การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2550

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW3008 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 2

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

Advertisement

ข้อ  1  นายมะม่วงร้องทุกข์กล่าวหาว่านายมังคุดฆ่านายมันแกวบุตรชายของตนตายโดยเจตนาตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  288 พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนและสรุปสำนวนสั่งฟ้องนายมังคุดตามข้อหาดังกล่าว  แต่ในที่สุดพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องนายมังคุดเป็นจำเลยคดีแรกในข้อหากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้นายมันแกวถึงแก่ความตายตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  291  นายมะม่วงไม่เห็นด้วย  

จึงนำคดีมายื่นฟ้องนายมังคุดเป็นจำเลยต่อศาลด้วยตนเองในคดีหลังขอให้ลงโทษนายมังคุดฐานฆ่านายมันแกวตายโดยเจตนาตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  288  อีกคดีหนึ่งให้วินิจฉัยตามประเด็นต่อไปนี้

(ก)  คดีหลังที่นายมะม่วงเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนางมังคุดเป็นจำเลยต่อศาลด้วยตนเอง  ศาลจะสั่งประทับฟ้องไว้พิจารณาโดยไม่ไต่สวนมูลฟ้องก่อนได้หรือไม่

(ข)  หากปรากฏว่าในการไต่สวนมูลฟ้องคดีหลัง  นายมังคุดจำเลยได้นำเอกสารรายงานการตรวจศพของแพทย์มาถามค้านนายมะม่วงโจทก์เกี่ยวกับเรื่องวิถีกระสุนปืน  เพื่อสนับสนุนว่าตนมิได้มีเจตนาฆ่านายมันแกว  แต่นายมะม่วงโจทก์ไม่ยอมรับรองความถูกต้องของพยานเอกสารดังกล่าว  นายมังคุดจำเลยจะขอส่งเอกสารดังกล่าวเป็นพยานต่อศาลได้หรือไม่

(ค)  หากศาลไต่สวนมูลฟ้องคดีหลังแล้วเห็นว่าคดีมีมูล  จึงให้ประทับฟ้องไว้พิจารณา  นายมังคุดจำเลยจะอุทธรณ์คำสั่งคดีมีมูลต่อศาลอุทธรณ์ได้หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  162  ถ้าฟ้องถูกต้องตามกฎหมายแล้ว  ให้ศาลจัดการสั่งต่อไปนี้

(1) ในคดีราษฎรเป็นโจทก์  ให้ไต่สวนมูลฟ้อง  แต่ถ้าคดีนั้นพนักงานอัยการได้ฟ้องจำเลยโดยข้อหาอย่างเดียวกันด้วยแล้ว  ให้จัดการตามอนุมาตรา  (2)

(2) ในคดีพนักงานอัยการเป็นโจทก์  ไม่จำเป็นต้องไต่สวนมูลฟ้อง  แต่ถ้าเห็นสมควรจะสั่งให้ไต่สวนมูลฟ้องก่อนก็ได้

มาตรา  165  วรรคสอง  จำเลยไม่มีอำนาจนำพยานมาสืบในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง  แต่ทั้งนี้ไม่เป็นการตัดสิทธิในการที่จำเลยจะมีทนายมาช่วยเหลือ

มาตรา  170  วรรคแรก  คำสั่งของศาลที่ให้คดีมีมูลย่อมเด็ดขาด  แต่คำสั่งที่ว่าคดีไม่มีมูลนั้นโจทก์มีอำนาจอุทธรณ์ฎีกาได้ตามบทบัญญัติว่าด้วยลักษณะอุทธรณ์ฎีกา

วินิจฉัย

(ก)  ตามมาตรา  162(1)  ได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า  ในคดีที่ราษฎรเป็นโจทก์  โดยหลักแล้วศาลต้องไต่สวนมูลฟ้องทุกคดี  เว้นแต่พนักงานอัยการได้ฟ้องจำเลยโดยข้อหาอย่างเดียวกันด้วยแล้ว  ต้องจัดการตามมาตรา  162(2)  กล่าวคือ  ไม่จำต้องไต่สวนมูลฟ้องก่อนประทับฟ้องไว้พิจารณาก็ได้

กรณีตามอุทาหรณ์  ศาลจะสั่งประทับฟ้องไว้พิจารณาโดยไม่ไต่สวนมูลฟ้องก่อนได้หรือไม่  เห็นว่า  แม้พนักงานอัยการจะได้ฟ้องนายมังคุดเป็นจำเลยในคดีแรกด้วยก็ตาม  แต่พนักงานอัยการได้ฟ้องนายมังคุดในข้อหากระทำโดยประมาท  เป็นเหตุให้นายมันแกวถึงแก่ความตาย  ตาม  ป.อ.  มาตรา  291  ซึ่งเป็นความผิดคนละข้อหากับคดีหลังที่นายมะม่วงเป็นโจทก์ฟ้องนายมังคุดเป็นจำเลย  ขอให้ลงโทษฐานฆ่านายมันแกวตายโดยเจตนา  ตาม  ป.อ.  มาตรา  288  กรณีนี้จึงไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นของมาตรา  162(1)  ที่ศาลจะจัดการสั่งตามอนุมาตรา  (2)  คือ  ใช้ดุลพินิจสั่งประทับฟ้องไว้พิจารณาโดยไม่ไต่สวนมูลฟ้องก่อนได้  ดังนั้นศาลจึงอยู่ในบังคับที่ต้องจัดการสั่งตามหลักในอนุมาตรา  (1)  กล่าวคือ  ต้องจัดการสั่งให้ไต่สวนมูลฟ้องก่อน

(ข)  โดยหลักแล้ว  ในคดีที่ราษฎรเป็นโจทก์  จำเลยไม่มีสิทธินำพยานมาสืบในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง  แต่ทั้งนี้ไม่ตัดสิทธิในการที่จำเลยจะมีทนายมาช่วยเหลือ  ตามมาตรา  165  วรรคสอง

กรณีตามอุทาหรณ์  ในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง  นายมังคุดจำเลยนำเอกสารรายงานการตรวจศพของแพทย์  มาถามค้านนายมะม่วงโจทก์เกี่ยวกับเรื่องวิถีกระสุนปืน  เพื่อสนับสนุนว่าตนมิได้มีเจตนาฆ่านายมันแกว  แต่นายมะม่วงโจทก์ไม่ยอมรับรองความถูกต้องของพยานหลักฐานเอกสารดังกล่าว  และนายมังคุดจะขอส่งเอกสารดังกล่าวเป็นพยานต่อศาลนั้น  ในกรณีเช่นนี้เท่ากับว่านายมังคุดจำเลยเรียกพยานหลักฐานของตนเข้าสืบจึงเป็นการต้องห้ามตามมาตรา  165  วรรคสอง  ดังนั้นนายมังคุดจึงไม่อาจของส่งเอกสารดังกล่าวเป็นพยานต่อศาลได้  (ฎ. 6557/2539)

(ค)  การที่ศาลไต่สวนมูลฟ้องคดีหลังที่นายมะม่วงเป็นโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษนายมังคุดจำเลยฐานฆ่านายมันแกวตายโดยเจตนา  ตาม  ป.อ.  มาตรา  288  แล้วเห็นว่า  คดีมีมูลให้ประทับฟ้องไว้พิจารณานั้น  เห็นว่า  แม้นายมังคุดจะมีฐานะเป็นจำเลยในคดีหลังแล้วก็ตาม  แต่คำสั่งของศาลที่ให้คดีมีมูลเช่นว่านั้น  ย่อมเป็นอันเด็ดขาดตามมาตรา  170  วรรคแรก  ดังนั้นนายมังคุดจำเลยจะอุทธรณ์คำสั่งคดีมีมูลต่อศาลอุทธรณ์ไม่ได้

สรุป 

(ก)  ศาลจะสั่งประทับฟ้องไว้พิจารณาโดยไม่ไต่สวนมูลฟ้องก่อนไม่ได้

(ข)  นายมังคุดไม่อาจขอส่งเอกสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานได้

(ค)  นายมังคุดจำเลยจะอุทธรณ์คำสั่งคดีมีมูลต่อศาลอุทธรณ์ไม่ได้

 

ข้อ  2  แต่ละกรณีต่อไปนี้  ศาลต้องตั้งทนายความให้จำเลยหรือไม่  เพราะเหตุใด

(ก)  พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยในขณะมีอายุ  18  ปี  ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา  385  (ระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท)  ก่อนเริ่มพิจารณาซึ่งในขณะนั้นจำเลยมีอายุ  18  ปี  2  เดือน  ศาลถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่  จำเลยตอบว่าไม่มี  แต่จำเลยไม่ต้องการทนายความ  เพราะจำเลยจะให้การรับสารภาพตามฟ้อง

(ข)  พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยในขณะที่จำเลยมีอายุ  19  ปี  ขอให้ลงโทษจำเลยฐานกระทำโดยประมาททำให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บ  (ระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน  หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท)  ก่อนเริ่มพิจารณาศาลถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่  จำเลยตอบว่าไม่มี  แต่จำเลยต้องการหาทนายความเอง  ศาลจึงสั่งเลื่อนคดีเพื่อให้เวลาจำเลยติดต่อทนายความ  เมื่อถึงวันนัดพิจารณา  จำเลยแถลงว่า  จำเลยหาทนายความไม่ได้  ขอให้ศาลตั้งทนายความให้จำเลยด้วย

ธงคำตอบ

มาตรา  173  วรรคแรกและวรรคสอง  ในคดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิต  หรือในคดีที่จำเลยมีอายุไม่เกินสิบแปดปีในวันที่ถูกฟ้องต่อศาล ก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่  ถ้าไม่มีก็ให้ศาลตั้งทนายความให้

ในคดีที่มีอัตราโทษจำคุกก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่  ถ้าไม่มีและจำเลยต้องการทนายก็ให้ศาลตั้งทนายความให้

วินิจฉัย

(ก)  โดยหลักแล้ว  ในคดีที่จำเลยมีอายุไม่เกิน  18  ปี  ในวันที่ถูกฟ้องต่อศาลก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่  ถ้าไม่มีก็ให้ศาลตั้งทนายความให้  ในกรณีนี้เป็นบทบังคับเด็ดขาด  ไม่ว่าจำเลยจะต้องการหรือไม่ก็ตาม  (เทียบ  ฎ. 366/2534)

พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลย  ในขณะที่จำเลยมีอายุ  18  ปี  จึงเป็นคดีที่จำเลยมีอายุไม่เกิน  18  ปี  ในวันที่ถูกฟ้องต่อศาล  ซึ่งเป็นคดีอาญาทุกประเภท  แม้จะเป็นคดีที่มีโทษปรับอย่างเดียวก็ตาม  เมื่อได้ความว่าก่อนเริ่มพิจารณาศาลได้ถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่  แม้จำเลยจะตอบไม่มีและจำเลยก็ไม่ต้องการทนายความ  เพราะจำเลยจะให้การรับสารภาพตามฟ้อง  ในกรณีเช่นนี้  ศาลก็ยังต้องตั้งทนายความให้จำเลย  ตามมาตรา  173  วรรคแรก  เพราะถือว่าเป็นบทบังคับเด็ดขาดที่ศาลต้องตั้งให้

(ข)  โดยหลักแล้ว  ในคดีที่มีอัตราโทษจำคุก  ไม่ว่าจะเป็นโทษจำคุกมากน้อยเพียงใดก็ตาม  ก่อนเริ่มพิจารณาศาลต้องถามจำเลยในเรื่องทนายความก่อนเสมอ

พนักงานเป็นโจทก์ฟ้องจำเลย  ในขณะที่อายุ  19  ปี  ขอให้ลงโทษจำเลยฐานกระทำโดยประมาททำให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บ  ก่อนเริ่มพิจารณาศาลถามจำเลยมีทนายความหรือไม่  ครั้งแรกจำเลยตอบว่าไม่มีทนายความ  แต่จำเลยต้องการหาทนายความเอง  ศาลจึงสั่งเลื่อนคดี  เพื่อให้จำเลยติดต่อทนายความแต่เมื่อวัดนัดพิจารณา  จำเลยแถลงว่าจำเลยหาทนายความไม่ได้  ขอให้ศาลตั้งทนายความให้จำเลยด้วย  ในกรณีเช่นนี้  จึงเป็นกรณีที่จำเลยไม่มีทนายความและต้องการทนายความ  ศาลจึงต้องตั้งทนายความให้จำเลย  ตามมาตรา  173  วรรคสอง  (ฎ. 2063/2530)

สรุป  ทั้งสองกรณีดังกล่าวข้างต้น  ศาลต้องตั้งทนายความให้จำเลย

 

ข้อ  3  โจทก์ฟ้องว่า  จำเลยที่  1  ที่  2  และที่  3  ร่วมกันปล้นทรัพย์รถจักรยานยนต์ของกลางของผู้เสียหายไปโดยทุจริตขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  340  จำเลยที่  1  และที่  2  ให้การปฏิเสธอ้างฐานที่อยู่  ส่วนจำเลยที่  3  ให้การปฏิเสธว่ามิได้ร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่  1  และที่  2  เพียงแต่รับซื้อรถจักรยานยนต์ของกลางไว้จากจำเลยที่  1  และที่  2 เท่านั้น  ศาลสืบพยานแล้วได้ความจากพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบว่าเฉพาะจำเลยที่  1  และที่  2  เท่านั้นที่ร่วมกันชิงทรัพย์รถจักรยานยนต์ของผู้เสียหาย  จำเลยที่  3 หาได้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่  1  และที่  2  ด้วยไม่  แต่ได้ความจากพยานหลักฐานของจำเลยที่  3  เองที่นำสืบว่า  จำเลยที่  3 เพียงแต่มีส่วนกระทำความผิดด้วยการรับซื้อรถจักรยานยนต์ของกลางไว้จากจำเลยที่  1  และที่  2  โดยรู้ว่าเป็นทรัพย์ที่จำเลยที่  1  และที่  2  ได้มาจากการชิงทรัพย์ผู้เสียหาย

ให้วินิจฉัยว่า  ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยที่  1  ที่  2  และที่  3  ได้หรือไม่  เพียงใด

ธงคำตอบ

มาตรา  192  วรรคสอง วรรคสามและวรรคหก  ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง  ให้ศาลยกฟ้องคดีนั้น  เว้นแต่ข้อแตกต่างนั้นมิใช่ในข้อสาระสำคัญและทั้งจำเลยมิได้หลงต่อสู้  ศาลจะลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นก็ได้

ในกรณีที่ข้อแตกต่างนั้นเป็นเพียงรายละเอียด  เช่น  เกี่ยวกับเวลาหรือสถานที่กระทำความผิดหรือต่างกันระหว่างการกระทำผิดฐานลักทรัพย์  กรรโชก  รีดเอาทรัพย์  ฉ้อโกง  โกงเจ้าหนี้  ยักยอก  รับของโจร  และทำให้เสียทรัพย์  หรือต่างกันระหว่างการกระทำผิดโดยเจตนากับประมาท  มิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญทั้งนี้มิให้ถือว่าข้อที่พิจารณาได้ความนั้นเป็นเรื่องเกินคำขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ  เว้นแต่จะปรากฏแก่ศาลว่าการที่ฟ้องผิดไปเป็นเหตุให้จำเลยหลงต่อสู้  แต่ทั้งนี้ศาลจะลงโทษจำเลยเกินอัตราโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดที่โจทก์ฟ้องไม่ได้

ถ้าความผิดตามที่ฟ้องนั้นรวมการกระทำหลายอย่าง  แต่ละอย่างอาจเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง  ศาลจะลงโทษจำเลยในการกระทำผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่พิจารณาได้ความก็ได้

วินิจฉัย

ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยที่  1  ที่  2  และที่  3  ได้หรือไม่  เห็นว่า  ความผิดฐานปล้นทรัพย์ตามฟ้อง  ย่อมรวมการกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ซึ่งอาจเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง  ดังนั้นแม้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่  1  และที่  2  ร่วมกับจำเลยที่  3  กระทำความผิดฐานร่วมกันปล้นทรัพย์  แต่ศาลสืบพยานแล้วได้ความจากพยานหลักฐานของโจทก์ว่า  เฉพาะจำเลยที่  1  และที่  2  เท่านั้นที่ร่วมกันชิงทรัพย์รถจักรยานยนต์ของผู้เสียหาย  ศาลย่อมมีอำนาจตามมาตรา  192  วรรคหก  ที่จะพิพากษาลงโทษจำเลยฐานร่วมกันชิงทรัพย์ตามที่พิจารณาได้ความก็ได้ 

(ฎ. 2161/2531)

ส่วนในกรณีของจำเลยที่  3  ได้ความว่า  โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่  3  ฐานร่วมกับจำเลยที่  1  และที่  2  ฐานปล้นทรัพย์แม้ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาได้ความว่าจำเลยที่  3  กระทำความผิดฐานรับของโจรซึ่งถือไม่ได้ว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับฟ้องในข้อสาระสำคัญ  เพราะการกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ตามฟ้อง  ก็เป็นการลักทรัพย์โดยร่วมกันกระทำความผิดตั้งแต่  3 คนขึ้นไป  ซึ่งความผิดฐานลักทรัพย์กับความผิดฐานรับของโจร  ตามมาตรา  192  วรรคสาม  ถือเป็นเพียงข้อแตกต่างในรายละเอียด  มิใช่ข้อแตกต่างในข้อสาระสำคัญ  (ฎ. 1043/2535)

แต่อย่างไรก็ดี  ตามบทบัญญัติ  มาตรา  192  วรรคสองนั้น  การที่ศาลจะมีอำนาจลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความได้นั้น นอกจากจะได้ความว่าข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องในข้อที่มิใช่สาระสำคัญแล้วยังต้องปรากฏด้วยว่าจำเลยมิได้หลงต่อสู้ด้วย  คดีนี้ปรากฏว่าข้อเท็จจริงที่ได้ความว่าจำเลยที่  3  กระทำความผิดฐานรับของโจรนั้น  เป็นการได้ความจากพยานหลักฐานของจำเลยที่  3  เองที่นำสืบว่า  จำเลยที่  3  เพียงแต่มีส่วนกระทำความผิดด้วยการรับซื้อรถจักรยานยนต์ของกลางไว้จากจำเลยที่  1  และที่  2  โดยรู้ว่าเป็นทรัพย์ที่จำเลยที่  1  และที่  2  ได้มาจากการชิงทรัพย์ของผู้เสียหายใช่ได้ความจากการนำสืบพยานของโจทก์ไม่  กรณีจึงต้องถือว่าข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความว่าจำเลยที่  3  กระทำผิดฐานรับของโจรนั้น  เกิดจากจำเลยที่  3  หลงต่อสู้  ดังนั้น  แม้ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาว่าจำเลยที่  3  กระทำผิดฐานรับของโจรจะแตกต่างกับฟ้องฐานปล้นทรัพย์ในข้อที่มิใช่สาระสำคัญ  แต่เมื่อจำเลยที่  3  หลงต่อสู้  กรณีก็ไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์  ตามมาตรา  192  วรรคสอง  ครบถ้วนที่ศาลจะมีอำนาจลงโทษจำเลยที่  3  ฐานรับของโจรตามที่พิจารณาได้ความได้  ศาลจึงไม่มีอำนาจลงโทษจำเลยที่  3  ในความผิดฐานรับของโจรตามที่พิจารณาได้ความตามมาตรา  192  วรรคสอง  ประกอบวรรคสามได้

สรุป  ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยที่  1  และที่  2  ในความผิดฐานร่วมกันชิงทรัพย์ตามที่พิจารณาได้ความได้  แต่สำหรับจำเลยที่  3  ศาลต้องพิพากษายกฟ้อง

 

ข้อ  4  พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานวิ่งราวทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  336  ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า  จำเลยมีความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  335(8)  ลงโทษจำคุก  2  ปี  โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ให้มีกำหนด  1  ปี  โจทก์อุทธรณ์ขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยให้หนักขึ้น  ส่วนจำเลยอุทธรณ์ขอให้ศาลพิพากษายกฟ้อง

ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วพิพากษาว่า  จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  334  ลงโทษปรับ  6,000  บาท

ดังนี้  จำเลยจะฎีกาขอให้ศาลลดโทษปรับได้หรือไม่  เพราะเหตุใด 

ธงคำตอบ

มาตรา  218  ในคดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลล่างหรือเพียงแต่แก้ไขเล็กน้อย  และให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี  หรือปรับหรือทั้งจำทั้งปรับแต่โทษจำคุกไม่เกินห้าปีห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ในคดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลล่างหรือเพียงแต่แก้ไขเล็กน้อยและให้ลงโทษจำคุกจำเลยเกินห้าปี  ไม่ว่าจะมีโทษอย่างอื่นด้วยหรือไม่  ห้ามมิให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

มาตรา  219   ในคดีที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ  ถ้าศาลอุทธรณ์ยังคงลงโทษจำเลยไม่เกินกำหนดที่ว่ามานี้ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง  แต่ข้อห้ามนี้มิให้ใช้แก่จำเลยในกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขมากและเพิ่มเติมโทษจำเลย

วินิจฉัย

จำเลยจะฎีกาขอให้ศาลลดโทษปรับได้หรือไม่  เห็นว่า  การที่จำเลยฎีกาขอให้ศาลลดโทษปรับ  เป็นการฎีกาในปัญหาที่สืบเนื่องจากการที่ศาลอุทธรณ์ใช้ดุลยพินิจลงโทษปรับจำเลย  6,000  บาท  ฎีกาของจำเลยจึงเป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า   จำเลยมีความผิดตาม  ป.อ.  มาตรา  335(8)  ลงโทษจำคุก  2  ปี  โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด  1  ปี  และศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า  จำเลยมีความผิดตาม  ป.อ.  มาตรา  334  ลงโทษปรับ  6,000  บาท  เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์เปลี่ยนโทษจำคุกที่ศาลชั้นต้นรอการลงโทษมาเป็นปรับโทษอย่างเดียวและยังเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์เปลี่ยนทั้งบทลงโทษและโทษด้วย  จึงถือว่าเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขมาก  ในกรณีนี้จึงไม่ต้องห้ามฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงตามมาตรา  218  แต่ก็ต้องพิจารณาตามมาตรา  219  ต่อไป

เมื่อพิจารณาตามมาตรา  219  แล้วได้ความว่า  การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ต่างพิพากษาลงโทษจำคุกไม่เกิน  2  ปี  หรือปรับไม่เกิน  4  หมื่นบาท  ตามมาตรา  219  ห้ามคู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง  แต่มีข้อยกเว้นให้จำเลยฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงได้  ในกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขมาก  และเพิ่มเติมโทษจำเลยด้วย

ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว  แม้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย  แต่ก็มีเงื่อนไขให้รอการลงโทษจำคุก  ซึ่งเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ลงโทษปรับอย่างเดียว  กรณีนี้ถือว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย  (ฎ. 4525/2533)

เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขมาก  และเพิ่มเติมโทษจำเลยด้วย  จำเลยจึงฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงได้  ตามมาตรา  219

สรุป  จำเลยฎีกาขอให้ศาลลดโทษปรับได้

Advertisement