การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2548

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW3009 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยมรดก

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  นายเอกเจ้ามรดกได้อยู่กินฉันสามีภริยากับนางสาวแดงโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส  และมีบุตรด้วยกันสองคนคือ  เด็กชายโตกับเด็กหญิงติ๋ว  ซึ่งนายเอกได้เลี้ยงดูอย่างเปิดเผยและส่งเสียเล่าเรียนเยี่ยงบิดามีต่อบุตร  นายเอกยังมีนายโทน้องชายร่วมบิดามารดาเดียวกันอีกหนึ่งคนซึ่งยังมีชีวิตอยู่  นายโทได้จดทะเบียนสมรสกับนางรัศมีและมีบุตรชื่อเด็กชายหมู  ทั้งนี้นายเอกมีมรดกจำนวน  2  ล้านบาท  และได้ทำพินัยกรรมให้เด็กชายหมูจำนวน  1  ล้านบาท  ปรากฏว่าเด็กชายหมูได้ตายก่อนนายเอกหลังจากนั้นนายเอกจึงตาย  จงแบ่งมรดกของนายเอก

ธงคำตอบ

มาตรา  1603  กองมรดกย่อมตกทอดแก่ทายาทโดยสิทธิตามกฎหมายหรือโดยพินัยกรรม

ทายาทที่มีสิทธิตามกฎหมาย  เรียกว่า  ทายาทโดยธรรม

ทายาทที่มีสิทธิตามพินัยกรรม  เรียกว่า  ผู้รับพินัยกรรม

มาตรา  1620  วรรคแรก  ถ้าผู้ใดตายโดยไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้หรือทำพินัยกรรมไว้  แต่ไม่มีผลบังคับได้  ให้ปันทรัพย์มรดกทั้งหมดแก่ทายาทโดยธรรมของผู้ตายนั้นตามกฎหมาย

มาตรา  1627  บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้น  ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้

มาตรา 1629  ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น  และภายใต้บังคับแห่งมาตรา  1630  วรรคสอง  แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้  คือ

(1)  ผู้สืบสันดาน

มาตรา  1633  ทายาทโดยธรรมในลำดับเดียวกันในลำดับหนึ่งๆ  ที่ระบุไว้ในมาตรา  1629  นั้น  ชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน  ถ้าในลำดับหนึ่งมีทายาทโดยธรรมคนเดียว  ทายาทโดนธรรมคนนั้นมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งทั้งหมด

มาตรา  1698  ข้อกำหนดพินัยกรรมนั้น  ย่อมตกไป

(1) เมื่อผู้รับพินัยกรรมตายก่อนผู้ทำพินัยกรรม

มาตรา  1699  ถ้าพินัยกรรม  หรือข้อกำหนดในพินัยกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินรายใดเป็นอันไร้ผลด้วยประการใดๆ  ทรัพย์สินรายนั้นตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมหรือได้แก่แผ่นดินแล้วแต่กรณี

วินิจฉัย

นางสาวแดงไม่มีสิทธิได้รับมรดกของนายเอกเพราะไม่ใช่คู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย (ไม่ได้จดทะเบียนสมรส)  จึงไม่มีฐานะเป็นทายาทโดยธรรมตามมาตรา  1629  วรรคท้าย  ส่วนเด็กชายโตกับเด็กหญิงติ๋วเป็นทายาทโดยธรรมในฐานะของผู้สืบสันดานเพราะเป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วโดยพฤติการณ์  โดยการเลี้ยงดูและส่งเสียเล่าเรียนเยี่ยงบิดามีบุตรตามมาตรา  1627  ประกอบมาตรา  1629(1)  จึงมีสิทธิได้รับมรดก

นายโทเป็นทายาทโดยธรรมลำดับที่  3  ในฐานะน้องร่วมบิดามารดาเดียวกันตามมาตรา  1629(3)  แต่ไม่มีสิทธิได้รับมรดกของนายเอก เพราะนายเอกเจ้ามรดกมีทายาทโดยธรรมลำดับที่  1  ที่มีสิทธิได้รับมรดกอยู่ก่อนแล้วคือ  เด็กชายโตกับเด็กหญิงติ๋ว  นายโทซึ่งเป็นทายาทในลำดับถัดไปจึงไม่มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายเลย  อีกทั้งแม้เด็กชายหมูจะเป็นผู้รับพินัยกรรมจำนวน  1  ล้านบาท  แต่ก็ได้ตายก่อนนายเอกเจ้ามรดก  ด้วยเหตุนี้ข้อกำหนดตามพินัยกรรมจึงตกไปตามมาตรา  1698(1)  จำนวนเงินตามพินัยกรรมจึงกลับคืนสู่กองมรดกเพื่อแบ่งให้แก่ทายาทโดยธรรมต่อไปตามมาตรา  1603  มาตรา  1699  ประกอบมาตรา  1620  วรรคแรก  ส่วนนางรัศมีคู่สมรสของนายโทนั้น  เป็นเพียงน้องสะใภ้ของนายเอกจึงไม่มีสิทธิได้รับมรดกแต่อย่างใด  เพราะไม่มีฐานะเป็นทายาทโดยธรรมของนายเอก

ดังนั้น  มรดกของนายเอกจำนวน  2  ล้านบาท  จึงตกทอดแก่เด็กชายโตและเด็กหญิงติ๋วคนละเท่าๆกัน  คือ  1  ล้านบาทตามมาตรา  1639  ประกอบมาตรา  1633

สรุป  มรดกของนายเอก  ตกทอดแก่เด็กชายโทและเด็กหญิงติ๋วคนละ  1  ล้านบาท

 

ข้อ  2  นายเออยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับนางสาวบี  มีบุตรด้วยกัน  2  คน  ชื่อนายหนึ่งและนางสาวสอง  นายน้ำได้มาจดทะเบียนรับนายหนึ่งไปเป็นบุตรบุญธรรม  ต่อมานายหนึ่งได้อยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับนางสาวหน่อยทั้งสองไม่มีบุตรด้วยกัน  นายหนึ่งต้องการมีบุตรจึงได้ไปจดทะเบียนรับนางสาวหยาดมาเป็นบุตรบุญธรรม  โดยที่นางสาวหน่อยยังไม่ได้ให้ความยินยอม  ต่อมานายหนึ่งแยกทางกับนางสาวหน่อยแล้วได้ไปจดทะเบียนสมรสกับนางนิดทั้งสองคนมีบุตรด้วยกันชื่อนางสาวหวาน  ต่อมานางสาวหยาดถึงแก่ความตายโดยมีนายวันเป็นบุตรบุญธรรม  นางสาวหวานถึงแก่ความตายโดยมีนายทูเป็นบุตรที่เกิดจากการอยู่กินร่วมกันกับนายอำนาจอยู่ต่อมาอีก  2  ปี  นายหนึ่งก็ถึงแก่ความตายโดยมีทรัพย์มรดก  9  ล้านบาท  จงแบ่งมรดกนายหนึ่ง

ธงคำตอบ

มาตรา  1546  เด็กเกิดจากหญิงที่มิได้มีการสมรสกับชาย  ให้ถือว่าเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของหญิงนั้น 

มาตรา  1598/29  การรับบุตรบุญธรรมไม่ก่อให้เกิดสิทธิรับมรดกของบุตรบุญธรรมในฐานะทายาทโดยธรรมเพราะเหตุการณ์รับบุตรบุญธรรมนั้น

มาตรา  1627  บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้น  ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้

มาตรา 1629  ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น  และภายใต้บังคับแห่งมาตรา  1630  วรรคสอง  แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้  คือ

(1) ผู้สืบสันดาน

(2) บิดามารดา

(3) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน

คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม  ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา  1635

มาตรา  1630  ตราบใดที่ทายาทซึ่งยังมีชีวิตอยู่  หรือมีผู้รับมรดกแทนที่ยังไม่ขาดสายแล้วแต่กรณีในลำดับหนึ่งๆ  ที่ระบุไว้ในมาตรา  1629  ทายาทที่อยู่ในลำดับถัดลงไปไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายเลย

แต่ความในวรรคก่อนนี้มิให้ใช้บังคับในกรณีเฉพาะที่มีผู้สืบสันดานคนใดยังมีชีวิตอยู่หรือมีผู้รับมรดกแทนที่กันแล้วแต่กรณี  และมีบิดามารดายังมีชีวิตอยู่  ในกรณีเช่นนั้นให้บิดามารดาได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าเป็นทายาทชั้นบุตร

มาตรา  1635  ลำดับและส่วนแบ่งของคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ในการรับมรดกของผู้ตายนั้น  ให้เป็นไปดังต่อไปนี้

(1) ถ้ามีทายาทตามมาตรา  1629(1)  ซึ่งมีชีวิตอยู่หรือมีผู้รับมรดกแทนที่แล้วแต่กรณี  คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้น  มีสิทธิได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าตนเป็นทายาทชั้นบุตร

มาตรา  1639  ถ้าบุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตามมาตรา  1629  (1)  (3)  (4)  หรือ  (6)  ถึงแก่ความตาย  หรือถูกจำกัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย  ถ้าบุคคลนั้นมีผู้สืบสันดานก็ให้ผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่  ถ้าผู้สืบสันดานคนใดของบุคคลนั้นถึงแก่ความตายหรือถูกกำจัดมิให้รับมรดกเช่นเดียวกัน  ก็ให้ผู้สืบสันดานของผู้สืบสันดานนั้นรับมรดกแทนที่  และให้มีการรับมรดกแทนที่กันเฉพาะส่วนแบ่งของบุคคลเป็นรายๆสืบต่อกันเช่นนี้ไปจนหมดสาย

มาตรา  1643  สิทธิที่จะรับมรดกแทนที่กันนั้นได้เฉพาะแก่ผู้สืบสันดานโดยตรง  ผู้บุพการีหามีสิทธิดังนั้นไม่

วินิจฉัย

นายหนึ่งเจ้ามรดกเป็นบุตรที่เกิดจากการอยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยาโดยไม่จดทะเบียนสมรสของนายเอและนางสาวบี  นายหนึ่งจึงเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนางสาวบีตามมาตรา  1546  แต่มิใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายเอ  ดังนั้นนายเอจึงมิใช่ทายาทตามมาตรา  1629(2)  แต่นางสาวบีมารดาเป็นทายาทตามมาตรา  1629(2)

ส่วนนางน้ำแม้เป็นผู้รับนายหนึ่งเป็นบุตรบุญธรรม  ก็ไม่มีสิทธิรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรมของนายหนึ่งตามมาตรา  1598/29  นางน้ำจึงไม่เป็นทายาทโดยธรรมของนายหนึ่งตามมาตรา  1629(2)

กรณีนางสาวสองเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกับนายหนึ่งเจ้ามรดกจึงเป็นทายาทตามมาตรา  1629(3)  ซึ่งพิจารณาตามความเป็นจริง

ในระหว่างที่นายหนึ่งอยู่กินกับนางสาวหน่อย  นายหนึ่งไปจดทะเบียนรับนางสาวหยาดมาเป็นบุตรบุญธรรม  นางสาวหยาดจึงเป็นผู้สืบสันดานเป็นทายาทตามมาตรา  1627  มาตรา  1629(1)  แม้นางสาวหน่อยภริยาไม่ชอบด้วยกฎหมายจะไม่ยินยอมก็ไม่มีผลทางกฎหมาย การจดทะเบียนรับนางสาวหยาดเป็นบุตรบุญธรรมจึงมีผลโดยสมบูรณ์

ในระหว่างนายหนึ่งจดทะเบียนสมรสกับนางนิด  ทั้งสองมีบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายชื่อ  นางสาวหวาน  นาวสาวหวานจึงเป็นผู้สืบสันดานเป็นทายาทโดยธรรมตามมาตรา  1629(1)

แต่ปรากฏว่า  นางสาวหยาดทายาทโดยธรรมตามมาตรา  1629(1)  ถึงแก่ความตายก่อนนายหนึ่งเจ้ามรดกโดยมีนายวันเป็นบุตรบุญธรรม  นายวันจึงเป็นผู้สืบสันดานของนางสาวหยาด  แต่ไม่อาจรับมรดกแทนที่นางสาวหยาดได้ตามมาตรา  1643  เพราะการรับมรดกแทนที่มีได้แต่โดยผู้สืบสันดานโดยตรงเท่านั้น  แต่นายวันเป็นเพียงผู้สืบสันดาน  แต่มิได้เกิดจากสายโลหิตของนางสาวหวานจึงมิใช่ผู้สืบสันดานโดยตรงที่จะรับมรดกแทนที่ได้ส่วนกรณีนางสาวหวานทายาทตามมาตรา  1629(1)  ถึงแก่ความตายก่อนนายหนึ่งเจ้ามรดก  โดยมีบุตรชื่อนายทู  เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายที่เกิดขึ้นระหว่างการอยู่กินร่วมกันกับนายอำนาจ  ดังนั้นนายทูเป็นผู้สืบสันดานโดยตรงของนางสาวหวานจึงสามารถรับมรดกแทนที่นางสาวหวานได้ตามมาตรา  1639  มาตรา  1643

ดังนั้น  นายหนึ่งมีคู่สมรสคือนางนิดเป็นทายาทโดยธรรมตามมาตรา  1629  วรรคท้าย  มีนางสาวบีเป็นมารดาเป็นทายาทโดยธรรมตามมาตรา  1629(2)  มีนายทูเป็นผู้รับมรดกแทนที่นางสาวหวานตามมาตรา  1639  มาตรา  1643  ประกอบมาตรา  1629(1)  ดังนั้นมรดก  9 ล้านบาท  จึงได้คนละ  3  ล้านเท่าๆกัน  ตามมาตรา  1635(1)  และมาตรา  1630(1)

ส่วนนางสาวสอง  พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันเป็นทายาทโดยธรรมตามมาตรา  1629(3)  ไม่มีสิทธิได้รับ  เพราะมีทายาทในลำดับหนึ่งๆแล้ว  ลำดับถัดลงมาจึงไม่มีสิทธิได้รับตามมาตรา  1630  วรรคแรก

สรุป  มรดก  9  ล้านบาท  ได้แก่

นายนิดภริยา  3  ล้านบาท  ตามมาตรา  1629  วรรคท้าย

นายทูแทนที่นางสาวหวาน  3  ล้านบาท  ตามมาตรา  1629(1)  ,  1639  ,  1643

นางสาวบีมารดา  3  ล้านบาท  ตามมาตรา  1629(2)

 

ข้อ  3  เอกเป็นหม้าย  มีบุตรชายที่ชอบด้วยกฎหมายสองคนคือโทกับตรี  ทั้งสองคนไม่เคยดูแลบิดาเลยเอกรู้สึกเหงาจึงไปขอบุตรสาวของคนงานก่อสร้างข้างบ้านคือจัตวามาเป็นภริยาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส  มีบุตรด้วยกันหนึ่งคนคือ  ดำ  ต่อมาเอกประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตพร้อมกับจัตวา  โทและตรีจึงได้ดูแลดำแทนพ่อต่อมาโดยนำมาอาศัยอยู่ในบ้านเดียวกัน  ดำมีบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายหนึ่งคนคือ  แดง และตรีก็มีบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายหนึ่งคนคือ  ขาว  โทมีฐานะร่ำรวยกว่าน้องทั้งสองคน  เขามีเงินสดอยู่ในธนาคาร 1  ล้าน  6  แสนบาท จึงได้ทำพินัยกรรมยกให้ตรีและดำคนละ  8  แสนบาท  ต่อมาตรีประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต  ดำจึงได้นำขาวมาอุปการะเลี้ยงดูเหมือนเป็นบุตรบุญธรรมของตน  ดำเป็นคนโมโหร้าย  พูดจาโผงผาง  วันหนึ่งดำทะเลาะกับโทมีการโต้เถียงกันรุนแรง  โทจึงไปคว้าปืนมาเพื่อจะยิงขู่ บังเอิญดำแย่งปืนมาได้และได้ทำปืนลั่นใส่โทโดยไม่ได้ตั้งใจ  ทำให้โทถึงแก่ความตายทันที  ศาลได้ตัดสินลงโทษจำคุกดำฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้โทตายโดยคำพิพากษาถึงที่สุด  จงวินิจฉัยว่า  มรดกของโทจะตกทอดแก่ทายาทคนใดบ้าง

ธงคำตอบ

มาตรา  1606  บุคคลดังต่อไปนี้ต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควร  คือ

(1) ผู้ที่ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่าได้เจตนากระทำ  หรือพยายามกระทำให้เจ้ามรดกหรือผู้มีสิทธิได้รับมรดกก่อนตนถึงแก่ความตายโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

มาตรา  1620  วรรคสอง  ถ้าผู้ใดตายโดยได้ทำพินัยกรรมไว้  แต่พินัยกรรมนั้นจำหน่ายทรัพย์หรือมีผลบังคับได้แต่เพียงบางส่วนแห่งทรัพย์มรดก  ให้ปันส่วนที่มิได้จำหน่ายโดยพินัยกรรม  หรือส่วนที่พินัยกรรมไม่มีผลบังคับให้แก่ทายาทโดยธรรมตามกฎหมาย

มาตรา 1629  ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น  และภายใต้บังคับแห่งมาตรา  1630  วรรคสอง  แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้  คือ

 (4)  พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน

มาตรา  1639  ถ้าบุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตามมาตรา  1629  (1)  (3)  (4)  หรือ  (6)  ถึงแก่ความตาย  หรือถูกจำกัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย  ถ้าบุคคลนั้นมีผู้สืบสันดานก็ให้ผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่  ถ้าผู้สืบสันดานคนใดของบุคคลนั้นถึงแก่ความตายหรือถูกกำจัดมิให้รับมรดกเช่นเดียวกัน  ก็ให้ผู้สืบสันดานของผู้สืบสันดานนั้นรับมรดกแทนที่  และให้มีการรับมรดกแทนที่กันเฉพาะส่วนแบ่งของบุคคลเป็นรายๆสืบต่อกันเช่นนี้ไปจนหมดสาย

มาตรา  1642  การรับมรดกแทนที่กันนั้นให้ใช้บังคับแต่ในระหว่างทายาทโดยธรรม

มาตรา  1643  สิทธิที่จะรับมรดกแทนที่กันนั้นได้เฉพาะแก่ผู้สืบสันดานโดยตรง  ผู้บุพการีหามีสิทธิดังนั้นไม่

มาตรา  1698  ข้อกำหนดพินัยกรรมนั้น  ย่อมตกไป

(1) เมื่อผู้รับพินัยกรรมตายก่อนผู้ทำพินัยกรรม

มาตรา  1699  ถ้าพินัยกรรม  หรือข้อกำหนดในพินัยกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินรายใดเป็นอันไร้ผลด้วยประการใดๆ  ทรัพย์สินรายนั้นตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมหรือได้แก่แผ่นดินแล้วแต่กรณี

วินิจฉัย

เอกบิดาและตรีน้องชายทั้งสองคนได้เสียชีวิตไปแล้ว  จึงไม่มีฐานะเป็นทายาทโดยธรรมผู้รับมรดกได้

การที่ดำต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่าได้กระทำโดยประมาททำให้โทซึ่งเป็นเจ้ามรดกตายนั้น  ไม่เป็นเหตุให้ดำถูกกำจัดมิให้รับมรดกตามมาตรา  1606(1)  แต่อย่างใด  เพราะไม่ได้ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่ามีเจตนากระทำให้โทถึงแก่ความตายโดยมิชอบด้วยกฎหมาย  ดำจึงยังคงมีสิทธิรับมรดกของโทอยู่

โทได้ทำพินัยกรรมยกเงินในธนาคารให้ตรีและดำคนละ  8  แสนบาทนั้น  ถือว่าทั้งสองคนเป็นทายาทผู้รับพินัยกรรม  แต่เนื่องจากตรีได้ตายก่อนโทเจ้ามรดก  จึงทำให้ข้อกำหนดในพินัยกรรมส่วนนี้ตกไปตามมาตรา  1698(1)  ต้องนำเงินไปแบ่งแก่ทายาทโดยธรรมต่อไปตามมาตรา  1699  ประกอบมาตรา  1620  วรรคสอง  ตรีเป็นผู้รับพินัยกรรม   ขาวซึ่งเป็นผู้สืบสันดานของตรีเป็นทายาทของผู้รับพินัยกรรม  ดังนั้นขาวจึงไม่สามารถรับมรดกแทนที่ตรีในส่วนนี้ได้  เพราะการรับมรดกแทนที่กันนั้นให้ใช้บังคับแต่ในระหว่างทายาทโดยธรรมตามมาตรา  1642  ฉะนั้นเงินส่วนนี้จึงต้องตกแก่ทายาทโดยธรรมของโทคือ  ตรีและดำ  คนละ  4  แสนบาทตามมาตรา  1629(4)  ในส่วนแบ่งของตรีนั้นตกแก่ขาวในฐานะผู้สืบสันดานโดยตรงของตรี  จึงมีสิทธิรับมรดกแทนที่ได้ตามมาตรา  1639  ประกอบมาตรา  1643

สรุป  มรดกของโทคือเงินสดในธนาคารจำนวน  1  ล้าน  6  แสนบาท  จึงตกทอดแก่

ดำ  ในฐานะทายาทผู้รับพินัยกรรม  8  แสนบาทและในฐานะทายาทโดยธรรมอีก  4  แสนบาท  รวมเป็นเงิน  1  ล้าน 2  แสนบาท

ขาว  ในฐานะทายาทผู้รับมรดกแทนที่ของตรีเป็นเงิน  4  แสนบาท

 

ข้อ  4  นายเพชรมีมารดาชื่อ  นางไข่มุก  นายเพชรจดทะเบียนสมรสกับนางพลอย  มีบุตรด้วยกัน  1 คน  คือ  น.ส.เงิน  นายเพชรและนางพลอยรับนายทองมาเป็นบุตรบุญธรรมโดยจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย  นายทองจดทะเบียนสมรสกับนางทับทิมมีบุตร  1  คน  คือ  ด.ญ.ไพลิน  นายเพชรทำพินัยกรรมยกที่ดิน  1  แปลงราคา  200,000  บาท  ให้กับ  น.ส.เงิน  ต่อมานายทองประสบอุบัติเหตุตาย  หลังจากนั้นนายเพชรถึงแก่ความตาย  นายเพชรมีทรัพย์มรดกคือที่ดิน  1  แปลงราคา  200,000  บาท  ตามพินัยกรรมและเงินสด  600,000  บาท  น.ส.เงินได้เอาเงินมรดกไปเป็นของตนเองโดยทุจริต  200,000  บาท  ดังนี้จงแบ่งมรดกของนายเพชร

ธงคำตอบ

มาตรา  1605  ทายาทคนใดยักย้าย  หรือปิดบังทรัพย์มรดกเท่าส่วนที่ตนจะได้หรือมากกว่านั้นโดยฉ้อฉลหรือรู้อยู่ว่าตนทำให้เสื่อมประโยชน์ของทายาทคนอื่น  ทายาทคนนั้นต้องถูกกำจัดมิให้ได้มรดกเลย  แต่ถ้าได้ยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกน้อยกว่าส่วนที่ตนจะได้ ทายาทคนนั้นต้องถูกกำจัดให้ได้มรดกเฉพาะส่วนที่ได้ยักย้ายหรือปิดบังไว้นั้น

มาตรานี้มิให้ใช้บังคับแก่ผู้รับพินัยกรรม  ซึ่งผู้ตายได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้เฉพาะสิ่งเฉพาะอย่าง  ในอันที่จะได้รับทรัพย์สินนั้น

มาตรา  1627  บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้น  ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้

มาตรา 1629  ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น  และภายใต้บังคับแห่งมาตรา  1630  วรรคสอง  แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้  คือ

(1) ผู้สืบสันดาน

(2) บิดามารดา

คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม  ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา  1635

มาตรา  1630  วรรคสอง  แต่ความในวรรคก่อนนี้มิให้ใช้บังคับในกรณีเฉพาะที่มีผู้สืบสันดานคนใดยังมีชีวิตอยู่หรือมีผู้รับมรดกแทนที่กันแล้วแต่กรณี  และมีบิดามารดายังมีชีวิตอยู่  ในกรณีเช่นนั้นให้บิดามารดาได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าเป็นทายาทชั้นบุตร

มาตรา  1635  ลำดับและส่วนแบ่งของคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ในการรับมรดกของผู้ตายนั้น  ให้เป็นไปดังต่อไปนี้

(1) ถ้ามีทายาทตามมาตรา  1629(1)  ซึ่งมีชีวิตอยู่หรือมีผู้รับมรดกแทนที่แล้วแต่กรณี  คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้น  มีสิทธิได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าตนเป็นทายาทชั้นบุตร

มาตรา  1639  ถ้าบุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตามมาตรา  1629  (1)  (3)  (4)  หรือ  (6)  ถึงแก่ความตาย  หรือถูกจำกัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย  ถ้าบุคคลนั้นมีผู้สืบสันดานก็ให้ผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่  ถ้าผู้สืบสันดานคนใดของบุคคลนั้นถึงแก่ความตายหรือถูกกำจัดมิให้รับมรดกเช่นเดียวกัน  ก็ให้ผู้สืบสันดานของผู้สืบสันดานนั้นรับมรดกแทนที่  และให้มีการรับมรดกแทนที่กันเฉพาะส่วนแบ่งของบุคคลเป็นรายๆสืบต่อกันเช่นนี้ไปจนหมดสาย

มาตรา  1643  สิทธิที่จะรับมรดกแทนที่กันนั้นได้เฉพาะแก่ผู้สืบสันดานโดยตรง  ผู้บุพการีหามีสิทธิดังนั้นไม่

วินิจฉัย

เมื่อนายเพชรถึงแก่ความตาย  ทรัพย์มรดกคือ  เงินสด  600,000  บาท  ที่นายเพชรไม่ได้ทำพินัยกรรมยกให้แก่ใคร  ย่อมตกได้แก่ทายาทโดยธรรม  ทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิรับมรดกของนายเพชรคือ  น.ส.เงิน  ตามมาตรา  1629(1)  และนายทองผู้สืบสันดานตามมาตรา  1629(1)  ประกอบกับมาตรา  1627  นางไข่มุกมารดาตามมาตรา  1629(2)  และนางพลอยคู่สมรสตามมาตรา  1629  วรรคท้าย  โดยทั้งสี่จะได้รับมรดกคนละเท่าๆกัน  คือคนละ  150,000  บาทตามมาตรา  1630  วรรคสอง  ประกอบกับมาตรา  1635(1)  แต่นายทองได้ถึงแก่ความตายก่อนนายเพชรเจ้ามรดก  ด.ญ.ไพลินซึ่งเป็นผู้สืบสันดานโดยตรงของนายทองจึงมีสิทธิรับมรดกแทนที่ในส่วนที่นายทองจะได้รับตามมาตรา  1639  ประกอบกับมาตรา  1643

การที่  น.ส.เงิน  ได้เอาเงินมรดกไปเป็นของตนเองโดยทุจริตจำนวน  200,000  บาทนั้น  เป็นการยักย้ายทรัพย์มรดกมากกว่าส่วนที่ตนจะได้  น.ส.เงินจึงถูกกำจัดมิให้รับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรมเลยตามมาตรา  1605  วรรคแรก  ต้องนำส่วนที่  น.ส.  เงินถูกกำจัดมิให้รับมรดกจำนวน  150,000  บาท  ไปแบ่งแก่ทายาทโดยธรรมของนายเพชร  คือ  ด.ญ.ไพลิน  นางไข่มุก  และนางพลอยโดยได้รับคนละ  50,000  บาท  ส่วนที่ดิน  1  แปลงราคา  200,000  บาท  เป็นทรัพย์เฉพาะสิ่งเฉพาะอย่างที่นายเพชรได้ทำพินัยกรรมยกให้แก่  น.ส.เงิน จึงเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา  1605  วรรคสอง  น.ส.เงินไม่ถูกกำจัดให้รับมรดกในที่ดินแปลงดังกล่าว  น.ส.เงินจึงยังคงมีสิทธิได้รับที่ดิน  1 แปลงตามพินัยกรรม

สรุป  ด.ญ.ไพลิน  นางไข่มุก  และนางพลอยได้รับมรดกคือ  เงินสดคนละ  200,000  บาท  ส่วน  น.ส.เงินได้รับมรดกคือ  ที่ดิน  1  แปลง  ราคา  200,000  บาท  ตามพินัยกรรม

Advertisement