การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2549
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3008 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 2
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1 นางสมใจราษฎรเป็นโจทก์ฟ้อง ขอให้ศาลลงโทษนายเอกฐานวิ่งราวทรัพย์ (ระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีและปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท) ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วสั่งว่าคดีไม่มีมูล ยกฟ้อง นางสมใจยื่นอุทธรณ์ หากปรากฏว่า
(ก) ศาลอุทธรณ์เห็นว่าศาลชั้นต้นปฏิบัติไม่ถูกต้องตามกระบวนการไต่สวนมูลฟ้อง จึงพิพากษาสั่งให้ศาลชั้นต้นทำการไต่สวนมูลฟ้อง แล้วพิพากษาหรือสั่งใหม่ตามรูปคดี กรณีหนึ่ง
(ข) ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วสั่งว่า คดีมีมูล ประทับฟ้องอีกกรณีหนึ่ง
ในแต่ละกรณีดังกล่าว นายเอกไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาและคำสั่งของศาลอุทธรณ์ นายเอกจะฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 165 วรรคสาม ในคดีราษฎรเป็นโจทก์ ศาลมีอำนาจไต่สวนมูลฟ้องลับหลังจำเลยให้ศาลส่งสำเนาฟ้องแก่จำเลยรายตัวไป กับแจ้งวันนัดไต่สวนให้จำเลยทราบ จำเลยจะมาฟังการไต่สวนมูลฟ้องโดยตั้งทนายให้ซักค้านพยานโจทก์ด้วยหรือไม่ก็ได้ หรือจำเลยจะไม่มา แต่ตั้งทนายมาซักค้านพยานโจทก์ก็ได้ ห้ามมิให้ศาลถามคำให้การจำเลย และก่อนที่ศาลประทับฟ้องมิให้ถือว่าจำเลยอยู่ในฐานะเช่นนั้น
มาตรา 170 วรรคแรก คำสั่งของศาลที่ให้คดีมีมูลย่อมเด็ดขาด แต่คำสั่งที่ว่าคดีไม่มีมูลนั้นโจทก์มีอำนาจอุทธรณ์ฎีกาได้ตามบทบัญญัติว่าด้วยลักษณะอุทธรณ์ฎีกา
วินิจฉัย
(ก) โดยหลักแล้ว ในคดีที่ราษฎรเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญา ผู้ถูกฟ้องจะยังไม่มีฐานะเป็นจำเลยจนกว่าศาลจะสั่งประทับฟ้อง
นางสมใจ ราษฎร เป็นโจทก์ฟ้องนายเอกเป็นคดีอาญา ศาลชั้นต้นได้ไต่สวนมูลฟ้องแล้วสั่งว่าคดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง ในกรณีเช่นนี้ เมื่อศาลยังไม่ประทับฟ้อง นายเอกจึงยังไม่ถือว่าอยู่ในฐานะเป็นจำเลย จึงไม่เป็นคู่ความในคดี เมื่อนางสมใจยื่นอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์พิพากษาสั่งให้ศาลชั้นต้นทำการไต่สวนมูลฟ้อง แล้วพิพากษาหรือสั่งใหม่ตามรูปคดี นายเอกซึ่งยังไม่มีฐานะเป็นคู่ความจึงไม่มีสิทธิฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ได้ ตามมาตรา 165 วรรคสาม (ฎ. 371/2530, ฎ. 3777/2527)
(ข) เมื่อนางสมใจยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วสั่งว่าคดีมีมูลประทับฟ้องในกรณีนี้ แม้ได้ความว่า นายเอกผู้ถูกฟ้องจะมีฐานะเป็นจำเลยแล้วก็ตาม แต่คำสั่งศาลอุทธรณ์ที่สั่งว่าคดีมีมูลนั้นเด็ดขาดแล้ว นายเอกจึงฎีกาโต้แย้งคำสั่งของศาลอุทธรณ์ไม่ได้เช่นเดียวกัน ตามมาตรา 170 วรรคแรก (ฎ. 1895/2519)
สรุป
(ก) นายเอกจะฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ไม่ได้
(ข) นายเอกจะฎีกาโต้แย้งคำสั่งของศาลอุทธรณ์ไม่ได้
ข้อ 2 พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องนายเขียวในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 358 ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ ในระหว่างที่ศาลพิจารณาคดี นางขาวซึ่งเป็นผู้เสียหายได้ปรึกษาทนายความแล้วมีความเห็นว่าการกระทำของนายเขียวที่ได้กระทำต่อตนและถูกพนักงานอัยการฟ้องแล้วนั้นเป็นการลักทรัพย์ นางขาวจึงมอบอำนาจให้ทนายความฟ้องนายเขียวในความผิดฐานลักทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334
ศาลตรวจคำฟ้องของนางขาวแล้ว เห็นว่าถูกต้องตามกฎหมาย จึงสั่งไต่สวนมูลฟ้อง ครั้นถึงวันสืบพยานโจทก์ในการไต่สวนมูลฟ้อง นางขาวและทนายความของนางขาวไม่ไปศาล ศาลจึงพิพากษายกฟ้อง เช่นนี้
(ก) หากนางขาวต้องการให้ศาลยกคดีขึ้นไต่สวนมูลฟ้องใหม่ นางขาวจะทำได้หรือไม่ อย่างไร
(ข) สำหรับคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ พนักงานอัยการจะดำเนินคดีต่อไปได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 166 ถ้าโจทก์ไม่มาตามกำหนดนัด ให้ศาลยกฟ้องเสีย แต่ถ้าศาลเห็นว่ามีเหตุสมควรจึงมาไม่ได้ จะสั่งเลื่อนคดีไปก็ได้
ในคดีที่ศาลยกฟ้องดังกล่าวแล้ว ถ้าโจทก์มาร้องภายในสิบห้าวัน นับแต่วันศาลยกฟ้องนั้นโดยแสดงให้ศาลเห็นได้ว่ามีเหตุสมควรจึงมาไม่ได้ก็ให้ศาลยกคดีนั้นขึ้นไต่สวนมูลฟ้องใหม่
ในคดีที่ศาลยกฟ้องดังกล่าวแล้ว จะฟ้องจำเลยในเรื่องเดียวกันนั้นอีกไม่ได้ แต่ถ้าศาลยกฟ้องเช่นนี้ในคดีซึ่งราษฎรเท่านั้นเป็นโจทก์ ไม่ตัดอำนาจพนักงานอัยการฟ้องคดีนั้นอีก เว้นแต่จะเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัว
วินิจฉัย
(ก) นางขาวเป็นโจทก์ฟ้องนายเขียวในความผิดฐานลักทรัพย์แต่ในวันสืบพยานโจทก์ ในการไต่สวนมูลฟ้องนางขาวและทนายความของนางขาวไม่ไปศาล ศาลจึงพิพากษายกฟ้องในกรณีเช่นนี้ หากนางขาวต้องการให้ศาลยกคดีขึ้นไต่สวนมูลฟ้องใหม่ นางขาวอาจกระทำโดย
1 ยื่นคำร้องต่อศาลภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ศาลยกฟ้อง และ
2 แสดงให้ศาลเห็นว่าตนและทนายความของตนมีเหตุสมควรที่ไม่สามารถมาศาลได้ ตามกำหนดนัดไต่สวนมูลฟ้อง
เมื่อนางขาวปฏิบัติครบหลักเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้นแล้ว ถ้าศาลเห็นว่าการที่นางขาวและทนายความขาดนัดไต่สวนมูลฟ้อง เนื่องจากมีเหตุสมควร ศาลก็จะยกคดีขึ้นไต่สวนมูลฟ้องใหม่ ตามมาตรา 165 วรรคสอง
(ข) โดยหลักแล้ว คดีที่ศาลยกฟ้อง เนื่องจากโจทก์ขาดนัดไต่สวนมูลฟ้องนั้น ตามมาตรา 165 วรรคสาม ได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า จะฟ้องจำเลยในเรื่องเดี่ยวกันอีกไม่ได้ ซึ่งหมายความว่า สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับนั่นเอง (ฎ. 816/2523) แต่มีข้อยกเว้นว่าสิทธิฟ้องคดีอาญาของพนักงานอัยการยังไม่ระงับ ถ้าคดีที่ศาลยกฟ้อง เนื่องจากโจทก์ขาดนัดไต่สวนมูลฟ้องนั้นเป็นคดีซึ่งราษฎรเท่านั้นเป็นโจทก์ และคดีที่พนักงานอัยการจะฟ้องอีกหรือได้ฟ้องไว้แล้วนั้น มิใช่ความผิดต่อส่วนตัว (ความผิดอันยอมความได้)
สำหรับคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ พนักงานอัยการจะดำเนินคดีต่อไปได้หรือไม่ เห็นว่า คดีที่พนักงานอัยการได้ฟ้องไว้แล้วนั้น เป็นคดีที่ฟ้องในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ เมื่อได้ความว่าศาลยกฟ้อง เนื่องจากโจทก์ขาดนัดไต่สวนมูลฟ้อง จึงส่งผลให้จะฟ้องจำเลยในเรื่องเดียวกันอีกไม่ได้ ซึ่งหมายความถึง สิทธินำคดีอาญาของพนักงานอัยการมาฟ้องย่อมระงับตามไปด้วย อีกทั้งในกรณีนี้ก็ไม่ต้องด้วยข้อยกเว้น ตามมาตรา 166 วรรคสาม เนื่องจากเป็นความผิดต่อส่วนตัว ดังนั้นพนักงานอัยการจึงไม่สามารถดำเนินคดีต่อไปได้
สรุป
(ก) หากนางขาวต้องการให้ศาลยกคดีขึ้นไต่สวนมูลฟ้องใหม่ นางขาวสามารถทำได้ตามหลักเกณฑ์ที่ได้อธิบายไว้ข้างต้น
(ข) สำหรับคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ พนักงานอัยการไม่สามารถดำเนินคดีต่อไปได้
ข้อ 3 แต่ละกรณีดังต่อไปนี้ ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานใดได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
(ก) โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยชิงทรัพย์ และมีคำขอท้ายฟ้องให้ลงโทษจำเลยฐานชิงทรัพย์ แต่ข้อเท็จจริงจากการสืบพยานได้ความว่า จำเลยกระทำความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์
(ข) โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยชิงทรัพย์ และมีคำขอท้ายฟ้องให้ลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์ แต่ข้อเท็จจริงจากการสืบพยานได้ความว่า จำเลยกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์
ธงคำตอบ
มาตรา 192 วรรคแรก วรรคสี่ วรรคห้าและวรรคหก ห้ามมิให้พิพากษา หรือสั่ง เกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง
ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงบางข้อดังกล่าวในฟ้อง และตามที่ปรากฏในทางพิจารณาไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษ ห้ามมิให้ศาลลงโทษจำเลยในข้อเท็จจริงนั้นๆ
ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามฟ้องนั้นโจทก์สืบสมแต่โจทก์อ้างฐานความผิดหรือบทมาตราผิด ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยตามฐานความผิดที่ถูกต้องได้
ถ้าความผิดตามที่ฟ้องนั้นรวมการกระทำหลายอย่าง แต่ละอย่างอาจเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง ศาลจะลงโทษจำเลยในการกระทำผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่พิจารณาได้ความก็ได้
วินิจฉัย
(ก) ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานใดได้หรือไม่ เห็นว่า การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยชิงทรัพย์ เป็นกรณีที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยลักทรัพย์กับทำร้ายร่างกายหรือลักทรัพย์กับความผิดต่อเสรีภาพ แต่เมื่อสืบพยานในศาลได้ความว่าจำเลยมีความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ จึงเป็นการสืบพยานได้ความว่า จำเลยลักทรัพย์โดยฉกฉวยเอาซึ่งหน้า ซึ่งการฉกฉวยเอาซึ่งหน้านี้เป็นส่วนที่โจทก์ไม่ได้กล่าวไว้ในคำฟ้องจึงพิพากษาลงโทษจำเลยไม่ได้ ตามมาตรา 192 วรรคแรก ศาลจึงพิพากษาลงโทษจำเลยฐานวิ่งราวทรัพย์ไม่ได้ อีกทั้งยังเป็นกรณีที่โจทก์ไม่ได้ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ ตามมาตรา 192 วรรคสี่อีกด้วย
แต่อย่างไรก็ดี ความผิดฐานชิงทรัพย์ที่โจทก์ฟ้องรวมการกระทำหลายอย่าง แต่ละอย่างอาจเป็นความผิดได้ในตัวเอง เมื่อสืบพยานในศาลได้ความว่าจำเลยกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ศาลจึงพิพากษาลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์ได้ ตามมาตรา 192 วรรคหก (ฎ. 831/2532)
ดังนั้น กรณีนี้ศาลจึงต้องพิพากษาลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์
(ข) ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานใดได้หรือไม่ เห็นว่า การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยชิงทรัพย์ เป็นกรณีที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยลักทรัพย์กับทำร้ายร่างกาย หรือลักทรัพย์กับความผิดต่อเสรีภาพ เพราะจากการสืบพยานในศาลก็ได้ความว่าจำเลยกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์เช่นเดียวกัน แต่โจทก์มีคำขอท้ายฟ้องให้ลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์ ในกรณีเช่นนี้ จึงเป็นกรณีที่ข้อเท็จจริงตามฟ้องนั้นโจทก์สืบสม แต่โจทก์อ้างฐานความผิดหรือบทมาตราผิด ซึ่งตามมาตรา 192 วรรคห้ากำหนดให้ศาลสามารถลงโทษจำเลยตามฐานความผิดที่ถูกต้องได้ แม้ฐานความผิดที่ถูกต้องจะมีอัตราโทษสูงกว่าก็ตาม เพราะถือว่าเป็นข้อยกเว้นของมาตรา 192 วรรคแรก (ฎ. 391/2509)
สรุป
(ก) ศาลต้องพิพากษาลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์
(ข) ศาลต้องพิพากษาลงโทษจำเลยฐานชิงทรัพย์
ข้อ 4 พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องนายหนึ่ง นายสอง และนายสามว่าร่วมกันวิ่งราวทรัพย์ (ระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี) นายสามรับสารภาพ แต่นายหนึ่งและนายสองให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นสั่งให้โจทก์แยกฟ้องจำเลยที่ปฏิเสธเป็นคดีใหม่และพิพากษาลงโทษ จำคุกนายสาม 2 ปี คดีนี้ไม่มีฝ่ายใดอุทธรณ์ พนักงานอัยการฟ้องนายหนึ่งและนายสองเป็นคดีใหม่ ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่านายสองมีความผิดตามฟ้องโจทก์ ลงโทษจำคุก 2 ปี ส่วนนายหนึ่งไม่มีความผิด พิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ฝ่ายเดียวขอให้ศาลลงโทษนายหนึ่ง
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วพิพากษาว่า การกระทำของนายหนึ่ง นายสอง และนายสามไม่เป็นความผิดพิพากษายกฟ้องโจทก์ ปล่อยนายหนึ่งพ้นข้อหาไป
ดังนี้ ศาลอุทธรณ์จะพิพากษาให้ปล่อยนายสองและนายสามด้วยได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 213 ในคดีซึ่งจำเลยผู้หนึ่งอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษา ซึ่งให้ลงโทษจำเยหลายคนในความผิดฐานเดียวกันหรือต่อเนื่องกัน ถ้าศาลอุทธรณ์กลับหรือแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้น ไม่ลงโทษหรือลดโทษให้จำเลย แม้เป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลอุทธรณ์มีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยอื่นที่มิได้อุทธรณ์ ให้มิต้องถูกรับโทษ หรือได้ลดโทษดุจจำเลยผู้อุทธรณ์
วินิจฉัย
โดยหลักแล้ว ในกรณีที่ศาลสั่งให้แยกฟ้องเป็นคดีใหม่ เพราะจำเลยบางคนให้การรับสารภาพตามมาตรา 176 วรรคสอง ในกรณีเช่นนี้ ศาลอุทธรณ์จะยกเอาเหตุในลักษณะคดี ในคดีที่ฟ้องใหม่ให้มีผลไปถึงจำเลยในคดีเดิมไม่ได้
การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ ปล่อยนายหนึ่งพ้นข้อหาไป ด้วยเหตุผลว่าการกระทำของนายหนึ่ง นายสองและนายสามไม่เป็นความผิดนั้น ถือเป็นเหตุที่อยู่ในส่วนลักษณะคดีแต่การที่ศาลอุทธรณ์จะพิพากษาให้ปล่อยนายสองและนายสามด้วยได้หรือไม่นั้น ต้องแยกพิจารณาดังนี้
กรณีที่สอง
นายสองเป็นจำเลยในสำนวนคดีเดียวกันกับนายหนึ่ง ในคดีที่พนักงานอัยการแยกมาฟ้องใหม่ เมื่อโจทก์อุทธรณ์และศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ด้วยเหตุในลักษณะคดี ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจยกเหตุในลักษณะคดีขึ้นวินิจฉัยให้มีผลไปถึงนายสองด้วยได้ ตามมาตรา 213 แม้จะเป็นกรณีโจทก์อุทธรณ์ฝ่ายเดียวก็ตาม เนื่องจากคู่ความฝ่ายใดเป็นผู้อุทธรณ์ไม่สำคัญ (ฎ. 1370/2503)
กรณีที่สาม
นายสามเป็นจำเลยในสำนวนคดีเดียวกันกับนายหนึ่งในคดีแรกเท่านั้น มิได้เป็นจำเลยในคดีที่พนักงานอัยการยื่นอุทธรณ์ กรณีเช่นนี้ แม้ศาลอุทธรณ์จะพิพากษายกฟ้องโจทก์ด้วยเหตุที่อยู่ในลักษณะคดี ศาลอุทธรณ์ก็ไม่มีอำนาจยกเหตุซึ่งอยู่ในลักษณะคดีขึ้นวินิจฉัยให้มีผลไปถึงนายสาม เพราะนายสามไม่ใช่จำเลยในสำนวนคดีเดียวกันกับนายหนึ่ง กรณีจึงไม่ต้องด้วย มาตรา 213
สรุป ศาลอุทธรณ์จึงพิพากษาให้ปล่อยตัวนายสองไปด้วยได้ แต่ศาลอุทธรณ์จะพิพากษาให้ปล่อยตัวนายสามไม่ได้