การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2549

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW3009 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยมรดก

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  นายหนึ่งอยู่กินกับนางสองโดยมิได้จดทะเบียนสมรส  มีบุตรด้วยกันหนึ่งคนคือ  นายเอก  ซึ่งนายหนึ่งได้เลี้ยงดูให้การศึกษาและให้ใช้นามสกุลด้วย  นอกจากนี้นายหนึ่งยังมีบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งเกิดกับภริยาเดิมและได้เสียชีวิตไปแล้วอีกสองคนคือ  นายโทกับนายตรี  และเขายังมีน้องสาวร่วมบิดามารดาเดียวกันอีก  1  คนคือ  นางดำ  นายโทได้ไปขอเด็กชายกมลจากสถานเลี้ยงเด็กกำพร้ามาเป็นบุตรบุญธรรมของตนโดยชอบด้วยกฎหมาย  นายหนึ่งมีเงินสดฝากในธนาคารอยู่จำนวน  1  ล้าน  2  แสนบาท  จึงได้ทำพินัยกรรมยกให้ลูกทั้งสามคนคือ  นายเอก  นายโท  นายตรี  และน้องสาวของเขาคือ  นางดำด้วย  โดยให้ได้รับคนละ  3  แสนบาท  ต่อมานายหนึ่งได้ให้นายโทขับรถพานางดำไปธุระให้แก่ตนที่ต่างจังหวัด  ทั้งสองประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตทั้งคู่  นายหนึ่งเสียใจมากคิดว่าเป็นความผิดของตนจึงตรอมใจตายในเวลาต่อมา  จงแบ่งมรดกของนายหนึ่ง

ธงคำตอบ

มาตรา  1620  วรรคสอง  ถ้าผู้ใดตายโดยได้ทำพินัยกรรมไว้  แต่พินัยกรรมนั้นจำหน่ายทรัพย์หรือมีผลบังคับได้แต่เพียงบางส่วนแห่งทรัพย์มรดก  ให้ปันส่วนที่มิได้จำหน่ายโดยพินัยกรรม  หรือส่วนที่พินัยกรรมไม่มีผลบังคับให้แก่ทายาทโดยธรรมตามกฎหมาย

มาตรา  1627  บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้น  ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้

มาตรา 1629  ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น  และภายใต้บังคับแห่งมาตรา  1630  วรรคสอง  แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้  คือ

(1) ผู้สืบสันดาน

คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม  ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา  1635

มาตรา  1633  ทายาทโดยธรรมในลำดับเดียวกันในลำดับหนึ่งๆ  ที่ระบุไว้ในมาตรา  1629  นั้น  ชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน  ถ้าในลำดับหนึ่งมีทายาทโดยธรรมคนเดียว  ทายาทโดนธรรมคนนั้นมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งทั้งหมด

มาตรา  1639  ถ้าบุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตามมาตรา  1629  (1)  (3)  (4)  หรือ  (6)  ถึงแก่ความตาย  หรือถูกจำกัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย  ถ้าบุคคลนั้นมีผู้สืบสันดานก็ให้ผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่  ถ้าผู้สืบสันดานคนใดของบุคคลนั้นถึงแก่ความตายหรือถูกกำจัดมิให้รับมรดกเช่นเดียวกัน  ก็ให้ผู้สืบสันดานของผู้สืบสันดานนั้นรับมรดกแทนที่  และให้มีการรับมรดกแทนที่กันเฉพาะส่วนแบ่งของบุคคลเป็นรายๆสืบต่อกันเช่นนี้ไปจนหมดสาย

มาตรา  1643  สิทธิที่จะรับมรดกแทนที่กันนั้นได้เฉพาะแก่ผู้สืบสันดานโดยตรง  ผู้บุพการีหามีสิทธิดังนั้นไม่

มาตรา  1698  ข้อกำหนดพินัยกรรมนั้น  ย่อมตกไป

(1) เมื่อผู้รับพินัยกรรมตายก่อนผู้ทำพินัยกรรม

มาตรา  1699  ถ้าพินัยกรรม  หรือข้อกำหนดในพินัยกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินรายใดเป็นอันไร้ผลด้วยประการใดๆ  ทรัพย์สินรายนั้นตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมหรือได้แก่แผ่นดินแล้วแต่กรณี

วินิจฉัย

นายหนึ่งได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกของตนให้แก่นายเอก  นายโท  นายตรี  ซึ่งเป็นบุตร  และนางดำน้องสาวคนละ  3  แสนบาท  ปรากฏว่า  นายโทและนางดำผู้รับพินัยกรรมตายก่อนนายหนึ่งผู้ทำพินัยกรรม  ฉะนั้น  พินัยกรรมในส่วนของสองคนนี้จึงตกไปตามมาตรา  1698(1)  และกลับสู่กองมรดกของนายหนึ่ง  เพื่อนำไปแบ่งแก่ทายาทโดยธรรมของนายหนึ่งต่อไปตามมาตรา  1699  ประกอบมาตรา  1620  วรรคสอง

ฉะนั้นเงินสดจำนวน  6  แสนบาทของนายโทและนางดำตามพินัยกรรมจึงตกแก่ทายาทโดยธรรมของนายหนึ่ง  คือ  นายโท  นายตรี  และนายเอก  ซึ่งเป็นผู้สืบสันดานของนายหนึ่งตามมาตรา  1629(1)  ประกอบมาตรา  1627  คนละส่วนเท่าๆกัน  คือคนละ  2  แสนบาทตามมาตรา  1633  ส่วนนางสองภริยาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่มีส่วนในมรดกในฐานะทายาทโดยธรรมที่เป็นคู่สมรสตามมาตรา  1629  วรรคท้าย

นายโทมีบุตรบุญธรรมหนึ่งคนคือเด็กชายกมล  แต่เด็กชายกมลไม่สามารถรับมรดกแทนที่ของนายโทได้ตามมาตรา  1639  เพราะไม่ได้เป็นผู้สืบสันดานโดยตรง  (ตามหลักสายโลหิต)  ตามมาตรา  1643  ดังนั้นในส่วนของนายโทจึงตกแก่ทายาทโดยธรรมของนายหนึ่งอีกสองคนคือ  นายเอกและนายตรี  ซึ่งนายเอกนั้นแม้เป็นบุตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของนายหนึ่ง  แต่มีการรับรองพฤติการณ์โดยนายหนึ่งได้เลี้ยงดู  ให้การศึกษา  และให้ใช้นามสกุลด้วย  นายเอกจึงเป็นผู้สืบสันดานและรับมรดกได้ตามมาตรา  1627  ประกอบมาตรา  1629(1)  ดังนั้นทั้งสองคนจึงได้รับส่วนแบ่งเท่าๆกัน  คือ  คนละ  1  แสนบาท  ตามมาตรา  1633

สรุป  มรดกของนายหนึ่งจำนวน  1  ล้าน  2  แสนบาท  จึงตกทอดแก่นายเอกและนายตรีคนละ  6  แสนบาท  โดยรับในฐานะทายาทโดยธรรมคนละ  3  แสนบาท  และในฐานะทายาทผู้รับพินัยกรรมอีกคนละ  3  แสนบาท 

 

ข้อ  2  นายเอกและนางโทเป็นสามีภริยาชอบด้วยกฎหมาย  นายเอกมีน้องร่วมบิดามารดาเดียวกันชื่อนายดำ  และมีน้องสาวร่วมมารดาชื่อนางแดง  นางแดงมีบุตรชอบด้วยกฎหมายชื่อเด็กหญิงส้ม  นายเอกได้ทำพินัยกรรมมีข้อความว่า  เมื่อข้าพเจ้าตายไป  ให้ทรัพย์มรดกทั้งหมดของข้าพเจ้าตกทอดแก่นางแดงแต่เพียงผู้เดียว  นางแดงประสบอุบัติเหตุถึงแก่ความตาย  ต่อมานายเอกตายมีมรดกจำนวน  3 ล้านบาท  จงแบ่งมรดกของนายเอก

ธงคำตอบ

มาตรา  1620  วรรคสอง  ถ้าผู้ใดตายโดยได้ทำพินัยกรรมไว้  แต่พินัยกรรมนั้นจำหน่ายทรัพย์หรือมีผลบังคับได้แต่เพียงบางส่วนแห่งทรัพย์มรดก  ให้ปันส่วนที่มิได้จำหน่ายโดยพินัยกรรม  หรือส่วนที่พินัยกรรมไม่มีผลบังคับให้แก่ทายาทโดยธรรมตามกฎหมาย

มาตรา 1629  ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น  และภายใต้บังคับแห่งมาตรา  1630  วรรคสอง  แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้  คือ

(3) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน

(4) พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน

คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม  ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา  1635

มาตรา  1630  ตราบใดที่ทายาทซึ่งยังมีชีวิตอยู่  หรือมีผู้รับมรดกแทนที่ยังไม่ขาดสายแล้วแต่กรณีในลำดับหนึ่งๆ  ที่ระบุไว้ในมาตรา  1629  ทายาทที่อยู่ในลำดับถัดลงไปไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายเลย

มาตรา  1635  ลำดับและส่วนแบ่งของคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ในการรับมรดกของผู้ตายนั้น  ให้เป็นไปดังต่อไปนี้

(2) ถ้ามีทายาทตามมาตรา  1629 (3)  และทายาทนั้นยังมีชีวิตอยู่  หรือมีผู้รับมรดกแทนที่หรือถ้าไม่มีทายาทตามมาตรา  1629 (1)  แต่มีทายาทตามมาตรา  1629 (2)  แล้วแต่กรณี  คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นมีสิทธิได้รับมรดกกึ่งหนึ่ง

มาตรา  1642  การรับมรดกแทนที่กันนั้นให้ใช้บังคับแต่ในระหว่างทายาทโดยธรรม

มาตรา  1698  ข้อกำหนดพินัยกรรมนั้น  ย่อมตกไป

(1) เมื่อผู้รับพินัยกรรมตายก่อนผู้ทำพินัยกรรม

มาตรา  1699  ถ้าพินัยกรรม  หรือข้อกำหนดในพินัยกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินรายใดเป็นอันไร้ผลด้วยประการใดๆ  ทรัพย์สินรายนั้นตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมหรือได้แก่แผ่นดินแล้วแต่กรณี

วินิจฉัย

นางแดงผู้รับพินัยกรรมได้ตายก่อนนายเอกผู้ทำพินัยกรรม  จึงทำให้ข้อกำหนดพินัยกรรมนั้นย่อมตกไปตามมาตรา  1698(1)  และมรดกดังกล่าวจะตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมของนายเอกตามมาตรา  1699  ประกอบมาตรา  1620  วรรคสอง  เด็กหญิงส้มซึ่งเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนางแดง  ไม่สามารถเข้ารับมรดกแทนที่ได้  เพราะการรับมรดกแทนที่กันนั้น  กฎหมายให้ใช้บังคับแต่ในระหว่างทายาทโดยธรรมตามมาตรา  1642

นายเอกตายมีนายดำเป็นน้องร่วมบิดามารดาเดียวกันเป็นทายาทโดยธรรมลำดับที่  3  ตามมาตรา  1629(3)  และมีนางแดงเป็นน้องร่วมมารดาเป็นทายาทโดยธรรมลำดับที่  4  ตามมาตรา 1629(4)  ดังนั้นนายดำมีสิทธิได้รับมรดกของนายเอกในฐานะทายาทโดยธรรมที่เป็นญาติตามมาตรา  1629(3)  ประกอบมาตรา  1630  วรรคแรก  ร่วมกับนางโทภริยาของนายเอกตามมาตรา  1629  วรรคท้าย  โดยนางโทได้รับมรดกกึ่งหนึ่ง  อีกกึ่งหนึ่งตกทอดแก่นายดำตามมาตรา  1635(2)

สรุป  มรดกของนายเอกจำนวน  3  ล้านบาทตกทอดได้แก่

1       นางโทจำนวน  1.5  ล้านบาท

2       นายดำจำนวน  1.5  ล้านบาท

 

ข้อ  3  นายหนึ่งและนางสาวสอง  อยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสจนนางสาวสองตั้งครรภ์  ก่อนนางสาวสองจะคลอดบุตรได้เลิกกับนายหนึ่งและไปอยู่กินกับนายเมตตาอย่างลับๆไม่บอกให้นางกรุณาภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายเมตตารู้  เมื่อนางสาวสองคลอดบุตรชื่อนายเอกแล้ว  นายเมตตาไดให้นายเอกใช้นามสกุลและให้การเลี้ยงดูเป็นอย่างดี  ต่อมาเมื่อนางกรุณารู้เรื่องทั้งหมดจึงได้พานางสาวอุเบกขาบุตรสาวของตนที่เกิดกับนายเมตตาหนีออกจากบ้านและพากันไปอยู่บ้านนายโลภะพี่ชายร่วมบิดามารดาเดียวกันของนายเมตตา  ด้วยความน้อยใจนางกรุณาจึงคิดฆ่าตัวตายด้วยการใช้ปืนยิง  แต่ปรากฏว่านางสาวอุเบกขาเข้ามาเห็นจึงปัดปืน  ปืนลั่นถูกนางสาวอุเบกขาถึงแก่ความตาย  เมื่อนายเมตตาทราบข่าวหัวใจวายตาย  จงแบ่งมรดก  3  ล้านบาทของนายเมตตา

ธงคำตอบ

มาตรา  1627  บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้น  ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้

มาตรา 1629  ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น  และภายใต้บังคับแห่งมาตรา  1630  วรรคสอง  แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้  คือ

(1) ผู้สืบสันดาน

(3) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน

คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม  ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา  1635

มาตรา  1630  ตราบใดที่ทายาทซึ่งยังมีชีวิตอยู่  หรือมีผู้รับมรดกแทนที่ยังไม่ขาดสายแล้วแต่กรณีในลำดับหนึ่งๆ  ที่ระบุไว้ในมาตรา  1629  ทายาทที่อยู่ในลำดับถัดลงไปไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายเลย

มาตรา  1633  ทายาทโดยธรรมในลำดับเดียวกันในลำดับหนึ่งๆ  ที่ระบุไว้ในมาตรา  1629  นั้น  ชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน  ถ้าในลำดับหนึ่งมีทายาทโดยธรรมคนเดียว  ทายาทโดนธรรมคนนั้นมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งทั้งหมด

มาตรา  1635  ลำดับและส่วนแบ่งของคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ในการรับมรดกของผู้ตายนั้น  ให้เป็นไปดังต่อไปนี้

(2) ถ้ามีทายาทตามมาตรา  1629 (3)  และทายาทนั้นยังมีชีวิตอยู่  หรือมีผู้รับมรดกแทนที่หรือถ้าไม่มีทายาทตามมาตรา  1629 (1)  แต่มีทายาทตามมาตรา  1629 (2)  แล้วแต่กรณี  คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นมีสิทธิได้รับมรดกกึ่งหนึ่ง

วินิจฉัย

การที่นายเมตตาเจ้ามรดกมีนางสาวอุเบกขาเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายที่เกิดกับนางกรุณาภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย  แต่ปรากฏว่านางสาวอุเบกขาผู้สืบสันดานทายาทโดยธรรมตามมาตรา  1629(1)  ถึงแก่ความตาย  ดังนั้นนายโลภะพี่ชายร่วมบิดามารดาเดียวกันกับนายเมตตาซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมลำดับที่  3  ตามมาตรา  1629(3)  จึงมีสิทธิรับมรดกได้ตามมาตรา  1630  วรรคแรก

เมื่อนายเมตตาเจ้ามรดกตายโดยมีนางกรุณาคู่สมรสและมีนายโลภะเป็นทายาทโดยธรรมตามมาตรา  1629(3)  นางกรุณาคู่สมรสมีสิทธิได้รับมรดกกึ่งหนึ่งของ  3  ล้านบาท  เป็นเงิน  1.5  ล้านบาท  ส่วนอีก  1.5  ล้านบาท  ตกเป็นของนายโลภะตามมาตรา  1635(2)  ประกอบมาตรา  1633

ส่วนกรณีนายเอก  แม้นายเมตตาได้ให้นายเอกใช้นามสกุลของนายเมตตาก็ไม่ทำให้นายเอกเป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองโดยพฤตินัย  เพราะการรับรองโดยพฤตินัยต้องเป็นการรับรองบุตรที่เกิดจากสายโลหิตของตนเองเท่านั้น  ไม่มีกรณีรับสมอ้าง  ดังนั้น  นายเอกไม่ใช่บุตรของนายเมตตาจึงไม่มีสิทธิได้รับมรดกของนายเมตตาตามมาตรา  1627  ประกอบมาตรา  1629(1)

สรุป  มรดก  3  ล้านบาท  ตกได้แก่

นางกรุณา  1.5  ล้านบาท

นายโลภะ  1.5  ล้านบาท

 

ข้อ  4  นายชาตรีอยู่กินกันฉันสามีภริยากับนางชมโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส  มีบุตรด้วยกัน  1  คน  คือนายเอก  นายชาตรีได้อุปการะเลี้ยงดูนายเอกร่วมกับนางชมมาโดยตลอด  นายเอกจดทะเบียนสมรสกับนางอ้นมีบุตร  2  คน  คือนายใหญ่และนางเล็ก  นายใหญ่ขอเงินจากนายเอกเพื่อจะไปใช้หนี้การพนัน  นายเอกได้ให้เงินกับนายใหญ่โดยให้นายใหญ่ทำหนังสือไว้กับนายเอกว่านายใหญ่จะไม่ขอเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินของนายเอกอีก  และจะไม่ขอรับมรดกใดๆทั้งสิ้นของนายเอกด้วย  ต่อมานายเล็กจดทะเบียนสมรสกับนางลิน  มีบุตรด้วยกัน  1  คน  คือ  ด.ญ.หล้า  นายเล็กและนางลินรับ  ด.ญ.รัก  จากสถานเลี้ยงเด็กกำพร้ามาเป็นบุตรบุญธรรมโดยจดทะเบียนตามกฎหมาย  นายเล็กเป็นมะเร็งที่ตับถึงแก่ความตาย  หลังจากนั้นนายเอกประสบอุบัติเหตุตาย  นายเอกมีทรัพย์มรดกทั้งสิ้น  600,000  บาท  ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่า  มรดกของนายเอกจะตกได้แก่ใคร  เพียงใด

ธงคำตอบ

มาตรา  1612  การสละมรดกนั้น  ต้องแสดงเจตนาชัดแจ้งเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่หรือทำเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ

มาตรา  1619  ผู้ใดจะสละหรือจำหน่ายจ่ายโอนโดยประการใด  ซึ่งสิทธิอันหากจะมีในภายหน้าในการสืบมรดกผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นไม่ได้

มาตรา 1629  ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น  และภายใต้บังคับแห่งมาตรา  1630  วรรคสอง  แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้  คือ

(1) ผู้สืบสันดาน

(2) บิดามารดา

คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม  ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา  1635

มาตรา  1630  วรรคสองแต่ความในวรรคก่อนนี้มิให้ใช้บังคับในกรณีเฉพาะที่มีผู้สืบสันดานคนใดยังมีชีวิตอยู่หรือมีผู้รับมรดกแทนที่กันแล้วแต่กรณี  และมีบิดามารดายังมีชีวิตอยู่  ในกรณีเช่นนั้นให้บิดามารดาได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าเป็นทายาทชั้นบุตร

มาตรา  1635  ลำดับและส่วนแบ่งของคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ในการรับมรดกของผู้ตายนั้น  ให้เป็นไปดังต่อไปนี้

(1) ถ้ามีทายาทตามมาตรา  1629(1)  ซึ่งมีชีวิตอยู่หรือมีผู้รับมรดกแทนที่แล้วแต่กรณี  คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้น  มีสิทธิได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าตนเป็นทายาทชั้นบุตร

มาตรา  1639  ถ้าบุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตามมาตรา  1629  (1)  (3)  (4)  หรือ  (6)  ถึงแก่ความตาย  หรือถูกจำกัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย  ถ้าบุคคลนั้นมีผู้สืบสันดานก็ให้ผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่  ถ้าผู้สืบสันดานคนใดของบุคคลนั้นถึงแก่ความตายหรือถูกกำจัดมิให้รับมรดกเช่นเดียวกัน  ก็ให้ผู้สืบสันดานของผู้สืบสันดานนั้นรับมรดกแทนที่  และให้มีการรับมรดกแทนที่กันเฉพาะส่วนแบ่งของบุคคลเป็นรายๆสืบต่อกันเช่นนี้ไปจนหมดสาย

มาตรา  1643  สิทธิที่จะรับมรดกแทนที่กันนั้นได้เฉพาะแก่ผู้สืบสันดานโดยตรง  ผู้บุพการีหามีสิทธิดังนั้นไม่

วินิจฉัย

เมื่อนายเอกถึงแก่ความตาย  มรดกทั้งสิ้น  600,000  บาท  ย่อมตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมของนายเอก  ทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิรับมรดกของนายเอก  คือ  นายใหญ่และนายเล็ก  ในฐานะผู้สืบสันดานตามมาตรา  1629(1)  นางชมในฐานะมารดาตามมาตรา  1629(2) และนางอ้นในฐานะคู่สมรสตามมาตรา  1629  วรรคสอง  ส่วนนายชาตรีไม่มีสิทธิรับมรดกของนายเอก  เพราะนายชาตรีไม่ใช่บิดาที่ชอบด้วยกฎหมายการแบ่งมรดกเบื้องต้นในกรณีเช่นนี้ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา  1630  วรรคสอง  ประกอบกับมาตรา  1635(1)  คือ  นายใหญ่  นายเล็ก  นางชม  และนางอ้น  โดยนางอ้นได้รับส่วนแบ่งเสมือนเป็นทายาทชั้นบุตร  ดังนั้นทั้งสี่คนจึงได้รับมรดกคนละ  150,000  บาท

ส่วนการที่นายใหญ่ได้ทำหนังสือไว้กับนายเอกว่านายใหญ่จะไม่ขอเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินของนายเอกอีก  และจะไม่ขอรับมรดกใดๆ  ทั้งสิ้นของนายเอกนั้น  ยังไม่ถือเป็นการสละมรดก  เหตุเพราะไม่ได้มอบหนังสือสละมรดกไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่  หรือไม่ได้ทำเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามมาตรา  1612  และการสละมรดกซึ่งสิทธิอันหากจะมีภายหน้าในการสืบมรดกผู้ยังมีชีวิตอยู่เป็นการต้องห้ามตามมาตรา  1619  ดังนั้น  นายใหญ่จึงยังคงมีสิทธิรับมรดกของนายเอก

เมื่อนายเล็กถึงแก่ความตายก่อนนายเอกเจ้ามรดก  ด.ญ.หล้า  ซึ่งเป็นผู้สืบสันดานโดยตรง (ถือตามหลักสายโลหิต)  ของนายเล็กจึงมีสิทธิรับมรดกแทนที่นายเล็กได้ตามมาตรา  1639  ประกอบกับมาตรา  1643  ส่วน  ด.ญ.รัก  เป็นบุตรบุญธรรมซึ่งไม่ใช่ผู้สืบสันดานโดยตรงของนายเล็ก  จึงไม่มีสิทธิรับมรดกแทนที่นายเล็กได้

สรุป  มรดกของนายเอก  600,000  บาท  ตกได้แก่  นายใหญ่  ด.ญ.หล้า  นางชม  และนางอ้นคนละ  150,000  บาท    

Advertisement