การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2546

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW3010 กฎหมายล้มละลาย

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  จำนวน  3  ข้อ

 ข้อ  1  ในกรณีที่มติของที่ประชุมเจ้าหนี้ขัดต่อกฎหมายก็ดี  การนัดประชุมเจ้าหนี้ของพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  เช่นส่งหมายนัดประชุมแก่เจ้าหนี้ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งก็ดี  พระราชบัญญัติล้มละลาย  พ.ศ. 2483  ให้สิทธิแก่บุคคลใดบ้างในการที่จะขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามมิให้ปฏิบัติตามมตินั้นหรือยกเลิกเพิกถอนการประชุมดังกล่าว

ธงคำตอบ

มาตรา  36  เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เห็นว่า  มติของที่ประชุมเจ้าหนี้ขัดต่อกฎหมาย  หรือประโยชน์อันร่วมกันของเจ้าหนี้ทั้งหลาย  เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาล  และศาลอาจมีคำสั่งห้ามมิให้ปฏิบัติการตามมตินั้นได้  แต่ต้องยื่นต่อศาลภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ที่ประชุมเจ้าหนี้ลงมติ

มาตรา  146  ถ้าบุคคลล้มละลาย  เจ้าหนี้  หรือบุคคลใดได้รับความเสียหายโดยการกระทำหรือคำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ บุคคลนั้นอาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลภายในกำหนดเวลาสิบสี่วันนับแต่วันที่ได้ทราบการกระทำหรือคำวินิจฉัยนั้น  ศาลมีอำนาจสั่งยืนตาม  กลับหรือแก้ไข  หรือสั่งประการใดตามที่เห็นสมควร

อธิบาย

ตาม  พ.ร.บ.  ล้มละลาย  พ.ศ. 2483  ได้ให้สิทธิแก่บุคคลดังต่อไปนี้ที่จะขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามมิให้ปฏิบัติตามมติหรือยกเลิกเพิกถอนการประชุม  กล่าวคือ

กรณีที่มติของที่ประชุมเจ้าหนี้ขัดต่อกฎหมาย

ในกรณีที่มติของที่ประชุมเจ้าหนี้ขัดต่อกฎหมายตามมาตรา  36  ได้กำหนดให้  เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นผู้ยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาล  ภายใน  7  วัน  นับแต่วันที่ที่ประชุมเจ้าหนี้ได้ลงมติ  และกรณีนี้ศาลอาจมีคำสั่งห้ามมิให้ปฏิบัติตามมตินั้นได้  ทั้งนี้  เป็นอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โดยเฉพาะที่เป็นผู้ยื่นคำขอ  (ฎ. 1295/2540)

กรณีการนัดประชุมเจ้าหนี้ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ในกรณีการนัดประชุมเจ้าหนี้ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  เช่น  การส่งหมายนัดประชุมแก่เจ้าหนี้ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  กรณีเช่นนี้  บทบัญญัติมาตรา  146  กำหนดสิทธิแก่ลูกหนี้หรือบุคคลล้มละลาย  เจ้าหนี้  หรือบุคคลใดที่ได้รับความเสียหาย  เนื่องจากการกระทำของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์  เป็นผู้ยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลภายใน  14  วัน  นับแต่วันที่ได้รับทราบการกระทำนั้นหรือคำวินิจฉัยนั้น  ซึ่งศาลมีอำนาจสั่งยืนตาม  กลับหรือแก้ไข  หรือสั่งประการใดตามที่เห็นสมควรได้

สำหรับในกรณีที่ศาลมีคำสั่งให้ยกเลิกหรือเพิกถอนการประชุมดังกล่าวก็เท่ากับเป็นการเพิกถอนมติของที่ประชุมไปด้วย  (ฎ. 423/2518)

 


ข้อ  2  เขียวกู้ยืมเงินแดงไป  
100,000  บาท  โดยนำเครื่องเพชรของตนมามอบให้แดงไว้เป็นประกันหนี้  โดยไม่มีหลักฐานการจำนำเป็นหนังสือและไม่ได้ทำหลักฐานการกู้ยืมเงินกันไว้เป็นหนังสือแต่อย่างใด  ต่อมาเขียวถูกเจ้าหนี้อื่นฟ้องล้มละลายและศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เขียวเด็ดขาด  แดงขอรับชำระหนี้ดังกล่าวต่อ  จ.พ.ท.  โดยตีราคาเครื่องเพชรของเขียวเป็นเงิน  80,000  บาท  แล้วขอรับชำระหนี้  สำหรับจำนวนที่ยังขาดอยู่อีก  20,000  บาท  ถ้าท่านเป็น  จ.พ.ท.  จะสั่งคำขอรับชำระหนี้ของแดงอย่างไร

ธงคำตอบ

มาตรา  95  เจ้าหนี้มีประกันย่อมมีสิทธิเหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันซึ่งลูกหนี้ได้ให้ไว้ก่อนถูกพิทักษ์ทรัพย์โดยไม่ต้องขอรับชำระหนี้ แต่ต้องยอมให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตรวจดูทรัพย์สินนั้น

มาตรา  96  วรรคแรกและวรรคท้าย  เจ้าหนี้มีประกันอาจขอรับชำระหนี้ภายในเงื่อนไขดังต่อไปนี้

(4) เมื่อตีราคาทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันแล้ว  ขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่ยังขาดอยู่  ในกรณีเช่นนี้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจไถ่ถอนทรัพย์สินตามราคานั้นได้ถ้าเห็นว่าราคานั้นไม่สมควรเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจขายทรัพย์สินนั้นตามวิธีการที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และเจ้าหนี้ตกลงกัน  ถ้าไม่ตกลงกัน  จะขายทอดตลาดก็ได้แต่ต้องไม่ให้เสียหายแก่เจ้าหนี้และเจ้าหนี้หรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจเข้าสู้ราคาในการขายทอดตลาดได้  เมื่อขายได้เงินจำนวนสุทธิเท่าใดให้ถือว่าเป็นราคาที่เจ้าหนี้ได้ตีมาในคำขอ

บทบัญญัติแห่งมาตรานี้ไม่ให้ใช้บังคับในกรณีที่ตามกฎหมายลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดเกินกว่าราคาทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  653  วรรคแรก  การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น  ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ  ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

วินิจฉัย

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์  (จ.พ.ท.)  จะสั่งคำขอรับชำระหนี้ของแดงอย่างไร  เห็นว่า  ตามกฎหมายแล้ว  เจ้าหนี้มีประกันมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ได้  2  วิธี  คือ

1       ใช้สิทธิตามมาตรา  95  โดยไม่ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามมาตรา  91  เพียงแต่แจ้งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทราบว่าจะถือเอาสิทธิเหนือทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน  และยอมให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าตรวจดูทรัพย์สิน

2       ใช้สิทธิตามมาตรา  96  โดยยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามมาตรา  91  ภายใต้เงื่อนไขดังที่ระบุไว้ในมาตรา  96  แต่อย่างไรก็ตาม  ถ้ามีกรณีใดที่ตามกฎหมาย  ลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดเกินกว่าราคาทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน  เจ้าหนี้มีประกันจะยื่นคำขอรับชำระหนี้ไม่ได้  ทั้งนี้ตามบทบัญญัติมาตรา  96  วรรคท้าย

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า  เขียวกู้ยืมเงินแดงไป  100,000  บาท  โดยนำเครื่องเพชรของตนมามอบให้แดงไว้เป็นประกันเงินกู้  แม้การจำนำจะไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ  แต่เมื่อมีการส่งมอบทรัพย์สินที่จำนำ  การจำนำย่อมมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายแล้ว  (ป.พ.พ.  มาตรา  747)   กรณีนี้ถือว่าแดงผู้รับจำนำอยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้มีประกันตามมาตรา  6  แต่อย่างไรก็ตาม  เมื่อหนี้เงินกู้ยืมของเขียวและแดงเป็นการกู้ยืมเงินกันเกินกว่า  2,000  บาท  แต่ไม่มีหลักฐานการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ  แดงเจ้าหนี้จึงไม่อาจฟ้องบังคับให้เขียวลูกหนี้ชำระหนี้ได้  ตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  653  วรรคแรก  ดังนั้นในกรณีนี้  เขียวลูกหนี้จึงไม่ต้องรับผิดเกินกว่าราคาทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน

การที่แดงตีราคาเครื่องเพชรเป็นเงิน  80,000  บาท  และขอรับชำระหนี้จำนวนที่ยังขาดอยู่อีก  20,000  บาท  อันถือว่าเป็นกรณีที่เจ้าหนี้มีประกันใช้สิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามมาตรา  96(4)  แต่เมื่อแดงเป็นเจ้าหนี้มีประกันที่ตามกฎหมายลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดเกินกว่าราคาทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน  แดงจึงไม่มีสิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามมาตรา  96  วรรคท้ายได้  ดังนี้  หากข้าพเจ้าเป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์  จะสั่งไม่รับคำขอรับชำระหนี้ของแดง

อย่างไรก็ตาม  แม้แดงจะยื่นคำขอรับชำระหนี้ไม่ได้  แดงก็ยังคงมีสิทธิเหนือเครื่องเพชรที่จำนำอันเป็นหลักประกัน  ซึ่งลูกหนี้ได้ให้ไว้ก่อนถูกพิทักษ์ทรัพย์โดยไม่ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ได้  แต่ต้องยอมให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตรวจดูทรัพย์สินตามมาตรา  95

สรุป  หากข้าพเจ้าเป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์  จะสั่งไม่รับคำขอรับชำระหนี้ของแดง


ข้อ  3  ธนาคารสยาม  ฟ้องบริษัทเอ  จำกัด  ซึ่งยืมเงินจากธนาคารสยาม  กับแสงซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันการยืมขอให้ศาลแพ่งบังคับให้บริษัท  เอ  จำกัด  และแสงร่วมกันชำระเงินยืมดังกล่าว  ในระหว่างที่ศาลพิจารณาคดีนั้น  บริษัทเอ  จำกัด  ยื่นคำร้องขอให้ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งฟื้นฟูกิจการของบริษัทเอ  จำกัด  เมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับคำร้องขอไว้พิจารณา  บริษัทเอ  จำกัด  และแสงยื่นคำขอให้ศาลแพ่งงดการพิจารณาคดีที่ถูกธนาคารสยามฟ้องเนื่องจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัท  เอ  จำกัด  ไว้พิจารณาแล้ว  ธนาคารสยามยื่นคำคัดค้านว่าศาลจะงดการพิจารณาคดีดังกล่าวไม่ได้

ให้ท่านวินิจฉัยว่าศาลแพ่งจะมีคำสั่งประการใด

ธงคำตอบ

มาตรา  90/12  ภายใต้บังคับมาตรา  90/13  และมาตรา  90/14  นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอไว้เพื่อพิจารณาจนถึงวันครบกำหนดระยะเวลาดำเนินการตามแผน  หรือวันที่ดำเนินการเป็นผลสำเร็จตามแผนหรือวันที่ศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอหรือจำหน่ายคดีหรือยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการหรือยกเลิกการฟื้นฟูกิจการหรือพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดตามความในหมวดนี้

(4) ห้ามมิให้ฟ้องลูกหนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้หรือเสนอข้อพิพาทที่ลูกหนี้อาจต้องรับผิดหรือได้รับความเสียหายให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาด  ถ้ามูลแห่งหนี้นั้นเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน  และห้ามมิให้ฟ้องลูกหนี้เป็นคดีล้มละลาย  ในกรณีที่มีการฟ้องคดีหรือเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดไว้ก่อนแล้ว  ให้งดการพิจารณาไว้เว้นแต่ศาลที่รับคำร้องขอจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

วินิจฉัย

ตามบทบญญัติมาตรา  90/12(4)  นั้นกำหนดว่า  เมื่อศาลรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการไว้พิจารณาจนถึงครบกำหนดระยะเวลาดำเนินการตามแผน  ห้ามมิให้ฟ้องลูกหนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้หรือถ้าฟ้องคดีไว้แล้ว  ก็ให้งดการพิจารณาไว้  ถ้ามูลแห่งหนี้นั้นเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน  ทั้งนี้เป็นการห้ามฟ้องเฉพาะตัวลูกหนี้ในคดีฟื้นฟูกิจการหรือลูกหนี้ที่ยื่นคำขอร้องขอฟื้นฟูกิจการเท่านั้น  ส่วนจำเลยอื่นแม้จะต้องร่วมรับผิดกับลูกหนี้ในคดีแพ่งด้วย  แต่เมื่อมิใช่ผู้ร่วมร้องขอหรือเป็นลูกหนี้ในคดีฟื้นฟูกิจการด้วย  ย่อมไม่ได้รับประโยชน์ตามมาตรา  90/12(4)  ด้วย  เจ้าหนี้จึงฟ้องให้ลูกหนี้อื่นให้รับผิดทางแพ่งต่อไปได้

ศาลแพ่งจะมีคำสั่งประการใด  เห็นว่า การที่ธนาคารสยามฟ้องบริษัทเอ  จำกัด  ให้ชำระเงินกู้ยืมซึ่งเป็นการฟ้องคดีแพ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินของบริษัทเอ  จำกัด  เมื่อบริษัทเอ  จำกัด  ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของตน  และศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอไว้พิจารณาแล้ว  ศาลในคดีแพ่งดังกล่าวต้องงดการพิจารณาคดีแพ่งนั้นไว้สำหรับบริษัทเอ  จำกัด  ซึ่งเป็นลูกหนี้ในคดีฟื้นฟูกิจการ  ตามมาตรา  90/12(4) 

ส่วนการพิจารณาคดีในส่วนของแสงนั้น  แม้แสงจะถูกธนาคารสยามฟ้องให้รับผิดร่วมกับบริษัทเอ  จำกัด  ในฐานะผู้ค้ำประกันเป็นคดีเดียวกันกับคดีของบริษัทเอ  จำกัด  แสงไม่อาจได้รับความคุ้มครองตามมาตรา  90/12(4)  เช่นเดียวกับบริษัทเอ  จำกัด  เพราะแสงมิได้มีฐานะเป็นผู้ร่วมร้องขอหรือลูกหนี้ในคดีฟื้นฟูกิจการดังกล่าวด้วย  ศาลจึงต้องพิจารณาคดีในส่วนของแสงต่อไป  (ฎ. 3403/2545 (ประชุมใหญ่))

สรุป  ศาลแพ่งจะมีคำสั่งให้งดการพิจารณาคดีแพ่งเฉพาะบริษัทเอ  จำกัด  และยกคำคัดค้านของแสง

Advertisement