การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2548

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW3008 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 2

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน

ข้อ  1  นางสมใจราษฎรเป็นโจทก์ฟ้อง  ขอให้ศาลลงโทษนายเอกฐานวิ่งราวทรัพย์  (ระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีและปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท)  ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วสั่งว่าคดีไม่มีมูล  ยกฟ้อง  นางสมใจยื่นอุทธรณ์  หากปรากฏว่า

(ก)  ศาลอุทธรณ์เห็นว่าศาลชั้นต้นปฏิบัติไม่ถูกต้องตามกระบวนการไต่สวนมูลฟ้อง  จึงพิพากษาสั่งให้ศาลชั้นต้นทำการไต่สวนมูลฟ้อง  แล้วพิพากษาหรือสั่งใหม่ตามรูปคดี  กรณีหนึ่ง

(ข)  ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วสั่งว่า  คดีมีมูล  ประทับฟ้องอีกกรณีหนึ่ง

ในแต่ละกรณีดังกล่าว  นายเอกไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาและคำสั่งของศาลอุทธรณ์  นายเอกจะฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  165  วรรคสาม  ในคดีราษฎรเป็นโจทก์  ศาลมีอำนาจไต่สวนมูลฟ้องลับหลังจำเลยให้ศาลส่งสำเนาฟ้องแก่จำเลยรายตัวไป  กับแจ้งวันนัดไต่สวนให้จำเลยทราบ  จำเลยจะมาฟังการไต่สวนมูลฟ้องโดยตั้งทนายให้ซักค้านพยานโจทก์ด้วยหรือไม่ก็ได้  หรือจำเลยจะไม่มา  แต่ตั้งทนายมาซักค้านพยานโจทก์ก็ได้  ห้ามมิให้ศาลถามคำให้การจำเลย  และก่อนที่ศาลประทับฟ้องมิให้ถือว่าจำเลยอยู่ในฐานะเช่นนั้น

มาตรา  170  วรรคแรก  คำสั่งของศาลที่ให้คดีมีมูลย่อมเด็ดขาด  แต่คำสั่งที่ว่าคดีไม่มีมูลนั้นโจทก์มีอำนาจอุทธรณ์ฎีกาได้ตามบทบัญญัติว่าด้วยลักษณะอุทธรณ์ฎีกา

วินิจฉัย

(ก)  โดยหลักแล้ว  ในคดีที่ราษฎรเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญา  ผู้ถูกฟ้องจะยังไม่มีฐานะเป็นจำเลยจนกว่าศาลจะสั่งประทับฟ้อง

นางสมใจ  ราษฎร  เป็นโจทก์ฟ้องนายเอกเป็นคดีอาญา  ศาลชั้นต้นได้ไต่สวนมูลฟ้องแล้วสั่งว่าคดีไม่มีมูล  พิพากษายกฟ้อง  ในกรณีเช่นนี้  เมื่อศาลยังไม่ประทับฟ้อง  นายเอกจึงยังไม่ถือว่าอยู่ในฐานะเป็นจำเลย  จึงไม่เป็นคู่ความในคดี  เมื่อนางสมใจยื่นอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์พิพากษาสั่งให้ศาลชั้นต้นทำการไต่สวนมูลฟ้อง  แล้วพิพากษาหรือสั่งใหม่ตามรูปคดี  นายเอกซึ่งยังไม่มีฐานะเป็นคู่ความจึงไม่มีสิทธิฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ได้  ตามมาตรา  165  วรรคสาม  (ฎ. 371/2530, ฎ. 3777/2527)

(ข)  เมื่อนางสมใจยื่นอุทธรณ์  ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วสั่งว่าคดีมีมูลประทับฟ้องในกรณีนี้  แม้ได้ความว่า  นายเอกผู้ถูกฟ้องจะมีฐานะเป็นจำเลยแล้วก็ตาม  แต่คำสั่งศาลอุทธรณ์ที่สั่งว่าคดีมีมูลนั้นเด็ดขาดแล้ว  นายเอกจึงฎีกาโต้แย้งคำสั่งของศาลอุทธรณ์ไม่ได้เช่นเดียวกัน  ตามมาตรา  170  วรรคแรก  (ฎ. 1895/2519)

สรุป 

(ก)  นายเอกจะฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ไม่ได้

(ข)  นายเอกจะฎีกาโต้แย้งคำสั่งของศาลอุทธรณ์ไม่ได้

 

ข้อ  2  คดีอาญาเรื่องหนึ่ง  พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องว่านายแดงกระทำความผิดฐานปลอมพินัยกรรม  ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  266  (ระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปีและปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท)  และโจทก์บรรยายฟ้องด้วยว่าจำเลยเคยกระทำความผิดฐานใช้เอกสารปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  268  ถูกศาลพิพากษาโดยคำพิพากษาถึงที่สุดลงโทษจำคุกสองปีและปรับสี่พันบาท  แต่จำเลยไม่เข็ดหลาบ  กลับกระทำความผิดคดีนี้อีกภายในเวลาสามปีนับแต่วันพ้นโทษคดีก่อน  จึงขอให้ศาลเพิ่มโทษจำเลยอีกกึ่งหนึ่ง  ตามประมวลกฎมายอาญา  มาตรา  93  นายแดงจำเลยให้การว่า  ขอรับสารภาพว่าได้กระทำความผิดจริงตามฟ้อง  โจทก์แถลงว่าของดสืบพยาน  ดังนี้  ศาลจะพิพากษาลงโทษและเพิ่มโทษจำเลยได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  176  วรรคแรก  ในชั้นพิจารณาถ้าจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องศาลจะพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปก็ได้  เว้นแต่คดีที่มีข้อหาในความผิดซึ่งจำเลยรับสารภาพนั้น  กฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น ศาลต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำผิดจริง

วินิจฉัย

ในชั้นพิจารณา  ถ้าจำเลยให้การรับสารภาพ  ตามมาตรา  176  วรรคแรก  วางหลักเกณฑ์ทั่วไปไว้ว่า  ศาลจะพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปก็ได้  แต่มีข้อยกเว้นว่าในคดีที่ฟ้องในฐานความผิดซึ่งกฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่  5  ปีขึ้นไป  หรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น  แม้จำเลยรับสารภาพ  ศาลก็ยังพิพากษาไม่ได้  ศาลต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำความผิดจริงศาลจึงจะพิพากษาลงโทษจำเลยได้

ความผิดที่พนักงานอัยการโจทก์ฟ้อง  กฎหมายมิได้กำหนดอัตราโทษอย่างต่ำให้จำคุกตั้งแต่  5  ปีขึ้นไป  แต่เป็นความผิดที่กฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้เพียง  1  ปีเท่านั้น  เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพว่าได้กระทำความผิดจริงตามฟ้อง  แม้โจทก์ไม่สืบพยาน  ศาลก็มีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยได้ตามมาตรา  176  วรรคแรก

ส่วนการเพิ่มโทษนั้น  การที่จำเลยให้การว่า  ขอรับสารภาพว่าได้กระทำความผิดจริงตามฟ้อง  มีความหมายว่าจำเลยรับเพียงข้อเท็จจริงในส่วนการกระทำความผิดที่โจทก์ฟ้องในคดีนี้เท่านั้น  จำเลยมิได้รับข้อเท็จจริงในส่วนการกระทำความผิดซ้ำซึ่งเป็นเหตุเพิ่มโทษด้วย  (ฎ. 3834/2531)  ดังนั้นเมื่อโจทก์ไม่สืบพยาน  ศาลจึงพิพากษาเพิ่มโทษจำเลยไม่ได้

สรุป  ศาลจึงพิพากษาลงโทษจำเลยได้  แต่เพิ่มโทษจำเลยไม่ได้

 

ข้อ  3  พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องว่านางขาวจำเลยทำให้ปืนลั่นโดยประมาทถูกนายแดงเป็นเหตุให้นายแดงถึงแก่ความตายเหตุเกิดเมื่อวันที่  5  กุมภาพันธ์  พ.ศ. 2548  เวลากลางวันที่แขวงหัวหมาก  เขตบางกะปิ  กรุงเทพมหานคร  ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  291  นางขาวจำเลยให้การว่าไม่ได้กระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง  แต่จำเลยจำต้องใช้ปืนยิงนายแดงเพื่อป้องกันตัวพอสมควรแก่เหตุ  การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด  ขอให้ศาลยกฟ้อง

ในการพิจารณาคดี  ปรากฏข้อเท็จจริงว่าตามวันเวลาและสถานที่ที่โจทก์ฟ้อง  นางขาวจำเลยได้ใช้ปืนยิงนายแดงถึงแก่ความตายโดยมีเจตนาฆ่า  มิใช่การกระทำเพื่อป้องกันดังที่นางขาวจำเลยให้การ  เช่นนี้  ศาลจะพิพากษาลงโทษนางขาวจำเลยในความผิดฐานใดได้หรือไม่เพียงใด  เพราะเหตุใด

หมายเหตุ  ประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  288  ผู้ใดฆ่าผู้อื่นต้องระวางโทษประหารชีวิต  จำคุกตลอดชีวิต  หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี

มาตรา  291  ผู้ใดกระทำโดยประมาท  และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย  ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปีและปรับไม่เกินสองหมื่นบาท

ธงคำตอบ

มาตรา  192  วรรคสองและวรรคสาม  ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง  ให้ศาลยกฟ้องคดีนั้น  เว้นแต่ข้อแตกต่างนั้นมิใช่ในข้อสาระสำคัญและทั้งจำเลยมิได้หลงต่อสู้  ศาลจะลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นก็ได้

ในกรณีที่ข้อแตกต่างนั้นเป็นเพียงรายละเอียด  เช่น  เกี่ยวกับเวลาหรือสถานที่กระทำความผิดหรือต่างกันระหว่างการกระทำผิดฐานลักทรัพย์  กรรโชก  รีดเอาทรัพย์  ฉ้อโกง  โกงเจ้าหนี้  ยักยอก  รับของโจร  และทำให้เสียทรัพย์  หรือต่างกันระหว่างการกระทำผิดโดยเจตนากับประมาท  มิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญทั้งนี้มิให้ถือว่าข้อที่พิจารณาได้ความนั้นเป็นเรื่องเกินคำขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ  เว้นแต่จะปรากฏแก่ศาลว่าการที่ฟ้องผิดไปเป็นเหตุให้จำเลยหลงต่อสู้  แต่ทั้งนี้ศาลจะลงโทษจำเลยเกินอัตราโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดที่โจทก์ฟ้องไม่ได้

วินิจฉัย

มาตรา  192  วรรคสอง  ได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า  ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้อง  โดยหลักให้ศาลยกฟ้องคดีนั้น  เว้นแต่ข้อแตกต่างนั้นมิใช่ในข้อสาระสำคัญและจำเลยมิได้หลงต่อสู้ในกรณีเช่นนี้ศาลจะลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นก็ได้

กรณีตามอุทาหรณ์  เป็นกรณีข้อเท็จจริงที่ได้ความในทางพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่โจทก์บรรยายในฟ้อง  กล่าวคือ  พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องว่านางขาวจำเลยกระทำความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย  ตาม  ป.อ.  มาตรา  291  แต่ในทางพิจารณาได้ความว่านางขาวจำเลยกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา  ตาม  ป.อ.  มาตรา  288  ซึ่งข้อแตกต่างระหว่างการกระทำความผิดโดยเจตนากับการกระทำความผิดโดยประมาทนั้น  ตามมาตรา  192  วรรคสาม  มิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญ  (ฎ. 4/2530)

คดีนี้  นางขาวจำเลยให้การว่าไม่ได้กระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง  แต่จำเลยจำต้องใช้ปืนยิงนายแดง  (ผู้ตาย)  เพื่อป้องกันตัวพอสมควรแก่เหตุ  ประเด็นข้อต่อสู้ของนางขาวจำเลยจึงอยู่ที่ว่าการกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุหรือไม่เท่านั้น  จำเลยมิได้หลงต่อสู้  (ฎ. 755/2494  ฎ. 322/2494)  เมื่อข้อเท็จจริงที่ได้ความในทางพิจารณาต่างกับที่โจทก์บรรยายฟ้องในข้อที่ไม่ใช่สาระสำคัญ  และจำเลยก็มิได้หลงต่อสู้ว่าเป็นเจตนาหรือประมาท  ศาลจึงมีอำนาจ  ตามมาตรา  192  วรรคสอง  ลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความในทางพิจารณา  คือฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา  ตาม  ป.อ.  มาตรา  288  ได้

อย่างไรก็ตาม  มาตรา  192  วรรคสาม  ได้จำกัดอำนาจศาลไว้ว่าศาลจะลงโทษจำเลยเกินอัตราโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดที่โจทก์ฟ้องไม่ได้

ดังนั้น  ในกรณีนี้ศาลจึงต้องพิพากษาลงโทษนางขาวจำเลยในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาตาม  ป.อ.  มาตรา  288  แต่จะกำหนดโทษจำคุกได้ไม่เกิน  10  ปี  และปรับไม่เกิน  2  หมื่นบาท  ตามป.อ.  มาตรา  291

สรุป  ศาลต้องพิพากษาลงโทษนางขาวจำเลยในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา  ตาม  ป.อ.  มาตรา  288  แต่กำหนดโทษจำคุกได้ไม่เกิน  10  ปี  และปรับไม่เกิน  2  หมื่นบาท  ตาม  ป.อ.  มาตรา  291

 

ข้อ  4  ในคดีที่พนักงานอัยการฟ้องอดีตข้าราชการระดับ  8  ฐานกระทำอนาจารแก่บุคคลอายุกว่าสิบห้าปี  โดยใช้กำลังประทุษร้าย  (ระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ)    ด้วยการจับหน้าอกแอร์โฮสเตสสายการบินไทย  และศาลชั้นต้นได้พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้องโจทก์  ลงโทษจำคุก  15  เดือนและปรับหนึ่งหมื่นห้าพันบาท  แต่เนื่องจากจำเลยเคยรับราชการประกอบคุณงามความดีจนได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์  จึงให้รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด  2  ปี

คดีดังกล่าวได้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันมากว่า  พนักงานอัยการควรยื่นอุทธรณ์ขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยโดยไม่รอการลงโทษจำคุก  ดังนี้  ให้ท่านวิเคราะห์ว่า

(ก)  การยื่นอุทธรณ์ดังกล่าวเป็นการอุทธรณ์ปัญหาข้อกฎหมาย  หรือปัญหาข้อเท็จจริง

(ข)  การยื่นอุทธรณ์ดังกล่าวต้องห้ามตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือไม่  เพราะเหตุใด  และหากท่านตอบว่า  ต้องห้ามอุทธรณ์  ให้ท่านให้คำแนะนำด้วยว่าควรดำเนินการอย่างไร

ธงคำตอบ

มาตรา  193  ทวิ  ห้ามมิให้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นในปัญหาข้อเท็จจริงในคดีซึ่งอัตราโทษอย่างสูงตามที่

กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกไม่เกินสามปี  หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ

วินิจฉัย

(ก)  การอุทธรณ์ขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยโดยไม่รอการลงโทษจำคุก  เป็นอุทธรณ์ที่เกิดขึ้นสืบเนื่องจากศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจให้รอการลงโทษจำคุก  การอุทธรณ์ดังกล่าวจึงเป็นอุทธรณ์ปัญหาข้อเท็จจริง 

(ฎ. 7117/2540)

(ข)  การห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง  ตามมาตรา  193  ทวิ  ได้กำหนดอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกิน  3  ปี  หรือปรับไม่เกิน  6  หมื่นบาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ  ส่วนการพิจารณาอัตราโทษว่า  เป็นคดีที่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงหรือไม่นั้นต้องดูอัตราโทษจากฐานความผิดที่โจทก์ขอให้ลงโทษเป็นสำคัญ  ไม่ใช่จากอัตราโทษในฐานความผิดที่ศาลพิจารณาได้ความ

กรณีตามอุทาหรณ์  คดีที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงจำเลยฐานกระทำอนาจารแก่บุคคลอายุต่ำกว่า  15  ปี  โดยใช้กำลังฯ  มีอัตราโทษที่กฎหมายกำหนดจำคุกไม่เกิน  10  ปี  หรือปรับไม่เกิน  2  หมื่นบาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ  ถือเป็นคดีที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกิน  3  ปี  คดีนี้จึงไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง  ตามมาตรา  193  ทวิ  อีกทั้งเมื่อพิจารณาข้อห้ามอุทธรณ์อื่น  ก็ไม่เป็นการต้องห้ามอุทธรณ์เช่นเดียวกัน

สรุป  การยื่นอุทธรณ์คดีนี้จึงไม่ต้องห้ามอุทธรณ์

Advertisement