การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2545
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW3010 กฎหมายล้มละลาย
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน จำนวน 3 ข้อ
ธงคำตอบ
มาตรา 56 การประนอมหนี้ซึ่งที่ประชุมเจ้าหนี้ได้ยอมรับและศาลเห็นชอบด้วยแล้ว ผู้มัดเจ้าหนี้ทั้งหมดในเรื่องหนี้ซึ่งอาจขอรับชำระหนี้ได้ แต่ไม่ผูกมัดเจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดในเรื่องหนี้ซึ่งตามพระราชบัญญัตินี้ลูกหนี้ไม่อาจหลุดพ้นโดยคำสั่งปลดจากล้มละลายได้ เว้นแต่เจ้าหนี้คนนั้นได้ยินยอมด้วยในการประนอมหนี้
มาตรา 77 คำสั่งปลดจากล้มละลายทำให้บุคคลล้มละลายหลุดพ้นจากหนี้ทั้งปวงอันพึงขอรับชำระได้เว้นแต่
(1) หนี้เกี่ยวกับภาษีอากร หรือจังกอบของรัฐบาลหรือเทศบาล
วินิจฉัย
การประนอมหนี้ซึ่งที่ประชุมเจ้าหนี้ได้ยอมรับและศาลเห็นชอบด้วยแล้ว ย่อมผูกมัดเจ้าหนี้ทั้งหมดในเรื่องหนี้ซึ่งอาจขอรับชำระหนี้ได้ แต่ไม่ผูกมัดเจ้าหนี้ ในเรื่องหนี้ที่ไม่อาจหลุดพ้นโดยคำสั่งปลดจากล้มละลาย (คือ เจ้าหนี้ตามมาตรา 77) เว้นแต่ เจ้าหนี้นั้นจะยินยอมด้วยในการประนอมหนี้ (มาตรา 56)
กรมสรรพากรจะมีสิทธิฟ้องคดีแพ่งเรียกหนี้ภาษีที่ค้างอยู่อีก 60,000 บาท จากเอกได้หรือไม่ เห็นว่า หนี้เกี่ยวกับภาษีอากรของรัฐบาลถือเป็นหนี้ที่ไม่อาจหลุดพ้นโดยคำสั่งปลดจากล้มละลายได้ตามมาตรา 77(1) และในที่ประชุมเจ้าหนี้ กรมสรรพากรก็ได้ออกเสียงคัดค้านไม่เห็นชอบด้วยคำขอประนอมหนี้แต่แพ้มติในที่ประชุม กรณีเช่นนี้ จึงถือไม่ได้ว่ากรมสรรพากรได้เห็นชอบหรือยินยอมด้วยในการประนอมหนี้แต่อย่างใด การประนอมหนี้ของเอกดังกล่าวจึงไม่ผูกมัดกรมสรรพากรตามมาตรา 56
ดังนั้น แม้เอกจะหลุดพ้นจากการล้มละลายโดยการประนอมหนี้ กรมสรรพากรก็ยังคงมีสิทธิติดตามฟ้องเรียกค่าภาษีที่เอกค้างอยู่จำนวน 60,000 บาทได้ (ฎ. 1001/2509)
สรุป กรมสรรพากรมีสิทธิฟ้องคดีแพ่งเรียกหนี้ภาษีที่ค้างอยู่อีก 60,000 บาท จากเอกได้
ข้อ 2 พยอมกู้ยืมเงินลำใยไป 150,000 บาท โดยนำเครื่องเพชรของตนมามอบให้ลำไยไว้เป็นประกันเงินกู้โดยไม่มีหลักฐานการจำนำเป็นหนังสือและไม่ได้ทำหลักฐานการกู้ยืมเงินกันไว้เป็นหนังสือแต่อย่างใด ต่อมาพยอมถูกเจ้าหนี้อื่นฟ้องล้มละลายและศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์พยอมเด็ดขาด ลำใยขอรับชำระหนี้ดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โดยตีราคาเครื่องเพชรของลำใยเป็นเงิน 100,000 บาท แล้วขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่ยังขาดอยู่อีก 50,000 บาทถ้าท่านเป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะสั่งคำขอรับชำระหนี้ของลำใยอย่างไร
ธงคำตอบ
มาตรา 95 เจ้าหนี้มีประกันย่อมมีสิทธิเหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันซึ่งลูกหนี้ได้ให้ไว้ก่อนถูกพิทักษ์ทรัพย์โดยไม่ต้องขอรับชำระหนี้ แต่ต้องยอมให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตรวจดูทรัพย์สินนั้น
มาตรา 96 วรรคแรกและวรรคท้าย เจ้าหนี้มีประกันอาจขอรับชำระหนี้ภายในเงื่อนไขดังต่อไปนี้
(4) เมื่อตีราคาทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันแล้ว ขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่ยังขาดอยู่ ในกรณีเช่นนี้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจไถ่ถอนทรัพย์สินตามราคานั้นได้ถ้าเห็นว่าราคานั้นไม่สมควรเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจขายทรัพย์สินนั้นตามวิธีการที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และเจ้าหนี้ตกลงกัน ถ้าไม่ตกลงกัน จะขายทอดตลาดก็ได้แต่ต้องไม่ให้เสียหายแก่เจ้าหนี้และเจ้าหนี้หรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจเข้าสู้ราคาในการขายทอดตลาดได้ เมื่อขายได้เงินจำนวนสุทธิเท่าใดให้ถือว่าเป็นราคาที่เจ้าหนี้ได้ตีมาในคำขอ
บทบัญญัติแห่งมาตรานี้ไม่ให้ใช้บังคับในกรณีที่ตามกฎหมายลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดเกินกว่าราคาทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคแรก การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่
วินิจฉัย
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ (จ.พ.ท.) จะสั่งคำขอรับชำระหนี้ของแดงอย่างไร เห็นว่า ตามกฎหมายแล้ว เจ้าหนี้มีประกันมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ได้ 2 วิธี คือ
1 ใช้สิทธิตามมาตรา 95 โดยไม่ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 91 เพียงแต่แจ้งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทราบว่าจะถือเอาสิทธิเหนือทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน และยอมให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าตรวจดูทรัพย์สิน
2 ใช้สิทธิตามมาตรา 96 โดยยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 91 ภายใต้เงื่อนไขดังที่ระบุไว้ในมาตรา 96 แต่อย่างไรก็ตาม ถ้ามีกรณีใดที่ตามกฎหมาย ลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดเกินกว่าราคาทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน เจ้าหนี้มีประกันจะยื่นคำขอรับชำระหนี้ไม่ได้ ทั้งนี้ตามบทบัญญัติมาตรา 96 วรรคท้าย
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า พยอมกู้เงินลำใยไป 150,000 บาท โดยได้นำเครื่องเพชรของตนมามอบให้ลำใยไว้เป็นประกันเงินกู้ แม้การจำนำจะไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ แต่เมื่อมีการส่งมอบทรัพย์สินที่จำนำ การจำนำย่อมมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายแล้ว (ป.พ.พ. มาตรา 747) กรณีนี้ถือว่าลำใยผู้รับจำนำอยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้มีประกันตามมาตรา 6 แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อหนี้เงินกู้ยืมของพยอมและลำใยเป็นการกู้ยืมเงินเกินกันกว่า 2,000 บาท แต่ไม่มีหลักฐานการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ ลำใยเจ้าหนี้จึงไม่อาจฟ้องบังคับให้พยอมลูกหนี้ชำระหนี้ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคแรก ดังนั้นในกรณีนี้ พยอมลูกหนี้จึงไม่ต้องรับผิดเกินกว่าราคาทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน
การที่ลำใยตีราคาเครื่องเพชรเป็นเงิน 100,000 บาท และขอรับชำระหนี้จำนวนที่ยังขาดอยู่อีก 50,000 บาท อันถือว่าเป็นกรณีที่เจ้าหนี้มีประกันใช้สิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 96(4) แต่เมื่อลำใยเป็นเจ้าหนี้มีประกันที่ตามกฎหมายลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดเกินกว่าราคาทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน ลำใยจึงไม่มีสิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 96 วรรคท้ายได้ ดังนี้ หากข้าพเจ้าเป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ จะสั่งไม่รับคำขอรับชำระหนี้ของลำใย
อย่างไรก็ตาม แม้ลำใยจะยื่นคำขอรับชำระหนี้ไม่ได้ ลำใยก็ยังคงมีสิทธิเหนือเครื่องเพชรที่จำนำอันเป็นหลักประกัน ซึ่งลูกหนี้ได้ให้ไว้ก่อนถูกพิทักษ์ทรัพย์โดยไม่ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ได้ แต่ต้องยอมให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตรวจดูทรัพย์สินตามมาตรา 95
สรุป หากข้าพเจ้าเป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ จะสั่งไม่รับคำขอรับชำระหนี้ของลำใย
ข้อ 3 แดงยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งฟื้นฟูกิจการของบริษัทเหลือง จำกัด โดยเสนอให้เขียวเป็นผู้ทำแผน เมื่อถึงวันที่ศาลนัดไต่สวนคำร้องขอ ไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดคัดค้านคำร้องขอ ศาลเห็นสมควรงดการไต่สวนและมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของบริษัทเหลือง จำกัด ตามคำร้องขอของแดงดังกล่าว แต่ศาลเห็นว่าเขียวที่แดงเสนอมาไม่สมควรเป็นผู้ทำแผน จึงมีคำสั่งให้แดงเสนอผู้ทำแผนคนใหม่ เพื่อศาลจะได้พิจารณามีคำสั่งตั้งเป็นผู้ทำแผนต่อไป
คำสั่งของศาลดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อย่างไร
ธงคำตอบ
มาตรา 90/17 วรรคแรก ในการพิจารณาตั้งผู้ทำแผน ถ้าลูกหนี้หรือเจ้าหนี้ผู้คัดค้านไม่ได้เสนอบุคคลอื่นเป็นผู้ทำแผนด้วย เมื่อศาลสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ ศาลจะมีคำสั่งตั้งบุคคลที่ผู้ร้องขอเสนอเป็นผู้ทำแผนก็ได้ ถ้าศาลเห็นว่าบุคคลที่ผู้ร้องขอเสนอไม่สมควรเป็นผู้ทำแผนก็ดี หรือลูกหนี้ เจ้าหนี้ผู้คัดค้านเสนอบุคคลอื่นเป็นผู้ทำแผนด้วยก็ดี ให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้ทั้งหลายโดยเร็วที่สุดเพื่อพิจารณาเลือกว่าบุคคลใดสมควรเป็นผู้ทำแผน
วินิจฉัย
พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/17 วรรคแรก ได้กำหนดหลักเกณฑ์การตั้งผู้ทำแผนไว้ดังนี้คือ
1 กรณีลูกหนี้หรือเจ้าหนี้ผู้คัดค้านไม่ได้เสนอบุคคลอื่นมาเป็นผู้ทำแผน ศาลอาจมีคำสั่งตั้งบุคคลที่ผู้ร้องขอเสนอเป็นผู้ทำแผนก็ได้
2 กรณีที่ศาลเห็นว่าบุคคลที่ผู้ร้องขอเสนอไม่สมควรเป็นผู้ทำแผน หรือลูกหนี้เจ้าหนี้ผู้คัดค้านเสนอบุคคลอื่นเป็นผู้ทำแผนด้วย ให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้ทั้งหลายโดเร็วที่สุด เพื่อพิจารณาเลือกว่าบุคคลใดสมควรเป็นผู้ทำแผน ศาลจะมีคำสั่งตั้งผู้ทำแผนไปเลยทีเดียวไม่ได้
กรณีนี้เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า แดงได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งฟื้นฟูกิจการของบริษัทเหลืองจำกัด ลูกหนี้ โดยเสนอให้เขียวเป็นผู้ทำแผนด้วย เมื่อศาลเห็นว่าเขียวที่แดงเสนอมาไม่สมควรเป็นผู้ทำแผน ศาลจะต้องมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้ทั้งหมด เพื่อพิจารณาเลือกว่าบุคคลใดสมควรเป็นผู้ทำแผนตามมาตรา 90/17 วรรคแรก ดังนั้น การที่ศาลมีคำสั่งให้แดงเสนอผู้ทำแผนคนใหม่ทันที เพื่อศาลจะพิจารณามีคำสั่งตั้งเป็นผู้ทำแผนต่อไปโดยไม่มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้ก่อนนั้น จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
สรุป คำสั่งของศาลที่ให้แดงเสนอผู้ทำแผนคนใหม่ เพื่อศาลจะได้พิจารณามีคำสั่งแต่งตั้งเป็นผู้ทำแผนต่อไปไม่ชอบด้วยกฎหมาย