การสอบซ่อมภาค  1  ปีการศึกษา  2551

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW3007 กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 2

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ

ข้อ 1.    ในคดีแพ่ง จำเลยได้ขอเจรจากับโจทก์ขอผ่อนชำระหนี้โดยตกลงจะชำระในวันทำสัญญาประนีประนอมยอมความร้อยละ 50  ของจำนวนหนี้ ส่วนที่เหลือจะชำระให้เสร็จสิ้นภายใน 5 สัปดาห์นับแต่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอม โจทก์ตกลงและศาลได้พิพากษาตามยอม หลังจากนั้นจำเลยรีบเร่งขายทรัพย์สินของจำเลย เมื่อครบกำหนดชำระหนี้ จำเลยไม่ชำระตามข้อตกลง โจทก์จึงทราบว่าถูกจำเลยวางแผนหลอกให้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความ  ดังนี้ โจทก์จะอุทธรณ์ขอเพิกถอนข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมของศาลชั้นต้นได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

อ้างเนื้อหา ป.วิ.แพ่ง มาตรา 229  แล้วอธิบายแสดงความเข้าใจในหลักกฎหมายดังกล่าวพอสังเขป  แล้ววินิจฉัยว่าการอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นจะต้องดำเนินการภายใน 1 เดือน  นับแต่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา  แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าหลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา 5 สัปดาห์  โจทก์จึงทราบความจริงว่าถูกจำเลยฉ้อฉล ระยะเวลาได้ล่วงเลย 1 เดือนนับแต่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมแล้ว ทำให้โจทก์สิ้นสิทธิอุทธรณ์

ข้อ 2.       โจทก์ฟ้องว่าจำเลยผิดสัญญาเช่าซื้อ  ขอศาลบังคับจำเลยคืนรถยนต์ที่เช่าซื้อพร้อมค่าเสียหาย 5 ล้านบาท  หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคารถยนต์และค่าเสียหาย 10 ล้านบาท จำเลยให้การต่อสู้ว่าสัญญาเช่าซื้อเกิดจากเจตนาลวง ความจริงจำเลยนำที่ดินตีราคาซื้อรถพิพาทจากโจทก์เป็นการชำระราคาครบถ้วนแล้วโจทก์ไม่มีสิทธิมาเรียกร้องเอาจากจำเลยอีก  ทั้งคดีโจทก์ขาดอายุความแล้ว ขอให้ยกฟ้อง ต่อมาศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยแพ้คดีให้จำเลยชำระหนี้ตามฟ้องโจทก์  จำเลยอุทธรณ์ว่าโจทก์ตีราคาที่ดินชำระหนี้แล้ว  คดีโจทก์ขาดอายุความ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง  ดังนี้ จำเลยจะอุทธรณ์เช่นว่านี้ได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

อ้างเนื้อหา ป.วิ.แพ่ง มาตรา 225 แล้วอธิบายแสดงความเข้าใจในหลักกฎหมายดังกล่าวพอสังเขป แล้ววินิจฉัยว่าจำเลยชอบที่จะอุทธรณ์เช่นว่านั้นได้ทุกประเด็น  แม้เรื่องอำนาจฟ้องนั้นจำเลยไม่ได้ต่อสู้ไว้โดยชอบในศาลชั้นต้นซึ่งปกติประเด็นใดที่ไม่ได้ต่อสู้ไว้โดยชอบในศาลชั้นต้น  จะยกขึ้นอุทธรณ์ไม่ได้  แต่อำนาจฟ้องเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยฯ  จึงอุทธรณ์ได้ตามมาตรา 225 วรรคสอง

ข้อ 3.       โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้จดทะเบียนขายฝากที่ดินไว้กับจำเลย ต่อมาโจทก์นำสินไถ่จำนวนเงิน 100 ล้านบาทมาขอไถ่ที่ดินคืน จำเลยกลับบิดพลิ้วไม่ยอมรับการไถ่ถอน ขอให้ศาลบังคับจำเลย ให้จำเลยไปจดทะเบียนไถ่ถอนที่ดินที่ขายฝากให้โจทก์  จำเลยยื่นคำให้การต่อสู้คดีว่า โจทก์ใช้สิทธิไถ่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่มีสิทธิไถ่  ขอให้ศาลยกฟ้องโจทก์  ในระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลว่า ที่ดินที่พิพาทมีรายได้ มีค่าเช่า และผลประโยชน์รวมกันประมาณเดือนละ 2 ล้านบาท  และจำเลยเป็นผู้รับผลประโยชน์ไปแต่ฝ่ายเดียว  หากโจทก์เป็นฝ่ายชนะคดี  โจทก์จะได้รับความเสียหาย ไม่ได้รับผลประโยชน์อันเกิดจากที่ดินที่พิพาท ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ตั้งผู้จัดการเพื่อรวบรวมผลประโยชน์อันเกิดจากที่ดินที่พิพาทมาวางศาลไว้ก่อนมีคำพิพากษาจำเลยได้รับสำเนาแล้วมาแถลงคัดค้าน ศาลไต่สวนสืบพยานโจทก์จำเลยได้ข้อเท็จจริงตามคำร้องของโจทก์

ดังนี้ศาลจะมีคำสั่งให้ตั้งผู้จัดการเพื่อรวบรวมผลประโยชน์อันเกิดจากที่ดินที่พิพาทมาวางศาลไว้ก่อนมีคำพิพากษาได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  มาตรา 264

การที่โจทก์ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้จัดการเพื่อรวบรวมผลประโยชน์อันเกิดจากที่ดินที่ขายฝากมาวางศาลเป็นคำขอวิธีการชั่วคราวตามมาตรา 264  ศาลจะมีคำสั่งอนุญาตได้ต่อเมื่อศาลไต่สวนแล้วเห็นว่าเป็นการคุ้มครองประโยชน์ของโจทก์เพื่อให้ทรัพย์สิน สิทธิ หรือประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งที่พิพาทให้ได้รับการคุ้มครองไว้ก่อนพิพากษา แต่ที่ดินที่ขายฝากยังเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยอยู่  จำเลยย่อมมีสิทธิในดอกผลและผลประโยชน์อันเกิดจากที่ดินที่ขายฝาก  โจทก์หามีสิทธิได้ไม่  โจทก์ไม่ได้เสียหายอะไร โจทก์ไม่มีอะไรให้คุ้มครอง ศาลชอบที่จะมีคำสั่งให้ยกคำร้องของโจทก์

ข้อ 4.       ในคดีแพ่งเรื่องหนึ่ง ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้จำเลยเป็นฝ่ายแพ้คดี ให้จำเลยไป    จดทะเบียนโอนบ้านและที่ดินให้โจทก์ฐานผิดสัญญาจะซื้อจะขาย หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา ให้โจทก์ถือ    คำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย และให้โจทก์นำเงินค่าที่ดินที่ยังขาดอยู่อีก 10 ล้านบาทมาชำระให้จำเลย จำเลยไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลล่าง จำเลยฎีกา แต่จำเลยก็ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลล่าง โจทก์ได้ดำเนินการบังคับคดีโดยนำคำพิพากษาของศาลไปจดทะเบียนโอนที่ดินมาเป็นของโจทก์ ต่อมาศาลฎีกามีคำพิพากษาให้จำเลยเป็นฝ่ายชนะคดี  และศาลชั้นต้นไม่ได้ออกคำบังคับแก่โจทก์

ดังนี้ จำเลยมาถามท่านว่า จำเลยจะขอให้ศาลออกคำบังคับแก่โจทก์ ให้โจทก์นำเงินค่าที่ดินที่ยังขาดอยู่ 10 ล้านบาทมาชำระให้จำเลยได้หรือไม่  ท่านจะให้คำตอบแก่จำเลยอย่างไร เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย มาตรา 271 (7 คะแนน)

ศาลฎีกามีคำพิพากษาให้จำเลยเป็นฝ่ายชนะคดีก็เพียงแต่มีคำพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์  ศาลฎีกาหาได้บังคับโจทก์ให้โจทก์นำเงินค่าที่ดินที่ยังขาดอยู่มาชำระให้จำเลยไม่  เมื่อศาลฎีกามิได้บังคับให้โจทก์ต้องปฏิบัติ จำเลยจะร้องขอให้บังคับให้โจทก์ปฏิบัติไม่ได้ จำเลยไม่ใช่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตามมาตรา 271  จำเลยจะร้องขอให้ศาลออกคำบังคับแก่โจทก์ไม่ได้

Advertisement