การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2560

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3010 กฎหมายล้มละลาย

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1 ก่อนมีการร้องขอฟื้นฟูกิจการดังกล่าว บริษัท สีสัน จํากัด ได้ทําสัญญาซื้อขายรถยนต์บรรทุกกับบริษัท ยนต์การ จํากัด โดยผ่อนชําระเดือนละ 1 แสนบาท โดยมีธนาคาร เอไทย จํากัด เป็นผู้ค้ำประกัน ต่อมา บริษัท สีสัน จํากัด ได้ยื่นคําร้องขอฟื้นฟูกิจการของตน และศาลได้มีคําสั่งให้ ฟื้นฟูกิจการและตั้งบริษัท แอดไวท์ จํากัด เป็นผู้ทําแผน บริษัท ยนต์การ จํากัด ได้ยื่นคําขอรับ ชําระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แล้ว ซึ่งต่อมาศาลได้มีคําสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการนั้น โดยบริษัท ยนต์การ จํากัด ได้รับชําระหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการเพียงร้อยละ 30 ดังนั้น บริษัท ยนต์การ จํากัด จึงได้มายื่นฟ้องธนาคาร เอไทย จํากัด ให้รับผิดตามสัญญาค้ำประกันในหนี้ส่วนที่ ขาดไป ธนาคาร เอไทย จํากัด ต่อสู้ว่า เมื่อศาลเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการแล้วและแผนฟื้นฟู กิจการกําหนดให้หนี้ของบริษัท สีสัน จํากัด ลดลงเหลือเพียงร้อยละ 30 ธนาคาร เอไทย จํากัด ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงรับผิดเพียงร้อยละ 30 เช่นกัน และเมื่อบริษัท ยนต์การ จํากัด ได้รับชําระหนี้ ตามแผนฟื้นฟูกิจการแล้ว ตนจึงไม่ต้องชําระหนี้ให้แก่บริษัท ยนต์การ จํากัด

เช่นนี้ บริษัท ยนต์การ จํากัด มีอํานาจฟ้องธนาคาร เอไทย จํากัด ให้รับผิด ตามสัญญาค้ำประกันได้หรือไม่ และข้อต่อสู้ ของธนาคาร เอไทย จํากัด รับฟังได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483

มาตรา 90/26 วรรคหนึ่ง “เจ้าหนี้จะขอรับชําระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้ก็แต่โดยปฏิบัติตาม วิธีการที่กล่าวไว้ในส่วนนี้ แม้จะเป็นเจ้าหนี้ตามคําพิพากษา หรือเป็นเจ้าหนี้ที่ได้ฟ้องคดีแพ่งไว้แล้วแต่คดียังอยู่ ระหว่างพิจารณาก็ตาม ทั้งนี้ ต้องยื่นคําขอรับชําระหนี้พร้อมสําเนาต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในหนึ่งเดือน นับแต่วันโฆษณาคําสั่งตั้งผู้ทําแผน และให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ส่งสําเนาคําขอรับชําระหนี้ให้ผู้ทําแผนโดย ไม่ชักช้า”

มาตรา 90/27 วรรคหนึ่ง “เจ้าหนี้อาจขอรับชําระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้ ถ้ามลแห่งหนี้ ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคําสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ แม้ว่าหนี้นั้นยังไม่ถึงกําหนดชําระหรือมีเงื่อนไขก็ตาม เว้นแต่หนี้ที่ เกิดขึ้นโดยฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี หรือหนี้ที่จะฟ้องร้องให้บังคับคดีไม่ได้”

มาตรา 90/60 “แผนซึ่งศาลมีคําสั่งเห็นชอบแล้ว ผูกมัดเจ้าหนี้ซึ่งอาจขอรับชําระหนี้ใน การฟื้นฟูกิจการได้และเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชําระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการ ทั้งนี้ตามมาตรา 90/27

คําสั่งของศาลซึ่งเห็นชอบด้วยแผนไม่มีผลเปลี่ยนแปลงความรับผิดของบุคคลซึ่งเป็นหุ้นส่วน กับลูกหนี้ หรือผู้รับผิดร่วมกับลูกหนี้ หรือผู้ค้ำประกัน หรืออยู่ในลักษณะอย่างผู้ค้ำประกันของลูกหนี้ในหนี้ที่มีอยู่ ก่อนวันที่ศาลมีคําสั่งเห็นชอบด้วยแผน และไม่มีผลให้บุคคลเช่นว่านั้นต้องรับผิดในหนี้ที่ก่อขึ้นตามแผนตั้งแต่ วันดังกล่าว เว้นแต่บุคคลเช่นว่านั้นจะยินยอมโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือด้วย”

มาตรา 90/61 “เจ้าหนี้ซึ่งอาจขอรับชําระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการผู้ใดไม่ยื่นคําขอรับชําระหนี้ ภายในเวลาที่กําหนดไว้ตามมาตรา 90/26 หรือมาตรา 90/27 วรรคสาม แล้วแต่กรณี เจ้าหนี้ผู้นั้นย่อมหมดสิทธิ ที่จะได้รับชําระหนี้ไม่ว่าการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้จะเป็นผลสําเร็จตามแผนหรือไม่…”

 

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ เป็นเรื่องผลแห่งการร้องขอฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ซึ่งเมื่อศาลมีคําสั่งให้ ฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้ทําแผนแล้วเจ้าหนี้ทั้งปวงที่มูลหนี้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคําสั่งให้ฟื้นฟูกิจการจะต้องยื่น คําขอรับชําระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายใน 1 เดือนนับแต่วันโฆษณาตั้งผู้ทําแผน มิฉะนั้นย่อมหมดสิทธิ ที่จะได้รับชําระหนี้ตามมาตรา 90/61 ประกอบมาตรา 90/26 วรรคหนึ่ง และมาตรา 90/27 วรรคหนึ่ง

เมื่อบริษัท ยนต์การ จํากัด ได้ยื่นคําขอรับชําระหนี้แล้ว ย่อมมีสิทธิที่จะได้รับชําระหนี้ในคดี ฟื้นฟูกิจการ ต่อมาเมื่อแผนฟื้นฟูกิจการกําหนดให้ลดหนี้ของบริษัท ยนต์การ จํากัด เหลือเพียงร้อยละ 30 เมื่อ ศาลได้มีคําสั่งเห็นชอบด้วยกับแผนฟื้นฟูกิจการนั้น ย่อมผูกมัดบริษัท ยนต์การ จํากัด ให้มีสิทธิเรียกร้องต่อลูกหนี้ คือบริษัท สีสัน จํากัด เพียงร้อยละ 30 ตามมาตรา 90/60 วรรคหนึ่ง

สําหรับความรับผิดของธนาคาร เอไทย จํากัด ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันของบริษัท สีสัน จํากัด นั้น ตามมาตรา 90/60 วรรคสอง ได้กําหนดไว้ว่า แผนฟื้นฟูกิจการที่ศาลเห็นชอบไม่มีผลเปลี่ยนแปลงความรับผิด ของผู้ค้ำประกันในหนี้ที่มีอยู่ก่อนวันที่ศาลมีคําสั่งเห็นชอบด้วยแผน ดังนั้น แม้แผนฟื้นฟูกิจการจะลดหนี้ของ ลูกหนี้เหลือร้อยละ 30 แต่ความรับผิดของธนาคาร เอไทย จํากัด ในฐานะผู้ค้ำประกันยังคงเป็นไปตามสัญญา คําบระกันเดิม ด้วยเหตุนี้ บริษัท ยนต์การ จํากัด ย่อมมีอํานาจฟ้องให้ธนาคาร เอไทย จํากัด รับผิดตามสัญญา ค้ําประกันได้ และข้อต่อสู้ของธนาคาร เอไทย จํากัด ที่ว่า เมื่อบริษัท ยนต์การ จํากัด ได้รับชําระหนี้ตามแผน ฟื้นฟูกิจการแล้วตนจึงไม่ต้องชําระหนี้ให้แก่บริษัท ยนต์การ จํากัด จึงรับฟังไม่ได้

สรุป บริษัท ยนตการ จํากัด มีอํานาจฟ้องธนาคาร เอไทย จํากัด ให้รับผิดตามสัญญา ค้ำประกันได้ และข้อต่อสู้ของธนาคาร เอไทย จํากัด รับฟังไม่ได้

 

ข้อ 2 ในคดีล้มละลายเรื่องหนึ่งศาลสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ของลูกหนี้แล้ว แต่ลูกหนี้ผิดนัดไม่ชําระหนี้ตามข้อประนอมหนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ขอให้ศาลบังคับชําระหนี้เอาจาก นายแตงไทยผู้ค้ําประกันตามข้อประนอมหนี้ โดยศาลบังคับชําระหนี้จากนายแตงไทยได้เพียง 300,000 บาท ยังคงเหลือหนี้ที่ลูกหนี้และผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดตามข้อประนอมหนี้อีก 1,000,000 บาท ซึ่งลูกหนี้และผู้ค้ำประกันไม่มีทรัพย์สินใด ๆ ที่จะยึดมาชําระหนี้ดังกล่าวได้ เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์จึงนําหนี้ดังกล่าวมาฟ้องนายแตงไทยผู้ค้ําประกันเป็นคดีล้มละลายอีกเรื่องหนึ่ง ระหว่างการพิจารณาคดีล้มละลายเรื่องที่สอง ศาลได้สั่งยกเลิกการประนอมหนี้ในคดีล้มละลาย เรื่องแรกตามคําขอของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ และพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย นายแตงไทย ผู้ค้ำประกันจึงขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์คืนเงิน 300,000 บาท ที่ตนได้จ่ายไปและขอให้ศาล พิพากษายกฟ้องคดีล้มละลายที่เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ฟ้องตนเสีย โดยอ้างเหตุผลประการเดียวกันว่า เมื่อศาลสั่งยกเลิกการประนอมหนี้และพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายแล้ว ผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้น ความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันตามข้อประนอมหนี้

ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่าข้ออ้างของนายแตงไทยทั้งสองกรณีฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483

มาตรา 60 วรรคหนึ่ง “ถ้าลูกหนี้ผิดนัดไม่ชําระหนี้ตามที่ได้ตกลงไว้ในการประนอมหนี้ก็ดี หรือปรากฏแก่ศาลโดยมีพยานหลักฐานว่าการประนอมหนี้นั้นไม่อาจดําเนินไปได้โดยปราศจากอยุติธรรมหรือ จะเป็นการเนิ่นช้าเกินสมควรก็ดี หรือการที่ศาลได้มีคําสั่งเห็นชอบด้วยนั้นเป็นเพราะถูกหลอกลวงทุจริตก็ดี เมื่อ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานหรือเจ้าหนี้คนใดมีคําขอโดยทําเป็นคําร้อง ศาลมีอํานาจยกเลิกการประนอมหนี้ และพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย แต่ทั้งนี้ไม่กระทบถึงการใดที่ได้กระทําไปแล้วตามข้อประนอมหนี้นั้น”

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 698 “อันผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจาก ความรับผิดในขณะเมื่อหนี้ของลูกหนี้ระงับสิ้นไปไม่ว่าเพราะเหตุใด ๆ”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ เมื่อศาลสั่งเห็นชอบด้วยกับการประนอมหนี้ของลูกหนี้แล้ว แต่ลูกหนี้ผิดนัด ไม่ชําระหนี้ตามข้อประนอมหนี้ และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ขอให้ศาลบังคับชําระหนี้เอาจากนายแตงไทย ผู้ค้ำประกันตามข้อประนอมหนี้ โดยศาลบังคับชําระหนี้จากนายแตงไทยได้เพียง 300,000 บาทนั้น ต่อมาเมื่อ ศาลได้สั่งยกเลิกการประนอมหนี้ในคดีนี้และพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย การที่ศาลสั่งให้ยกเลิกการประนอมหนี้ ย่อมถือว่าเป็นเหตุประการหนึ่งที่ทําให้หนี้ที่นายแตงไทยค้ำประกันอยู่ระงับสิ้นลง นายแตงไทยผู้ค้ำประกัน ย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันตามข้อประนอมหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 698 ดังนั้น การที่ นายแตงไทยขอให้ศาลพิพากษายกฟ้องคดีล้มละลายที่เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ฟ้องตนเสียโดยอ้างเหตุผลว่า เมื่อศาล สั่งยกเลิกการประนอมหนี้และพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายแล้ว ผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดตาม สัญญาค้ำประกันตามข้อประนอมหนี้ ข้ออ้างกรณีนี้ของนายแตงไทยจึงฟังขึ้น

ส่วนการที่นายแตงไทยขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์คืนเงิน 300,000 บาทที่ตนได้จ่ายไป โดยอ้างเหตุผลประการเดียวกันนั้น ย่อมฟังไม่ขึ้น เนื่องจากตามมาตรา 60 วรรคหนึ่งนั้นได้กําหนดไว้ว่า แม้ศาล จะได้มีคําสั่งยกเลิกการประนอมหนี้แล้วก็ตาม ก็ไม่กระทบถึงการใดที่ได้กระทําไปแล้วตามข้อประนอมหนี้นั้น ดังนั้น การที่นายแตงไทยได้จ่ายเงินไปแล้ว 300,000 บาทตามข้อประนอมหนี้ก่อนที่ศาลจะสั่งยกเลิกการประนอมหนี้ นายแตงไทยจึงไม่สามารถเรียกคืนได้

สรุป

ข้อต่อสู้ของนายแตงไทยที่ขอให้ศาลพิพากษายกฟ้องคดีล้มละลายที่เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ ฟ้องตนเสียฟังขึ้น แต่ข้อต่อสู้ที่ขอให้คืนเงิน 300,000 บาทฟังไม่ขึ้น

 

ข้อ 3 นายเอกทําสัญญากู้ยืมเงินจากนายโทจํานวน 2,000,000 บาท โดยนายเอกได้นําโฉนดที่ดินของตนมาให้นายโทยึดถือไว้เป็นหลักประกัน ต่อมานายเอกผิดนัดไม่ชําระหนี้ นายโทจึงส่งหนังสือทวงถาม ถึงนายเอก นายเอกได้รับหนังสือทวงถามให้ชําระหนี้แล้วจํานวน 2 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกันไม่น้อย กว่า 30 วัน แต่นายเอกก็ไม่ชําระหนี้ นายโทจึงฟ้องนายเอกให้ล้มละลาย ศาลล้มละลายมีคําสั่งว่า นายโทเป็นเจ้าหนี้มีประกัน แต่ไม่ยอมระบุในคําฟ้องว่าจะสละหลักประกันหรือตีราคาหลักประกัน และนายโทยังมีหนี้ตามสัญญาซื้อขายที่นายเอกค้างชําระอีกจํานวน 1,500,000 บาท ซึ่งยังไม่ถึง กําหนดชําระ แต่ได้ยื่นฟ้องรวมกันมากับหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงิน ซึ่งไม่สามารถฟ้องได้ ศาลล้มละลาย จึงมีคําสั่งไม่รับฟ้องของนายโท ดังนี้ คําสั่งของศาลล้มละลายขอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483

มาตรา 6 “ในพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่ข้อความจะแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น

เจ้าหนี้มีประกัน หมายความว่า เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ในทางจํานอง จํานํา หรือสิทธิยึดหน่วง หรือเจ้าหนี้ผู้มีบุริมสิทธิที่บังคับได้ทํานองเดียวกับผู้รับจํานํา”

มาตรา 8 “ถ้ามีเหตุอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้เกิดขึ้น ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ลูกหนี้มีหนี้สิน ล้นพ้นตัว

(9) ถ้าลูกหนี้ได้รับหนังสือทวงถามจากเจ้าหนี้ให้ชําระหนี้แล้วไม่น้อยกว่าสองครั้งซึ่งมี ระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่าสามสิบวันและลูกหนี้ไม่ชําระหนี้”

มาตรา 9 “เจ้าหนี้ จะฟ้องลูกหนี้ให้ล้มละลายได้ ก็ต่อเมื่อ

ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว

(2) ลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเป็นหนี้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์คนเดียวหรือหลายคนเป็น จํานวนไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท…และ

(3) หนี้นั้นอาจกําหนดจํานวนได้แน่นอน ไม่ว่าหนี้นั้นจะถึงกําหนดชําระโดยพลันหรือใน อนาคตก็ตาม

มาตรา 10 “ภายใต้บังคับมาตรา 9 เจ้าหนี้มีประกันจะฟ้องลูกหนี้ให้ล้มละลายได้ก็ต่อเมื่อ

(1) มิได้เป็นผู้ต้องห้าม มิให้บังคับการชำระหนี้เอาแก่ทรัพย์สิน

เกินกว่าตัวทรัพย์ ที่เป็นหลักประกัน และ

(2) กล่าวในฟ้องว่า ถ้าลูกหนี้ล้มละลายแล้ว จะยอมสละหลักประกันเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ ทั้งหลาย หรือตีราคาหลักประกันมาในฟ้องซึ่งเมื่อหักกับจํานวนหนี้ของตนแล้วเงินยังขาดอยู่ สําหรับลูกหนี้ซึ่งเป็น บุคคลธรรมดาเป็นจํานวนไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท หรือลูกหนี้ซึ่งเป็นนิติบุคคลเป็นจํานวนไม่น้อยกว่าสองล้านบาท”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ คําสั่งของศาลล้มละลายชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้ คือ

1 กรณีหนี้เงินกู้จํานวน 2,000,000 บาท

การที่นายเอกทําสัญญากู้ยืมเงินจากนายโทจํานวน 2,000,000 บาท ต่อมานายเอก ผิดนัดชําระหนี้ นายโทจึงส่งหนังสือทวงถามถึงนายเอก นายเอกได้รับหนังสือทวงถามให้ชําระหนี้แล้วจํานวน 2 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วัน แต่นายเอกก็ไม่ชําระหนี้นั้น กรณีดังกล่าวให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า นายเอกลูกหนี้ เป็นคนมีหนี้สินล้นพ้นตัวตามมาตรา 8 (9) และเมื่อนายเอกซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเป็นหนี้นายโทเจ้าหนีไม่น้อยกว่า 1,000,000 ล้านบาท นายโทเจ้าหนี้ย่อมสามารถฟ้องให้นายเอกล้มละลายได้ตามมาตรา 9

การที่นายเอกกู้ยืมเงินจากนายโท โดยนายเอกได้นําโฉนดที่ดินของตนมาให้นายโท ยึดถือไว้เป็นหลักประกันนั้น ไม่มีผลให้นายโทสามารถบังคับชําระหนี้เอาจากที่ดินตามโฉนดนั้นได้แต่อย่างใด นายโทจึงไม่ใช่เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิเหนือทรัพย์สินของนายเอกลูกหนี้ นายโทจึงไม่มีฐานะเป็นเจ้าหนี้มีประกัน

เมื่อนายโทไม่ใช่เจ้าหนี้มีประกัน นายโทย่อมมีสิทธิฟ้องนายเอกให้ล้มละลายได้ตาม มาตรา 9 โดยนายโทไม่จําต้องบรรยายฟ้องว่า ถ้าลูกหนี้ล้มละลายแล้ว จะยอมสละหลักประกันเพื่อประโยชน์แก่ เจ้าหนี้ทั้งหลาย หรือตีราคาหลักประกันมาในฟ้องตามมาตรา 10 ดังนั้น การที่ศาลล้มละลายตรวจคําฟ้องแล้ว เห็นว่านายโทเป็นเจ้าหนี้มีประกัน แต่นายโทไม่ได้บรรยายฟ้องตามมาตรา 10 ดังกล่าว จึงมีคําสั่งไม่รับฟ้องนั้น คําสั่งของศาลล้มละลายดังกล่าวจึงเป็นคําสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

2 กรณีหนี้ตามสัญญาซื้อขายจํานวน 1,500,000 บาท

การที่นายโทฟ้องนายเอกว่า นายเอกยังเป็นหนี้ตามสัญญาซื้อขายซึ่งยังไม่ถึงกําหนด ชําระแก่นายโทอีกจํานวน 1,500,000 บาท แต่ศาลล้มละลายเห็นว่าเป็นหนี้ที่ยังไม่ถึงกําหนดชําระ จึงมีคําสั่ง ไม่รับฟ้องนั้น คําสั่งของศาลล้มละลายกรณีดังกล่าวนี้ เป็นคําสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นเดียวกัน ทั้งนี้เพราะ หนี้ตามสัญญาซื้อขายจํานวน 1,500,000 บาทนั้น แม้จะเป็นหนี้ที่ยังไม่ถึงกําหนดชําระ นายโทก็มีสิทธินําหนี้ ดังกล่าวมาฟ้องนายเอกเป็นคดีล้มละลายได้ตามมาตรา 9 (3)

สรุป คําสั่งของศาลล้มละลายทั้ง 2 กรณีไม่ชอบด้วยกฎหมาย

Advertisement