ก่อนล้มละลายแล้ว ธนาคารไทยเอก จำกัด ก็ต้องผูกมัดตามคำขอประนอมหนี้นั้น กล่าวคือ จะได้รับชำระหนี้จากนายดำเพียงร้อยละ 70 ตามาตรา 56
อย่างไรก็ตาม การประนอมหนี้มีผลเฉพาะตัวลูกหนี้ในคดีล้มละลายเท่านั้นที่หลุดพ้นจากหนี้ที่อาจขอรับชำระได้แล้วมาผูกพันชำระหนี้ตามคำขอประนอมหนี้ การประนอมหนี้ไม่ทำให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดไปด้วยตามมาตรา 59 เมื่อธนาคารไทยเอก จำกัด ได้รับชำระหนี้จากนายดำเพียงร้อยละ 70 หนี้ในส่วนที่ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดจึงเป็นอันระงับไปเพียงบางส่วนเท่าที่เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ ธนาคารไทยเอก จำกัด จึงสามารถเรียกร้องหนี้ ส่วนที่ยังขาดจากนายดีผู้ค้ำประกันได้
ดังนั้น คำสั่งของศาลดังกล่าวผูกมัดนายแดงหมดสิทธิ์ที่จะได้รับชำระหนี้จากนายดำอีก และธนาคารไทยเอกก็ต้องผูกมัดตามคำขอประนอมหนี้นั้น กล่าวคือ จะได้รับชำระหนี้จากนายดำเพียงร้อยละ 70 แต่ธนาคารไทยเอก สามารถเรียกร้องหนี้ส่วนที่ยังขาดจากนายดีผู้ค้ำประกันได้
ข้อ 3 คดีฟื้นฟูกิจการเรื่องหนึ่ง ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของบริษัทลูกหนี้และตั้งนายก้องเป็นผู้ทำแผน ธนาคารแบงค์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้มีประกัน โดยเป็นเจ้าหนี้จำนองที่บริษัทลูกหนี้ได้นำที่ดินพร้องสิ่งปลูกสร้างได้แก่ โรงงานประกอบกิจการของบริษัทลูกหนี้จดทะเบียนจำนองให้แก่ธนาคารแบงค์ ธนาคารแบงค์ประสงค์จะฟ้องบริษัทลูกหนี้เพื่อบังคับจำนองเอาชำระหนี้แก่ที่ดินพร้องสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวมาปรึกษาท่าน ท่านจะให้คำปรึกษาแก่ธนาคารแบงค์ประการใด
ธงคำตอบ
มาตรา 90/2(6) ภายใต้บังคับของมาตรา 90/13 และมาตรา 90/14 นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอไว้เพื่อพิจารณาจนถึงวันครบกำหนดระยะเวลาดำเนินการตามแผน หรือวันที่ดำเนินการเป็นผลสำเร็จตามแผนหรือวันที่ศาลมีคำสั่งยกคำร้อง หรือจำหน่ายคดีหรือยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการหรือยกเลิกการฟื้นฟูกิจการหรือพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดตามความในหมวดนี้
(6) ห้ามมิให้เจ้าหนี้มีประกันบังคับชำระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาลที่รับคำร้องขอ
วินิจฉัย
ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 90/12(6) บัญญัติห้ามมิให้เจ้าหนี้มีประกันบังคับชำระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการไว้พิจารณาแล้ว และมาตรา 90/13 บัญญัติให้สิทธิ์แก่บุคคลที่ถูกจำกัดสิทธิ์ตามมาตรา 90/12 ได้ หากการจำกัดสิทธิ์นั้น ไม่มีความจำเป็นต่อการฟื้นฟูกิจการ หรือมิได้ให้ความคุ้มครองสิทธิของเจ้าหนี้มีประกันอย่างเพียงพอ กรณีที่ธนาคารแบงค์ ซึ่งเป็นเจ้าหนี้มีประกันประสงค์จะฟ้องบริษัทลูกหนี้เพื่อบังคับจำนองเอาชำระหนี้แก่ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างทรัพย์ที่เป็นหลักประกัน ธนาคารแบงค์ย่อมมีสิทธิ์ยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางให้มีคำสั่งยกเลิกข้อจำกัดสิทธิหรือข้อห้ามมิให้ธนาคารแบงค์บังคับชำระหนี้เอาทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน ตามมาตรา 90/12 ถ้าปรากฏว่าทรัพย์สินดังกล่าวไม่มีความจำเป็นต่อการฟื้นฟูกิจการ หรือธนาคารแบงค์มิได้รับความคุ้มครองอย่างเพียงพอตามมาตรา 90/13 เมื่อธนาคารแบงค์มาปรึกษาข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะให้คำปรึกษาดังกล่าวแก่ธนาคารแบงค์
ดังนั้น ข้าพเจ้าจะให้คำปรึกษาดังกล่าวข้างต้นแก่ธนาคารแบงค์