การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2550
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW3009 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยมรดก
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1 นายหนึ่งเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของนายแดงซึ่งเป็นเจ้ามรดก นายแดงมีน้องสาวร่วมมารดาเดียวกันหนึ่งคนคือนางสาวดำ นอกจากนี้นายแดงยังได้จดทะเบียนรับนายสองมาเป็นบุตรบุญธรรมอีกคนหนึ่ง ต่อมานายหนึ่งได้นางสาวเขียวมาเป็นภริยาโดยมิชอบด้วยกฎหมายจนตั้งครรภ์ได้ 4 เดือน โดยที่ไม่มีใครทราบ นายสองได้รับเด็กชายขาวมาเป็นบุตรบุญธรรมโดยชอบด้วยกฎหมาย วันหนึ่งนายแดงได้ให้นายหนึ่งและนายสองเดินทางไปติดต่อธุรกิจที่จังหวัดภูเก็ต เกิดอุบัติเหตุเครื่องบินระเบิดทำให้ทั้งคู่เสียชีวิต นายแดงทราบข่าวก็หัวใจวายตายทันที นายแดงตายลงมีมรดก 10 ล้านบาท ต่อมานางเขียวได้คลอดบุตรออกมาชื่อเด็กชายเหลือง ภายใน 310 วันนับแต่วันที่นายหนึ่งถึงแก่ความตาย จงแบ่งมรดกของนายแดง
ธงคำตอบ
มาตรา 1604 วรรคท้าย เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ให้ถือว่าเด็กที่เกิดมารอดอยู่ภายในสามร้อยสิบวันนับแต่เวลาที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายนั้นเป็นทารกในครรภ์มารดาอยู่ในเวลาที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย
มาตรา 1627 บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้น ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้
มาตรา 1629 ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น และภายใต้บังคับแห่งมาตรา 1630 วรรคสอง แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้ คือ
(1) ผู้สืบสันดาน
(4) พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน
มาตรา 1630 วรรคสองแต่ความในวรรคก่อนนี้มิให้ใช้บังคับในกรณีเฉพาะที่มีผู้สืบสันดานคนใดยังมีชีวิตอยู่หรือมีผู้รับมรดกแทนที่กันแล้วแต่กรณี และมีบิดามารดายังมีชีวิตอยู่ ในกรณีเช่นนั้นให้บิดามารดาได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าเป็นทายาทชั้นบุตร
มาตรา 1633 ทายาทโดยธรรมในลำดับเดียวกันในลำดับหนึ่งๆ ที่ระบุไว้ในมาตรา 1629 นั้น ชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน ถ้าในลำดับหนึ่งมีทายาทโดยธรรมคนเดียว ทายาทโดนธรรมคนนั้นมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งทั้งหมด
มาตรา 1639 ถ้าบุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตามมาตรา 1629 (1) (3) (4) หรือ (6) ถึงแก่ความตาย หรือถูกจำกัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย ถ้าบุคคลนั้นมีผู้สืบสันดานก็ให้ผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่ ถ้าผู้สืบสันดานคนใดของบุคคลนั้นถึงแก่ความตายหรือถูกกำจัดมิให้รับมรดกเช่นเดียวกัน ก็ให้ผู้สืบสันดานของผู้สืบสันดานนั้นรับมรดกแทนที่ และให้มีการรับมรดกแทนที่กันเฉพาะส่วนแบ่งของบุคคลเป็นรายๆสืบต่อกันเช่นนี้ไปจนหมดสาย
มาตรา 1643 สิทธิที่จะรับมรดกแทนที่กันนั้นได้เฉพาะแก่ผู้สืบสันดานโดยตรง ผู้บุพการีหามีสิทธิดังนั้นไม่
วินิจฉัย
นายแดงเจ้ามรดกมีนายหนึ่งเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย และมีนายสองเป็นบุตรบุญธรรมซึ่งทั้ง 2 คน เป็นทายาทโดยธรรมลำดับที่ 1 กล่าวคือเป็นผู้สืบสันดาน ตามมาตรา 1627 ประกอบมาตรา 1629(1) และได้ถึงแก่ความตายก่อนนายแดงเจ้ามรดก โดยนายหนึ่งมีนางสาวเขียวเป็นภริยาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย แม้นางสาวเขียวจะคลอดเด็กชายเหลืองออกมาภายใน 310 วันนับแต่วันที่นายหนึ่งตายก็ตามก็ไม่สามารถทำให้เด็กชายเหลืองมีสิทธิรับมรดกแทนที่ของนายหนึ่งได้ ตามมาตรา 1639 เพราะในระหว่างที่นางสาวเขียวตั้งครรภ์นั้น มิได้มีพฤติการณ์ในการรับรองทารกในครรภ์ของนางสาวเขียวว่าเป็นบุตรของนายหนึ่ง ทั้งยังไม่มีใครทราบว่านางสาวเขียวตั้งครรภ์ ดังนั้น เด็กชายเหลืองซึ่งเกิดมาโดยไม่มีสถานะเป็นผู้สืบสันดานที่จะรับมรดกแทนที่ของนายหนึ่งได้ตามมาตรา 1604 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 1627 และมาตรา 1639
กรณีที่นายสองรับเด็กชายขาวมาเป็นบุตรบุญธรรม แม้จะโดยชอบด้วยกฎหมาย และเป็นผู้สืบสันดานของนายสอง ตามมาตรา 1627 แต่ก็ไม่ทำให้เด็กชายขาวรับมรดกแทนที่ของนายสองได้ เพราะมิใช่ผู้สืบสันดานสืบสายโลหิตโดยตรง ตามมาตรา 1643 ประกอบมาตรา 1639
ส่วนกรณีที่นายแดงมีนางสาวดำเป็นพี่น้องร่วมมารดาเดียวกันนั้นถือว่าเป็นทายาทโดยธรรมลำดับที่ 4 ตามมาตรา 1629(4) จึงมีสิทธิรับมรดกของนายแดงทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว ตามมาตรา 1629(4) ประกอบมาตรา 1630 วรรคท้าย และมาตรา 1633
สรุป นางสาวดำมีสิทธิรับมรดกของนายแดง 10 ล้านบาทแต่เพียงผู้เดียว
ข้อ 2 นายโตมีบุตรบุญธรรมที่ชอบด้วยกฎหมาย ชื่อนายเอก ต่อมานายเอกได้จดทะเบียนสมรสกับนางแต๋วแต่ไม่มีบุตรด้วยกัน นายเอกและนางแต๋วจึงได้ไปจดทะเบียนรับนายดำเป็นบุตรบุญธรรม ปรากฏว่านายเอกได้ถูกรถยนต์ชนตายในขณะเดินทางไปพบนายโต หลังจากนั้นนายโตก็ป่วยด้วยโรคมะเร็งและถึงแก่ความตาย นายโตมีมรดกจำนวน 4 ล้านบาท จงแบ่งมรดกของนายโต
ธงคำตอบ
มาตรา 1627 บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้น ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้
มาตรา 1629 ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น และภายใต้บังคับแห่งมาตรา 1630 วรรคสอง แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้ คือ
(1) ผู้สืบสันดาน
มาตรา 1639 ถ้าบุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตามมาตรา 1629 (1) (3) (4) หรือ (6) ถึงแก่ความตาย หรือถูกจำกัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย ถ้าบุคคลนั้นมีผู้สืบสันดานก็ให้ผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่ ถ้าผู้สืบสันดานคนใดของบุคคลนั้นถึงแก่ความตายหรือถูกกำจัดมิให้รับมรดกเช่นเดียวกัน ก็ให้ผู้สืบสันดานของผู้สืบสันดานนั้นรับมรดกแทนที่ และให้มีการรับมรดกแทนที่กันเฉพาะส่วนแบ่งของบุคคลเป็นรายๆสืบต่อกันเช่นนี้ไปจนหมดสาย
มาตรา 1642 การรับมรดกแทนที่กันนั้นให้ใช้บังคับแต่ในระหว่างทายาทโดยธรรม
มาตรา 1643 สิทธิที่จะรับมรดกแทนที่กันนั้นได้เฉพาะแก่ผู้สืบสันดานโดยตรง ผู้บุพการีหามีสิทธิดังนั้นไม่
มาตรา 1753 ภายใต้บังคับแห่งสิทธิของเจ้าหนี้กองมรดก เมื่อบุคคลใดถึงแก่ความตายโดยไม่มีทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรม หรือการตั้งมูลนิธิตามพินัยกรรม มรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่แผ่นดิน
วินิจฉัย
นายเอกเป็นบุตรบุญธรรมที่ชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นผู้สืบสันดานของนายโตโดยเป็นทายาทโดยธรรมลำดับที่ 1 ตามมาตรา 1627 ประกอบมาตรา 1629(1) เมื่อนายเอกตาย ต่อมานายโตตายมีมรดกจำนวน 4 ล้านบาท นายดำบุตรบุญธรรมของนายเอกซึ่งไม่ถือว่านายดำเป็นผู้สืบสันดานโดยตรงที่สืบสายดลหิตของนายเอก ดังนั้นนายดำจึงเข้ารับมรดกแทนที่นายเอกในส่วนของนายโตไม่ได้ ตามมาตรา 1639 ประกอบมาตรา 1642 และมาตรา 1643
ส่วนกรณีของนางแต๋ว ภริยาของนายเอกนั้น ถือเป็นบุตรสะใภ้ของนายโต จึงไม่ถือว่าเป็นทายาทโดยธรรมของนายโต ฉะนั้นเมื่อนายโตไม่มีทายาทโดยธรรมและไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ มรดกของนายโตจำนวน 4 ล้านบาทจึงตกทอดแก่แผ่นดิน ตามมาตรา 1753
สรุป มรดกของนายโตจำนวน 4 ล้านบาท จึงตกทอดแก่แผ่นดิน
ข้อ 3 นายอำนวยเป็นบุตรที่เกิดจากการอยู่กินกันฉันสามีภริยาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสระหว่างนายอมรและนางสาวนงค์ โดยนายอมรให้นายอำนวยใช้นามสกุลของนายอมร ต่อมานางอัมพรมารดาของนายอมรบังคับให้นายอมรจดทะเบียนสมรสกับนางอรพรรณ เมื่อนายอมรแต่งงานจดทะเบียนสมรสกับนางอรพรรณได้ 2 เดือน จึงทราบว่านางสาวนงค์ตั้งครรภ์ได้ 5 เดือนแล้ว ซึ่งต่อมาคลอดและชื่อเด็กหญิงนุช แต่นายอมรก็ไม่สามารถกลับไปอุปการะเลี้ยงดูนางสาวนงค์และลูกๆได้อีกเพราะถูกนางอัมพรกีดกันเมื่ออยู่กันมาได้ 5 ปี นายอมรและนางอรพรรณไม่มีบุตรด้วยกัน นงอรพรรณจึงจดทะเบียนรับนางสาวอ่อนมาเป็นบุตรบุญธรรม โดยได้รับความยินยอมจากนายอมร วันที่ 16 กันยายน 2550 นางอัมพรและนายอมรเดินทางไปเยี่ยมนายศุกร์ซึ่งเป็นอดีตสามีของนางอัมพรและเป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายอมรที่จังหวัดภูเก็ต โดยสายการบิน หนึ่ง สอง สาม ปรากฏว่าเครื่องบินลำดังกล่าวประสบอุบัติเหตุ เป็นเหตุให้นายอมรถึงแก่ความตาย ณ ที่เกิดเหตุ และนางอัมพรได้รับบาดเจ็บสาหัส ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล และนางอัมพรก็ถึงแก่ความตายในเวลาต่อมาที่โรงพยาบาล ให้นักศึกษาแบ่งทรัพย์สินและสิทธิหน้าที่ต่างๆ ของนางอัมพรเหล่านี้ว่าตกทอดเป็นมรดกแก่ใครบ้างหรือไม่ เพราะเหตุใด
1) สิทธิในการฟ้องเรียกค่าเสียหายที่ใบหน้าเสียโฉม เนื่องจากเครื่องบินตกในครั้งนี้
2) สิทธิในเงินฝากในบัญชีเงินฝากที่มีต่อธนาคารกรุงเทพ จำนวน 5 ล้านบาท
ธงคำตอบ
มาตรา 1600 ภายใต้บังคับของบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ กองมรดกของผู้ตายได้แก่ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่างๆ เว้นแต่ตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้วเป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้
มาตรา 1627 บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้น ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้
มาตรา 1629 ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น และภายใต้บังคับแห่งมาตรา 1630 วรรคสอง แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้ คือ
(1) ผู้สืบสันดาน
คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา 1635
มาตรา 1639 ถ้าบุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตามมาตรา 1629 (1) (3) (4) หรือ (6) ถึงแก่ความตาย หรือถูกจำกัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย ถ้าบุคคลนั้นมีผู้สืบสันดานก็ให้ผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่ ถ้าผู้สืบสันดานคนใดของบุคคลนั้นถึงแก่ความตายหรือถูกกำจัดมิให้รับมรดกเช่นเดียวกัน ก็ให้ผู้สืบสันดานของผู้สืบสันดานนั้นรับมรดกแทนที่ และให้มีการรับมรดกแทนที่กันเฉพาะส่วนแบ่งของบุคคลเป็นรายๆสืบต่อกันเช่นนี้ไปจนหมดสาย
มาตรา 1753 ภายใต้บังคับแห่งสิทธิของเจ้าหนี้กองมรดก เมื่อบุคคลใดถึงแก่ความตายโดยไม่มีทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรม หรือการตั้งมูลนิธิตามพินัยกรรม มรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่แผ่นดิน
วินิจฉัย
มาตรา 1600 ทรัพย์มรดก ได้แก่ ทรัพย์สิน สิทธิ หน้าที่และความรับผิดของเจ้ามรดกเว้นแต่โดยสภาพ หรือตามกฎหมาย เป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้ ดังนั้น สิทธิในการเรียกค่าสินไหมทดแทนในกรณีที่ใบหน้าเสียโฉม เป็นค่าเสียหายที่ไม่อาจคำนวณเป็นเงิน ซึ่งตามมาตรา 446 บัญญัติให้เป็นการเฉพาะตัวของผู้ถูกกระทำละเมิดโดยแท้ สิทธิดังกล่าวนี้จึงไม่เป็นมรดกได้แก่ทายาทโดยธรรมของนางอัมพรเจ้ามรดก ตามมาตรา 1600
ส่วนเงินฝากในธนาคาร 5 ล้านบาท ตกได้แก่ ทายาทโดยธรรมของนางอัมพร ดังนี้
นางอัมพรตายโดยมีนายอมรเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย นายอมรจึงมีฐานะเป็นผู้สืบสันดาน ของนางอัมพรตามมาตรา 1629(1) แต่ปรากฏว่า นายอมรทายาทตามมาตรา 1629(1) ถึงแก่ความตายก่อนนางอัมพรเจ้ามรดก โดยมีนายอำนวยเป็นบุตรนอกกฎหมายที่เกิดจากการอยู่กินกับ น.ส.นงค์ โดยนายอมรให้ใช้นามสกุล นายอำนวยจึงเป็นผู้สืบสันดานโดยตรงของนายอมร มีสิทธิรับมรดกของนางอัมพรแทนที่นายอมรได้ ตามมาตรา 1627 , 1639 และ 1643 ส่วนเด็กหญิงนุช แม้เป็นยุตรนอกกฎหมายของนายอมร แต่นายอมรไม่ได้ให้การรับรองโดยพฤติการณ์ ด.ญ.นุชจึงไม่มีฐานะเป็นผู้สืบสันดานของนายอมร จึงไม่อาจรับมรดกแทนที่นายอมรได้ ดังนั้นมรดกทั้งหมด 5 ล้านบาท จึงตกได้แก่นายอำนวยโดยการรับมรดกแทนที่นายอมร ตามมาตรา 1639 ประกอบมาตรา 1643
กรณีนางอรพรรณ ภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายอมร ไม่มีสิทธิรับมรดกแทนที่ เพราะนางอรพรรณไม่มีฐานะเป็นผู้สืบสันดานของนายอมร ตามมาตรา 1639 ส่วนนางสาวอ่อน เป็นบุตรบุญธรรมของนางอรพรรณ เป็นผู้สืบสันดานของนางอรพรรณ ตามมาตรา 1627 แต่นางสาวอ่อนไม่ใช่ผู้สืบสันดานของนายอมรและมิใช่ผู้สืบสันดานโดยตรงของนายอมร ดังนั้นนางสาวอ่อนจึงไม่มีสิทธิรับมรดกแทนที่นายอมรได้
ส่วนนายศุกร์ อดีตสามีของนางอัมพร มิใช่เป็นคู่สมรสโดยชอบด้วยกฎหมายในขณะที่นางอัมพรถึงแก่ความตาย ดังนั้น นายศุกร์จึงมิใช่ทายาทโดยธรรมในฐานะที่เป็นคู่สมรสของนางอัมพร ตามมาตรา 1629 วรรคท้าย
สรุป
1) สิทธิในการเรียกร้องค่าเสียหายที่ใบหน้าเสียโฉม ไม่ใช่มรดกของนางอัมพร ตามมาตรา 446 ประกอบมาตรา 1600
2) เงินฝากในธนาคาร 5 ล้านบาท ตกได้แก่ นายอำนวย โดยการรับมรดกแทนที่ตามมาตรา 1639 ประกอบมาตรา 1643
ข้อ 4 นายเพชรและนางพลอยเป็นสามีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย นายเพชรมีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 2 คน คือนายเงินและนายทอง นายเงินจดทะเบียนสมรสกับนางทับทิมแต่ไม่มีบุตรด้วยกัน ทั้งคู่จึงไปขอ ด.ญ.ไพลิน จากสถานสงเคราะห์เด็กกำพร้ามาเป็นบุตรบุญธรรมโดยจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย ต่อมานายเพชรทำพินัยกรรมยกรถยนต์ 1 คัน ราคา 300,000 บาท ให้กับนายทอง หลังจากนั้นนายเพชรประสบอุบัติเหตุเครื่องบินตกถึงแก่ความตาย มีมรดกคือรถยนต์ 1 คัน ตามที่ได้ระบุในพินัยกรรม และเงินสด 1,200,000 บาท นายทองได้เอาเงินมรดกจำนวน 400,000 บาท ไปเป็นของตนโดยฉ้อฉล ต่อมานายเงินสละมรดกของนายเพชรโดยทำเป็นหนังสือมอบไว้แก่ผู้อำนวยการเขตบางซื่อ ดังนี้ จงแบ่งมรดกของนายเพชร
ธงคำตอบ
มาตรา 1605 ทายาทคนใดยักย้าย หรือปิดบังทรัพย์มรดกเท่าส่วนที่ตนจะได้หรือมากกว่านั้นโดยฉ้อฉลหรือรู้อยู่ว่าตนทำให้เสื่อมประโยชน์ของทายาทคนอื่น ทายาทคนนั้นต้องถูกกำจัดมิให้ได้มรดกเลย แต่ถ้าได้ยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกน้อยกว่าส่วนที่ตนจะได้ ทายาทคนนั้นต้องถูกกำจัดให้ได้มรดกเฉพาะส่วนที่ได้ยักย้ายหรือปิดบังไว้นั้น
มาตรานี้มิให้ใช้บังคับแก่ผู้รับพินัยกรรม ซึ่งผู้ตายได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้เฉพาะสิ่งเฉพาะอย่าง ในอันที่จะได้รับทรัพย์สินนั้น
มาตรา 1612 การสละมรดกนั้น ต้องแสดงเจตนาชัดแจ้งเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่หรือทำเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ
มาตรา 1615 การที่ทายาทสละมรดกนั้น มีผลย้อนหลังไปถึงเวลาที่เจ้ามรดกตาย
เมื่อทายาทโดยธรรมคนใดสละมรดก ผู้สืบสันดานของทายาทคนนั้นสืบมรดกได้ตามสิทธิของตนและชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากับส่วนแบ่งที่ผู้สละมรดกนั้นจะได้รับ แต่ผู้สืบสันดานนั้นต้องไม่ใช่ผู้ที่บิดามารดาผู้ปกครอง หรือผู้อนุบาลแล้วแต่กรณี ได้บอกสละมรดกโดยสมบูรณ์ในนามของผู้สืบสันดานนั้น
มาตรา 1627 บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้น ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้
มาตรา 1629 ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น และภายใต้บังคับแห่งมาตรา 1630 วรรคสอง แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้ คือ
(1) ผู้สืบสันดาน
(3) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา 1635
มาตรา 1635 ลำดับและส่วนแบ่งของคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ในการรับมรดกของผู้ตายนั้น ให้เป็นไปดังต่อไปนี้
(2) ถ้ามีทายาทตามมาตรา 1629 (3) และทายาทนั้นยังมีชีวิตอยู่ หรือมีผู้รับมรดกแทนที่หรือถ้าไม่มีทายาทตามมาตรา 1629 (1) แต่มีทายาทตามมาตรา 1629 (2) แล้วแต่กรณี คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นมีสิทธิได้รับมรดกกึ่งหนึ่ง
วินิจฉัย
การที่นายเพชรทำพินัยกรรมยกรถยนต์ 1 คัน ราคา 300,000 บาท ให้กับนายทองนั้น รถยนต์เป็นทรัพย์เฉพาะสิ่งอย่างที่นายเพชรเจ้ามรดกได้ทำพินัยกรรมยกให้แก่นายทองผู้รับพินัยกรรม รถยนต์จึงตกแก่นายทองโดยผลของกฎหมาย โดยเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 1605 วรรคสอง
ส่วนเงินมรดก 1,200,000 บาท ที่นายเพชรไม่ได้ระบุไว้ในพินัยกรรมย่อมตกได้แก่ทายาทโดยธรรม ซึ่งทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิได้รับมรดก คือนายเงินและนายทองในฐานะพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันตามมาตรา 1629(3) และนางพลอยในฐานะคู่สมรสตามมาตรา 1629 วรรคท้าย โดยนายเงินและนายทองได้รับมรดกกึ่งหนึ่งคือได้คนละ 300,000 บาท และนางพลอยได้กึ่งหนึ่ง คือ 600,000 บาท ตามมาตรา 1635(2) แต่นายทองได้เอาเงินมรดกจำนวน 400,000 บาท ไปเป็นของตนโดยฉ้อฉล ถือเป็นการยักย้ายทรัพย์มรดกมากกว่าส่วนที่ตนจะได้ นายทองจึงต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกของนายเพชรในฐานะทายาทโดยธรรมเลยตามมาตรา 1605 วรรคแรก ดังนั้น เงินสด 300,000 บาท จึงต้องนำไปแบ่งแก่นายเงินและนางพลอยโดยได้อีกคนละ 150,000 บาท ตามมาตรา 1635(2)
เมื่อนายเงินสละมรดกของนายเพชรโดยทำเป็นหนังสือมอบไว้แก่ผู้อำนวยการเขตบางซื่อ เป็นการสละมรดกที่ทำถูกต้องตามกฎหมายตามมาตรา 1612 มีผลทำให้ ด.ญ.ไพลินบุตรบุญธรรมซึ่งถือว่าเป็นผู้สืบสันดานตามมาตรา 1627 ประกอบมาตรา 1629(1) มีสิทธิสืบมรดกตามมาตรา 1615 วรรคสองได้
สรุป นายทองได้รับรถยนต์ 1 คัน ราคา 300,000 บาท ตามพินัยกรรม ด.ญ.ไพลินได้รับเงินสด 450,000 บาท และนางพลอยได้รับเงินสด 750,000 บาท