การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2551
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW3009 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยมรดก
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1 นายดำกับนางแดงเป็นสามีภริยากันโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส บุตรชายคนหนึ่ง คือ นายเอ โดยนายดำได้เลี้ยงดูนายเอเป็นอย่างดี และให้ใช้นามสกุลของตน พร้อมกับส่งเสียให้ได้เรียนหนังสือจนกลายเป็นนักเขียนนามปากกาทอง นายเอมีนางบีเป็นภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย มีบุตรหนึ่งคนคือ เด็กหญิงเค นายเอได้ไปทำสัญญาเช่าบ้านของนายเขียวอยู่อาศัย โดยการเช่าได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นเวลา 3 ปี และได้นำครอบครัวไปอาศัยอยู่ด้วย เนื่องจากนายเอเป็นนักเขียน จึงได้มีสำนักพิมพ์ดอกท้อ มาติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์นวนิยาย เรื่อง สะใภ้ผู้ดีจากนายเอ โดยสำนักพิมพ์ดอกท้อตกลงให้ค่าตอบแทนปีละ 6 หมื่นบาท ต่อมานายเอตายลงเพราะตรากตรำทำงานหนักเกินไป
จงวินิจฉัยว่า สิทธิตามสัญญาเช่าบ้านและสิทธิในลิขสิทธิ์ของนายเอจะเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทอย่างไรหรือไม่ ถ้าเป็นมรดก ทายาทแต่ละคนจะได้รับส่วนแบ่งหรือได้รับสิทธิอย่างไรบ้าง โดยใช้หลักกฎหมายประกอบการวินิจฉัย
ธงคำตอบ
มาตรา 138 ทรัพย์สิน หมายความรวมทั้งทรัพย์ และวัตถุไม่มีรูปร่างซึ่งอาจมีราคาและอาจถือเอาได้
มาตรา 1546 เด็กเกิดจากหญิงที่มิได้มีการสมรสกับชาย ให้ถือว่าเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของหญิงนั้น เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น
มาตรา 1599 เมื่อบุคคลใดตาย มรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่ทายาท ทายาทอาจเสียไปซึ่งสิทธิในมรดกได้แต่โดยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น
มาตรา 1600 ภายใต้บังคับของบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ กองมรดกของผู้ตายได้แก่ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่างๆ เว้นแต่ตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้วเป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้
มาตรา 1629 ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น และภายใต้บังคับแห่งมาตรา 1630 วรรคสอง แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้ คือ
(1) ผู้สืบสันดาน
(2) บิดามารดา
คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา 1635
มาตรา 1630 ตราบใดที่ทายาทซึ่งยังมีชีวิตอยู่ หรือมีผู้รับมรดกแทนที่ยังไม่ขาดสายแล้วแต่กรณีในลำดับหนึ่งๆ ที่ระบุไว้ในมาตรา 1629 ทายาทที่อยู่ในลำดับถัดลงไปไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายเลย
แต่ความในวรรคก่อนนี้มิให้ใช้บังคับในกรณีเฉพาะที่มีผู้สืบสันดานคนใดยังมีชีวิตอยู่หรือมีผู้รับมรดกแทนที่กันแล้วแต่กรณี และมีบิดามารดายังมีชีวิตอยู่ ในกรณีเช่นนั้นให้บิดามารดาได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าเป็นทายาทชั้นบุตร
มาตรา 1633 ทายาทโดยธรรมในลำดับเดียวกันในลำดับหนึ่งๆ ที่ระบุไว้ในมาตรา 1629 นั้น ชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน ถ้าในลำดับหนึ่งมีทายาทโดยธรรมคนเดียว ทายาทโดนธรรมคนนั้นมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งทั้งหมด
มาตรา 1635 ถ้าลำดับและส่วนแบ่งของคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ในการรับมรดกของผู้ตายนั้น ให้เป็นไปดังต่อไปนี้
(1) ถ้ามีทายาทตามมาตรา 1629(1) ซึ่งมีชีวิตอยู่หรือมีผู้รับมรดกแทนที่แล้วแต่กรณี คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นมีสิทธิได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าตนเป็นทายาทชั้นบุตร
วินิจฉัย
เมื่อเจ้ามรดกตายลง มรดกที่จะตกแก่ทายาท ตามมาตรา 1600 ได้แก่ทรัพย์สิน สิทธิ หน้าที่ และความรับผิดต่างๆ ซึ่งมิใช่เป็นการเฉพาะตัวโดยสภาพหรือโดยกฎหมาย สิทธิตามสัญญาเช่าบ้านของนายเอ ซึ่งเป็นผู้เช่านั้น ตามกฎหมายถือเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้เช่า ตามมาตรา 544 สิทธิตามสัญญาเช่าย่อมเป็นอันสิ้นสุดลงเมื่อผู้เช่าตาย ไม่เป็นมรดกที่จะตกทอดแก่ทายาท (ฎ. 1008/2537)
ส่วนสิทธิในลิขสิทธิ์ ได้ค่าตอบแทนปีละ 6 หมื่นบาท ถือว่าเป็นสิทธิในทรัพย์สินอย่างหนึ่งทั้งกฎหมายก็บัญญัติให้สิทธิดังกล่าวนี้โอนให้แก่กันได้โดยทางมรดกไม่เป็นการเฉพาะตัว จึงถือเป็นมรดก ตามนัยบทบัญญัติมาตรา 1600 ประกอบมาตรา 138 ตกทอดแก่ทายาทของนายเอ ตามมาตรา 1599 ดังนี้คือ
1 เด็กหญิงเค ซึ่งเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายเอ มีฐานะเป็นผู้สืบสันดาน ตามมาตรา 1629(1) จึงมีสิทธิรับมรดก
2 นางแดงเป็นมารดาที่ชอบด้วยกฎหมายของนายเอ เพราะมารดาย่อมเป็นมารดาที่ชอบด้วยกฎหมายของบุตรเสมอ ตามมาตรา 1546 จึงมีฐานะเป็นทายาทโดยธรรม ตามมาตรา 1629(2) แม้นางแดงจะเป็นทายาทในลำดับถัดลงไป แต่ทางกฎหมายก็บัญญัติให้บิดามารดาที่ยังมีชีวิตอยู่มีสิทธิรับมรดกโดยได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าเป็นทายาทชั้นบุตร ตามมาตรา 1630 วรรคสอง
ส่วนนายดำเป็นบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของนายเอ เพราะนายดำกับนางแดงมิได้จดทะเบียนสมรสกัน จึงไม่มีฐานะเป็นทายาทโดยธรรม ตามมาตรา 1629(2) แม้นายดำจะรับรองว่านายเอเป็นบุตรโดยพฤติการณ์ด้วยการเลี้ยงดูเป็นอย่างดี ให้ใช้นามสกุลและส่งเสียให้ได้เรียนหนังสือ ตามมาตรา 1627 แต่ผลของการรับรองดังกล่าว กฎหมายเพียงแต่บัญญัติให้บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองถือเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย มีสิทธิรับมรดกของบิดาเท่านั้น หาได้บัญญัติให้ถือว่าบิดาที่รับรองนั้นเป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายไม่ (ฎ. 525/2510) นายดำจึงไม่มีสิทธิรับมรดกของนายเอ
3 นางบี ซึ่งเป็นภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย มีสิทธิรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรมที่เป็นคู่สมรส ตามมาตรา 1629 วรรคท้าย โดยมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าเป็นทายาทชั้นบุตร ตามมาตรา 1635(1)
ดังนั้น สิทธิในลิบสิทธิ์ได้ค่าตอบแทนปีละ 6 หมื่นบาท เป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมทั้ง 3 คน คือเด็กหญิงเค นางแดง และนางบี โดยได้รับคนละ 2 หมื่นบาทต่อปี ตามมาตรา 1633 ส่วนสิทธิตามสัญญาเช่าบ้านไม่เป็นมรดก
สรุป สิทธิในลิขสิทธิ์เป็นมรดก และเด็กหญิงเค นางแดง และนางบี มีสิทธิได้รับมรดกคนละ 2 หมื่นบาทต่อปี ส่วนสิทธิตามสัญญาเช่าบ้านไม่เป็นมรดก
ข้อ 2 เอกกับโทเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย มีบุตรด้วยกัน 3 คน คือ หนึ่ง สอง และสาม ต่อมาเอกกับโทเดินทางไปต่างจังหวัดประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตลงทั้งคู่ ตรีซึ่งเป็นน้องสาวของโทและเป็นน้าจึงได้นำสามไปเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรมโดยชอบด้วยกฎหมาย หนึ่งไปบวชเป็นสามเณรอยู่วัดท่าเตียนก่อนบวชหนึ่งได้เช่าซื้อรถยนต์ไว้ 1 คัน ราคา 5 แสนบาท กับบริษัทโตโยต้า สาขาบางเขน โดยชำระราคาค่าเช่าซื้อครบถ้วนแล้ว แต่ยังไม่ได้จดทะเบียนโอนเนื่องจากไม่มีเวลา หลังจากบวชแล้วจึงได้ไปจดทะเบียนโอนใส่ชื่อตน ต่อมามีญาติโยมนำเงินมาถวายอีก 1 แสนบาท พออายุได้ 25 ปี สามเณรหนึ่งจึงได้ขออุปสมบทเป็นพระภิกษุและจำพรรษาอยู่วัดนี้เรื่อยมา และมีญาติโยมศรัทธาถวายสิ่งของหลายอย่างได้แก่ โทรทัศน์สี 1 เครื่อง ราคา 5 หมื่นบาท โทรศัพท์มือถือ 1 เครื่อง ราคา 2 หมื่นบาท เงินสดอีกจำนวน 5 หมื่นบาท ซึ่งทรัพย์สินทุกอย่างพระหนึ่งได้นำมาเก็บรวบรวมไว้ที่วัดท่าเตียนทั้งหมด ต่อมาพระหนึ่งได้มรณภาพลงด้วยโรคหัวใจวายเฉียบพลัน โดยไม่ได้ทำพินัยกรรมใดๆไว้เลย จงวินิจฉัยว่า ทรัพย์สินของพระหนึ่งจะตกทอดแก่ใครบ้าง
ธงคำตอบ
มาตรา 1598/28 บุตรบุญธรรมย่อมมีฐานะอย่างเดียวกับบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้รับบุตรบุญธรรมนั้น แต่ไม่สูญสิทธิและหน้าที่ในครอบครัวที่ได้กำเนิดมา ในกรณีเช่นนี้ ให้บิดามารดาโดยกำเนิดหมดอำนาจปกครองนับแต่วันเวลาที่เด็กเป็นบุตรบุญธรรมแล้ว
ในนำบทบัญญัติในลักษณะ 2 หมวด 2 แห่งบรรพนี้มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา 1623 ทรัพย์สินของพระภิกษุที่ได้มาในระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศนั้น เมื่อพระภิกษุนั้นถึงแก่มรณภาพให้ตกเป็นสมบัติของวัดที่เป็นภูมิลำเนาของพระภิกษุนั้น เว้นไว้แต่พระภิกษุนั้นจะได้จำหน่ายไปในระหว่างชีวิตหรือโดยพินัยกรรม
มาตรา 1624 ทรัพย์สินใดเป็นของบุคคลก่อนอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ทรัพย์สินนั้นหาตกเป็นสมบัติของวัดไม่ และให้เป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมของบุคคลนั้น หรือบุคคลนั้นจะจำหน่ายโดยประการใดตามกฎหมายก็ได้
มาตรา 1629 ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น และภายใต้บังคับแห่งมาตรา 1630 วรรคสอง แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้ คือ
(3) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
(4) ลุง ป้า น้า อา
มาตรา 1630 วรรคแรก ตราบใดที่ทายาทซึ่งยังมีชีวิตอยู่หรือมีผู้รับมรดกแทนที่ยังไม่ขาดสายแล้วแต่กรณีในลำดับหนึ่งๆ ที่ระบุไว้ในมาตรา 1629 ทายาทผู้ที่อยู่ในลำดับถัดลงไปไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายเลย
มาตรา 1633 ทายาทโดยธรรมในลำดับเดียวกันในลำดับหนึ่งๆ ที่ระบุไว้ในมาตรา 1629 นั้น ชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน ถ้าในลำดับหนึ่งมีทายาทโดยธรรมคนเดียวทายาทโดยธรรมคนนั้นมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งทั้งหมด
วินิจฉัย
ในขณะมรณภาพ พระภิกษุหนึ่งเจ้ามรดกมีน้องชาย 2 คน และน้า 1 คน ทั้งหมดถือว่าเป็นทายาทโดยธรรมของพระภิกษุหนึ่ง ตามมาตรา 1629(3) และ (6) สามนั้นแม้ตรีซึ่งเป็นน้าจะนำไปเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรมโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว แต่ก็ไม่สูญสิทธิและหน้าที่ในครอบครัวที่ได้กำเนิดมา ตามมาตรา 1598/28 จึงมีสิทธิรับมรดกได้ กรณีนี้เฉพาะสองและสามซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมในลำดับที่ 3 ตามมาตรา 1629(3) เท่านั้นที่มีสิทธิรับมรดกของพระภิกษุหนึ่ง เพราะเป็นทายาทในลำดับก่อน ส่วนตรีซึ่งเป็นน้าสาว เป็นทายาทในลำดับถัดลงไป ไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของพระภิกษุหนึ่งเลย ตามมาตรา 1630 วรรคแรก
สำหรับในเรื่องมรดกของพระภิกษุ จากบทบัญญัติตามมาตรา 1624 ที่กำหนดว่า “ทรัพย์สินใดเป็นของบุคคลก่อนอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ทรัพย์สินนั้นหาตกเป็นสมบัติวัดไม่…”เห็นว่า “พรภิกษุ” ตามนัยของบทบัญญัติใน ป.พ.พ. ได้แก่พระภิกษุที่ได้อุปสมบทในพระพุทธศาสนาเท่านั้น ไม่หมายความรวมถึงสามเณร แม่ชี นักพรต หรือนักบวชในศาสนาอื่นด้วย
ดังนั้น แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่า ก่อนบวชหนึ่งได้เช่าซื้อรถยนต์ไว้ 1 คัน ราคา 5 แสนบาท โดยชำระเงินครบถ้วนแล้ว แม้จะได้โอนใส่ชื่อทางทะเบียนในขณะที่บวชเป็นสามเณรก็ตาม ก็ถือว่าเป็นทรัพย์สินที่ได้มาก่อนอุปสมบทเป็นพระภิกษุ รวมทั้งเงินสด 1 แสนบาทที่มีผู้นำมาถวายในขณะนั้นด้วย จึงตกทอดเป็นมรดกแก่สองและสาม ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของพระภิกษุหนึ่ง ตามมาตรา 1624 ประกอบมาตรา 1629(3) ซึ่งทั้งสองคนมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งเท่าๆกัน ตามมาตรา 1633
ส่วนโทรทัศน์สี โทรศัพท์มือถือ และเงินสดอีก 5 หมื่นบาท ซึ่งญาติโยมนำมาถวายให้แก่พระภิกษุหนึ่งในขณะที่อุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้ว เป็นทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างอุปสมบท จึงต้องตกเป็นสมบัติของวัดท่าเตียน ซึ่งถือว่าเป็นวัดที่เป็นภูมิลำเนาของพระภิกษุหนึ่งในขณะที่ถึงแก่มรณภาพ เพราะไม่ได้มีการจำหน่ายไปในระหว่างที่มีชีวิตอยู่ ตามมาตรา 1623
สรุป รถยนต์ราคา 5 แสนบาทและเงินสด 1 แสนบาท ตกทอดแก่สองและสาม คนละเท่าๆกัน คือคนละ 3 แสนบาท ส่วนโทรทัศน์สี โทรศัพท์มือถือ และเงินสดอีก 5 หมื่นบาทที่ได้มาขณะอุปสมบทเป็นพระภิกษุตกเป็นสมบัติของวัดท่าเตียน
ข้อ 3 นายเก่งรับนายหนึ่งมาเป็นบุตรบุญธรรมโดยชอบด้วยกฎหมาย ในขณะที่เขาเองก็ยังมีบุตรสาวที่ชอบด้วยกฎหมายอยู่ 2 คน คือ น.ส.เอ และ น.ส.บี แต่ทั้งสองมีคนมีความประพฤติไม่ดี และชอบเที่ยวเตร่กลางคืนโดยไม่ยอมฟังคำว่ากล่าวตักเตือนจากบิดา นายเก่งจึงได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกทั้งหมดของตนจำนวน 3 ล้านบาทให้แก่นายหนึ่งแต่เพียงผู้เดียว นายหนึ่งมีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายคือนายสอง มีบุตรด้วยกัน 1 คน คือ ด.ญ.จอย ต่อมานายเก่งป่วยเป็นโรคหัวใจวายตาย หลังจากนายเก่งตายลง นายหนึ่งเสียใจมากและไม่อยากรับมรดกแต่เพียงคนเดียว เขาจึงได้สละมรดกตามพินัยกรรมโดยทำเป็นหนังสือและมอบไว้กับผู้อำนวยการเขตพระโขนง กรุงเทพฯ จงวินิจฉัยว่ามรดกของนายเก่งจำนวน 3 ล้านบาท จะตกทอดแก่ใครบ้าง
ธงคำตอบ
มาตรา 1608 เจ้ามรดกจะตัดทายาทโดยธรรมของตนคนใดมิให้รับมรดกก็ได้แต่ด้วยแสดงเจตนาชัดแจ้ง
(1) โดยพินัยกรรม
แต่เมื่อบุคคลใดได้ทำพินัยกรรมจำหน่ายทรัพย์มรดกเสียทั้งหมดแล้ว ให้ถือว่าบรรดาทายาทโดยธรรมผู้ที่มิได้รับประโยชน์จากพินัยกรรมเป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดก
มาตรา 1612 การสละมรดกนั้น ต้องแสดงเจตนาชัดแจ้งเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่หรือทำเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ
มาตรา 1615 วรรคแรก การที่ทายาทสละมรดกนั้น มีผลย้อนหลังไปถึงเวลาที่เจ้ามรดก
มาตรา 1617 ผู้รับพินัยกรรมคนใดสละมรดก ผู้นั้นรวมตลอดทั้งผู้สืบสันดานไม่มีสิทธิจะรับมรดกที่ได้สละแล้วนั้น
มาตรา 1618 ถ้าทายาทโดยธรรมผู้ที่ได้สละมรดกไม่มีผู้สืบสันดานที่จะรับมรดกได้ หรือผู้รับพินัยกรรมได้สละมรดก ให้ปันส่วนแบ่งของผู้ที่ได้สละมรดกนั้นๆ แก่ทายาทอื่นของเจ้ามรดกต่อไป
มาตรา 1620 วรรคแรก ถ้าผู้ใดตายโดยไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้หรือทำพินัยกรรมไว้ แต่ไม่มีผลบังคับได้ ให้ปันทรัพย์มรดกทั้งหมดแก่ทายาทโดยธรรมของผู้ตายนั้นตามกฎหมาย
มาตรา 1627 บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้น ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้
มาตรา 1629 ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น และภายใต้บังคับแห่งมาตรา 1630 วรรคสอง แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้ คือ
(1) ผู้สืบสันดาน
มาตรา 1633 ทายาทโดยธรรมในลำดับเดียวกันในลำดับหนึ่งๆ ที่ระบุไว้ในมาตรา 1629 นั้น ชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน ถ้าในลำดับหนึ่งมีทายาทโดยธรรมคนเดียว ทายาทโดนธรรมคนนั้นมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งทั้งหมด
มาตรา 1698 ข้อกำหนดพินัยกรรมนั้น ย่อมตกไป
(3) เมื่อผู้รับพินัยกรรมบอกสละพินัยกรรม
มาตรา 1699 ถ้าพินัยกรรม หรือข้อกำหนดในพินัยกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินรายใดเป็นอันไร้ผลด้วยประการใดๆ ทรัพย์สินรายนั้นตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมหรือได้แก่แผ่นดินแล้วแต่กรณี
วินิจฉัย
นายเก่งเจ้ามรดกตายลง โดยได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้แก่นายหนึ่งแต่เพียงผู้เดียว ย่อมถือว่า น.ส.เอ และ น.ส.บี ถูกตัดมิให้รับมรดกโดยปริยาย ตามมาตรา 1608 วรรคสอง แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านายหนึ่งได้สละมรดกตามพินัยกรรมหลังเจ้ามรดกตาย โดยทำเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา 1612 จึงเป็นการสละมรดกโดยชอบด้วยกฎหมาย ด.ญ.จอย แม้จะเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของนายหนึ่งอันถือว่าเป็นผู้สืบสันดานก็จะเข้าสืบมรดกที่นายหนึ่งได้สละแล้วไม่ได้ตามมาตรา 1617
อนึ่งการสละมรดกของนายหนึ่งกรณีนี้เป็นเหตุให้ข้อกำหนดในพินัยกรรมตกไปและทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมนั้นกลับคืนสู่กองมรดกเพื่อแบ่งปันให้แก่ทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดกต่อไป ตามมาตรา 1698(3) มาตรา 1699 มาตรา 1620 วรรคแรก และมาตรา 1615 วรรคแรก ประกอบมาตรา 1618 ดังนั้น ทรัพย์ตามพินัยกรรมจำนวน 3 ล้านบาท จึงต้องแบ่งแก่ทายาทโดยธรรมของนายเก่งต่อไป
น.ส.เอ และ น.ส.บี แม้จะถูกตัดมิให้รับมรดกโดยปริยายตามพินัยกรรม แต่เมื่อพินัยกรรมตกเป็นอันไร้ผล เนื่องจากผู้รับพินัยกรรมบอกสละพินัยกรรม ตามมาตรา 1698(3) ทั้งสองคนจึงยังมีสิทธิรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรมอยู่
ส่วนนายหนึ่ง แม้จะได้สละมรดกในฐานะผู้รับพินัยกรรม แต่ก็ยังมีสิทธิรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรมได้ ตามมาตรา 1629(1) ประกอบมาตรา 1627
สำหรับนางสองนั้นเป็นบุตรสะใภ้ของนายหนึ่ง มิใช่ทายาทโดยธรรมตามกฎหมายของนายหนึ่งตามบทบัญญัติมาตรา 1629 จึงไม่มีสิทธิรับมรดกใดๆเลย
ดังนั้น มรดกของนายเก่งจำนวน 3 ล้านบาท จึงตกทอดแก่ทายาทโดยธรรม คือนายหนึ่ง น.ส.เอ และ น.ส.บี คนละ 1 ล้านบาท ตามมาตรา 1629(1) และมาตรา 1633
สรุป มรดกของนายเก่งจำนวน 3 ล้านบาท ตกทอดได้แก่ นายหนึ่ง น.ส.เอ และ น.ส.บี คนละ 1 ล้านบาท ตามมาตรา 1629(1) และมาตรา 1633
ข้อ 4 นายหนึ่งและนายสองเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของนายเอและนางบี ทั้งคู่ไม่มีบุตรสาวจึงได้ไปขอนางสาวดีมาเป็นบุตรบุญธรรมโดยชอบด้วยกฎหมาย นางสาวดีมีสามีที่อยู่กินกันโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสมีบุตรสาวชื่อเด็กหญิงทอง นายหนึ่งทำตัวเป็นนักเลงการพนันและชอบเที่ยวเตร่ไม่รู้จักทำมาหากินจนนายเอบิดาไม่พอใจ เขาจึงได้ทำพินัยกรรมตัดนายหนึ่งมิให้รับมรดกใดๆของตนทั้งสิ้น พอนางบีมารดาทราบจึงได้ว่ากล่าวตักเตือนให้นายหนึ่งเลิกพฤติกรรมต่างๆที่ไม่ดีเสีย ต่อมานายหนึ่งก็ประพฤติตนเป็นคนดี นายเอจึงได้ทำหนังสือถอนการตัดนายหนึ่งมิให้รับมรดกของตน มอบไว้แก่ผู้อำนวยการเขตจตุจักร กรุงเทพฯ หลังจากนั้นไม่นานนางสาวดีก็ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตนายเอเสียใจมากจึงล้มป่วยลงเป็นโรคหัวใจวายตายในเวลาต่อมา นายเอตายลงมีเงินสดฝากอยู่ในธนาคาร 120,000 บาท (หนึ่งแสนสองหมื่นบาท) จงวินิจฉัยว่า มรดกของนายเอจะตกทอดแก่ใครบ้าง
ธงคำตอบ
มาตรา 1608 เจ้ามรดกจะตัดทายาทโดยธรรมของตนคนใดมิให้รับมรดกก็ได้แต่ด้วยแสดงเจตนาชัดแจ้ง
(1) โดยพินัยกรรม
มาตรา 1609 การแสดงเจตนาตัดมิให้รับมรดกนั้นจะถอนเสียก็ได้ ถ้าการตัดมิให้รับมรดกนั้นได้ทำโดยพินัยกรรม จะถอนเสียก็ได้ก็แต่โดยพินัยกรรมเท่านั้น แต่ถ้าการตัดมิให้รับมรดกได้ทำเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ การถอนการตัดจะทำโดยพินัยกรรมหรือโดยทำเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ก็ได้
มาตรา 1627 บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้น ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้
มาตรา 1629 ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น และภายใต้บังคับแห่งมาตรา 1630 วรรคสอง แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้ คือ
(1) ผู้สืบสันดาน
คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา 1635
มาตรา 1630 วรรคสอง แต่ความในวรรคก่อนนี้มิให้ใช้บังคับในกรณีเฉพาะที่มีผู้สืบสันดานคนใดยังมีชีวิตอยู่หรือมีผู้รับมรดกแทนที่กันแล้วแต่กรณี และมีบิดามารดายังมีชีวิตอยู่ ในกรณีเช่นนั้นให้บิดามารดาได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าเป็นทายาทชั้นบุตร
มาตรา 1633 ทายาทโดยธรรมในลำดับเดียวกันในลำดับหนึ่งๆ ที่ระบุไว้ในมาตรา 1629 นั้น ชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน ถ้าในลำดับหนึ่งมีทายาทโดยธรรมคนเดียว ทายาทโดนธรรมคนนั้นมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งทั้งหมด
มาตรา 1635 ถ้าลำดับและส่วนแบ่งของคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ในการรับมรดกของผู้ตายนั้น ให้เป็นไปดังต่อไปนี้
(1) ถ้ามีทายาทตามมาตรา 1629(1) ซึ่งมีชีวิตอยู่หรือมีผู้รับมรดกแทนที่แล้วแต่กรณี คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นมีสิทธิได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าตนเป็นทายาทชั้นบุตร
มาตรา 1639 ถ้าบุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตามมาตรา 1629 (1) (3) (4) หรือ (6) ถึงแก่ความตาย หรือถูกจำกัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย ถ้าบุคคลนั้นมีผู้สืบสันดานก็ให้ผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่ ถ้าผู้สืบสันดานคนใดของบุคคลนั้นถึงแก่ความตายหรือถูกกำจัดมิให้รับมรดกเช่นเดียวกัน ก็ให้ผู้สืบสันดานของผู้สืบสันดานนั้นรับมรดกแทนที่ และให้มีการรับมรดกแทนที่กันเฉพาะส่วนแบ่งของบุคคลเป็นรายๆสืบต่อกันเช่นนี้ไปจนหมดสาย
มาตรา 1642 การรับมรดกแทนที่กันนั้นให้ใช้บังคับแต่ในระหว่างทายาทโดยธรรม
มาตรา 1643 สิทธิที่จะรับมรดกแทนที่กันนั้นได้เฉพาะแก่ผู้สืบสันดานโดยตรง ผู้บุพการีหามีสิทธิดังนั้นไม่
วินิจฉัย
นายเอตายลงโดยไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ เงินสดที่ฝากอยู่ในธนาคารจำนวน 120,000 บาท ย่อมเป็นมรดกตามมาตรา 1600 โดยหลักแล้วย่อมตกทอดแก่ทายาทโดยธรรม ตามมาตรา 1599 ซึ่งได้แก่
1 นายหนึ่ง และนายสอง ซึ่งเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายในฐานะผู้สืบสันดาน ตามมาตรา 1629(1)
2 นางสาวดีบุตรบุญธรรม ในฐานะผู้สืบสันดานตามมาตรา 1629(1) ประกอบมาตรา 1627
3 นางบีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา 1629 วรรคท้าย
แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายเอได้ทำพินัยกรรมตัดนายหนึ่งมิให้รับมรดกใดๆ ของตนทั้งสิ้นโดยทำเป็นพินัยกรรมนั้น จึงทำให้นายหนึ่งถูกตัดมิให้รับมรดกโดยชัดแจ้ง ตามมาตรา 1608(1) แม้ต่อมานายเอจะถอนการตัดนายหนึ่งมิให้รับมรดก โดยทำเป็นหนังสือมอบไว้แก่ผู้อำนวยการเขตจตุจักร กรุงเทพฯ นั้นก็ไม่มีผลตามกฎหมาย เพราะว่าถ้าเจ้ามรดกตัดทายาทโดยธรรมของตนคนใดมิให้รับมรดกโดยพินัยกรรม การถอนการตัดดังกล่าวจะต้องถอนโดยพินัยกรรมเท่านั้น จะถอนโดยการทำเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ไม่ได้ ทั้งนี้ตามบทบัญญัติมาตรา 1609 ดังนั้นนายหนึ่งจึงยังคงเป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดกของนายเออยู่เช่นเดิม
ส่วนนางสาวดีนั้นได้ถึงแก่ความตายก่อนนายเอเจ้ามรดก ย่อมไม่อาจรับมรดกของนายเอได้ (มาตรา 1604) แต่เมื่อนางสาวดีเป็นทายาทโดยธรรมในลำดับที่ 1 ตามมาตรา 1629(1) และมี ด.ญ.ทอง เป็นผู้สืบสันดานที่สืบสายโลหิตโดยตรง ดังนั้น ด.ญ.ทอง ผู้สืบสันดานโดยตรงของนางสาวดีจึงมีสิทธิรับมรดกแทนที่นางสาวดีมารดาได้ตามมาตรา 1639 และมาตรา 1642 ประกอบมาตรา 1643
ดังนั้น มรดกของนายเอจำนวน 120,000 บาท จึงตกทอดแก่นายสอง ด.ญ.ทอง และนางบี คนละส่วนเท่าๆกัน โดยได้รับส่วนแบ่งคนละ 40,000 บาท ตามมาตรา 1629 และมาตรา 1633 ประกอบมาตรา 1635(1)
สรุป มรดกของนายเอตกทอดแก่นายสอง ด.ญ.ทอง และนางบี คนละ 40,000 บาท