การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2556

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3007 กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 2

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. โจทก์นําตึกแถวพิพาทออกให้จําเลยเช่า โดยคิดค่าเช่าเดือนละ 5,000 บาท บัดนี้ สัญญาเช่าได้สิ้นสุดลงแล้ว โจทก์ไม่ประสงค์จะต่อสัญญาเช่ากับจําเลย และได้บอกเลิกสัญญาเช่าโดยชอบแล้ว แต่จําเลย ไม่ยอมออกไปจากตึกแถวพิพาท โจทก์จึงฟ้องขอศาลบังคับขับไล่จําเลย จําเลยยื่นคําให้การอ้างว่า ตึกแถวพิพาทไม่ใช่ของโจทก์ แต่เป็นของมารดาจําเลย โจทก์ไม่มีสิทธิขับไล่ ขอให้ศาลยกฟ้อง ต่อมา ศาลชั้นต้นมีคําพิพากษาให้ขับไล่ ดังนี้ จําเลยจะอุทธรณ์ว่าตึกแถวพิพาทเป็นของมารดาจําเลย โจทก์จึงไม่มีสิทธิขับไล่ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 224 วรรคแรกและวรรคสอง “ในคดีที่ราคาทรัพย์สินหรือจํานวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกัน ในชั้นอุทธรณ์ไม่เกินห้าหมื่นบาทหรือไม่เกินจํานวนที่กําหนดในพระราชกฤษฎีกา ห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ใน ข้อเท็จจริง เว้นแต่ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีนั้นในศาลชั้นต้นได้ทําความเห็นแย้งไว้หรือได้รับรองว่ามีเหตุอันควร อุทธรณ์ได้ หรือถ้าไม่มีความเห็นแย้งหรือคํารับรองเช่นว่านี้ต้องได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์เป็นหนังสือจากอธิบดี ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นหรืออธิบดีผู้พิพากษาภาคผู้มีอํานาจ แล้วแต่กรณี

บทบัญญัติในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับในคดีเกี่ยวด้วยสิทธิแห่งสภาพบุคคลหรือสิทธิในครอบครัว และคดีฟ้องขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคํานวณเป็นราคาเงินได้ เว้นแต่ในคดีฟ้องขับไล่บุคคลใด ๆ ออกจาก อสังหาริมทรัพย์อันมีค่าเช่าหรืออาจให้เช่าได้ในขณะยื่นคําฟ้องไม่เกินเดือนละสี่พันบาทหรือไม่เกินจํานวนที่กําหนด ในพระราชกฤษฎีกา”

วินิจฉัย

ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 224 ได้กําหนดหลักเกณฑ์ในการห้ามคู่ความอุทธรณ์ข้อเท็จจริง ในคดีดังต่อไปนี้ คือ

1 คดีที่ราคาทรัพย์ที่พิพาทหรือจํานวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกิน 50,000 บาท หรือไม่เกินจํานวนที่กําหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกา

2 คดีฟ้องขับไล่บุคคลใด ๆ ออกจากอสังหาริมทรัพย์ซึ่งมีค่าเช่าหรืออาจให้เช่าได้ในขณะยื่นฟ้องไม่เกินเดือนละ 4,000 บาท หรือไม่เกินจํานวนที่กําหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกา

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์ฟ้องขอให้ศาลบังคับขับไล่จําเลยออกจากตึกแถวพิพาทและ จําเลยยื่นคําให้การอ้างว่าตึกแถวพิพาทไม่ใช่ของโจทก์ แต่เป็นของมารดาจําเลย โดยมิได้ให้การยกข้อต่อสู้ที่ว่า ตึกแถวพิพาทเป็นของจําเลยอันเป็นการต่อสู้กรรมสิทธิ์และจะทําให้เป็นคดีที่มีทุนทรัพย์นั้น คดีนี้จึงเป็นคดีไม่มี ทุนทรัพย์ ประเภทคดีฟ้องขับไล่บุคคลใด ๆ ออกจากอสังหาริมทรัพย์อันมีค่าเช่าในขณะยื่นคําฟ้อง

ดังนั้น เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า มีการคิดค่าเช่ากันเดือนละ 5,000 บาท ซึ่งเกิน 4,000 บาท จึงเข้าข้อยกเว้นตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 224 วรรคสอง จําเลยจึงสามารถอุทธรณ์ว่าตึกแถวพิพาทเป็นของมารดาจําเลย โจทก์ไม่มีสิทธิขับไล่ ซึ่งถือเป็นการอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาล และเป็นปัญหาข้อเท็จจริงได้

สรุป

จําเลยจะอุทธรณ์ว่าตึกแถวพิพาทเป็นของมารดาจําเลย โจทก์จึงไม่มีสิทธิขับไล่ได้

 

ข้อ 2. โจทก์ฟ้องให้จําเลยชําระหนี้เงินกู้พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายแก่โจทก์ จําเลยขาดนัดยื่นคําให้การศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จําเลยชําระเงินแก่โจทก์ตามฟ้อง จําเลยอุทธรณ์ว่าคําฟ้องโจทก์ เคลือบคลุมศาลชั้นต้นมีคําสั่งรับอุทธรณ์ของจําเลยไว้พิจารณา

ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่า คําสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งอุทธรณ์ดังกล่าวของจําเลยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 225 “ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่จะยกขึ้นอ้างในการยื่นอุทธรณ์นั้นคู่ความจะต้อง กล่าวไว้โดยชัดแจ้งในอุทธรณ์ และต้องเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ทั้งจะต้องเป็นสาระ แก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยด้วย

ถ้าคู่ความฝ่ายใดมิได้ยกปัญหาข้อใดอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนขึ้นกล่าวใน ศาลชั้นต้น หรือคู่ความฝ่ายใดไม่สามารถยกปัญหาข้อกฎหมายใด ๆ ขึ้นกล่าวในศาลชั้นต้นเพราะพฤติการณ์ไม่เปิดช่อง ให้กระทําได้ หรือเพราะเหตุเป็นเรื่องที่ไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติว่าด้วยกระบวนพิจารณาชั้นอุทธรณ์ คู่ความที่เกี่ยวข้อง ย่อมมีสิทธิที่จะยกขึ้นอ้างซึ่งปัญหาเช่นว่านั้นได้”

วินิจฉัย

ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 225 ได้กําหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายในการ ยื่นอุทธรณ์นั้น

1 ต้องกล่าวไว้โดยชัดแจ้งในอุทธรณ์

2 ต้องเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น และ

3 อุทธรณ์นั้นไม่ว่าในปัญหาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมาย ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายนั้นจะต้องเป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยด้วย

เว้นแต่ จะต้องด้วยหลักเกณฑ์อย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ แม้จะไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวมาแล้ว โดยชอบในศาลชั้นต้น ก็ยังมีสิทธิที่จะยกขึ้นกล่าวอ้างเพื่ออุทธรณ์ในชั้นอุทธรณ์ได้ คือ

1 เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือ

2 เป็นปัญหาที่คู่ความฝ่ายใดไม่สามารถยกข้อกฎหมายใด ๆ ขึ้นกล่าวในศาลชั้นต้นเพราะพฤติการณ์ไม่เปิดช่องให้กระทําได้ หรือ

3 เพราะเหตุเป็นเรื่องศาลชั้นต้นที่ไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติว่าด้วยกระบวนพิจารณาชั้นอุทธรณ์

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์ฟ้องให้จําเลยชําระหนี้เงินกู้พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายแก่โจทก์นั้น เมื่อปรากฏว่าจําเลยขาดนัดยื่นคําให้การ จึงไม่มีข้อเถียงของจําเลยที่ยกขึ้นต่อสู้ในคําให้การ ดังนั้น อุทธรณ์ของจําเลย ที่ว่าคําฟ้องโจทก์เคลือบคลุมจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 225 วรรคแรก อีกทั้งปัญหาว่าคําฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ก็มิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วย ความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่จําเลยมีสิทธิยกขึ้นอ้างอิงในชั้นอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 225 วรรคสอง ดังนั้น อุทธรณ์ของจําเลยจึงไม่ชอบที่ศาลชั้นต้นจะรับไว้พิจารณาได้ คําสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งรับอุทธรณ์ของจําเลย ไว้พิจารณาจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สรุป คําสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งอุทธรณ์ดังกล่าวของจําเลยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ 3. ในคดีแพ่งเรื่องหนึ่ง โจทก์ฟ้องว่า จําเลยที่ 1 ผิดสัญญาจะซื้อจะขายที่พิพาทโดยหลังจากจําเลยที่ 1 ทําสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินให้โจทก์แล้วกลับไปทําสัญญาจะซื้อจะขายและโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดิน พิพาทให้แก่จําเลยที่ 2 ขอให้ศาลเพิกถอนสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินระหว่างจําเลยที่ 1 และจําเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นมีคําพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ โจทก์อุทธรณ์ก่อนที่ศาลชั้นต้นจะส่งสํานวนความไปยัง ศาลอุทธรณ์ โจทก์ยื่นคําร้องขอให้ศาลมีคําสั่งห้ามมิให้จําเลยที่ 1 และจําเลยที่ 2 ทํานิติกรรมใด ๆ เกี่ยวกับที่ดินพิพาท และขอให้ศาลมีคําสั่งอายัดที่ดินพิพาทไว้ชั่วคราวก่อนที่ศาลอุทธรณ์จะมี คําพิพากษา

ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่า ศาลใดมีอํานาจสั่งคําร้องของโจทก์และวิธีการชั่วคราวที่โจทก์ร้องขอให้ศาลมีคําสั่งชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 254 “ในคดีอื่น ๆ นอกจากคดีมโนสาเร่ โจทก์ชอบที่จะยื่นต่อศาลพร้อมกับคําฟ้อง หรือในเวลาใด ๆ ก่อนพิพากษา ซึ่งคําขอฝ่ายเดียว ร้องขอให้ศาลมีคําสั่งภายในบังคับแห่งเงื่อนไขซึ่งจะกล่าว ต่อไป เพื่อจัดให้มีวิธีคุ้มครองใด ๆ ดังต่อไปนี้

(1) ให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่พิพาทหรือทรัพย์สินของจําเลยทั้งหมดหรือบางส่วนไว้ก่อน พิพากษา รวมทั้งจํานวนเงินหรือทรัพย์สินของบุคคลภายนอกซึ้งถึงกําหนดชําระแก่จําเลย

(2) ให้ศาลมีคําสั่งห้ามชั่วคราวมีให้จําเลยกระทําซ้ําหรือกระทําต่อไป ซึ่งการละเมิดหรือ การผิดสัญญาหรือการกระทําที่ถูกฟ้องร้อง หรือมีคําสั่งอื่นใดในอันที่จะบรรเทาความเดือดร้อนเสียหายที่โจทก์ อาจได้รับต่อไปเนื่องจากการกระทําของจําเลยหรือมีคําสั่งห้ามชั่วคราวมิให้จําเลยโอน ขาย ยักย้ายหรือจําหน่าย ซึ่งทรัพย์สินที่พิพาทหรือทรัพย์สินของจําเลย หรือมีคําสั่งให้หยุดหรือป้องกันการเปลืองไปเปล่าหรือการบุบสลาย ซึ่งทรัพย์สินดังกล่าว ทั้งนี้ จนกว่าคดีจะถึงที่สุดหรือศาลจะมีคําสั่งเป็นอย่างอื่น

ในระหว่างระยะเวลานับแต่ศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ได้อ่านคําพิพากษา หรือคําสั่งชี้ขาดคดี หรือชี้ขาดอุทธรณ์ไปจนถึงเวลาที่ศาลชั้นต้นได้ส่งสํานวนความที่อุทธรณ์หรือฎีกาไปยังศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา แล้วแต่กรณี คําขอตามมาตรานี้ให้ยื่นต่อศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นมีอํานาจที่จะสั่งอนุญาตหรือยกคําขอเช่นว่านี้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ ประเด็นแรกที่ต้องวินิจฉัยมีว่า วิธีการชั่วคราวที่โจทก์ร้องขอให้ศาลมีคําสั่ง ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า วัตถุประสงค์ของการขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาตาม ป.วิ.แพ่งมาตรา 254 นั้น ก็เพื่อให้โจทก์สามารถบังคับคดีได้เมื่อศาลพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี ดังนั้น สิ่งที่จะขอคุ้มครองชั่วคราวจะต้องตรง กับการกระทําของจําเลยที่ถูกฟ้องร้องหรืออยู่ในประเด็นแห่งคดี และเป็นเรื่องที่อยู่ในคําขอท้ายฟ้องด้วย

ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า โจทก์ฟ้องขอให้ศาลมีคําพิพากษาเพิกถอนสัญญาจะซื้อจะขาย ระหว่างจําเลยที่ 1 และจําเลยที่ 2 เท่านั้น มิได้มีคําขอให้จําเลยที่ 1 และจําเลยที่ 2 โอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ คําร้องขอคุ้มครองชั่วคราวที่ขอห้ามมิให้จําเลยที่ 1 และจําเลยที่ 2 ทํานิติกรรมใด ๆ เกี่ยวกับที่ดินพิพาท และมีคําสั่ง อายัดที่ดินพิพาทไว้ชั่วคราวก่อนมีคําพิพากษาตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 254 (2) และ (1) จึงเป็นเรื่องนอกเหนือจาก ประเด็นแห่งคดีและคําขอท้ายฟ้องของโจทก์ คําขอคุ้มครองชั่วคราวของโจทก์จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.แพ่ง มาตรา 254

ประเด็นต่อมาที่ต้องวินิจฉัยมีว่า ศาลใดมีอํานาจสั่งคําร้องของโจทก์ เห็นว่า คําขอคุ้มครอง ชั่วคราวที่โจทก์ยื่นภายหลังจากที่ได้ยื่นอุทธรณ์นั้น โดยหลักเป็นอํานาจของศาลอุทธรณ์ซึ่งเป็นศาลที่คดีอยู่ระหว่าง การพิจารณาที่จะดําเนินการไต่สวนและสั่งคําร้องขอคุ้มครองชั่วคราวของโจทก์ อย่างไรก็ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 254 วรรคท้าย ได้บัญญัติข้อยกเว้นไว้โดยให้อํานาจศาลชั้นต้น สามารถสั่งคําร้องขอคุ้มครองชั่วคราวได้ ถ้ายังไม่ได้ส่ง สํานวนความที่อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์

ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ศาลชั้นต้นยังไม่ได้ส่งสํานวนความไปศาลอุทธรณ์ ศาลชั้นต้น ย่อมมีอํานาจสั่งคําร้องของโจทก์ตามมาตรา 254 วรรคท้าย

สรุป ศาลชั้นต้นเป็นศาลที่มีอํานาจสั่งคําร้องของโจทก์ และวิธีการชั่วคราวที่โจทก์ขอไม่ชอบ ด้วยกฎหมาย

 

 

ข้อ 4. ศาลชั้นต้นมีคําพิพากษาในวันที่ 30 พฤษภาคม 2546 และมีคําบังคับให้จําเลยรื้อถอนโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินพิพาทและคืนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ในสภาพไม่มีสิ่งปลูกสร้างและวัสดุ อุปกรณ์ก่อสร้าง จําเลยยื่นอุทธรณ์แต่ศาลชั้นต้นเห็นว่าเป็นคดีต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง จึงมี คําสั่งไม่รับอุทธรณ์ จําเลยไม่ปฏิบัติตามคําพิพากษา โจทก์จึงขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดี เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2555 และแถลงขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดําเนินการบังคับคดีให้แก่โจทก์ เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2556 ต่อมาในวันที่ 15 มิถุนายน 2556 โจทก์ได้นําเจ้าพนักงานบังคับคดี ไปยังที่ดินพิพาทและเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ปิดประกาศกําหนดเวลาให้จําเลยรื้อถอนโรงเรือนและ สิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินพิพาท หากไม่ดําเนินการเจ้าพนักงานบังคับคดีจะดําเนินการรื้อถอน ในวันที่ 15 กรกฎาคม 2556 จําเลยยื่นคําร้องต่อศาลขอให้เพิกถอนการบังคับคดีอ้างว่า การบังคับคดีของเจ้าพนักงานบังคับคดี ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะเป็นการล่วงพ้นระยะเวลา 10 ปี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา ความแพ่ง มาตรา 271 โจทก์หมดสิทธิบังคับคดีแล้ว ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่าข้ออ้างของจําเลยตามคําร้องฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 147 วรรคสอง “คําพิพากษาหรือคําสั่งใด ซึ่งอาจอุทธรณ์ฎีกา หรือมีคําขอให้พิจารณา ใหม่ได้นั้น ถ้ามิได้อุทธรณ์ฎีกา หรือร้องขอให้พิจารณาใหม่ภายในเวลาที่กําหนดไว้ให้ถือว่าเป็นที่สุดตั้งแต่ระยะเวลา เช่นว่านั้นได้สิ้นสุดลง…”

มาตรา 271 “ถ้าคู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายแพ้คดี (ลูกหนี้ตามคําพิพากษา) มิได้ปฏิบัติตาม คําพิพากษาหรือคําสั่งของศาลทั้งหมดหรือบางส่วน คู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะ (เจ้าหนี้ตามคําพิพากษา) ชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคําพิพากษา หรือคําสั่งนั้นได้ภายในสิบปีนับแต่วันมีคําพิพากษาหรือคําสั่ง โดยอาศัย และตามคําบังคับที่ออกตามคําพิพากษาหรือคําสั่งนั้น”

วินิจฉัย

ตามบทบัญญัติมาตรา 271 แห่ง ป.วิ.แพ่งนั้น มีหลักว่า ถ้าคู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายแพ้คดี หรือลูกหนี้ตามคําพิพากษาไม่ปฏิบัติตามคําพิพากษาหรือคําสั่งของศาล คู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะหรือเจ้าหนี้ ตามคําพิพากษา ย่อมมีสิทธิร้องขอให้บังคับคดีตามคําพิพากษาหรือคําสั่งนั้นได้

แต่อย่างไรก็ตาม การบังคับคดีนั้น เจ้าหนี้ตามคําพิพากษาจะต้องดําเนินการบังคับคดีภายใน 10 ปี นับจากวันที่ศาลมีคําพิพากษาหรือคําสั่ง และคําพิพากษาหรือคําสั่งนั้นจะต้องเป็นคําพิพากษาหรือคําสั่งถึงที่สุด ด้วย (ฎีกาที่ 3325/2552) ซึ่งคําพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์หรือเป็นอุทธรณ์ที่ต้องห้าม ย่อมถือว่าคําพิพากษาถึงที่สุดนับแต่ระยะเวลาที่อาจอุทธรณ์ได้สิ้นสุดลงตามนัย ป.วิ.แพ่ง มาตรา 147 วรรคสอง มิใช่ถึงที่สุดนับจากวันที่ศาลชั้นต้นมีคําพิพากษา (ฎีกาที่ 4906/2549, ฎีกาที่ 3714 – 3717/2554)

ดังนั้น จากข้อเท็จจริงตามอุทธรณ์ เมื่อศาลชั้นต้นมีคําพิพากษาในวันที่ 30 พฤษภาคม 2546 ระยะเวลาการบังคับคดี 10 ปี จึงต้องเริ่มนับจากวันสิ้นกําหนดระยะเวลาอุทธรณ์ คือวันที่ 30 มิถุนายน 2546 (1 เดือน นับจากศาลพิพากษา) และจะครบกําหนดระยะเวลาบังคับคดี 10 ปี ในวันที่ 30 มิถุนายน 2556)

เมื่อการบังคับคดีของโจทก์ ตามคําพิพากษาเป็นการขอบังคับให้จําเลยรื้อถอนโรงเรือนและ สิ่งปลูกสร้าง ซึ่งต้องดําเนินการโดยทางเจ้าพนักงานบังคับคดี ซึ่งในการบังคับคดีประเภทนี้ เมื่อโจทก์ได้ร้องขอให้ศาล ออกหมายบังคับคดี แจ้งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบว่าศาลได้ออกหมายบังคับคดีแล้ว และแถลงขอให้เจ้าพนักงาน ดําเนินการบังคับคดีภายในเวลา 10 ปี ก็ถือว่า โจทก์ได้ร้องขอให้บังคับตามคําพิพากษาภายใน 10 ปี ตามนัย ป.วิ.แพ่ง มาตรา 271 แล้ว ส่วนเจ้าพนักงานบังคับคดีจะไปบังคับคดีเมื่อใด หรือปิดประกาศให้รื้อถอนเมื่อใดนั้น เป็นขั้นตอนการดําเนินงานของเจ้าพนักงานบังคับคดี แม้เจ้าพนักงานบังคับคดีจะไปดําเนินการดังกล่าวเกิน 10 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคําพิพากษา ก็ถือว่าการร้องขอบังคับคดีของโจทก์ชอบแล้ว

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า โจทก์ขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีในวันที่ 31 มีนาคม 2555 และแถลง ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดําเนินการบังคับคดีในวันที่ 5 มิถุนายน 2556 อันถือได้ว่าเป็นการร้องขอให้บังคับคดี ภายในกําหนดเวลาบังคับคดีตามกฎหมาย เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงมีสิทธิบังคับคดีรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างต่อไปจน เสร็จสิ้น แม้เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ปิดประกาศกําหนดเวลาให้จําเลยรื้อถอนโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างออกไปจาก ที่ดินพิพาท หากไม่ดําเนินการเจ้าพนักงานบังคับคดีจะดําเนินการรื้อถอนในวันที่ 15 กรกฎาคม 2556 ซึ่งเป็น การล่วงพ้นกําหนดเวลาบังคับคดีแล้วก็ตาม ก็เป็นการบังคับคดีโดยชอบ โจทก์หาหมดสิทธิบังคับคดีไม่ ข้ออ้างของ จําเลยตามคําร้องขอให้ศาลเพิกถอนการบังคับคดีจึงฟังไม่ขึ้น

สรุป ข้ออ้างของจําเลยตามคําร้องขอเพิกถอนการบังคับคดีฟังไม่ขึ้น เนื่องจากการร้องขอ บังคับคดีของโจทก์ได้กระทําภายในระยะเวลาบังคับคดี 10 ปี ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 271 แล้ว

Advertisement