การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2557

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3008 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 2

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. นายดีถูกนายดําฉ้อโกงซึ่งเป็นความผิดต่อส่วนตัว นายดีได้ร้องทุกข์มอบคดีแก่พนักงานสอบสวนแล้ว แต่พนักงานสอบสวนดําเนินคดีล่าช้า นายดีจึงเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายดําต่อศาลด้วยตนเอง ขอให้ลงโทษ นายดําฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341

(ก) หากปรากฏว่าในวันไต่สวนมูลฟ้อง นายดีโจทก์ซึ่งทราบนัดของศาลโดยชอบแล้วและทนายความไม่มาศาล ศาลจึงพิพากษายกฟ้องของนายดี กรณีหนึ่ง

(ข) หากปรากฏว่าในวันไต่สวนมูลฟ้อง นายดีโจทก์ซึ่งทราบนัดของศาลโดยชอบแล้วไม่มาศาลแต่ทนายความของนายดีมาศาลและแถลงต่อศาลว่าไม่ทราบเหตุขัดข้องที่นายดีไม่มาศาล ศาลจึงพิพากษายกฟ้องของนายดีอีกกรณีหนึ่ง

ทั้งสองกรณีดังกล่าว นายดีจะยื่นคําร้องภายใน 15 วัน นับแต่ศาลยกฟ้องเพื่อขอให้ศาลยกคดีของ นายดีขึ้นไต่สวนมูลฟ้องใหม่ได้หรือไม่ และพนักงานอัยการจะนําคดีเรื่องเดียวกันนี้มายื่นฟ้องจําเลยเป็นคดีใหม่ได้หรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 39 “สิทธินําคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปดังต่อไปนี้

(4) เมื่อมีคําพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง”

มาตรา 166 “ถ้าโจทก์ไม่มาตามกําหนดนัด ให้ศาลยกฟ้องเสีย แต่ถ้าศาลเห็นว่ามีเหตุสมควร จึงมาไม่ได้ จะสั่งเลื่อนคดีไปก็ได้

คดีที่ศาลได้ยกฟ้องดังกล่าวแล้ว ถ้าโจทก็มาร้องภายในสิบห้าวันนับแต่วันศาลยกฟ้องนั้น โดย แสดงให้ศาลเห็นได้ว่ามีเหตุสมควรจึงมาไม่ได้ ก็ให้ศาลยกคดีนั้นขึ้นไต่สวนมูลฟ้องใหม่

ในคดีที่ศาลยกฟ้องดังกล่าวแล้ว จะฟ้องจําเลยในเรื่องเดียวกันนั้นอีกไม่ได้ แต่ถ้าศาลยกฟ้องเช่นนี้ ในคดีซึ่งราษฎรเท่านั้นเป็นโจทก์ ไม่ตัดอํานาจพนักงานอัยการฟ้องคดีนั้นอีก เว้นแต่จะเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัว”

มาตรา 167 “ถ้าปรากฏว่าคดีมีมูล ให้ศาลประทับฟ้องไว้พิจารณาต่อไปเฉพาะกระทงที่มีมูล ถ้าคดีไม่มีมูล ให้พิพากษายกฟ้อง”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ วินิจฉัยได้ดังนี้

(ก) การที่นายดีโจทก์ซึ่งทราบนัดโดยชอบแล้วและทนายความของนายดีต่างก็ไม่มาศาลใน วันนัดไต่สวนมูลฟ้อง จึงเข้าเกณฑ์ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 166 วรรคแรก ที่ถือว่าในวันนัดไต่สวนมูลฟ้องฝ่ายโจทก์ ไม่มีใครมาศาลเลย ดังนั้นศาลจึงต้องพิพากษายกฟ้องของโจทก์เสีย และเมื่อศาลได้พิพากษายกฟ้องแล้วจะมีผล ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 166 วรรคสอง กล่าวคือ ถ้านายดีโจทก์มาร้องขอภายใน 15 วันนับแต่วันที่ศาลยกฟ้องนั้น โดยแสดงให้ศาลเห็นว่ามีเหตุสมควรจึงมาไม่ได้ ก็ให้ศาลยกคดีนั้นขึ้นไต่สวนมูลฟ้องใหม่

และในกรณีที่ศาลได้ยกฟ้องตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 166 วรรคแรกนั้น ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 166 วรรคสาม ได้บัญญัติห้ามมิให้ฟ้องจําเลยในเรื่องเดียวกันนั้นอีก แต่ถ้าเป็นคดีที่ราษฎรเท่านั้นเป็นโจทก์ แม้ศาลจะยกฟ้องก็ไม่ตัดอำนาจของพนักงานอัยการในการที่จะฟ้องคดีนั้นอีก เว้นแต่จะเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัว

และตามข้อเท็จจริง เมื่อปรากฏว่า คดีที่ศาลได้ยกฟ้องดังกล่าวเป็นคดีฉ้อโกงซึ่งเป็น ความผิดต่อส่วนตัว ดังนั้น จึงตัดอํานาจของพนักงานอัยการที่จะนําคดีเรื่องเดียวกันนี้มายื่นฟ้องจําเลยเป็นคดีใหม่

(ข) การที่ในวันนัดไต่สวนมูลฟ้อง นายดีโจทก์ไม่มาศาล แต่ทนายความของนายดีมาศาลและ แถลงต่อศาลว่าไม่ทราบเหตุขัดข้องที่นายดีไม่มาศาลนั้น ย่อมแสดงว่าในวันนัดไต่สวนมูลฟ้องนั้นยังมีทนายโจทก์ มาศาล กรเนีจึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 166 วรรคแรก ที่ศาลจะยกฟ้องโจทก์แต่อย่างใด แต่ที่ศาลได้ยกฟ้องโจทก์กรณีนี้นั้น เป็นการยกฟ้องตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 167 เพราะเป็นกรณีที่ทนายโจทก์แถลงว่า ไม่ทราบเหตุขัดข้องที่นายดีโจทก็ไม่มาศาล จึงเป็นการยกฟ้องเพราะโจทก์ไม่มีพยานมาสืบให้เห็นว่าคดีโจทก์มีมูล

และเมื่อศาลได้ยกฟ้องโจทก์ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 167 จึงไม่ก่อให้เกิดผลตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 166 วรรคสอง ที่โจทก์จะยื่นคําร้องขอให้ศาลยกคดีของโจทกขึ้นไต่สวนมูลฟ้องใหม่ได้ และไม่ก่อให้เกิด ผลตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 166 วรรคสาม ที่จะตัดอํานาจฟ้องของพนักงานอัยการแม้เป็นกรณีราษฎรเป็นโจทก์ ฟ้องคดีความผิดต่อส่วนตัวก็ตาม

แต่การที่ศาลได้ยกฟ้องโจทก์ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 167 นั้น จะก่อให้เกิดผลตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 39 (4) กล่าวคือ ให้ถือว่าศาลได้มีคําพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง ซึ่งมีผลทําให้ สิทธินําคดีอาญามาฟ้องระงับไป และทําให้พนักงานอัยการไม่มีอํานาจฟ้องจําเลยเป็นคดีใหม่เช่นเดียวกัน

สรุป

กรณีตาม (ก) นายดีโจทก์สามารถยื่นคําร้องภายใน 15 วันนับแต่วันที่ศาลยกฟ้อง เพื่อให้ศาลยกคดีของนายดีขึ้นไต่สวนมูลฟ้องใหม่ได้โดยแสดงให้ศาลเห็นว่ามีเหตุสมควรจึงมาไม่ได้ แต่พนักงาน อัยการจะนําคดีเรื่องเดียวกันนี้มายื่นฟ้องจําเลยเป็นคดีใหม่ไม่ได้

กรณีตาม (ข) นายดีโจทก์จะยื่นคําร้องภายใน 15 วันนับแต่วันที่ศาลยกฟ้องเพื่อให้ ศาลยกคดีของนายดีขึ้นไต่สวนมูลฟ้องใหม่ไม่ได้ และพนักงานอัยการจะนําคดีเรื่องเดียวกันนี้มายื่นฟ้องจําเลย เป็นคดีใหม่ไม่ได้เช่นเดียวกัน

 

ข้อ 2. พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจําเลยในความผิดฐานบุกรุกเข้าไปถือครองที่ดินของนายเหลืองผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 จําเลยให้การปฏิเสธ ในวันนัดสืบพยานโจทก์และ พยานจําเลย โจทก์ จําเลย และทนายจําเลยมาศาล ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์เสร็จแล้ว โจทก์แถลง หมดพยาน ทนายจําเลยแถลงขออนุญาตเลื่อนสืบพยานจําเลยเนื่องจากพยานมาไม่พร้อม โจทก์ไม่ค้าน ศาลชั้นต้นอนุญาต ในวันนัดสืบพยานจําเลย โจทก์ไม่มาศาล ทนายจําเลยมาศาล นายประกันจําเลย แถลงว่าจําเลยจําวันนัดผิดพลาดจึงมิได้มาศาล ทนายจําเลยแถลงว่าจําเลยไม่ติดใจอ้างตนเองเป็นพยาน และขอสืบพยานจําเลยที่มาศาลเพียงปากเดียว ศาลชั้นต้นสืบพยานจําเลยเสร็จ แล้วทนายจําเลยแถลง หมดพยาน ศาลชั้นต้นสังว่าคดีเสร็จการพิจารณาและให้เรียกสํานวนการสอบสวนจากโจทก์ม ๆ ประกอบการวินิจฉัย และนัดฟังคําพิพากษา

ให้วินิจฉัยว่า การดําเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นในวันนัดสืบพยานจําเลยโดยโจทก์ไม่มา ศาลก็ดี ที่สืบพยานจําเลยไปตามคําแถลงของทนายจําเลยก็ดี และที่เรียกสํานวนการสอบสวนจากโจทก์มาเพื่อประกอบการวินิจฉัยก็ดี ชอบด้วยกฎหมายหรือม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 166 “ถ้าโจทก์ไม่มาตามกําหนดนัด ให้ศาลยกฟ้องเสีย แต่ถ้าศาลเห็นว่ามีเหตุสมควร จึงมาไม่ได้ จะสั่งเลื่อนคดีไปก็ได้”

มาตรา 172 วรรคแรก “การพิจารณาและสืบพยานในศาล ให้ทําโดยเปิดเผยต่อหน้าจําเลย เว้นแต่บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น”

มาตรา 175 “เมื่อโจทก์สืบพยานเสร็จแล้ว ถ้าเห็นสมควร ศาลมีอํานาจเรียกสํานวนการสอบสวน จากพนักงานอัยการมาเพื่อประกอบการวินิจฉัยได้”

มาตรา 181 “ให้นําบทบัญญัติในมาตรา 139 และ 166 มาบังคับแก่การพิจารณาโดยอนุโลม”

วินิจฉัย กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

1 การดําเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นในวันนัดสืบพยานจําเลยโดยโจทก์ไม่มา ศาล ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

กรณีนี้เห็นว่า ในวันนัดสืบพยานจําเลยนั้นโจทก์ไม่มีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติอย่างใดต่อศาล การที่โจทก์ไม่มาศาลในวันนัดสืบพยานจําเลย โจทก์ก็เพียงแต่เสียสิทธิในการซักค้านพยานจําเลยเท่านั้น มิใช่เป็น กรณีที่ทําให้ศาลต้องยกฟ้องโจทก์เพราะเหตุโจทก์ไม่มาศาลตามกําหนดนัด (ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 166 วรรคแรก ซึ่งมาตรา 181 ให้นํามาบังคับใช้แก่การพิจารณาโดยอนุโลม) ดังนั้น การดําเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น ในวันสืบพยานจําเลยโดยโจทก์ไม่มาศาลจึงชอบด้วยกฎหมาย

2 การที่ศาลชั้นต้นสืบพยานจําเลยไปตามคําแถลงของทนายจําเลย ชอบด้วยกฎหมาย หรือไม่

ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 172 วรรคแรก การพิจารณาและการสืบพยานในศาลจะต้อง กระทําโดยเปิดเผยต่อหน้าจําเลย โดยไม่จํากัดว่าจะเป็นการพิจารณาและสืบพยานของคู่ความฝ่ายใด ซึ่งไม่ว่าจะ เป็นการพิจารณาและสืบพยานในศาลของโจทก์หรือของจําเลยย่อมตกอยู่ในบังคับของบทบัญญัติมาตราดังกล่าว ด้วยเช่นกัน อีกทั้งการที่จําเลยไม่มาศาลในวันนัดสืบพยานเพราะจําเลยจําวันนัดผิดพลาด ก็มิใช่กรณีที่มีบทบัญญัติ ไว้เป็นอย่างอื่น ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นสืบพยานจําเลยไปโดยจําเลยไม่มาศาลจึงมิใช่การพิจารณาและการสืบพยาน ในศาลโดยเปิดเผยต่อหน้าจําเลย เป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมาย การที่ศาลชั้นต้นสืบพยานจําเลยไป ดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

3 การที่ศาลชั้นต้นเรียกสํานวนการสอบสวนจากโจทก์มาเพื่อประกอบการวินิจฉัย ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 175 บัญญัติให้ศาลมีอํานาจเรียกสํานวนการสอบสวนจาก พนักงานอัยการมาเพื่อประกอบการวินิจฉัยได้ เมื่อโจทก์สืบพยานเสร็จแล้ว ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นเรียกสํานวน

การสอบสวนจากพนักงานอัยการโจทก์มาประกอบการวินิจฉัยภายหลังโจทก์สืบพยานเสร็จแล้วจึงเป็นการชอบด้วยกฎหมาย

สรุป

การดําเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นในวันสืบพยานจําเลยโดยโจทก์ไม่มาศาล และการที่ศาลชั้นต้นเรียกสํานวนการสอบสวนจากโจทก์มาเพื่อประกอบการวินิจฉัยชอบด้วยกฎหมาย แต่การ ศาลชั้นต้นสืบพยานจําเลยไปตามคําแถลงของทนายจําเลยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ 3. คดีอาญาเรื่องหนึ่ง พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องว่าจําเลยกระทําความผิดฐานกระทําโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 (กําหนดระวางโทษจําคุง ไม่เกินสิบปีและปรับไม่เกินสองหมื่นบาท) จําเลยให้การปฏิเสธและนําสืบพยานว่าเหตุเกิดขึ้นมิใช่เนื่องจากความประมาทของจําเลย เเต่เกิดขึ้นเนื่องจากผู้ตายแย่งปืนไปจากเอวของจําเลย จําเลยตกใจ จึงกระชากปืนจากผู้ตาย ปืนจึงลั่นถูกผู้ตาย ในทางพิจารณา ข้อเท็จจริงได้ความว่าจําเลยแย่งปืนคืนจากผู้ตาย เมื่อจําเลยแย่งปืนคืนมาได้แล้ว จําเลยได้ใช้ปืนยิงผู้ตายโดยเจตนาฆ่า ซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 (กําหนด ระวางโทษประหารชีวิต จําคุกตลอดชีวิต หรือจําคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี) เช่นนี้ ศาลพึงพิพากษา คดีนี้อย่างไรจึงจะชอบด้วยวิธีพิจารณา

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 192 วรรคสองและวรรคสาม “ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณา แตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง ให้ศาลยกฟ้องคดีนั้น เว้นแต่ข้อแตกต่างนั้นมิใช่ในข้อสาระสําคัญและ ทั้งจําเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลจะลงโทษจําเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นก็ได้

ในกรณีที่ข้อแตกต่างนั้นเป็นเพียงรายละเอียด เช่น เกี่ยวกับเวลาหรือสถานที่กระทําความผิด หรือต่างกันระหว่างการกระทําผิดฐานลักทรัพย์ กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ฉ้อโกง โกงเจ้าหนี้ ยักยอก รับของโจร และ ทําให้เสียทรัพย์ หรือต่างกันระหว่างการกระทําผิดโดยเจตนากับประมาท มีให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสําคัญ ทั้งมิให้ ถือว่าข้อที่พิจารณาได้ความนั้นเป็นเรื่องเกินคําขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ เว้นแต่จะปรากฏแก่ ศาลว่าการที่ฟ้องผิดไปเป็นเหตุให้จําเลยหลงต่อสู้ แต่ทั้งนี้ศาลจะลงโทษจําเลยเกินอัตราโทษที่กําหนดไว้สําหรับ ความผิดที่โจทก์ฟ้องไม่ได้”

วินิจฉัย

ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 192 วรรคสอง ได้กําหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่ ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้อง โดยหลักให้ศาลยกฟ้องคดีนั้น เว้นแต่ข้อแตกต่างนั้น มิใช่ในข้อสาระสําคัญและจําเลยมิได้หลงต่อสู้ในกรณีเช่นนี้ ศาลจะลงโทษจําเลยตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ ความนั้นก็ได้ แต่ทั้งนี้ศาลจะลงโทษจําเลยเกินอัตราโทษที่กําหนดไว้สําหรับความผิดที่โจทก์ฟ้องไม่ได้ (ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 192 วรรคสาม)

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องว่าจําเลยกระทําความผิดฐานกระทําโดย ประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตาม ป.อาญา มาตรา 291 แต่ในทางพิจารณาข้อเท็จจริงได้ความว่าจําเลยฆ่า ผู้อื่นโดยเจตนาตาม ป.อาญา มาตรา 288 นั้น กรณีเช่นนี้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 192 วรรคสองและวรรคสาม มิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสําคัญ ศาลจะลงโทษจําเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นก็ได้ เว้นแต่ปรากฏว่าการที่ ฟ้องผิดไปนั้นเป็นเหตุให้จําเลยหลงต่อสู้

คดีนี้จําเลยให้การปฏิเสธและนําสืบพยานว่าเหตุเกิดขึ้นเนื่องจากผู้ตายแย่งปืนไปจากเอวจําเลย จําเลยตกใจจึงกระชากปืนจากผู้ตาย ปืนจึงลั่นถูกผู้ตาย คําให้การต่อสู้คดีของจําเลยดังกล่าวนี้เป็นที่เห็นได้ว่า จําเลยมิได้หลงหยิบยกเอาข้อที่ฟ้องผิดหรือที่มิได้กล่าวในฟ้องมาเป็นสาระสําคัญในการต่อสู้คดีของจําเลย จึงถือว่า จําเลยมิได้หลงต่อสู้

เมื่อปรากฏว่าข้อแตกต่างระหว่างข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณากับข้อเท็จจริงดังที่กล่าว ในฟ้องเป็นข้อแตกต่างที่มิใช่ในข้อสาระสําคัญและจําเลยมิได้หลงต่อสู้ ดังนั้นศาลจะลงโทษจําเลยตาม ข้อเท็จจริงที่ได้ความในการพิจารณาก็ได้ โดยไม่ถือว่าเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ แต่ทั้งนี้ศาลจะลงโทษ จําเลยเกินอัตราโทษที่กฎหมายกําหนดไว้สําหรับความผิดที่โจทก์ฟ้องไม่ได้

ดังนั้น คดีนี้ศาลจึงต้องพิพากษาว่าจําเลยมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตายโดยเจตนาตาม ป.อาญา มาตรา 288 แต่ศาลจะลงโทษจําเลยได้เพียงจําคุกไม่เกินสิบปีและปรับไม่เกินสองหมื่นบาทตาม ป.อาญา มาตรา 291 เท่านั้น จึงจะชอบด้วยวิธีพิจารณาความอาญา

สรุป คดีนี้ศาลจะต้องพิพากษาว่าจําเลยมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตายโดยเจตนาตาม ป.อาญา มาตรา 288 แต่ศาลจะลงโทษจําเลยได้เพียงจําคุกไม่เกินสิบปีและปรับไม่เกินสองหมื่นบาทตาม ป.อาญา มาตรา 291 ซึ่งเป็นอัตราโทษตามที่กฎหมายได้กําหนดไว้สําหรับความผิดที่โจทก์ฟ้องเท่านั้น

 

ข้อ 4. โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจําเลยในความผิดฐานทําร้ายผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ซึ่งมีระวางโทษจําคุกไม่เกินสองปี ปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ ในชั้นพิจารณาจําเลย ให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจําเลยไปโดยไม่สืบพยานว่าจําเลยมีความผิด ตามฟ้อง ลงโทษจําคุก 1 เดือน และปรับ 500 บาท โทษจําคุกให้รอการลงโทษไว้มีกําหนด 2 ปี ไม่ชําระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจําคุก จําเลยโดยไม่รอการลงโทษจําคุก จําเลยอุทธรณ์ว่า จําเลยกระทําผิดตามฟ้องโดยบันดาลโทสะ ขอให้ยกฟ้อง ให้วินิจฉัยว่า อุทธรณ์ของโจทก์และจําเลยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 15 “วิธีพิจารณาข้อใดซึ่งประมวลกฎหมายนี้มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ให้นําบทบัญญัติ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับเท่าที่พอจะใช้บังคับได้”

มาตรา 193 ทวิ “ห้ามมิให้อุทธรณ์คําพิพากษาศาลชั้นต้นในปัญหาข้อเท็จจริงในคดีซึ่งอัตราโทษ อย่างสูงตามที่กฎหมายกําหนดไว้ให้จําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ เว้นแต่กรณี ต่อไปนี้ให้จําเลยอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้

(1) จําเลยต้องคําพิพากษาให้ลงโทษจําคุกหรือให้ลงโทษกักขังแทนโทษจําคุก

(2) จําเลยต้องคําพิพากษาให้ลงโทษจําคุก แต่ศาลรอการลงโทษไว้

(3) ศาลพิพากษาว่าจําเลยมีความผิด แต่รอการกําหนดโทษไว้ หรือ

(4) จําเลยต้องคําพิพากษาให้ลงโทษปรับเกินหนึ่งพันบาท” และตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 225 วรรคแรก “ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่จะยกขึ้นอ้างในการยื่นอุทธรณ์นั้น คู่ความจะต้องกล่าวไว้โดยชัดแจ้งในอุทธรณ์ และต้องเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ทั้งจะต้อง เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยด้วย”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจําเลยในความผิดฐานทําร้ายผู้อื่นตาม ป.อาญา มาตรา 295 ซึ่งมีระวางโทษจําคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 4,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับนั้น เป็นคดีที่มีอัตราโทษ อย่างสูงตามที่กฎหมายกําหนดไว้ให้จําคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ จึงต้องห้าม มิให้อุทธรณ์คําพิพากษาของศาลชั้นต้นในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 193 ทวิ เว้นแต่ถ้าเป็นกรณีตาม (1) (2) (3) หรือ (4) ดังนี้ จําเลยสามารถอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้

กรณีของโจทก์ การที่โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจําคุกจําเลยโดยไม่รอการลงโทษจําคุกนั้น เป็นอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการลงโทษของศาล ถือเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ ดังนั้น อุทธรณ์ของโจทก์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 193 ทวิ

กรณีของจําเลย การที่จําเลยอุทธรณ์ว่าได้กระทําผิดตามฟ้องโดยบันดาลโทสะขอให้ยกฟ้องนั้น เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งเมื่อจําเลยต้องคําพิพากษาโดยศาลชั้นต้นให้ลงโทษจําคุก แต่ศาลรอการลงโทษไว้ กรณีจึงต้องด้วยข้อยกเว้นที่ให้จําเลยอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 193 ทวิ (2)

แต่อย่างไรก็ตาม การที่จําเลยได้อุทธรณ์ว่าจําเลยได้กระทําผิดตามฟ้องโดยบันดาลโทสะนั้น เป็นการกล่าวอ้างข้อเท็จจริงขึ้นใหม่นอกเหนือไปจากที่โจทก์ฟ้องว่าจําเลยกระทําความผิดฐานทําร้ายร่างกายผู้อื่น โดยเจตนา และในชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้น จําเลยก็ได้ให้การรับสารภาพตามฟ้องนั้น ข้อเท็จจริงในศาลชั้นต้น ย่อมมีอยู่เพียงเท่าที่จําเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง อุทธรณ์ของจําเลยจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบ ในศาลชั้นต้น ดังนั้นอุทธรณ์ของจําเลยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นเดียวกันตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 225 วรรคแรก ประกอบ ป.วิ.อาญา มาตรา 15

สรุป

อุทธรณ์ทั้งของโจทก์และของจําเลยเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

Advertisement