การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2560

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3008 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 2

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้าน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. นายเอกร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนว่านายโทลักเอารถยนต์ของตนไปโดยทุจริต แต่เห็นว่าพนักงานสอบสวนดําเนินคดีล่าช้าถึงเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายโทด้วยตนเอง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมาย อาญามาตรา 334 ซึ่งเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ปรากฏว่านายเอกไม่มาศาลในวันนัดไต่สวนมูลฟ้อง ศาลจึงมีคําพิพากษายกฟ้องของนายเอก ต่อมาคดีเรื่องเดียวกันนี้ที่นายเอกร้องทุกข์ไว้ต่อพนักงาน สอบสวน เมื่อพนักงานสอบสวนทําการสอบสวนเสร็จแล้ว พนักงานอัยการเห็นว่าพยานหลักฐานที่ รวบรวมมาการกระทําของนายโทเป็นความผิดฐานฉ้อโกง ซึ่งเป็นความผิดต่อส่วนตัว พนักงานอัยการ จึงเป็นโจทก์ยื่นฟ้องจําเลยในเรื่องเดียวกันนี้อีก ขอให้ลงโทษฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่านายธรรมผู้พิพากษาเวรรับฟ้องเมื่อตรวจคําฟ้องแล้วจะพิจารณาสั่งคําฟ้องของพนักงานอัยการโจทก์อย่างไร เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 161 วรรคหนึ่ง “ถ้าฟ้องไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ให้ศาลสั่งโจทก์แก้ฟ้องให้ถูกต้อง หรือยกฟ้องหรือไม่ประทับฟ้อง”

มาตรา 166 “ถ้าโจทก์ไม่มาตามกําหนดนัด ให้ศาลยกฟ้องเสีย แต่ถ้าศาลเห็นว่ามีเหตุสมควร ยังมาไม่ได้ จะสั่งเลื่อนคดีไปก็ได้

คดีที่ศาลได้ยกฟ้องดังกล่าวแล้ว ถ้าโจทก์มาร้องภายในสิบห้าวันนับแต่วันศาลยกฟ้องนั้น โดย แสดงให้ศาลเห็นได้ว่ามีเหตุสมควรจึงมาไม่ได้ ก็ให้ศาลยกคดีนั้นขึ้นไต่สวนมูลฟ้องใหม่

ในคดีที่ศาลยกฟ้องดังกล่าวแล้ว จะฟ้องจําเลยในเรื่องเดียวกันนั้นอีกไม่ได้ แต่ถ้าศาลยกฟ้องเช่นนี้ ในคดีซึ่งราษฎรเท่านั้นเป็นโจทก์ ไม่ตัดอํานาจพนักงานอัยการฟ้องคดีนั้นอีก เว้นแต่จะเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัว”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ เมื่อนายเอกโจทก์ไม่มาศาลในวันนัดไต่สวนมูลฟ้อง การที่ศาลมีคําพิพากษา ยกฟ้องของนายเอกจึงเป็นการยกฟ้องตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 166 วรรคหนึ่ง ซึ่งย่อมเกิดผลตามมาตรา 166 วรรคสาม คือจะฟ้องจําเลยในเรื่องเดียวกันนั้นอีกไม่ได้ แต่ถ้าศาลยกฟ้องเช่นนี้ในคดีซึ่งราษฎรเท่านั้นเป็นโจทก์ ไม่ตัดอํานาจ พนักงานอัยการฟ้องคดีนั้นอีก เว้นแต่จะเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัว

การที่นายเอกร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนกล่าวหาว่านายโทลักทรัพย์และเป็นโจทก์ฟ้องนายโท ในข้อหาลักทรัพย์ตาม ป.อาญา มาตรา 334 ซึ่งเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ซึ่งเป็นกรณีที่นายเอกราษฎรเท่านั้น เป็นโจทก์และถูกศาลพิพากษายกฟ้องตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 166 วรรคหนึ่ง จะไม่ตัดอํานาจพนักงานอัยการใน การฟ้องคดีนี้อีกก็ตาม แต่เมื่อพนักงานอัยการพิจารณาสํานวนการสอบสวนแล้วเห็นว่าพยานหลักฐานที่รวบรวมมานั้น การกระทําผิดของนายโทเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อาญา มาตรา 341 ซึ่งเป็นความผิดต่อส่วนตัว และเป็นโจทก์

ยื่นฟ้องนายโทในฐานความผิดดังกล่าว พนักงานอัยการจึงถูกตัดอํานาจฟ้องนายโทจําเลยในเรื่องเดียวกันนั้นอีก ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 166 วรรคสาม ดังนั้น เมื่อนายธรรมผู้พิพากษาเวรได้รับฟ้องและตรวจคําฟ้องแล้ว ย่อมมีอํานาจตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 161 วรรคหนึ่ง คือมีคําสั่งยกฟ้องของพนักงานอัยการโจทก์ เพราะฟ้องของ พนักงานอัยการโจทก์ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย

สรุป นายธรรมผู้พิพากษาเวรจะต้องมีคําสั่งยกฟ้องของพนักงานอัยการโจทก์

 

ข้อ 2. พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจําเลยในข้อหาความผิดฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 ซึ่งมีระวางโทษจําคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี และปรับตั้งแต่ สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท ในวันนัดพิจารณา โจทก์ จําเลย และทนายจําเลยมาศาล จําเลยแถลง ต่อศาลชั้นต้นว่าทนายจําเลยกลับไปก่อนเนื่องจากนัดพบลูกความเรื่องอื่นไว้ ศาลชั้นต้นได้อ่านและ อธิบายฟ้องให้จําเลยฟัง จําเลยแถลงว่าจะขอปรึกษากับทนายความก่อนโดยจะขอให้การนัดในนัดหน้า หากนัดหน้าจําเลยไม่ให้การให้ถือว่าจําเลยรับสารภาพ ศาลชั้นต้นให้เลื่อนไปนัดสอบถามคําให้การ จําเลยและนัดสืบพยานโจทก์ในนัดหน้า เมื่อถึงวันนัดหน้า โจทก์และจําเลยมาศาล ส่วนทนายจําเลย ไม่มาศาล จําเลยแถลงต่อศาลชั้นต้นว่ายังไม่ได้พบกับทนายจําเลยและไม่พร้อมที่จะให้การในวันนี้ ศาลชั้นต้นมีคําสั่งให้ถือว่าจําเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ให้วินิจฉัยว่า การดําเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นดังต่อไปนี้ชอบหรือไม่

(1) ศาลชั้นต้นอ่านและอธิบายฟ้องให้จําเลยฟังโดยไม่มีทนายความของจําเลยอยู่ด้วย

(2) คําสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้ถือว่าจําเลยให้การรับสารภาพ

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 172 วรรคสอง “เมื่อโจทก์หรือทนายโจทก์และจําเลยมาอยู่ต่อหน้าศาลแล้ว และ ศาลเชื่อว่าเป็นจําเลยจริง ให้อ่านและอธิบายฟ้องให้จําเลยฟัง และถามว่าได้กระทําผิดจริงหรือไม่ จะให้การต่อสู้ อย่างไรบ้าง คําให้การของจําเลยให้จดไว้ถ้าจําเลยไม่ยอมให้การ ก็ให้ศาลจดรายงานไว้และดําเนินการพิจารณาต่อไป”

มาตรา 173 วรรคสอง “ในคดีที่มีอัตราโทษจําคุก ก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามจําเลยว่า มีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีและจําเลยต้องการทนายก็ให้ศาลตั้งทนายความให้”

วินิจฉัย

โดยหลัก ในการพิจารณาคดีอาญาที่มีอัตราโทษจําคุกนั้น ก่อนที่ศาลจะเริ่มทําการพิจารณาคดี ชาลต้องถามจําเลยก่อนว่ามีทนายความหรือไม่ ซึ่งถ้าจําเลยไม่มีและต้องการทนายความ ศาลก็ต้องตั้งทนายความให้ . ฉะนั้นกระบวนพิจารณาคดีของศาลชั้นต้นนั้นจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย (ป.วิ.อาญา มาตรา 173 วรรคสอง) ซึ่งคําว่า ก่อนเริ่มพิจารณา หมายความว่า ก่อนที่ศาลจะเริ่มพิจารณาโดยอ่านและอธิบายฟ้องให้จําเลยฟังและสอบถาม คําให้การจําเลยในคดีที่โจทก์ฟ้องตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 172 วรรคสองนั่นเอง

กรณีตามอุทาหรณ์ การดําเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้

(1) การที่พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจําเลยในข้อหาความผิดฐานลักทรัพย์ นะเลากลางคืนตาม ป.อาญา มาตรา 335 ซึ่งเป็นคดีที่มีอัตราโทษจําคุก เมื่อจําเลยมีทนายความแล้ว แม้ทนายจําเลยได้มาอยู่ต่อหน้าศาลในเวลาที่ศาลอ่านและอธิบายฟ้องให้จําเลยฟัง ก็ไม่ทําให้กระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น เสียไป อีกทั้งกฎหมายก็มิได้บัญญัติให้ทนายจําเลยจะต้องมาอยู่ต่อหน้าศาลด้วยในเวลาที่ศาลอ่านและอธิบายฟ้อง

จําเลยฟัง ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นอ่านและอธิบายฟ้องให้จําเลยฟังโดยไม่มีทนายความของจําเลยอยู่ด้วย จึงชอบด้วยกฎหมายตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 172 วรรคสอง และมาตรา 173 วรรคสอง

(2) ตาม ป.วิอาญา มาตรา 172 วรรคสอง ได้กําหนดไว้ว่า เมื่อศาลชั้นต้นได้อ่านและ อธิบายฟ้องให้จําเลยฟังแล้ว ให้ศาลถามจําเลยว่าได้กระทําผิดจริงหรือไม่ จะให้การต่อสู้อย่างไรบ้าง คําให้การ ของจําเลยให้จดไว้ ถ้าจําเลยไม่ยอมให้การ ก็ให้ศาลจดรายงานไว้และดําเนินการพิจารณาต่อไป ย่อมแสดงว่า การที่จําเลยจะให้การหรือไม่ให้การเป็นสิทธิของจําเลย การที่จําเลยแถลงต่อศาลชั้นต้นในนัดก่อนว่าจะให้การ ในนัดหน้า แม้นัดหน้าต่อมาจําเลยแถลงว่ายังไม่ได้พบทนายจําเลยและไม่พร้อมที่จะให้การในวันนี้ ย่อมมีผลเท่ากับ จําเลยไม่ยอมให้การ กรณีเช่นนี้ศาลชั้นต้นมีหน้าที่ต้องจดรายงานไว้และดําเนินการพิจารณาต่อไปโดยถือว่า จําเลยให้การปฏิเสธ (คําพิพากษาฎีกาที่ 7607/2542, 7972/2554)

ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นมีคําสั่งให้ถือว่า จําเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สรุป

(1) การที่ศาลชั้นต้นอ่านและอธิบายฟ้องให้จําเลยฟังโดยไม่มีทนายความของจําเลยอยู่ด้วยชอบด้วยกฎหมาย

(2) คําสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้ถือว่าจําเลยให้การรับสารภาพไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ 3. (ก) คดีแรก โจทก์ฟ้องว่าจําเลยฆ่านายแก้วตายโดยเจตนา ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 ทางพิจารณาฟังได้ว่า จําเลยเจตนาจะยิงนายแก้วซึ่งเป็นคู่แฝดกับนายตา แต่ใช้อาวุธปืนยิงนายตาโดยสําคัญผิดตัว เป็นเหตุให้นายตาถึงแก่ความตาย

(ข) คดีหลัง โจทก์ฟ้องว่าจําเลยฆ่านายเอกตายโดยเจตนา ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 ทางพิจารณาฟังได้ว่า จําเลยใช้อาวุธปืนยิงนายเอก 1 นัด กระสุนปืนไม่ถูกนายเอกแต่พลาดไปถูกนายโทตาย ทั้งสองคดีดังกล่าว หากไม่ปรากฏว่าจําเลยในแต่ละคดีหลงต่อสู้ให้วินิจฉัยว่าศาลจะพิพากษาลงโทษ จําเลยในแต่ละคดีดังกล่าวได้หรือไม่ เพียงใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 192 วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคหก “ห้ามมิให้พิพากษา หรือสั่งเกินคําขอ หรือ ที่มิได้กล่าวในฟ้อง

ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง ให้ศาลยกฟ้องคดีนั้น เว้นแต่ข้อแตกต่างนั้นมิใช่ในข้อสาระสําคัญและทั้งจําเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลจะลงโทษจําเลย ตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นก็ได้

ถ้าความผิดตามที่ฟ้องนั้นรวมการกระทําหลายอย่าง แต่ละอย่างอาจเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง ศาลจะลงโทษจําเลยในการกระทําผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่พิจารณาได้ความก็ได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

(ก) คดีแรก การที่โจทก์ฟ้องว่าจําเลยฆ่านายแก้วตายโดยเจตนา แต่ในทางพิจารณาฟังได้ว่า จําเลยเจตนาจะยิงนายแก้วซึ่งเป็นคู่แฝดกับนายตา แต่ได้ใช้อาวุธปืนยิงนายตาโดยสําคัญผิดตัวเป็นเหตุให้นายตา ถึงแก่ความตายนั้น แม้ตาม ป.อาญา มาตรา 61 จําเลยจะยกเอาความสําคัญผิดเป็นข้อแก้ตัวว่ามิได้กระทําโดย เจตนาไม่ได้ก็ตาม แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจําเลยฆ่านายแก้วตาย แต่ทางพิจารณาได้ความว่าจําเลยฆ่านายตาตาย ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณาจึงแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้องในข้อสาระสําคัญ เพราะแตกต่างกัน ในตัวบุคคลที่เป็นวัตถุแห่งการกระทํา ดังนั้น แม้จําเลยจะไม่หลงต่อสู้ ศาลก็จะพิพากษาลงโทษจําเลยไม่ได้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 192 วรรคสอง

(ข) คดีหลัง การที่โจทก์ฟ้องว่าจําเลยฆ่านายเอกตายโดยเจตนา แต่ในทางพิจารณาฟังได้ว่า จําเลย ใช้อาวุธปืนยิงนายเอก 1 นัด กระสุนปืน ม่ถูกนายเอกแต่พลาดไปถูกนายโทตายนั้น ข้อเท็จจริงที่ได้ความจากทาง พิจารณาจึงฟังได้ว่า จําเลยมีความผิดฐานพยายามฆ่านายเอกตาม ป.อาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 บทหนึ่ง และผิดฐานฆ่านายโทตายโดยพลาดตาม ป.อาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 60 อีกบทหนึ่ง

สําหรับความผิดบทเรกฐานพยายามฆ่านายเอกนั้น ตัวบุคคลซึ่งเป็นวัตถุแห่งการกระทําตามที่ โจทก์ฟ้องและที่พิจารณาได้ความไม่แตกต่างกัน อีกทั้งความผิดตามฟ้องฐานฆ่าผู้อื่นรวมการกระทําความผิด ฐานพยายามฆ่าซึ่งเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเองด้วย ดังนั้น ศาลจึงมีอํานาจที่จะพิพากษาลงโทษจําเลยในความผิด ฐานพยายามฆ่านายเอกตาม ป.อาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 ตามที่พิจารณาได้ความได้ (ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 192 วรรคหก)

ส่วนความผิดฐานฆ่านายโทตายโดยพลาดอีกบทหนึ่งนั้น เมื่อตัวบุคคลอันเป็นวัตถุแห่งการกระทํา ตามที่พิจารณาได้ความคือนายโทเป็นบุคคลคนละคนกับนายเอกตามที่โจทก์บรรยายมาในฟ้อง ข้อเท็จจริงที่ ได้ความจากทางพิจารณาจึงแตกต่างจากฟ้องในข้อสาระสําคัญ ดังนั้น แม้จําเลยจะไม่หลงต่อสู้ ศาลก็จะพิพากษา ลงโทษจําเลยในความผิดบทนี้ไม่ได้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 192 วรรคสอง

สรุป

(ก) คดีแรก ศาลจะพิพากษาลงโทษจําเลยในความผิดตามฟ้องไม่ได้

(ข) คดีหลัง ศาลพิพากษาลงโทษจําเลยในความผิดฐานพยายามฆ่านายเอกได้ แต่จะพิพากษาลงโทษจําเลยในความผิดฐานฆ่านายโทตายโดยพลาดไม่ได้

 

ข้อ 4. นายศีลบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของเด็กชายบุญเป็นโจทก์ฟ้องว่านายเอกจําเลยที่ 1 และนายโทจําเลยที่ 2 ร่วมกันพยายามฆ่าเด็กชายบุญผู้เสียหายขอให้ศาลลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80 จําเลยทั้งสองให้การปฏิเสธว่าไม่ได้กระทําผิดตามฟ้อง ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว วินิจฉัยว่าพยานหลักฐานของโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจําเลยทั้งสองพยายามฆ่าเด็กชายบุญผู้เสียหาย แต่ฟังได้ว่า จําเลยที่ 2 ทําร้ายร่างกายผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 โดยจําเลยที่ 1 ไม่ได้ร่วมกระทําความผิดกับจําเลยที่ 2 พิพากษาจําคุกจําเลยที่ 2 มีกําหนด 7 ปี ส่วนจําเลยที่ 1 พิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ว่าจําเลยทั้งสองกระทําผิดฐานพยายามฆ่าเด็กชายบุญ ขอให้ลงโทษตามฟ้อง นายโทจําเลยที่ 2 อุทธรณ์ว่าไม่ได้กระทําผิดฐานทําร้ายร่างกายผู้เสียหาย ได้รับอันตรายสาหัสขอให้พิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าอุทธรณ์ของโจทก์และจําเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน โจทก์ฎีกาว่าพยานหลักฐานของโจทก์ฟังได้ว่าจําเลยทั้ง 2 กระทําความผิดฐานพยายามฆ่าเด็กชายบุญ ขอให้ลงโทษตามฟ้องโดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกาได้ สวนนายโทจําเลยที่ 2 ฎีกาว่าไม่ได้กระทําผิด ฐานทําร้ายร่างกายผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัสขอให้ยกฟ้อง ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่าศาลชั้นต้นจะมีคําสั่งรับฎีกาของโจทก์และจําเลยที่ 2 ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด จงอธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 216 วรรคหนึ่ง “ภายใต้บังคับแห่งมาตรา 217 ถึง 221 คู่ความมีอํานาจฎีกาคัดค้าน คําพิพากษา หรือคําสั่งศาลอุทธรณ์ภายในหนึ่งเดือน นับแต่วันอ่าน หรือถือว่าได้อ่านคําพิพากษาหรือคําสั่งนั้น ให้คู่ความฝ่ายที่ฎีกาฟัง”

มาตรา 218 “ในคดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลล่างหรือเพียงแต่แก้ไขเล็กน้อย และ ให้ลงโทษจําคุกจําเลยไม่เกินห้าปี หรือปรับหรือทั้งจําทั้งปรับ แต่โทษจําคุกไม่เกินห้าปี ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหา ข้อเท็จจริง

ในคดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลล่างหรือเพียงแต่แก้ไขเล็กน้อยและให้ลงโทษจําคุก จําเลยเกินห้าปี ไม่ว่าจะมีโทษอย่างอื่นด้วยหรือไม่ ห้ามมิให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง”

มาตรา 220 “ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในคดีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์”

มาตรา 221 “ในคดีซึ่งห้ามฎีกาไว้โดยมาตรา 218 219 และ 220 แห่งประมวลกฎหมายนี้ ถ้าผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคําพิพากษาหรือทําความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ วิเคราะห์เห็นว่าข้อความที่ตัดสินนั้น เป็นปัญหาสําคัญอันควรสู่ศาลสูงสุดและอนุญาตให้ฎีกา หรืออธิบดีกรมอัยการ ลงลายมือชื่อรับรองในฎีกาว่ามีเหตุอันควรที่ศาลสูงสุดจะได้วินิจฉัย ก็ให้รับฎีกานั้นไว้พิจารณาต่อไป”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ ศาลชั้นต้นจะมีคําสั่งรับฎีกาของโจทก์และจําเลยที่ 2 ได้หรือไม่ แยก วินิจฉัยได้ดังนี้

กรณีของโจทก์ การที่โจทก์ฎีกาขอให้ศาลลงโทษจําเลยทั้งสองฐานพยายามฆ่า ด.ช.บุญ ผู้เสียหายตามคําฟ้องนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ข้อหาความผิดนี้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ได้พิพากษา ยกฟ้อง โจทก์คู่ความจึงต้องห้ามฎีกาทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและปัญหาข้อกฎหมายตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 220 (เทียบคําพิพากษาฎีกาที่ 492/2536) ดังนั้น การที่โจทก์ฎีกาว่าพยานหลักฐานของโจทก์ฟังได้ว่าจําเลยทั้งสอง กระทําความผิดฐานพยายามฆ่า ด.ช.บุญ ขอให้ลงโทษตามฟ้องเป็นการโต้แย้งดุลพินิจของศาลในการรับฟัง พยานหลักฐาน จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง โจทก์จึงถูกต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 220

แต่อย่างไรก็ดีเมื่ออัยการสูงสุดได้รับรองให้ฎีกาได้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 221 ทั้งบทบัญญัติ ดังกล่าวมิได้จํากัดว่าคดีที่อัยการสูงสุดจะรับรองให้ฎีกาได้นั้นจะต้องเป็นคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์เท่านั้น อัยการสูงสุดย่อมมีอํานาจรับรองให้ฎีกาในความผิดที่ผู้เสียหายเป็นโจทก์ได้ด้วย ดังนั้น กรณีนี้ศาลชั้นต้นจึงสามารถ รับฎีกาของโจทก์ได้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 220 ประกอบมาตรา 221

กรณีของนายโทจําเลยที่ 2 การที่นายโทจําเลยที่ 2 ฎีกาว่าไม่ได้กระทําผิดฐานทําร้ายร่างกาย ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัสขอให้ยกฟ้องนั้น เป็นการโต้แย้งดุลพินิจของศาลในการรับฟังพยานหลักฐาน จึงเป็น การฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง การที่ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่าจําเลยที่ 2 ทําร้ายร่างกายผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัส ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 297 พิพากษาลงโทษจําคุก 7 ปี และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนนั้น เมื่อศาลอุทธรณ์ พิพากษายืนและลงโทษจําคุกจําเลยที่ 2 เกิน 5 ปี กรณีจึงต้องด้วย ป.วิ.อาญา มาตรา 218 วรรคสอง ซึ่ง ห้ามมิให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง แต่ไม่ได้ห้ามจําเลย ดังนั้นนายโทจําเลยที่ 2 จึงสามารถยื่นฎีกาได้ ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 216 วรรคหนึ่ง ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 218 วรรคสอง ศาลชั้นต้นจึงมีคําสั่ง รับฎีกาของนายโทจําเลยที่ 2 ได้

สรุป ศาลชั้นต้นสามารถมีคําสั่งรับฎีกาของโจทก์และจําเลยที่ 2 ได้

 

Advertisement