การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2546
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW3008 (LA 308),(LW 309) กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 2
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน
ข้อ 1 พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องว่านายเหลืองกระทำความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ ในระหว่างที่ศาลพิจารณาคดีนางชมพูซึ่งเป็นผู้เสียหายได้ไปปรึกษาทนายความ ทนายความมีความเห็นว่าการกระทำของนายเหลืองเป็นการลักทรัพย์ นางชมพูจึงแต่งตั้งทนายความฟ้องนายเหลืองในความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 334 ศาลตรวจคำฟ้องของนางชมพูแล้วเห็นว่าถูกต้องตามกฎหมาย ศาลจึงสั่งไต่สวนมูลฟ้อง ปรากฏว่าในวันนัดสืบพยานโจทก์ในการไต่สวนมูลฟ้องนั้น นางชมพูและทนายความของนางชมพูไม่ไปศาล ศาลจึงพิพากษายกฟ้อง ดังนี้
(ก) ถ้านางชมพูประสงค์จะขอให้ศาลยกคดีนั้นขึ้นไต่สวนมูลฟ้องใหม่นางชมพูต้องดำเนินการอย่างไร
(ข) สำหรับคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องว่านายเหลืองกระทำความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์นั้น พนักงานอัยการจะดำเนินคดีต่อไปได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 166 ถ้าโจทก์ไม่มาตามกำหนดนัด ให้ศาลยกฟ้องเสีย แต่ถ้าศาลเห็นว่ามีเหตุสมควรจึงมาไม่ได้ จะสั่งเลื่อนคดีไปก็ได้
ในคดีที่ศาลยกฟ้องดังกล่าวแล้ว ถ้าโจทก์มาร้องภายในสิบห้าวัน นับแต่วันศาลยกฟ้องนั้นโดยแสดงให้ศาลเห็นได้ว่ามีเหตุสมควรจึงมาไม่ได้ก็ให้ศาลยกคดีนั้นขึ้นไต่สวนมูลฟ้องใหม่
ในคดีที่ศาลยกฟ้องดังกล่าวแล้ว จะฟ้องจำเลยในเรื่องเดียวกันนั้นอีกไม่ได้ แต่ถ้าศาลยกฟ้องเช่นนี้ในคดีซึ่งราษฎรเท่านั้นเป็นโจทก์ ไม่ตัดอำนาจพนักงานอัยการฟ้องคดีนั้นอีก เว้นแต่จะเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัว
วินิจฉัย
(ก) นางชมพูเป็นโจทก์ฟ้องนายเหลืองในความผิดฐานลักทรัพย์แต่ในวันสืบพยานโจทก์ ในการไต่สวนมูลฟ้องนางชมพูและทนายความของนางขาวไม่ไปศาล ศาลจึงพิพากษายกฟ้องในกรณีเช่นนี้ หากนางชมพูต้องการให้ศาลยกคดีขึ้นไต่สวนมูลฟ้องใหม่ นางชมพูอาจกระทำโดย
1 ยื่นคำร้องต่อศาลภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ศาลยกฟ้อง และ
2 แสดงให้ศาลเห็นว่าตนและทนายความของตนมีเหตุสมควรที่ไม่สามารถมาศาลได้ ตามกำหนดนัดไต่สวนมูลฟ้อง
เมื่อนางชมพูปฏิบัติครบหลักเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้นแล้ว ถ้าศาลเห็นว่าการที่นางชมพูและทนายความขาดนัดไต่สวนมูลฟ้อง เนื่องจากมีเหตุสมควร ศาลก็จะยกคดีขึ้นไต่สวนมูลฟ้องใหม่ ตามมาตรา 165 วรรคสอง
(ข) โดยหลักแล้ว คดีที่ศาลยกฟ้อง เนื่องจากโจทก์ขาดนัดไต่สวนมูลฟ้องนั้น ตามมาตรา 165 วรรคสาม ได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า จะฟ้องจำเลยในเรื่องเดี่ยวกันอีกไม่ได้ ซึ่งหมายความว่า สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับนั่นเอง (ฎ. 816/2523) แต่มีข้อยกเว้นว่าสิทธิฟ้องคดีอาญาของพนักงานอัยการยังไม่ระงับ ถ้าคดีที่ศาลยกฟ้อง เนื่องจากโจทก์ขาดนัดไต่สวนมูลฟ้องนั้นเป็นคดีซึ่งราษฎรเท่านั้นเป็นโจทก์ และคดีที่พนักงานอัยการจะฟ้องอีกหรือได้ฟ้องไว้แล้วนั้น มิใช่ความผิดต่อส่วนตัว (ความผิดอันยอมความได้)
สำหรับคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ พนักงานอัยการจะดำเนินคดีต่อไปได้หรือไม่ เห็นว่า คดีที่พนักงานอัยการได้ฟ้องไว้แล้วนั้น เป็นคดีที่ฟ้องในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ เมื่อได้ความว่าศาลยกฟ้อง เนื่องจากโจทก์ขาดนัดไต่สวนมูลฟ้อง จึงส่งผลให้จะฟ้องจำเลยในเรื่องเดียวกันอีกไม่ได้ ซึ่งหมายความถึง สิทธินำคดีอาญาของพนักงานอัยการมาฟ้องย่อมระงับตามไปด้วย อีกทั้งในกรณีนี้ก็ไม่ต้องด้วยข้อยกเว้น ตามมาตรา 166 วรรคสาม เนื่องจากเป็นความผิดต่อส่วนตัว ดังนั้นพนักงานอัยการจึงไม่สามารถดำเนินคดีต่อไปได้
สรุป
(ก) หากนางชมพูต้องการให้ศาลยกคดีขึ้นไต่สวนมูลฟ้องใหม่ นางชมพูสามารถทำได้ตามหลักเกณฑ์ที่ได้อธิบายไว้ข้างต้น
(ข) สำหรับคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ พนักงานอัยการไม่สามารถดำเนินคดีต่อไปได้
ข้อ 2 คดีอาญาเรื่องหนึ่ง ผู้เสียหายได้ร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมในคดีที่อัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลย ในวันนัดพิจารณาสืบพยานโจทก์ อัยการโจทก์ขาดนัดคงมาแต่โจทก์ร่วม โดยโจทก์ไม่มีพยานมาสืบ หากศาลดำเนินกระบวนการพิจารณาอย่างใดอย่างหนึ่งในกรณี ดังนี้
(ก) ศาลยกฟ้องโจทก์ เพราะเหตุโจทก์ขาดนัด หรือ
(ข) ศาลยกฟ้องโจทก์ เพราะเหตุโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมาสืบพิสูจน์ความผิดของจำเลย ดังนี้
ขอให้วินิจฉัยว่า การที่ศาลยกฟ้องโจทก์ทั้ง 2 กรณีดังกล่าวชอบด้วยบทบัญญัติของกฎหมายวิธีพิจารณาความหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 166 ถ้าโจทก์ไม่มาตามกำหนดนัด ให้ศาลยกฟ้องเสีย แต่ถ้าศาลเห็นว่ามีเหตุสมควรจึงมาไม่ได้ จะสั่งเลื่อนคดีไปก็ได้
มาตรา 185 วรรคแรก ถ้าศาลเห็นว่าจำเลยมิได้กระทำผิดก็ดี การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดก็ดี คดีขาดอายุความแล้วก็ดี มีเหตุตามกฎหมายที่จำเลยไม่ควรต้องรับโทษก็ดี ให้ศาลยกฟ้องโจทก์ปล่อยจำเลยไป แต่ศาลจะสั่งขังจำเลยไว้หรือปล่อยชั่วคราวระหว่างคดียังไม่ถึงที่สุดก็ได้
วินิจฉัย
(ก) การที่ศาลยกฟ้องโจทก์ เพราะเหตุที่โจทก์ขาดนัดชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ผู้เสียหายได้เป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการ แม้ในวันนัดสืบพยานโจทก์ พนักงานอัยการโจทก์จะขาดนัดไม่มาศาลก็ตาม แต่เมื่อได้ความว่า โจทก์ร่วมมาศาลในวันนัดแล้ว จึงเท่ากับว่ายังมีโจทก์มาศาลกรณีเช่นนี้ ยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ขาดนัด ตามมาตรา 166 วรรคแรก แต่อย่างใด ดังนั้นการที่ศาลยกฟ้องโจทก์เพราะเหตุขาดนัดจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาดังกล่าว (ฎ. 1519/2497)
(ข) การที่ศาลยกฟ้องโจทก์ เพราะเหตุที่โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมาสืบพิสูจน์ความผิดของจำเลยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ศาลนัดสืบพยานโจทก์ แม้ได้ความว่า ผู้เสียหายซึ่งเป็นโจทก์ร่วมจะมาศาลตามนัดก็ตาม แต่เมื่อได้ความว่า ในวันสืบพยานโจทก์ โจทก์ไม่มีพยานมาสืบพิสูจน์ความผิดของจำเลย เช่นนี้ การที่ศาลยกฟ้องโจทก์โดยถือว่าโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมาสืบพิสูจน์ความผิดของจำเลย จึงเป็นการชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา 185 วรรคแรกแล้ว (ฎ. 1382/2492)
สรุป
(ก) การที่ศาลยกฟ้องโจทก์ เพราะเหตุขาดนัดไม่ชอบด้วยกฎหมาย
(ข) การที่ศาลยกฟ้องโจทก์ เพราะเหตุที่โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมาสืบพิสูจน์ความผิดของจำเลยชอบด้วยกฎหมาย
ข้อ 3 คดีอาญาเรื่องหนึ่ง พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องว่านายพิชิตกับพวกที่ยังหลบหนีได้ร่วมกันทำร้ายร่างกาย นายสมบัติจนได้รับอันตรายสาหัส เหตุเกิดเมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2547 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง ที่แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 (ฟ้องสมบูรณ์ตามกฎหมาย) นายพิชิตจำเลยให้การรับสารภาพว่าได้กระทำความผิดจริงตามฟ้อง ศาลสั่งให้โจทก์สืบพยานประกอบคำรับสารภาพของจำเลย
ในการพิจารณาคดีได้ความว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุที่โจทก์อ้างในฟ้อง นายพิชิตจำเลยกับพวกมิได้ร่วมกันทำร้ายร่างกายนายสมบัติ แต่ได้เข้าร่วมในการชุลมุนต่อสู้ระหว่างบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไป และปรากฏว่าในการชุลมุนต่อสู้นั้น นายสมบัติซึ่งมิได้ร่วมชุลมุนต่อสู้ด้วยได้รับอันตรายสาหัสอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 299
เช่นนี้ ศาลพึงพิพากษาหรือสั่งอย่างไร จึงจะชอบด้วยวิธีพิจารณาความอาญา
ธงคำตอบ
มาตรา 192 วรรคสอง ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง ให้ศาลยกฟ้องคดีนั้น เว้นแต่ข้อแตกต่างนั้นมิใช่ในข้อสาระสำคัญและทั้งจำเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลจะลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นก็ได้
วินิจฉัย
ตามมาตรา 192 วรรคสอง ได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า ถ้าศาลเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้อง โดยหลักให้ศาลยกฟ้องคดีนั้น เว้นแต่ข้อแตกต่างนั้นมิใช่ในข้อสาระสำคัญและจำเลยมิได้หลงต่อสู้ในกรณีเช่นนี้ ศาลจะลงโทษจำเลย ตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความนั้นก็ได้
ศาลพึงพิพากษาหรือสั่งอย่างไร เห็นว่า พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องว่านายพิชิตกับพวกที่ยังหลบหนีร่วมกันกระทำความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้ถูกทำร้ายรับอันตรายสาหัสตาม ป.อ. มาตรา 297 แต่ในการพิจารณาคดีได้ความว่า นายพิชิตกับพวกกระทำความผิดฐานเข้าร่วมในการชุลมุนต่อสู้ระหว่างบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไป เป็นเหตุให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดรับอันตรายสาหัส ตาม ป.อ. มาตรา 299
ความผิดสองฐานดังกล่าวนี้ เมื่อนำองค์ประกอบความผิดมาพิจารณาเทียบกัน จะเห็นได้ว่าแตกต่างกันมาก ไม่อาจเกลื่อนกลืนกันได้เลย ถือได้ว่าข้อเท็จจริงที่ได้ความในการพิจารณาและข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้องแตกต่างกันในข้อสาระสำคัญ กรณีจึงไม่ต้องด้วยข้อยกเว้น ตามมาตรา 192 วรรคสอง ถึงแม้นายพิชิตจำเลยให้การรับสารภาพาลก็ต้องยกฟ้อง จะลงโทษตามมาตรา 299 ก็ไม่ได้ เพราะเป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์ไม่ประสงค์จะให้ลงโทษ (ฎ. 2299/2518 ฎ. 1923/2521 ฎ. 48/2528)
สรุป ศาลพึงพิพากษายกฟ้อง
ข้อ 4 นายช้างเป็นโจทก์ฟ้องต่อศาลขอให้ลงโทษนายเสือฐานทำร้ายร่างกายได้รับบาดเจ็บสาหัส (ระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปี) ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วสั่งว่าคดีไม่มีมูล ยกฟ้อง นายช้างอุทธรณ์
ให้นักศึกษาตอบคำถามแต่ละกรณีดังต่อไปนี้
(ก) ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วสั่งว่า คดีมีมูล ประทับฟ้อง กรณีนี้นายเสือจะฎีกาว่าคดีไม่มีมูลได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
(ข) ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ว พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น กรณีนี้นายช้างจะฎีกาว่าคดีมีมูลได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 170 วรรคแรก คำสั่งของศาลที่ให้คดีมีมูลย่อมเด็ดขาด แต่คำสั่งที่ว่าคดีไม่มีมูลนั้นโจทก์มีอำนาจอุทธรณ์ฎีกาได้ตามบทบัญญัติว่าด้วยลักษณะอุทธรณ์ฎีกา
มาตรา 220 ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในคดีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์
วินิจฉัย
(ก) เมื่อนายช้างยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิจารราแล้วสั่งว่าคดีมีมูลประทับฟ้อง ในกรณีนี้ แม้ได้ความว่านายเสือผู้ถูกฟ้องจะมีฐานะเป็นจำเลยแล้วก็ตาม แต่คำสั่งศาลอุทธรณ์ที่สั่งว่าคดีมีมูลนั้นเด็ดขาดแล้ว นายเสือจึงฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ไม่ได้ ตามมาตรา 170 วรรคแรก (ฎ. 1895/2519)
(ข) โดยหลักแล้ว ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในคดีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ ทั้งนี้ ไม่ว่าศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์จะพิพากษายกฟ้องโดยอาศัยข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายก็ต้องห้ามฎีกาทั้งสิ้น และเป็นการห้ามฎีกาทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายด้วย (ฎ. 492/2536 ฎ. 5381/2536)
การที่ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีโจทก์ไม่มีมูลพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ ซึ่งต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาไม่ว่าจะเป็นปัญหาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมาย แม้จะเป็นการพิจารณาในชั้นไต่สวนมูลฟ้องก็ตาม คดีก็ต้องห้ามมิให้ฎีกา ดังนั้น เมื่อนายช้างฎีกาว่า คดีมีมูลอันถือว่าเป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ในกรณีนี้นายช้างจึงไม่สามารถฎีกาว่าคดีมีมูลได้ต้องห้าม ตามมาตรา 220 (ฎ.3534/2541)
สรุป
(ก) นายเสือฎีกาว่าคดีไม่มีมูลไม่ได้
(ข) นายช้างฎีกาว่าคดีมีมูลไม่ได้