การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2550

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 3008 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 2

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานชิงทรัพย์ของผู้เสียหาย  ตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  339  โดยบรรยายฟ้องระบุเวลาที่เกิดเหตุว่า  เหตุเกิดเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์  2551  จำเลยให้การรับสารภาพผิดตามฟ้อง  ศาลสืบพยานโจทก์ประกอบคำรับสารภาพของจำเลยแล้ว  ผู้เสียหายก็เบิกความต่อศาลว่า  เหตุเกิดเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์  2551  เช่นกัน  และพยานหลักฐานที่สืบประกอบฟังได้ว่า จำเลยชิงทรัพย์ผู้เสียหายจริงตามฟ้องให้แยกวินิจฉัยตามประเด็น  ดังนี้

(ก)  ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยตามฟ้อง  ได้หรือไม่

(ข)  หากศาลพิพากษายกฟ้องโจทก์  โจทก์จะนำคดีอาญาเรื่องเดียวกันนี้มายื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีใหม่ได้หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  39  สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปดังต่อไปนี้

(4) เมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง

มาตรา  158  ฟ้องต้องทำเป็นหนังสือ  และมี

(5) การกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด  ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้นๆ  อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว  หากโจทก์ระบุแต่เพียงเดือนและปีที่ความผิดเกิด  หรือบรรยายฟ้องเพียงว่า  เมื่อต้นเดือน………  โดยไม่ได้ระบุวันที่หรือเวลาที่กระทำผิดให้แน่นอน  ถือเป็นคำฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ไม่ชัดเจน  แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพ  ก็ไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องจริง

(ก)  ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยตามฟ้องได้หรือไม่  เห็นว่า  กรณีที่โจทก์ฟ้องจำเลยขอให้ลงโทษฐานชิงทรัพย์  ป.อ.  มาตรา  339  โดยบรรยายฟ้องและนำสืบเกี่ยวกับเวลาที่เกิดเหตุเพียงว่าเหตุเกิดเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์  2551  แต่มิได้ระบุวันที่หรือเวลาที่กระทำความผิดให้แน่นอน  เป็นการบรรยายฟ้องและนำสืบเรื่องเวลาที่จำเลยกระทำความผิดไม่ชัดเจน  แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพตามฟ้องก็ไม่อาจรับฟังได้ว่า  จำเลยได้กระทำผิดตามฟ้อง  ศาลจึงพิพากษาลงโทษจำเลยตามฟ้องไม่ได้  หากแต่ต้องพิพากษายกฟ้องของโจทก์  (ฎ. 848/2545)

(ข)  กรณีที่ศาลยกฟ้องโจทก์เพราะฟ้องโจทก์มิได้ระบุวันที่หรือเวลาที่กระทำความผิดให้แน่นอนเช่นนี้  ถือว่าเป็นฟ้องซึ่งมิได้ระบุเวลาที่จำเลยกระทำความผิดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  158  (5)  คำพิพากษายกฟ้องเช่นนี้  มีผลเท่ากับศาลได้วินิจฉัยในเนื้อหาของความผิดแล้วว่า  คดีนี้ไม่มีเวลาที่กระทำความผิด  ถือว่าศาลได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว  สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป  ตามมาตรา  39(4)  โจทก์จึงนำคดีอาญาเรื่องเดียวกันนี้มาฟ้องจำเลยเป็นคดีใหม่ไม่ได้  (ฎ. 1983/2499  ฎ. 1576/2495  และ  ฎ  682/2502)

สรุป 

(ก)  ศาลต้องพิพากษายกฟ้อง  จะพิพากษาลงโทษจำเลยตามฟ้องไม่ได้

(ข)  โจทก์จะนำคดีอาญาเรื่องเดียวกันนี้  มาฟ้องจำเลยเป็นคดีใหม่ไม่ได้

 

 ข้อ  2  โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเข้าไปปลูกสร้างอาคารลงในที่ดินโฉนดเลขที่  123  ของนายมด  เพื่อถือเอาการครอบครองที่ดินนั้นเป็นของตน  ขอให้ลงโทษ  ตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  362  หากข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณาได้ความว่า

(ก)  จำเลยเข้าไปปลูกสร้างอาคารลงในที่ดินโฉนดเลขที่  123  จริงตามฟ้อง  แต่ที่ดินแปลงนั้นมิใช่เป็นของนายมด  หากแต่เป็นของนายปลวก  กรณีหนึ่ง

(ข)  ที่ดินโฉนดเลขที่  123  ตามฟ้อง  เป็นของนายมดจริง  แต่จำเลยมิได้เข้าไปปลูกสร้างอาคารลงในที่ดินแปลงดังกล่าว  จำเลยเพียงแต่ลักเก็บเอาผลมะม่วงที่ปลูกอยู่ในที่ดินนั้นไปโดยสุจริต  อีกกรณีหนึ่ง

ทั้งสองกรณีดังกล่าวข้างต้น  หากไม่ปรากฏแก่ศาลว่า  ข้อที่โจทก์ฟ้องผิดไปนั้น  เป็นเหตุให้จำเลยหลงต่อสู้  ให้วินิจฉัยว่าศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความนั้น  ได้หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  192  วรรคแรก  วรรคสองและวรรคสาม  ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง  ให้ศาลยกฟ้องคดีนั้น  เว้นแต่ข้อแตกต่างนั้นมิใช่ในข้อสาระสำคัญและทั้งจำเลยมิได้หลงต่อสู้  ศาลจะลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นก็ได้

ในกรณีที่ข้อแตกต่างนั้นเป็นเพียงรายละเอียด  เช่น  เกี่ยวกับเวลาหรือสถานที่กระทำความผิดหรือต่างกันระหว่างการกระทำผิดฐานลักทรัพย์  กรรโชก  รีดเอาทรัพย์  ฉ้อโกง  โกงเจ้าหนี้  ยักยอก  รับของโจร  และทำให้เสียทรัพย์  หรือต่างกันระหว่างการกระทำผิดโดยเจตนากับประมาท  มิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญทั้งนี้มิให้ถือว่าข้อที่พิจารณาได้ความนั้นเป็นเรื่องเกินคำขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ  เว้นแต่จะปรากฏแก่ศาลว่าการที่ฟ้องผิดไปเป็นเหตุให้จำเลยหลงต่อสู้  แต่ทั้งนี้ศาลจะลงโทษจำเลยเกินอัตราโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดที่โจทก์ฟ้องไม่ได้

วินิจฉัย

มาตรา  192  วรรคสอง  ได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า  ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้อง  โดยหลักให้ศาลยกฟ้องคดีนั้น  เว้นแต่ข้อแตกต่างนั้นมิใช่ในข้อสาระสำคัญและจำเลยมิได้หลงต่อสู้ในกรณีเช่นนี้ศาลจะลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นก็ได้

(ก)  ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความนั้นได้หรือไม่  เห็นว่า  โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเข้าไปปลูกสร้างอาคารในที่ดินโฉนดเลขที่  123  เพื่อถือการครอบครองที่ดินนั้นเป็นของตนเท่ากับเป็นการฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยบุกรุกที่ดินของนายมด  การที่ทางพิจารณาได้ความว่า  จำเลยบุกรุกที่ดินแปลงดังกล่าวจริง  แต่ที่ดินดังกล่าวนั้นมิใช่เป็นของนายมด  หากแต่เป็นของนายปลวกนั้น  เป็นการแตกต่างเพียงเรื่องตัวบุคคลผู้เป็นเจ้าของทรัพย์ที่ถูกบุกรุกเท่านั้น  มิใช่แตกต่างในตัวอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกบุกรุกอันเป็นองค์ประกอบความผิดที่เป็นวัตถุแห่งการกระทำที่กฎหมายมุ่งคุ้มครอง  จึงมิใช่เป็นการแตกต่างกันในข้อสาระสำคัญเมื่อไม่ปรากฏแก่ศาลว่า  ข้อที่โจทก์ฟ้องผิดไปนั้น  เป็นเหตุให้จำเลยหลงต่อสู้  กรณีย่อมเข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา  192  วรรคสอง  ที่ศาลมีอำนาจลงโทษตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความนั้นได้  (ฎ. 1876/2528  ฎ. 2157/2518  และ  ฎ. 913/2513)

(ข)  ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความนั้นได้หรือไม่  เห็นว่า  การที่โจทก์ฟ้องกล่าวหาว่า  จำเลยบุกรุกที่ดินของนายมด  แต่ทางพิจารณาได้ความว่า  จำเลยลักทรัพย์ของนายมดนั้น  ถือได้ว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่โจทก์กล่าวในฟ้องในข้อสาระสำคัญแม้จำเลยจะมิได้หลงต่อสู้  ศาลก็ต้องพิพากษายกฟ้องของโจทก์เสีย  ตามมาตรา  192  วรรคสอง  ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความนั้นไม่ได้  (ฎ. 82182502)

สรุป

(ก)  ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความนั้นได้

(ข)  ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความนั้นไม่ได้

 

ข้อ  3  ในคดีอาญาเรื่องหนึ่ง  พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยคนหนึ่งว่ากระทำผิดฐานลักทรัพย์หรือรับของโจร  จำเลยให้การในแบบฟอร์มของศาลชั้นต้นแห่งหนึ่งว่า  ขอให้การรับสารภาพว่าได้กระทำผิดตามฟ้องนั้น  ในวันนัดสืบพยาน  โจทก์แถลงต่อศาลว่า  จำเลยให้การรับสารภาพแล้ว  โจทก์ไม่ติดใจสืบพยานจึงมีคำสั่งงดสืบพยานโจทก์และนัดฟังคำพิพากษาในวันเดียวกัน

จงวินิจฉัยว่า  ศาลชั้นต้นในคดีดังกล่าวจะพิพากษาลงโทษจำเลยหรือไม่  ในข้อหาอะไร  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  176  วรรคแรก  ในชั้นพิจารณาถ้าจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องศาลจะพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปก็ได้  เว้นแต่คดีที่มีข้อหาในความผิดซึ่งจำเลยรับสารภาพนั้น  กฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น  ศาลต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำผิดจริง

วินิจฉัย

คำรับสารภาพที่ไม่ชัดเจนว่าจำเลยรับสารภาพว่ากระทำผิดฐานใด  ไม่อาจลงโทษจำเลยในกรณีเช่นนี้ต้องเป็นหน้าที่โจทก์ต้องนำสืบว่าจำเลยกระทำผิดฐานใด  (ฎ. 6742/2544  ฎ. 758/2534)

ศาลชั้นต้นจะพิพากษาลงโทษจำเลยหรือไม่  เห็นว่า  การที่พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานลักทรัพย์หรือรับของโจร  แสดงว่าโจทก์ประสงค์จะให้ลงโทษจำเลยในข้อหาหนึ่งเพียงข้อหาเดียว  เพราะความผิดฐานลักทรัพย์กับความผิดฐานรับของโจรเป็นความผิดคนละฐานกัน  จะลงโทษจำเลยทั้งสองฐานความผิดดังกล่าวย่อมไม่ได้  คำให้การของจำเลยที่ขอให้การรับสารภาพว่าได้กระทำความผิดตามฟ้องนั้นย่อมไม่ชัดเจนพอที่จะชี้ขาดว่าจำเลยได้กระทำความผิดฐานใด  ตามมาตรา  176  วรรคแรก  แม้จะเป็นการให้การในแบบพิมพ์สำหรับคดีที่จำเลยให้การรับสารภาพของศาลชั้นต้นก็ตาม  ก็เป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องสืบพยานให้ได้ความถึงการกระทำความผิดฐานใดฐานหนึ่งของจำเลย  เมื่อโจทก์ไม่สืบพยาน  ศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงจะพิพากษาลงโทษจำเลยไม่ได้  (ฎ. 2046/2538)

สรุป  ศาลชั้นต้นในคดีดังกล่าวจะพิพากษาลงโทษจำเลยไม่ได้

 

ข้อ  4  โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานพยายามฆ่า  ตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  80,   288  ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วได้ความว่า  จำเลยไม่มีเจตนาฆ่า  พิพากษาลงโทษจำเลยฐานทำร้ายร่างกายได้รับอันตรายสาหัส  ตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  297 

โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยฐานพยายามฆ่า  ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วได้ความว่าจำเลยไม่มีเจตนาฆ่าและบาดแผลไม่สาหัส พิพากษาลงโทษฐานทำร้ายร่างกายได้รับบาดเจ็บ  ตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  295

โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษทำร้ายร่างกายได้รับอันตรายสาหัส  มาตรา  297  ศาลฎีกาพิจารณาแล้วได้ความว่าจำเลยไม่มีเจตนาฆ่าและบาดแผลสาหัส  พิพากษาลงโทษฐานทำร้ายร่างกายได้รับอันตราสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  297

ดังนี้  คำพิพากษาศาลฎีกา  ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เพระเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  212  คดีที่จำเลยอุทธรณ์คำพิพากษาที่ให้ลงโทษ  ห้ามมิให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย  เว้นแต่โจทก์จะได้อุทธรณ์ในทำนองนั้น

มาตรา  220  ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในคดีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์

มาตรา  225  ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการพิจารณา  และว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่งชั้นอุทธรณ์มาบังคับในชั้นฎีกาโดยอนุโลม  เว้นแต่ห้ามมิให้ทำความเห็นแย้ง

วินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เห็นว่า  โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานพยายามฆ่า  เมื่อศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วได้ความว่าจำเลยไม่มีเจตนาฆ่าพิพากษาลงโทษจำเลยฐานทำร้ายร่างกายได้รับอันตรายสาหัส  ตาม  ป.อ.  มาตรา  297  ถือได้ว่าศาลชั้นต้นได้พิพากษายกฟ้องโจทก์ฐานพยายามฆ่าแล้ว

เมื่อโจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยฐานพยายามฆ่า  และศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วได้ความว่า  จำเลยไม่มีเจตนาฆ่าและบาดแผลไม่สาหัส  พิพากษาลงโทษจำเลยฐานทำร้ายร่างกายได้รับบาดเจ็บ  ตาม  ป.อ.  มาตรา  295  ก็ถือได้ว่าศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ฐานพยายามฆ่าแล้วเช่นเดียวกัน

เมื่อศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องฐานพยายามฆ่าแล้ว  ความผิดฐานพยายามฆ่าจึงต้องห้ามฎีกา  ตามมาตรา  220  แต่ตามข้อเท็จจริง  โจทก์ฎีกาขอให้ศาลลงโทษจำเลยฐานทำร้ายร่างกายได้รับอันตรายสาหัส  ตาม  ป.อ.  มาตรา  297  ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้น  มิได้ฎีกาในความผิดฐานพยายามฆ่าอีก  โจทก์จึงมีสิทธิฎีกาได้

อีกทั้งการที่โจทก์ฎีกาดังกล่าว  ถือได้ว่าเป็นกรณีที่โจทก์ฎีกาในทำนองขอให้ศาลพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย  ตามมาตรา  212  ประกอบมาตรา  225  การที่ศาลฎีกาพิพากษาลงโทษจำเลยฐานทำร้ายร่างกายได้รับอันตรายสาหัส  ตาม  ป.อ.  มาตรา  297  จึงชอบด้วยกฎหมาย  (ฎ. 677/2510 (ประชุมใหญ่))

สรุป  คำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายแล้ว

Advertisement