การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2548

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW3010 กฎหมายล้มละลาย

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  จำนวน  3  ข้อ

ข้อ  1  ในคดีล้มละลายเรื่องหนึ่ง  เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนคำขอชำระหนี้ของธนาคารไทย  จำกัด  (มหาชน)  แล้วทำความเห็นเสนอต่อศาลว่า  ไม่มีผู้ใดโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้รายนี้  แต่หนี้ของเจ้าหนี้รายนี้ขาดอายุความไปก่อนวันที่นำมายื่นคำขอรับชำระหนี้  เห็นควรยกคำขอรับชำระหนี้ศาลล้มละลายกลางพิจารณาแล้วมีคำสั่งว่า  แม้หนี้ของเจ้าหนี้รายนี้จะขาดอายุความ  แต่ลูกหนี้และเจ้าหนี้รายอื่นไม่โต้แย้ง  ดังนั้น  เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ย่อมไม่มีสิทธิโต้แย้งคัดค้าน  จึงอนุญาตให้ธนาคารไทย  จำกัด  (มหาชน)  ได้รับชำระหนี้ตามขอให้วินิจฉัยว่า  คำสั่งศาลล้มละลายกลางดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ธงคำตอบ

มาตรา  22  เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แล้ว  เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวมีอำนาจดังต่อไปนี้

(3) ประนีประนอมยอมความ  หรือฟ้องร้อง  หรือต่อสู้คดีใดๆ  เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้

มาตรา  94  เจ้าหนี้ไม่มีประกันอาจขอรับชำระหนี้ได้  ถ้ามูลแห่งหนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์  แม้ว่าหนี้นั้นยังไม่ถึงกำหนดชำระหรือมีเงื่อนไขก็ตาม  เว้นแต่

(1) หนี้ที่เกิดขึ้นโดยฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย  หรือศีลธรรมอันดี  หรือหนี้ที่จะฟ้องร้องให้บังคับคดีไม่ได้

วินิจฉัย

คำสั่งของศาลล้มละลายกลางที่อนุญาตให้ธนาคารไทย  จำกัด  (มหาชน)  ได้รับชำระหนี้ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เห็นว่า  พ.ร.บ.  ล้มละลาย  พ.ศ.2483  มาตรา  22(3)  บัญญัติให้อำนาจเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่เพียงผู้เดียวเท่านั้นมีอำนาจฟ้องร้องหรือต่อสู้คดีใดๆเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้

การที่ธนาคารไทย  จำกัด (มหาชน)  เจ้าหนี้นำหนี้ที่ขาดอายุความซึ่งต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ตามมาตรา  94(1)  มายื่นคำขอรับชำระหนี้  กรณีเช่นนี้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ซึ่งมีอำนาจฟ้องร้องและต่อสู้คดีใดๆเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้  จึงมีอำนาจที่จะอ้างเอาอายุความมาต่อสู้เพื่อให้ศาลมีคำสั่งยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ได้  เมื่อเจ้าพนักงานพิทักทรัพย์ยกอายุความขึ้นต่อสู้  และทำความเห็นต่อศาลว่าควรยกคำขอรับชำระหนี้ที่เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ตามมาตรา  94(1)  ศาลจึงไม่อาจมีคำสั่งอนุญาตให้ธนาคารไทย  จำกัด (มหาชน)  ได้รับชำระหนี้ได้  ดังนั้น  การที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ธนาคารไทย  จำกัด  (มหาชน)  ได้รับชำระหนี้ตามคำขอ  จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย  (ฎ. 980/2532, ฎ. 3960/2546)

สรุป  คำสั่งของศาลล้มละลายกลางที่อนุญาตให้ธนาคารไทย  จำกัด  (มหาชน)  ได้รับชำระหนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย 

 


ข้อ  2  ในคดีล้มละลายเรื่องหนึ่ง  หลังจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของห้างหุ้นส่วนจำกัดทรัพย์ไพศาลเด็ดขาดแล้ว  เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงยื่นคำร้องให้ศาลมีคำสั่งให้นายไพบูลย์และนายพัลลภ  ซึ่งเป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดล้มละลายตามห้างฯด้วย  และข้อเท็จจริงจากการไต่สวนฟังได้ยุติว่า  นายไพบูลย์และนายพัลลภเป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดในห้างฯดังกล่าวจริง  แต่นายไพบูลย์มีทรัพย์สิน  มากกว่าหนี้สินของห้าง  ศาลจึงมีคำสั่งยกคำร้องสำหรับนายไพบูลย์เพราะมิได้มีหนี้สินล้นพ้นตัว  และพิพากษาให้นายพัลลภเป็นบุคคลล้มละลายทันที

ให้วินิจฉัยว่า  คำสั่งและคำพิพากษาของศาลล้มละลายกลางดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  89  เมื่อศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ห้างหุ้นส่วนสามัญซึ่งได้จดทะเบียนหรือห้างหุ้นส่วนจำกัดแล้ว  เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์หรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาจมีคำขอโดยทำเป็นคำร้อง  ให้บุคคลซึ่งนำสืบได้ว่าเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนนั้นล้มละลายได้  โดยไม่ต้องฟ้องเป็นคดีขึ้นใหม่

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว  ในกรณีที่เจ้าหนี้เป็นโจทก์หรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขอให้หุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดล้มละลายตามห้างฯ  ตามมาตรา  89  นั้น  บทบัญญัติแห่งมาตรานี้ให้พิจารณาแต่เพียงว่าผู้ถูกขอให้ล้มละลายตามห้างฯ  เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดหรือไม่  ถ้าได้ความว่าเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด  ศาลก็มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและพิพากษาให้ล้มละลายตามห้างฯได้เลย  โดยไม่ต้องคำนึงว่าหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดนั้นจะมีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่  ทั้งนี้เพราะหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดต้องรับผิดในหนี้สินแทนห้างหุ้นส่วนตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  1070  และ  1077  โดยไม่จำกัดจำนวนอยู่แล้ว  (ฎ. 7093/2545, ฎ. 1172/2521)

คำสั่งและคำพิพากษาของศาลชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เห็นว่า  ภายหลังจากที่ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของห้างหุ้นส่วนจำกัดทรัพย์ไพศาลเด็ดขาดแล้ว  เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ยื่นคำร้องให้ศาลมีคำสั่งให้นายไพบูลย์และนายพัลลภหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดล้มละลายตามห้างฯด้วย  ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยจึงมีเพียงว่า  นายไพบูลย์และนายพัลลภผู้ถูกขอให้ล้มละลายตามห้างฯเป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดหรือไม่เท่านั้น  เอข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ว่านายไพบูลย์และนายพัลลภเป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนจำกัดทรัพย์ไปศาล  ซึ่งศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดไปก่อนแล้ว  กรณีเช่นนี้  ศาลก็มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของนายไพบูลย์และนายพัลลภเด็ดขาดได้เลย  โดยไม่ต้องคำนึงว่าจะมีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่  ทั้งนี้ตามมาตรา  89

ดังนั้น  กี่ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำพิพากษาให้นายพัลลภล้มละลายทันทีย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะศาลต้องมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดก่อนจึงจะมีคำพิพากษาให้ล้มละลายได้  และคำสั่งยกคำร้องของนายไพบูลย์  โดยเห็นว่าไม่มีหนี้สินล้นพ้นตัวก็ไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน  เพราะประเด็นดังกล่าวไม่จำต้องวินิจฉัยแต่อย่างใด

สรุป  คำพิพากษาและคำสั่งของศาลไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 


ข้อ  3  ในกรณีที่มีการร้องขอฟื้นฟูกิจการและศาลได้ยอมให้ตามคำขอฟื้นฟูแล้ว  ต่อมาผู้ร้องขอมาขอถอนคำร้องขอ  หากท่านเป็นศาล  ท่านจะพิจารณาคำร้องขอนี้อย่างไร  ประการหนึ่ง  อีกประการหนึ่งถ้าภายหลังศาลสั่งรับคำร้องขอแล้ว  หากมีเหตุที่ศาลจะสั่งจำหน่ายคดี เช่นผู้ร้องขอขาดนัดพิจารณาก่อนศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดี  ศาลมีหน้าที่จะต้องทำประการใดก่อน  ให้ท่านอธิบายพอสังเขป 

ธงคำตอบ

มาตรา  90/8  วรรคแรก  ผู้ร้องขอจะถอนคำร้องขอไม่ได้  เว้นแต่ศาลจะอนุญาตแต่ถ้าศาลได้มีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการแล้ว  ศาลจะอนุญาตให้ถอนคำร้องขอไม่ได้

ในกรณีที่ผู้ร้องขอทิ้งคำร้องขอ  หรือขาดนัดพิจารณา  หรือศาลอนุญาตให้ถอนคำร้องขอ  ก่อนที่ศาลจะสั่งจำหน่ายคดี  ให้โฆษณาในหนังสือพิมพ์รายวันที่แพร่หลายอย่างน้อยหนึ่งฉบับ  เพื่อให้เจ้าหนี้ทั้งหลายและลูกหนี้ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน

วินิจฉัย

ตาม  พ.ร.บ.  ล้มละลาย  มาตรา  90/8  วรรคแรก  กำหนดว่า  ผู้ร้องขอจะถอนคำร้องขอไม่ได้  เว้นแต่ศาลจะอนุญาตแต่ถ้าศาลได้มีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการแล้ว  ศาลจะอนุญาตให้ถอนคำร้องขอไม่ได้  ซึ่งการร้องขอฟื้นฟูกิจการเป็นการร้องขอให้มีการจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ภายใต้กรอบของกฎหมายฟื้นฟูกิจการ  เพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย  มิใช่เรื่องระหว่างลูกหนี้กับเจ้าหนี้ผู้ร้องขอเท่านั้น  กฎหมายจึงกำหนดให้ศาลเข้ามาตรวจสอบในกรณีที่มีการถอนคำร้องขอดังกล่าว

ดังนั้นโดยหลักแล้ว  การร้องขอถอนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการจึงสามารถกระทำได้ทุกเมื่อ  ส่วนศาลจะอนุญาตให้ถอนคำร้องขอหรือไม่  เป็นดุลพินิจของศาล  ซึ่งต้องพิจารณาถึงสาเหตุที่ขอถอนคำร้องขอนั้นด้วยว่าเป็นเหตุอันสมควรหรือไม่  แต่อย่างไรก็ตามในกรณีที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการแล้ว  ศาลจะอนุญาตให้ถอนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการไม่ได้  เพราะถือว่าศาลมีคำสั่งโดยได้วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีของการร้องขอฟื้นฟูกิจการแล้ว  ทำให้บุคคลที่เกี่ยวข้องต่างๆมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนดไว้  การยื่นคำร้องขอถอนคำร้องดังกล่าวจึงไม่อาจกระทำได้

กรณีนี้ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาล  จะมีคำสั่งไม่อนุญาตตามคำขอตามมาตรา  90/8  วรรคแรก  เพราะศาลได้มีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการแล้ว

กรณีที่ศาลจะจำหน่ายคดีภายหลังรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการแล้ว

เมื่อศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ไว้พิจารณาแล้ว  หากมีเหตุที่ศาลจะสั่งจำหน่ายคดี  เช่น

1       ผู้ร้องขอฟื้นฟูกิจการทิ้งคำร้องขอ

2       ผู้ร้องขอฟื้นฟูกิจการขาดนัดพิจารณา

3       ศาลอนุญาตให้ถอนคำร้องขอตามมาตรา  90/8  วรรคแรก  (กรณีอนุญาตให้ถอนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการก่อนมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ)

ก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ  ศาลมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติมาตรา  90/8  วรรคสอง  กล่าวคือ  ให้ศาลโฆษณาในหนังสือพิมพ์รายวันที่แพร่หลายอย่างน้อย  1  ฉบับ  เพื่อให้เจ้าหนี้ทั้งหลายและลูกหนี้ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า  7  วัน  ศาลจึงจะสั่งจำหน่ายคดีได้

Advertisement