การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2548

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 3008 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 2

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน

ข้อ  1  คดีอาญาเรื่องหนึ่ง  โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่น  ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  310  เหตุเกิดเมื่อวันที่  10  มิถุนายน  พ.ศ.2546  เวลากลางคืนก่อนเที่ยง  ที่ตำบลนาเกลืออำเภอบางละมุง  จังหวัดชลบุรี  จำเลยให้การปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง

ในชั้นพิจารณา  เมื่อสืบพยานโจทก์เสร็จแล้ว  ทนายจำเลยแถลงต่อศาลว่าวันที่โจทก์หาว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องต่างกับคำเบิกความของพยานโจทก์  โจทก์รู้ว่าฟ้องผิดวัน  จึงยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้อง  โดยขอแก้ไขวันเวลาเกิดเหตุเป็นวันที่  20  มิถุนายน  พ.ศ. 2546  เวลากลางคืนหลังเที่ยง  อ้างว่าคำฟ้องเดิมคลาดเคลื่อนเนื่องจากความบกพร่องของผู้พิมพ์คำฟ้อง เช่นนี้  ศาลจะพึงอนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  163  เมื่อมีเหตุอันควร  โจทก์มีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลขอแก้หรือเพิ่มเติมฟ้องก่อนมีคำพิพากษาศาลชั้นต้น  ถ้าศาลเห็นสมควรจะอนุญาตหรือจะสั่งให้ไต่สวนมูลฟ้องเสียก่อนก็ได้  เมื่ออนุญาตแล้วให้ส่งสำเนาแก้ฟ้องหรือฟ้องเพิ่มเติมแก่จำเลยเพื่อแก้  และศาลจะสั่งแยกสำนวนพิจารณาฟ้องเพิ่มเติมนั้นก็ได้

มาตรา  164  คำร้องขอแก้หรือเพิ่มเติมฟ้องนั้น  ถ้าจะทำให้จำเลยเสียเปรียบในการต่อสู้คดี  ห้ามมิให้ศาลอนุญาตแต่การแก้ฐานความผิดหรือรายละเอียดซึ่งต้องแถลงในฟ้องก็ดี  การเพิ่มเติมฐานความผิดหรือรายละเอียดซึ่งมิได้กล่าวไว้ก็ดี  ไม่ว่าจะทำเช่นนี้ในระยะใดระหว่างพิจารณาในศาลชั้นต้นมิให้ถือว่าทำให้จำเลยเสียเปรียบ  เว้นแต่จำเลยได้หลงต่อสู้ในข้อที่ผิดหรือที่มิได้กล่าวไว้นั้น

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว  การที่ศาลจะอนุญาตให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องนั้น  ต้องได้ความว่า  โจทก์ได้ปฏิบัติถูกต้องตามเงื่อนไขในวิธีการและไม่ต้องห้ามเงื่อนไขในเนื้อหา  ซึ่งแยกพิจารณาดังนี้

1       เงื่อนไขในวิธีการ  โจทก์ต้องยื่นคำร้องก่อนมีคำพิพากษาของศาล  ตามมาตรา  163  วรรคแรก

2       เงื่อนไขในเนื้อหา  คำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมของโจทก์  ต้องไม่ทำให้จำเลยเสียเปรียบในการต่อสู้คดี  ตามมาตรา  164

กรณีตามอุทาหรณ์  โจทก์ได้ขอแก้ไขคำฟ้องก่อนมีคำพิพากษาของศาลชั้นต้น  โดยทำเป็นคำร้องอ้างเหตุว่า  คำฟ้องเดิมคลาดเคลื่อนเนื่องจากความบกพร่องของผู้พิมพ์คำร้อง  ซึ่งถือได้ว่ามีเหตุอันสมควร  (ฎ. 1967/2497 

(ฎ. 1377/2513)  การขอแก้ไขคำฟ้องของโจทก์ดังกล่าว  จึงถูกต้องตามเงื่อนไขในวิธีการ  ตามมาตรา  163

สำหรับเนื้อหาที่โจทก์ขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องนั้น  โจทก์ขอแก้วันเวลาเกิดเหตุจากวันที่  10  มิถุนายน  พ.ศ. 2546  เวลากลางคืนก่อนเที่ยง เป็นวันที่  20  มิถุนายน  พ.ศ. 2546  เวลากลางคืนหลังเที่ยง  แต่เมื่อจำเลยให้การปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำผิดตามฟ้อง  และการที่ทนายจำเลยแถลงต่อศาลว่าวันที่โจทก์หาว่ากระทำความผิดตามฟ้องต่างกับคำเบิกพยานโจทก์  ซึ่งเป็นการที่จำเลยถือเอาวันที่โจทก์กล่าวหาตามฟ้องเดิมเป็นหลักสำคัญในการต่อสู้คดี  กรณีจึงถือได้ว่า  จำเลยได้หลงต่อสู้ในข้อที่โจทก์เขียนไว้ผิดในคำฟ้องเดิมกรณีเช่นนี้  หากศาลอนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องตามคำร้องของโจทก์  จะทำให้จำเลยเสียเปรียบในการต่อสู้คดี  จึงห้ามมิให้ศาลอนุญาตตามมาตรา  164

สรุป  ศาลพึงไม่อนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้อง

 

ข้อ  2  คดีอาญาที่ราษฎรเป็นโจทก์ในระหว่างการพิจารณาไต่สวนมูลฟ้อง  ถ้าปรากฏดังกรณีต่อไปนี้ 

(ก)  ในวันศาลนัดไต่สวนมูลฟ้อง  ทนายโจทก์มาศาลแต่ตัวโจทก์และพยานโจทก์ไม่มาศาล  โดยไม่มีเหตุอันควร

(ข)  เมื่อศาลทำการไต่สวนมูลฟ้องโจทก์เสร็จแล้ว  ระหว่างศาลให้โจทก์รอฟังคำสั่งหรือคำพิพากษา  ปรากฏว่าโจทก์ไม่ได้ลงชื่อในท้ายคำฟ้อง  ทนายโจทก์จึงแถลงต่อศาลด้วยวาจา  ขออนุญาตให้ตัวโจทก์ลงชื่อในท้ายคำฟ้อง  ดังนี้

ทั้งสองกรณีดังกล่าวให้วินิจฉัยว่า  ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งหรือคำพิพากษาอย่างไร  จึงจะชอบด้วยกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

ธงคำตอบ

มาตรา  158  ฟ้องต้องทำเป็นหนังสือ  และมี

(7) ลายมือชื่อโจทก์  ผู้เรียง  ผู้เขียนหรือพิมพ์ฟ้อง

มาตรา  163  เมื่อมีเหตุอันควร  โจทก์มีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลขอแก้หรือเพิ่มเติมฟ้องก่อนมีคำพิพากษาศาลชั้นต้น  ถ้าศาลเห็นสมควรจะอนุญาตหรือจะสั่งให้ไต่สวนมูลฟ้องเสียก่อนก็ได้  เมื่ออนุญาตแล้วให้ส่งสำเนาแก้ฟ้องหรือฟ้องเพิ่มเติมแก่จำเลยเพื่อแก้  และศาลจะสั่งแยกสำนวนพิจารณาฟ้องเพิ่มเติมนั้นก็ได้

มาตรา  167  ถ้าปรากฏว่าคดีมีมูล  ให้ศาลประทับฟ้องไว้พิจารณาต่อไปเฉพาะกระทงที่มีมูล  ถ้าคดีไม่มีมูลให้พิพากษายกฟ้อง

วินิจฉัย

(ก)  โดยหลักแล้ว  ในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง  ก่อนที่ศาลจะประทับรับฟ้องไว้พิจารณา  โจทก์จะต้องนำพยานหลักฐานมาสืบให้ศาลรับฟังได้ว่าคดีมีมูลจึงจะประทับรับฟ้องไว้พิจารณา  หากศาลเห็นว่าไม่มีมูลศาลก็จะยกฟ้อง  ตามที่มีบทบัญญัติไว้ในมาตรา  167

กรณีตามอุทาหรณ์  เมื่อได้ความว่าในวันนัดไต่สวนมูลฟ้อง  ทนายโจทก์มาศาล  แต่ตัวโจทก์และพยานโจทก์ไม่มาศาล  โดยไม่มีเหตุอันสมควร  จึงถือว่าโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมาสืบในชั้นไต่สวนมูลฟ้องให้ศาลเห็นว่า  คดีโจทก์มีมูลตามที่กล่าวหาจำเลยในฟ้อง  (ฎ. 1382/2492)  ศาลชั้นต้นจะต้องยกฟ้องโจทก์  จึงจะชอบตามมาตรา  167

ข)     โดยหลักแล้ว  การฟ้องคดีอาญาตามบทบัญญัติของมาตรา  158(7)  ตัวโจทก์จะต้องลงชื่อในท้ายคำฟ้อง  ฟ้องนั้นจึงจะสมบูรณ์ชอบด้วยกฎหมาย  (ฎ. 229/2490)  แต่ในกรณีระหว่างการพิจารณา  ถ้าปรากฏว่าตัวโจทก์ไม่ได้ลงชื่อในท้ายคำฟ้อง  ทนายโจทก์ก็มีอำนาจตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  163  ยื่นคำร้องต่อศาลขอแก้หรือเพิ่มเติมฟ้อง  ก่อนมีคำพิพากษาของศาลชั้นต้นได้

กรณีตามอุทาหรณ์  เมื่อปรากฏว่าหลังจากที่ศาลทำการไต่สวนมูลฟ้องคดีโจทก์เสร็จแล้ว  ในระหว่างที่ศาลให้โจทก์รอฟังคำสั่งหรือคำพิพากษา  ปรากฏว่าตัวโจทก์ไม่ได้ลงชื่อในท้ายคำฟ้อง  ซึ่งไม่ชอบด้วยบทบัญญัติ  มาตรา  158(7)  ทนายโจทก์จึงได้แถลงด้วยวาจาต่อศาลขออนุญาตให้โจทก์ลงชื่อในท้ายคำฟ้อง  ซึ่งเป็นการขัดต่อบทบัญญัติ  มาตรา  163  ที่บังคับไว้ว่า  การขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องโจทก์จะต้องทำเป็นคำร้องยื่นต่อศาลจะแถลงด้วยวาจาของแก้ไขเพิ่มเติมต่อศาลนั้นไม่ได้

ดังนั้น  กรณีดังกล่าวศาลชั้นต้นชอบที่จะยกคำแถลงด้วยวาจาของทนายโจทก์แล้วมีคำพิพากษายกฟ้องโจทก์  เพราะคำฟ้องโจทก์ไม่ชอบด้วยบทบัญญัติของมาตรา  158 (ฎ. 620/2483)

สรุป

(ก)  ศาลชั้นต้นจะต้องยกฟ้องโจทก์

(ข)  ศาลชั้นต้นต้องยกคำแถลงด้วยวาจาของทนายโจทก์  แล้วมีคำพิพากษายกฟ้อง

 

ข้อ  3  คดีอาญาเรื่องหนึ่ง  พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานกระทำโดยประมาท  เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย  ตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  291  (กำหนดระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปีและปรับไม่เกินสองหมื่นบาท)  จำเลยให้การปฏิเสธและนำสืบพยานว่าเหตุเกิดขึ้นมิใช่เนื่องจากความประมาทของจำเลย  แต่เกิดเหตุขึ้นเนื่องจากผู้ตายแย่งปืนไปจากเอวของจำเลย  จำเลยตกใจจึงกระชากปืนจากผู้ตาย  ปืนจึงลั่นถูกผู้ตาย

ในทางพิจารณา  ข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยแย่งปืนคืนจากผู้ตาย  เมื่อจำเลยแย่งปืนคืนมาได้แล้ว  จำเลยได้ใช้ปืนยิงผู้ตายโดยเจตนาฆ่าซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  288  (กำหนดระวางโทษประหารชีวิต  จำคุกตลอดชีวิตหรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าถึงยี่สิบปี)  เช่นนี้  ศาลพึงพิพากษาคดีนี้อย่างไรจึงจะชอบด้วยวิธีพิจารณา

ธงคำตอบ

มาตรา  192  วรรคสองและวรรคสาม  ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง  ให้ศาลยกฟ้องคดีนั้น  เว้นแต่ข้อแตกต่างนั้นมิใช่ในข้อสาระสำคัญและทั้งจำเลยมิได้หลงต่อสู้  ศาลจะลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นก็ได้

ในกรณีที่ข้อแตกต่างนั้นเป็นเพียงรายละเอียด  เช่น  เกี่ยวกับเวลาหรือสถานที่กระทำความผิดหรือต่างกันระหว่างการกระทำผิดฐานลักทรัพย์  กรรโชก  รีดเอาทรัพย์  ฉ้อโกง  โกงเจ้าหนี้  ยักยอก  รับของโจร  และทำให้เสียทรัพย์  หรือต่างกันระหว่างการกระทำผิดโดยเจตนากับประมาท  มิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญทั้งนี้มิให้ถือว่าข้อที่พิจารณาได้ความนั้นเป็นเรื่องเกินคำขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ  เว้นแต่จะปรากฏแก่ศาลว่าการที่ฟ้องผิดไปเป็นเหตุให้จำเลยหลงต่อสู้  แต่ทั้งนี้ศาลจะลงโทษจำเลยเกินอัตราโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดที่โจทก์ฟ้องไม่ได้

วินิจฉัย

พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย  ตาม  ป.อ.  มาตรา  291  ในทางพิจารณาข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา  ตาม  ป.อ.  มาตรา  288  กรณีเช่นนี้  ตามมาตรา  192  วรรคสาม  มิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญ  เว้นแต่ปรากฏว่าการที่ฟ้องผิดไปเป็นเหตุให้จำเลยหลงต่อสู้  แต่ทั้งนี้ศาลจะลงโทษจำเลยเกินอัตราโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดที่โจทก์ฟ้องไม่ได้

ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว  จำเลยให้การปฏิเสธและนำสืบพยานว่าเหตุเกิดขึ้นเนื่องจากผู้ตายแย่งปืนไปจากเอวของจำเลย  จำเลยตกใจจึงกระชากปืนจากผู้ตาย  ปืนจึงลั่นถูกผู้ตาย  คำให้การต่อสู้ของจำเลยดังกล่าวนี้เป็นที่เห็นได้ว่าจำเลยมิได้หลงหยิบยกเอาข้อที่ฟ้องผิดหรือที่มิได้กล่าวในฟ้องมาเป็นสาระสำคัญในการต่อสู้คดีของจำเลย  จำเลยจึงมิได้หลงต่อสู้

เมื่อปรากฏว่าข้อแตกต่างระหว่างข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณากับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องเป็นข้อแตกต่างมิใช่ในข้อสาระสำคัญและจำเลยมิได้หลงต่อสู้  กรณีเช่นนี้ศาลจะลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความในการพิจารณาก็ได้  โดยไม่ถือว่าเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ  แต่ทั้งนี้  ศาลจะลงโทษจำเลยเกินอัตราโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดที่โจทก์ฟ้องไม่ได้

ดังนั้น  คดีนี้ศาลพึงพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา  ตาม  ป.อ.  มาตรา  288  แต่ทั้งนี้ศาลจะลงโทษจำเลยได้เพียงจำคุกไม่เกิน  10  ปี  และปรับไม่เกิน  2  หมื่นบาท  ตาม  ป.อ.  มาตรา  291

สรุป  ศาลพึงพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา  ตาม  ป.อ.  มาตรา  288  แต่ทั้งนี้ศาลจะลงโทษจำเลยได้เพียงจำคุกไม่เกิน  10  ปี  และปรับไม่เกิน  2  หมื่นบาท  ตาม  ป.อ.  มาตรา  291

 

ข้อ  4  พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืนตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา  335(1) (ระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี  และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท)  จำเลยให้การปฏิเสธ  ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  334  (ระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีและปรับไม่เกินหกพันบาท)  ลงโทษจำคุก  1  ปี  โจทก์อุทธรณ์  ขอให้ศาลลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  335(1)  ส่วนจำเลยอุทธรณ์ขอให้ศาลยกฟ้อง  ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  335(1)  ลงโทษจำคุก  4  ปี

จำเลยฎีกาฝ่ายเดียวขอให้ศาลลงโทษจำคุกจำเลย  5  ปี  ซึ่งเป็นโทษจำคุกสูงสุดที่กฎหมายกำหนดไว้  ศาลฎีกาพิจารณาแล้วพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  335(1)  ไม่มีเหตุอันควรปราณี  จึงให้ลงโทษจำคุกจำเลย  5  ปี  ตามฎีกาของจำเลย  ดังนี้

(ก)  คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เพราะเหตุใด

(ข)  คำพิพากษาศาลฎีกาชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  212  คดีที่จำเลยอุทธรณ์คำพิพากษาที่ให้ลงโทษ  ห้ามมิให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย  เว้นแต่โจทก์จะได้อุทธรณ์ในทำนองนั้น

มาตรา  220  ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในคดีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์

มาตรา  225  ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการพิจารณา  และว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่งชั้นอุทธรณ์มาบังคับในชั้นฎีกาโดยอนุโลม  เว้นแต่ห้ามมิให้ทำความเห็นแย้ง

วินิจฉัย

(ก)  ตามมาตรา  212  ได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า  การที่ศาลอุทธรณ์จะพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยได้นั้น  จะต้องเป็นกรณีที่โจทก์ได้อุทธรณ์ในทำนองที่ขอให้เพิ่มเติมโทษจำเลยด้วย

กรณีตามอุทาหรณ์  ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิด  ตาม  ป.อ.  มาตรา  334  ลงโทษจำคุก  1  ปี  การที่โจทก์อุทธรณ์ขอให้ศาลลงโทษจำเลย  ตาม  ป.อ.  มาตรา  335(1)  ถือได้ว่าโจทก์ได้อุทธรณ์ในทำนองที่ขอให้ศาลพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยแล้ว  เมื่อได้ความว่า  ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า  จำเลยมีความผิดตาม  ป.อ.  335(1)  ลงโทษจำคุก  4  ปี  ในกรณีเช่นนี้  เมื่อโจทก์ได้อุทธรณ์ในทำนองที่ขอให้เพิ่มเติมโทษจำเลยแล้ว  คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมาย  ตามมาตรา  212

(ข)  ตามมาตรา  225  ได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า  ในชั้นฎีกาให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการพิจารณาคำพิพากษาหรือคำสั่งในศาลชั้นอุทธรณ์มาใช้บังคับในชั้นฎีกาโดยอนุโลม  ดังนั้น  การที่ศาลฎีกาจะพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยได้นั้น  จะต้องเป็นกรณีที่โจทก์ได้ฎีกาในทำนองที่ขอให้เพิ่มเติมจำเลยด้วยเช่นเดียวกัน

เมื่อได้ความว่าจำเลยฎีกาฝ่ายเดียว  แม้จำเลยจะฎีกาขอให้ศาลลงโทษจำคุกจำเลย  5  ปี  อันถือว่าเป็นการฎีกาขอให้ศาลเพิ่มเติมโทษจำเลยแล้ว  แต่อย่างไรก็ดี  เมื่อโจทก์ไม่ได้ฎีกาขอให้ศาลพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยด้วย  ศาลฎีกาจึงไม่สามารถพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยได้  ดังนั้น  การที่ศาลฎีกาพิพากษาว่าจำเลยมีความผิด  ตาม  ป.อ.  มาตรา  335(1)  จึงเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย  ตามมาตรา  212  ประกอบมาตรา  225  (เทียบ ฎ. 3741/2540)

สรุป 

(ก)  คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมาย

(ข)  คำพิพากษาของศาลฎีกาไม่ชอบด้วยกฎหมาย

Advertisement