การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2550

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW3010 กฎหมายล้มละลาย 

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  จำนวน  3  ข้อ

ข้อ  1  ในคดีล้มละลายเรื่องหนึ่ง  เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นำที่ดินของลูกหนี้ที่ยึดไว้แล้วให้นายคำแหงเช่า  มีกำหนด  6  เดือน  ค่าเช่าเดือนละ  5,000  บาท  โดยมีการทำหนังสือสัญญาเช่าถูกต้องตามกฎหมาย  แต่นายคำแหงผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าทั้งหมด  นอกจากนี้จากการสอบสวนของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์พบว่า  นายคำแหงเคยทำสัญญาเช่าที่ดินแปลงเดียวกันนี้มาก่อนที่ลูกหนี้จะถูกพิทักษ์ทรัพย์ในคดีนี้และค้างชำระค่าเช่าเดิมอีก  3  เดือน  เดือนละ  5,000  บาท  เช่นเดียวกันให้วินิจฉัยว่า  เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจนำที่ดินของลูกหนี้ให้นายคำแหงเช่าได้หรือไม่  และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะมีวิธีการอย่างไรเพื่อบังคับให้นายคำแหงชำระค่าเช่าที่ค้างชำระดังกล่าวทั้งหมด

ธงคำตอบ

มาตรา 22  เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แล้ว  เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวมีอำนาจดังต่อไปนี้

(1) จัดการและจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้  หรือกระทำการที่จำเป็นเพื่อให้กิจการของลูกหนี้ที่ค้างอยู่เสร็จสิ้นไป

(3) ประนีประนอมยอมความ  หรือฟ้องร้อง  หรือต่อสู้คดีใดๆ  เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้

มาตรา  119  วรรคแรก  เมื่อปรากฏว่าลูกหนี้มีสิทธิเรียกร้องให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดชำระเงินหรือส่งมอบทรัพย์สินแก่ลูกหนี้  ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แจ้งความเป็นหนังสือไปยังบุคคลนั้นให้ชำระเงินหรือส่งมอบทรัพย์สินตามจำนวนที่ได้แจ้งไปและให้แจ้งไปด้วยว่าถ้าจะปฏิเสธ  ให้แสดงเหตุผลประกอบข้อปฏิเสธเป็นหนังสือมายังเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเวลาสิบสี่วันนับแต่วันได้รับแจ้งความ  มิฉะนั้น  จะถือว่าเป็นหนี้กองทรัพย์สินของลูกหนี้อยู่ตามจำนวนที่แจ้งไปเป็นการเด็ดขาด

วินิจฉัย

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่า  เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจนำที่ดินของลูกหนี้ให้นายคำแหงเช่าได้หรือไม่  เห็นว่า  ตามบทบัญญัติมาตรา  22  แห่ง  พ.ร.บ.  ล้มละลาย  พ.ศ. 2483  นั้น  ได้กำหนดไว้โดยแจ้งชัดแล้วว่า  เมื่อลูกหนี้ถูกพิทักษ์ทรัพย์แล้ว  ไม่ว่าชั่วคราวหรือเด็ดขาด  (ฎ. 324/2518)  เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เท่านั้นมีอำนาจจัดการเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้  ลูกหนี้หามีอำนาจต่อสู้คดีใดๆหรือกระทำการใดๆเกี่ยวกับทรัพย์สินของตนไม่  ดังนั้นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงมีอำนาจนำที่ดินของลูกหนี้ที่ได้ยึดไว้แล้วออกให้นายคำแหงเช่าได้  เป็นการจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ประการหนึ่งตามมาตรา  22(1)

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการต่อมามีว่า  เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะมีวิธีการอย่างไรเพื่อบังคับให้นายคำแหงชำระค่าเช่าที่ค้างชำระดังกล่าวทั้งหมด  เห็นว่า  การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะใช้วิธีการทวงหนี้โดยแจ้งความเป็นหนังสือ  ตามมาตรา  119  นั้นจะต้องเป็นกรณีที่ลูกหนี้  (ผู้ถูกพิทักษ์ทรัพย์)  มีสิทธิเรียกร้องต่อบุคคลอื่นอยู่แล้วก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ชั่วคราวหรือเด็ดขาด  เพราะเมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้ว  ลูกหนี้ไม่มีอำนาจจัดการกิจการและทรัพย์สินของตนเอง  ดังนั้นกิจการที่ลูกหนี้กระทำภายหลังศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้ว  เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะใช้วิธีการทวงหนี้ตามมาตรา  119  ไม่ได้  ประเด็นนี้จึงแยกพิจารณาได้  2  กรณีคือ

1       สำหรับค่าเช่าเดิมที่นายคำแหงค้างชำระ  3  เดือน  เดือนละ  5,000  บาท  รวมเป็นเงิน  15,000  บาทนั้น  เป็นสิทธิเรียกร้องที่ลูกหนี้มีอยู่ก่อนที่ลูกหนี้จะถูกพิทักษ์ทรัพย์  เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงชอบที่จะมีหนังสือทวงหนี้ค่าเช่าจำนวน  15,000  บาท  ให้นายคำแหงชำระค่าเช่าได้  ตามมาตรา  119  วรรคแรก  ทั้งนี้จะต้องแจ้งไปด้วยว่าถ้านายคำแหงจะปฏิเสธให้แสดงเหตุผลประกอบข้อปฏิเสธเป็นหนังสือมายังเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายใน  14  วันนับแต่วันได้รับแจ้งความ  มิฉะนั้นจะถือว่าเป็นหนี้กองทรัพย์สินของลูกหนี้อยู่ตามจำนวนที่แจ้งไปเป็นการเด็ดขาด

2       สำหรับค่าเช่าใหม่จำนวน  6  เดือน  เดือนละ  5,000  บาท  รวมเป็นเงิน  30,000  บาทนั้น  ถือเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นจากการที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นำที่ดินของลูกหนี้ออกให้เช่าหลังจากลูกหนี้ถูกพิทักษ์ทรัพย์แล้ว  เมื่อนายคำแหงไม่ชำระค่าเช่า  เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงไม่อาจใช้อำนาจตามมาตรา  119  เพื่อทวงให้นายคำแหงชำระค่าเช่าได้  แต่อย่างไรก็ตาม  เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจที่จะดำเนินการฟ้องร้องเป็นคดีแพ่งต่อศาลที่มีเขตอำนาจเพื่อเรียกเก็บค่าเช่าที่ค้างชำระเป็นคดีต่างหากได้  โดยอาศัยบทบัญญัติมาตรา  22(3)  เพราะเป็นการฟ้องร้องคดีเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้  (ฎ. 1998/2538, ฎ. 5858/2538)

สรุป  เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจนำที่ดินของลูกหนี้ออกให้เช่าได้  และสำหรับค่าเช่าที่เกิดขึ้นก่อนศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์  ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีหนังสือทวงหนี้ตามมาตรา  199  วรรคแรก  ส่วนค่าเช่าที่เกิดขึ้นหลังจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์  ให้ยื่นฟ้องเป็นคดีแพ่งต่างหาก  ตามมาตรา  22(3)    


ข้อ  2  กรมสรรพากรเป็นโจทก์ฟ้องนายสนธิเป็นจำเลยให้ชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา  ประจำปีภาษี  2548  พร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มจำนวน  
100,000  บาท  จำเลยให้การว่า  จำเลยเคยถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด  หนี้ภาษีอากรตามฟ้องเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์  แต่กรมสรรพากรมิได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้  ต่อมาเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขายทรัพย์สินของจำเลยชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ที่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ไว้  และศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ได้รับชำระหนี้ครบถ้วนทุกรายจนศาลมีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายแล้ว  จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ตามฟ้องแก่โจทก์  ขอให้ยกฟ้อง

ให้วินิจฉัยว่า  หากข้อเท็จจริงฟังได้ยุติตามคำให้การของจำเลย  ข้อต่อสู้ของจำเลยฟังขึ้นหรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  91  เจ้าหนี้ซึ่งจะขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายอาจจะเป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทย์หรือไม่ก็ตาม  ต้องยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเวลาสองเดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด  แต่ถ้าเจ้าหนี้อยู่นอกราชอาณาจักร  เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะขยายกำหนดเวลาให้อีกได้ไม่เกินสองเดือน

คำขอรับชำระหนี้นั้นต้องทำตามแบบพิมพ์  โดยมีบัญชีแสดงรายละเอียดแห่งหนี้สิน  และข้อความระบุถึงหลักฐานประกอบหนี้และทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดของลูกหนี้ที่ยึดไว้เป็นหลักประกันหรือตกอยู่ในความครอบครองของเจ้าหนี้

มาตรา  135  เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำขอ  ศาลมีอำนาจสั่งยกเลิกการล้มละลายได้  ถ้าปรากฏเหตุอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้

(3) หนี้สินของบุคคลล้มละลายได้ชำระเต็มจำนวนแล้ว

มาตรา  136  คำสั่งยกเลิกการล้มละลายตามมาตรา  135(1)  หรือ  (2)  นั้นไม่ทำให้ลูกหนี้หลุดพ้นหนี้สินแต่อย่างใด

วินิจฉัย

ข้อต่อสู้ของนายสนธิ (จำเลย)  ฟังขึ้นหรือไม่  เห็นว่า  ตามบทบัญญัติมาตรา  136  นั้นได้จำกัดไว้โดยเฉพาะแล้วว่า  การยกเลิกการล้มละลาย  ตามมาตรา  135(1)  หรือ  (2)  เท่านั้น  ที่ไม่ทำให้ลูกหนี้หลุดพ้นจากความรับผิดในหนี้สิน  เจ้าหนี้จึงนำหนี้ดังกล่าวมาฟ้องหรือขอรับชำระหนี้ในคดีที่ลูกหนี้ถูกฟ้องเป็นคดีล้มละลายในคดีใหม่ได้  ดังนั้นหากเป็นการยกเลิกการล้มละลายตามมาตรา  135(3)  และ  (4)  แม้  พ.ร.บ.  ล้มละลาย  พ.ศ. 2483  มาตรา  136  จะมิได้กำหนดถึงผลของการยกเลิกการล้มละลายเอาไว้  แต่เมื่อพิจารณาถ้อยคำในมาตรา  135(3) และ (4)  ก็เห็นได้ว่าเมื่อศาลมีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายด้วยเหตุตามอนุมาตราดังกล่าวแล้ว  ลูกหนี้ย่อมหลุดพ้นหนี้สินไปทั้งหมด  กรณีจึงไม่อาจนำมาตรา  77  ซึ่งเป็นบทบัญญัติเรื่องผลของการปลดจากการล้มละลายมาใช้บังคับได้  (ฎ. 136/2540, ฎ.1915/2536) 

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า  หนี้ภาษีอากรตามฟ้องเกิดขึ้นก่อนวันศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์  แต่กรมสรรพากรเจ้าหนี้มิได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเวลาตามมาตรา  91  กรมสรรพากรย่อมหมดสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของนายสนธิลูกหนี้ในคดีล้มละลาย

เมื่อกรมสรรพากรเจ้าหนี้ไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้  แม้ต่อมาศาลจะมีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายเพราะหนี้สินของลูกหนี้ได้ชำระเต็มจำนวนแล้วตามมาตรา  135(3)  ก็มีผลทำให้นายสนธิหลุดพ้นจากบรรดาหนี้สินทั้งปวงรวมทั้งหนี้ภาษีอากร  และหลุดพ้นจากการเป็นบุคคลล้มละลาย  กรมสรรพากรจะนำหนี้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี  2548  พร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มจำนวน  100,000  บาท  ซึ่งเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์มาฟ้องนายสนธิเป็นคดีแพ่งหรือคดีล้มละลายอีกไม่ได้  กรณีไม่อาจนำบทบัญญัติมาตรา  77  มาใช้บังคับแก่กรณีดังกล่าวได้  ข้อต่อสู้ของสนธิ  จึงฟังขึ้น  (ฎ. 6084/2548,  ฎ. 806/2538)

สรุป  ข้อต่อสู้ของนายสนธิ (จำเลย) ฟังขึ้น


ข้อ  3  ธนาคารสยาม  จำกัด  ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัทอเมริกา  จำกัด  ต่อมาธนาคารสยาม  จำกัด  ไม่ประสงค์ที่จะดำเนินคดีต่อไป  ต้องการถอนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ  และมาปรึกษาท่าน  ท่านจะให้คำปรึกษาแก่ธนาคารสยาม  จำกัด  ประการใด

ธงคำตอบ

มาตรา  90/8  วรรคแรก  ผู้ร้องขอจะถอนคำร้องขอไม่ได้  เว้นแต่ศาลจะอนุญาตแต่ถ้าศาลได้มีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการแล้ว  ศาลจะอนุญาตให้ถอนคำร้องขอไม่ได้

วินิจฉัย

ธนาคารสยามจะถอนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการได้หรือไม่  เห็นว่า  ตาม  พ.ร.บ.  ล้มละลาย  มาตรา  90/8  วรรคแรก  กำหนดว่า  ผู้ร้องขอจะถอนคำร้องขอไม่ได้  เว้นแต่ศาลจะอนุญาตแต่ถ้าศาลได้มีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการแล้ว  ศาลจะอนุญาตให้ถอนคำร้องขอไม่ได้  ซึ่งการร้องขอฟื้นฟูกิจการเป็นการร้องขอให้มีการจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ภายใต้กรอบของกฎหมายฟื้นฟูกิจการ  เพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย มิใช่เรื่องระหว่างลูกหนี้กับเจ้าหนี้ผู้ร้องขอเท่านั้น  กฎหมายจึงกำหนดให้ศาลเข้ามาตรวจสอบในกรณีที่มีการถอนคำร้องขอดังกล่าว

เมื่อธนาคารสยาม  จำกัด  ผู้ร้องจอจะดำเนินคดีต่อไป  ก็ต้องขอถอนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ  โดยยื่นคำร้องเพื่อขอถอนคำร้องขอดังกล่าวก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ  ส่วนศาลจะมีอำนาจที่จะอนุญาตให้ถอนคำร้องขอหรือไม่  เป็นดุลพินิจของศาล  ซึ่งต้องพิจารณาถึงสาเหตุที่ขอถอนคำร้องขอนั้นด้วยว่า  เป็นเหตุอันสมควรหรือไม่

แต่อย่างไรก็ตาม  หากศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการแล้ว  ศาลจะอนุญาตให้ถอนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการไม่ได้  เพราะถือว่าศาลมีคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นคดีของการร้องขอฟื้นฟูกิจการแล้ว  ทำให้บุคคลที่เกี่ยวข้องต่างๆมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนดไว้  การยื่นคำร้องขอถอนคำร้องดังกล่าวหลังจากศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการแล้ว  จึงไม่อาจกระทำได้

สรุป  ข้าพเจ้าจะให้คำปรึกษาแก่ธนาคารสยามว่า  ต้องยื่นคำร้องขอถอนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการก่อนศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ  เพราะหากศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการแล้ว  ศาลจะอนุญาตให้ถอนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการไม่ได้

Advertisement