การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2558

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3009 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยมรดก

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1 นายหนึ่งอยู่กินกับนางสองโดยมิได้จดทะเบียนสมรส มีบุตรด้วยกันคือ นายสาม ซึ่งนายหนึ่งได้แจ้งเกิดในสูติบัตรว่าเป็นบิดา นอกจากนี้นายสุพจน์ได้จดทะเบียนรับนายสามไปเป็นบุตรบุญธรรม ต่อมา นายสามได้ทําสัญญาเช่าอาคารจากนายดินโดยชอบด้วยกฎหมาย โดยตกลงว่ามีค่าเช่า 10,000 บาท และระบุว่าบรรดาสิ่งที่ผู้เช่าได้นํามาตกแต่งในสถานที่เช่า ถ้ามีลักษณะติดตรึงตรากับอาคารแล้ว ผู้เช่าจะรื้อถอนไปมิได้ เว้นแต่จะได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากผู้ให้เช่า การปลูกสร้างหรือ ดัดแปลงต่อเติมที่ผู้เช่ากระทําขึ้นนั้นตกเป็นกรรมสิทธิ์แก่ผู้ให้เช่าทั้งสิ้น โดยมีระยะเวลาการเช่า 20 ปี นอกจากนี้นายสามได้ทําสัญญาเช่าซื้อรถยนต์จากนายเขียว กําหนดชําระค่างวด งวดละ 10,000 บาท จํานวน 20 งวด ปรากฏว่าหลังจากนายสามทําสัญญาเช่าอาคารมาได้ 5 ปี และชําระค่างวดมาได้ 10 งวด นายสามป่วยและถึงแก่ความตายเช่นนี้ จงพิจารณาการตกทอดของมรดกของนายสาม

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1546 “เด็กเกิดจากหญิงที่มิได้มีการสมรสกับชาย ให้ถือว่าเป็นบุตรฃอบด้วยกฎหมาย ของหญิงนั้น เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น”

มาตรา 1598/27 “การรับบุตรบุญธรรมจะสมบูรณ์ต่อเมื่อได้จดทะเบียนตามกฎหมาย แต่ ถ้าผู้จะเป็นบุตรบุญธรรมนั้นเป็นผู้เยาว์ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมก่อน”

มาตรา 1598/29 “การรับบุตรบุญธรรมไม่ก่อให้เกิดสิทธิรับมรดกของบุตรบุญธรรมในฐานะ ทายาทโดยธรรมเพราะเหตุการรับบุตรบุญธรรมนั้น”

มาตรา 1600 “ภายใต้บังคับของบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ กองมรดกของผู้ตายได้แก่ ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ เว้นแต่ตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้ว เป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้”

มาตรา 1627 “บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้น ให้ถือว่าเป็น ผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้”

มาตรา 1629 “ทายาทโดยธรรมมีหกลําดับเท่านั้น และภายใต้บังคับแห่งมาตรา 1630 วรรคสอง แต่ละลําดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้ คือ

(1) ผู้สืบสันดาน

(2) บิดามารดา”

มาตรา 1630 “ตราบใดที่ทายาทซึ่งยังมีชีวิตอยู่ หรือมีผู้รับมรดกแทนที่ยังไม่ขาดสายแล้วแต่ กรณีในลําดับหนึ่ง ๆ ที่ระบุไว้ในมาตรา 1629 ทายาทผู้ที่อยู่ในลําดับถัดลงไปไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายเลย

แต่ความในวรรคก่อนนี้มิให้ใช้บังคับในกรณีเฉพาะที่มีผู้สืบสันดานคนใดยังมีชีวิตอยู่หรือมี ผู้รับมรดกแทนที่กันแล้วแต่กรณี และมีบิดามารดายังมีชีวิตอยู่ ในกรณีเช่นนั้นให้บิดามารดาได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่า เป็นทายาทชั้นบุตร”

มาตรา 1633 “ทายาทโดยธรรมในลําดับเดียวกันในลําดับหนึ่ง ๆ ที่ระบุไว้ในมาตรา 1629 นั้น ชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน ถ้าในลําดับหนึ่งมีทายาทโดยธรรมคนเดียว ทายาทโดยธรรมคนนั้นมีสิทธิได้รับ ส่วนแบ่งทั้งหมด”

วินิจฉัย

ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1600 ได้บัญญัติไว้ว่า มรดกซึ่งจะตกทอดแก่ผู้เป็นทายาทเมื่อเจ้ามรดกตาย นั้น ได้แก่ ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดต่าง ๆ ของผู้ตาย เว้นแต่สิทธิ หน้าที่ และความรับผิดซึ่งตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้วเป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้ จะไม่ตกทอดไปยังทายาท

กรณีตามอุทาหรณ์ จะเห็นได้ว่ามรดกของนายสามซึ่งจะตกทอดแก่ผู้เป็นทายาทนั้น ได้แก่

1 สิทธิตามสัญญาเช่าอาคารจากนายดิน เพราะเมื่อในสัญญาเช่ามีข้อตกลงกันว่า การ ปลูกสร้างหรือดัดแปลงต่อเติมที่ผู้เช่ากระทําขึ้นนั้นตกเป็นกรรมสิทธิ์แก่ผู้ให้เช่าทั้งสิ้น โดยมีระยะเวลาการเช่า 20 ปีนั้น สัญญาเช่าดังกล่าวจึงเป็นสัญญาเช่าที่มีข้อตกลงต่างตอบแทนกันเป็นพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา ดังนั้น สิทธิและหน้าที่ตามสัญญาเช่าดังกล่าวจึงไม่ถือว่าเป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้ เมื่อนายสามผู้เช่าถึงแก่ ความตาย สิทธิและหน้าที่ตามสัญญาเช่าจึงเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาท

2 สิทธิการเป็นผู้เช่าซื้อรถยนต์จากนายเขียว เพราะตามกฎหมายในเรื่องสัญญาเช่าซื้อนั้น เมื่อผู้เช่าซื้อถึงแก่ความตาย สัญญาเช่าซื้อย่อมไม่ระงับสิ้นไป เนื่องจากสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาเช่าซื้อตาม กฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้วไม่เป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้ ดังนั้น เมื่อนายสามผู้เช่าซื้อถึงแก่ความตาย สิทธิและหน้าที่ตามสัญญาเช่าซื้อจึงเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาท

ส่วนบุคคลใดบ้างที่มีสิทธิและไม่มีสิทธิในการรับมรดกดังกล่าวของนายสามนั้น แยกพิจารณา ได้ดังนี้

1 นายหนึ่ง ซึ่งเป็นบิดาของนายสามนั้น เมื่อนายหนึ่งมิได้จดทะเบียนสมรสกับนางสอง นายหนึ่งจึงเป็นบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของนายสาม และแม้ว่านายหนึ่งจะได้รับรองว่านายสามเป็นบุตรโดย ได้แจ้งเกิดในสูติบัตรว่าเป็นบิดาตามมาตรา 1627 ก็ตาม นายหนึ่งก็มิใช่ทายาทโดยธรรมตามนัยของมาตรา 1629 (2) ดังนั้น นายหนึ่งจึงไม่มีสิทธิรับมรดกของนายสาม

2 นางสอง ซึ่งเป็นมารดาของนายสามนั้น ถือเป็นทายาทโดยธรรมตามมาตรา 1629 (2) จึงมีสิทธิรับมรดกของนายสาม ทั้งนี้เพราะนางสองแม้จะมิได้จดทะเบียนสมรสกับนายหนึ่ง แต่ก็ถือว่าเป็นมารดา ที่ชอบด้วยกฎหมายของนายสามตามมาตรา 1546

3 นายสุพจน์ ซึ่งเป็นบิดาบุญธรรมของนายสามนั้น ไม่มีสิทธิรับมรดกในฐานะทายาท โดยธรรมของนายสาม เพราะต้องห้ามตามมาตรา 1598/29 ที่กําหนดว่า การรับบุตรบุญธรรมไม่ก่อให้เกิดสิทธิ รับมรดกของบุตรบุญธรรมในฐานะทายาทโดยธรรม

ดังนั้น มรดกของนายสามดังกล่าวข้างต้นทั้งหมด จึงตกได้แก่นางสองแต่เพียงผู้เดียวตามมาตรา 1630 วรรคสอง และมาตรา 1633

สรุป

มรดกของนายสามคือ สิทธิตามสัญญาเช่าอาคารจากนายดิน และสิทธิการเป็นผู้เช่า ซื้อรถยนต์จากนายเขียวตกได้แก่นางสองแต่เพียงผู้เดียว

 

ข้อ 2 นายมะม่วงอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยากับนางสาวมังคุดมีบุตรด้วยกัน 2 คน คือ นายขนุนและนายฝรั่ง นายขนุนจดทะเบียนสมรสกับนางลิ้นจี่ แต่ไม่มีบุตรด้วยกัน จึงร่วมกันจดทะเบียนรับนายมะพร้าว มาเป็นบุตรบุญธรรม โดยนายมะพร้าวมี ด.ช.มะนาวเป็นบุตรนอกกฎหมายที่นายมะพร้าวนํามา อุปการะเลี้ยงดูอย่างดี ส่วนนายฝรั่งจดทะเบียนรับ ด.ช.ระบําเป็นบุตรบุญธรรมและมี ด.ญ.สละ เป็นบุตรนอกกฎหมายที่นายฝรั่งให้ใช้นามสกุล ต่อมานายมะพร้าวและนายฝรั่งเดินทางไป ต่างจังหวัดและประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต พอนายขนุนทราบข่าวก็เสียใจมาก หัวใจวายถึงแก่ความตาย นายขนุนมีมรดกเป็นเงินสดจํานวน 1 ล้าน 2 แสนบาท จงแบ่งมรดกของนายขนุน

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1598/25 “ผู้จะรับบุตรบุญธรรมหรือผู้จะเป็นบุตรบุญธรรม ถ้ามีคู่สมรสอยู่ต้องได้รับ ความยินยอมจากคู่สมรสก่อน…”

มาตรา 1598/27 “การรับบุตรบุญธรรมจะสมบูรณ์ต่อเมื่อได้จดทะเบียนตามกฎหมาย แต่ ถ้าผู้จะเป็นบุตรบุญธรรมนั้นเป็นผู้เยาว์ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมก่อน”

มาตรา 1604 วรรคหนึ่ง “บุคคลธรรมดาจะเป็นทายาทได้ก็ต่อเมื่อมีสภาพบุคคลหรือสามารถ มีสิทธิได้ตามมาตรา 15 แห่งประมวลกฎหมายนี้ ในเวลาที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย”

มาตรา 1620 วรรคหนึ่ง “ถ้าผู้ใดตายโดยไม่ได้ทําพินัยกรรมไว้หรือทําพินัยกรรมไว้แต่ไม่มี ผลบังคับได้ให้ปันทรัพย์มรดกทั้งหมดแก่ทายาทโดยธรรมของผู้ตายนั้นตามกฎหมาย”

มาตรา 1627 “บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้น ให้ถือว่าเป็น ผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้”

มาตรา 1629 “ทายาทโดยธรรมมีหกลําดับเท่านั้น และภายใต้บังคับแห่งมาตรา 1630 วรรคสอง แต่ละลําดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้ คือ

(1) ผู้สืบสันดาน

(2) บิดามารดา

(3) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน

คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา 1635

มาตรา 1630 “ตราบใดที่ทายาทซึ่งยังมีชีวิตอยู่ หรือมีผู้รับมรดกแทนที่ยังไม่ขาดสายแล้วแต่ กรณีในลําดับหนึ่ง ๆ ที่ระบุไว้ในมาตรา 1629 ทายาทผู้ที่อยู่ในลําดับถัดลงไปไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายเลย

แต่ความในวรรคก่อนนี้มีให้ใช้บังคับในกรณีเฉพาะที่มีผู้สืบสันดานคนใดยังมีชีวิตอยู่หรือมีผู้รับ มรดกแทนที่กันแล้วแต่กรณี และมีบิดามารดายังมีชีวิตอยู่ในกรณีเช่นนั้นให้บิดามารดาได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่า เป็นทายาทชั้นบุตร”

มาตรา 1633 “ทายาทโดยธรรมในลําดับเดียวกันในลําดับหนึ่ง ๆ ที่ระบุไว้ในมาตรา 1629 นั้น ชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน ถ้าในลําดับหนึ่งมีทายาทโดยธรรมคนเดียว ทายาทโดยธรรมคนนั้นมีสิทธิได้รับ ส่วนแบ่งทั้งหมด”

มาตรา 1635 “ลําดับและส่วนแบ่งของคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ในการรับมรดกของผู้ตายนั้น ให้ เป็นไปดังต่อไปนี้

(1) ถ้ามีทายาทตามมาตรา 1629 (1) ซึ่งยังมีชีวิตอยู่หรือมีผู้รับมรดกแทนที่แล้วแต่กรณี คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นมีสิทธิได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าตนเป็นทายาทชั้นบุตร”

มาตรา 1639 “ถ้าบุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตามมาตรา 1629 (1) (3) (4) หรือ (6) ถึงแก่ความตาย หรือถูกกําจัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย ถ้าบุคคลนั้นมีผู้สืบสันดานก็ให้ผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่ ถ้าผู้สืบสันดาน คนใดของบุคคลนั้นถึงแก่ความตายหรือถูกกําจัดมิให้รับมรดกเช่นเดียวกัน ก็ให้ผู้สืบสันดานของผู้สืบสันดานนั้น รับมรดกแทนที่ และให้มีการรับมรดกแทนที่กันเฉพาะส่วนแบ่งของบุคคลเป็นราย ๆ สืบต่อกันเช่นนี้ไปจนหมดสาย”

มาตรา 1642 “การรับมรดกแทนที่กันนั้น ให้ใช้บังคับแต่ในระหว่างทายาทโดยธรรม”

มาตรา 1643 “สิทธิที่จะรับมรดกแทนที่กันนั้นได้เฉพาะแก่ผู้สืบสันดานโดยตรง ผู้บุพการี หามีสิทธิดังนั้นไม่

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ เมื่อนายขนุนถึงแก่ความตายโดยไม่ได้ทําพินัยกรรมไว้ มรดกทั้งหมด จํานวน 1 ล้าน 2 แสนบาท ย่อมตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมตามมาตรา 1620 วรรคหนึ่ง ซึ่งบุคคลที่มีสิทธิและ ไม่มีสิทธิได้รับมรดกของนายขนุน แยกพิจารณาได้ดังนี้ คือ

1 นายมะม่วง ซึ่งเป็นบิดาของนายขนุน เมื่อนายมะม่วงไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับ นางสาวมังคุด นายมะม่วงจึงมิใช่บิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายขนุน ดังนั้นนายมะม่วงจึงมิใช่ทายาทโดยธรรม ตามนัยของมาตรา 1629 (2) จึงไม่มีสิทธิรับมรดกของนายขนุน

2 นางสาวมังคุด เป็นมารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายขนุน ดังนั้น นางสาวมังคุด จึงเป็นทายาทโดยธรรมตามมาตรา 1629 (2) และมีสิทธิได้รับมรดกของนายขนุน

3 นางลิ้นจี่ เป็นภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายของนายขนุน จึงเป็นทายาทโดยธรรมใน ฐานะคู่สมรสตามมาตรา 1629 วรรคสอง นางลิ้นจี่จึงมีสิทธิรับมรดกของนายขนุน

4 นายมะพร้าว เป็นบุตรบุญธรรมที่ชอบด้วยกฎหมายของนายขนุนตามมาตรา 1598/25 และมาตรา 1598/27 โดยหลักแล้วย่อมมีสิทธิรับมรดกของนายขนุนในฐานะทายาทโดยธรรมตามมาตรา 1629 (1) ประกอบมาตรา 1627 แต่เมื่อปรากฏว่านายมะพร้าวได้ถึงแก่ความตายก่อนเจ้ามรดก นายมะพร้าวจึงไม่มีสิทธิ รับมรดกของนายขนุน เพราะไม่มีสภาพบุคคลในเวลาที่เจ้ามรดกตายตามมาตรา 1604 วรรคหนึ่ง

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า นายมะพร้าวมีผู้สืบสันดานโดยตรงคือ ด.ช.มะนาว ซึ่งเป็นบุตรนอกกฎหมายที่นายมะพร้าวบิดาได้รับรองโดยพฤติการณ์แล้ว เมื่อนายมะพร้าวถึงแก่ ความตายก่อนเจ้ามรดก ด.ช.มะนาวจึงมีสิทธิเข้ารับมรดกแทนที่นายมะพร้าวได้ตามมาตรา 1639, 1642 และ มาตรา 1643

5 นายฝรั่ง เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับนายขนุนเจ้ามรดก จึงเป็นทายาทโดยธรรม ตามมาตรา 1629 (3) แต่นายฝรั่งจะรับมรดกของนายขนุนไม่ได้ เพราะเจ้ามรดกมีทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิรับมรดก ตามมาตรา 1629 (1) และ (2) อยู่แล้ว ดังนั้น นายฝรั่งซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมในลําดับถัดลงไปจึงไม่มีสิทธิรับมรดก ตามมาตรา 1630 วรรคหนึ่ง และมีผลทําให้ ด.ช.ระกํา และ ด.ญ.สละ ไม่อาจรับมรดกแทนที่นายฝรั่งได้แม้ ด.ญ.สละ จะเป็นผู้สืบสันดานโดยตรงของนายฝรั่งก็ตาม

ดังนั้น มรดกจํานวน 1 ล้าน 2 แสนบาท ของนายขนุนจึงตกได้แก่ นางสาวมังคุดมารดา นางลิ้นจี่ ภริยา และ ด.ช.มะนาว ซึ่งเข้ารับมรดกแทนที่นายมะพร้าว โดยทั้งสามคนจะได้รับส่วนแบ่งมรดกเท่า ๆ กัน คือ คนละ 4 แสนบาท ตามมาตรา 1630 วรรคสอง , 1635 (1) และมาตรา 1633

สรุป

มรดกของนายขนุนจํานวน 1 ล้าน 2 แสนบาท ตกได้แก่ นางสาวมังคุด นางลิ้นจี่ และ ด.ช.มะนาว คนละ 4 แสนบาท

 

ข้อ 3 นายวิหคอยู่กินกับนางสมศรีโดยไม่จดทะเบียนสมรสมีบุตรด้วยกันคือ นายไกร นายเกรียง และนายกล ซึ่งนายวิหคได้ให้ใช้นามสกุล นายไกรจดทะเบียนสมรสกับนางมีนา มีบุตรคือ นายมกรา นายเกรียง จดทะเบียนรับนายกรุงมาเป็นบุตรบุญธรรม นายวิหคได้ทําพินัยกรรมยกเงินมรดกทั้งหมด 300,000 บาท ให้แก่นายกลแต่เพียงผู้เดียว ต่อมานายกลกลับถึงแก่ความตายก่อนนายวิหค หลังจากนั้นนายวิหคป่วยและถึงแก่ความตาย เมื่อนายวิหคตายปรากฏว่า นายไกรได้ปลอม พินัยกรรมของนายวิหคขึ้นทันทีโดยกําหนดให้ตนได้รับมรดกหนึ่งในสามส่วน อีกทั้งปรากฏว่า หลังจากนายวิหคตายนั้น นายเกรียงได้ทําหนังสือสละมรดกของนายวิหคและมอบหนังสือนั้นแก่ ผู้อํานวยการเขตบางกะปิ เช่นนี้จงพิจารณาแบ่งมรดกของนายวิหคที่มีเงินสดตามพินัยกรรม 300,000 บาทนั้น

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1598/27 “การรับบุตรบุญธรรมจะสมบูรณ์ต่อเมื่อได้จดทะเบียนตามกฎหมาย แต่ ถ้าผู้จะเป็นบุตรบุญธรรมนั้นเป็นผู้เยาว์ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมก่อน”

มาตรา 1604 วรรคหนึ่ง “บุคคลธรรมดาจะเป็นทายาทได้ก็ต่อเมื่อมีสภาพบุคคลหรือสามารถ มีสิทธิได้ตามมาตรา 15 แห่งประมวลกฎหมายนี้ในเวลาที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย”

มาตรา 1606 “บุคคลดังต่อไปนี้ต้องถูกกําจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควร คือ (5) ผู้ที่ปลอม ทําลาย หรือปิดบังพินัยกรรมแต่บางส่วนหรือทั้งหมด”

มาตรา 1607 “การถูกกําจัดมิให้รับมรดกนั้นเป็นการเฉพาะตัวผู้สืบสันดานของทายาทที่ถูก กําจัดสืบมรดกต่อไปเสมือนหนึ่งว่าทายาทนั้นตายแล้ว…”

มาตรา 1612 “การสละมรดกนั้น ต้องแสดงเจตนาชัดแจ้งเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือทําเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ”

มาตรา 1615 วรรคสอง “เมื่อทายาทโดยธรรมคนใดสละมรดก ผู้สืบสันดานของทายาท คนนั้นสืบมรดกได้ตามสิทธิของตน และชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากับส่วนแบ่งที่ผู้สละมรดกนั้นจะได้รับ แต่ ผู้สืบสันดานนั้นต้องไม่ใช่ผู้ที่บิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้อนุบาลแล้วแต่กรณี ได้บอกสละมรดกโดยสมบูรณ์ในนาม ของผู้สืบสันดานนั้น”

มาตรา 1627 “บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้น ให้ถือว่าเป็น ผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้”

มาตรา 1629 “ทายาทโดยธรรมมีหกลําดับเท่านั้น และภายใต้บังคับแห่งมาตรา 1630 วรรคสอง แต่ละลําดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้ คือ

(1) ผู้สืบสันดาน

คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา 1635”

มาตรา 1633 “ทายาทโดยธรรมในลําดับเดียวกันในลําดับหนึ่ง ๆ ที่ระบุไว้ในมาตรา 1629 นั้น ชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน ถ้าในลําดับหนึ่งมีทายาทโดยธรรมคนเดียว ทายาทโดยธรรมคนนั้นมีสิทธิได้รับ ส่วนแบ่งทั้งหมด”

มาตรา 1698 “ข้อกําหนดพินัยกรรมนั้น ย่อมตกไป

(1) เมื่อผู้รับพินัยกรรมตายก่อนผู้ทําพินัยกรรม”

มาตรา 1699 “ถ้าพินัยกรรม หรือข้อกําหนดในพินัยกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินรายใดเป็นอันไร้ผล ด้วยประการใด ๆ ทรัพย์สินรายนั้นตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมหรือได้แก่แผ่นดินแล้วแต่กรณี”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายวิหคได้ทําพินัยกรรมยกเงินมรดกทั้งหมด 300,000 บาท ให้แก่ นายกลนั้น เมื่อปรากฏว่า นายกลผู้รับพินัยกรรมตายก่อนนายวิหคผู้ทําพินัยกรรม ข้อกําหนดในพินัยกรรมนั้นย่อม ตกไป ดังนั้น จึงต้องนําเงินจํานวน 300,000 บาท ในส่วนนี้กลับคืนสู่กองมรดกเพื่อแบ่งปันให้แก่ทายาทโดยธรรม ของนายวิหคต่อไปตามมาตรา 1698 (1) และมาตรา 1699

ในส่วนของทายาทโดยธรรมนั้น บุตรทั้ง 3 คนของนายวิหค ได้แก่ นายไกร นายเกรียง และ นายกล ต่างก็เป็นบุตรนอกกฎหมายที่นายวิหคเจ้ามรดกได้รับรองโดยพฤติการณ์แล้ว ทั้ง 3 คน จึงเป็นทายาท โดยธรรมในฐานะผู้สืบสันดานตามมาตรา 1629 (1) ประกอบมาตรา 1627 แต่เมื่อปรากฏว่านายกลได้ถึงแก่ ความตายก่อนเจ้ามรดก นายกลจึงไม่มีสิทธิรับมรดกเพราะนายกสไมมีสภาพบุคคลในเวลาที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ตามมาตรา 1604 วรรคหนึ่ง ส่วนนางสมศรีเมื่อไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับนายวิหค จึงมิใช่ทายาทโดยธรรมใน ฐานะคู่สมรสตามมาตรา 1629 วรรคสอง จึงไม่มีสิทธิรับมรดกเช่นเดียวกัน ดังนั้น มรดกจํานวน 300,000 บาท ของนายวิหคจึงตกได้แก่ นายไกร และนายเกรียง คนละ 150,000 บาท ตามมาตรา 1633

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อปรากฏว่านายไกรได้ปลอมพินัยกรรมของนายวิหค ย่อมทําให้นายไกรถูก กําจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควรตามมาตรา 1606 (5) ซึ่งเป็นการถูกกําจัดมิให้รับมรดกภายหลังเจ้ามรดกตาย เมื่อนายไกรมีผู้สืบสันดานคือนายมกราซึ่งเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น นายมกราจึงมีสิทธิสืบมรดกของ นายวิหคเหมือนหนึ่งว่านายไกรนั้นตายแล้วตามมาตรา 1607 ดังนั้น นายมกราจึงได้รับมรดกของนายวิหค โดย การสืบมรดกของนายไกรจํานวน 150,000 บาท

ส่วนนายเกรียงนั้น เมื่อได้ทําการสละมรดกของนายวิหคโดยชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 1612 นายเกรียงจึงเสียสิทธิในการรับมรดก แต่เมื่อตามมาตรา 1615 วรรคสอง ได้กําหนดว่า เมื่อทายาทโดยธรรมคนใด สละมรดก ผู้สืบสันดานของทายาทคนนั้นสืบมรดกได้ตามสิทธิของตน ดังนั้น เมื่อปรากฏว่านายเกรียงมีผู้สืบสันดาน

คือ นายกรุงที่เป็นบุตรบุญธรรมที่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 1598/27 นายกรุงจึงได้รับมรดกของนายวิหค โดยการสืบมรดกในส่วนที่นายเกรียงจะได้รับคือ 150,000 บาท

สรุป

มรดกของนายวิหคตกได้แก่ นายมกรา และนายกรุงคนละ 150,000 บาท

 

ข้อ 4 นางพิณมีบุตร 3 คน คือ นายหนึ่ง นายสอง และนายสาม นายสามมีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย คือนางสร้อยมีบุตรด้วยกัน 1 คน คือ ด.ช.สิน นางพิณป่วยหนักรักษาตัวที่โรงพยาบาล นายหนึ่งเห็นว่า ตนเองเป็นบุตรชายคนโต นายหนึ่งจึงอยากเป็นผู้จัดการมรดกของนางพิณ นายหนึ่งได้ฉ้อฉลให้ นางพิณทําพินัยกรรมตั้งนายหนึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของนางพิณ ต่อมานางพิณเห็นว่านายสองดูแลตน ในระหว่างที่ป่วยแต่เพียงผู้เดียว นางพิณจึงทําพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกทั้งหมดของตนให้กับนายสอง หลังจากนั้นนางพิณถึงแก่ความตาย นางพิณมีทรัพย์มรดกทั้งสิ้น 300,000 บาท นายสองไม่อยาก รับมรดกของนางพิณแต่เพียงผู้เดียว นายสองจึงได้สละมรดกของนางพิณในฐานะผู้รับพินัยกรรม โดยทําเป็นหนังสือมอบไว้แก่ผู้อํานวยการเขตบางรัก ดังนี้ให้ท่านแบ่งมรดกของนางพิณ

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1606 “บุคคลดังต่อไปนี้ต้องถูกกําจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควร คือ

(4) ผู้ที่ฉ้อฉลหรือข่มขู่ให้เจ้ามรดกทํา หรือเพิกถอน หรือเปลี่ยนแปลงพินัยกรรมแต่บางส่วน หรือทั้งหมดซึ่งเกี่ยวกับทรัพย์มรดกหรือไม่ให้กระทําการดังกล่าวนั้น”

มาตรา 1612 “การสละมรดกนั้น ต้องแสดงเจตนาชัดแจ้งเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือทําเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ

มาตรา 1617 “ผู้รับพินัยกรรมคนใดสละมรดก ผู้นั้นรวมตลอดทั้งผู้สืบสันดานไม่มีสิทธิจะ รับมรดกที่ได้สละแล้วนั้น”

มาตรา 1618 “ถ้าทายาทโดยธรรมผู้ที่ได้สละมรดกไม่มีผู้สืบสันดานที่จะรับมรดกได้ หรือ ผู้รับพินัยกรรมได้สละมรดก ให้ปันส่วนเบ่งของผู้ที่ได้สละมรดกนั้น ๆ แก่ทายาทอื่นของเจ้ามรดกต่อไป”

มาตรา 1620 วรรคหนึ่ง “ถ้าผู้ใดตายโดยไม่ได้ทําพินัยกรรมไว้หรือทําพินัยกรรมไว้แต่ไม่มี ผลบังคับได้ให้ปันทรัพย์มรดกทั้งหมดแก่ทายาทโดยธรรมของผู้ตายนั้นตามกฎหมาย”

มาตรา 1629 “ทายาทโดยธรรมมีหกลําดับเท่านั้น และภายใต้บังคับแห่งมาตรา 1630 วรรคสอง แต่ละลําดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้ คือ

(1) ผู้สืบสันดาน

คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา 1635”

มาตรา 1633 “ทายาทโดยธรรมในลําดับเดียวกันในลําดับหนึ่ง ๆ ที่ระบุไว้ในมาตรา 1629 นั้น ชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน ถ้าในลําดับหนึ่งมีทายาทโดยธรรมคนเดียว ทายาทโดยธรรมคนนั้นมีสิทธิได้รับ ส่วนแบ่งทั้งหมด”

มาตรา 1698 “ข้อกําหนดพินัยกรรมนั้น ย่อมตกไป

(3) เมื่อผู้รับพินัยกรรมบอกสละพินัยกรรม”

มาตรา 1699 “ถ้าพินัยกรรม หรือข้อกําหนดในพินัยกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินรายใดเป็นอันไร้ผล ด้วยประการใด ๆ ทรัพย์สินรายนั้นตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมหรือได้แก่แผ่นดินแล้วแต่กรณี

วินิจฉัย

ตามอุทาหรณ์ เมื่อนางพิณเจ้ามรดกถึงแก่ความตายมีทรัพย์มรดกคือเงินจํานวน 300,000 บาท ซึ่งนางพิณได้ทําพินัยกรรมยกให้แก่นายสองเพียงผู้เดียวเท่านั้น โดยหลักแล้วเงินจํานวน 300,000 บาท ย่อมตกได้แก่ นายสองในฐานะผู้รับพินัยกรรม แต่อย่างไรก็ตามเมื่อนายสองได้ทําหนังสือสละมรดกของนางพิณในฐานะผู้รับ พินัยกรรมมอบไว้แก่ผู้อํานวยการเขตบางรัก ถือว่าเป็นการสละมรดกโดยชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 1612 ดังนั้น ข้อกําหนดในพินัยกรรมดังกล่าวจึงตกไป จึงต้องนําเงินมรดกทั้งหมดจํานวน 300,000 บาท ไปแบ่งปันให้แก่ ทายาทโดยธรรมของผู้ตายตามมาตรา 1698 (3), 1699 ประกอบมาตรา 1620 วรรคหนึ่ง โดย ด.ช.สินในฐานะ ผู้สืบสันดานของนายสองไม่มีสิทธิที่จะรับมรดกที่นายสองได้สละแล้วนั้นตามมาตรา 1617

สําหรับทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิรับมรดกของนางพิณ ได้แก่ นายหนึ่ง นายสอง และนายสาม ในฐานะผู้สืบสันดานตามมาตรา 1629 (1) ประกอบมาตรา 1618 โดยนายสองแม้จะสละมรดกในฐานะผู้รับพินัยกรรม แต่ก็ยังคงมีสิทธิได้รับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรมอยู่ และเมื่อทั้ง 3 คน เป็นทายาทโดยธรรมในลําดับเดียวกัน จึงมีสิทธิได้รับมรดกในส่วนแบ่งเท่า ๆ กัน คือ คนละ 100,000 บาท ตามมาตรา 1633

ส่วนการที่นายหนึ่งได้ฉ้อฉลให้นางพิณทําพินัยกรรมตั้งนายหนึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของนางพิณนั้น นายหนึ่งไม่ได้ฉ้อฉลให้นางพิณทําพินัยกรรมซึ่งเกี่ยวกับทรัพย์มรดกแต่อย่างใด ดังนั้น นายหนึ่งจึงไม่ถูกกําจัดมิให้ รับมรดกตามมาตรา 1606 (4) นายหนึ่งจึงยังมีสิทธิในการรับมรดกของนางพิณ

สรุป มรดกของนางพิณจํานวน 300,000 บาท ตกได้แก่นายหนึ่ง นายสอง และนายสาม คนละ 100,000 บาท

Advertisement