การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2560
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3009 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยมรดก
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ
ข้อ 1 นายเอกมีบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย 1 คน คือ นายโท นายเอกให้สิทธิเก็บกินในที่ดินโฉนดเลขที่ 123 แก่นายชายเป็นเวลา 10 ปี นอกจากนี้นายเอกยังให้นางหญิงเช่าที่ดินโฉนดเลขที่ 456 เพื่อปลูก อาคารพาณิชย์เป็นเวลา 10 ปี โดยมีข้อตกลงว่า เมื่อครบกําหนด 10 ปี นางหญิงต้องยอมให้ อาคารพาณิชย์ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของนายเอก หลังจากที่นายเอกทําสัญญากับคนทั้งสองแล้ว เป็นเวลา 5 ปี นายชายและนางหญิงก็ถึงแก่ความตาย ดังนี้ สิทธิที่นายชายและนางหญิงได้รับจากนายเอกเป็นมรดกหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1600 “ภายใต้บังคับของบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ กองมรดกของผู้ตายได้แก่ ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ เว้นแต่ตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้ว เป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้”
วินิจฉัย
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1600 ได้บัญญัติไว้ว่า มรดกซึ่งจะตกทอดแก่ผู้เป็นทายาทเมื่อเจ้ามรดกตายนั้น ได้แก่ ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดต่าง ๆ ของผู้ตาย เว้นแต่สิทธิ หน้าที่และ ความรับผิดซึ่งตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้วเป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้ จะไม่ตกทอดไปยังทายาท
กรณีตามอุทาหรณ์ สิทธิที่นายชายและนางหญิงได้รับจากนายเอกเป็นมรดกหรือไม่ วินิจฉัยได้ดังนี้
1 การที่นายเอกให้สิทธิเก็บกินแก่นายชายเป็นเวลา 10 ปี
สิทธิเก็บกิน เป็นทรัพยสิทธิที่ผู้ทรงสิทธิมีสิทธิครอบครอง ใช้และถือเอาประโยชน์ใน อสังหาริมทรัพย์ของบุคคลอื่นโดยต้องเสียค่าเช่าหรือไม่ก็ได้ ซึ่งเมื่อผู้ทรงสิทธิเก็บกิน (ผู้รับสิทธิ) ถึงแก่ความตาย สิทธิเก็บกินย่อมระงับสิ้นไป ดังนั้น การที่นายเอกให้สิทธิเก็บกินในที่ดินแก่นายชายเป็นเวลา 10 ปี เมื่อสิทธิเก็บกิน ตามกฎหมายถือว่าเป็นการเฉพาะตัวของผู้ตาย (ผู้รับสิทธิ) โดยแท้ เมื่อนายชายผู้รับสิทธิถึงแก่ความตาย สิทธิเก็บกินจึงระงับสิ้นไปไม่เป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทของผู้รับสิทธิ
2 การที่นายเอกให้นางหญิงเช่าที่ดินเพื่อปลูกอาคารพาณิชย์เป็นเวลา 10 ปี
การที่นายเอกให้นางหญิงเช่าที่ดินเพื่อปลูกอาคารพาณิชย์ดังกล่าวนั้น เมื่อข้อเท็จจริง ปรากฏว่านางหญิงตกลงว่าจะยอมให้อาคารพาณิชย์ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของนายเอกเมื่อครบกําหนดตามสัญญาเช่า สัญญาเช่าดังกล่าวจึงเป็นสัญญาเช่าที่มีข้อตกลงต่างตอบแทนกันเป็นพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา ดังนั้น สิทธิ และหน้าที่ตามสัญญาเช่าดังกล่าวจึงไม่ถือว่าเป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้ เมื่อนางหญิงถึงแก่ความตาย สิทธิและหน้าที่ตามสัญญาเช่าดังกล่าวจึงเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทของนางหญิง
สรุป
สิทธิเก็บกินที่นายชายได้รับจากนายเอกไม่เป็นมรดก แต่สิทธิตามสัญญาเช่าที่นางหญิง ได้รับจากนายเอกเป็นมรดก
ข้อ 2 นายตูนมีภริยาชอบด้วยกฎหมายชื่อนางก้อย มีบุตร 3 คน คือ นายเอก นายโทและนายตรี นายเอก มีบุตรชอบด้วยกฎหมายชื่อนายหนึ่ง นายโทมีบุตรบุญธรรมซึ่งบรรลุนิติภาวะและได้จดทะเบียน ตามกฎหมายชื่อนางสาวสอง ต่อมานายตูนไปได้นางจิตเป็นภริยาอีกคนหนึ่ง นายตรีทราบเรื่อง จึงใช้อาวุธปืนยิงนางจิตถึงแก่ความตาย ศาลมีคําพิพากษาถึงที่สุดลงโทษจําคุก นายตูนทําพินัยกรรม ที่ชอบด้วยกฎหมายระบุยกทรัพย์สินของตนทั้งหมดให้แก่นายเอกแต่ผู้เดียว หลังจากนั้น 2 เดือน นายเอกประสบเหตุถึงเก่ความตาย ต่อมานายตูนถึงแก่ความตายโดยมีทรัพย์มรดกเป็นเงิน 400,000 บาท หลังเสร็จพิธีศพนายตูน นายโททําหนังสือมอบแก่ผู้อํานวยการเขตบางรักขอสละมรดก ของบิดาทั้งหมดโดยขอรับเพียงเงินประกันชีวิตที่นายตูนทําไว้กับบริษัท ซื่อตรงประกันชีวิต จํากัด ซึ่งระบุให้ นายโทเป็นผู้รับประโยชน์เป็นเงิน 200,000 บาท
ให้วินิจฉัยว่า ทายาทโดยธรรมของนายตูนได้แก่ผู้ใด และทรัพย์มรดกของนายตูนตกทอดแก่ผู้ใด เพียงใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1604 วรรคหนึ่ง “บุคคลธรรมดาจะเป็นทายาทได้ก็ต่อเมื่อมีสภาพบุคคลหรือสามารถ มีสิทธิได้ตามมาตรา 15 แห่งประมวลกฎหมายนี้ในเวลาที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย”
มาตรา 1606 “บุคคลดังต่อไปนี้ต้องถูกกําจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควร คือ
(1) ผู้ที่ต้องคําพิพากษาถึงที่สุดว่าได้เจตนากระทํา หรือพยายามกระทําให้เจ้ามรดกหรือ ผู้มีสิทธิได้รับมรดกก่อนตนถึงแก่ความตายโดยมิชอบด้วยกฎหมาย”
มาตรา 1612 “การสละมรดกนั้น ต้องแสดงเจตนาชัดแจ้งเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่หรือทําเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ”
มาตรา 1615 “การที่ทายาทสละมรดกนั้น มีผลย้อนหลังไปถึงเวลาที่เจ้ามรดกตาย
เมื่อทายาทโดยธรรมคนใดสละมรดก ผู้สืบสันดานของทายาทคนนั้นสืบมรดกได้ตามสิทธิของตน และชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากับส่วนแบ่งที่ผู้สละมรดกนั้นจะได้รับ แต่ผู้สืบสันดานนั้นต้องไม่ใช่ผู้ที่บิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้อนุบาลแล้วแต่กรณี ได้บอกสละมรดกโดยสมบูรณ์ในนามของผู้สืบสันดานนั้น”
มาตรา 1627 “บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้น ให้ถือว่าเป็น ผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้”
มาตรา 1629 “ทายาทโดยธรรมมีหกลําดับเท่านั้น และภายใต้บังคับแห่งมาตรา 1630 วรรคสอง แต่ละลําดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้ คือ
(1) ผู้สืบสันดาน
คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม ภายใต้บังคับของบทบัญัติพิเศษแห่งมาตรา 1635
มาตรา 1633 “ทายาทโดยธรรมในลําดับเดียวกันในลําดับหนึ่ง ๆ ที่ระบุไว้ในมาตรา 1629 นั้น ชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน ถ้าในลําดับหนึ่งมีทายาทโดยธรรมคนเดียว ทายาทโดยธรรมคนนั้นมีสิทธิได้รับ ส่วนแบ่งทั้งหมด”
มาตรา 1635 “ลําดับและส่วนแบ่งของคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ในการรับมรดกของผู้ตายนั้น ให้ เป็นไปดังต่อไปนี้
(1) ถ้ามีทายาทตามมาตรา 1629 (1) ซึ่งยังมีชีวิตอยู่หรือมีผู้รับมรดกแทนที่แล้วแต่กรณี คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นมีสิทธิได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าตนเป็นทายาทชั้นบุตร”
มาตรา 1639 “ถ้าบุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตามมาตรา 1629 (1) (3) (4) หรือ (6) ถึงแก่ ความตาย หรือถูกกําจัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย ถ้าบุคคลนั้นมีผู้สืบสันดานก็ให้ผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่ ถ้าผู้สืบสันดานคนใดของบุคคลนั้นถึงแก่ความตายหรือถูกกําจัดมิให้รับมรดกเช่นเดียวกัน ก็ให้ผู้สืบสันดานของ ผู้สืบสันดานนั้นรับมรดกแทนที่ และให้มีการรับมรดกแทนที่กันเฉพาะส่วนแบ่งของบุคคลเป็นราย ๆ สืบต่อกันเช่นนี้ ไปจนหมดสาย”
มาตรา 1643 “สิทธิที่จะรับมรดกแทนที่กันนั้นได้เฉพาะแก่ผู้สืบสันดานโดยตรง ผู้บุพการี หามีสิทธิดังนั้นไม่
มาตรา 1698 “ข้อกําหนดพินัยกรรมนั้น ย่อมตกไป
(1) เมื่อผู้รับพินัยกรรมตายก่อนผู้ทําพินัยกรรม”
มาตรา 1699 “ถ้าพินัยกรรม หรือข้อกําหนดในพินัยกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินรายใดเป็นอันไร้ผล ด้วยประการใด ๆ ทรัพย์สินรายนั้นตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมหรือได้แก่แผ่นดินแล้วแต่กรณี
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ เมื่อนายตูนถึงแก่ความตาย ทายาทโดยธรรมของนายตูน ได้แก่
1 นางก้อย ภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายของนายตูน ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมประเภทคู่สมรส ตามมาตรา 1629 วรรคสอง
2 นายเอก นายโท และนายตรี ซึ่งเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายตูน เป็นทายาท โดยธรรมของนายตนในฐานะผู้สืบสันดานตามมาตรา 1629 (1)
การที่นายตูนทําพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกของตนทั้งหมดให้นายเอก แต่นายเอกผู้รับพินัยกรรม ตายก่อนนายตูนผู้ทําพินัยกรรม นายเอกจึงไม่มีสภาพบุคคลอยู่ในเวลาที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายจึงไม่อาจรับมรดก ตามพินัยกรรมได้ (ตามมาตรา 1604 วรรคหนึ่ง) ดังนั้น ข้อกําหนดพินัยกรรมนั้นย่อมตกไปตามมาตรา 1698 (1) ทรัพย์มรดกทั้งหมดซึ่งเป็นเงินสดจํานวน 400,000 บาท จึงต้องนํากลับเข้าสู่กองมรดกเพื่อแบ่งปันแก่ทายาทโดยธรรม ต่อไปตามมาตรา 1699
กรณีของนายเอกนั้น เมื่อนายเอกตายก่อนเจ้ามรดกแต่นายเอกมีบุตรชอบด้วยกฎหมายอ นายหนึ่งซึ่งเป็นผู้สืบสันดานโดยตรง นายหนึ่งจึงมีสิทธิเข้ารับมรดกแทนที่นายเอกในการรับมรดกของนายตน ตามมาตรา 1639 ประกอบมาตรา 1643
ส่วนนายโทนั้น หลังเจ้ามรดกถึงแก่ความตายนายโทได้แสดงเจตนาชัดแจ้งเป็นหนังสือมอบไว้แก ผู้อํานวยการเขตซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าขอสละมรดกของบิดาทั้งหมด แม้จะขอรับเพียงเงินประกันชีวิต 200,000 บาท แต่เมื่อเงินประกันชีวิตดังกล่าวมิใช่ทรัพย์มรดกของนายตูนเนื่องจากไม่ใช่ทรัพย์สินที่เจ้ามรดก มีอยู่ในขณะถึงแก่ความตาย การสละมรดกของนายโทจึงสมบูรณ์ตามมาตรา 1612 นายโทจึงไม่มีสิทธิได้รับมรดก ของนายตูน แต่อย่างไรก็ตามเมื่อนายโทมีนางสาวสองเป็นบุตรบุญธรรมที่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งตามมาตรา 1627 ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดาน ดังนั้น เมื่อนายโทสละมรดกในฐานะทายาทโดยธรรม นางสาวสองจึงมีสิทธิสืบมรดกได้ และชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากับส่วนแบ่งที่นายโทจะได้รับตามมาตรา 1615 วรรคสอง
สําหรับนายตรีนั้น แม้นายตรีจะต้องคําพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจําคุกฐานฆ่านางจิตตาย โดยเจตนา นายตรีก็ไม่ถูกจํากัดมิให้รับมรดกตามมาตรา 1606 (1) เพราะมิได้ฆ่าเจ้ามรดก หรือผู้มีสิทธิได้รับ มรดกก่อนตน เนื่องจากนางจิตเป็นภริยานอกกฎหมายของนายตูนซึ่งไม่มีสิทธิรับมรดกของนายตูนแต่อย่างใด
ดังนั้น มรดกของนายตูนจํานวน 400,000 บาท จึงตกได้แก่นางก้อยในฐานะคู่สมรส นายหนึ่ง ในฐานะผู้รับมรดกแทนที่นายเอก นางสาวสองในฐานะผู้สืบมรดกนายโท และนายตรี โดยนางก้อยคู่สมรสมีสิทธิ ได้รับส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าตนเป็นทายาทชั้นบุตรตามมาตรา 1635 (1) นางก้อย นายหนึ่ง นางสาวสอง และนายตรี จึงได้รับส่วนแบ่งในมรดกของนายตูนเท่า ๆ กัน คือจะได้รับส่วนแบ่งคนละ 100,000 บาท ตามมาตรา 1633
สรุป
ทายาทโดยธรรมของนายตูนได้แก่ นางก้อย นายเอก นายโท และนายตรี
ทรัพย์มรดกของนายตูนตกได้แก่นางก้อย นายหนึ่ง นางสาวสอง และนายตรีคนละ 100,000 บาท
ข้อ 3 นางสมศรีจดทะเบียนสมรสกับนายชาติ โดยนายชาติจดทะเบียนรับนายเอมาเป็นบุตรบุญธรรมเพราะเป็นลูกเพื่อนสนิท โดยนางสมศรีให้ความยินยอมและชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งนายเออยู่กินกับ นางแดงมีบุตรด้วยกัน คือ นายเขียว ซึ่งนายเอแจ้งเกิดในสูติบัตรว่าเป็นบิดา อีกทั้งนายสมชาติ ได้อยู่กินกับนางสมมลโดยมีบุตรด้วยกัน คือ นายสมศักดิ์ซึ่งนายสมชาติให้ใช้นามสกุล ต่อมา นายสมศักดิ์จดทะเบียนรับนายอุดมมาเป็นบุตรบุญธรรมโดยชอบด้วยกฎหมายซึ่งนายอุดมมีบุตร ที่ชอบด้วยกฎหมาย คือ นายวิชัย หลังจากนั้น นายสมชาติและนางสมศรีจดทะเบียนหย่ากัน ต่อมานางสมศรีกลับไปจดทะเบียนสมรสกับนายเอเมื่อเลิกรากับนางแดงมีบุตรด้วยกัน คือ ด.ญ.แบล หลังจากนั้นนายเอประสบอุบัติเหตุถึงแก่ความตาย ต่อมานายสมศักดิ์ป่วยและถึงแก่ความตาย ต่อมานายอุดมป่วยและถึงแก่ความตาย หลังจากนั้นนายสมชาติถึงแก่ความตายโดยมีพินัยกรรม ยกมรดกเป็นเงิน 100,000 บาทให้นายเอและมีเงินสดนอกพินัยกรรมอีก 800,000 บาท เช่นนี้ จงแบ่งมรดกของนายสมชาติ
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1598/27 “การรับบุตรบุญธรรมจะสมบูรณ์ต่อเมื่อได้จดทะเบียนตามกฎหมาย แต่ ผู้จะเป็นบุตรบุญธรรมนั้นเป็นผู้เยาว์ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมก่อน”
มาตรา 1604 วรรคหนึ่ง “บุคคลธรรมดาจะเป็นทายาทได้ก็ต่อเมื่อมีสภาพบุคคลหรือสามารถมีสิทธิได้ตามมาตรา 15 แห่งประมวลกฎหมายนี้ ในเวลาที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย”
มาตรา 1620 วรรคหนึ่ง “ถ้าผู้ใดตายโดยไม่ได้ทําพินัยกรรมไว้หรือทําพินัยกรรมไว้แต่ไม่มี ผลบังคับได้ ให้ปันทรัพย์มรดกทั้งหมดแก่ทายาทโดยธรรมของผู้ตายนั้นตามกฎหมาย”
มาตรา 1627 “บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้น ให้ถือว่าเป็น ผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้”
มาตรา 1629 “ทายาทโดยธรรมมีหกลําดับเท่านั้น และภายใต้บังคับแห่งมาตรา 1630 วรรคสอง แต่ละลําดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้ คือ
(1) ผู้สืบสันดาน คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา 1635”
มาตรา 1634 “ระหว่างผู้สืบสันดานที่รับมรดกแทนที่กันในส่วนแบ่งของสายหนึ่ง ๆ ตาม บทบัญญัติในลักษณะ 2 หมวด 4 นั้นให้ได้รับส่วนแบ่งมรดกดังนี้
(2) ผู้สืบสันดานในชั้นเดียวกันได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน”
มาตรา 1639 “ถ้าบุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตามมาตรา 1629 (1) (3) (4) หรือ (6) ถึงแก่ ความตาย หรือถูกกําจัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย ถ้าบุคคลนั้นมีผู้สืบสันดานก็ให้ผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่ ถ้าผู้สืบสันดานคนใดของบุคคลนั้นถึงแก่ความตายหรือถูกกําจัดมิให้รับมรดกเช่นเดียวกัน ก็ให้ผู้สืบสันดานของผู้สันดานนั้นรับมรดกแทนที่ และให้มีการรับมรดกแทนที่กันเฉพาะส่วนแบ่งของบุคคลเป็นราย ๆ สืบต่อกันเช่นนี้ ไปจนหมดสาย”
มาตรา 1642 “การรับมรดกแทนที่กันนั้น ให้ใช้บังคับแต่ในระหว่างทายาทโดยธรรม”
มาตรา 1643 “สิทธิที่จะรับมรดกแทนที่กันนั้นได้เฉพาะแก่ผู้สืบสันดานโดยตรง ผู้บุพการีหามีสิทธิดังนั้นไม่
มาตรา 1698 “ข้อกําหนดพินัยกรรมนั้น ย่อมตกไป
(1) เมื่อผู้รับพินัยกรรมตายก่อนผู้ทําพินัยกรรม”
มาตรา 1699 “ถ้าพินัยกรรม หรือข้อกําหนดในพินัยกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินรายใดเป็นอันไร้ผล ด้วยประการใด ๆ ทรัพย์สินรายนั้นตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมหรือ ได้แก่แผ่นดินแล้วแต่กรณี
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายสมชาติทําพินัยกรรมยกมรดกเป็นเงิน 100,000 บาทให้แก่นายเอ แต่นายเอผู้รับพินัยกรรมตายก่อนผู้ทําพินัยกรรม ข้อกําหนดตามพินัยกรรมจึงตกไป ทรัพย์มรดกตามพินัยกรรม จึงต้องนํากลับคืนกองมรดกเพื่อแบ่งปันให้แก่ทายาทโดยธรรมตามมาตรา 1620, 1698 (1) และมาตรา 1699 โดยจะไม่มีการรับมรดกแทนที่ตามมาตรา 1639 และมาตรา 1642 ดังนั้น เมื่อรวมกับทรัพย์มรดกนอกพินัยกรรมอีก 800,000 บาท กองมรดกของนายสมชาติที่จะนําไปแบ่งให้แก่ทายาทโดยธรรมจึงมีจํานวนรวมทั้งหมดเป็นเงิน 900,000 บาท
สําหรับบุคคลที่มีสิทธิและไม่มีสิทธิรับมรดกของนายสมชาตินั้น แยกพิจารณาได้ดังนี้
1 นางสมศรี ไม่มีสิทธิรับมรดกของนายสมชาติ เพราะแม้ว่าเดิมนางสมศรีจะเป็นภริยา ของนายสมชาติ แต่ต่อมาได้จดทะเบียนหย่ากับนายสมชาติแล้ว นางสมศรีจึงไม่ใช่ทายาทโดยธรรมในฐานะคู่สมรส ตามมาตรา 1629 วรรคสอง
2 นางสมมล เป็นเพียงภริยาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของนายสมชาติ จึงไม่มีสิทธิรับมรดก ของนายสมชาติ เพราะไม่ใช่ทายาทโดยธรรมในฐานะคู่สมรสตามมาตรา 1629 วรรคสอง
3 นายเอ ซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมที่ชอบด้วยกฎหมาย ย่อมมีสิทธิรับมรดกของนายสมชาติ ในฐานะผู้สืบสันดานตามมาตรา 1598/27, 1627 และมาตรา 1629 (1) แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านายเอได้ถึงแก่ ความตายก่อนเจ้ามรดก นายเอจึงไม่มีสภาพบุคคลในเวลาที่เจ้ามรดาถึงแก่ความตาย นายเอจึงไม่อาจรับมรดกได้ ตามมาตรา 1604 วรรคหนึ่ง
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อนายเอมีบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายคือ ด.ญ.เบล และบุตรนอกกฎหมาย ที่นายเอได้รับรองแล้วคือ นายเขียว และเมื่อ ด.ญ.แบลและนายเขียวเป็นผู้สืบสันดานโดยตรงของนายเอ ดังนั้น ด.ญ.เบลและนายเขียวจึงมีสิทธิเข้ารับมรดกแทนที่นายเอได้ตามมาตรา 1639 และมาตรา 1643
4 นายสมศักดิ์ เป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรอง โดยหลักย่อมมีสิทธิรับมรดกของ นายสมชาติในฐานะผู้สืบสันดานตามมาตรา 1629 (1) ประกอบมาตรา 1627 แต่เมื่อนายสมศักดิ์ได้ถึงแก่ความตาย ก่อนเจ้ามรดกจึงไม่อาจรับมรดกได้ตามมาตรา 1604 วรรคหนึ่ง และแม้นายสมศักดิ์จะมีบุตรบุญธรรมคือนายอุดม แต่นายอุดมมิใช่ผู้สืบสันดานโดยตรงของนายสมศักดิ์ นายอุดมจึงเข้ารับมรดกแทนที่นายสมศักดิไม่ได้ต้องห้าม ตามมาตรา 1639 ประกอบมาตรา 1643 ดังนั้น แม้นายวิชัยจะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายอุดม นายวิชัย การเข้ารับมรดกแทนที่นายอุดมในการรับมรดกแทนที่นายสมศักดิ์ได้
ดังนั้น มรดกทั้งหมดของนายสมชาติจํานวน 900,000 บาท จึงตกได้แก่ ด.ญ.เบลและนายเขียว โดยการเข้ารับมรดกแทนที่นายเอ โดยทั้งสองจะได้รับส่วนแบ่งเท่า ๆ กันคือคนละ 450,000 บาทตามมาตรา 1634 (2)
สรุป
มรดกของนายสมชาติทั้งหมดตกได้แก่ ด.ญ.เบลและนายเขียวคนละ 450,000 บาท
ข้อ 4 นายหนึ่งและนางน้อยเป็นสามีภริยากันตามกฎหมาย นายหนึ่งมีน้องชายร่วมบิดามารดาเดียวกัน 2 คน คือ นายสองและนายสาม นายหนึ่งมีลุงที่ดูแลนายหนึ่งตั้งแต่เล็กชื่อนายคม ต่อมานายสอง จดทะเบียนสมรสกับนางสาย มีบุตรด้วยกัน 1 คน คือ นายสันต์ วันหนึ่งนายหนึ่งและนายสอง ทะเลาะกันอย่างรุนแรง นายสองเอาปืนมายิงนายหนึ่ง นายหนึ่งได้รับบาดเจ็บสาหัส นายสอง ต้องคําพิพากษาถึงที่สุดว่าพยายามฆ่านายหนึ่ง หลังจากนั้นนายสามขอเงินนายหนึ่งไปลงทุน ค้าขาย นายหนึ่งได้ให้เงินนายสามไปจํานวนหนึ่ง โดยให้นายสามทําหนังสือสัญญาไว้ว่า ถ้านายหนึ่ง ถึงแก่ความตายนายสามจะไม่ขอรับมรดกใด ๆ ทั้งสิ้นของนายหนึ่ง ต่อมานายหนึ่งหัวใจวายตาย โดยไม่ได้ทําพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้กับใคร นายหนึ่งมีทรัพย์มรดกทั้งสิ้น 300,000 บาท ดังนี้ ให้ท่านแบ่งมรดกของนายหนึ่ง
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1606 “บุคคลดังต่อไปนี้ต้องถูกกําจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควร คือ
(1) ผู้ที่ต้องคําพิพากษาถึงที่สุดว่าได้เจตนากระทํา หรือพยายามกระทําให้เจ้ามรดกหรือ ผู้มีสิทธิได้รับมรดกก่อนตนถึงแก่ความตายโดยมิชอบด้วยกฎหมาย”
มาตรา 1619 “ผู้ใดจะสละหรือจําหน่ายจ่ายโอนโดยประการใด ซึ่งสิทธิอันหากจะมีในภายหน้า ในการสืบมรดกผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นไม่ได้”
มาตรา 1620 วรรคหนึ่ง “ถ้าผู้ใดตายโดยไม่ได้ทําพินัยกรรมไว้หรือทําพินัยกรรมไว้แต่ไม่มี ผลบังคับได้ ให้ปันทรัพย์มรดกทั้งหมดแก่ทายาทโดยธรรมของผู้ตายนั้นตามกฎหมาย”
มาตรา 1629 “ทายาทโดยธรรมมีหกลําดับเท่านั้น และภายใต้บังคับแห่งมาตรา 1630 วรรคสอง แต่ละลําดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้ คือ
(1) ผู้สืบสันดาน
(2) บิดามารดา
(3) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
(4) พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน
(5) ปู่ ย่า ตา ยาย
(6) ลุง ป้า น้า อา
คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา 1635”
มาตรา 1630 วรรคหนึ่ง “ตราบใดที่ทายาทซึ่งยังมีชีวิตอยู่ หรือมีผู้รับมรดกแทนที่ยังไม่ขาดสาย 1 แต่กรณีในลําดับหนึ่ง ๆ ที่ระบุไว้ในมาตรา 1629 ทายาทผู้ที่อยู่ในลําดับถัดลงไปไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของ ผู้ตายเลย”
มาตรา 1635 “ลําดับและส่วนแบ่งของคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ในการรับมรดกของผู้ตายนั้น ให้เป็นไปดังต่อไปนี้
(2) ถ้ามีทายาทตามมาตรา 1629
(3) และทายาทนั้นยังมีชีวิตอยู่ หรือมีผู้รับมรดกแทนที่หรือถ้าไม่มีทายาทตามมาตรา 1629 (1) แต่มีทายาทตามมาตรา 1629(2) แล้วแต่กรณี คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้น มีสิทธิได้รับมรดกกึ่งหนึ่ง”
มาตรา 1639 “ถ้าบุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตามมาตรา 1629 (1) (3) (4) หรือ (6) ถึงแก่ความตาย หรือถูกกําจัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย ถ้าบุคคลนั้นมีผู้สืบสันดานก็ให้ผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่ ถ้าผู้สืบสันดาน คนใดของบุคคลนั้นถึงแก่ความตายหรือถูกกําจัดมิให้รับมรดกเช่นเดียวกัน ก็ให้ผู้สืบสันดานของผู้สืบสันดานนั้น รับมรดกแทนที่ และให้มีการรับมรดกแทนที่กันเฉพาะส่วนแบ่งของบุคคลเป็นราย ๆ สืบต่อกันเช่นนี้ไปจนหมดสาย”
มาตรา 1643 “สิทธิที่จะรับมรดกแทนที่กันนั้นได้เฉพาะแก่ผู้สืบสันดานโดยตรง ผู้บุพการี หามีสิทธิดังนั้นไม่”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ เมื่อนายหนึ่งเจ้ามรดกถึงแก่ความตายโดยไม่ได้ทําพินัยกรรมไว้ มรดกทั้งหมด ของนายหนึ่งจํานวน 300,000 บาท ย่อมตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมตามมาตรา 1620 วรรคหนึ่ง ซึ่งทายาทโดยธรรม ของนายหนึ่ง ได้แก่ นางน้อยคู่สมรส ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมตามมาตรา 1629 วรรคสอง นายสองและนายสาม ซึ่งเป็นน้องชายร่วมบิดามารดาเดียวกันตามมาตรา 1629 (3) ส่วนนายคมซึ่งเป็นลุงและเป็นทายาทโดยธรรม ตามมาตรา 1629 (6) นั้น จะไม่มีสิทธิรับมรดกของนายหนึ่งผู้ตายเลยตามมาตรา 1630 วรรคหนึ่ง เนื่องจาก นายหนึ่งมีทายาทโดยธรรมตามมาตรา 1629 (3) ซึ่งยังมีชีวิตอยู่ จึงมีผลให้ทายาทในลําดับถัดลงไปไม่มีสิทธิใน ทรัพย์มรดกของผู้ตายเลย
การที่นายสองต้องคําพิพากษาถึงที่สุดว่าพยายามฆ่านายหนึ่งเจ้ามรดก นายสองจึงถูกกําจัด มีให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควรตามมาตรา 1606 (1) แต่เมื่อเป็นการถูกกําจัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย ดังนั้น เมื่อนายสองมีนายสันต์เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายและเป็นผู้สืบสันดานโดยตรง นายสันต์จึงมีสิทธิ รับมรดกแทนที่นายสองในการรับมรดกของนายหนึ่งได้ตามมาตรา 1639 ประกอบมาตรา 1643
ส่วนการที่นายสามได้ทําหนังสือสัญญาไว้ว่า ถ้านายหนึ่งถึงแก่ความตายนายสามจะไม่ขอรับ มรดกใด ๆ ทั้งสิ้นของนายหนึ่งนั้น ถือเป็นการสละสิทธิอันจะมีในภายหน้าในการสืบมรดกของนายหนึ่งที่ยัง มีชีวิตอยู่ในเวลานั้น ย่อมเป็นการแสดงเจตนาที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา 1619 การสละมรดกของนายสาม จึงไม่มีผลตามกฎหมาย ดังนั้น นายสามจึงยังคงมีสิทธิรับมรดกของนายหนึ่ง
เมื่อทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิรับมรดกของนายหนึ่งได้แก่ นางน้อยซึ่งเป็นคู่สมรส นายสันต์ ที่เข้ามารับมรดกแทนที่นายสองและนายสามซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมตามมาตรา 1629 (3) ดังนั้น นางน้อยจึง มีสิทธิได้รับมรดกกึ่งหนึ่งคือ 150,000 บาท ตามมาตรา 1635 (2) ส่วนที่เหลืออีกถึงหนึ่งคือ 150,000 บาท จึงนํามาแบ่งแก่นายสันต์และนายสาม คนละ 75,000 บาท
สรุป
ทรัพย์มรดกของนายหนึ่งจํานวน 300,000 บาท ตกได้แก่นางน้อยจํานวน 150,000 บาท และตกได้แก่นายสันต์กับนายสามคนละ 75,000 บาท