การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2547
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW3010 กฎหมายล้มละลาย
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน จำนวน 3 ข้อ
ธงคำตอบ
มาตรา 6 ในพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่ข้อความจะแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น
“เจ้าหนี้มีประกัน” หมายความว่า เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ในทางจำนอง จำนำ หรือสิทธิยึดหน่วงหรือเจ้าหนี้ผู้มีบุริมสิทธิที่บังคับได้ทำนองเดียวกับผู้รับจำนำ
มาตรา 10 ภายใต้บังคับมาตรา 9 เจ้าหนี้มีประกันจะฟ้องลูกหนี้ให้ล้มละลายได้ก็ต่อเมื่อ
(2) กล่าวในฟ้องว่า ถ้าลูกหนี้ล้มละลายแล้ว จะยอมสละหลักประกันเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย หรือตีราคาหลักประกันมาในฟ้องซึ่งเมื่อหักกับจำนวนหนี้ของตนแล้ว เงินยังขาดอยู่สำหรับลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท หรือลูกหนี้ซึ่งเป็นนิติบุคคลเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าสองล้านบาท
อธิบาย
เจ้าหนี้มีประกัน ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มีบัญญัติไว้ 4 ประเภท คือ
1 เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ในทางจำนอง
2 เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ในทางจำนำ
3 เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิยึดหน่วง และ
4 เจ้าหนี้ผู้มีบุริมสิทธิที่บังคับได้ทำนองเดียวกับผู้รับจำนำ
และประการที่สำคัญ ทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันนั้น ต้องเป็นทรัพย์สินของลูกหนี้เท่านั้น หากเป็นทรัพย์สินของบุคคลอื่นที่นำมาเป็นหลักประกันในหนี้ของลูกหนี้ เช่นนี้ เจ้าหนี้ไม่ถือว่าอยู่ในฐานะของเจ้าหนี้มีประกันตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 6
(ข) คดีล้มละลายเรื่องหนึ่ง โจทก์บรรยายฟ้องว่าศาลในคดีแพ่งพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย หากจำเลยไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้โจทก์ ถ้าไม่พอให้ยึดทรัพย์อื่นของจำเลยขายทอดตลาดชำระหนี้จนครบแต่จำเลยไม่ชำระ โจทก์จึงขอให้บังคับคดีนำยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดได้เงินชำระหนี้บางส่วน เมื่อหัดยอดหนี้แล้วจำเลยยังค้างชำระอีก 2,500,000 บาท ขอศาลพิพากษาให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลาย ศาลล้มละลายกลางตรวจคำฟ้องแล้วมีคำสั่งว่า โจทก์เป็นเจ้าหนี้มีประกัน แต่โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่า ถ้าจำเลยล้มละลายแล้วจะยอมสละหลักประกันเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายหรือตีราคาหลักประกันมาในฟ้องฯ ฟ้องโจทก์ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ. ล้มละลายฯมาตรา 10(2) จึงมีคำสั่งไม่รับฟ้อง
ให้วินิจฉัยว่า คำสั่งศาลล้มละลายกลางชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ธงคำตอบ
คำสั่งของศาลล้มละลายกลางที่ไม่รับฟ้องของโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์จะเป็นผ็รับจำนอง แต่เมื่อโจทก์ได้ฟ้องบังคับจำนองเป็นคดีแพ่ง และได้บังคับคดีโดยนำยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดได้เงินมาชำระหนี้เพียงบางส่วนแล้ว การจำนองย่อมระงับสิ้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 744(5) ผู้รับจำนองจึงไม่มีสิทธิเหนือทรัพย์สินที่จำนองอีกต่อไป
การที่โจทก์นำหนี้สินที่เหลืออีก 2,500,000 บท มาฟ้องขอให้จำเลยล้มละลาย คำฟ้องของโจทก์จึงมิได้ฟ้องจำเลยในฐานะเจ้าหนี้มีประกัน เพราะในขณะที่โจทก์ฟ้องคดีล้มละลายนี้ โจทก์หาใช่เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิเหนือทรัพย์สินของจำเลยในทางใดๆตามที่บัญญัติในมาตรา 6 ไม่
ดังนั้น เมื่อโจทก์ไม่ใช่เจ้าหนี้มีประกัน โจทก์จึงหาจำต้องบรรยายฟ้องตามหลักเกณฑ์ของมาตรา 10(2) ที่ว่า ถ้าจำเลยล้มละลายแล้วจะยอมสละประกันเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย หรือตีราคาหักประกันมาในฟ้องด้วยไม่ การที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งไม่รับฟ้องโจทก์ เพราะเหตุว่า โจทก์มิได้บรรยายฟ้องตามหลักเกณฑ์มาตรา 10(2) จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย (ฎ. 6756/2538)
สรุป คำสั่งไม่รับฟ้องโจทก์ของศาลล้มละลายกลางไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อ 2 เมื่อศาลได้พิพากษาให้ล้มละลายแล้ว บุคคลล้มละลายอาจได้รับการปลดจากล้มละลายได้ในกรณีใดบ้าง และการปลดจากล้มละลายมีผลต่อความรับผิดในหนี้สินของบุคคลล้มละลายอย่างไรบ้าง
อธิบาย
เมื่อศาลได้พิพากษาให้ล้มละลายแล้ว บุคคลล้มละลายอาจได้รับการปลดจากล้มละลายได้ 2 กรณี กล่าวคือ
1 ศาลได้มีคำสั่งปลดจากล้มละลาย ตามมาตรา 71 คือ เมื่อได้แบ่งทรัพย์สินชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ที่ได้ขอชำระหนี้ไว้แล้วไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 และไม่เป็นบุคคลล้มละลายทุจริต โดยมาตรา 68 บัญญัติให้บุคคลล้มละลายอาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้อง เพื่อขอให้ศาลมีสั่งปลดจากล้มละลายได้
2 มาตรา 81/1 บัญญัติให้บุคคลธรรมดาซึ่งศาลพิพากษาให้ล้มละลายได้รับการปลดจากล้มละลายทันทีที่พ้นกำหนดระยะเวลา 3 ปี นับแต่วันที่ศาลได้พิพากษาให้ล้มละลาย เว้นแต่
(1) บุคคลนั้นได้เคยถูกพิพากษาให้ล้มละลายมาก่อนแล้ว และยังไม่พ้นระยะเวลา 5 ปี นับแต่วันที่ศาลได้พิพากษาให้ล้มละลายครั้งก่อนจนถึงวันที่ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ครั้งหลัง ให้ขยายระยะเวลาเป็น 5 ปี
(2) บุคคลนั้นเป็นบุคคลล้มละลายทุจริตที่ไม่มีลักษณะตาม (3) ให้ขยายระยะเวลาเป็น 10 ปี เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุผลพิเศษและบุคคลนั้นถูกศาลพิพากษาให้ล้มละลายมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี ศาลจะสั่งปลดจากล้มละลายก่อนครบกำหนด 10 ปี ตามคำขอของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของบุคคลล้มละลายนั้นก็ได้
(3) บุคคลนั้นเป็นบุคคลล้มละลายอันเนื่องมาจากหรือเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดอันมีลักษณะเป็นการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ให้ขยายระยะเวลาเป็น 10 ปี
ในกรณีที่มีเหตุตาม (1) (2) หรือ (3) มากกว่าหนึ่งเหตุให้ขยายระยะเวลาโดยอาศัยเหตุใดเหตุหนึ่งที่มีระยะเวลาสูงสุดเพียงเหตุเดียว
สำหรับผลของคำสั่งปลดจากล้มละลายนั้นเป็นไปตามมาตรา 77 กล่าวคือ การปลดจากล้มละลายทำให้บุคคลล้มละลายหลุดพ้นจากหนี้ทั้งปวงอันพึงขอรับชำระได้ เว้นแต่ หนี้เกี่ยวกับภาษีอากร และหนี้ซึ่งได้เกิดขึ้นโดยความทุจริตฉ้อโกงของบุคคลล้มละลายหรือหนี้ซึ่งเจ้าหนี้ไม่ได้เรียกร้อง เนื่องจากความทุจริตฉ้อโกงซึ่งบุคคลล้มละลายมีส่วนเกี่ยวข้องสมรู้ตามมาตรา 81/1 วรรคท้าย
ข้อ 3 คดีฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้เรื่องหนึ่ง ภายหลังจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ประกาศโฆษณาคำสั่งแต่งตั้งผู้ทำแผนแล้ว ธนาคารสยามซึ่งเป็นเจ้าหนี้ไม่มีประกันของลูกหนี้ ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ธนาคารลาว ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของลูกหนี้รายหนึ่งโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ของธนาคารสยาม ว่าเป็นหนี้ที่ธนาคารสยาม ยอมให้ลูกหนี้ก่อขึ้นในขณะที่ธนาคารสยาม ได้รู้ถึงการที่ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ได้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทำการสอบสวนแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่ธนาคารลาวโต้แย้งมา แต่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งให้ธนาคารสยาม ได้รับชำระหนี้ตามที่ขอมาได้
ให้ท่านวินิจฉัยว่าคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ธงคำตอบ
มาตรา 90/27 เจ้าหนี้อาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้ ถ้ามูลแห่งหนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ แม้ว่าหนี้นั้นยังไม่ถึงกำหนดชำระหรือมีเงื่อนไขก็ตาม เว้นแต่หนี้ที่เกิดขึ้นโดยฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย หรือศีลธรรมอันดีหรือหนี้ที่จะฟ้องร้องให้บังคับคดีไม่ได้
วินิจฉัย
คำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่ให้ธนาคารสยามได้รับชำระหนี้ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า หนี้ที่เจ้าหนี้จะขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้นั้น บทบัญญัติมาตรา 90/27 วรรคแรก กำหนดไว้ชัดแจ้งแล้วว่า ต้องเป็นหนี้ที่มูลแห่งหนี้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ แม้ว่าหนี้นั้นจะยังไม่ถึงกำหนดเวลาชำระหรือเป็นหนี้ที่ยังมีเงื่อนไขในการชำระหนี้ก็ตาม แต่ทั้งนี้ก็มีข้อยกเว้นอยู่เพียง 2 กรณีคือ
1 หนี้ที่เกิดขึ้นโดยฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี หรือ
2 หนี้ที่จะฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้
การที่ธนาคารสยามยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการ โดยหนี้ของธนาคารสยามเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนวันมีคำสั่งให้ฟื้ฟูกิจการ แม้ธนาคารลาวจะโต้แย้งว่าหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ที่ธนาคารสยามเจ้าหนี้ยอมให้ลูกหนี้ก่อให้เกิดขึ้นในขณะที่ธนาคารสยามได้รู้ถึงการที่ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวก็ตาม ก็ไม่เป็นเหตุให้หนี้ของธนาคารสยามดังกล่าวต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการตามมาตรา 90/27 วรรคแรกดังกล่าวได้ เพราะมิได้เป็นหนี้ที่เกิดขึ้นโดยฝ่าฝืนข้อห้ามตามกำหมายหรือศีลธรรมอันดี หรือหนี้ที่จะฟ้องร้องบังคับไม่ได้ ดังนั้นแม้จากการสอบสวนของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะรับฟังได้ตามข้อโต้แย้งของธนาคารลาว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็มีคำสั่งให้ธนาคารสยามได้รับชำระหนี้ตามที่ขอมาได้ คำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
สรุป คำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ชอบด้วยกฎหมายแล้ว
หมายเหตุ หนี้ซึ่งเจ้าหนี้ยอมให้ลูกหนี้กระทำขึ้นเมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ถึงการที่ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว เป็นข้อยกเว้นที่เจ้าหนี้จะขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายตามมาตรา 94(2) ไม่ได้เท่านั้น มิได้เป็นข้อยกเว้นที่เจ้าหนี้จะขอรับชำระหนี้ในคดีฟื้นฟูกิจการตามมาตรา 90/27 วรรคแรกด้วยแต่อย่างใด