ข้อสอบกระบวนวิชา LAW3008 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 2
ศาลปิดหมายนัดไต่สวนมูลฟ้องและสำเนาคำฟ้องที่บ้านจำเลย เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2551ซึ่งโจทก์ได้ทราบวันปิดหมายดังกล่าวแล้ว ถึงวันนัดไต่สวนมูลฟ้องทนายจำเลยไปศาล ทนายโจทก์เห็นว่าการส่งหมายนัดและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยยังไม่มีผลตามกฎหมาย โจทก์และทนายโจทก์จึงไม่ไปศาล ศาลจึงมีคำพิพากษายกฟ้อง ต่อมาวันที่ 29 กรกฎาคม 2551 พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องนายทรงสิทธิ์ในความผิดเรื่องเดียวกันและข้อหาเดียวกันต่อศาลอีก ศาลมีคำสั่งไม่รับฟ้องทุกฐานความผิด
ดังนี้ คำพิพากษายกฟ้องและคำสั่งไม่รับฟ้องของศาลชอบหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 166 ถ้าโจทก์ไม่มาตามกำหนดนัด ให้ศาลยกฟ้องเสีย แต่ถ้าศาลเห็นว่ามีเหตุสมควรจึ่งมาไม่ได้ จะสั่งเลื่อนคดีไปก็ได้ในคดีที่ศาลยกฟ้องดั่งกล่าวแล้ว จะฟ้องจำเลยในเรื่องเดียวกันนั้นอีกไม่ได้ แต่ถ้าศาลยกฟ้องเช่นนี้ในคดีซึ่งราษฎรเท่านั้นเป็นโจทก์ ไม่ตัดอำนาจพนักงานอัยการฟ้องคดีนั้นอีกเว้นแต่จะเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัว
วินิจฉัย
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 166 วรรคแรก บัญญัติไว้ว่าถ้าโจทก์ไม่มาตามกำหนดนัดให้ศาลยกฟ้องเสีย เมื่อศาลนัดไต่สวนมูลฟ้องในวันที่9 กรกฎาคม 2551 เวลา 9.00 น.และโจทก์ทราบนัดโดยชอบแล้ว โจทก์มีหน้าที่ต้องไปศาลตามกำหนดนัด แม้การส่งหมายนัดและสำเนาคำฟ้องให้จำเลย โดยวิธีปิดหมายยังไม่มีผลใช้ได้ตามกฎหมาย ก็หาทำให้โจทก์หมดหน้าที่ที่จะต้องไปศาลตามกำหนดนัดไม่ เมื่อโจทก์และทนายโจทก์ไม่ไปศาล การที่ศาลพิพากษายกฟ้องจึงชอบแล้ว (เทียบคำพิพากาษาฎีกาที่ 2085/2547)
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 166 วรรคสาม บัญญัติไว้ว่าในคดีที่ศาลยกฟ้องดังกล่าวแล้วจะฟ้องจำเลยในเรื่องเดียวกันนั้นอีกไม่ได้ แต่ถ้าศาลยกฟ้องเช่นนี้ในคดีที่ราษฎรเท่านั้นเป็นโจทก์ ไม่ตัดอำนาจพนักงานอัยการฟ้องคดีนั้นอีก เว้นแต่จะเป็นความผิดต่อส่วนตัว การที่ธนาคารสยาม จำกัด ซึ่งเป็นราษฎรเป็นโจทก์ฟ้องนายทรงสิทธิ์เป็นจำเลยในฐานความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265,268 และ 341 และศาลพิพากษายกฟ้องเพราะโจทก์ไม่ไปศาลตามกำหนดนัดนั้น
สำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 265 และ 268 ไม่ใช่เป็นความผิดต่อส่วนตัวพนักงานอัยการมีอำนาจฟ้องนายทรงสิทธิ์ได้อีก ที่ศาลมีคำสั่งไม่รับฟ้องสองฐานนี้ จึงไม่ชอบ
ส่วนความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341 เป็นความผิดต่อส่วนตัว พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้องนายทรงสิทธิ์อีก ที่ศาลมีคำสั่งไม่รับฟ้องในความผิดฐานนี้จึงชอบแล้ว
ดังนั้นคำพิพากษายกฟ้องชอบด้วยกฎหมายและคำสั่งไม่รับฟ้องความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 265 และ 268 ไม่ชอบและคำสั่งไม่รับฟ้องในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341 ชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ข้อ. 2 นายสมัยฟ้องขอให้ลงโทษนายทนงจำเลย ฐานลักทรัพย์ในเคหสถานหรือรับของโจรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334,335 (8),357 โดยฟ้องถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ
ในวันนัดสืบพยานโจทก์ นายทนงจำเลยแถลงต่อศาลขอให้การรับสารภาพ ศาลบันทึกคำให้การจำเลยว่าจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ทุกประการ ในวันเดียวกันนั้นนายทนงจำเลยยื่นคำให้การมีข้อความว่า จำเลยขอถอนคำให้การเดิมและขอให้การรับสารภาพในความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 334 โจทก์จำเลยแถลงไม่สืบพยาน
ดังนี้ ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
หมายเหตุ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 334 “ผู้ใด… ผู้นั้นกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีและปรับไม่เกินหกพันบาท”
ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335 “ผู้ใดลักทรัพย์
(8) ในเคหสถาน… ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปีและปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท”
ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 357 “ผู้ใด…ผู้นั้นกระทำความผิดฐานรับของโจร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 176 ในชั้นพิจารณา ถ้าจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลจะพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปก็ได้ เว้นคดีที่มีข้อหาในความผิดซึ่งจำเลยรับสารภาพนั้น กฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น ศาลต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำผิดจริง
วินิจฉัย
คำให้การของนายทนง (จำเลย) ครั้งแรกที่ศาลบันทึกไว้ว่า จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ทุกประการ แม้จะไม่ได้ความชัดแจ้งว่า จำเลยรับสารภาพในความผิดข้อหาใดก็ตามแต่เมื่อต่อมาจำเลยยื่นคำให้การอีกฉบับหนึ่งมีความว่า จำเลยขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ในความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 334 ศาลจึงฟังข้อเท็จจริงได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 334 และคำให้การดังกล่าวของจำเลยมีผลเท่ากับจำเลยปฏิเสธคำฟ้องโจทก์ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335 (8) และ 357 เมื่อโจทก์ไม่สืบพยานเท่ากับโจทก์ไม่ติดใจที่จะให้ศาลลงโทษจำเลยในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335 (8) และ 357 อีกต่อไป และเนื่องจากความผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 334 มิใช่คดีที่มีอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ 5 ปี ขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น ศาลจึงพิพากษาลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 334 ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 176 วรรคแรก (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 4129/2543)
ดังนั้น ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยได้
ข้อ 3. โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่หนึ่ง จำเลยที่สองและจำเลยที่สามร่วมกันปล้นทรัพย์ผู้เสียหาย ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340, 83 (ฟ้องถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ) แต่ทางพิจารณาฟังได้ว่าจำเลยที่หนึ่งและจำเลยที่สองร่วมกันชิงทรัพย์ผู้เสียหายแล้วนำมาขายให้จำเลยที่สามโดยที่จำเลยที่สามรับซื้อทั้งที่รู้ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้จากการกระทำความผิด อันเป็นความผิดฐานรับของโจร โดยจำเลยทั้งสามมิได้หลงต่อสู้
ดังนี้ ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสามได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 192 ห้ามมิให้พิพากษาหรือสั่งเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง
ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดั่งที่กล่าวในฟ้อง ให้ศาลยกฟ้องคดีนั้น เว้นแต่ข้อแตกต่างนั้นมิใช่ในข้อสาระสำคัญและทั้งจำเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลจะลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นได้
ในกรณีที่ข้อแตกต่างนั้นเป็นเพียงรายละเอียด เช่นเกี่ยวกับเวลาหรือสถานที่กระทำความผิดหรือต่างกันระหว่างการกระทำผิดฐานลักทรัพย์ กรรโชก รีดเอาทรัพย์
ฉ้อโกง โกงเจ้าหนี้ ยักยอก รับของโจร และทำให้เสียทรัพย์ หรือต่างกันระหว่างการกระทำผิดโดยเจตนากับประมาท มิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญ ทั้งมิให้ถือว่าข้อที่
พิจารณาได้ความนั้นเป็นเรื่องเกินคำขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ เว้นแต่จะปรากฏแก่ศาลว่าการที่ฟ้องผิดไปเป็นเหตุให้จำเลยหลงต่อสู้ แต่ทั้งนี้ศาลจะลงโทษจำเลยเกินอัตราโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดที่โจทก์ฟ้องไม่ได้
ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงบางข้อดั่งกล่าวในฟ้อง และตามที่ปรากฏในทางพิจารณาไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษ ห้ามมิให้ศาลลงโทษจำเลยในข้อเท็จจริงนั้นๆ
ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามฟ้องนั้นโจทก์สืบสม แต่โจทก์อ้างฐานความผิดหรือบทมาตราผิด ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยตามฐานความผิดที่ถูกต้องได้
ถ้าความผิดตามที่ฟ้องนั้นรวมการกระทำหลายอย่าง แต่ละอย่างอาจเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง ศาลจะลงโทษจำเลยในการกระทำผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่พิจารณาได้ความก็ได้
วินิจฉัย กรณีจำเลยที่หนึ่งและจำเลยที่สอง ความผิดฐานปล้นทรัพย์รวมการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์และใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายโดยร่วมกันกระทำผิดตั้งแต่สามคนขึ้นไป เอาไว้ด้วยกัน ซึ่งแต่ละอย่างอาจเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง เมื่อการพิจารณาได้ความว่าจำเลยที่หนึ่งและจำเลยที่สองร่วมกันชิงทรัพย์ศาลก็สามารถพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองฐานชิงทรัพย์ตามที่พิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหก
กรณีจำเลยที่สามแม้ว่าความผิดฐานปล้นทรัพย์จะมิได้บัญญัติอยู่ในมาตรา 192 วรรคสาม เช่นเดียวกับความผิดฐานลักทรัพย์หรือรับของโจรก็ตาม แต่ความผิดฐานปล้นทรัพย์ก็คือ ความผิดฐานลักทรัพย์โดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่า ในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายโดยร่วมกันกระทำผิดตั้งแต่สามคนขึ้นไปนั่นเอง เมื่อการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์และรับของโจร กฎหมายมิให้ถือว่าแตกต่างกันในสาระสำคัญ การต่างกันระหว่างการกระทำผิดฐานปล้นทรัพย์กับรับของโจร ย่อมเข้าเกณฑ์มิให้ถือว่าแตกต่างกันในข้อสาระสำคัญเช่นกัน ทั้งมิให้ถือว่าเป็นเรื่องเกินคำขอ หรือโจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษด้วย เว้นแต่จะปรากฏแก่ศาลว่าการที่โจทก์ฟ้องผิดไป เป็นเหตุให้จำเลยหลงต่อสู้ เมื่อปรากฏว่าคดีนี้จำเลยที่สามมิได้หลงต่อสู้ ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยที่สามฐานรับของโจรตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความนั้นก็ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสองประกอบวรรคสาม
ดังนั้น ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยที่หนึ่งและจำเลยที่สองในความผิดฐานชิงทรัพย์ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหกและสามารถลงโทษจำเลยที่สามในความผิดฐานรับของโจร ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสองประกอบวรรคสาม
ข้อ 4. พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 ลงโทษจำคุก 6 เดือน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ให้มีกำหนด 1 ปี โจทก์อุทธรณ์ขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยให้หนักขึ้น ส่วนจำเลยอุทธรณ์ขอให้ศาลพิพากษายกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 ลงโทษจำคุก 3 เดือน โดยไม่รอการลงโทษ
ดังนี้ จำเลยจะฎีกาขอให้ศาลยกฟ้องได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 218 ในคดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลล่างหรือเพียงแต่แก้ไขเล็กน้อย และให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปีหรือปรับหรือทั้งจำทั้งปรับ แต่โทษจำคุกไม่เกินห้าปี ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ในคดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลล่างหรือเพียงแต่แก้ไขเล็กน้อย และให้ลงโทษจำคุกจำเลยเกินห้าปีไม่ว่าจะมีโทษอย่างอื่นด้วยหรือไม่ ห้ามมิให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 219 ในคดีที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าศาลอุทธรณ์ยังคงลงโทษจำเลยไม่เกินกำหนดที่ว่ามานี้ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง แต่ข้อห้ามนี้มิให้ใช้แก่จำเลยในกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขมากและเพิ่มเติมโทษจำเลย
วินิจฉัย
การที่จำเลยฎีกาขอให้ศาลยกฟ้องเป็นการฎีกาในปัญหาที่สืบเนื่องจากการที่ศาลอุทธรณ์ใช้ดุลยพินิจลงโทษจำคุกจำเลย 3 เดือน ฎีกาของจำเลยจึงเป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 ลงโทษจำคุก 6 เดือน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ให้มีกำหนด 1 ปี
และศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 ลงโทษจำคุก 3 เดือน โดยไม่รอการลงโทษ เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์เปลี่ยนโทษจำคุกที่ศาลชั้นต้นรอการลงโทษมาเป็นโทษจำคุก จึงถือว่าเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขมาก ไม่ต้องห้ามฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 218 แต่ก็ต้องพิจารณาตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 219 ต่อไป
การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ต่างพิพากษาลงโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท ป.วิ.อาญา มาตรา 219 ห้ามคู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง แต่มีข้อยกเว้นให้จำเลยฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงได้ในกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขมาก และเพิ่มเติมโทษจำเลยด้วย
ตามปัญหา แม้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย แต่ก็มีเงื่อนไขให้รอการลงโทษจำคุก ซึ่งเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ลงโทษจำคุกจำเลย 3 เดือน กรณีนี้ถือว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย
เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขมาก และเพิ่มเติมโทษจำเลยด้วย จำเลยจึงฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงได้ ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 219
ดังนั้น จำเลยจึงฎีกาขอให้ศาลยกฟ้องได้