การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2551

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW3009 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยมรดก

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  นายดำกับนางแดงเป็นสามีภริยากันโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส  มีบุตรชายหนึ่งคน  คือ  นายเอ  โดยนายดำได้เลี้ยงดูนายเอเป็นอย่างดี  และให้ใช้นามสกุลของตน  พร้อมกับส่งเสียให้ได้เรียนหนังสือจนกลายเป็นนักเขียนนามปากกาทอง  นายเอมีนางบีเป็นภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย  มีบุตรหนึ่งคนคือ  เด็กหญิงเค  นายเอได้ไปทำสัญญาเช่าบ้านของนายเขียวอยู่อาศัย  โดยการเช่าได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นเวลา  3  ปี  และได้นำครอบครัวไปอาศัยอยู่ด้วย  เนื่องจากนายเอเป็นนักเขียน  จึงได้มีสำนักพิมพ์ดอกเห็ด  มาติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์นวนิยาย  เรื่อง  สะใภ้ลูกทุ่งจากนายเอ  โดยสำนักพิมพ์ดอกเห็ดตกลงให้ค่าตอบแทนปีละ  6  หมื่นบาท  ต่อมานายเอตายลงเพราะตรากตรำทำงานหนักเกินไป

จงวินิจฉัยว่า  สิทธิตามสัญญาเช่าบ้านและสิทธิในลิขสิทธิ์ของนายเอจะเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทอย่างไรหรือไม่  ถ้าเป็นมรดก  ทายาทแต่ละคนจะได้รับส่วนแบ่งหรือได้รับสิทธิอย่างไรบ้าง  โดยใช้หลักกฎหมายประกอบการวินิจฉัย

ธงคำตอบ

มาตรา  138  ทรัพย์สิน  หมายความรวมทั้งทรัพย์  และวัตถุไม่มีรูปร่างซึ่งอาจมีราคาและอาจถือเอาได้

มาตรา  1546  เด็กเกิดจากหญิงที่มิได้มีการสมรสกับชาย  ให้ถือว่าเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของหญิงนั้น  เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น

มาตรา  1599  เมื่อบุคคลใดตาย  มรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่ทายาท  ทายาทอาจเสียไปซึ่งสิทธิในมรดกได้แต่โดยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น

มาตรา  1600  ภายใต้บังคับของบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้  กองมรดกของผู้ตายได้แก่ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย  ตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่างๆ  เว้นแต่ตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้วเป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้

มาตรา 1629  ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น  และภายใต้บังคับแห่งมาตรา  1630  วรรคสอง  แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้  คือ

(1) ผู้สืบสันดาน

(2) บิดามารดา

คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม  ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา  1635

มาตรา  1630  ตราบใดที่ทายาทซึ่งยังมีชีวิตอยู่  หรือมีผู้รับมรดกแทนที่ยังไม่ขาดสายแล้วแต่กรณีในลำดับหนึ่งๆ  ที่ระบุไว้ในมาตรา  1629  ทายาทที่อยู่ในลำดับถัดลงไปไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายเลย

แต่ความในวรรคก่อนนี้มิให้ใช้บังคับในกรณีเฉพาะที่มีผู้สืบสันดานคนใดยังมีชีวิตอยู่หรือมีผู้รับมรดกแทนที่กันแล้วแต่กรณี  และมีบิดามารดายังมีชีวิตอยู่  ในกรณีเช่นนั้นให้บิดามารดาได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าเป็นทายาทชั้นบุตร

มาตรา  1633  ทายาทโดยธรรมในลำดับเดียวกันในลำดับหนึ่งๆ  ที่ระบุไว้ในมาตรา  1629  นั้น  ชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน  ถ้าในลำดับหนึ่งมีทายาทโดยธรรมคนเดียว  ทายาทโดนธรรมคนนั้นมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งทั้งหมด

มาตรา  1635  ถ้าลำดับและส่วนแบ่งของคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ในการรับมรดกของผู้ตายนั้น  ให้เป็นไปดังต่อไปนี้

(1) ถ้ามีทายาทตามมาตรา  1629(1)  ซึ่งมีชีวิตอยู่หรือมีผู้รับมรดกแทนที่แล้วแต่กรณี  คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นมีสิทธิได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าตนเป็นทายาทชั้นบุตร

วินิจฉัย

สิทธิตามสัญญาเช่าบ้านของนายเอ  ซึ่งเป็นผู้เช่านั้น  ตามกฎหมายถือเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้เช่า  ตามมาตรา  544  สิทธิตามสัญญาเช่าย่อมเป็นอันสิ้นสุดลงเมื่อผู้เช่าตายไม่เป็นมรดกที่จะตกทอดแก่ทายาท  (ฎ. 1008/2537)

ส่วนสิทธิในลิขสิทธิ์  ได้ค่าตอบแทนปีละ  6  หมื่นบาท  ถือว่าเป็นสิทธิในทรัพย์สินอย่างหนึ่งทั้งกฎหมายก็บัญญัติให้สิทธิดังกล่าวนี้โอนให้แก่กันได้โดยทางมรดก จึงถือเป็นมรดก  ตามนัยบทบัญญัติมาตรา  1600  ประกอบมาตรา  138  ตกทอดแก่ทายาทของนายเอ  ตามมาตรา  1599  ดังนี้คือ

1       เด็กหญิงเค  ซึ่งเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายเอ  มีฐานะเป็นผู้สืบสันดาน  ตามมาตรา  1629(1)  จึงมีสิทธิรับมรดก

2       นางแดงเป็นมารดาที่ชอบด้วยกฎหมายของนายเอ  เพราะมารดาย่อมเป็นมารดาที่ชอบด้วยกฎหมายของบุตรเสมอ  ตามมาตรา  1546  จึงมีฐานะเป็นทายาทโดยธรรม  ตามมาตรา  1629(2)  แม้นางแดงจะเป็นทายาทในลำดับถัดลงไป  แต่ทางกฎหมายก็บัญญัติให้บิดามารดาที่ยังมีชีวิตอยู่มีสิทธิรับมรดกโดยได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าเป็นทายาทชั้นบุตร  ตามมาตรา  1630  วรรคสอง

ส่วนนายดำเป็นบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของนายเอ  เพราะนายดำกับนางแดงมิได้จดทะเบียนสมรสกัน  จึงไม่มีฐานะเป็นทายาทโดยธรรม  ตามมาตรา  1629(2)  แม้นายดำจะรับรองว่านายเอเป็นบุตรโดยพฤติการณ์ด้วยการเลี้ยงดูเป็นอย่างดี  ให้ใช้นามสกุลและส่งเสียให้ได้เรียนหนังสือ  ตามมาตรา  1627  แต่ผลของการรับรองดังกล่าว  กฎหมายเพียงแต่บัญญัติให้บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองถือเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย  มีสิทธิรับมรดกของบิดาเท่านั้น  หาได้บัญญัติให้ถือว่าบิดาที่รับรองนั้นเป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายไม่

 (ฎ. 525/2510)  นายดำจึงไม่มีสิทธิรับมรดกของนายเอ

3       นางบี  ซึ่งเป็นภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย  มีสิทธิรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรมที่เป็นคู่สมรส  ตามมาตรา  1629  วรรคท้าย  โดยมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าเป็นทายาทชั้นบุตร 

ดังนั้นสิทธิในลิขสิทธิ์ได้ค่าตอบแทนปีละ  6  หมื่นบาท  เป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมทั้ง  3  คน  คือ  เด็กหญิงเค  นางแดง  และนางบี  โดยได้รับคนละ  2  หมื่นบาทต่อปี  ตามมาตรา  1633

สรุป  สิทธิในลิขสิทธิ์เป็นมรดก  และเด็กหญิงเค  นางแดง  และนางบี  มีสิทธิได้รับมรดกคนละ  2  หมื่นบาท

 

ข้อ  2  นายดอกอยู่กินกับนางศรีโดยมิได้จดทะเบียนสมรสมีบุตรด้วยกันคือนายฉิ่งและนายฉันท์  ซึ่งนายดอกได้แจ้งเกิดในสูติบัตรว่าเป็นบิดา  โดยนายฉันท์นั้นได้จดทะเบียนรับนายปรีชามาเป็นบุตรบุญธรรม  ต่อมานายดอกได้เลิกกับนางศรีและไปจดทะเบียนสมรสกับนางศิลป์  มีบุตรด้วยกันคือ  นางแย้ม  โดยนางแย้มมีบุตรคือนายยล  ต่อมานายฉิ่งได้ทำพินัยกรรมยกเงิน  50,000  บาท  ให้แก่นายฉันท์  หลังจากนั้นนางศรีและนายฉันท์ประสบอุบัติเหตุถึงแก่ความตาย  ต่อมานางแย้มป่วยและถึงแก่ความตาย  หลังจากนั้นนายฉิ่งเกิดหัวใจวายตาย เช่นนี้จงพิจารณาแบ่งมรดกของนายฉิ่งซึ่งยังมีทรัพย์นอกพินัยกรรมเป็นเงินสด  70,000  บาท

ธงคำตอบ

มาตรา  1546  เด็กเกิดจากหญิงที่มิได้มีการสมรสกับชาย  ให้ถือว่าเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของหญิงนั้น  เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น

มาตรา  1604  วรรคแรก  บุคคลธรรมดาจะเป็นทายาทได้ก็ต่อเมื่อมีสภาพบุคคลหรือสามารถมีสิทธิได้ตามมาตรา  15  แห่งประมวลกฎหมายนี้  ในเวลาที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย

มาตรา  1620  วรรคแรก  ถ้าผู้ใดตายโดยไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้หรือทำพินัยกรรมไว้  แต่ไม่มีผลบังคับได้  ให้ปันทรัพย์มรดกทั้งหมดแก่ทายาทโดยธรรมของผู้ตายนั้นตามกฎหมาย

มาตรา 1629  ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น  และภายใต้บังคับแห่งมาตรา  1630  วรรคสอง  แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้  คือ

(3) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน

(4) พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน

มาตรา  1634  ระหว่างผู้สืบสันดานที่รับมรดกแทนที่กันในส่วนแบ่งของสายหนึ่งๆ  ตามบทบัญญัติในลักษณะ  2  หมวด  4  นั้น  ให้ได้รับส่วนแบ่งมรดกดังนี้

(3) ถ้าในชั้นหนึ่งมีผู้สืบสันดานคนเดียว  ผู้สืบสันดานคนนั้นมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งทั้งหมด

มาตรา  1639  ถ้าบุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตามมาตรา  1629  (1)  (3)  (4)  หรือ  (6)  ถึงแก่ความตาย  หรือถูกจำกัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย  ถ้าบุคคลนั้นมีผู้สืบสันดานก็ให้ผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่  ถ้าผู้สืบสันดานคนใดของบุคคลนั้นถึงแก่ความตายหรือถูกกำจัดมิให้รับมรดกเช่นเดียวกัน  ก็ให้ผู้สืบสันดานของผู้สืบสันดานนั้นรับมรดกแทนที่  และให้มีการรับมรดกแทนที่กันเฉพาะส่วนแบ่งของบุคคลเป็นรายๆสืบต่อกันเช่นนี้ไปจนหมดสาย

มาตรา  1641  ถ้าบุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตามมาตรา  1629(2)  หรือ  (5)  ถึงแก่ความตายหรือถูกกำจัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย ถ้ามีทายาทในลำดับเดียวกันยังมีชีวิตอยู่ก็ให้ส่วนแบ่งทั้งหมดตกได้แก่ทายาทนั้นเท่านั้น  ห้ามมิให้มีการรับมรดกแทนที่กันต่อไป

มาตรา  1642  การรับมรดกแทนที่กันนั้นให้ใช้บังคับแต่ในระหว่างทายาทโดยธรรม

มาตรา  1643  สิทธิที่จะรับมรดกแทนที่กันนั้นได้เฉพาะแก่ผู้สืบสันดานโดยตรง  ผู้บุพการีหามีสิทธิดังนั้นไม่

มาตรา  1698  ข้อกำหนดพินัยกรรมนั้น  ย่อมตกไป

(1)  เมื่อผู้รับพินัยกรรมตายก่อนผู้ทำพินัยกรรม

มาตรา  1699  ถ้าพินัยกรรม  หรือข้อกำหนดในพินัยกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินรายใดเป็นอันไร้ผลด้วยประการใดๆ  ทรัพย์สินรายนั้นตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมหรือได้แก่แผ่นดินแล้วแต่กรณี

วินิจฉัย

จะเห็นได้ว่า  นายดอนอยู่กินกับนางศรีโดยมิได้จดทะเบียนสมรส  แม้นายดอนจะได้มีพฤติการณ์รับรองนายฉิ่งและนายฉันท์ว่าเป็นบุตรด้วยการแจ้งเกิดในสูติบัตรว่าเป็นบิดา  แต่ผลของการรับรองเช่นนั้นก็หาทำให้นายดอนเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายไม่  (ฎ. 525/2510)  เมื่อนายดอนมิใช่บิดาที่ชอบด้วยกฎหมายของนายฉิ่งเจ้ามรดก  จึงไม่มีสิทธิรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรม  ตามมาตรา  1629(2)

ส่วนในกรณีของนางศรีนั้น  แม้นางศรีจะเป็นมารดาที่ชอบด้วยกฎหมาย  ตามมาตรา  1546  แต่เมื่อนางศรีได้ถึงแก่ความตายก่อนนายฉิ่งเจ้ามรดก  นางศรีจึงหมดสิทธิในการเป็นทายาท  ตามมาตรา  1604  วรรคแรก  เพราะบุคคลธรรมดาจะเป็นทายาทได้ก็ต่อเมื่อมีสภาพบุคคลในเวลาที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย  และในกรณีนี้ก็ไม่อาจมีการรับมรดกแทนที่นางศรีได้ตามมาตรา  1641  เพราะนางศรีเป็นทายาทโดยธรรมตามมาตรา  1629(2)  จึงต้องพิจารณาทายาทโดยธรรมในลำดับถัดไป  ซึ่งจะเห็นได้ว่านายฉิ่งมีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน  คือ  นายฉันท์  ซึ่งนายฉันท์นั้นได้จดทะเบียนรับนายปรีชาเป็นบุตรบุญธรรม  ดังนี้แม้นายฉันท์จะเป็นทายาทโดยธรรมในลำดับที่  3  ตามมาตรา  1629(3)  และเป็นทายาทผู้รับพินัยกรรม  แต่เมื่อปรากฏว่านายฉันท์ได้ถึงแก่ความตายก่อนเจ้ามรดกพินัยกรรมที่นายฉิ่งยกเงิน  50,000 บาท  ให้แก่นายฉันท์ย่อมตกไป  ตามมาตรา  1698(1)  จึงต้องแบ่งแก่ทายาทโดยธรรมของนายฉิ่งต่อไปตามมาตรา  1620  วรรคแรกและมาตรา  1699  และในกรณีนี้นายฉันท์เป็นทายาทผู้รับพินัยกรรม  มิใช่ทายาทโดยธรรม  นายปรีชาจึงไม่อาจรับมรดกแทนที่ในส่วนของพินัยกรรมยกเงิน  50,000  บาทนี้ได้  ตามมาตรา  1642

สำหรับกองมรดกของนายฉิ่งเมื่อรวมเงินสดนอกพินัยกรรมอีก  70,000  บาท  จึงมีทรัพย์มรดกรวมทั้งสิ้น  120,000  บาท  ที่จะแบ่งแก่ทายาทโดยธรรม

นายฉันท์เป็นทายาทโดยธรรมในลำดับที่  3  ตามมาตรา  1629(3)  แต่ถึงแก่ความตายก่อนเจ้ามรดกย่อมหมดสิทธิเป็นทายาทตามมาตรา  1604  วรรคแรก  จึงต้องพิจารณาเรื่องการรับมรดกแทนที่  โดยการรับมรดกแทนที่มีได้แต่เฉพาะผู้สืบสันดานโดยตรง  เมื่อนายปรีชาเป็นบุตรบุญธรรม  จึงมิใช่ผู้สืบสันดานโดยตรงหรือผู้สืบสันดานในทางสายโลหิตโดยแท้จริง  อันจะมีสิทธิรับมรดกแทนที่  ตามมาตรา  1639  ประกอบมาตรา  1643  ได้

(ฎ. 773/2528 (ประชุมใหญ่))  จึงต้องพิจารณาทายาทโดยธรรมในลำดับต่อไป  กล่าวคือ  นางแย้มซึ่งเป็นพี่น้องร่วมแต่บิดาเดียวกัน  ถือเป็นทายาทโดยธรรมลำดับที่  4  ตามมาตรา  1629(4)  แต่เมื่อถึงแก่ความตายก่อนเจ้ามรดกย่อมหมดสิทธิการเป็นทายาทตามมาตรา  1604  วรรคแรก  จึงต้องพิจารณาเรื่องการรับมรดกแทนที่  เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านางแย้มมีบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา  1546 คือ  นายยล  ดังนั้นนายยลจึงเป็นผู้สืบสันดานโดยตรงของนางแย้ม  มีสิทธิรับมรดกแทนที่นางแย้มได้  ตามมาตรา  1639 ประกอบมาตรา  1643  โดยได้รับส่วนแบ่งมรดกทั้งหมด  120,000  บาท  ไปแต่เพียงผู้เดียว  ตามมาตรา  1634(3)

สรุป  มรดกของนายฉิ่งตกทอดแก่นายยล  บุตรที่ชอบด้วยกฎหมายอันเป็นผู้สืบสันดานโดยตรงของนางแย้มโดยการรับมรดกแทนที่

 

ข้อ  3  นายเอกมีบุตรชอบด้วยกฎหมายสองคน  คือ  นายโท  และนายตรี  โดยนายตรีได้จดทะเบียนรับเด็กชายโตเป็นบุตรบุญธรรม  นายเอกมีเงินจำนวน  20  ล้านบาท  และที่ดินจำนวน  3  แปลง  นายเอกได้ทำพินัยกรรมยกเงินจำนวน  20  ล้านบาท  ให้กับนายโท  และที่ดินจำนวน  3  แปลง  ให้กับนายตรีก่อนนายเอกตาย  ปรากฏว่า  นายตรีได้ลอบเอาพินัยกรรมของนายเอกมาปลอมเป็นว่านายเอกยกเงินจำนวน  10  ล้านบาท  และที่ดินทั้ง  3  แปลงให้กับตน  ต่อมานายเอกตายและไม่มีทายาทอื่นอีกขอให้ท่านแบ่งมรดกของนายเอก

ธงคำตอบ

มาตรา  1605  ทายาทคนใดยักย้าย  หรือปิดบังทรัพย์มรดกเท่าส่วนที่ตนจะได้หรือมากกว่านั้นโดยฉ้อฉลหรือรู้อยู่ว่าตนทำให้เสื่อมประโยชน์ของทายาทคนอื่น  ทายาทคนนั้นต้องถูกกำจัดมิให้ได้มรดกเลย  แต่ถ้าได้ยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกน้อยกว่าส่วนที่ตนจะได้ ทายาทคนนั้นต้องถูกกำจัดให้ได้มรดกเฉพาะส่วนที่ได้ยักย้ายหรือปิดบังไว้นั้น

มาตรานี้มิให้ใช้บังคับแก่ผู้รับพินัยกรรม  ซึ่งผู้ตายได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้เฉพาะสิ่งเฉพาะอย่าง  ในอันที่จะได้รับทรัพย์สินนั้น

มาตรา  1606  บุคคลดังต่อไปนี้ต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควร  คือ

(5) ผู้ที่ปลอม  ทำลาย  หรือปิดบังพินัยกรรมแต่บางส่วนหรือทั้งหมด

มาตรา  1639  ถ้าบุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตามมาตรา  1629  (1)  (3)  (4)  หรือ  (6)  ถึงแก่ความตาย  หรือถูกจำกัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย  ถ้าบุคคลนั้นมีผู้สืบสันดานก็ให้ผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่  ถ้าผู้สืบสันดานคนใดของบุคคลนั้นถึงแก่ความตายหรือถูกกำจัดมิให้รับมรดกเช่นเดียวกัน  ก็ให้ผู้สืบสันดานของผู้สืบสันดานนั้นรับมรดกแทนที่  และให้มีการรับมรดกแทนที่กันเฉพาะส่วนแบ่งของบุคคลเป็นรายๆสืบต่อกันเช่นนี้ไปจนหมดสาย

มาตรา  1642  การรับมรดกแทนที่กันนั้นให้ใช้บังคับแต่ในระหว่างทายาทโดยธรรม

มาตรา  1643  สิทธิที่จะรับมรดกแทนที่กันนั้นได้เฉพาะแก่ผู้สืบสันดานโดยตรง  ผู้บุพการีหามีสิทธิดังนั้นไม่

วินิจฉัย

เมื่อนายเอกตาย  นายโทและนายตรีซึ่งเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย  ย่อมมีสิทธิได้รับมรดกของนายเอกในฐานะผู้สืบสันดานตามมาตรา  1629(1)  โดยได้รับส่วนแบ่งคนละเท่าๆกัน

แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านายตรีได้ปลอมพินัยกรรมของนายเอกเกี่ยวกับทรัพย์มรดก  จึงต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกในฐานเป็นผู้ไม่สมควรตามมาตรา  1606(5)  ซึ่งมีผลให้นายตรีถูกกำจัดมิให้ได้รับมรดกเลย  แม้เจ้ามรดกจะทำพินัยกรรมยกที่ดินจำนวน  3  แปลง  อันเป็นทรัพย์สินเฉพาะสิ่งเฉพาะอย่างให้นายตรีก็ตาม  กรณีนี้จะนำบทบัญญัติมาตรา  1605  วรรคสองมาใช้บังคับไม่ได้  เพราะบทมาตราดังกล่าวเป็นบทบัญญัติที่ใช้เฉพาะการถูกกำจัดเพราะเหตุยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดก  ตามมาตรา  1605  วรรคแรกเท่านั้น  อีกทั้งเด็กชายโตซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมก็มิใช่ผู้สืบสันดานโดยตรง  จึงไม่สามารถรับมรดกแทนที่ได้  ตามมาตรา  1639  มาตรา  1642  และมาตรา  1643  แม้นายตรีจะถูกกำจัดก่อนเจ้ามรดกตายก็ตาม  ดังนั้นทรัพย์มรดกของนายเอกทั้งหมดจึงตกทอดได้แก่นายโททั้งตามพินัยกรรมและในฐานะทายาทโดยธรรม

สรุป  นายโทได้รับมรดกทั้งหมด  คือ  เงินจำนวน  20  ล้านบาท  และที่ดินจำนวน  3  แปลง

 

ข้อ  4  นายเอกและนางแพรเป็นสามีภริยากันตามกฎหมาย  มีบุตรด้วยกัน  1  คน  คือนายใหญ่  นายเอกมีน้องชายร่วมบิดามารดาเดียวกัน คือนายโท  ต่อมานายเอกและนางแพรได้จดทะเบียนรับนายเล็กหลานชายของนางแพรมาเป็นบุตรบุญธรรมตามกฎหมาย  นายเล็กจดทะเบียนสมรสกับนางลิน  ทั้งสองมีบุตรสาวด้วยกัน  1  คน  คือ  ด.ญ.แก้ว  นายเอกขับรถไปต่างจังหวัดกับนายเล็ก  รถยนต์เสียหลักนายเล็กถึงแก่ความตาย  ส่วนนายเอกได้รับบาดเจ็บสาหัส  ในระหว่างที่นายเอกรักษาตัวที่โรงพยาบาล  นายใหญ่หลอกลวงให้นายเอกลงลายมือชื่อในพินัยกรรมที่ยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้แก่นายใหญ่  ต่อมานายเอกถึงแก่ความตาย  นายเอกมีทรัพย์มรดกทั้งหมด  300,000  บาท  ดังนี้  ให้ท่านแบ่งมรดกของนายเอก

ธงคำตอบ

มาตรา  1606  บุคคลดังต่อไปนี้ต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควร  คือ

(4) ผู้ที่ฉ้อฉลหรือข่มขู่ให้เจ้ามรดกทำ  หรือเพิกถอน  หรือเปลี่ยนแปลงพินัยกรรมแต่บางส่วนหรือทั้งหมดซึ่งเกี่ยวกับทรัพย์มรดกหรือไม่ให้กระทำการดังกล่าวนั้น

มาตรา  1620  วรรคแรก  ถ้าผู้ใดตายโดยไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้หรือทำพินัยกรรมไว้  แต่ไม่มีผลบังคับได้  ให้ปันทรัพย์มรดกทั้งหมดแก่ทายาทโดยธรรมของผู้ตายนั้นตามกฎหมาย

มาตรา  1627  บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้น  ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้

มาตรา 1629  ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น  และภายใต้บังคับแห่งมาตรา  1630  วรรคสอง  แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้  คือ

(1)  ผู้สืบสันดาน

(3) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน

คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม  ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา  1635

มาตรา  1630  ตราบใดที่ทายาทซึ่งยังมีชีวิตอยู่  หรือมีผู้รับมรดกแทนที่ยังไม่ขาดสายแล้วแต่กรณีในลำดับหนึ่งๆ  ที่ระบุไว้ในมาตรา  1629  ทายาทที่อยู่ในลำดับถัดลงไปไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายเลย

มาตรา  1635  ถ้าลำดับและส่วนแบ่งของคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ในการรับมรดกของผู้ตายนั้น  ให้เป็นไปดังต่อไปนี้

(1) ถ้ามีทายาทตามมาตรา  1629(1)  ซึ่งมีชีวิตอยู่หรือมีผู้รับมรดกแทนที่แล้วแต่กรณี  คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นมีสิทธิได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าตนเป็นทายาทชั้นบุตร

มาตรา  1639  ถ้าบุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตามมาตรา  1629  (1)  (3)  (4)  หรือ  (6)  ถึงแก่ความตาย  หรือถูกจำกัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย  ถ้าบุคคลนั้นมีผู้สืบสันดานก็ให้ผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่  ถ้าผู้สืบสันดานคนใดของบุคคลนั้นถึงแก่ความตายหรือถูกกำจัดมิให้รับมรดกเช่นเดียวกัน  ก็ให้ผู้สืบสันดานของผู้สืบสันดานนั้นรับมรดกแทนที่  และให้มีการรับมรดกแทนที่กันเฉพาะส่วนแบ่งของบุคคลเป็นรายๆสืบต่อกันเช่นนี้ไปจนหมดสาย

มาตรา  1643  สิทธิที่จะรับมรดกแทนที่กันนั้นได้เฉพาะแก่ผู้สืบสันดานโดยตรง  ผู้บุพการีหามีสิทธิดังนั้นไม่

มาตรา  1699  ถ้าพินัยกรรม  หรือข้อกำหนดในพินัยกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินรายใดเป็นอันไร้ผลด้วยประการใดๆ  ทรัพย์สินรายนั้นตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมหรือได้แก่แผ่นดินแล้วแต่กรณี

วินิจฉัย

การที่นายใหญ่หลอกลวงให้นายเอกลงลายมือชื่อในพินัยกรรมที่ยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้แก่นายใหญ่นั้น  นายใหญ่ต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกของนายเอกฐานเป็นผู้ไม่สมควร  ตามมาตรา  1606(4)  นายใหญ่จึงไม่มีสิทธิรับมรดกของนายเอกเลย  จึงต้องนำทรัพย์มรดกไปแบ่งให้กับทายาทโดยธรรมของนายเอกตามมาตรา  1699  ประกอบมาตรา  1620  วรรคแรก

ทายาทโดยธรรมของนายเอกที่มีสิทธิรับมรดก  คือ  นางแพร  คู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา  1629  วรรคท้าย  และนายเล็กบุตรบุญธรรม  ตามมาตรา  1627  ประกอบมาตรา  1629(1)  ส่วนนายโทเป็นทายาทโดยธรรม  ตามมาตรา  1629(3)  ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมลำดับถัดลงมา  นายโทจึงไม่มีสิทธิรับมรดกของนายเอก  ตามมาตรา  1630  วรรคแรก

อย่างไรก็ตาม  เมื่อนายเล็กตายก่อนนายเอกเจ้ามรดก  ย่อมหมดสิทธิการเป็นทายาทตามมาตรา  1604  วรรคแรก  แต่นายเล็กมีบุตรชอบด้วยกฎหมาย  คือ  ด.ญ.แก้ว  ซึ่งถือว่าเป็นผู้สืบสันดานโดยตรงของนายเล็ก  ด.ญ.แก้วจึงมีสิทธิรับมรดกแทนที่นายเล็กได้ตามมาตรา  1639  ประกอบมาตรา  1643  (ฎ. 290/2494)

เมื่อมีผู้รับมรดกแทนที่ทายาท  ตามมาตรา  1629(1)  คู่สมรสจึงมีสิทธิได้รับมรดกเสมือนหนึ่งว่าตนเป็นทายาทชั้นบุตร  ดังนั้นนางแพร และ  ด.ญ.แก้ว  จะได้รับมรดกคนละเท่าๆกัน  คือ  คนละ  150,000  บาทตามมาตรา  1635(1)

สรุป  มรดกของนายเอก  300,000  บาท  ตกทอดแก่นางแพรและ  ด.ญ.แก้ว  คนละ  150,000  บาท   

Advertisement