การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2550

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW3009 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยมรดก

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  นายดำมีบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย  คือนายเอก  นายโท  และนายตรี  นายเอกมี  ด.ญ.ขาว  เป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย  นายโทมีบุตรบุญธรรมที่ชอบด้วยกฎหมาย  1  คน  คือ  ด.ญ.เขียว  ส่วนนายตรีได้สมรสกับ  น.ส.จัตวาโดยชอบด้วยกฎหมาย  มีบุตรชาย  1  คน คือ  ด.ช.แดง  แต่ปรากฏว่าได้ตกน้ำตายตั้งแต่อายุได้  2  ขวบ  นายดำได้ทำพินัยกรรมยกมรดกของตนซึ่งเป็นเงินสด  4  ล้านบาท   ให้แก่นายตรีเพียงคนเดียว  แต่เขาก็โชคไม่ดีเพราะประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตก่อน  นายดำเสียใจมาก  และป่วยเป็นโรคหัวใจจนเสียชีวิตในที่สุด ก่อนนายดำตายนายเอกได้ทำพินัยกรรมปลอมว่านายดำยกทรัพย์มรดกให้แก่ตนสามในสี่ส่วน  หลังจากนายดำตายแล้ว  นายโทได้ไปบวชอุทิศส่วนบุญกุศลให้แก่บิดาที่วัดเทพลีลา  และยังไม่ยอมสึก  จากนั้นเขาก็ได้ทำการสละมรดกที่เขาจะได้รับโดยทำการสละไว้โดยชอบด้วยกฎหมาย  จงวินิจฉัยว่า  มรดกของนายดำจะตกทอดแก่ใครบ้าง

ธงคำตอบ

มาตรา  1606  บุคคลดังต่อไปนี้ต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควร  คือ

(5) ผู้ที่ปลอม  ทำลาย  หรือปิดบังพินัยกรรมแต่บางส่วนหรือทั้งหมด

มาตรา  1615  การที่ทายาทสละมรดกนั้น  มีผลย้อนหลังไปถึงเวลาที่เจ้ามรดกตาย

เมื่อทายาทโดยธรรมคนใดสละมรดก  ผู้สืบสันดานของทายาทคนนั้นสืบมรดกได้ตามสิทธิของตนและชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากับส่วนแบ่งที่ผู้สละมรดกนั้นจะได้รับ  แต่ผู้สืบสันดานนั้นต้องไม่ใช่ผู้ที่บิดามารดาผู้ปกครอง  หรือผู้อนุบาลแล้วแต่กรณี  ได้บอกสละมรดกโดยสมบูรณ์ในนามของผู้สืบสันดานนั้น

มาตรา  1627  บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้น  ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้

มาตรา 1629  ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น  และภายใต้บังคับแห่งมาตรา  1630  วรรคสอง  แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้  คือ

(1) ผู้สืบสันดาน

มาตรา  1630  ตราบใดที่ทายาทซึ่งยังมีชีวิตอยู่  หรือมีผู้รับมรดกแทนที่ยังไม่ขาดสายแล้วแต่กรณีในลำดับหนึ่งๆ  ที่ระบุไว้ในมาตรา  1629  ทายาทที่อยู่ในลำดับถัดลงไปไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายเลย

แต่ความในวรรคก่อนนี้มิให้ใช้บังคับในกรณีเฉพาะที่มีผู้สืบสันดานคนใดยังมีชีวิตอยู่หรือมีผู้รับมรดกแทนที่กันแล้วแต่กรณี  และมีบิดามารดายังมีชีวิตอยู่  ในกรณีเช่นนั้นให้บิดามารดาได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าเป็นทายาทชั้นบุตร

มาตรา  1639  ถ้าบุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตามมาตรา  1629  (1)  (3)  (4)  หรือ  (6)  ถึงแก่ความตาย  หรือถูกจำกัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย  ถ้าบุคคลนั้นมีผู้สืบสันดานก็ให้ผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่  ถ้าผู้สืบสันดานคนใดของบุคคลนั้นถึงแก่ความตายหรือถูกกำจัดมิให้รับมรดกเช่นเดียวกัน  ก็ให้ผู้สืบสันดานของผู้สืบสันดานนั้นรับมรดกแทนที่  และให้มีการรับมรดกแทนที่กันเฉพาะส่วนแบ่งของบุคคลเป็นรายๆสืบต่อกันเช่นนี้ไปจนหมดสาย

มาตรา  1642  การรับมรดกแทนที่กันนั้นให้ใช้บังคับแต่ในระหว่างทายาทโดยธรรม

มาตรา  1643  สิทธิที่จะรับมรดกแทนที่กันนั้นได้เฉพาะแก่ผู้สืบสันดานโดยตรง  ผู้บุพการีหามีสิทธิดังนั้นไม่

มาตรา  1698  ข้อกำหนดพินัยกรรมนั้น  ย่อมตกไป

(1) เมื่อผู้รับพินัยกรรมตายก่อนผู้ทำพินัยกรรม

มาตรา  1699  ถ้าพินัยกรรม  หรือข้อกำหนดในพินัยกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินรายใดเป็นอันไร้ผลด้วยประการใดๆ  ทรัพย์สินรายนั้นตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมหรือได้แก่แผ่นดินแล้วแต่กรณี

วินิจฉัย

นายดำได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้แก่นายตรีคนเดียว  แต่นายตรีผู้รับพินัยกรรมได้ตายก่อนนายดำผู้ทำพินัยกรรมจึงทำให้พินัยกรรมนั้นตกไปตามมาตรา  1698(1)  ประกอบมาตรา  1699  จัตวาซึ่งเป็นภริยาของนายตรี  และเป็นเพียงสะใภ้ของนายดำ  จึงไม่ถือว่าเป็นทายาทโดยธรรมของนายดำ  และไม่สามารถรับมรดกแทนที่นายตรีได้เพราะเป็นภริยา  เนื่องจากผู้ที่จะรับมรดกแทนที่ได้นั้นต้องเป็นผู้สืบสันดานโดยตรงตามมาตรา  1639  ประกอบมาตรา  1642  และ  1643  ส่วน  ด.ช.แดง  ซึ่งเป็นผู้สืบสันดานโดยตรงของนายตรีก็เสียชีวิตไปแล้วจึงไม่มีสภาพของการเป็นทายาทอยู่  (มาตรา  1604  วรรคแรกตอนต้น)

นายเอกได้ปลอมพินัยกรรมก่อนนายดำเจ้ามรดกจะเสียชีวิต  จึงต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกทั้งหมดฐานเป็นผู้ไม่สมควร  ตามมาตรา 1606(5)  และเป็นการถูกกำจัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย  ดังนั้นบุตรของนายเอกคอ  ด.ญ.ขาว  ซึ่งเป็นผู้สืบสันดานโดยตรงจึงเข้ารับมรดกแทนที่นายเอกบิดาได้ตามมาตรา  1639  ประกอบมาตรา  1642  และ  1643

นายโทได้สละมรดกทั้งหมดโดยชอบด้วยกฎหมายและบวชเป็นพระแล้ว  ดังนั้นการสละมรดกของเขาจึงทำให้นายโทไม่มีสถานะของการเป็นทายาท  ด.ญ.เขียว  ซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของนายโทและเป็นผู้สืบสันดานตามมาตรา  1629(1)  ประกอบมาตรา  1627  จึงเข้าสืบมรดกของนายโทได้แม้จะไม่ใช่ผู้สืบสันดานโดยตรงก็ตามและ  ด.ญ.เขียว  มีสิทธิได้รับมรดกเท่ากับส่วนที่นายโทจะพึงได้รับตามมาตรา  1615 วรรคสอง

ดังนั้น  โดยสรุปมรดกของนายดำจึงแบ่งเป็น  2  ส่วนเท่าๆกัน  โดย  ด.ญ.ขาว   และ  ด.ญ.เขียว  ได้รับคนละ  2  ล้านบาท  ตามมาตรา 1630

สรุป  มรดกของนายดำจะตกทอดแก่  ด.ญ.ขาว  และ  ด.ญ.เขียว  คนละ  2  ล้านบาท

 

ข้อ  2  นายไสวและนางสดใส  เป็นสามีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายและทั้งสองไม่มีบุตรด้วยกัน  ด้วยเหตุนี้จึงไปขอเด็กชายโตจากญาติมาเลี้ยงดูเยี่ยงบุตรและให้การศึกษา  แต่ไม่ได้จดทะเบียนรับเป็นบุตรบุญธรรม  ซึ่งนายไสวยังมีน้าชายอยู่คนหนึ่งชื่อนายดำ  และนายดำมีบุตรชอบด้วยกฎหมายชื่อนายแดง  นอกจากนี้ยังมีอาอีกหนึ่งคนชื่อ  นางตุ้ย  ปรากฏว่า  นายดำได้ตายก่อนนายไสว  หลังจากนั้นนายไสวตายมีมรดกจำนวน  6  ล้านบาท  จงแบ่งมรดกของนายไสว

ธงคำตอบ

มาตรา  1599  เมื่อบุคคลใดตาย  มรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่ทายาท  ทายาทอาจเสียไปซึ่งสิทธิในมรดกได้แต่โดยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น

มาตรา  1627  บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้น  ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้

มาตรา 1629  ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น  และภายใต้บังคับแห่งมาตรา  1630  วรรคสอง  แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้  คือ

(1) ผู้สืบสันดาน

(6) ลุง  ป้า  น้า  อา

คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม  ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา  1635

มาตรา  1633  ทายาทโดยธรรมในลำดับเดียวกันในลำดับหนึ่งๆ  ที่ระบุไว้ในมาตรา  1629  นั้น  ชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน  ถ้าในลำดับหนึ่งมีทายาทโดยธรรมคนเดียว  ทายาทโดนธรรมคนนั้นมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งทั้งหมด

มาตรา  1635  ลำดับและส่วนแบ่งของคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ในการรับมรดกของผู้ตายนั้น  ให้เป็นไปดังต่อไปนี้

(3) ถ้ามีทายาทตามมาตรา  1629 (4) หรือ (6)  และทายาทนั้นยังมีชีวิตอยู่  หรือมีผู้รับมรดกแทนที่  หรือมีทายาทตามมาตรา  1629 (5) แล้วแต่กรณี  คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่  มีสิทธิได้รับมรดกสองส่วนในสาม

มาตรา  1639  ถ้าบุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตามมาตรา  1629  (1)  (3)  (4)  หรือ  (6)  ถึงแก่ความตาย  หรือถูกจำกัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย  ถ้าบุคคลนั้นมีผู้สืบสันดานก็ให้ผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่  ถ้าผู้สืบสันดานคนใดของบุคคลนั้นถึงแก่ความตายหรือถูกกำจัดมิให้รับมรดกเช่นเดียวกัน  ก็ให้ผู้สืบสันดานของผู้สืบสันดานนั้นรับมรดกแทนที่  และให้มีการรับมรดกแทนที่กันเฉพาะส่วนแบ่งของบุคคลเป็นรายๆสืบต่อกันเช่นนี้ไปจนหมดสาย

มาตรา  1642  การรับมรดกแทนที่กันนั้นให้ใช้บังคับแต่ในระหว่างทายาทโดยธรรม

มาตรา  1643  สิทธิที่จะรับมรดกแทนที่กันนั้นได้เฉพาะแก่ผู้สืบสันดานโดยตรง  ผู้บุพการีหามีสิทธิดังนั้นไม่

วินิจฉัย

เมื่อนายไสวถึงแก่ความตาย  มรดกของนายไสวย่อมตกทอดแก่ทายาทตามมาตรา  1599 นางสดใสเป็นภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายจึงถือเป็นทายาทของนายไสวตามมาตรา  1629  วรรคท้าย  และมีสิทธิได้รับมรดกของนายไสวสองในสามส่วนเท่ากับ  4  ล้านบาท  ตามมาตรา  1635(3)  ส่วนเด็กชายโตไม่มีสิทธิได้รับมรดกของนายไสว  เพราะไม่ได้จดทะเบียนรับเป็นบุตรบุญธรรม  จึงไม่ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานตามมาตรา  1627

นายดำและนางตุ้ย  เป็นน้าและอาของนายไสว  ถือเป็นทายาทโดยธรรมตามมาตรา  1629(6)  มีสิทธิได้รับมรดกของนายไสว  เพราะนายไสวไม่มีทายาทในลำดับก่อนตามกฎหมาย  นายดำและนางตุ้ยมีสิทธิได้รับมรดกของนายไสวจำนวนหนึ่งในสามเท่ากับ  2  ล้านบาท  โดยทั้งสองได้รับส่วนแบ่งเท่าๆกันคนละ  1  ล้านบาท  ตามมาตรา  1633  ปรากฏว่า  นายดำได้ตายก่อนนายไสว  และมีบุตรชอบด้วยกฎหมาย  1  คน  คือ  นายแดง  ซึ่งเป็นผู้สืบสันดานโดยตรงตามมาตรา  1629(1)  จึงเข้ารับมรดกแทนที่นายดำได้ตามมาตรา  1639  ประกอบมาตรา  1642  และมาตรา  1643

สรุป  มรดกของนายไสวจำนวน  6  ล้านบาท  ตกทอดได้แก่

1       นางสดใส จำนวน  4  ล้านบาท

2       นางตุ้ย  จำนวน  1  ล้านบาท

3       นายแดง  จำนวน  1  ล้านบาท

 

ข้อ  3  นายสมบัติอยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรสกับนางสาวสมส่วน  มีบุตร  2  คน  ชื่อนายสมชายและนางสาวสมหญิง  โดยนายสมบัติให้การอุปการะส่งเงินให้นางสาวสมส่วน  เพื่อเลี้ยงดูบุตรทั้งสองจนโต  เนื่องจากว่านางสมรมารดาของนายสมบัติไม่ชอบนางสาวสมส่วน  จึงได้ให้นายสมบัติจดทะเบียนสมรสกับนางสมทรง  โดยนางสมทรงไม่ทราบว่านายสมบัติมีครอบครัวอยู่ก่อนแล้ว  เมื่อนางสมทรงตั้งครรภ์ได้  5  เดือน  นายสมบัติแอบไปจดทะเบียนรับเด็กชายสมควรเป็นบุตรบุญธรรม  เพราะว่านายสมบัติต้องการมีบุตรชาย  ต่อมานางสมทรงคลอดบุตรชื่อเด็กหญิงสมพิศ  แต่นางสมทรงได้ถึงแก่ความตายเพราะตกเลือดมาก  ด้วยความเสียใจนายสมบัติจึงออกบวชที่วัดป่าอนงค์คาราม  เมื่อพระสมบัติออกธุดงค์ก็ถูกช้างตกมันเหยียบถึงแก่มรณภาพ  เมื่อนางสมรทราบข่าวก็หัวใจวายถึงแก่ความตาย  จงแบ่งมรดกของนางสมรมูลค่า  12  ล้านบาท

ธงคำตอบ

มาตรา  1598/25  ผู้จะรับบุตรบุญธรรมหรือผู้จะเป็นบุตรบุญธรรม  ถ้ามีคู่สมรสอยู่ต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสก่อน  ในกรณีที่คู่สมรสไม่อาจให้ความยินยอมได้หรือไปเสียจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่และหาตัวไม่พบเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งปีต้องร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งอนุญาตแทนการให้ความยินยอมของคู่สมรสนั้น

มาตรา  1598/27  การรับบุตรบุญธรรมจะสมบูรณ์ต่อเมื่อได้จดทะเบียนตามกฎหมาย  แต่ถ้าผู้จะเป็นบุตรบุญธรรมนั้นเป็นผู้เยาว์ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมก่อน

มาตรา  1627  บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้น  ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้

มาตรา 1629  ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น  และภายใต้บังคับแห่งมาตรา  1630  วรรคสอง  แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้  คือ

(1) ผู้สืบสันดาน

มาตรา  1633  ทายาทโดยธรรมในลำดับเดียวกันในลำดับหนึ่งๆ  ที่ระบุไว้ในมาตรา  1629  นั้น  ชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน  ถ้าในลำดับหนึ่งมีทายาทโดยธรรมคนเดียว  ทายาทโดนธรรมคนนั้นมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งทั้งหมด

มาตรา  1634  ระหว่างผู้สืบสันดานที่รับมรดกแทนที่กันในส่วนแบ่งของสายหนึ่งๆ  ตามบทบัญญัติในลักษณะ  2  หมวด  4  นั้น  ให้ได้รับส่วนแบ่งมรดกดังนี้

(2) ผู้สืบสันดานในชั้นเดียวกันได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน

มาตรา  1639  ถ้าบุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตามมาตรา  1629  (1)  (3)  (4)  หรือ  (6)  ถึงแก่ความตาย  หรือถูกจำกัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย  ถ้าบุคคลนั้นมีผู้สืบสันดานก็ให้ผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่  ถ้าผู้สืบสันดานคนใดของบุคคลนั้นถึงแก่ความตายหรือถูกกำจัดมิให้รับมรดกเช่นเดียวกัน  ก็ให้ผู้สืบสันดานของผู้สืบสันดานนั้นรับมรดกแทนที่  และให้มีการรับมรดกแทนที่กันเฉพาะส่วนแบ่งของบุคคลเป็นรายๆสืบต่อกันเช่นนี้ไปจนหมดสาย

มาตรา  1643  สิทธิที่จะรับมรดกแทนที่กันนั้นได้เฉพาะแก่ผู้สืบสันดานโดยตรง  ผู้บุพการีหามีสิทธิดังนั้นไม่

วินิจฉัย

นางสมรเจ้ามรดกมีบุตรชื่อนายสมบัติ  ซึ่งเป็นผู้สืบสันดาน  เป็นทายาทโดยธรรมตามมาตรา  1629 (1)  แต่นายสมบัติถึงแก่ความตายก่อนนางสมรเจ้ามรดก  โดยนายสมบัติมีผู้สืบสันดานคือนายสมชาย  น.ส.สมหญิง  และ  ด.ญ.สมพิศ  ซึ่งเป็นบุตร  โดยนายสมชายและ  น.ส.สมหญิง  เป็นบุตรนอกกฎหมายที่เกิดจากการที่นายสมบัติอยู่กินกับ  น.ส.สมส่วน ซึ่งนายสมบัติได้รับรองโดยพฤติการณ์ด้วยการอุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสองจึงมีฐานะเป็นผู้สืบสันดานของนายสมบัติ  ตามมาตรา  1627  ส่วน  ด.ญ.สมพิศ  เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายสมบัติกับนางสมทรง  คู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมายของนายสมบัติ  ดังนั้น  นายสมชาย  น.ส.สมหญิง  และ  ด.ญ.สมพิศ  ซึ่งเป็นผู้สืบสันดานโดยตรงของนายสมบัติจึงมีสิทธิรับมรดกของนางสมร  แทนที่นายสมบัติได้  ตามมาตรา  1639  ประกอบมาตรา  1643  เมื่อนางสมรมีมรดก  12  บ้านบาท  ทั้งสามคน  ซึ่งเป็นผู้สืบสันดานในชั้นเดียวกันย่อมมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งเท่าๆกันคนละ  4  ล้านบาท  ตามมาตรา  1634 (2)

ส่วน  ด.ช.สมควร  ที่นายสมบัติแอบไปจดทะเบียนรับเป็นบุตรบุญธรรม  โดยที่นายสมบัติไม่ได้รับความยินยอมจากนางสมทรงคู่สมรสก่อน  เป็นการฝ่าฝืน  มาตรา  1598/25  และมาตรา  1598/27  จึงไม่มีผลเป็นการรับบุตรบุญธรรม  ด.ช.สมควร  จึงมิใช่บุตรบุญธรรมของนายสมบัติตามกฎหมาย  (อีกทั้งถ้าหากแม้ว่า  ด.ช.สมควรจะเป็นบุตรบุญธรรมโดยชอบด้วยกฎหมายของนายสมบัติ  ทำให้ ด.ช.สมควรมีฐานะเป็นผู้สืบสันดาน  แต่ก็ไม่อาจรับมรดกแทนที่นายสมบัติได้  เพราะการรับมรดกแทนที่จะมีได้ก็แต่โดยเฉพาะผู้ที่เป็นผู้สืบสันดานโดยตรงเท่านั้น  ตามมาตรา  1643)

สรุป  มรดก  12  ล้านบาท  ตกได้แก่  นายสมชาย  น.ส.สมหญิง  และ  ด.ญ.สมพิศ  คนละ  4  ล้านบาท  โดยการรับมรดกแทนที่ตามมาตรา  1639  ประกอบมาตรา  1643  และ  1634 (2)

 

ข้อ  4  นายเทพอยู่กินกันฉันสามีภริยากับนางทอนโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน  มีบุตรด้วยกัน  1  คน  คือ  นายพงษ์  โดยนายเทพให้นายพงษ์ใช้นามสกุลตนและได้อุปการะเลี้ยงดูนายพงษ์ตั้งแต่เกิด  ต่อมานางพงษ์มีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายชื่อนางพิณ  มีบุตร  1  คน  คือ  นางสาวศรี  นายพงษ์และนางพิณอยากมีบุตรชายมาก  ทั้งสองจึงไปจดทะเบียนรับนายต่อเป็นบุตรบุญธรรมตามกฎหมาย  นายต่อจดทะเบียนสมรสกับนางตู่  มีบุตร  1  คนคือ  ด.ญ.แต๋ว  นายต่อล้มป่วยและถึงแก่ความตายในที่สุด  หลังจากนั้นนายพงษ์ถึงแก่ความตาย นายพงษ์มีทรัพย์มรดกเป็นเงินสดทั้งสิ้น  120,000  บาท  นางสาวศรีได้เอาเงินมรดกไปเป็นของตนเองโดยทุจริต  40,000  บาท  ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่ามรดกของนายพงษ์จะตกได้แก่ใคร  เท่าใด  

ธงคำตอบ

มาตรา  1605  ทายาทคนใดยักย้าย  หรือปิดบังทรัพย์มรดกเท่าส่วนที่ตนจะได้หรือมากกว่านั้นโดยฉ้อฉลหรือรู้อยู่ว่าตนทำให้เสื่อมประโยชน์ของทายาทคนอื่น  ทายาทคนนั้นต้องถูกกำจัดมิให้ได้มรดกเลย  แต่ถ้าได้ยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกน้อยกว่าส่วนที่ตนจะได้  ทายาทคนนั้นต้องถูกกำจัดให้ได้มรดกเฉพาะส่วนที่ได้ยักย้ายหรือปิดบังไว้นั้น

มาตรา  1627  บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้น  ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้

มาตรา 1629  ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น  และภายใต้บังคับแห่งมาตรา  1630  วรรคสอง  แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้  คือ

(1) ผู้สืบสันดาน

(2) บิดามารดา

คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม  ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา  1635

มาตรา  1630  ตราบใดที่ทายาทซึ่งยังมีชีวิตอยู่  หรือมีผู้รับมรดกแทนที่ยังไม่ขาดสายแล้วแต่กรณีในลำดับหนึ่งๆ  ที่ระบุไว้ในมาตรา  1629  ทายาทที่อยู่ในลำดับถัดลงไปไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายเลย

แต่ความในวรรคก่อนนี้มิให้ใช้บังคับในกรณีเฉพาะที่มีผู้สืบสันดานคนใดยังมีชีวิตอยู่หรือมีผู้รับมรดกแทนที่กันแล้วแต่กรณี  และมีบิดามารดายังมีชีวิตอยู่  ในกรณีเช่นนั้นให้บิดามารดาได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าเป็นทายาทชั้นบุตร

มาตรา  1635  ลำดับและส่วนแบ่งของคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ในการรับมรดกของผู้ตายนั้น  ให้เป็นไปดังต่อไปนี้

(1) ถ้ามีทายาทตามมาตรา  1629(1)  ซึ่งมีชีวิตอยู่หรือมีผู้รับมรดกแทนที่แล้วแต่กรณี  คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นมีสิทธิได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าตนเป็นทายาทชั้นบุตร

มาตรา  1639  ถ้าบุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตามมาตรา  1629  (1)  (3)  (4)  หรือ  (6)  ถึงแก่ความตาย  หรือถูกจำกัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย  ถ้าบุคคลนั้นมีผู้สืบสันดานก็ให้ผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่  ถ้าผู้สืบสันดานคนใดของบุคคลนั้นถึงแก่ความตายหรือถูกกำจัดมิให้รับมรดกเช่นเดียวกัน  ก็ให้ผู้สืบสันดานของผู้สืบสันดานนั้นรับมรดกแทนที่  และให้มีการรับมรดกแทนที่กันเฉพาะส่วนแบ่งของบุคคลเป็นรายๆสืบต่อกันเช่นนี้ไปจนหมดสาย

มาตรา  1643  สิทธิที่จะรับมรดกแทนที่กันนั้นได้เฉพาะแก่ผู้สืบสันดานโดยตรง  ผู้บุพการีหามีสิทธิดังนั้นไม่

วินิจฉัย

เมื่อนายพงษ์ถึงแก่ความตาย  มรดกของนายพงษ์คือ  เงินสด  120,000  บาท  ย่อมตกได้แก่ทายาทโดยธรรม  คือ  นางพิณในฐานะคู่สมรสตามมาตรา  1629  วรรคท้าย  และนางสาวศรีบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายกับนายต่อบุตรบุญธรรมในฐานะผู้สืบสันดานตามมาตรา  1627 ประกอบมาตรา  1629 (1)  และนางทอนมาดา  ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมลำดับที่  2  ตามมาตรา  1629 (2)  มีสิทธิได้รับมรดกเสมือนเป็นทายาทชั้นบุตรตามมาตรา  1630  วรรคสอง  โดยการแบ่งมรดกต้องเป็นไปตามมาตรา  1635 (1)  ประกอบกับมาตรา  1630  วรรคสอง  โดยทุกคนได้รับส่วนแบ่งเสมือนเป็นทายาทชั้นบุตร  คือได้รับคนละ  30,000  บาท  ส่วนนายเทพแม้มีพฤติการณ์รับรองนางพงษ์ว่าเป็นบุตรของตนโดยให้นายพงษ์ใช้นามสกุลและได้อุปการะเลี้ยงดูนายพงษ์ตั้งแต่เกิดก็ตาม  แต่นายเทพไม่ใช่บิดาที่ชอบด้วยกฎหมายของนายพงษ์  นายเทพจึงไม่มีสิทธิรับมรดกของนายพงษ์ได้

แต่นายต่อถึงแก่ความตายก่อนนายพงษ์  ด.ญ.แต๋ว  ซึ่งเป็นผู้สืบสันดานโดยตรงของนายต่อจึงมีสิทธิรับมรดกแทนที่ในส่วนที่นายต่อจะได้รับได้ตามมาตรา  1639  ประกอบมาตรา  1643

ส่วนนางสาวศรีได้เอาเงินมรดกไปเป็นของตนเองโดยทุจริตจำนวน  40,000  บาท  เป็นการยักย้ายทรัพย์มรดกมากกว่าส่วนที่ตนจะได้รับ นางสาวศรีจึงถูกกำจัดมิให้รับมรดกเลยตามมาตรา  1605  วรรคแรก

สรุป  ทรัพย์มรดกของนายพงษ์คือเงินสด  120,000  บาท  จะตกได้แก่  นางพิณ  ด.ญ.แต๋ว  และนางทอน  คนละ  40,000  บาท

Advertisement