การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2551

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 3008 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 2 

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  ธนาคารสยาม  จำกัด  ฟ้องขอให้ลงโทษนายทรงสิทธิ์จำเลย  ฐานปลอมตั๋วเงิน  ใช้ตั๋วเงินปลอมและฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  265,  268  และ  341  (เฉพาะความผิดฐานฉ้อโกงตามมาตรา  341  เป็นความผิดต่อส่วนตัว)  โดยฟ้องถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ  ศาลมีคำสั่งให้นัดไต่สวนมูลฟ้องในวันที่  9  กรกฎาคม  2551  เวลา  9.00  น.  โจทก์ทราบวันนัดแล้ว  เจ้าพนักงานศาลปิดหมายนัดไต่สวนมูลฟ้องและสำเนาคำฟ้องที่บ้านจำเลยเมื่อวันที่  5  กรกฎาคม  2551  ซึ่งโจทก์ได้ทราบวันปิดหมายดังกล่าวแล้ว  ถึงวันนัดไต่สวนมูลฟ้องทนายจำเลยไปศาล  ทนายโจทก์เห็นว่าการส่งหมายนัดและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยยังไม่มีผลตามกฎหมายโจทก์และทนายโจทก์จึงไม่ไปศาล  ศาลจึงมีคำพิพากษายกฟ้อง

ต่อมาในวันที่  29  กรกฎาคม  2551  พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องนายทรงสิทธิ์ในความผิดเรื่องเดียวกัน  และข้อหาเดียวกันต่อศาลอีก  ศาลมีคำสั่งไม่รับฟ้องทุกฐานความผิด

ดังนี้  คำพิพากษายกฟ้องและคำสั่งไม่รับฟ้องของศาลชอบหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  166  ถ้าโจทก์ไม่มาตามกำหนดนัด  ให้ศาลยกฟ้องเสีย  แต่ถ้าศาลเห็นว่ามีเหตุสมควรจึงมาไม่ได้  จะสั่งเลื่อนคดีไปก็ได้

คดีที่ศาลได้ยกฟ้องดังกล่าวแล้ว  ถ้าโจทก์มาร้องภายในสิบห้าวัน  นับแต่วันศาลยกฟ้องนั้น  โดยแสดงให้ศาลเห็นได้ว่ามีเหตุสมควรจึงมาไม่ได้  ก็ให้ศาลยกคดีนั้นขึ้นไต่สวนมูลฟ้องใหม่

ในคดีที่ศาลยกฟ้องดังกล่าวแล้ว  จะฟ้องจำเลยในเรื่องเดียวกันนั้นอีกไม่ได้  แต่ถ้าศาลยกฟ้องเช่นนี้ในคดีซึ่งราษฎรเท่านั้นเป็นโจทก์  ไม่ตัดอำนาจพนักงานอัยการฟ้องคดีนั้นอีก  เว้นแต่จะเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัว

วินิจฉัย

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่า  คำพิพากษายกฟ้องของศาลชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เห็นว่า  ตามบทบัญญัติมาตรา  166  วรรคแรก  ได้กำหนด

หน้าที่ของโจทก์ไว้ว่า  ในวันไต่สวนมูลฟ้องโจทก์จะต้องมาศาลตามกำหนดนัด  มิฉะนั้นก็ให้ศาลยกฟ้องเสีย  เว้นแต่จะมีเหตุสมควร  ศาลจึงจะเลื่อนคดี

ไป  จากบทบัญญัติดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายที่จะเร่งรัดการดำเนินกระบวนพิจารณาให้เป็นไปโดยสะดวกและรวดเร็วมิให้มีการประวิงคดี  จึงกำหนดมาตรการดังกล่าวเพื่อให้โจทก์ปฏิบัติตามโดยเคร่งครัด  มิฉะนั้นย่อมเสี่ยงต่อการที่จะถูกยกฟ้อง  อันเป็นผลเสียต่อคดีของโจทก์เอง  ซึ่งข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า  ศาลมีคำสั่งให้นัดไต่สวนมูลฟ้อง  ในวันที่  9  กรกฎาคม  พ.ศ. 2551  เวลา  9.00 น.  และโจทก์ก็ทราบนัดโดยชอบแล้ว  กรณีเช่นนี้  โจทก์ก็มีหน้าที่ต้องไปศาลตามกำหนดนัด  แต่กลับไม่มีผู้ใดมาศาลโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้องหรือขอเลื่อนคดี  

ถึงแม้จะปรากกข้อเท็จจริงว่า  การส่งหมายนัดและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยโดยวิธีปิดหมายยังไม่มีผลใช้ได้ตามกฎหมายก็หาทำให้โจทก์หมดหน้าที่ที่จะต้องไปศาลตามกำหนดนัดไม่  เมื่อโจทก์และทนายโจทก์ไม่มาศาล  การที่ศาลพิพากษายกฟ้องจึงชอบแล้ว  (ฎ. 2085/2547)

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการต่อมามีว่า  คำสั่งไม่รับฟ้องของศาลชอบหรือไม่  เห็นว่า  ตามมาตรา  166  วรรคสาม  บัญญัติว่า  ในคดีที่ศาลยกฟ้องดังกล่าวแล้ว  จะฟ้องจำเลยในเรื่องเดียวกันนั้นอีกไม่ได้  แต่ถ้าศาลยกฟ้องเช่นนี้ในคดีซึ่งราษฎรเท่านั้นเป็นโจทก์  ไม่ตัดอำนาจพนักงานอัยการฟ้องคดีนั้นอีก  เว้นแต่จะเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัว  ซึ่งตามข้อเท็จจริงดังกล่าวการที่ธนาคารสยาม  จำกัด  ซึ่งถือว่าเป็นราษฎรเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายทรงสิทธิ์เป็นจำเลยในความผิด  ตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  265  มาตรา  268  และมาตรา  341  และศาลยกฟ้อง  ปัญหาจึงมีว่า  เมื่อพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องนายทรงสิทธิ์ในความผิดเรื่องเดียวกันและข้อหาเดียวกันต่อศาลอีก  ความผิดฐานใดจะฟ้องนายทรงสิทธิ์ได้อีก  ซึ่งแยกพิจารณาดังนี้

ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  265  และมาตรา  268  ไม่ใช่ความผิดต่อส่วนตัวศาลยกฟ้องเช่นนี้ในคดีที่ราษฎรเป็นโจทก์  ไม่ตัดอำนาจพนักงานอัยการฟ้องคดีนั้นอีก  พนักงานอัยการจึงมีอำนาจฟ้องนายทรงสิทธิ์ได้อีก  ที่ศาลมีคำสั่งไม่รับฟ้อง  2  ฐานนี้จึงไม่ชอบ

ส่วนความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  341  เป็นความผิดต่อส่วนตัว  เมื่อศาลยกฟ้องเช่นนี้ในคดีที่ราษฎรเป็นโจทก์  จึงตัดอำนาจพนักงานอัยการ  พนักงานอัยการจึงไม่มีอำนาจฟ้องนายทรงสิทธิ์อีก  ที่ศาลมีคำสั่งไม่รับฟ้องในฐานความผิดนี้จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

สรุป  คำพิพากษายกฟ้องของศาลชอบด้วยกฎหมายแล้ว  ส่วนคำสั่งไม่รับฟ้องความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  265  และมาตรา  268  ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  และคำสั่งไม่รับฟ้องในความผิด  ตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  341  ชอบด้วยกฎหมายแล้ว

 

ข้อ  2  คดีอาญาเรื่องหนึ่ง  พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องว่านายเจษฎากระทำความผิดฐานลักทรัพย์หรือรับของโจร  ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  334  หรือมาตรา  357  วรรคแรก  โดยพนักงานอัยการโจทก์บรรยายฟ้องว่ามีคนร้ายลักรถยนต์ของผู้เสียหายไป  ต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจจับนายเจษฎาได้พร้อมด้วยรถยนต์ของกลาง  ทั้งนี้โดยนายเจษฎาเป็นผู้ลักทรัพย์นั้นมาหรือรับทรัพย์นั้นไว้โดยรู้ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำผิดกฎหมาย  (ฟ้องสมบูรณ์ตามกฎหมายทุกประการ)

ในชั้นพิจารณา  นายเจษฎาจำเลยให้การรับสารภาพว่าได้กระทำความผิดตามฟ้อง  ขอให้ศาลปราณีลดโทษให้ด้วย  โจทก์แถลงว่าไม่ติดใจสืบพยาน  เช่นนี้  ศาลจะพิพากษาหรือสั่งอย่างไร  เพราะเหตุใด

หมายเหตุ  ความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  334  ระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี  และปรับไม่กินหกพันบาท

ความผิดฐานรับของโจรตามประมวลกฎหมายอาญา  ตามมาตรา  357  วรรคแรก  ระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

ธงคำตอบ

มาตรา  176  ในชั้นพิจารณาถ้าจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง  ศาลจะพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปก็ได้  เว้นแต่คดีที่มีข้อหาในความผิดซึ่งจำเลยรับสารภาพนั้น  กฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไป  หรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น  ศาลต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำผิดจริง

ในคดีที่มีจำเลยหลายคน  และจำเลยบางคนรับสารภาพ  เมื่อศาลเห็นสมควรจะสั่งจำหน่ายคดี  สำหรับจำเลยที่ปฏิเสธเพื่อให้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ปฏิเสธนั้น  เป็นคดีใหม่ภายในเวลาที่ศาลกำหนดก็ได้

วินิจฉัย

ในกรณีที่คำรับสารภาพของจำเลยไม่ชัดเจนพอที่ฟังได้ว่า  จำเลยรับสารภาพว่าได้กระทำความผิดฐานใด  กรณีเช่นนี้จะลงโทษจำเลยไม่ได้  เป็นหน้าที่โจทก์ที่ต้องนำสืบว่าจำเลยกระทำความผิดฐานใด  หากโจทก์ไม่ประสงค์จะนำสืบต่อไป  ศาลก็ต้องพิพากษายกฟ้อง  (ฎ. 6742/2548,  ฎ.  758/2534)

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า  ศาลจะพิพากษาหรือสั่งอย่างไร  เห็นว่า  พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานลักทรัพย์หรือรับของโจร  นายเจษฎาจำเลยให้การรับสารภาพว่าได้กระทำความผิดตามฟ้อง  คำให้การของจำเลยดังกล่าว  นี้ยังไม่ชัดเจนพอที่ฟังได้ว่า  จำเลยรับสารภาพว่าได้กระทำความผิดฐานใดระหว่างลักทรัพย์หรือรับของโจร  ในกรณีเช่นนี้  โจทก์ยังต้องสืบพยานให้ได้ความถึงการกระทำความผิดของจำเลย  แต่เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะนำสืบพยานต่อไป  ศาลจึงพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานใดไม่ได้  ศาลต้องพิพากษายกฟ้อง  (ฎ. 711/2528 , ฎ. 3866/2531 , ฎ. 158/2534)

สรุป  ศาลจะต้องยกฟ้อง

 

ข้อ  3  โจทก์บรรยายฟ้องและมีคำขอให้ลงโทษจำเลยฐานยักยอก  ข้อเท็จจริงจากการสืบพยานได้ความว่า  จำเลยกระทำผิดฐานวิ่งราวทรัพย์  และจำเลยไม่ได้หลงต่อสู้

ดังนี้  ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานใดได้หรือไม่  เพียงใด

หมายเหตุ  ความผิดฐานลักทรัพย์  ระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี  และปรับไม่เกินหกพันบาท

ความผิดฐานยักยอก  ระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี  หรือปรับไม่เกินหกพันบาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ

ความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์  ระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี  และปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท

ธงคำตอบ

มาตรา  192  วรรคแรก  วรรคสองและวรรคสาม  ห้ามมิให้พิพากษา  หรือสั่งเกินคำขอ  หรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง

ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง  ให้ศาลยกฟ้องคดีนั้น  เว้นแต่ข้อแตกต่างนั้นมิใช่ในข้อสาระสำคัญและทั้งจำเลยมิได้หลงต่อสู้  ศาลจะลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นก็ได้

ในกรณีที่ข้อแตกต่างนั้นเป็นเพียงรายละเอียด  เช่น  เกี่ยวกับเวลาหรือสถานที่กระทำความผิดหรือต่างกันระหว่างการกระทำผิดฐานลักทรัพย์  กรรโชก  รีดเอาทรัพย์  ฉ้อโกง  โกงเจ้าหนี้  ยักยอก  รับของโจร  และทำให้เสียทรัพย์  หรือต่างกันระหว่างการกระทำผิดโดยเจตนากับประมาท  มิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญทั้งนี้มิให้ถือว่าข้อที่พิจารณาได้ความนั้นเป็นเรื่องเกินคำขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ  เว้นแต่จะปรากฏแก่ศาลว่าการที่ฟ้องผิดไปเป็นเหตุให้จำเลยหลงต่อสู้  แต่ทั้งนี้ศาลจะลงโทษจำเลยเกินอัตราโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดที่โจทก์ฟ้องไม่ได้

วินิจฉัย

ตามมาตรา  192  วรรคสอง  ได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า  ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้อง  โดยหลักให้ศาลยกฟ้องคดีนั้น  เว้นแต่ข้อแตกต่างนั้นมิใช่ในข้อสาระสำคัญ  และจำเลยมิได้หลงต่อสู้  ในกรณีเช่นนี้  ศาลจะลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นก็ได้

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า  ศาลจะลงโทษจำเลยในความผิดฐานใดได้หรือไม่เพียงใด  เห็นว่า  การที่โจทก์บรรยายฟ้อง  และมีคำขอให้ลงโทษจำเลยฐานยักยอก  ข้อเท็จจริงจากการสืบพยานได้ความว่า  จำเลยกระทำความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์  จึงเป็นกรณีที่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำฟ้อง

ความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ที่พิจารณาได้ความ  เป็นการลักทรัพย์โดยฉกฉวยเอาซึ่งหน้า  เมื่อความผิดฐานยักยอกกับความผิดฐานลักทรัพย์ถือว่าเป็นข้อแตกต่างที่มิใช่ข้อสาระสำคัญ  ดังนั้น  ระหว่างความผิดฐานยักยอกกับความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์จึงถือว่าเป็นข้อแตกต่างที่ไม่ใช่สาระสำคัญเช่นเดียวกัน  เมื่อจำเลยไม่ได้หลงต่อสู้  ศาลจึงพิพากษาลงโทษจำเลยฐานวิ่งราวทรัพย์  ตามที่พิจารณาได้ความได้  ตามมาตรา  192  วรรคสอง

แต่อย่างไรก็ดี  ตามมาตรา  192  วรรคสาม  ห้ามมิให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยเกินอัตราโทษของฐานความผิดที่ฟ้อง  เมื่อความผิดฐานยักยอกที่ฟ้องมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน  3  ปี  หรือปรับไม่เกิน  6,000  บาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ  ศาลจึงพิพากษาลงโทษจำเลยเกินกว่ากำหนดดังกล่าวไม่ได้

ดังนั้นกรณีนี้ศาลจึงต้องพิพากษาลงโทษจำเลยฐานวิ่งราวทรัพย์  แต่ลงโทษจำเลยได้เพียงจำคุกไม่เกิน  3  ปี  หรือปรับไม่เกิน  6,000 บาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ

สรุป  ศาลต้องพิพากษาลงโทษจำเลยฐานวิ่งราวทรัพย์  แต่ลงโทษจำเลยได้เพียงจำคุกไม่เกิน  3  ปี  หรือปรับไม่เกิน  6,000  บาท  หรืออทั้งจำทั้งปรับ

 

ข้อ  4  พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์  ตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  334  ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานลักทรัพย์  ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา  334  ลงโทษจำคุก  6  เดือน  โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ให้มีกำหนด  1  ปี  โจทก์อุทธรณ์ขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยให้หนักขึ้น  ส่วนจำเลยอุทธรณ์ขอให้ศาลพิพากษายกฟ้อง

ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วพิพากษาว่า  จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  334  ลงโทษจำคุก  3  เดือน  โดยไม่รอการลงโทษ

ดังนี้  จำเลยจะฎีกาขอให้ศาลยกฟ้องได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  218  ในคดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลล่างหรือเพียงแต่แก้ไขเล็กน้อย  และให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี  หรือปรับหรือทั้งจำทั้งปรับแต่โทษจำคุกไม่เกินห้าปีห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ในคดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลล่างหรือเพียงแต่แก้ไขเล็กน้อยและให้ลงโทษจำคุกจำเลยเกินห้าปี  ไม่ว่าจะมีโทษอย่างอื่นด้วยหรือไม่  ห้ามมิให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

มาตรา  219   ในคดีที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ  ถ้าศาลอุทธรณ์ยังคงลงโทษจำเลยไม่เกินกำหนดที่ว่ามานี้ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง  แต่ข้อห้ามนี้มิให้ใช้แก่จำเลยในกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขมากและเพิ่มเติมโทษจำเลย

วินิจฉัย

การที่จำเลยฎีกาขอให้ศาลยกฟ้องถือเป็นฎีกาในปัญหาที่สืบเนื่องจากการที่ศาลอุทธรณ์ใช้ดุลพินิจลงโทษจำคุกจำเลย  3  เดือน  ฎีกาของจำเลยจึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า  จำเลยมีความผิดฐานลักทรัพย์  ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา  334  ลงโทษจำคุก  6  เดือน  โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด  1  ปี  และศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยมีความผิด  ตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  334  ลงโทษจำคุก  3  เดือน  โดยไม่รอการลงโทษ  เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์เปลี่ยนโทษจำคุกที่ศาลชั้นต้นรอการลงโทษมาเป็นโทษจำคุก  จึงถือว่าเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขมาก  จึงไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง  ตามมาตรา  218  แต่ก็ต้องพิจารณาตามมาตรา  219  ต่อไป

เมื่อพิจารณาตามมาตรา  219  แล้วได้ความว่า  การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ต่างพิพากษาลงโทษจำคุกไม่เกิน  2  ปี  หรือปรับไม่เกิน  40,000  บาท  ตามมาตรา  219  ห้ามคู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง  แต่มีข้อยกเว้นให้จำเลยฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงได้  ในกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขมากและเพิ่มเติมโทษจำเลยด้วย

ตามปัญหาข้อเท็จจริงดังกล่าว  แม้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย  แต่ก็มีเงื่อนไขให้รอการลงโทษจำคุก  ซึ่งเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่า  คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ลงโทษจำเลย  3  เดือน  กรณีถือว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย

เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขมาก  และเพิ่มเติมโทษจำเลยด้วย  จำเลยจึงฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงได้ตามมาตรา  219

สรุป  จำเลยฎีกาขอให้ศาลยกฟ้องได้

Advertisement