การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2558

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3009 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยมรดก

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1 นายเมฆมีบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย 2 คน คือ น.ส.ดาว และ น.ส.เดือน นายเมฆให้นางเนปจูนเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ราคา 30,000 บาท แบ่งชําระจํานวน 10 งวด งวดละ 3,000 บาท นอกจากนี้นายเมฆ ยังให้นายพลูโตเช่าที่ดินเพื่อทํานา จํานวน 2 ไร่ คิดค่าเช่าที่ดินเดือนละ 4,000 บาท ระยะเวลา ในการเช่าที่ดิน 2 ปี หลังจากนายเมฆทําสัญญากับนางเนปจูนและนายพลูโตแล้วเป็นเวลา 6 เดือน นางเนปจูนและนายพลูโตก็ประสบอุบัติเหตุถึงแก่ความตาย ดังนี้ สิทธิตามสัญญาเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ และสิทธิตามสัญญาเช่าที่ดินเป็นมรดกหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1600 “ภายใต้บังคับของบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ กองมรดกของผู้ตายได้แก่ ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ เว้นแต่ตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้ว เป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้

วินิจฉัย

ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1600 ได้บัญญัติไว้ว่า มรดกซึ่งจะตกทอดแก่ผู้เป็นทายาทเมื่อเจ้ามรดกตายนั้น ได้แก่ ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดต่าง ๆ ของผู้ตาย เว้นแต่สิทธิ หน้าที่และ ความรับผิดซึ่งตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้วเป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้ จะไม่ตกทอดไปยังทายาท

กรณีตามอุทาหรณ์ สิทธิตามสัญญาเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ และสิทธิตามสัญญาเช่าที่ดินเป็น มรดกหรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้

1 สิทธิตามสัญญาเช่าซื้อ ตามกฎหมายในเรื่องสัญญาเช่าซื้อนั้น เมื่อผู้เช่าซื้อถึงแก่ ความตาย สัญญาเช่าซื้อย่อมไม่ระงับสิ้นไป เพราะสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาเช่าซื้อนั้นตามกฎหมายหรือว่าโดย อภาพแล้วไม่เป็นการเฉพาะตัวของผู้ให้เช่าซื้อและผู้เช่าซื้อแต่อย่างใด สิทธิและหน้าที่ตามสัญญาเช่าซื้อจึงเป็นการตกทอดแก่ผู้เป็นทายาทได้ ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าหลังจากนางเนปจูนเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ไปได้ 6 เดือน ก็ประสบอุบัติเหตุถึงแก่ความตาย สิทธิและหน้าที่ตามสัญญาเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ของนางเนปจูนจึงเป็นมรดก ตกทอดแก่ทายาท

2 สิทธิตามสัญญาเช่าที่ดิน เมื่อนายพลูโตผู้เช่าถึงแก่ความตาย สิทธิและหน้าที่ตาม สัญญาเช่าที่ดินย่อมระงับสิ้นไป เพราะสิทธิตามสัญญาเช่า ผู้ให้เช่าได้คํานึงถึงคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตัวของผู้เช่า จึงเป็นการเฉพาะตัวของผู้เช่าโดยแท้ ดังนั้น สิทธิตามสัญญาเช่าของนายพลูโตจึงไม่เป็นมรดกตกทอดแก่ทายาท

สรุป

สิทธิตามสัญญาเช่าซื้อรถจักรยานยนต์เป็นมรดก แต่สิทธิตามสัญญาเช่าที่ดินไม่เป็นมรดก

 

ข้อ 2 นายดอนอยู่กินกับนางศรีโดยมิได้จดทะเบียนสมรส มีบุตรด้วยกันคือ นายเก่ง และนายก้อน โดยนายดอนได้แจ้งเกิดในสูติบัตรว่าเป็นบิดา โดยนายก้อนนั้นได้จดทะเบียนรับนายเต่ามาเป็น บุตรบุญธรรมของตน ส่วนนายเต่าจดทะเบียนสมรสกับนางเดือนมีบุตรชื่อนางดาว หลังจากนั้น นายดอนจดทะเบียนรับนายเอกมาเป็นบุตรบุญธรรมซึ่งนายเอกจดทะเบียนสมรสกับนางหญิงและ มีบุตรคือนายชาย ต่อมานายดอนเลิกกับนางศรีและได้ไปจดทะเบียนสมรสกับนางยินดีมีบุตร ด้วยกันคือนายหยิ่ง หลังจากนั้นนายเก่งได้ทําพินัยกรรมยกเงินสดให้นายก้อน 100,000 บาท หลังจากนั้นนางศรี นายก้อน และนายเอกประสบอุบัติเหตุถึงแก่ความตาย ต่อมานายเก่งหัวใจวายตาย จากนั้นนายเต่าป่วยตาย เช่นนี้ จงพิจารณาแบ่งมรดกของนายเก่งที่ยังมีเงินสดนอกพินัยกรรมอีก 20,000 บาท

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1604 วรรคหนึ่ง “บุคคลธรรมดาจะเป็นทายาทได้ก็ต่อเมื่อมีสภาพบุคคลหรือสามารถ มีสิทธิได้ตามมาตรา 15 แห่งประมวลกฎหมายนี้ในเวลาที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย”

มาตรา 1620 วรรคหนึ่ง “ถ้าผู้ใดตายโดยไม่ได้ทําพินัยกรรมไว้หรือทําพินัยกรรมไว้แต่ไม่มี ผลบังคับได้ ให้ปันทรัพย์มรดกทั้งหมดแก่ทายาทโดยธรรมของผู้ตายนั้นตามกฎหมาย”

มาตรา 1629 “ทายาทโดยธรรมมีหกลําดับเท่านั้น และภายใต้บังคับแห่งมาตรา 1630 วรรคสอง แต่ละลําดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้ คือ

(1) ผู้สืบสันดาน

(2) บิดามารดา

(3) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน

(4) พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน

(5) ปู่ ย่า ตา ยาย

(6) ลุง ป้า น้า อา”

มาตรา 1633 “ทายาทโดยธรรมในลําดับเดียวกันในลําดับหนึ่ง ๆ ที่ระบุไว้ในมาตรา 1629 นั้น ชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน ถ้าในลําดับหนึ่งมีทายาทโดยธรรมคนเดียว ทายาทโดยธรรมคนนั้นมีสิทธิได้รับ ส่วนแบ่งทั้งหมด”

มาตรา 1639 “ถ้าบุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตามมาตรา 1629 (1) (3) (4) หรือ (6) ถึงแก่ความตาย หรือถูกกําจัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย ถ้าบุคคลนั้นมีผู้สืบสันดานก็ให้ผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่ ถ้า ผู้สืบสันดานคนใดของบุคคลนั้นถึงแก่ความตายหรือถูกกําจัดมิให้รับมรดกเช่นเดียวกัน ก็ให้ผู้สืบสันดานของ ผู้สืบสันดานนั้นรับมรดกแทนที่ และให้มีการรับมรดกแทนที่กันเฉพาะส่วนแบ่งของบุคคลเป็นราย ๆ สืบต่อกันเช่นนี้ ไปจนหมดสาย

มาตรา 1642 “การรับมรดกแทนที่กันนั้น ให้ใช้บังคับแต่ในระหว่างทายาทโดยธรรม”

มาตรา 1643 “สิทธิที่จะรับมรดกแทนที่กันนั้นได้เฉพาะแก่ผู้สืบสันดานโดยตรง ผู้บุพการี หามีสิทธิดังนั้นไม่”

มาตรา 1698 “ข้อกําหนดพินัยกรรมนั้น ย่อมตกไป

(1) เมื่อผู้รับพินัยกรรมตายก่อนผู้ทําพินัยกรรม”

มาตรา 1699 “ถ้าพินัยกรรม หรือข้อกําหนดในพินัยกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินรายใดเป็นอันไร้ผล ด้วยประการใด ๆ ทรัพย์สินรายนั้นตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมหรือได้แก่แผ่นดินแล้วแต่กรณี

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเก่งได้ทําพินัยกรรมยกเงินสดจํานวน 100,000 บาท ให้แก่นายก้อน นั้น เมื่อปรากฏว่า นายก้อนผู้รับพินัยกรรมตายก่อนนายเก่งผู้ทําพินัยกรรม ข้อกําหนดในพินัยกรรมนั้นย่อมตกไป ดังนั้น จึงต้องนําเงินจํานวน 100,000 บาท ในส่วนนี้กลับคืนสู่กองมรดกเพื่อแบ่งปันให้แก่ทายาทโดยธรรมของ นายเก่งต่อไปตามมาตรา 1698 (1) และมาตรา 1699 ทําให้จํานวนเงินซึ่งเป็นมรดกของนายเก่งมีจํานวนรวมทั้งหมด 120,000 บาท

และเมื่อนายเก่งเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย บุคคลที่มีสิทธิและไม่มีสิทธิรับมรดกของนายเก่ง แยกพิจารณาได้ดังนี้

1 นายดอน ซึ่งเป็นบิดาของนายเก่ง แต่เป็นบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของนายเก่ง เพราะขณะที่นายเก่งเกิด นายดอนกับนางศรีเป็นสามีภริยากันโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น นายดอนจึงไม่มีสิทธิ รับมรดกของนายเก่ง เพราะตามมาตรา 1629 (2) ทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิรับมรดกนั้นจะต้องเป็นบิดาและมารดา ที่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น

2 นางศรี ซึ่งเป็นมารดาของนายเก่ง และเป็นมารดาที่ชอบด้วยกฎหมายของนายเอง เพราะตามมาตรา 1546 บุคคลที่เกิดจากหญิงที่มิได้สมรสกับชายให้ถือว่าเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของหญิงนั้น นางศรีจึงมีฐานะเป็นทายาทโดยธรรมตามมาตรา 1629 (2) แต่เมื่อปรากฏว่านางศรีถึงแก่ความตายก่อนเจ้ามรดก จึงถือว่านางศรีไม่มีสภาพบุคคลอยู่ในขณะที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย จึงมิอาจรับมรดกได้ตามมาตรา 1604

3 นายเอก ซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของนายดอน มิใช่พี่น้องร่วมกับนายเก่ง จึงมิใช่ทายาท โดยธรรมและไม่มีสิทธิรับมรดกของนายเก่ง

4 นายก้อน ซึ่งเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับนายเก่ง และมีฐานะเป็นทายาท โดยธรรมตามมาตรา 1629 (3) แต่เมื่อปรากฏว่านายก้อนถึงแก่ความตายก่อนเจ้ามรดก จึงถือว่านายก้อนไม่มี สภาพบุคคลอยู่ในเวลาที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย จึงมิอาจรับมรดกได้ตามมาตรา 1604

และแม้ว่านายก้อนจะได้จดทะเบียนรับนายเต่ามาเป็นบุตรบุญธรรม แต่เมื่อนายเต่มิใช่ ผู้สืบสันดานโดยตรงของนายก้อน ดังนั้น นายเต๋จึงไม่สามารถเข้ารับมรดกแทนที่นายก้อนตามมาตรา 1639 และมาตรา 1643 ได้

5 นายหยิ่ง ซึ่งเป็นพี่น้องร่วมบิดาเดียวกันกับนายเก่ง จึงมีฐานะเป็นทายาทโดยธรรม ตามมาตรา 1629 (4) เมื่อปรากฏว่าไม่มีทายาทอันดับก่อนหน้านายหยิ่งได้รับมรดกรวมถึงไม่มีผู้รับมรดกแทนที่ ดังนั้น มรดกของนายเก่งคือเงินสดจํานวน 120,000 บาท จึงตกได้แก่นายหยิงแต่เพียงผู้เดียวตามมาตรา 1633

สรุป

มรดกของนายเก่ง คือ เงินสดจํานวน 120,000 บาท ตกได้แก่นายหยิ่งแต่เพียงผู้เดียว

 

ข้อ 3 นายโชคกับนางช่วยเป็นสามีภริยาชอบด้วยกฎหมาย มีบุตร 2 คน คือนายลาภ และนายยศ บิดามารดาถึงแก่ความตายแล้ว นายลาภมีนางแดงเป็นภริยาแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส มีบุตร 1 คน คือ เด็กหญิงสวย ซึ่งนายลาภให้ใช้นามสกุลและส่งเสียเลี้ยงดูให้การศึกษาตลอดมา นายยศมีความประพฤติ ไม่ดี นายโชคจึงประกาศด้วยวาจาต่อญาติทุกคนว่าขอตัดนายยศมิให้รับมรดกของตน ต่อมานายลาภใช้อาวุธปืนยิงนายโชคโดยเจตนาฆ่าเนื่องจากไม่พอใจที่ขอเงินแล้วนายโชคปฏิเสธ แต่นายโชค ไม่ถึงแก่ความตาย ศาลพิพากษาลงโทษจําคุกนายลาภในความผิดฐานพยายามฆ่านายโชค คดีถึงที่สุด แล้ว ต่อมาอีก 5 ปี นายโชคป่วยและถึงแก่ความตาย โดยมีทรัพย์มรดกเป็นเงิน 3,000,000 บาท ให้วินิจฉัยว่า ทรัพย์มรดกของนายโชคตกแก่ผู้ใด เพียงใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1606 “บุคคลดังต่อไปนี้ต้องถูกกําจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควร คือ

(1) ผู้ที่ต้องคําพิพากษาถึงที่สุดว่าได้เจตนากระทํา หรือพยายามกระทําให้เจ้ามรดกหรือ ผู้มีสิทธิได้รับมรดกก่อนตนถึงแก่ความตายโดยมิชอบด้วยกฎหมาย”

มาตรา 1608 “เจ้ามรดกจะตัดทายาทโดยธรรมของตนคนใดมิให้รับมรดกก็ได้แต่ด้วยแสดง เจตนาชัดแจ้ง

(1) โดยพินัยกรรม

(2) โดยทําเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่”

มาตรา 1629 “ทายาทโดยธรรมมีหกลําดับเท่านั้น และภายใต้บังคับแห่งมาตรา 1630 วรรคสอง แต่ละลําดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้ คือ

(1) ผู้สืบสันดาน คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา1635

มาตรา 1633 “ทายาทโดยธรรมในลําดับเดียวกันในลําดับหนึ่ง ๆ ที่ระบุไว้ในมาตรา 1629 นั้น ชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน ถ้าในลําดับหนึ่งมีทายาทโดยธรรมคนเดียว ทายาทโดยธรรมคนนั้นมีสิทธิได้รับ ส่วนแบ่งทั้งหมด”

มาตรา 1635 “ลําดับและส่วนแบ่งของคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ในการรับมรดกของผู้ตายนั้น ให้ เป็นไปดังต่อไปนี้

(1) ถ้ามีทายาทตามมาตรา 1629 (1) ซึ่งยังมีชีวิตอยู่หรือมีผู้รับมรดกแทนที่แล้วแต่กรณี คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นมีสิทธิได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าตนเป็นทายาทชั้นบุตร”

มาตรา 1639 “ถ้าบุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตามมาตรา 1629 (1) (3) (4) หรือ (6) ถึงแก่ความตาย หรือถูกกําจัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย ถ้าบุคคลนั้นมีผู้สืบสันดานก็ให้ผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่ ถ้าผู้สืบสันดาน คนใดของบุคคลนั้นถึงแก่ความตายหรือถูกกําจัดมิให้รับมรดกเช่นเดียวกัน ก็ให้ผู้สืบสันดานของผู้สืบสันดานนั้น รับมรดกแทนที่ และให้มีการรับมรดกแทนที่กันเฉพาะส่วนแบ่งของบุคคลเป็นราย ๆ สืบต่อกันเช่นนี้ไปจนหมดสาย”

มาตรา 1643 “สิทธิที่จะรับมรดกแทนที่กันนั้นได้เฉพาะแก่ผู้สืบสันดานโดยตรง ผู้บุพการีหามีสิทธิดังนั้นไม่”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ เมื่อนายโชคเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย มีทรัพย์มรดกถือเงินสดจํานวน 3,000,000 บาท มรดกของนายโชคจะตกทอดแก่บุคคลใดบ้าง แยกพิจารณาได้ดังนี้ คือ

1 นางช่วย ซึ่งเป็นภริยาชอบด้วยกฎหมายของนายโชค จึงถือเป็นทายาทโดยธรรมใน ฐานะคู่สมรส และมีสิทธิได้รับมรดกของนายโชคตามมาตรา 1629 วรรคท้าย และจะได้รับส่วนแบ่งเสมือนหนึ่ง ว่าตนเป็นทายาทชันบุตรตามมาตรา 1635 (1)

2 นายลาภ ซึ่งเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายโชค จึงถือเป็นทายาทโดยธรรมตาม มาตรา 1629 (1) แต่เมื่อปรากฎว่า นายลาภใช้อาวุธปืนยิงนายโชคจนถูกศาลพิพากษาลงโทษจําคุกนายลาภใน ความผิดฐานพยายามฆ่านายโชค นายลาภจึงเป็นบุคคลที่ถูกกําจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควรตามมาตรา 1606 (1) ดังนั้น นายลาภจึงไม่มีสิทธิรับมรดกของนายโชค

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อนายลาภถูกกําจัดมิให้รับมรดกตามมาตรา 1606 (1) อันเป็นการ ถูกกําจัดก่อนเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย เด็กหญิงสวยซึ่งเป็นบุตรนอกกฎหมายที่นายลาภรับรองแล้วและเป็น ผู้สืบสันดานโดยตรงของนายลาภ จึงเข้ารับมรดกแทนที่นายลาภได้ตามมาตรา 1639 ประกอบมาตรา 1643

3 นายยศ ซึ่งเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายโชค จึงถือเป็นทายาทโดยธรรมตาม มาตรา 1629 (1) และมีสิทธิรับมรดกของนายโชค แม้นายโชคจะประกาศตัดมิให้นายยศได้รับมรดก แต่นายโชค พูดด้วยวาจามิได้แสดงเจตนาชัดแจ้งโดยพินัยกรรม หรือโดยทําเป็นหนังสือมอบไว้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ การตัด มิให้นายยศรับมรดกจึงไม่ชอบด้วยมาตรา 1608 ไม่มีผลเป็นการตัดมิให้รับมรดก

ดังนั้น ทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกของนายโชค ก็คือ นางช่วย เด็กหญิงสวย และนายยศ ทรัพย์มรดกของนายโชคจึงตกได้แก่ทายาทดังกล่าวคนละ 1,000,000 บาท เท่า ๆ กัน ตามมาตรา 1635 (1) ประกอบมาตรา 1633

สรุป

ทรัพย์มรดกของนายโชคตกได้แก่ นางช่วย เด็กหญิงสวย และนายยศ คนละ 1,000,000 บาท

ข้อ 4 นางชลมีมารดาชื่อนางฉลวย นางชลมีบุตรชาย 1 คน คือนายใหญ่ นางชลรักนายเล็กหลานชายมาก นางชลจึงจดทะเบียนรับนายเล็กเป็นบุตรบุญธรรมตามกฎหมาย ต่อมานายเล็กจดทะเบียนสมรสกับ นางลินมีบุตร 1 คน ชื่อ ด.ช.หล้า นายเล็กประสบอุบัติเหตุตาย นางชลทําพินัยกรรมยกตึกแถวที่นางชล อาศัยอยู่ราคา 1,000,000 บาท ให้กับนายใหญ่ หลังจากนั้นนางชลถึงแก่ความตาย นางชลมีทรัพย์ มรดกคือตึกแถวราคา 1,000,000 บาท ตามที่ระบุในพินัยกรรมและมีทรัพย์นอกพินัยกรรมคือเงินสด 600,000 บาท นายใหญ่อยากได้ทรัพย์มรดกของนางชลทั้งหมด นายใหญ่จึงทําพินัยกรรมปลอมว่า นางชลทําพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้นายใหญ่แต่เพียงผู้เดียว ดังนี้ให้ท่านแบ่งมรดกของนางชล

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1606 “บุคคลดังต่อไปนี้ต้องถูกกําจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควร คือ

(5) ผู้ที่ปลอม ทําลาย หรือปิดบังพินัยกรรมแต่บางส่วนหรือทั้งหมด”

มาตรา 1627 “บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้น ให้ถือว่าเป็น เสืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้”

มาตรา 1629 “ทายาทโดยธรรมมีหกลําดับเท่านั้น และภายใต้บังคับแห่งมาตรา 1630 วรรคสอง แต่ละลําดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้ คือ

(1) ผู้สืบสันดาน

(2) บิดามารดา”

มาตรา 1630 “ตราบใดที่ทายาทซึ่งยังมีชีวิตอยู่ หรือมีผู้รับมรดกแทนที่ยังไม่ขาดสายแล้วแต่ กรณีในลําดับหนึ่ง ๆ ที่ระบุไว้ในมาตรา 1629 ทายาทผู้ที่อยู่ในลําดับถัดลงไปไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายเลย

แต่ความในวรรคก่อนนี้มิให้ใช้บังคับในกรณีเฉพาะที่มีผู้สืบสันดานคนใดยังมีชีวิตอยู่หรือมีผู้รับ มรดกแทนที่กันแล้วแต่กรณี และมีบิดามารดายังมีชีวิตอยู่ ในกรณีเช่นนั้นให้บิดามารดาได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่า เป็นทายาทชั้นบุตร”

มาตรา 1633 “ทายาทโดยธรรมในลําดับเดียวกันในลําดับหนึ่ง ๆ ที่ระบุไว้ในมาตรา 1629 นั้น ชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน ถ้าในลําดับหนึ่งมีทายาทโดยธรรมคนเดียว ทายาทโดยธรรมคนนั้นมีสิทธิได้รับ ส่วนแบ่งทั้งหมด”

มาตรา 1639 “ถ้าบุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตามมาตรา 1629 (1) (3) (4) หรือ (6) ถึงแก่ ความตาย หรือถูกกําจัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย ถ้าบุคคลนั้นมีผู้สืบสันดานก็ให้ผู้สืบสันดานรับมรดกแทน ถ้าผู้สืบสันดานคนใดของบุคคลนั้นถึงแก่ความตายหรือถูกกําจัดมิให้รับมรดกเช่นเดียวกัน ก็ให้ผู้สืบสันดานของ ผู้สืบสันดานนั้นรับมรดกแทนที่ และให้มีการรับมรดกแทนที่กันเฉพาะส่วนแบ่งของบุคคลเป็นราย ๆ สืบต่อกัน เช่นนี้ไปจนหมดสาย”

มาตรา 1643 “สิทธิที่จะรับมรดกแทนที่กันนั้นได้เฉพาะแก่ผู้สืบสันดานโดยตรง ผู้บุพการี หามีสิทธิดังนั้นไม่

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ เมื่อนางชลเจ้ามรดกถึงแก่ความตายมีทรัพย์มรดกคือ ตึกแถวตามพินัยกรรม ราคา 1,000,000 บาท และเงินสดนอกพินัยกรรมจํานวน 600,000 บาท โดยหลักแล้วตึกแถวราคา 1,000,000 บาท ย่อมตกได้แก่นายใหญ่ในฐานะผู้รับพินัยกรรม แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อปรากฏว่านายใหญ่ได้ทําพินัยกรรมปลอมว่า นางซลได้ยกทรัพย์มรดกให้แก่ตนแต่เพียงผู้เดียว นายใหญ่จึงถูกกําจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ มาตรา 1606 (5) มีผลทําให้นายใหญ่ไม่มีสิทธิรับมรดกของนางชลเลย

ดังนั้น มรดกของนางชลจึงตกแก่ทายาทโดยธรรม คือ นายเล็กซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของ นางชลตามมาตรา 1629 (1) ประกอบมาตรา 1627 และนางฉลวยซึ่งเป็นมารดาของนางชลตามมาตรา 1629 (2) ประกอบมาตรา 1630 แต่เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่านายเล็กตายก่อนเจ้ามรดก ด.ช.หล้า ซึ่งเป็นผู้สืบสันดานโดยตรง ของนายเล็กจึงเข้ารับมรดกแทนที่ในส่วนที่นายเล็กจะได้ตามมาตรา 1639 ประกอบมาตรา 1643 ฉะนั้น ทรัพย์มรดกของนางชลคือตึกแถวราคา 1,000,000 บาท และเงินสดจํานวน 600,000 บาท จึงตกได้แก่นางฉลาย! และ ด.ช.หล้า คนละเท่า ๆ กัน คือ คนละ 800,000 บาท ตามมาตรา 1633

สรุป

ทรัพย์มรดกของนางชล คือ ตึกแถวราคา 1,000,000 บาท และเงินสดจํานวน 600,000 บาท ตกได้แก่นางฉลวยและ ด.ช.หล้า คนละ 800,000 บาท

Advertisement