การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2549
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW3008 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 2
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1 พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องนายดำรงเป็นจำเลยในความผิดฐานบุกรุกอันเป็นความผิดต่อส่วนตัวและศาลกำหนดวันนัดสืบพยานพนักงานอัยการโจทก์แล้ว ในระหว่างนั้นนายบุญมีซึ่งเป็นผู้เสียหายได้เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยคนเดียวกันนั้น ตามข้อหาดังกล่าว ศาลนัดไต่สวนมูลฟ้องคดีที่นาย(ผู้เสียหาย) เป็นโจทก์แล้ว แต่นายบุญมี (ผู้เสียหาย) ไม่ไปศาลตามกำหนดนัด ศาลจึงพิพากษายกฟ้องนายบุญมี (ผู้เสียหาย) จึงยื่นคำร้องขอให้ยกคดีของตนขึ้นไต่สวนมูลฟ้องใหม่ และต่อมานายบุญมี (ผู้เสียหาย) ได้ถอนคำร้องนั้นแล้วยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการในคดีที่พนักงานอัยการฟ้องนายดำรง ในวันเดียวกันนั้นนายดำรง (จำเลย) ให้การรับสารภาพว่าได้กระทำผิดจริง
ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่า นายบุญมี (ผู้เสียหาย) จะร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการได้หรือไม่ และศาลควรพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีนี้อย่างไร เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 166 ถ้าโจทก์ไม่มาตามกำหนดนัด ให้ศาลยกฟ้องเสีย แต่ถ้าศาลเห็นว่ามีเหตุสมควรจึงมาไม่ได้ จะสั่งเลื่อนคดีไปก็ได้
ในคดีที่ศาลยกฟ้องดังกล่าวแล้ว ถ้าโจทก์มาร้องภายในสิบห้าวัน นับแต่วันศาลยกฟ้องนั้นโดยแสดงให้ศาลเห็นได้ว่ามีเหตุสมควรจึงมาไม่ได้ก็ให้ศาลยกคดีนั้นขึ้นไต่สวนมูลฟ้องใหม่
ในคดีที่ศาลยกฟ้องดังกล่าวแล้ว จะฟ้องจำเลยในเรื่องเดียวกันนั้นอีกไม่ได้ แต่ถ้าศาลยกฟ้องเช่นนี้ในคดีซึ่งราษฎรเท่านั้นเป็นโจทก์ ไม่ตัดอำนาจพนักงานอัยการฟ้องคดีนั้นอีก เว้นแต่จะเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัว
วินิจฉัย
โดยหลักแล้ว ในคดีความผิดต่อส่วนตัวเรื่องเดียวกัน ทั้งผู้เสียหายและพนักงานอัยการต่างเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคนละคดี ถ้าในคดีที่ผู้เสียหายฟ้อง ศาลได้ยกฟ้องตามมาตรา 166 วรรคแรกแล้ว พนักงานอัยการจะฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นอีกไม่ได้ ศาลต้องยกฟ้องในคดีที่พนักงานอัยการฟ้องด้วย
การที่ศาลยกฟ้องคดีที่นายบุญมี (ผู้เสียหาย) เป็นโจทก์ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องเพราะเหตุไม่มาตามกำหนดนัดและนายบุญมี (ผู้เสียหาย) โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ยกคดีของตนขึ้นไต่สวนมูลฟ้องใหม่ตามมาตรา 166 วรรคสอง แต่ต่อมาเมื่อนายบุญมี (ผู้เสียหาย) โจทก์ได้ถอนคำร้องดังกล่าวเสีย จึงเท่ากับไม่มีการยื่นคำร้อง นายบุญมี (ผู้เสียหาย) โจทก์จะเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการที่ฟ้องจำเลยเกี่ยวกับความผิดฐานบุกรุกอีกไม่ได้ ตามมาตรา 166 วรรคสาม และเมื่อกรณีนี้เป็นคดีความผิดต่อส่วนตัว สิทธิของพนักงานอัยการที่ฟ้องจำเลยไว้ก่อนศาลพิพากษายกฟ้องของนายบุญมี (ผู้เสียหาย) โจทก์ก็ระงับไปด้วย ตามมาตรา 166 วรรคสาม (ฎ. 816/2523)
สรุป ศาลควรมีคำสั่งยกคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ของนายบุญมี (ผู้เสียหาย) และพิพากษายกฟ้องของพนักงานอัยการโจทก์ โดยไม่จำต้องพิจารณาว่านายดำรง (จำเลย) กระทำผิดจริงหรือไม่
ข้อ 2 พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยในขณะจำเลยมีอายุ 18 ปี ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 385 (ระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท) ก่อนจะเริ่มพิจารณาซึ่งในขณะนั้นจำเลยมีอายุ 18 ปี 2 เดือน ศาลถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่ จำเลยตอบว่าไม่มี แต่จำเลยไม่ต้องการทนายความ เพราะจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ดังนี้ ศาลต้องตั้งทนายความให้จำเลยหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 173 วรรคแรก ในคดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิต หรือในคดีที่จำเลยมีอายุไม่เกินสิบแปดปีในวันที่ถูกฟ้องต่อศาล ก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีก็ให้ศาลตั้งทนายความให้
วินิจฉัย
โดยหลักแล้ว ในคดีที่จำเลยมีอายุไม่เกิน 18 ปี ในวันที่ถูกฟ้องต่อศาลก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีก็ให้ศาลตั้งทนายความให้ ในกรณีนี้เป็นบทบังคับเด็ดขาด ไม่ว่าจำเลยจะต้องการหรือไม่ก็ตาม (เทียบ ฎ. 366/2534)
พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลย ในขณะที่จำเลยมีอายุ 18 ปี จึงเป็นคดีที่จำเลยมีอายุไม่เกิน 18 ปี ในวันที่ถูกฟ้องต่อศาล ซึ่งเป็นคดีอาญาทุกประเภท แม้จะเป็นคดีที่มีโทษปรับอย่างเดียวก็ตาม เมื่อได้ความว่า ก่อนเริ่มพิจารณาศาลได้ถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่ แม้จำเลยจะตอบว่าไม่มี แต่จำเลยก็ไม่ต้องการทนายความ เพราะจำเลยจะให้การรับสารภาพตามฟ้อง ในกรณีเช่นนี้ ศาลก็ยังมีหน้าที่ตั้งทนายความให้กับจำเลย ตามมาตรา 178 วรรคแรก เพราะถือว่าเป็นบทบังคับเด็ดขาดที่ศาลต้องตั้งให้
สรุป ศาลต้องตั้งทนายความให้จำเลย
ข้อ 3 คดีอาญาเรื่องหนึ่ง พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 (กำหนดระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองหมื่นบาท) จำเลยให้การปฏิเสธและนำสืบพยานว่าเหตุเกิดขึ้นมิใช่เนื่องจากความประมาทของจำเลย แต่เกิดขึ้นเนื่องจากผู้ตายแย่งปืนไปจากเอวของจำเลย จำเลยตกใจจึงกระชากปืนจากผู้ตาย ปืนจึงลั่นถูกผู้ตาย
ในทางพิจารณา ข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยแย่งปืนคืนจากผู้ตาย เมื่อจำเลยแย่งปืนคืนมาได้แล้วจำเลยได้ใช้ปืนยิงผู้ตายโดยเจตนาฆ่าซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 (กำหนดระวางโทษประหารชีวิตจำคุกตลอดชีวิตหรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี)
ดังนี้ ศาลพึงพิพากษาคดีนี้อย่างไรจึงจะชอบด้วยวิธีพิจารณา
ธงคำตอบ
มาตรา 192 วรรคสองและวรรคสาม ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง ให้ศาลยกฟ้องคดีนั้น เว้นแต่ข้อแตกต่างนั้นมิใช่ในข้อสาระสำคัญและทั้งจำเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลจะลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นก็ได้
ในกรณีที่ข้อแตกต่างนั้นเป็นเพียงรายละเอียด เช่น เกี่ยวกับเวลาหรือสถานที่กระทำความผิดหรือต่างกันระหว่างการกระทำผิดฐานลักทรัพย์ กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ฉ้อโกง โกงเจ้าหนี้ ยักยอก รับของโจร และทำให้เสียทรัพย์ หรือต่างกันระหว่างการกระทำผิดโดยเจตนากับประมาท มิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญทั้งนี้มิให้ถือว่าข้อที่พิจารณาได้ความนั้นเป็นเรื่องเกินคำขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ เว้นแต่จะปรากฏแก่ศาลว่าการที่ฟ้องผิดไปเป็นเหตุให้จำเลยหลงต่อสู้ แต่ทั้งนี้ศาลจะลงโทษจำเลยเกินอัตราโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดที่โจทก์ฟ้องไม่ได้
วินิจฉัย
พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ตาม ป.อ. มาตรา 291 ในทางพิจารณา ข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาตาม ป.อ. มาตรา 288 กรณีเช่นนี้ ตามมาตรา 192 วรรคสาม มิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญเว้นแต่ปรากฏว่าการที่ฟ้องผิดไปเป็นเหตุให้จำเลยหลงต่อสู้ แต่ทั้งนี้ศาลจะลงโทษจำเลยเกินอัตราโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดที่โจทก์ฟ้องไม่ได้
ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว จำเลยให้การปฏิเสธและนำสืบพยานว่าเหตุเกิดขึ้นเนื่องจากผู้ตายแย่งปืนไปจากเอวของจำเลย จำเลยตกใจจึงกระชากปืนจากผู้ตาย ปืนจึงลั่นถูกผู้ตาย คำให้การต่อสู้คดีของจำเลยดังกล่าวนี้เป็นที่เห็นได้ว่าจำเลยมิได้หลงหยิบยกเอาข้อที่ฟ้องผิดหรือที่มิได้กล่าวในฟ้องมาเป็นสาระสำคัญในการต่อสู้คดีของจำเลย จำเลยจึงมิได้หลงต่อสู้
เมื่อปรากฏว่าข้อแตกต่างระหว่างข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณากับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องเป็นข้อแตกต่างมิใช่ในข้อสาระสำคัญและจำเลยมิได้หลงต่อสู้ กรณีเช่นนี้ศาลจะลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความในการพิจารณาก็ได้ โดยไม่ถือว่าเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ แต่ทั้งนี้ ศาลจะลงโทษจำเลยเกินอัตราโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดที่โจทก์ฟ้องไม่ได้
ดังนั้น คดีนี้ศาลพึงพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาตาม ป.อ. มาตรา 288 แต่ทั้งนี้ศาลจะลงโทษจำเลยได้เพียงจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท ตาม ป.อ. มาตรา 291
สรุป ศาลพึงพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาตาม ป.อ. มาตรา 288 แต่ศาลจะลงโทษจำเลยได้เพียงจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาทตาม ป.อ. มาตรา 291
ข้อ 4 พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานข่มขืนกระทำชำเรา จำเลยให้การปฏิเสธศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 ลงโทษจำคุก 9 ปี จำเลยอุทธรณ์ขอให้ศาลลงโทษสถานเบา
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วมีความเห็นว่า จำเลยกระทำผิดจริง แต่คำรับสารภาพของจำเลยในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้จำเลยหนึ่งในสามพิพากษาแก่เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 ลงโทษจำคุก 6 ปี
ดังนี้ จำเลยจะฎีกาว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้องได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 15 วิธีพิจารณาข้อใดซึ่งประมวลกฎหมายนี้มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับเท่าที่พอจะใช้บังคับได้
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคแรก ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่ยกขึ้นอ้างในการยื่นฎีกานั้น คู่ความจะต้องกล่าวไว้โดยชัดแจ้งในฎีกา และต้องเป็นข้อที่ได้ยกว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์
วินิจฉัย
การฎีกาปัญหาข้อเท็จจริง ข้อเท็จจริงนั้นต้องเป็นข้อเท็จจริงที่เคยยกขึ้นต่อสู้มาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ด้วย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 ประกอบ มาตรา 15
การที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานข่มขืนกระทำชำเรา จำเลยได้ให้การปฏิเสธก็เท่ากับว่าจำเลยยกข้อเท็จจริงว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้องขึ้นต่อสู้ในศาลชั้นต้นแล้วแต่เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 276 ลงโทษจำคุก 9 ปี จำเลยมิได้อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิด จำเลยเพียงแต่อุทธรณ์ขอให้ศาลลงโทษสถานเบา ปัญหาที่ว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ จึงยุติไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นแล้ว เมื่อศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษา จำเลยจะกลับมาฎีกาว่าได้กระทำความผิดตามฟ้องอีกไม่ได้ เพราะเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ยกขึ้นต่อสู่ในชั้นศาลอุทธรณ์ จึงต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 ประกอบมาตรา 15 (เทียบ ฎ. 2451/2527)
สรุป จำเลยจึงฎีกาว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้องไม่ได้