การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2550

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW3009 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยมรดก

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  นายหนึ่งและนางสองอยู่กินกันฉันสามีภริยาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส  มีบุตรชายสองคนคือ  นายสามและนายสี่  โดยบุตรชายทั้งสองคนได้ใช้นามสกุลของนายหนึ่งบิดา  นายหนึ่งรู้สึกเบื่อหน่ายต่อชีวิตในทางโลกจึงได้ออกบวชเป็นพระภิกษุ  และจำพรราอยู่ที่วัดดอนหวาย  ก่อนบวชนายหนึ่งมีเงินสดในธนาคารอยู่สองแสนบาท  ในระหว่างบวชเป็นพระภิกษุพระหนึ่งได้รับบริจาคเงินที่ญาติโยมนำมาถวายเป็นเงินสด  2  ล้านบาท  และพระพุทธรูปทองคำ  1  องค์  ราคา  3  แสนบาท  ขณะบวชอยู่พระหนึ่งได้นำเงิน  2  ล้านบาทไปซื้อที่ดินไว้  1  แปลงที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  และต่อมาได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินดังกล่าวให้แก่นางสองภริยา  ต่อมาพระภิกษุหนึ่งถึงแก่มรณภาพ  จงวินิจฉัยว่ามรดกของพระหนึ่งจะตกทอดแก่ใครบ้าง

ธงคำตอบ

มาตรา  1623  ทรัพย์สินของพระภิกษุที่ได้มาในระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศนั้น  เมื่อพระภิกษุนั้นถึงแก่มรณภาพ  ให้ตกเป็นสมบัติของวัดที่เป็นภูมิลำเนาของพระภิกษุนั้น  เว้นไว้แต่พระภิกษุนั้นจะได้จำหน่ายไปในระหว่างชีวิตหรือโดยพินัยกรรม

มาตรา  1624 ทรัพย์สินใดเป็นของบุคคลก่อนอุปสมบทเป็นพระภิกษุ  ทรัพย์สินนั้นหาตกเป็นสมบัติของวัดไม่  และให้เป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมของบุคคลนั้น  หรือบุคคลนั้นจะจำหน่ายโดยประการใดตามกฎหมายก็ได้

มาตรา  1627  บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้น  ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้

มาตรา 1629  ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น  และภายใต้บังคับแห่งมาตรา  1630  วรรคสอง  แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้  คือ

(1) ผู้สืบสันดาน

คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม  ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา  1635

มาตรา  1633  ทายาทโดยธรรมในลำดับเดียวกันในลำดับหนึ่งๆ  ที่ระบุไว้ในมาตรา  1629  นั้น  ชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน  ถ้าในลำดับหนึ่งมีทายาทโดยธรรมคนเดียว  ทายาทโดนธรรมคนนั้นมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งทั้งหมด

มาตรา  1646  บุคคลใดจะแสดงเจตนาโดยพินัยกรรมกำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตนเอง  หรือในการต่างๆอันจะให้เกิดเป็นผลบังคับได้ตามกฎหมายเมื่อตนตายก็ได้

วินิจฉัย

ในกรณีที่พระภิกษุเป็นเจ้ามรดก  มีประเด็นที่ต้องพิจารณาเกี่ยวกับทรัพย์สินของพระภิกษุตามกฎหมาย  ดังนี้

1       ถ้าพระภิกษุมีทรัพย์สินอยู่ก่อนที่จะอุปสมบทเป็นสมณเพศ  แม้จะมรณภาพลงในขณะที่ยังเป็นพระภิกษุ  ทรัพย์สินนั้นย่อมตกทอดแก่ทายาทโดยธรรม  ไม่ตกเป็นสมบัติของวัด  ตามมาตรา  1624

2       ถ้าพระภิกษุมีหรือได้ทรัพย์สินมาในระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศ  เมื่อพระภิกษุนั้นมรณภาพขณะบวชเป็นพระภิกษุ  ทรัพย์สินของพระภิกษุนั้นจะตกเป็นสมบัติของวัด  ตามมาตรา  1623  เว้นแต่

(ก)  จำหน่ายไปในระหว่างที่มีชีวิตอยู่

(ข)  ทำพินัยกรรมยกให้ผู้อื่นในระหว่างที่เป็นพระภิกษุ

กรณีตามอุทาหรณ์มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยเกี่ยวกับทรัพย์สินของพระภิกษุหนึ่งที่ถึงแก่มรณภาพดังนี้

1       เงินสดในธนาคาร  2  แสนบาท

ข้อเท็จจริงมีว่าเงินสดในธนาคาร  2  แสนบาท  เป็นทรัพย์สินที่พระภิกษุหนึ่งมีอยู่ก่อนบวชเป็นพระภิกษุ  เมื่อพระภิกษุหนึ่งมรณภาพ  ย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทโดยธรรม  ตามมาตรา  1624

ทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิรับมรดกในเงินจำนวนนี้  ได้แก่  นายสามและนายสี่  บุตรนอกกฎหมายที่บิดาให้การรับรองแล้วโดยพฤตินัย  ตามมาตรา  1627  ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย  ตามมาตรา  1629(1)  โดยได้รับส่วนแบ่งคนละ  1  แสนบาท  ตามมาตรา  1633  เพราะเป็นทายาทโดยธรรมในลำดับเดียวกัน  ส่วนนางสองเป็นภริยาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  จึงไม่มีสิทธิรับมรดกในฐานะคู่สมรส  ตามมาตรา  1629  วรรคท้าย

2       ที่ดิน  1  แปลงที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ข้อเท็จจริงได้ความว่า  พระภิกษุหนึ่งนำเงินบริจาคที่ญาติโยมนำมาถวายไปซื้อที่ดินไว้  1  แปลงที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  ซึ่งโดยหลักแล้วทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างอุปสมบท  ย่อมตกเป็นสมบัติของวัดแต่ต่อมาพระภิกษุหนึ่งได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินดังกล่าวให้แก่นางสองภริยา  ตามมาตรา  1646  ถือได้ว่าเป็นการจำหน่ายทรัพย์ไปโดยพินัยกรรม  เข้าข้อยกเว้นตามกฎหมาย  มาตรา  1623  จึงไม่ตกเป็นสมบัติของวัดดอนหวาย  เมื่อพระภิกษุถึงแก่มรณภาพ  พินัยกรรมมีผลบังคับตามกฎหมาย  ที่ดินดังกล่าวจึงตกได้แก่นางสองผู้รับพินัยกรรม

3       พระพุทธรูปทองคำ  1  องค์  ราคา  3  แสนบาท

ข้อเท็จจริงมีว่าพระพุทธรูปทองคำนี้  พระภิกษุหนึ่งได้มาในระหว่างอุปสมบทเป็นพระภิกษุเมื่อไม่ปรากฏว่ามีการจำหน่ายไปในระหว่างชีวิตหรือโดยพินัยกรรม  ย่อมตกเป็นสมบัติของวัดดอนหวาย  ซึ่งเป็นวัดภูมิลำเนาของพระภิกษุหนึ่ง  ตามมาตรา  1623

สรุป 

1       เงินสดในธนาคาร  2  แสนบาท  ตกทอดแก่  นายสามและนายสี่

2       ที่ดิน  1  แปลง  ที่จังหวัดพระนครสรีอยุธยา  ตกทอดแก่  นางสอง

3       พระพุทธรูปทองคำ  ตกเป็นสมบัติของวัดดอนหวาย

 

ข้อ  2  นายดำและนางแดงเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายเหลืองและนางขาว  นายดำมีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายคือนางเขียว  นายเหลืองได้ป่วยเป็นโรคไข้หวัดนกเสียชีวิต  ต่อมานายดำซึ่งได้เฝ้าดูแลบิดาได้ติดเชื้อโรคนี้ด้วย  และตายลงในเวลาต่อมา  นายดำตายลงเขามีเงินสดอยู่ในธนาคาร  5  แสนบาท  พอนายแดงน้องชายทราบเข้าจึงขอมีส่วนในการรับมรดกของนายดำด้วย  ในฐานะที่ตนเป็นผู้สืบสันดานของนายเหลืองซึ่งถือว่าเป็นผู้มีสิทธิได้รับมรดกของนายดำอยู่  โดยจะรับมรดกแทนที่นายเหลืองบิดาของตน  แต่นางเขียวภริยานายดำไม่ยอมแบ่งให้  จงวินิจฉัยว่าใครจะเป็นผู้มีสิทธิได้รับมรดกในเงิน  5  แสนบาทของนายดำบ้าง

ธงคำตอบ

มาตรา  1599  เมื่อบุคคลใดตาย  มรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่ทายาท  ทายาทอาจเสียไปซึ่งสิทธิในมรดกได้แต่โดยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น

มาตรา  1600  ภายใต้บังคับของบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้  กองมรดกของผู้ตายได้แก่ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย  ตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่างๆ  เว้นแต่ตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้วเป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้

มาตรา 1629  ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น  และภายใต้บังคับแห่งมาตรา  1630  วรรคสอง  แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้  คือ

(1) ผู้สืบสันดาน

(2) บิดามารดา

(3) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน

(4) พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน

(5) ปู่  ย่า  ตา  ยาย

(6) ลุง  ป้า  น้า  อา

คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม  ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา  1635

มาตรา  1635  ลำดับและส่วนแบ่งของคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ในการรับมรดกของผู้ตายนั้น  ให้เป็นไปดังต่อไปนี้

(2) ถ้ามีทายาทตามมาตรา  1629 (3)  และทายาทนั้นยังมีชีวิตอยู่  หรือมีผู้รับมรดกแทนที่หรือถ้าไม่มีทายาทตามมาตรา  1629 (1)  แต่มีทายาทตามมาตรา  1629 (2)  แล้วแต่กรณี  คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นมีสิทธิได้รับมรดกกึ่งหนึ่ง

มาตรา  1639  ถ้าบุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตามมาตรา  1629  (1)  (3)  (4)  หรือ  (6)  ถึงแก่ความตาย  หรือถูกจำกัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย  ถ้าบุคคลนั้นมีผู้สืบสันดานก็ให้ผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่  ถ้าผู้สืบสันดานคนใดของบุคคลนั้นถึงแก่ความตายหรือถูกกำจัดมิให้รับมรดกเช่นเดียวกัน  ก็ให้ผู้สืบสันดานของผู้สืบสันดานนั้นรับมรดกแทนที่  และให้มีการรับมรดกแทนที่กันเฉพาะส่วนแบ่งของบุคคลเป็นรายๆสืบต่อกันเช่นนี้ไปจนหมดสาย

มาตรา  1641  ถ้าบุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตามมาตรา  1629(2)  หรือ  (5)  ถึงแก่ความตายหรือถูกกำจัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย  ถ้ามีทายาทในลำดับเดียวกันยังมีชีวิตอยู่ก็ให้ส่วนแบ่งทั้งหมดตกได้แก่ทายาทนั้นเท่านั้น  ห้ามมิให้มีการรับมรดกแทนที่กันต่อไป

วินิจฉัย

เงินสดในธนาคารเป็นทรัพย์สินที่นายดำมีอยู่ก่อนถึงแก่ความตาย  ย่อมเป็นมรดกตามมาตรา  1600  ตกทอดแก่ทายาทตามมาตรา  1599  โดยทายาทโดยธรรมตามกฎหมายของนายดำซึ่งมีสิทธิในกองมรดกของนายดำ  ได้แก่

1       นายเหลือง  บิดาโดยชอบด้วยกฎหมาย  ตามมาตรา  1629 (2)

2       นางขาว  มารดาโดยชอบด้วยกฎหมาย  ตามมาตรา  1629 (2)

3       นายแดง  พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน  ตามมาตรา  1629 (3)

4       นางเขียว  คู่สมรสโดยชอบด้วยกฎหมาย  ตามมาตรา  1629 วรรคท้าย

โดยหลักแล้ว  เมื่อนายดำเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย  เงินสดในธนาคาร  5  แสนบาท  อันเป็นมรดกย่อมตกทอดแก่นายเหลือง  นางขาวและนางเขียว  ตามมาตรา  1629 (2)  และวรรคท้าย  ประกอบมาตรา  1635 (1)  โดยนางเขียวคู่สมรสมีสิทธิได้รับมรดกกึ่งหนึ่ง  คือ  2.5  แสนบาท  ส่วนนายเหลืองและนางขาวได้รับมรดกคนละ  1.25  แสนบาท  ส่วนนายแดงซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมในลำดับที่  3  ตามมาตรา  1629 (3)  ซึ่งอยู่ในลำดับถัดมาไม่มีสิทธิรับมรดก

แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่านายเหลืองบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายซึ่งเป็นทายาทโดยธรรม  ตามมาตรา  1629 (2)  ถึงแก่ความตายก่อนนายดำเจ้ามรดก  กรณีจึงต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา  1641  ที่ว่าถ้ามีทายาทในลำดับเดียวกัน  ตามมาตรา  1629 (2)  ยังมีชีวิตอยู่  ก็ให้ส่วนแบ่งทั้งหมดตกได้แก่ทายาทนั้นเท่านั้น  ดังนั้นเงินมรดกในส่วนของนายเหลืองอีก  1.25  แสนบาท  จึงตกเป็นของนางขาวมารดาแต่เพียงผู้เดียว

ส่วนประเด็นที่นายแดง  ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมตามมาตรา  1629 (3)  มาอ้างสิทธิในการรับมรดกแทนที่นายเหลืองบิดานั้น  เห็นว่า  การรับมรดกแทนที่  มีหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในมาตรา  1639  กล่าวคือ  การรับมรดกแทนที่กันนั้นจะมีได้แต่เฉพาะผู้สืบสันดานของทายาทตามมาตรา  1629 (1)  (3)  (4)  หรือ  (6)  เท่านั้น  ผู้สืบสันดานของทายาทตามมาตรา  1629  (2)  และ  (5)  จะรับมรดกแทนที่กันไม่ได้ ทั้งนี้ตามที่มาตรา  1641  ตอนท้ายบัญญัติห้ามไว้  ดังนั้นนายแดงพี่น้องร่วมบิดามารดากับนายดำ  ซึ่งเป็นทายาทตามมาตรา  1629  (3)  และเป็นผู้สืบสันดานของนายเหลืองทายาทตามมาตรา  1629 (2)  จึงไม่อาจรับมรดกแทนที่นายเหลืองบิดาได้  ตามมาตรา  1641

สรุป  เงินสดในธนาคาร  5  แสนบาท  ตกทอดเป็นมรดกแก่นางขาวและนางเขียว  คนละ  2.5  แสนบาท 

 

ข้อ  3  นายเงินเป็นบุตรบุญธรรมของนายทองโดยชอบด้วยกฎหมาย  และในขณะเดียวกันเขาก็ยังเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายเพ็ชรและนางทองแดงด้วย  ต่อมานางสาวตะกั่วสาวข้างบ้านได้ตั้งครรภ์ขึ้นมาโดยไม่ปรากฏบิดา  จึงมาขอให้นายเงินรับเป็นบิดาของเด็กให้  โดยทั้งคู่ได้อยู่กินกันฉันสามีภริยาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส  นายเงินได้ดูแลนางตะกั่วเป็นอย่างดีได้พาไปฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลจนกระทั่งคลอดเด็กชายนาคออกมา  นายเงินก็ใช้ชื่อตนเป็นบิดา  และอุปการะเลี้ยงดูตลอดจนให้การศึกษา  ต่อมาอีกห้าปี  หลังเด็กชายนาคคลอด  นายเงินก็ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต  ก่อนตายเขามีเงินสดอยู่ในธนาคาร  4 แสนบาท  และมีรถยนต์อยู่  1  คัน  ราคา  8  แสนบาท  จงแบ่งมรดกของนายเงิน

ธงคำตอบ

มาตรา  1598/27  การรับบุตรบุญธรรมจะสมบูรณ์ต่อเมื่อได้จดทะเบียนตามกฎหมาย  แต่ถ้าผู้จะเป็นบุตรบุญธรรมนั้นเป็นผู้เยาว์ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมก่อน

มาตรา  1598/28  บุตรบุญธรรมย่อมมีฐานะอย่างเดียวกับบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้รับบุตรบุญธรรมนั้น  แต่ไม่สูญสิทธิและหน้าที่ในครอบครัวที่ได้กำเนิดมา  ในกรณีเช่นนี้  ให้บิดามารดาโดยกำเนิดหมดอำนาจปกครองนับแต่วันเวลาที่เด็กเป็นบุตรบุญธรรมแล้ว

ในนำบทบัญญัติในลักษณะ  2  หมวด  2  แห่งบรรพนี้มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา  1598/29  การรับบุตรบุญธรรมไม่ก่อให้เกิดสิทธิรับมรดกของบุตรบุญธรรมในฐานะทายาทโดยธรรมเพราะเหตุการณ์รับบุตรบุญธรรมนั้น

มาตรา  1627  บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้น  ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้

มาตรา 1629  ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น  และภายใต้บังคับแห่งมาตรา  1630  วรรคสอง  แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้  คือ

(1) ผู้สืบสันดาน

(2) บิดามารดา

คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม  ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา  1635

มาตรา  1633  ทายาทโดยธรรมในลำดับเดียวกันในลำดับหนึ่งๆ  ที่ระบุไว้ในมาตรา  1629  นั้น  ชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน  ถ้าในลำดับหนึ่งมีทายาทโดยธรรมคนเดียว  ทายาทโดนธรรมคนนั้นมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งทั้งหมด

วินิจฉัย

เงินสดในธนาคาร  4  แสนบาท  และรถยนต์  1  คัน  ราคา  8  แสนบาท  เป็นทรัพย์สินที่นายเงินเจ้ามรดกมีอยู่ก่อนถึงแก่ความตาย  โดยมิได้ทำพินัยกรรมจำหน่ายทรัพย์แก่ผู้ใดโดยเฉพาะ  จึงเป็นมรดกตามมาตรา  1600  ตกทอดแก่ทายาทของนายเงินเจ้ามรดกตามมาตรา 1599

นายเงินเป็นบุตรบุญธรรมของนายทองโดยชอบด้วยกฎหมาย  ตามมาตรา  1598/27  มีฐานะอย่างเดียวกับบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายทอง  ตามมาตรา  1598/28  มีสิทธิรับมรดกในฐานะผู้สืบสันดานของนายทอง  ตามมาตรา  1629(1)  ประกอบมาตรา  1627  แต่อย่างไรก็ตามผลทางกฎหมายในการรับบุตรบุญธรรมนั้น  ทำให้ผู้รับบุตรบุญธรรมไม่มีสิทธิรับมรดกของบุตรบุญธรรมในฐานะเป็นบิดามารดาได้  ตามมาตรา  1598/29  ดังนั้นนายทองผู้รับบุตรบุญธรรมจึงไม่มีสิทธิรับมรดกของนายเงินบุตรบุญธรรม

นางสาวตะกั่วนั้น  แม้จะได้อยู่กินกับนายเงินฉันสามีภริยา  แต่ก็มิได้จดทะเบียนสมรส  จึงเป็นภริยาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  ไม่มีสิทธิรับมรดกในฐานะคู่สมรสตามมาตรา  1629  วรรคท้าย

ส่วนเด็กชายนาค  เป็นบุตรบุญธรรมของนางสาวตะกั่วซึ่งได้ตั้งครรภ์โดยไม่ปรากฏบิดา  แม้นายเงินจะรับเป็นบิดาให้เด็ก  ตลอดจนให้การรับรองโดยพฤตินัย  คือ  ให้ใช้ชื่อตนเป็นบิดาและอุปการะเลี้ยงดูตลอดจนให้การศึกษาก็ไม่ทำให้เด็กชายนาคเป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้วโดยพฤตินัย  ตามมาตรา  1627  อันจะทำให้มีสิทธิรับมรดกในฐานะผู้สืบสันดานตามมาตรา  1629(1)  เพราะการรับรองบุตรตามมาตรา  1627  นั้นหมายความเฉพาะบุตรที่สืบสายโลหิตเกิดจากบิดามารดาที่มิได้สมรสกัน  และผู้รับรองต้องเป็นบิดาตามความเป็นจริงได้  ถ้าผู้รับรองไม่ใช่บิดาตามความเป็นจริงแล้ว  ถึงแม้จะมีพฤติการณ์ที่เป็นการรับรองบุตรก็ตาม  ก็ไม่เป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้ว  (ฎ. 4791/2542)  ดังนั้นเด็กชายนาคจึงไม่มีสิทธิรับมรดกในฐานะผู้สืบสันดาน  ตามมาตรา  1629(1)

อย่างไรก็ดี  เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่านายเงินเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายเพ็ชรและนางทองแดง  ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรม  ตามมาตรา  1629(2)  ทั้งสองคนจึงมีสิทธิรับมรดกของนายเงิน  โดยได้รับส่วนแบ่งในเงินสดที่อยู่ในธนาคารคนละ  2  แสนบาท  และส่วนแบ่งในราคารถยนต์คนละ  4  แสนบาท  ตามมาตรา  1633  รวมเป็นมรดกตกทอดคนละ  6  แสนบาท

สรุป  มรดกของนายเงินตกทอดแก่นายเพ็ชรและนางทองแดงคนละ  6  แสนบาท

 

ข้อ  4  นายเอรับนายบีมาเป็นบุตรบุญธรรมโดยชอบด้วยกฎหมาย  ต่อมานายเอได้จดทะเบียนสมรสกับนางดีทั้งคู่มีบุตรสาว  1  คน  คือ  นางสาวอี  และบุตรชายหนึ่งคนคือนายซี  ต่อมานายเอประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต  นางดีจึงรับภาระดูแลนายบี  นางสาวอีและนายซีตามลำพัง  ด้วยความใกล้ชิดสนิทสนมกันนายบีและนางสาวอีจึงเกิดความรักขึ้น  และได้แอบไปจดทะเบียนสมรสและอยู่กินกันฉันสามีภริยาจนมีบุตรสาว  1  คน  คือเด็กหญิงเค  จากการกระทำของทั้งสองคนดังกล่าว  ทำให้นางดีโกรธและเสียใจมาก  จึงได้ตัดนางอีบุตรสาวไม่ให้รับมรดก  โดยทำเป็นหนังสือมอบไว้กับนายอำเภอพระประแดง  จากนั้นไม่นานนางดีก็เป็นโรคหัวใจวายตาย  ก่อนตายนางดีมีเงินสดอยู่ในธนาคาร  2  ล้านบาท  รถยนต์  1  คัน  ราคา  8  แสนบาท  และบ้านพร้อมที่ดินราคา  2  ล้านบาท  จงวินิจฉัยว่า  มรดกของนางดี  จะตกทอดแก่ใคร

ธงคำตอบ

มาตรา  1598/27  การรับบุตรบุญธรรมจะสมบูรณ์ต่อเมื่อได้จดทะเบียนตามกฎหมาย  แต่ถ้าผู้จะเป็นบุตรบุญธรรมนั้นเป็นผู้เยาว์ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมก่อน

มาตรา  1608  เจ้ามรดกจะตัดทายาทโดยธรรมของตนคนใดมิให้รับมรดกก็ได้แต่ด้วยแสดงเจตนาชัดแจ้ง

(1) โดยพินัยกรรม

(2) โดยทำเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่

ตัวทายาทผู้ถูกตัดมิให้รับมรดกนั้นต้องระบุไว้ให้ชัดเจน

แต่เมื่อบุคลใดได้ทำพินัยกรรมจำหน่ายทรัพย์มรดกเสียทั้งหมดแล้ว  ให้ถือว่าบรรดาทายาทโดยธรรมผู้ที่มิได้รับประโยชน์จากพินัยกรรมเป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดก

มาตรา  1620  วรรคแรก  ถ้าผู้ใดตายโดยไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้หรือทำพินัยกรรมไว้  แต่ไม่มีผลบังคับได้  ให้ปันทรัพย์มรดกทั้งหมดแก่ทายาทโดยธรรมของผู้ตายนั้นตามกฎหมาย

มาตรา  1627  บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้น  ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้

มาตรา 1629  ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น  และภายใต้บังคับแห่งมาตรา  1630  วรรคสอง  แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้  คือ

(1) ผู้สืบสันดาน

มาตรา  1633  ทายาทโดยธรรมในลำดับเดียวกันในลำดับหนึ่งๆ  ที่ระบุไว้ในมาตรา  1629  นั้น  ชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน  ถ้าในลำดับหนึ่งมีทายาทโดยธรรมคนเดียว  ทายาทโดนธรรมคนนั้นมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งทั้งหมด

มาตรา  1639  ถ้าบุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตามมาตรา  1629  (1)  (3)  (4)  หรือ  (6)  ถึงแก่ความตาย  หรือถูกจำกัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย  ถ้าบุคคลนั้นมีผู้สืบสันดานก็ให้ผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่  ถ้าผู้สืบสันดานคนใดของบุคคลนั้นถึงแก่ความตายหรือถูกกำจัดมิให้รับมรดกเช่นเดียวกัน  ก็ให้ผู้สืบสันดานของผู้สืบสันดานนั้นรับมรดกแทนที่  และให้มีการรับมรดกแทนที่กันเฉพาะส่วนแบ่งของบุคคลเป็นรายๆสืบต่อกันเช่นนี้ไปจนหมดสาย

วินิจฉัย

เงินสดในธนาคาร  2  ล้านบาท  รถยนต์  1  คัน  ราคา  8  แสนบาท  และบ้านพร้อมที่ดินราคา  2  ล้านบาท  เป็นทรัพย์สินที่นางดีมีอยู่ก่อนถึงแก่ความตาย  ย่อมเป็นมรดก  ตามมาตรา  1600  ตกทอดแก่ทายาทของนางดี  ตามมาตรา  1599

การที่นายเอรับนายบีมาเป็นบุตรบุญธรรมโดยชอบด้วยกฎหมาย  ตามมาตรา  1598/27  นั้น  ได้กระทำก่อนจดทะเบียนสมรสกับนางดี  ดังนั้นนายบีจึงเป็นเพียงบุตรบุญธรรมของนายเอแต่เพียงคนเดียว  และไม่ถือว่าเป็นทายาทโดยธรรมของนางดีตามมาตรา  1627  ประกอบมาตรา  1629(1)

โดยหลักแล้วเมื่อเหลืองตายลง  มรดกย่อมตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมทั้งสองคน  คือ  นางสาวอีและนายซี  คนละส่วนเท่าๆกัน  ตามมาตรา  1629(1)  ประกอบมาตรา  1633  ส่วนนายบีไม่มีสิทธิรับมรดกของนางดีเพราะไม่ใช่ทายาทโดยธรรมของนางดี

การที่นางดีตัดนางสาวอีบุตรสาวไม่ให้รับมรดกโดยทำเป็นหนังสือมอบไว้กับนายอำเภอพระประแดง  ซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายนั้น  เป็นการตัดทายาทโดยธรรมมิให้รับมรดก  ถือเป็นการตัดโดยชัดแจ้งตามมาตรา  1608  ซึ่งเป็นการตัดตลอดทั้งสาย  มีผลทางกฎหมายต่อผู้ถูกตัดมิให้รับมรดก  คือ  แม้ทายาทผู้ถูกตัดนั้นจะมีผู้สืบสันดาน  ผู้สืบสันดานนั้นก็ไม่อาจรับมรดกแทนที่  ตามมาตรา  1639  หรือสืบมรดกตามมาตรา  1607  ได้  ทั้งมีผลทำให้นางสาวอีผู้ถูกตัดหมดสภาพการเป็นทายาทด้วย  ดังนั้นเด็กหญิงเคจึงรับมรดกแทนที่หรือสืบมรดกของนางสาวอีมารดาไม่ได้  (ฎ. 178/2520)

ดังนั้น  มรดกของนางดีทั้งหมดจึงตกทอดไปยังทายาทที่เหลืออยู่เพียงคนเดียวคือ  นายซี  ตามมาตรา  1620  วรรคแรก  ประกอบมาตรา  1629 (1)  และมาตรา  1633

สรุป  มรดกของนางดีตกทอดแก่นายซีแต่เพียงผู้เดียว

Advertisement