การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2546
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW3008 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 2
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1 คดีอาญาเรื่องหนึ่ง นายสมบูรณ์ราษฎรเป็นโจทก์ฟ้องว่านางสมศรีกล่าววาจาหมิ่นประมาทตนขอให้ศาลลงโทษนางสมศรีในความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้อง วินิจฉัยว่าคดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง นายสมบูรณ์อุทธรณ์ ถ้าปรากฏว่า
(ก) ศาลอุทธรณ์เห็นว่าศาลชั้นต้นปฏิบัติไม่ถูกต้องตามกระบวนการไต่สวนมูลฟ้อง จึงพิพากษาสั่งให้ศาลชั้นต้นทำการไต่สวนมูลฟ้องใหม่แล้วพิพากษาหรือสั่งใหม่ตามรูปคดี กรณีหนึ่ง
(ข) ศาลอุทธรณ์เห็นว่าคดีมีมูล จึงสั่งประทับรับฟ้อง อีกกรณีหนึ่ง
ในแต่ละกรณีดังกล่าว นางสมศรีจะฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 165 วรรคสาม ในคดีราษฎรเป็นโจทก์ ศาลมีอำนาจไต่สวนมูลฟ้องลับหลังจำเลยให้ศาลส่งสำเนาฟ้องแก่จำเลยรายตัวไป กับแจ้งวันนัดไต่สวนให้จำเลยทราบ จำเลยจะมาฟังการไต่สวนมูลฟ้องโดยตั้งทนายให้ซักค้านพยานโจทก์ด้วยหรือไม่ก็ได้ หรือจำเลยจะไม่มา แต่ตั้งทนายมาซักค้านพยานโจทก์ก็ได้ ห้ามมิให้ศาลถามคำให้การจำเลย และก่อนที่ศาลประทับฟ้องมิให้ถือว่าจำเลยอยู่ในฐานะเช่นนั้น
มาตรา 170 วรรคแรก คำสั่งของศาลที่ให้คดีมีมูลย่อมเด็ดขาด แต่คำสั่งที่ว่าคดีไม่มีมูลนั้นโจทก์มีอำนาจอุทธรณ์ฎีกาได้ตามบทบัญญัติว่าด้วยลักษณะอุทธรณ์ฎีกา
วินิจฉัย
(ก) โดยหลักแล้ว ในคดีที่ราษฎรเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญา ผู้ถูกฟ้องจะยังไม่มีฐานะเป็นจำเลยจนกว่าศาลจะสั่งประทับฟ้อง
นายสมบูรณ์ ราษฎรเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญานางสมศรี ศาลชั้นต้นได้ไต่สวนมูลฟ้องแล้วสั่งว่าคดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้องในกรณีนี้ เมื่อศาลยังไม่ประทับฟ้องนางสมศรีจึงไม่ถือว่าอยู่ในฐานะเป็นจำเลย จึงยังไม่เป็นคู่ความในคดี เมื่อนายสมบูรณ์ยื่นอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์พิพากษาสั่งให้ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วพิพากษาหรือสั่งใหม่ตามรูปคดี นางสมศรีซึ่งยังไม่มีฐานะเป็นคู่ความจึงไม่มีสิทธิฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ได้ ตามมาตรา 165 วรรคสาม (ฎ. 3711/2530 ฎ. 3877/2528)
(ข) เมื่อนายสมบูรณ์ยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วสั่งว่าคดีมีมูลประทับฟ้อง ในกรณีนี้แม้ได้ความว่า นางสมศรีผู้ถูกฟ้องจะมีฐานะเป็นจำเลยแล้วก็ตาม แต่คำสั่งศาลอุทธรณ์ที่สั่งว่าคดีมีมูลนั้นเด็ดขาดแล้ว นางสมศรีจึงฎีกาโต้แย้งคำสั่งของศาลอุทธรณ์ไม่ได้ ตามมาตรา 170 วรรคแรก (ฎ. 1895/2519)
สรุป
(ก) นางสมศรีจะฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ไม่ได้
(ข) นางสมศรีจะฎีกาโต้แย้งคำสั่งของศาลอุทธรณ์ไม่ได้
ข้อ 2 พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาล ขอให้ลงโทษในคดีอาญาเรื่องหนึ่ง แต่ในวันโจทก์ยื่นฟ้องโจทก์ไม่มีตัวจำเลยมาส่งศาลพร้อมกับคำฟ้อง เพราะเหตุว่า
(ก) ก่อนโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ จำเลยถูกศาลออกหมายขังไว้ในระหว่างการสอบสวนคดีนี้ แต่จำเลยได้หลบหนีไปจากที่คุมขังก่อนโจทก์ยื่นฟ้อง
(ข) จำเลยถูกศาลออกหมายขังไว้ในคดีเรื่องอื่น แต่จำเลยได้หลบหนีไปจากที่คุมขังก่อนที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้
ทั้ง 2 กรณีดังกล่าว ขอให้ท่านวินิจฉัยว่า ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งให้รับฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณาดำเนินการต่อไปหรือไม่ เพราะเหตุใด จึงจะเป็นการชอบด้วยกฎหมายว่าด้วยกระบวนพิจารณาความ
ธงคำตอบ
มาตรา 165 วรรคแรก ในคดีซึ่งพนักงานอัยการเป็นโจทก์ ในวันไต่สวนมูลฟ้องให้จำเลยมาหรือคุมตัวมาศาล ให้ศาลส่งสำเนาฟ้องแก่จำเลยรายตัวไป เมื่อศาลเชื่อว่าเป็นจำเลยจริงแล้ว ให้อ่านและอธิบายฟ้องให้ฟังและถามว่าได้กระทำผิดจริงหรือไม่ จะให้การต่อสู้อย่างไรบ้าง คำให้การของจำเลยให้จดไว้ ถ้าจำเลยไม่ยอมให้การก็ให้ศาลจดรายงานไว้ และดำเนินการต่อไป
วินิจฉัย
ในคดีซึ่งพนักงานอัยการเป็นโจทก์ โดยหลักแล้วในวันที่โจทก์ยื่นฟ้องพนักงานอัยการต้องนำตัวจำเลยมาส่งศาลพร้อมกับคำฟ้องด้วย เว้นแต่ในขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องนั้น จำเลยอยู่ในอำนาจศาลแล้ว กรณีเช่นนี้พนักงานอัยการจะยื่นฟ้องโดยไม่จำต้องนำจำเลยมาศาลก็ได้
(ก) ก่อนอัยการโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยในคดีเรื่องนี้ศาลชั้นต้นได้ออกหมายขังไว้ในระหว่างการสอบสวนคดีเรื่องเดียวกันนี้ แต่เมื่อได้ความว่าจำเลยซึ่งเป็นผู้ต้องหาในขณะนั้นได้หลบหนีไปก่อนที่อัยการจะยื่นฟ้องในกรณีนี้ถือได้ว่าจำเลยเป็นผู้อยู่ในอำนาจศาลในคดีนี้แล้ว ดังนั้นการที่ศาลชั้นต้นรับฟ้องไว้ดำเนินการต่อไป จึงเป็นการชอบด้วยกระบวนพิจารณา ตามมาตรา 165 วรรคแรก (ฎ. 1735/2514 (ประชุมใหญ่))
(ข) ก่อนอัยการโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ จำเลยได้ต้องขังตามอำนาจศาลในคดีเรื่องอื่นแล้วหลบหนีไป กรณีเช่นนี้ ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยได้อยู่ในอำนาจศาลในคดีที่อัยการโจทก์ยื่นฟ้อง อัยการโจทก์จะมาฟ้องจำเลยในคดีอีกเรื่องหนึ่งในคดีนี้โดยไม่มีตัวจำเลยมาส่งศาลพร้อมกับคำฟ้องนั้นไม่ได้ ดังนั้นศาลชั้นต้นจึงชอบที่จะสั่งไม่รับฟ้องโจทก์ไว้พิจารณา จึงจะเป็นการชอบด้วยกระบวนพิจารณา ตามมาตรา 165 วรรคแรก (ฎ. 766/2504)
สรุป
(ก) ศาลชั้นต้นชอบที่จะรับฟ้องไว้ดำเนินการต่อไป
(ข) ศาลชั้นต้นชอบที่จะสั่งไม่รับฟ้องโจทก์ไว้พิจารณา
ข้อ 3 คดีอาญาเรื่องหนึ่ง พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องว่านายแดงจำเลยกระทำความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336 ซึ่งกำหนดระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีและปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท นายแดงจำเลยให้การรับสารภาพ ศาลสั่งให้โจทก์สืบพยานประกอบคำรับสารภาพของจำเลย ในการพิจารณาและสืบพยานได้ความว่าการกระทำของนายแดงเป็นเพียงความผิดฐานลักทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 ซึ่งกำหนดระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีและปรับไม่เกินหกพันบาท เช่นนี้ ศาลพึงพิพากษาคดีนี้อย่างไรจึงจะชอบด้วยวิธีพิจารณา
ธงคำตอบ
มาตรา 192 วรรคหก ถ้าความผิดตามที่ฟ้องนั้นรวมการกระทำหลายอย่าง แต่ละอย่างอาจเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง ศาลจะลงโทษจำเลยในการกระทำผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่พิจารณาได้ความก็ได้
วินิจฉัย
พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องว่า นายแดงจำเลยกระทำความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ นายแดงจำเลยให้การรับสารภาพ ศาลสั่งให้โจทก์สืบพยานประกอบคำรับสารภาพของจำเลย ในการพิจารณาและสืบพยานได้ความว่า การกระทำของนายแดงจำเลยเป็นเพียงความผิดฐานลักทรัพย์ เมื่อความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ประกอบด้วยการลักทรัพย์โดยใช้กริยาฉกฉวยเอาซึ่งหน้า ความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์จึงรวมการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ด้วย เมื่อศาลฟังว่าไม่เป็นความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ เพราะจำเลยไม่ได้ใช้กริยาฉกฉวยเอาซึ่งหน้าคงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ ศาลก็มีอำนาจลงโทษฐานลักทรัพย์ได้ ตามมาตรา 192 วรรคหก ดังนั้น ศาลพึงพิพากษาลงโทษนายแดงจำเลยในความผิดฐานลักทรัพย์ (ฎ. 191/2532 ฎ. 7953/2540)
สรุป ศาลพึงพิพากษาลงโทษนายแดงจำเลยในความผิดฐานลักทรัพย์
ข้อ 4 พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้เสียหายถึงแก่ความตาย (ระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปีและปรับไม่เกินสองหมื่นบาท) จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องพร้อมทั้งมีคำขอให้ศาลลงโทษสถานเบา และขอให้ศาลรอการลงโทษจำคุกด้วย ทั้งโจทก์และจำเลยต่างแถลงไม่ขอสืบพยาน
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้องโจทก์ ลงโทษจำคุก 4 ปี จำเลยรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดี ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงให้ลงโทษจำคุกจำเลย 2 ปี
ดังนี้ จำเลยจะอุทธรณ์ปัญหาข้อเท็จจริงว่า จำเลยไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้องโจทก์ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 15 วิธีพิจารณาข้อใดซึ่งประมวลกฎหมายนี้มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับเท่าที่พอจะใช้บังคับได้
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคแรก ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่จะยกขึ้นอ้างในการยื่นอุทธรณ์นั้นคู่ความจะต้องกล่าวไว้โดยชัดแจ้งในอุทธรณ์ และต้องเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ทั้งจะต้องเป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยด้วย
วินิจฉัย
การอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง แม้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาจะมิได้บัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่าต้องเป็นข้อเท็จจริงที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น เหมือนกับการอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมายตามมาตรา 195 วรรคสอง ที่ว่าข้อกฎหมายที่อุทธรณ์เป็นข้อกฎหมายที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นก็ตาม แต่อย่างไรก็ดี กรณีนี้ต้องนำ ป.วิ.พ. มาตรา 225 มาใช้บังคับโดยอนุโลม เป็นผลให้ปัญหาข้อเท็จจริงที่จะอุทธรณ์ต้องเป็นข้อเท็จจริงที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นด้วย (ฎ. 900/2509 (ประชุมใหญ่) ฎ. 1609/2535)
เมื่อได้ความว่าจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องในศาลชั้นต้นพร้อมทั้งขอให้ศาลลงโทษสถานเบา และขอให้รอการลงโทษจำคุก เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาแล้วจำเลยจะมาอุทธรณ์ว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้องโจทก์ไม่ได้ เพราะข้อเท็จจริงเรื่องนี้จำเลยไม่ได้ยกขึ้นต่อสู้ในศาลชั้นต้นมาก่อนจึงต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 ประกอบมาตรา 15
สรุป จึงเลยจึงอุทธรณ์ปัญหาข้อเท็จจริงว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้องโจทก์ไม่ได้