การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2547

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW3008 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 2

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน

ข้อ  1  คดีอาญาเรื่องหนึ่ง  พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องว่านายแสงจำเลยกับพวกอีกสามคนซึ่งหลบหนีได้ร่วมกันกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์  เหตุเกิดเมื่อวันที่  10  เมษายน  พ.ศ. 2547  เวลากลางคืนหลังเที่ยง  ที่ตำบลนาจอมเทียน  อำเภอสัตหีบ  จังหวัดชลบุรี  ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  340  นายแสงจำเลยให้การปฏิเสธว่าตนมิได้กระทำความผิดตามวันเวลาที่โจทก์อ้างในฟ้อง  จำเลยเมาสุราและได้ไปที่บ้านของผู้เสียหายจริง  แต่ไม่ได้ปล้นทรัพย์  จำเลยเพียงแต่ขอเงินจากผู้เสียหายมาใช้บ้างเท่านั้น

ในชั้นพิจารณา  เมื่อสืบพยานโจทก์แล้ว  2  ปาก  พนักงานอัยการโจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้อง  โดยขอแก้วันเวลาเกิดเหตุเป็นวันที่  15  เมษายน  พ.ศ. 2547  เวลากลางคืนก่อนเที่ยง  อ้างว่าฟ้องเดิมบกพร่องเพราะความพลั้งเผลอของผู้พิมพ์ฟ้อง  ดังนี้  ศาลควรอนุญาตให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมฟ้องหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  163  เมื่อมีเหตุอันควร  โจทก์มีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลขอแก้หรือเพิ่มเติมฟ้องก่อนมีคำพิพากษาศาลชั้นต้น  ถ้าศาลเห็นสมควรจะอนุญาตหรือจะสั่งให้ไต่สวนมูลฟ้องเสียก่อนก็ได้  เมื่ออนุญาตแล้วให้ส่งสำเนาแก้ฟ้องหรือฟ้องเพิ่มเติมแก่จำเลยเพื่อแก้  และศาลจะสั่งแยกสำนวนพิจารณาฟ้องเพิ่มเติมนั้นก็ได้

มาตรา  164  คำร้องขอแก้หรือเพิ่มเติมฟ้องนั้น  ถ้าจะทำให้จำเลยเสียเปรียบในการต่อสู้คดี  ห้ามมิให้ศาลอนุญาตแต่การแก้ฐานความผิดหรือรายละเอียดซึ่งต้องแถลงในฟ้องก็ดี  การเพิ่มเติมฐานความผิดหรือรายละเอียดซึ่งมิได้กล่าวไว้ก็ดี  ไม่ว่าจะทำเช่นนี้ในระยะใดระหว่างพิจารณาในศาลชั้นต้นมิให้ถือว่าทำให้จำเลยเสียเปรียบ  เว้นแต่จำเลยได้หลงต่อสู้ในข้อที่ผิดหรือที่มิได้กล่าวไว้นั้น

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว  การที่ศาลจะอนุญาตให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องนั้น  ต้องได้ความว่า  โจทก์ได้ปฏิบัติถูกต้องตามเงื่อนไขในวิธีการและไม่ต้องห้ามเงื่อนไขในเนื้อหา  ซึ่งแยกพิจารณาดังนี้

1       เงื่อนไขในวิธีการ  โจทก์ต้องยื่นคำร้องก่อนมีคำพิพากษาของศาล  ตามมาตรา  163  วรรคแรก

2       เงื่อนไขในเนื้อหา  คำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมของโจทก์  ต้องไม่ทำให้จำเลยเสียเปรียบในการต่อสู้คดี  ตามมาตรา  164

กรณีตามอุทาหรณ์  พนักงานอัยการโจทก์ขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้อง  โดยทำคำร้องยื่นต่อศาลก่อนมีคำพิพากษาศาลชั้นต้น  โดยอ้างว่าฟ้องเดิมบกพร่องเพราะความพลั้งเผลอของผู้พิมพ์ฟ้อง  ซึ่งถือได้ว่ามีเหตุอันสมควร (ฎ. 1967/2497  ฎ. 1377/2513)  การขอแก้ไขคำฟ้องของโจทก์ดังกล่าว  จึงถูกต้องตามเงื่อนไขในวิธีการ  ตามมาตรา  163  วรรคแรก

สำหรับเนื้อหาที่โจทก์ขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องนั้น  โจทก์ขอแก้วันเวลาเกิดเหตุจากวันที่  10  เมษายน  พ.ศ. 2547  เวลากลางคืนหลังเที่ยง  เป็นวันที่  15  เมษายน  พ.ศ. 2547  เวลากลางคืนก่อนเที่ยง  คดีนี้นายแสงจำเลยให้การปฏิเสธว่าตนมิได้กระทำความผิด  และต่อสู้คดีว่าตามวันเวลาที่โจทก์อ้างในฟ้อง  จำเลยเมาสุราและได้ไปที่บ้านของผู้เสียหายจริง  แต่ไม่ได้ปล้นทรัพย์  จำเลยเพียงแต่ขอเงินจากผู้เสียหายมาใช้บางส่วนเท่านั้น  คำให้การต่อสู้คดีของจำเลยดังกล่าวนี้  เห็นได้ว่า  จำเลยมิได้หลงหยิบยกเอาของที่  (โจทก์เขียนไว้)  ผิดในฟ้องเดิมมาเป็นสาระสำคัญในการต่อสู้คดีของจำเลย  เพราะจำเลยไม่ได้ปฏิเสธว่าวันเวลาเกิดเหตุจำเลยมิได้อยู่ในที่เกิดเหตุ
(อ้างฐานที่อยู่)  จึงต้องถือว่าจำเลยมิได้หลงต่อสู้  (ฎ. 2195/2515)  ในกรณีเช่นนี้  หากศาลอนุญาตให้โจทก์แก้ไจเพิ่มเติมฟ้อง  ก็ไม่ทำให้จำเลยเสียเปรียบในการต่อสู้คดีแต่อย่างใด  จึงไม่ต้องห้ามตามเงื่อนไขในเนื้อหา  ตามมาตรา  164  เช่นเดียวกัน (ฎ. 203/2540)

สรุป  ศาลควรอนุญาตให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมฟ้อง

 

 

ข้อ  2  การยื่นฟ้องคดีอาญาของโจทก์  ดังปรากฏกรณีดังต่อไปนี้

(ก)  ในกรณีพนักงานอัยการเป็นโจทก์จำเลยซึ่งมีอัตราโทษจำคุก  ในวันโจทก์ยื่นฟ้อง  โจทก์และจำเลยไปศาล  เมื่อศาลอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟังแล้ว  จำเลยให้การรับสารภาพ  ศาลเห็นว่าคดีเสร็จการพิจารณา  จึงพิพากษาลงโทษจำเลยไปตามความผิดในวันเดียวกันนั้น

(ข)  ในกรณีที่ราษฎรเป็นโจทก์  ในวันนัดไต่สวนมูลฟ้อง  จำเลยไปศาลโดยไม่มีทนายความและได้ให้การรับสารภาพต่อศาล  ศาลเห็นว่า  เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ  จึงงดการไต่สวนมูลฟ้อง  และประทับฟ้องแล้วพิพากษาลงโทษไปตามความผิดตามฟ้องในวันเดียวกันนั้น

ดังนี้ ขอให้วินิจฉัยว่า  การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นทั้ง  2  กรณีดังกล่าวชอบหรือไม่ชอบด้วยบทบัญญัติของกฎหมายแล้วหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  162  ถ้าฟ้องถูกต้องตามกฎหมายแล้ว  ให้ศาลจัดการสั่งต่อไปนี้

(1) ในคดีราษฎรเป็นโจทก์  ให้ไต่สวนมูลฟ้อง  แต่ถ้าคดีนั้นพนักงานอัยการได้ฟ้องจำเลยโดยข้อหาอย่างเดียวกันด้วยแล้ว  ให้จัดการตามอนุมาตรา  (2)

(2) ในคดีพนักงานอัยการเป็นโจทก์  ไม่จำเป็นต้องไต่สวนมูลฟ้อง  แต่ถ้าเห็นสมควรจะสั่งให้ไต่สวนมูลฟ้องก่อนก็ได้

ในกรณีที่มีการไต่สวนมูลฟ้องดังกล่าวแล้ว  ถ้าจำเลยให้การรับสารภาพ  ให้ศาลประทับฟ้องไว้พิจารณา

มาตรา  173  วรรคสอง  ในคดีที่มีอัตราโทษจำคุก  ก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่  ถ้าไม่มีจำเลยต้องการทนายก็ให้ศาลตั้งทนายความให้

วินิจฉัย

(ก)  โดยหลักแล้ว  ก่อนที่ศาลจะสอบถามคำให้การจำเลย  ซึ่งตามฟ้องมีอัตราโทษจำคุก  ศาลจะต้องสอบถามจำเลยก่อนว่ามีทนายความหรือไม่  หากไม่มีและจำเลยต้องการทนายความ  ก็ให้ศาลตั้งทนายความให้

การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เห็นว่า  เมื่อศาลอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟังแล้ว  จำเลยให้การรับสารภาพศาลเห็นว่าคดีเสร็จการพิจารณาจึงพิพากษาลงโทษจำเลยไปตามความผิด  โดยไม่สอบถามจำเลยเรื่องทนายความก่อนเริ่มพิจารณาดังกล่าว  จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ  ตามมาตรา  173  วรรคสอง  (ฎ. 2020/2542)

(ข)  ตามมาตรา  162(1)  ได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า  ในคดีที่ราษฎรเป็นโจทก์  โดยหลักแล้วศาลต้องไต่สวนมูลฟ้องก่อนทุกคดี  เว้นแต่  ถ้าพนักงานอัยการได้ฟ้องจำเลยโดยข้อหาอย่างเดียวกันนั้นแล้วต้องจัดการ  ตามมาตรา  162(2)  กล่าวคือ  ไม่จำต้องไต่สวนมูลฟ้องก่อนประทับฟ้องไว้พิจารณาก็ได้

การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เห็นว่า  ในวันนัดไต่สวนมูลฟ้อง  เมื่อจำเลยไปศาลและให้การรับสารภาพว่าได้กระทำความผิดตามฟ้อง  ศาลชั้นต้นได้งดการไต่สวนมูลฟ้องและประทับฟ้อง  แล้วพิจารณาลงโทษจำเลยไปตามความผิด  ในวันเดียวกันนั้น  กรณีเช่นนี้  เมื่อได้ความว่า  คดีดังกล่าวเป็นคดีที่ราษฎรเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง  ศาลจึงต้องอยู่ในบังคับที่ต้องไต่สวนมูลฟ้องก่อน  อีกทั้งในคดีดังกล่าว  ก็ไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นที่จะทำให้ศาลประทับฟ้องโดยไม่ต้องไต่สวนมูลฟ้องก่อนแต่อย่างใด  เนื่องจากในคดีนี้พนักงานอัยการไม่ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องด้วย  ดังนั้นเมื่อศาลยังมิได้ไต่สวนมูลฟ้อง  แต่สั่งประทับฟ้องเลย  การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นดังกล่าว  จึงไม่ชอบ  ตามมาตรา  162(1)  ประกอบวรรคสอง  (ฎ. 477/2508)

สรุป

(ก)  การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นชอบด้วยกฎหมาย

(ข)  การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย
 

ข้อ  3  พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องว่านางขาวจำเลยทำให้ปืนลั่นโดยประมาทถูกนางแดงเป็นเหตุให้นายแดงถึงแก่ความตายเหตุเกิดเมื่อวันที่  5  กุมภาพันธ์  พ.ศ. 2548  เวลากลางวันที่แขวงหัวหมาก  เขตบางกะปิ  กรุงเทพมหานคร  ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  291  นางขาวจำเลยให้การว่าไม่ได้กระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง  แต่จำเลยจำต้องใช้ปืนยิงนายแดงเพื่อป้องกันตัวพอสมควรแก่เหตุ  การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด  ขอให้ศาลยกฟ้อง

ในการพิจารณาคดี  ปรากฏข้อเท็จจริงว่าตามวันเวลาและสถานที่ที่โจทก์ฟ้อง  นางขาวจำเลยได้ใช้ปืนยิงนายแดงถึงแก่ความตายโดยมีเจตนาฆ่า  มิใช่การกระทำเพื่อป้องกันดังที่นางขาวจำเลยให้การ  เช่นนี้  ศาลจะพิพากษาลงโทษนางขาวจำเลยในความผิดฐานใดได้หรือไม่เพียงใด  เพราะเหตุใด

หมายเหตุ  ประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  288  ผู้ใดฆ่าผู้อื่นต้องระวางโทษประหารชีวิต  จำคุกตลอดชีวิต  หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี

มาตรา  291  ผู้ใดกระทำโดยประมาท  และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย  ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปีและปรับไม่เกินสองหมื่นบาท

ธงคำตอบ

มาตรา  192  วรรคสองและวรรคสาม  ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง  ให้ศาลยกฟ้องคดีนั้น  เว้นแต่ข้อแตกต่างนั้นมิใช่ในข้อสาระสำคัญและทั้งจำเลยมิได้หลงต่อสู้  ศาลจะลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นก็ได้

ในกรณีที่ข้อแตกต่างนั้นเป็นเพียงรายละเอียด  เช่น  เกี่ยวกับเวลาหรือสถานที่กระทำความผิดหรือต่างกันระหว่างการกระทำผิดฐานลักทรัพย์  กรรโชก  รีดเอาทรัพย์  ฉ้อโกง  โกงเจ้าหนี้  ยักยอก  รับของโจร  และทำให้เสียทรัพย์  หรือต่างกันระหว่างการกระทำผิดโดยเจตนากับประมาท  มิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญทั้งนี้มิให้ถือว่าข้อที่พิจารณาได้ความนั้นเป็นเรื่องเกินคำขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ  เว้นแต่จะปรากฏแก่ศาลว่าการที่ฟ้องผิดไปเป็นเหตุให้จำเลยหลงต่อสู้  แต่ทั้งนี้ศาลจะลงโทษจำเลยเกินอัตราโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดที่โจทก์ฟ้องไม่ได้

วินิจฉัย

เป็นกรณีข้อเท็จจริงที่ได้ความในทางพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่โจทก์บรรยายในฟ้อง  กล่าวคือ  พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องว่านางขาวจำเลยกระทำความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย  ตาม  ป.อ.  มาตรา  291  แต่ในทางพิจารณาได้ความว่านางขาวจำเลยกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา  ตาม  ป.อ.  มาตรา  288  ซึ่งข้อแตกต่างระหว่างการกระทำความผิดโดยเจตนากับการกระทำความผิดโดยประมาทนั้น  ตามมาตรา  192  วรรคสาม  มิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญ

คดีนี้  นางขาวจำเลยให้การว่าไม่ได้กระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง  แต่จำเลยจำต้องใช้ปืนยิงนายแดง  (ผู้ตาย)  เพื่อป้องกันตัวพอสมควรแก่เหตุ  ประเด็นข้อต่อสู้ของนางขาวจำเลยจึงอยู่ที่ว่าการกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุหรือไม่เท่านั้น  จำเลยมิได้หลงต่อสู้  (ฎ. 755/2494  ฎ. 992/2494)  ศาลจึงมีอำนาจตามมาตรา  192  วรรคสอง  ที่จะลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความในทางพิจารณา  คือฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาตาม  ป.อ.  มาตรา  288  ได้

อย่างไรก็ตาม  มาตรา  192  วรรคสาม  จำกัดอำนาจศาลไว้ว่า  ศาลจะลงโทษจำเลยเกินอัตราโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดที่โจทก์ฟ้องไม่ได้

ดังนั้น  ในกรณีนี้ศาลจึงมีอำนาจพิพากษาลงโทษนางขาวจำเลยในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา  ตาม  ป.อ.  มาตรา  288  แต่กำหนดโทษจำคุกได้ไม่เกิน  10  ปี  และปรับไม่เกิน  2  หมื่นบาท  ตามมาตรา  291

สรุป  ศาลมีอำนาจพิพากษาลงโทษนางขาวจำเลยในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา  ตามมาตรา  288  แต่กำหนดโทษจำคุกได้ไม่เกิน  10  ปี  และปรับไม่เกิน  2  หมื่นบาท  ตามมาตรา  291
 

ข้อ  4  แต่ละกรณีดังต่อไปนี้  ให้วินิจฉัยว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เพราะเหตุใด

(ก)  คดีอาญาเรื่องหนึ่ง  ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ลงโทษปรับจำเลย  5,000  บาท  จำเลยอุทธรณ์ฝ่ายเดียวขอให้ศาลยกฟ้อง  ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วพิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลย  1  ปี  โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด  2  ปี  กรณีหนึ่ง

(ข)  คดีอาญาเรื่องหนึ่ง  ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่น  ลงโทษประหารชีวิตแต่เนื่องจากคำให้การของจำเลยในชั้นสอบสวนบางส่วนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดี  ลดโทษให้จำเลยหนึ่งในสาม  ให้จำคุกตลอดชีวิต  จำเลยอุทธรณ์ฝ่ายเดียวขอให้ศาลลงโทษประหารชีวิตโดยไม่ต้องลดโทษให้จำเลย  ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่ากระทำผิดจริงและไม่มีเหตุอันควรลดโทษพิพากษาให้ลงโทษประหารชีวิตจำเลย  อีกกรณีหนึ่ง

ธงคำตอบ

มาตรา  212  คดีที่จำเลยอุทธรณ์คำพิพากษาที่ให้ลงโทษ  ห้ามมิให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย  เว้นแต่โจทก์จะได้อุทธรณ์ในทำนองนั้น

วินิจฉัย

ตามมาตรา  212  ได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า  การที่ศาลอุทธรณ์จะพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยได้นั้น  จะต้องเป็นกรณีที่โจทก์ได้อุทธรณ์ในทำนองที่ขอให้เพิ่มเติมโทษจำเลยด้วย

(ก)  การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ปรับจำเลย  5,000  บาท  จำเลยอุทธรณ์ฝ่ายเดียว  เมื่อได้ความว่า  ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำคุก  1  ปี  โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด  2  ปี  ในกรณีเช่นนี้  แม้โดยปกติโทษจำคุกเป็นโทษอาญาที่หนักกว่าโทษปรับก็ตาม  แต่คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในกรณีนี้ก็ไม่เป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย  เพราะเป็นการกำหนดโทษจำคุกโดยมีเงื่อนไขที่เป็นคุณแก่จำเลยมากกว่า (ฎ. 4525/2533)  คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ดังกล่าว  จึงชอบด้วยกฎหมาย  ไม่ต้องห้ามตามมาตรา  212  แต่อย่างใด

(ข)  การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำคุกตลอดชีวิต  และจำเลยอุทธรณ์ฝ่ายเดียว  แม้ได้ความว่า  จำเลยจะอุทธรณ์ขอให้ศาลลงโทษประหารชีวิต  โดยไม่ต้องลดโทษจำเลย  อันถือว่าเป็นการอุทธรณ์ขอให้เพิ่มเติมโทษจำเลยแล้ว  แต่อย่างไรก็ดีเมื่อโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ขอให้ศาลพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยด้วย  ศาลอุทธรณ์จึงไม่สามารถพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยได้  ดังนั้น  การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ลงโทษประหารชีวิตจำเลย  จึงเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยที่ต้องห้าม  ตามมาตรา  212  (ฎ. 3741/2540)  คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ดังกล่าว  จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สรุป
(ก)  คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมาย

(ข)  คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

Advertisement