การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2557

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3007 กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 2

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. โจทก์ฟ้องว่าจําเลยทําหนังสือสัญญากู้เงินโจทก์ไป 300,000 บาท ถึงกําหนดแล้วจําเลยไม่ชําระโจทก์มีหนังสือทวงถามไปยังจําเลยให้ชําระหนี้ แต่จําเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจําเลยชําระเงิน 300,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชําระเสร็จ จําเลยให้การว่าจําเลย ไม่เคยกู้เงินโจทก์ และคดีขาดอายุความเพราะโจทก์ยื่นฟ้องเกิน 10 ปีแล้ว ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว เห็นว่าคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความและจําเลยได้กู้เงินโจทก์จริง พิพากษาให้จําเลยชําระหนี้ตามฟ้อง ให้แก่โจทก์ จําเลยอุทธรณ์ว่าจําเลยไม่เคยกู้เงินโจทก์ สัญญากู้ที่โจทก์นํามาฟ้องเป็นสัญญาปลอม ทั้งฉบับและมิได้ปิดอากรแสตมป์รับฟังเป็นพยานหลักฐานไม่ได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 113

ศาลชั้นต้นสังรับอุทธรณ์ของจําเลย ดังนี้ให้วินิจฉัยว่า ศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยอุทธรณ์ของจําเลยในประเด็นขอใดบ้าง เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 224 วรรคแรก “ในคดีที่ราคาทรัพย์สินหรือจํานวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ ไม่เกินห้าหมื่นบาทหรือไม่เกินจํานวนที่กําหนดในพระราชกฤษฎีกา ห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง เว้นแต่ ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีนั้นในศาลชั้นต้นได้ทําความเห็นแย้งไว้หรือได้รับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ได้ หรือถ้า ไม่มีความเห็นแย้งหรือคํารับรองเช่นว่านี้ต้องได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์เป็นหนังสือจากอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น หรืออธิบดีผู้พิพากษาภาคผู้มีอํานาจ แล้วแต่กรณี”

มาตรา 225 “ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่จะยกขึ้นอ้างในการยื่นอุทธรณ์นั้นคู่ความจะต้อง กล่าวไว้โดยชัดแจ้งในอุทธรณ์ และต้องเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ทั้งจะต้องเป็นสาระแก่คดี อันควรได้รับการวินิจฉัยด้วย

ถ้าคู่ความฝ่ายใดมิได้ยกปัญหาข้อใดอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนขึ้นกล่าว ในศาลชั้นต้น หรือคู่ความฝ่ายใดไม่สามารถยกปัญหาข้อกฎหมายใด ๆ ขึ้นกลาวในศาลชั้นต้นเพราะพฤติการณ์ไม่ เปิดช่องให้กระทําได้ หรือเพราะเหตุเป็นเรื่องที่ไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติว่าด้วยกระบวนพิจารณาชั้นอุทธรณ์ คู่ความที่เกี่ยวข้องย่อมมีสิทธิที่จะยกขึ้นอ้างซึ่งปัญหาเช่นว่านั้นได้”

วินิจฉัย

ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 225 ได้กําหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายในการยืนอุทธรณ์นั้น

1 ต้องกล่าวไว้โดยชัดแจ้งในอุทธรณ์

2 ต้องเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น และ

3 อุทธรณ์นั้นไม่ว่าในปัญหาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมาย ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายนั้นจะต้องเป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยด้วย

เว้นแต่ จะต้องด้วยหลักเกณฑ์อย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ แม้จะไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวมาแล้ว โดยชอบในศาลชั้นต้น ก็ยังมีสิทธิที่จะยกขึ้นกล่าวอ้างเพื่ออุทธรณ์ในชั้นอุทธรณ์ได้ คือ

1 เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือ

2 เป็นปัญหาที่คู่ความฝ่ายใดไม่สามารถยกข้อกฎหมายใด ๆ ขึ้นกล่าวในศาลชั้นต้นเพราะพฤติการณ์ไม่เปิดช่องให้กระทําได้ หรือ

3 เพราะเหตุเป็นเรื่องศาลชั้นต้นที่ไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติว่าด้วยกระบวนพิจารณาชั้นอุทธรณ์

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์ฟ้องว่าจําเลยทําหนังสือสัญญากู้เงินโจทก์ไป 300,000 บาท ถึงกําหนดแล้วจําเลยไม่ชําระ จําเลยให้การว่าจําเลยไม่เคยกู้เงินโจทก์และคดีขาดอายุความเพราะโจทก์ยื่นฟ้องเป็น 10 ปีแล้วนั้น เมื่อศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่าคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความและจําเลยได้กู้เงินโจทก์จริง จึงพิพากษา ให้จําเลยชําระหนี้ตามฟ้องแก่โจทก์ ดังนี้จําเลยย่อมอุทธรณ์ได้ทั้งปัญหาข้อกฎหมายและปัญหาข้อเท็จจริง เพราะ กรณีนี้ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามมาตรา 224 วรรคแรก แต่การอุทธรณ์ทั้งปัญหาข้อกฎหมาย และปัญหาข้อเท็จจริงนั้น จะต้องอยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 225 ดังที่ได้กล่าวไว้ด้วย

จากข้อเท็จจริง การที่จําเลยอุทธรณ์ว่าจําเลยไม่เคยกู้เงินโจทก์ สัญญากู้ที่โจทก์นํามาฟ้องเป็น สัญญาปลอมทั้งฉบับ และมิได้ปิดอากรแสตมป์รับฟังเป็นพยานหลักฐานไม่ได้ตามประมวลรัษฎากร ซึ่งศาลชั้นต้น สั่งรับอุทธรณ์ของจําเลยนั้น กรณีเช่นนี้ ศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยอุทธรณ์ของจําเลยในประเด็นข้อใดบ้างนั้น แยกวินิจฉัย ได้ดังนี้

1 ประเด็นที่จําเลยอุทธรณ์ว่าจําเลยไม่เคยกู้เงินโจทก์นั้น เป็นการอุทธรณ์ในปัญหา ข้อเท็จจริงและเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ในข้อนี้ ไว้จึงชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น ศาลอุทธรณ์ต้องรับวินิจฉัยในประเด็นนี้

2 ประเด็นที่จําเลยอุทธรณ์ว่าสัญญากู้ที่โจทก์นํามาฟ้องเป็นสัญญาปลอมทั้งฉบับนั้น เป็นการอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง และเมื่อปรากฏว่าจําเลยมิได้ให้การต่อสู้ในประเด็นดังกล่าวไว้ในศาลชั้นต้น จึงถือได้ว่า เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น และมิใช่ปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามมาตรา 225 วรรคแรก การที่ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ไว้จึงมิชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น ศาลอุทธรณ์จึงไม่สามารถรับวินิจฉัยในประเด็นข้อนี้

3 ประเด็นที่จําเลยอุทธรณ์ว่าสัญญากู้มิได้ปิดอากรแสตมป์รับฟังเป็นพยานหลักฐาน ไม่ได้ตามประมวลรัษฎากรนั้น ศาลจะรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้หรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วย ความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น จําเลยก็ยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นอุทธรณ์ ได้ตามมาตรา 225 วรรคสอง การที่ศาลอุทธรณ์รับอุทธรณ์ของจําเลยในข้อนี้จึงชอบแล้ว ดังนั้นศาลอุทธรณ์ต้องรับ วินิจฉัยในประเด็นข้อนี้

สรุป

ศาลอุทธรณ์จะรับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจําเลยเฉพาะในประเด็นที่ว่าจําเลยไม่เคยกู้เงิน โจทก์ และสัญญากู้มิได้ปิดอากรแสตมป์รับฟังเป็นพยานหลักฐานไม่ได้เท่านั้น ส่วนประเด็นที่ว่าสัญญากู้ที่โจทก์ นํามาฟ้องเป็นสัญญาปลอมทั้งฉบับนั้น ศาลอุทธรณ์ไม่สามารถรับวินิจฉัยในประเด็นข้อนี้ได้

 

ข้อ 2. โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจําเลยชําระเงินที่จําเลยกู้ยืมจากโจทก์จํานวน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชําระเสร็จแก่โจทก์ จําเลยให้การปฏิเสธว่าไม่เคย กู้ยืมเงินและรับเงินจากโจทก์เลย ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์เสร็จและนัดสืบพยานจําเลย ถึงวันนัดสืบพยานจําเลย จําเลยยื่นคําร้องขอให้ศาลชั้นต้นไปเดินเผชิญสีบบ้านเช่าที่จําเลยอาศัย ว่ามีสภาพทรุดโทรม ไม่มีความน่าเชื่อถือว่าโจทก์จะให้จําเลยกู้ยืมเงินตามฟ้อง ศาลชั้นต้นมีคําสั่งว่า ไม่มีเหตุสมควรให้ยกคําร้อง จําเลยยื่นคําร้องโต้แย้งคําสั่งดังกล่าว ศาลชั้นต้นมีคําพิพากษาให้จําเลย ชําระเงิน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชําระเสร็จ แก่โจทก์ ให้วินิจฉัยว่า จําเลยมีสิทธิอุทธรณ์ว่าคดีมีเหตุสมควรที่ศาลชั้นต้นจะไปเดินเผชิญสืบบ้านเขา ของจําเลยได้หรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 190 “จํานวนทุนทรัพย์หรือราคาอันพิพาทกันในคดีนั้น ให้คํานวณดังนี้

(1) จํานวนทุนทรัพย์หรือราคานั้น ให้คํานวณตามคําเรียกร้องของโจทก์ ส่วนดอกผลอันมิถึงกําหนดเกิดขึ้นในเวลายื่นคําฟ้องหรือค่าธรรมเนียมศาลซึ่งอาจเป็นอุปกรณ์รวมอยู่ในคําเรียกร้องห้ามไม่ให้ คํานวณรวมเข้าด้วย”

มาตรา 224 วรรคแรก “ในคดีที่ราคาทรัพย์สินหรือจํานวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ ไม่เกินห้าหมื่นบาทหรือไม่เกินจํานวนที่กําหนดในพระราชกฤษฎีกา ห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง เว้นแต่ ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีนั้นในศาลชั้นต้นได้ทําความเห็นแย้งไว้หรือได้รับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ได้ หรือ ถ้าไม่มีความเห็นแย้งหรือคํารับรองเช่นว่านี้ต้องได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์เป็นหนังสือจากอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น หรืออธิบดีผู้พิพากษาภาคผู้มีอํานาจ แล้วแต่กรณี”

มาตรา 226 “ก่อนศาลชั้นต้นได้มีคําพิพากษาหรือคําสั่งชี้ขาดตัดสินคดี ถ้าศาลนั้นได้มีคําสั่ง อย่างใดอย่างหนึ่งนอกจากที่ระบุไว้ในมาตรา 227 และ 228

(1) ห้ามมิให้อุทธรณ์คําสั่งนั้นในระหว่างพิจารณา

(2) ถ้าคู่ความฝ่ายใดโต้แย้งคําสั่งใด ให้ศาลจดข้อโต้แย้งนั้นลงไว้ในรายงาน ค่ความที่ โต้แย้งชอบที่จะอุทธรณ์คําสั่งนั้นได้ภายในกําหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ศาลได้มีคําพิพากษา หรือคําสั่งชี้ขาด ตัดสินคดีนั้นเป็นต้นไป

เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ไม่ว่าศาลจะได้มีคําสั่งให้รับคําฟ้องไว้แล้วหรือไม่ ให้ถือว่า คําสั่ง อย่างใดอย่างหนึ่งของศาลนับตั้งแต่มีการยื่นคําฟ้องต่อศาลนอกจากที่ระบุไว้ในมาตรา 227 และ 228 เป็นคําสั่ง ระหว่างพิจารณา”

มาตรา 227 “คําสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับหรือให้คืนคําคู่ความตามมาตรา 18 หรือคําสั่งวินิจฉัย ชี้ขาดเบื้องต้นตามมาตรา 24 ซึ่งทําให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่องนั้น มิให้ถือว่าเป็นคําสั่งในระหว่างพิจารณา และให้อยู่ภายใน ข้อบังคับของการอุทธรณ์คําพิพากษาหรือคําสั่งชี้ขาดตัดสินคดี”

มาตรา 228 วรรคแรกและวรรคสอง “ก่อนศาลชี้ขาดตัดสินคดี ถ้าศาลมีคําสั่งอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ คือ

(1) ให้กักขัง หรือปรับไหม หรือจําขัง ผู้ใด ตามประมวลกฎหมายนี้

(2) มีคําสั่งอันเกี่ยวด้วยคําขอเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของคู่ความในระหว่างการพิจารณา หรือ มีคําสั่งอันเกี่ยวด้วยคําขอเพื่อจะบังคับคดีตามคําพิพากษาต่อไป หรือ

(3) ไม่รับหรือคืนคําคู่ความตามมาตรา 18 หรือวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นตามมาตรา 24 ซึ่งมิได้ ทําให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่อง หากเสร็จไปเฉพาะแต่ประเด็นบางข้อ

คําสั่งเช่นว่านี้ คู่ความย่อมอุทธรณ์ได้ภายในกําหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันมีคําสั่งเป็นต้นไป”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ คําสั่งศาลชั้นต้นที่เห็นว่าไม่มีเหตุสมควรที่จะไปเดินเผชิญสืบบ้านเช่าของ จําเลยและยกคําร้องของจําเลยนั้น เป็นคําสั่งใด ๆ ของศาลชั้นต้นก่อนที่ศาลนั้นจะได้มีคําพิพากษาหรือคําสั่งชี้ขาด ตัดสินคดี และมิใช่คําสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 227 และ 228 ทั้งไม่ทําให้คดีนั้นเสร็จไปจากศาล จึงเป็นคําสั่งระหว่างพิจารณาซึ่งห้ามมิให้อุทธรณ์คําสั่งนั้นในระหว่างพิจารณาและคู่ความฝ่ายที่โต้แย้งชอบที่จะ อุทธรณ์คําสั่งนั้นได้ภายในกําหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ศาลได้มีคําพิพากษาตามมาตรา 226 (1) (2)

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อคําสั่งระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นดังกล่าวเป็นกรณีที่ศาลใช้ดุลพินิจ ในการดําเนินกระบวนพิจารณาอันเป็นข้อเท็จจริงมิใช่ข้อกฎหมาย ดังนั้นอุทธรณ์ของจําเลยที่ว่า คดีมีเหตุสมควร ที่ศาลชั้นต้นจะไปเดินเผชิญสืบบ้านเช่าของจําเลย จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง และต้องอยู่ภายใต้บังคับ ของมาตรา 224 ด้วย

เมื่อตามข้อเท็จจริง คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จําเลยชําระเงิน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย อัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชําระเสร็จแก่โจทก์ และดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชําระเสร็จ เป็นดอกผลอันยังมิได้ถึงกําหนดเกิดขึ้นในเวลาที่ยื่นฟ้องตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 190 (1) บัญญัติห้ามมิให้คํานวณ รวมเข้าด้วยเป็นจํานวนทุนทรัพย์ในคดี ดังนั้นอุทธรณ์ของจําเลยจึงเป็นคดีที่จํานวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันใน ชั้นอุทธรณ์ไม่เกิน 50,000 บาท ซึ่งมาตรา 224 วรรคแรก ห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงอุทธรณ์คําสั่ง ระหว่างพิจารณาของจําเลยในปัญหาข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามมาตรา 224 วรรคแรกด้วย แม้ว่าจําเลยจะได้โต้แย้งคําสั่งนั้นไว้แล้วก็ตาม ดังนั้น จําเลยจึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์ว่า คดีมีเหตุสมควรที่ศาลชั้นต้น จะไปเดินเผชิญสืบบ้านเช่าของจําเลยได้

สรุป จําเลยไม่มีสิทธิอุทธรณ์ว่า คดีมีเหตุสมควรที่ศาลชั้นต้นจะไปเดินเผชิญสืบบ้านเช่าของจําเลยได้

 

 

ข้อ 3. (ก) ถ้าท่านเป็นศาล ท่านมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาอนุญาตตามคําขอวิธีการชั่วคราวก่อนมีคําพิพากษาตามมาตรา 264 อย่างไร

(ข) โจทก์ฟ้องขอให้ศาลบังคับขับไล่จําเลย ให้ออกไปจากบ้านและที่ดินของโจทก์ จําเลยต่อสู้ว่าบ้านและที่ดินที่พิพาทเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตาย และจําเลยก็เป็นทายาทของผู้ตาย ขอให้ศาลยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่าบ้านและที่ดินที่พิพาทเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตาย และโจทก์กับ จําเลยต่างก็เป็นทายาทของผู้ตาย และมีคําพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ โจทก์อุทธรณ์ก่อนที่ ศาลชั้นต้นจะส่งสํานวนความที่อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์ จําเลยร้องขอให้ศาลมีคําสั่งให้โจทก์ นําค่าเช่าอันเกิดจากบ้านและที่ดินที่พิพาทมาวางต่อศาล ศาลไต่สวนแล้วเห็นว่าบ้านและที่ดิน ที่พิพาทมีรายได้ค่าเช่าและโจทก์รับไปฝ่ายเดียว และมีคําสั่งให้โจทก์นําค่าเช่าอันเกิดจาก บ้านที่ดินที่พิพาทมาวางต่อศาลไว้ก่อนมีคําพิพากษา ดังนี้ ศาลใดเป็นศาลที่มีอํานาจสั่งคําร้องของจําเลย และคําสั่งให้โจทก์นําค่าเช่าอันเกิดจากบ้านที่ดินที่พิพาทมาวางต่อศาลชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 254 วรรคท้าย “ในระหว่างระยะเวลานับแต่ศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ได้อ่าน คําพิพากษา หรือคําสั่งชี้ขาดคดีหรือชี้ขาดอุทธรณ์ไปจนถึงเวลาที่ศาลชั้นต้นได้ส่งสํานวนความที่อุทธรณ์หรือฎีกา ไปยังศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา แล้วแต่กรณี คําขอตามมาตรานี้ให้ยื่นต่อศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นมีอํานาจที่จะสั่ง อนุญาตหรือยกคําขอเช่นว่านี้”

มาตรา 264 “นอกจากกรณีที่บัญญัติไว้ในมาตรา 253 และมาตรา 254 คู่ความชอบที่จะ ยื่นคําขอต่อศาล เพื่อให้มีคําสั่งกําหนดวิธีการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้ขอในระหว่างการพิจารณาหรือเพื่อบังคับ ตามคําพิพากษา เช่น ให้นําทรัพย์สินหรือเงินที่พิพาทมาวางต่อศาลหรือต่อบุคคลภายนอก หรือให้ตั้งผู้จัดการหรือ ผู้รักษาทรัพย์สินของห้างร้านที่ทําการค้าที่พิพาท หรือให้จัดให้บุคคลผู้ไร้ความสามารถอยู่ในความปกครองของ บุคคลภายนอก

คําขอตามวรรคหนึ่งให้บังคับตามมาตรา 21 มาตรา 25 มาตรา 227 มาตรา 228 มาตรา 260 และมาตรา 262”

วินิจฉัย

(ก) ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาล การที่ข้าพเจ้าจะอนุญาตตามคําขอวิธีการชั่วคราวก่อนมีคําพิพากษาตาม มาตรา 264 นั้น ข้าพเจ้าจะต้องพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นการคุ้มครองประโยชน์ของผู้ขอเพื่อให้ทรัพย์สิน สิทธิ หรือ ประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งที่พิพาทให้ได้รับการคุ้มครองไว้ก่อนมีคําพิพากษา หมายความว่า หากผู้ขอไม่มาขอ ต่อมาผู้ขอเป็นฝ่ายชนะคดี ผู้ขอจะเสียสิทธิในทรัพย์สิน สิทธิ หรือประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งที่พิพาท

(ข) กรณีตามอุทาหรณ์ การที่จําเลยร้องขอให้ศาลมีคําสั่งให้โจทก์นําค่าเช่ามาวางต่อศาลไว้ ก่อน มีคําพิพากษานั้น ถือว่าเป็นการขอวิธีการชั่วคราวเพื่อคุ้มครองประโยชน์จําเลยตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 264 ในระหว่างอุทธรณ์ ดังนั้นประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่า ศาลใดมีอํานาจสั่งคําร้องของจําเลย

กรณีนี้เห็นว่า เมื่อศาลอุทธรณ์เป็นศาลที่คดีนี้อยู่ในระหว่างพิจารณา แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่า ศาลชั้นต้นจะยังไม่ได้ส่งสํานวนความที่อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์ก็ตาม ศาลที่มีอํานาจสั่งคําร้องของจําเลย จึง หมายถึงศาลอุทธรณ์ มิใช่ศาลชั้นต้น และกรณีการยื่นคําขอคุ้มครองประโยชน์ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 264 นั้น มิให้นําบทบัญญัติมาตรา 254 วรรคท้ายมาใช้บังคับ ดังนั้นศาลชั้นต้นจึงไม่มีอํานาจสั่งคําร้องของจําเลย

ส่วนประเด็นที่ต้องวินิจฉัยต่อมาคือการที่ศาลมีคําสั่งให้โจทก์นําค่าเช่ามาวางต่อศาลไว้ก่อนมี คําพิพากษาชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่าในการพิจารณาอนุญาตตามคําร้องที่จําเลยยื่นต่อศาล ศาลจําต้องไต่สวน แล้วเห็นว่าเป็นการคุ้มครองประโยชน์ของผู้ขอเพื่อให้ทรัพย์สิน สิทธิ หรือประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งที่พิพาทกัน ให้ได้รับการคุ้มครองไว้ก่อนมีคําพิพากษาตามมาตรา 264 แต่คดีนี้จําเลยให้การต่อสู้เพียงให้ยกฟ้องโจทก์ หาได้ ฟ้องแย้งเรียกค่าเช่ามาด้วย หากจําเลยเป็นฝ่ายชนะคดี ศาลก็เพียงพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ และอาจให้โจทก์รับผิด ค่าธรรมเนียมและค่าทนายความแทนจําเลยหาใช่เป็นการคุ้มครองประโยชน์ของผู้ขอไม่ ดังนั้นการที่ศาลมีคําสั่ง ให้โจทก์นําค่าเช่ามาวางต่อศาลไว้ก่อนมีคําพิพากษาจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 264

สรุป ศาลอุทธรณ์เป็นศาลที่มีอํานาจสั่งคําร้องของจําเลย และคําสั่งให้โจทก์นําค่าเช่ามาวาง ต่อศาลไว้ก่อนมีคําพิพากษาไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ 4. คดีแพ่งเรื่องหนึ่ง ในวันนัดฟังคําพิพากษา โจทก์และจําเลยมาศาล ศาลชั้นต้นอ่านคําพิพากษาให้คู่ความฟังโดยศาลชั้นต้นมีคําพิพากษาให้จําเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่พิพาทให้แก่โจทก์ โจทก์และจําเลยได้ลงชื่อในรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นมีข้อความว่า ศาลได้อ่าน คําพิพากษาให้ฟังแล้ว และให้จําเลยปฏิบัติตามคําพิพากษาภายใน 30 วัน มิฉะนั้นอาจถูกบังคับ ยึดทรัพย์หรือถูกจับและจําขังตามกฎหมาย อีกสองเดือนถัดมา โจทก์ยื่นคําขอต่อศาลชั้นต้นว่า จําเลยไม่ยอมปฏิบัติตามคําพิพากษา ขอให้ศาลชั้นต้นมีคําสั่งจับกุมและจําขังจําเลยตามคําสั่งของศาล ศาลชั้นต้นมีคําสั่งว่า กรณีเป็นเรื่องที่โจทก์ต้องขอให้ออกหมายบังคับคดี ให้ยกคําขอของโจทก์ ให้วินิจฉัยว่า คําสั่งศาลชั้นต้นที่ยกคําขอของโจทก์โดยเห็นว่าโจทก์ต้องขอให้ออกหมายบังคับคดี ก่อนชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 271 “ถ้าคู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายแพ้คดี (ลูกหนี้ตามคําพิพากษา) มิได้ปฏิบัติตาม คําพิพากษาหรือคําสั่งของศาลทั้งหมดหรือบางส่วน คู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะ (เจ้าหนี้ตามคําพิพากษา) ชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคําพิพากษา หรือคําสั่งนั้นได้ภายในสิบปีนับแต่วันมีคําพิพากษาหรือคําสั่ง โดยอาศัย และตามคําบังคับที่ออกตามคําพิพากษาหรือคําสั่งนั้น”

มาตรา 272 “ถ้าศาลได้พิพากษาหรือมีคําสั่งอย่างใดซึ่งจะต้องมีการบังคับคดี ก็ให้ศาลมีคํา บังคับกําหนดวิธีที่จะปฏิบัติตามคําบังคับในวันที่ได้อ่านคําพิพากษาหรือคําสั่ง และให้เจ้าพนักงานศาลส่งคําบังคับนั้น ไปยังลูกหนี้ตามคําพิพากษา เว้นแต่ลูกหนี้ตามคําพิพากษาได้อยู่ในศาลในเวลาที่ศาลมีคําบังคับนั้น และศาลได้สั่ง ให้ลงลายมือชื่อไว้เป็นสําคัญ”

มาตรา 273 วรรคแรกและวรรคท้าย “ถ้าในคําบังคับได้กําหนดให้ใช้เงิน หรือให้ส่งทรัพย์สิน หรือให้กระทําการ หรืองดเว้นการกระทําการอย่างใด ๆ ให้ศาลระบุไว้ในคําบังคับนั้นโดยชัดแจ้ง ซึ่งระยะเวลาและ เงื่อนไขอื่น ๆ อันจะต้องใช้เงิน ส่งทรัพย์สิน กระทําการหรืองดเว้นกระทําการใด ๆ นั้น

นอกจากนี้ให้ศาลระบุไว้โดยชัดแจ้งในคําบังคับว่าในกรณีที่มิได้มีการปฏิบัติตามคําบังคับเช่น ว่านี้ภายในระยะเวลาหรือภายในเงื่อนไขที่ได้กําหนดไว้ ลูกหนี้ตามคําพิพากษาจะต้องถูกยึดทรัพย์ หรือถูกจับ และจําขังดังที่บัญญัติไว้ในหมวดนี้”

มาตรา 275 วรรคแรก “ถ้าเจ้าหนี้ตามคําพิพากษาจะขอให้บังคับคดี ให้ยื่นคําขอฝ่ายเดียว ต่อศาลเพื่อให้ออกหมายบังคับคดี”

มาตรา 296 ทวิ วรรคแรก “ในกรณีที่ลูกหนี้ตามคําพิพากษาถูกพิพากษาให้ขับไล่ หรือ ต้องออกไป หรือต้องรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัยหรือทรัพย์ที่ครอบครอง ถ้าลูกหนี้ ตามคําพิพากษาไม่ปฏิบัติตามคําบังคับ เจ้าหนี้ตามคําพิพากษาขอบที่จะยื่นคําขอฝ่ายเดียวโดยทําเป็นคําร้องต่อ ศาลให้มีคําสั่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีให้จัดการให้เจ้าหนี้ตามคําพิพากษาเข้าครอบครองทรัพย์ดังกล่าว”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ศาลชั้นต้นได้อ่านคําพิพากษาให้แก่โจทก์และจําเลยฟัง แล้วคู่ความ ทั้งสองฝ่ายได้ลงลายมือชื่อไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาการอ่านคําพิพากษาของศาลชั้นต้น โดยมีข้อความว่า ให้จําเลยปฏิบัติตามคําพิพากษาที่ให้จําเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่พิพาทให้แก่โจทก์ภายใน 30 วัน มิฉะนั้นอาจถูกบังคับยึดทรัพย์หรือถูกจับและจําขังตามกฎหมาย อันถือได้ว่าเป็นคําบังคับที่กําหนดวิธีที่จะปฏิบัติ ตามคําพิพากษา โดยมีข้อความระบุไว้โดยชัดแจ้งในคําบังคับว่า ในกรณีที่มิได้มีการปฏิบัติตามคําบังคับภายใน ระยะเวลาที่ได้กําหนดไว้ จําเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคําพิพากษาจะต้องถูกยึดทรัพย์หรือถูกจับและจําขังตามที่บัญญัติไว้ ในลักษณะ 2 ว่าด้วยการบังคับคดีตามคําพิพากษาหรือคําสั่งตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 272 และมาตรา 273 วรรคท้าย ย่อมถือว่าจําเลยได้ทราบคําบังคับแล้วในวันที่ศาลได้อ่านคําพิพากษา ดังนั้น เมื่อจําเลยมิได้ปฏิบัติตามคําพิพากษา โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคําพิพากษาจึงมีสิทธิร้องขอให้บังคับคดีตามคําพิพากษานั้นได้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 271

ส่วนการร้องขอให้บังคับคดีตามคําพิพากษาของศาลที่ให้จําเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ ที่ดินที่พิพาทให้แก่โจทก์นั้น เป็นการบังคับให้จําเลยทํานิติกรรมมิใช่การบังคับคดีที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา ความแพ่งกําหนดให้ต้องดําเนินการโดยทางเจ้าพนักงานบังคับคดีเหมือนอย่างการบังคับคดีตามคําพิพากษา หรือคําสั่ง กําหนดให้ชําระเงิน หรือลูกหนี้ตามคําพิพากษาถูกพิพากษาให้ขับไล่ หรือต้องออกไป หรือต้องรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ออกไปจากอสังหาริมทรัพย์ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 273 วรรคแรก และมาตรา 296 ทวิ วรรคแรก จึงมิใช่เป็นกรณีที่ โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคําพิพากษาจะต้องขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 275 ดังนั้น คําสั่งศาลชั้นต้นที่ให้โจทก์ขอให้ออกหมายบังคับคดีก่อนจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สรุป คําสั่งศาลชั้นต้นที่ยกคําขอของโจทก์โดยเห็นว่าโจทก์ต้องขอให้ออกหมายบังคับคดี ก่อนเป็นคําสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

Advertisement