การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2553

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3010 กฎหมายล้มละลาย

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน จํานวน 3 ข้อ

ข้อ 1 ในคดีล้มละลายเรื่องหนึ่ง ศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตามมาตรา 19 ลูกหนี้ขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลาย โดยจะขอชําระหนี้เพียงร้อยละ 50 ศาลอนุญาตตามคําขอของลูกหนี้ให้ลูกหนี้เข้าประนอมหนี้ ได้ แต่ปรากฏว่าลูกหนี้ผิดนัดไม่สามารถประนอมหนี้ได้สําเร็จ ถ้าท่านเป็นศาล ท่านจะสั่งประการใด กับลูกหนี้ และการสั่งนั้นใช้หลักเกณฑ์ใดในการสั่ง ในการที่ศาลสั่งให้ลูกหนี้ล้มละลายนั้น อยากทราบว่าลูกหนี้จะเริ่มต้นล้มละลายตั้งแต่เมื่อใด ซึ่งในคดีนี้ศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราว และมีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด และศาลสั่งให้ลูกหนี้ล้มละลายด้วย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483

มาตรา 6 “ในพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่ข้อความจะแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น “พิทักษ์ทรัพย์” หมายความว่า พิทักษ์ทรัพย์สินไม่ว่าเด็ดขาดหรือชั่วคราว”

มาตรา 45 วรรคแรก “เมื่อลูกหนี้ประสงค์จะทําความตกลงในเรื่องหนี้สินโดยวิธีขอชําระหนี้ แต่เพียงบางส่วนหรือโดยวิธีอื่น ให้ทําคําขอประนอมหนี้เป็นหนังสือยื่นต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกําหนด เจ็ดวัน นับแต่วันยื่นคําชี้แจงเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สินตามมาตรา 30 หรือภายในเวลาตามที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้กําหนดให้”

มาตรา 60 วรรคแรก “ถ้าลูกหนี้ผิดนัดไม่ชําระหนี้ตามที่ได้ตกลงไว้ในการประนอมหนี้ก็ดี หรือ ปรากฎแก่ศาลโดยมีพยานหลักฐานว่าการประนอมหนี้นั้นไม่อาจดําเนินไปได้โดยปราศจากอยุติธรรม หรือจะเป็นการ เนินช้าเกินสมควรก็ดี หรือการที่ศาลได้มีคําสั่งเห็นชอบด้วยนั้นเป็นเพราะถูกหลอกลวงทุจริตก็ดี เมื่อเจ้าพนักงาน พิทักษ์ทรัพย์รายงานหรือเจ้าหนี้คนใดมีคําขอโดยทําเป็นคําร้อง ศาลมีอํานาจยกเลิกการประนอมหนี้และพิพากษา ให้ลูกหนี้ล้มละลาย แต่ทั้งนี้ไม่กระทบถึงการใดที่ได้กระทําไปแล้วตามข้อประนอมหนี้นั้น”

มาตรา 61 วรรคแรก “เมื่อศาลได้มีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว และเจ้าพนักงาน พิทักษ์ทรัพย์รายงานว่าเจ้าหนี้ได้ลงมติในการประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกหรือในคราวที่ได้เลื่อนไป ขอให้ศาลพิพากษา ให้ลูกหนี้ล้มละลายก็ดี หรือไม่ลงมติประการใดก็ดี หรือไม่มีเจ้าหนี้ไปประชุมก็ดี หรือการประนอมหนี้ไม่ได้รับ ความเห็นชอบก็ดี ให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอํานาจจัดการทรัพย์สิน ของบุคคลล้มละลายเพื่อแบ่งแก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย”

มาตรา 62 “การล้มละลายของลูกหนี้เริ่มต้นมีผลตั้งแต่วันที่ศาลมีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์”

วินิจฉัย

ในคดีล้มละลาย เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตามมาตรา 19 วรรคแรก และลูกหนี้ต้องการ ขอประนอมหนี้ในช่วงนี้ ซึ่งเป็นการขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลาย โดยประสงค์จะทําความตกลงในเรื่องหนี้สิน โดยวิธีขอชําระหนี้แต่เพียงบางส่วนหรือโดยวิธีอื่นตามมาตรา 45 วรรคแรก และเมื่อลูกหนี้ขอประนอมหนี้เข้ามา และศาลสั่งอนุญาตให้ลูกหนี้เข้าประนอมหนี้ได้ ลูกหนี้ย่อมมีโอกาสเข้าไปจัดการทรัพย์สินของตน เพื่อชําระหนี้ ให้กับเจ้าหนี้ตามที่ขอประนอมหนี้ไว้ได้ ซึ่งกรณีนี้คือการขอชําระหนี้ร้อยละ 50

และเมื่อข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์ ปรากฏว่าลูกหนี้กระทําการประนอมหนี้ไม่เป็นผลสําเร็จ จึงถือว่าลูกหนี้ผิดนัดชําระหนี้ตามมาตรา 60 วรรคแรก ศาลต้องสั่งยกเลิกการประนอมหนี้และสั่งให้ลูกหนี้ล้มละลาย ตามมาตรา 61 วรรคแรก

และเมื่อศาลสั่งให้ลูกหนี้ล้มละลาย การล้มละลายของลูกหนี้ให้เริ่มต้นมีผลตั้งแต่วันที่ศาลมี คําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ตามมาตรา 62 ประกอบกับมาตรา 6 กล่าวคือ

1 ถ้าศาลมีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราว การล้มละลายก็จะเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ศาลมีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราว

2 ถ้าศาลมีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด (โดยไม่มีการพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราว) การล้มละลาย ก็จะเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ศาลมีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด

ดังนั้นเมื่อในคดีดังกล่าว ศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราว และมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด

จึงถือว่าในคดีนี้ลูกหนี้จะเริ่มต้นล้มละลายตั้งแต่วันที่ศาลมีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราว

สรุป

ข้าพเจ้าเป็นศาล จะสั่งยกเลิกการประนอมหนี้ และสิ่งให้ลูกหนี้ล้มละลาย และให้ถือว่าลูหนี้เริ่มต้นล้มละลายตั้งแต่วันที่ศาลมีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราว

 

ข้อ 2 นายดี เป็นหนี้ธนาคาร ก. จํานวน 5 ล้านบาท ไม่มีเงินชําระหนี้ จึงถูกธนาคาร ก. ฟ้องให้เป็นบุคคลล้มละลาย ศาลได้มีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดนายดี ระหว่างถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ยึดที่ดินและบ้านของนายดีมูลค่า 4 ล้านบาท เข้าไว้ในกองทรัพย์สิน ของลูกหนี้ เพื่อชําระหนี้แก่เจ้าหนี้คือธนาคาร ก. ซึ่งได้ยื่นขอรับชําระหนี้ไว้จํานวน 5 ล้านบาท และศาลอนุญาตตามคําขอรับชําระหนี้แล้ว และต่อมาศาลพิพากษาให้นายดีเป็นบุคคลล้มละลาย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงนําที่ดินและบ้านของนายดีออกขายทอดตลาดได้เงินจํานวน 3 ล้านบาท และแบ่งชําระแก่เจ้าหนี้คือธนาคาร ก. แล้ว นายดีเห็นว่าเจ้าหนี้ได้รับชําระหนี้เกินร้อยละห้าสิบแล้ว จึงยื่นคําร้องขอปลดจากล้มละลาย ระหว่างที่ศาลนัดพิจารณาคําร้องขอปลดจากล้มละลาย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์พบโฉนดที่ดินของนายดีอีกหนึ่งแปลงที่นายดีมีมาแต่ก่อนถูกฟ้องคดีซ่อนไว้ ที่ทํางาน และมีผู้พบและนําส่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทราบ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงได้ยึดไว้ ในกองทรัพย์สินแต่ยังมิได้ทันขายทอดตลาด ต่อมาศาลได้นัดไต่สวนคําร้องขอปลดจากล้มละลายของ นายดี และมีคําสั่งให้ปลดจากล้มละลาย หลังจากนั้นนายดีเห็นว่าเมื่อถูกปลดจากล้มละลายแล้ว ก็ไม่ต้องรับผิดในหนี้ทั้งปวงจึงขอให้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ถอนการยึดที่ดินฉบับหลังที่ยังไม่ได้ ขายทอดตลาด เจ้าพนักงานปฏิเสธโดยให้เหตุผลว่าเป็นทรัพย์ที่ยึดไว้เพื่อขายทอดตลาดและ นําเงินมาแบ่งชําระหนี้แก่ธนาคาร ก. ต่อไปจนครบ นายดีจึงยื่นคําร้องต่อศาลขอให้ศาลสั่งให้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ถอนการยึดที่ดินดังกล่าว หากท่านเป็นศาลจะสังคําร้องของนายดี อย่างไร เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483

มาตรา 19 วรรคแรก “คําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ ให้ถือเสมือนว่าเป็นหมายของศาล ให้เจ้าพนักงาน พิทักษ์ทรัพย์เข้ายึด ดวงตรา สมุดบัญชี และเอกสารของลูกหนี้ และบรรดาทรัพย์สินซึ่งอยู่ในความครอบครอง ของลูกหนี้หรือของผู้อื่นอันอาจแบ่งได้ในคดีล้มละลาย”

มาตรา 79 “บุคคลล้มละลายซึ่งได้ปลดจากล้มละลายนั้น ยังมีหน้าที่ช่วยในการจําหน่าย และแบ่งทรัพย์สินของตน ซึ่งตกอยู่กับเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องการ

ถ้าบุคคลล้มละลายละเลยไม่ช่วย ศาลมีอํานาจเพิกถอนคําสั่งปลดจากล้มละลาย…”

มาตรา 109 “ทรัพย์สินดังต่อไปนี้ ให้ถือว่าเป็นทรัพย์สินในคดีล้มละลายอันอาจแบ่งแก่ เจ้าหนี้ได้

(1) ทรัพย์สินทั้งหลายอันลูกหนี้มีอยู่ในเวลาเริ่มต้นแห่งการล้มละลาย รวมทั้งสิทธิเรียกร้อง เหนือทรัพย์สินของบุคคลอื่น”

วินิจฉัย

ในคดีล้มละลาย เมื่อลูกหนี้ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ย่อมมีอํานาจ ตามมาตรา 19 ในการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้อันอาจแบ่งได้ในคดีล้มละลาย ซึ่งตามมาตรา 109 ได้บัญญัติ ไว้ว่า ทรัพย์สินอันอาจแบ่งได้ในคดีล้มละลายแก่เจ้าหนี้นั้น ได้แก่ ทรัพย์สินของลูกหนี้ที่มีอยู่ในเวลาเริ่มต้น แห่งการล้มละลาย ซึ่งได้แก่ วันที่ศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ จนถึงเวลาปลดจากล้มละลาย

กรณีตามอุทาหรณ์ เมื่อโฉนดที่ดินทั้งสองแปลงและบ้านเป็นทรัพย์สินที่นายดีมีมาก่อนถูก พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด จึงถือเป็นทรัพย์อันอาจแบ่งได้แก่เจ้าหนี้ตามมาตรา 109(1) และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ย่อมมีสิทธิยึดไว้ได้ตามมาตรา 19 แม้ว่าต่อมานายดีได้ยื่นคําร้องขอปลดจากล้มละลาย และศาลมีคําสั่งให้ปลดนายดี จากล้มละลายก็ตาม ผลแห่งคําสั่งปลดจากล้มละลายที่ให้ลูกหนี้หลุดพ้นจากหนี้ทั้งปวง หมายถึง ลูกหนี้จะหลุดพ้น จากหนี้ที่เจ้าหนี้มิได้ยื่นขอรับชําระหนี้ไว้เท่านั้น ทรัพย์สินที่ถูกยึดและรวบรวมไว้อยู่กับเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ก่อนเวลาปลดจากล้มละลายนั้น ยังเป็นทรัพย์ที่อาจแบ่งได้แก่เจ้าหนี้ ในคดีล้มละลายสําหรับหนี้ที่ได้ยื่นขอรับ ชําระหนี้ไว้แล้ว และลูกหนี้ยังมีหน้าที่ต้องช่วยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในการจําหน่ายทรัพย์สินของตนตามมาตรา 79 วรรคแรก หากลูกหนี้ไม่ยอมช่วยเหลืออาจถูกศาลสั่งเพิกถอนการปลดจากล้มละลายได้ตามมาตรา 79 วรรคสอง

ดังนั้น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ จึงยังมีอํานาจนําโฉนดที่ดินที่พบฉบับหลังนั้นมาขายทอด ตลาดเพื่อนําเงินมาแบ่งให้แก่ธนาคาร ก. สําหรับหนี้ที่ค้างชําระอยู่ได้ ด้วยเหตุนี้ ศาลจึงต้องมีคําสั่งยกคําร้อง ของนายดี

สรุป หากข้าพเจ้าเป็นศาล จะสั่งยกคําร้องของนายดี ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น

 

ข้อ 3 คดีฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้เรื่องหนึ่ง ภายหลังจากศาลมีคําสั่งตั้งผู้ทําแผนแล้ว นาย ก. ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของลูกหนี้ยื่นคําขอรับชําระหนี้ในมูลหนี้เงินกู้ที่นาย ก. ให้ลูกหนี้กู้ยืมไปในขณะที่นาย ก. ได้รู้ถึง การที่ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์พิจารณาคําขอรับชําระหนี้ของนาย ก. แล้ว เห็นว่าหนี้ที่นาย ก. มาขอรับชําระหนี้เป็นหนี้ที่นาย ก. ยอมให้ลูกหนี้กระทําขึ้นเมื่อนาย ก. ได้รู้ถึง การที่ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว จึงมีคําสั่งยกคําขอรับชําระหนี้ของนาย ก.

ให้ท่านวินิจฉัยว่า คําสั่งยกคําขอรับชําระหนี้ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดังกล่าวชอบด้วยกฎหมาย หรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483

มาตรา 90/27 วรรคแรก “เจ้าหนี้อาจขอรับชําระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้ ถ้ามูลแห่งหนี้ ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคําสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ แม้ว่าหนี้นั้นยังไม่ถึงกําหนดชําระหรือมีเงื่อนไขก็ตาม เว้นแต่หนี้ ที่เกิดขึ้นโดยฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี หรือหนี้ที่จะฟ้องร้องให้บังคับคดีไม่ได้”

วินิจฉัย

ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย มาตรา 90/27 วรรคแรก บัญญัติให้เจ้าหนี้อาจขอรับชําระหนี้ในการ ฟื้นฟูกิจการได้ ถ้ามูลแห่งหนี้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคําสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ แม้ว่าหนี้นั้นยังไม่ถึงกําหนดชําระหรือ มีเงื่อนไขก็ตาม เว้นแต่

1 เป็นหนี้ที่เกิดขึ้นโดยฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี หรือ

2 เป็นหนี้ที่จะฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นาย ก. เจ้าหนี้ได้ยื่นคําขอรับชําระหนี้ในมูลหนี้เงินกู้ แม้หนี้ดังกล่าว จะเป็นหนี้ที่นาย ก. ให้ลูกหนี้กู้ยืมไปในขณะที่นาย ก. ได้รู้ถึงการที่ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวก็ตาม ก็ไม่ต้องห้ามที่ นาย ก. จะขอรับชําระหนี้ตามมาตรา 90/27 วรรคแรก ดังนั้น คําสั่งยกคําขอรับชําระหนี้ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สรุป

คําสั่งยกคําขอรับชําระหนี้ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

หมายเหตุ หนี้ซึ่งเจ้าหนี้ยอมให้ลูกหนี้กระทําขึ้นเมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ถึงการที่ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว เป็นข้อยกเว้นที่เจ้าหนี้จะขอรับชําระหนี้ในคดีล้มละลายตามมาตรา 94(2) ไม่ได้เท่านั้น มิได้เป็นข้อยกเว้นที่ เจ้าหนี้จะขอรับชําระหนี้ในคดีฟื้นฟูกิจการตามมาตรา 90/27 วรรคแรกด้วยแต่อย่างใด

Advertisement