การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2560

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3008 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 2

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจําเลยโดยบรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2561 เวลากลางวันจําเลยใช้อาวุธปืนยิงนายเทาโดยมีเจตนาฆ่าตามที่ได้ไตร่ตรองไว้ก่อน หลังจากนายเทาทะเลาะวิวาท กับจําเลย จําเลยลงมือกระทําความผิดแล้วแต่การกระทํานั้นไม่บรรลุผลเพราะกระสุนปืนเพียงแต่ ถูกที่ขาซ้ายของนายเทาเป็นเหตุให้นายเทาได้รับอันตรายสาหัส เหตุเกิดที่แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ขอให้ลงโทษจําเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288, 80 จําเลยให้การต่อสู้ว่าโจทกบรรยายฟ้องไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากมิได้บรรยายฟ้องว่าไตร่ตรอง ไว้ก่อนอย่างไร ดังนี้ ข้อต่อสู้ของจําเลยฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 158 “ฟ้องต้องทําเป็นหนังสือ และมี

(5) การกระทําทั้งหลายที่อ้างว่าจําเลยได้กระทําผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับ เวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทํานั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จําเลยเข้าใจ ข้อหาได้ดี

วินิจฉัย

ในการฟ้องคดีอาญา นอกจากคําฟ้องต้องทําเป็นหนังสือแล้ว โจทก์จะต้องบรรยายฟ้องถึง การกระทําทั้งหลายที่โจทก์กล่าวหาว่าจําเลยกระทําผิดด้วย กล่าวคือ จะต้องบรรยายถึงการกระทําผิดไว้ให้ชัดเจน ครบถ้วนขององค์ประกอบแห่งความผิดนั้น มิฉะนั้นแล้ว คําฟ้องของโจทก์จะกลายเป็นฟ้องเคลือบคลุมไม่ชอบด้วย กฎหมาย ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 158 (5)

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจําเลยโดยบรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2561 เวลากลางวัน จําเลยใช้อาวุธปืนยิงนายเทาโดยมีเจตนาฆ่าตามที่ได้ไตร่ตรองไว้ก่อน และจําเลยให้การต่อสู้ว่าโจทก์บรรยายฟ้องไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากมิได้บรรยายฟ้องว่าไตร่ตรองไว้ก่อนอย่างไรนั้น ข้อต่อสู้ของจําเลยดังกล่าวฟังไม่ขึ้น ทั้งนี้เพราะคําว่า “ไตร่ตรองไว้ก่อน” มีความหมายสมบูรณ์อยู่ในตัวแล้วว่า เป็นเรื่องที่มีการเตรียมการมาล่วงหน้ามิใช่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในทันทีทันใดโดยไม่ตั้งใจมาก่อน แม้โจทก์จะมิได้ บรรยายว่าไตร่ตรองไว้ก่อนอย่างไร ฟ้องโจทก์ก็เป็นฟ้องที่สมบูรณ์และชอบด้วยกฎหมายแล้ว ดังนั้น คําบรรยายฟ้อง ในการกระทําความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนจึงชอบด้วย ป.วิ.อาญา มาตรา 158 (5) แล้ว

สรุป ข้อต่อสู้ของจําเลยฟังไม่ขึ้น

 

ข้อ 2. พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจําเลยในความผิดฐานชักหรือแสดงอาวุธในการวิวาทต่อสู้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 379 ซึ่งมีระวางโทษจําคุกไม่เกินสิบวันหรือปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ (โจทก์บรรยายฟ้องถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ) ในวันนัดพิจารณาโจทก์ จําเลยมาศาล ศาลได้อ่านและอธิบายฟ้องให้จําเลยฟังโดยมิได้สอบถามจําเลยในเรื่องทนายความ ก่อนที่จะอ่านและอธิบายฟ้องให้จําเลยฟัง จําเลยแถลงให้การรับสารภาพตามฟ้องและไม่ติดใจ สืบพยาน โจทก์แถลงไม่ติดใจสืบพยาน ศาลชั้นต้นจดรายงานกระบวนพิจารณาว่า คดีเสร็จ การพิจารณาให้นัดฟังคําพิพากษา ดังนี้ การดําเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นสําหรับจําเลย ดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 173 วรรคสอง “ในคดีที่มีอัตราโทษจําคุก ก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามจําเลยว่า มีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีและจําเลยต้องการทนายความก็ให้ศาลตั้งทนายความให้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แม้ความผิดตามที่พนักงานอัยการโจทก์ได้ฟ้องขอให้ลงโทษจําเลยตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 379 นั้น จะมีระวางโทษจําคุกไม่เกิน 10 วัน หรือปรับไม่เกิน 5 พันบาท หรือทั้ง จําทั้งปรับ แต่เมื่อเป็นคดีที่มีอัตราโทษจําคุกไม่ว่าจะมากน้อยเพียงใดก็ตาม ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 173 วรรคสอง ได้บัญญัติว่า ก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามจําเลยว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีและจําเลยต้องการทนายความ ก็ให้ศาลตั้งทนายความให้

ดังนั้น คดีนี้การที่ศาลชั้นต้นดําเนินกระบวนพิจารณาอ่านและอธิบายฟ้องให้จําเลยฟังโดย มิได้สอบถามจําเลยในเรื่องทนายความก่อน จึงเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติดังกล่าว จึงมีผลทําให้กระบวน พิจารณาของศาลชั้นต้นนับแต่นี้เป็นต้นไปจนถึงนัดฟังคําพิพากษาไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สรุป การดําเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นสําหรับจําเลยดังกล่าวไม่ชอบด้วย กฎหมาย

 

ข้อ 3. โจทก์ฟ้องว่าในวันที่ 30 มีนาคม 2561 เวลากลางวัน จําเลยที่ 1 จําเลยที่ 2 และจําเลยที่ 3 ร่วมกันปล้นทรัพย์รถจักรยานยนต์ของนายซึ่งไปโดยทุจริต ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340, 83 (โจทก์บรรยายฟ้องถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ) จําเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ โดยอ้างฐานที่อยู่ ศาลพิจารณาแล้วฟังข้อเท็จจริงว่า ในวันดังกล่าว เวลากลางคืน จําเลยที่ 1 แต่ผู้เดียวได้ลักเอาแฮนด์รถจักรยานยนต์ของนายซิ่งไปโดยทุจริต ส่วนจําเลยที่ 2 ช่วยรับซื้อแฮนด์ รถจักรยานยนต์ของกลางจากจําเลยที่ 1 โดยรู้อยู่ว่าเป็นทรัพย์ที่จําเลยที่ 1 ได้มาโดยการกระทําผิด การกระทําของจําเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335 (1) ส่วนการกระทําของจําเลยที่ 2 เป็นความผิดฐานรับของโจรตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 357 ส่วนจําเลยที่ 3 มิได้มีส่วนร่วมในการกระทําผิดแต่อย่างใด

ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่าศาลจะพิพากษาลงโทษ จําเลยที่ 1 จําเลยที่ 2 และจําเลยที่ 3 ได้หรือไม่ เพียงใด

หมายเหตุ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 334 วางหลักว่า “ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่น เป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต ผู้นั้นกระทําความผิดฐานลักทรัพย์ ต้องระวางโทษจําคุก ไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกินหกหมื่นบาท”

ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335 วางหลักว่า “ผู้ใดลักทรัพย์ (1) ในเวลากลางคืน.. ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท”

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 185 วรรคหนึ่ง “ถ้าศาลเห็นว่าจําเลยมิได้กระทําผิดก็ดี การกระทําของจําเลยไม่เป็น ความผิดก็ดี คดีขาดอายุความแล้วก็ดี มีเหตุตามกฎหมายที่จําเลยไม่ควรต้องรับโทษก็ดี ให้ศาลยกฟ้องโจทก์ ปล่อยจําเลยไป แต่ศาลจะสังขังจําเลยไว้หรือปล่อยชั่วคราวระหว่างคดียังไม่ถึงที่สุดก็ได้”

มาตรา 192 วรรคหนึ่ง วรรคสอง วรรคสาม วรรคสี่ และวรรคหก “ห้ามมิให้พิพากษา หรือสังเกินคําขอ หรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง

ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง ให้ศาลยกฟ้องคดีนั้น เว้นแต่ข้อแตกต่างนั้นมิใช่ในข้อสาระสําคัญและทั้งจําเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลจะลงโทษจําเลย ตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นก็ได้

ในกรณีที่ข้อแตกต่างนั้นเป็นเพียงรายละเอียด เช่น เกี่ยวกับเวลาหรือสถานที่กระทําความผิด หรือต่างกันระหว่างการกระทําผิดฐานลักทรัพย์ กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ฉ้อโกง โกงเจ้าหนี้ ยักยอก รับของโจร และ ทําให้เสียทรัพย์ หรือต่างกันระหว่างการกระทําผิดโดยเจตนากับประมาท มิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสําคัญ ทั้งมีให้ ถือว่าข้อที่พิจารณาได้ความนั้นเป็นเรื่องเกินคําขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก็ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ เว้นแต่จะปรากฏแก่ ศาลว่าการที่ฟ้องผิดไปเป็นเหตุให้จําเลยหลงต่อสู้ แต่ทั้งนี้ศาลจะลงโทษจําเลยเกินอัตราโทษที่กําหนดไว้สําหรับ ความผิดที่โจทก์ฟ้องไม่ได้

ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงบางข้อดังกล่าวในฟ้อง และตามที่ปรากฏในทางพิจารณาไม่ใช่เป็น เรื่องที่โจทกประสงค์ให้ลงโทษ ห้ามมิให้ศาลลงโทษจําเลยในข้อเท็จจริงนั้น ๆ

ถ้าความผิดตามที่ฟ้องนั้นรวมการกระทําหลายอย่าง แต่ละอย่างอาจเป็นความผิดได้อยู่ใน ตัวเอง ศาลจะลงโทษจําเลยในการกระทําผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่พิจารณาได้ความก็ได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ ศาลจะพิพากษาลงโทษจําเลยที่ 1 จําเลยที่ 2 และจําเลยที่ 3 ได้หรือไม่ เพียงใด แยกพิจารณาได้ดังนี้

กรณีจําเลยที่ 1 การที่โจทก์ฟ้องว่าจําเลยทั้งสามร่วมกันปล้นทรัพย์ในเวลากลางวัน แต่ ในทางพิจารณาฟังได้ว่า ในวันดังกล่าว เวลากลางคืน จําเลยที่ 1 แต่ผู้เดียวได้ลักเอาแฮนด์รถจักรยานยนต์ของ ผู้เสียหายไปโดยทุจริตนั้น แม้ว่าความผิดฐานปล้นทรัพย์จะมิได้บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อาญา มาตรา 192 วรรคสาม แต่ความผิดฐานปล้นทรัพย์ คือความผิดฐานลักทรัพย์โดยใช้กําลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กําลัง ประทุษร้าย โดยร่วมกันกระทําผิดตั้งแต่สามคนขึ้นไปนั่นเอง ดังนั้น แม้ข้อเท็จจริงในทางพิจารณาจะแตกต่างกับ ข้อเท็จจริงดังที่กล่าวมาในฟ้องแต่ข้อแตกต่างนั้นมิใช่ในข้อสาระสําคัญ อีกทั้งการที่จําเลยที่ 1 ได้ลักเอาแฮนด์ รถจักรยานยนต์มิได้ลักรถจักรยานยนต์ ข้อแตกต่างในทางพิจารณากับในคําฟ้องก็ไม่ถือว่าข้อแตกต่างนั้นเป็น ข้อสาระสําคัญ เพราะแฮนด์รถจักรยานยนต์ถือเป็นอุปกรณ์ของรถจักรยานยนต์ การกระทําของจําเลยจึงเป็น การกระทําต่อตัวรถจักรยานยนต์ที่มุ่งประสงค์จะลักแฮนด์รถจักรยานยนต์เป็นอย่างเดียวกัน หาใช่เป็นทรัพย์ คนละชิ้นคนละอันไม่ (เทียบคําพิพากษาฎีกาที่ 17323/2555) และเมื่อจําเลยที่ 1 มิได้หลงต่อสู้ ดังนั้น ศาลจึง พิพากษาลงโทษจําเลยที่ 1 ได้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 192 วรรคสองประกอบวรรคสาม

แต่อย่างไรก็ตาม ศาลสามารถพิพากษาลงโทษจําเลยที่ 1 ฐานลักทรัพย์ตาม ป.อาญา มาตรา 334 ตามที่พิจารณาได้ความเท่านั้น ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 192 วรรคหก และจะพิพากษาลงโทษจําเลยที่ 1 ฐาน ลักทรัพย์ในเวลากลางคืนซึ่งเป็นเหตุฉกรรจ์ตาม ป.อาญา มาตรา 335 (1) ไม่ได้ เนื่องจากข้อเท็จจริงในส่วนที่ว่า จําเลยที่ 1 ลักทรัพย์ในเวลากลางคืนนั้น โจทก์มิได้บรรยายหรือกล่าวมาในฟ้อง จึงถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์ให้ ลงโทษจําเลยในข้อเท็จจริงนั้นตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่งประกอบวรรคสี่

กรณีจําเลยที่ 2 ศาลสามารถพิพากษาลงโทษจําเลยที่ 2 ในความผิดฐานรับของโจรได้ เพราะแม้ว่าโจทก์จะได้บรรยายฟ้องว่า จําเลยที่ 2 ร่วมกับจําเลยที่ 1 และจําเลยที่ 3 ปล้นทรัพย์ผู้เสียหาย แต่ความผิดฐานปล้นทรัพย์รวมเอาความผิดฐานลักทรัพย์อยู่ในตัว และเมื่อในทางพิจารณาปรากฏว่า จําเลยที่ 2 รับของโจร จึงถือว่าข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาซึ่งแตกต่างจากที่โจทก์กล่าวมาในฟ้องนั้นเป็นเพียงรายละเอียด และเมื่อจําเลยให้การปฏิเสธโดยอ้างฐานที่อยู่จึงถือได้ว่าจําเลยมิได้หลงต่อสู้ ดังนั้น ศาลจึงสามารถพิพากษาลงโทษ จําเลยที่ 2 ในความผิดฐานรับของโจรตามที่ปรากฏในทางพิจารณาได้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 192 วรรคสอง ประกอบวรรคสาม

กรณีจําเลยที่ 3 เมื่อในทางพิจารณาปรากฏข้อเท็จจริงว่า จําเลยที่ 3 มิได้มีส่วนร่วมในการ กระทําความผิดแต่อย่างใด ศาลจึงต้องทิพากษายกฟ้องโจทก์ปล่อยตัวจําเลยที่ 3 ไปตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 185

สรุป

ศาลจะพิพากษาลงโทษจําเลยที่ 1 ฐานลักทรัพย์ตาม ป.อาญา มาตรา 334 และจะ พิพากษาลงโทษจําเลยที่ 2 ฐานรับของโจร ส่วนจําเลยที่ 3 ศาลต้องพิพากษายกฟ้องโจทก์

 

ข้อ 4. พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องนายโหดในข้อหาพยายามฆ่านายดีผู้เสียหาย โดยบรรยายฟ้องว่านายโหดได้ใช้อาวุธปืนตีที่ศีรษะนายที่ผู้เสียหายโดยเจตนาฆ่า แต่แพทย์รักษาบาดแผลได้ทัน นายดีผู้เสียหายจึงไม่ถึงแก่ความตายเพียงได้รับอันตรายสาหัสประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้ เกินกว่า 20 วัน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288, 80 (ระวางโทษสองในสาม ของโทษประหารชีวิต จําคุกตลอดชีวิตหรือจําคุกตั้งแต่ 15 ปี – 20 ปี) นายโหดจําเลยให้การปฏิเสธ และนําสืบอ้างฐานที่อยู่ ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่านายโหดได้กระทําผิดจริง ตามฟ้อง แต่พฤติการณ์การกระทําดังกล่าว นายโหดมิได้มีเจตนาฆ่านายดีผู้เสียหาย มีแค่เพียง เจตนาทําร้ายร่างกายนายดีผู้เสียหายเท่านั้น การกระทําของนายโหดจึงเป็นความผิดตามประมวล กฎหมายอาญามาตรา 297 พิพากษาลงโทษจําคุก 6 ปี โจทก์อุทธรณ์ว่าการที่ศาลชั้นต้นนําบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 297 ปรับเข้ากับ พฤติการณ์การกระทําของนายโหดที่ฟังเป็นยุติแล้ว โจทก์ยังไม่อาจเห็นพ้องด้วยเนื่องจากพฤติการณ์ การกระทําของนายโหดที่ฟังเป็นยุติแล้ว เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288, 80 ขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจําเลยตามฟ้อง และจําเลยอุทธรณ์ว่า จําเลยได้ทําร้ายร่างกาย นายดิผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัสจริง แต่เป็นเพราะจําเลยถูกนายดีผู้เสียหายข่มเหงอย่างร้ายแรง ด้วยเหตุไม่เป็นธรรมจึงกระทําความผิดไปโดยบันดาลโทสะตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 72 ขอให้ศาลอุทธรณ์ลงโทษจําเลยสถานเบา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคําพิพากษา ศาลชั้นต้นอนุญาตให้จําเลยอุทธรณ์ได้ ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่าศาลชั้นต้นจะมีคําสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ และจําเลยไว้พิจารณาได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 15 “วิธีพิจารณาข้อใดซึ่งประมวลกฎหมายนี้มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ให้นําบทบัญญัติ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับเท่าที่พอจะใช้บังคับได้”

มาตรา 193 ทวิ “ห้ามมิให้อุทธรณ์คําพิพากษาศาลชั้นต้นในปัญหาข้อเท็จจริงในคดีซึ่งอัตราโทษ อย่างสูงตามที่กฎหมายกําหนดไว้ให้จําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ เว้นแต่กรณี ต่อไปนี้ให้จําเลยอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้

(1) จําเลยต้องคําพิพากษาให้ลงโทษจําคุกหรือให้ลงโทษกักขังแทนโทษจําคุก

(2) จําเลยต้องคําพิพากษาให้ลงโทษจําคุก แต่ศาลรอการลงโทษไว้

(3) ศาลพิพากษาว่าจําเลยมีความผิด แต่รอการกําหนดโทษไว้ หรือ

(4) จําเลยต้องคําพิพากษาให้ลงโทษปรับเกินหนึ่งพันบาท”

มาตรา 193 ตรี “ในคดีซึ่งต้องห้ามอุทธรณ์ตามมาตรา 193 ทวิ ถ้าผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณา หรือลงชื่อในคําพิพากษาหรือทําความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นพิเคราะห์เห็นว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสําคัญ อันควรสู่ศาลอุทธรณ์ และอนุญาตให้อุทธรณ์ หรืออธิบดีกรมอัยการหรือพนักงานอัยการ ซึ่งอธิบดีกรมอัยการได้ มอบหมายลงลายมือชื่อรับรองในอุทธรณ์ว่า มีเหตุอันควรที่ศาลอุทธรณ์จะได้วินิจฉัยก็ให้รับอุทธรณ์นั้นไว้ พิจารณาต่อไป”

มาตรา 195 วรรคหนึ่ง “ข้อกฎหมายทั้งปวงอันคู่ความอุทธรณ์ร้องอ้างอิง ให้แสดงไว้โดย ชัดเจนในฟ้องอุทธรณ์ แต่ต้องเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นมาว่ากันแล้วแต่ในศาลชั้นต้น”

และตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 225 “ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่จะยกขึ้นอ้างในการยื่นอุทธรณ์นั้นคู่ความจะต้อง กล่าวไว้โดยชัดแจ้งในอุทธรณ์ และต้องเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ทั้งจะต้องเป็นสาระ แก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยด้วย

ถ้าคู่ความฝ่ายใดมิได้ยกปัญหาข้อใดอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนขึ้นกล่าว ในศาลชั้นต้นหรือคู่ความฝ่ายใดไม่สามารถยกปัญหาข้อกฎหมายใด ๆ ขึ้นกล่าวในศาลชั้นต้นเพราะพฤติการณ์ ไม่เปิดช่องให้กระทําได้ หรือเพราะเหตุเป็นเรื่องที่ไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติว่าด้วยกระบวนพิจารณาชั้นอุทธรณ์ คู่ความที่เกี่ยวข้องย่อมมีสิทธิที่จะยกขึ้นอ้างซึ่งปัญหาเช่นว่านั้นได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ ศาลชั้นต้นจะมีคําสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์และจําเลยไว้พิจารณาได้หรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้

กรณีอุทธรณ์ของโจทก์ การที่พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องนายโหดเป็นจําเลยในข้อหาพยายามฆ่า นายดีผู้เสียหาย ขอให้ลงโทษตาม ป.อาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 แต่จําเลยให้การปฏิเสธ เมื่อศาลชั้นต้น พิจารณาแล้ว ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าจําเลยได้กระทําผิดจริงตามฟ้อง แต่พฤติการณ์การกระทําของจําเลยดังกล่าว จําเลยมิได้มีเจตนาฆ่านายดีผู้เสียหายแต่มีเพียงเจตนาทําร้ายร่างกายผู้เสียหายเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัส เท่านั้น การกระทําของจําเลยจึงเป็นความผิดตาม ป.อาญา มาตรา 297 จึงพิพากษาลงโทษจําคุก 6 ปีนั้น การที่โจทก์ ไม่เห็นพ้องด้วยเนื่องจากพฤติการณ์การกระทําของจําเลยที่ฟังเป็นยุติแล้ว เป็นความผิดตาม ป.อาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 โจทก์จึงอุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจําเลยตามฟ้องนั้น ถือเป็นการโต้แย้ง การที่ศาลชั้นต้นปรับข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติแล้วว่าเข้ากับองค์ประกอบของกฎหมายในเรื่องใด หรือปัญหาการ หารือบทจึงเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมาย และเมื่อโจทก์ได้ยกขึ้นว่ากล่าวมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ดังนั้น โจทก์จึงสามารถอุทธรณ์ในประเด็นดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 195 วรรคหนึ่ง ศาลชั้นต้นจะมี คําสังรับอุทธรณ์ของโจทก์ไว้พิจารณา

กรณีอุทธรณ์ของจําเลย การที่จําเลยอุทธรณ์ว่าจําเลยได้ทําร้ายร่างกายนายดีผู้เสียหาย ได้รับอันตรายสาหัสจริง แต่เป็นเพราะจําเลยถูกนายที่ผู้เสียหายข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม จึงได้กระทําความผิดไปโดยบันดาลโทสะตาม ป.อาญา มาตรา 72 นั้น เป็นการอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงซึ่งจําเลย มิได้ยกขึ้นกล่าวมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น

ดังนั้น จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 225 ประกอบ ป.วิ.อาญา มาตรา 15 และแม้ว่าผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคําพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้จําเลยอุทธรณ์ ก็ตาม ก็ไม่มีผลทําให้จําเลยสามารถอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงดังกล่าวได้ เพราะการขอให้ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณา หรือลงชื่อในคําพิพากษาอนุญาตให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 193 ตรีนั้น ใช้กับกรณีที่ต้องห้ามอุทธรณ์ ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 193 ทวิเท่านั้น ดังนั้น ศาลชั้นต้นจะมีคําสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจําเลยไว้พิจารณา

สรุป ศาลชั้นต้นจะมีคําสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ไว้พิจารณา แต่จะมีคําสั่งไม่รับอุทธรณ์ของ จําเลย

Advertisement