การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2555
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3007 กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 2
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1. โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท จําเลยก่อสร้างรั้วรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ทางด้านทิศตะวันตกประมาณ 10 ตารางวา ขอให้บังคับจําเลยรื้อถอนรั้วที่ปลูกสร้างรุกล้ำออกไป จากที่ดินของโจทก์และทําให้ที่ดินของโจทก์อยู่ในสภาพเรียบร้อย จําเลยให้การว่าจําเลยมิได้ ก่อสร้างรั้วรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ทางด้านทิศตะวันตก การก่อสร้างรั้วของจําเลยทําโดยสุจริต ตามความเป็นจริง ตามแนวที่ดินที่จําเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ นับแต่จําเลยได้รับโอนกรรมสิทธิ์ ในที่ดินพิพาทมาจากเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินเดิม จําเลยครอบครองที่ดินพิพาทส่วนที่ติดกับที่ดิน ของโจทก์ตั้งแต่จําเลยได้รับโอนมาจนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 10 ปีแล้วโดยสงบเปิดเผยด้วยเจตนา เป็นเจ้าของ ขอให้ยกฟ้อง ขณะยื่นฟ้องที่ดินพิพาทมีราคา 50,000 บาท ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ว่าแนวเขตที่ดินของโจทก์จําเลยอยู่กลางคูน้ํา รั้วไม้ไผ่ที่จําเลยกั้นรุกล้ำเข้าไปในที่ดิน ของโจทก์และกันไม่ถึง 10 ปี จําเลยจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ และในวันที่โจทก์ ยื่นอุทธรณ์ที่ดินพิพาทมีราคาเพิ่มขึ้นเป็น 200,000 บาท ศาลชั้นต้นมีคําสั่งรับอุทธรณ์
ให้วินิจฉัยว่า คําสั่งศาลชั้นต้นที่ให้รับอุทธรณ์โจทก์ไว้พิจารณาเป็นคําสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 224 วรรคแรก “ในคดีที่ราคาทรัพย์สินหรือจํานวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ ไม่เกินห้าหมื่นบาทหรือไม่เกินจํานวนที่กําหนดในพระราชกฤษฎีกา ห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง เว้นแต่ ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีนั้นในศาลชั้นต้นได้ทําความเห็นแย้งไว้หรือได้รับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ได้ หรือ ถ้าไม่มีความเห็นแย้งหรือคํารับรองเช่นว่านี้ต้องได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์เป็นหนังสือจากอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น หรืออธิบดีผู้พิพากษาภาคผู้มีอํานาจ แล้วแต่กรณี
วินิจฉัย
ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 224 วรรคแรก ที่ได้กําหนดว่า ในคดีที่ราคาทรัพย์สินหรือจํานวนทุนทรัพย์ ที่พิพาทกันไม่เกิน 50,000 บาท ห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงนั้น ราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือ จํานวนทุนทรัพย์ที่พิพาทให้ถือเอาทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์เป็นหลักในการพิจารณา มิใช่ทุนทรัพย์ ที่ว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้น
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์ฟ้องว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ จําเลยสร้างรั้วรุกล้ำ เข้ามาทางทิศตะวันตกเป็นเนื้อที่ 10 ตารางวา ขอให้ศาลพิพากษาบังคับให้จําเลยรื้อถอนรั้วออกไปจากที่ดินพิพาท ของโจทก์ และการที่จําเลยให้การต่อสู้ว่า จําเลยกั้นรั้วตามแนวเขตที่ดินของจําเลยซึ่งจําเลยได้กรรมสิทธิ์มาโดย การครอบครองปรปักษ์จึงเป็นข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์ ซึ่งถือว่าเป็นคดีมีทุนทรัพย์ และแม้โจทก์จะมีคําขอให้จําเลย รื้อถอนริ้วที่รุกล้ำออกไปจากที่ดินพิพาทอยู่ด้วยก็ตาม แต่เมื่อประเด็นสําคัญของคดีนี้อยู่ที่ว่าที่ดินพิพาทเป็น กรรมสิทธิ์ของโจทก์หรือจําเลย และคําขอให้รื้อถอนริ้วออกไปเป็นผลต่อเนื่องในเรื่องกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทเท่านั้น เรียกไม่ได้ว่าเป็นคดีมีคําขอปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคํานวณเป็นราคาเงินได้ที่แยกกันได้จากคําขอปลดเปลื้องทุกข์ อันอาจคํานวณเป็นราคาเงินได้ จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์อย่างเดียว
การที่โจทก์อุทธรณ์ว่า แนวเขตที่ดินของโจทก์จําเลยอยู่กลางคูน้ำ รั้วไม้ไผ่ที่จําเลยกั้นรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์และกั้นไม่ถึง 10 ปี จําเลยจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์นั้น เป็นการอุทธรณ์ โต้เถียงในข้อเท็จจริง จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
และที่ว่าราคาทรัพย์สินหรือจํานวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันให้ถือเอาทุนทรัพย์ที่พิพาทกันใน ชั้นอุทธรณ์นั้น จะต้องถือตามราคาที่ดินพิพาทในขณะยื่นฟ้องคดีต่อศาลชั้นต้น แม้ในวันที่โจทก์ยื่นอุทธรณ์ ที่ดินพิพาทจะมีราคาเพิ่มขึ้นเป็น 200,000 บาทก็ตาม แต่เมื่อขณะยื่นฟ้องที่ดินพิพาทมีราคา 50,000 บาท จึงถือได้ว่า ราคาทรัพย์สินหรือจํานวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกิน 50,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 224 วรรคแรก ดังนั้นคําสั่งศาลชั้นต้นที่ให้รับอุทธรณ์โจทก์ไว้พิจารณาจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
สรุป คําสั่งศาลชั้นต้นที่ให้รับอุทธรณ์โจทก์ไว้พิจารณาเป็นคําสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อ 2. โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจําเลยชําระหนี้เงินกู้ยืมจํานวน 400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยผิดนัด จําเลยยื่นคําให้การต่อสู้คดีในวันสุดท้ายของเวลาที่ครบกําหนดยื่นคําให้การตามกฎหมาย ศาลชั้นต้นสั่งคําให้การ ในวันรุ่งขึ้นว่า จําเลยมิได้แนบในแต่งทนายความมาท้ายคําให้การ จึงไม่รับคําให้การและถือว่าจําเลย ขาดนัดยื่นคําให้การ วันเดียวกันจําเลยยื่นคําร้องขอให้เพิกถอนคําสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับคําให้การ และที่ถือว่าจําเลยขาดนัดยื่นคําให้การอ้างว่าเป็นการพิจารณาผิดระเบียบ ศาลชั้นต้นมีคําสั่งยกคําร้อง
ให้วินิจฉัยว่า จําเลยมีสิทธิอุทธรณ์คําสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับคําให้การ และยกคําร้องของจําเลยที่ขอให้เพิกถอนคําสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับคําให้การและที่ถือว่าจําเลยขาดนัดยื่นคําให้การทันทีได้หรือไม่
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 1 “ในประมวลกฎหมายนี้ ถ้าข้อความมิได้แสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น
(5) “คําคู่ความ” หมายความว่า บรรดาคําฟ้อง คําให้การหรือคําร้องทั้งหลายที่ยื่นต่อศาล เพื่อตั้งประเด็นระหว่างคู่ความ”
มาตรา 18 วรรคท้าย “คําสั่งของศาลที่ไม่รับหรือให้คืนคําคู่ความตามมาตรานี้ ให้อุทธรณ์ และฎีกาได้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 227, 228 และ 247”
มาตรา 226 “ก่อนศาลชั้นต้นได้มีคําพิพากษาหรือคําสั่งชี้ขาดตัดสินคดี ถ้าศาลนั้นได้มีคําสั่ง อย่างใดอย่างหนึ่งนอกจากที่ระบุไว้ในมาตรา 227 และ 228
(1) ห้ามมิให้อุทธรณ์คําสั่งนั้นในระหว่างพิจารณา
(2) ถ้าคู่ความฝ่ายใดโต้แย้งคําสั่งใด ให้ศาลจดข้อโต้แย้งนั้นลงไว้ในรายงาน คู่ความที่โต้แย้ง ชอบที่จะอุทธรณ์คําสั่งนั้นได้ภายในกําหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ศาลได้มีคําพิพากษา หรือคําสั่งชี้ขาดตัดสินคดีนั้น เป็นต้นไป
เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ไม่ว่าศาลจะได้มีคําสั่งให้รับคําฟ้องไว้แล้วหรือไม่ ให้ถือว่าคําสั่ง อย่างใดอย่างหนึ่งของศาลนับตั้งแต่มีการยื่นคําฟ้องต่อศาลนอกจากที่ระบุไว้ในมาตรา 227 และ 228 เป็นคําสั่ง ระหว่างพิจารณา”
มาตรา 227 “คําสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับหรือให้คืนคําคู่ความตามมาตรา 18 หรือคําสั่ง วินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นตามมาตรา 24 ซึ่งทําให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่องนั้น มิให้ถือว่าเป็นคําสั่งในระหว่างพิจารณา และ ให้อยู่ภายในข้อบังคับของการอุทธรณ์คําพิพากษาหรือคําสั่งชี้ขาดตัดสินคดี”
มาตรา 228 วรรคแรกและวรรคสอง “ก่อนศาลชี้ขาดตัดสินคดี ถ้าศาลมีคําสั่งอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้คือ
(3) ไม่รับหรือคืนคําคู่ความตามมาตรา 18 หรือวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นตามมาตรา 24 ซึ่ง มิได้ทําให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่อง หากเสร็จไปเฉพาะแต่ประเด็นบางข้อ
คําสั่งเช่นว่านี้ คู่ความย่อมอุทธรณ์ได้ภายในกําหนดหนึ่งเดือน นับแต่วันมีคําสั่งเป็นต้นไป” วินิจฉัย คําสั่งของศาลที่จะถือว่าเป็นคําสั่งในระหว่างพิจารณานั้น มีหลักเกณฑ์ดังนี้
1 จะต้องเป็นคําสั่งของศาลที่สั่งก่อนชี้ขาดตัดสินหรือจําหน่ายคดี
2 เมื่อศาลสั่งไปแล้วไม่ทําให้คดีเสร็จไปจากศาล กล่าวคือ ศาลยังต้องทําคดีนั้นต่อไป
3 ไม่ใช่คําสั่งตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 227 และมาตรา 228
เมื่อเป็นคําสั่งระหว่างพิจารณาแล้ว คู่ความจะอุทธรณ์คําสั่งทันทีไม่ได้ ต้องโต้แย้งคัดค้านคําสั่ง ไว้ก่อนจึงจะเกิดสิทธิอุทธรณ์คําสั่งนั้นตามมาตรา 226(2) ส่วนคําสั่งของศาลนอกเหนือจากหลักเกณฑ์ 3 ประการนี้ ไม่ถือว่าเป็นคําสั่งระหว่างพิจารณา จึงไม่อยู่ในบังคับที่ต้องโต้แย้งก่อนที่จะอุทธรณ์แต่ประการใด (อุทธรณ์ได้ทันที)
กรณีตามอุทาหรณ์ คําให้การเป็นคําคู่ความอย่างหนึ่งตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 1(5) เมื่อศาลชั้นต้น มีคําสั่งไม่รับคําให้การของจําเลยด้วยเหตุว่าจําเลยมิได้แนบใบแต่งทนายความมาท้ายคําให้การ ซึ่งเป็นคําสั่งใน ชั้นตรวจคําคู่ความของศาลชั้นต้นตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 18 จึงเป็นคําสั่งไม่รับคําคู่ความตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 18 ซึ่งมิได้ทําให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่อง หากแต่ทําให้ประเด็นบางข้อตามที่จําเลยยกขึ้นต่อสู้ในคําให้การเสร็จไปเท่านั้น จึงเป็นคําสั่งตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 228(3) ซึ่งไม่ถือว่าเป็นคําสั่งระหว่างพิจารณา อันจะต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ คําสั่งนั้นในระหว่างพิจารณาตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 226(1)
ดังนั้นจําเลยจึงมีสิทธิอุทธรณ์คําสั่งของศาลชั้นต้น ที่ไม่รับคําให้การของจําเลยได้ทันทีตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 228 วรรคสอง แม้คดีนั้นจะอยู่ในระหว่างพิจารณาของ ศาลชั้นต้นก็ตาม
ส่วนคําร้องของจําเลยที่ขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคําสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับคําให้การและที่ถือว่า จําเลยขาดนัดยื่นคําให้การนั้น เป็นเพียงคําร้องที่จําเลยอ้างว่าศาลชั้นต้นดําเนินกระบวนพิจารณาไปโดยผิดระเบียบ มิได้ตั้งประเด็นระหว่างคู่ความ เมื่อศาลชั้นต้นมีคําสั่งยกคําร้อง จึงมิใช่เป็นคําสั่งไม่รับหรือคืนคําคู่ความตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 227 และมาตรา 228 และถือว่าเป็นคําสั่งระหว่างพิจารณาต้องห้ามมิให้อุทธรณ์คําสั่งนั้น ในระหว่างพิจารณาตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 226(1) ดังนั้นจําเลยจึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์คําสั่งของศาลชั้นต้นที่ยกคําร้อง ของจําเลยที่ขอให้เพิกถอนคําสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับคําให้การ และที่ถือว่าจําเลยขาดนัดยื่นคําให้การในทันที ขณะคดีนั้นอยู่ในระหว่างพิจารณาได้
สรุป จําเลยมีสิทธิอุทธรณ์คําสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับคําให้การได้ทันที แต่จะอุทธรณ์คําสั่ง ของศาลชั้นต้นที่ยกคําร้องของจําเลยที่ขอให้เพิกถอนคําสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับคําให้การและที่ถือว่าจําเลยขาดนัด ยื่นคําให้การทันทีไม่ได้
ข้อ 3. โจทก์ฟ้องว่าจําเลยกระทําละเมิดลอกเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ทําให้โจทก์เสียหายขอให้ศาลบังคับจําเลย ห้ามมิให้จําเลยใช้เครื่องหมายการค้าที่พิพาท และให้จําเลยใช้ค่าเสียหาย แก่โจทก์เป็นเงิน 50,000 บาท จําเลยให้การต่อสู้ว่า จําเลยไม่ได้กระทําละเมิดลอกเลียนแบบ เครื่องหมายการค้าของโจทก์ ขอให้ศาลยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า จําเลยไม่ได้กระทํา ละเมิด ไม่ได้ลอกเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์ และมีคําพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ โจทก์ ไม่เห็นด้วย โจทก์อุทธรณ์ หลังจากที่ศาลชั้นต้นส่งสํานวนความที่อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์แล้ว โจทก์ยื่นคําร้องต่อศาล ขอให้มีคําสั่งห้ามมิให้จําเลยใช้เครื่องหมายการค้าไว้ก่อนมีคําพิพากษา ศาลให้ส่งสําเนาให้จําเลยคัดค้าน ในวันไต่สวน ศาลสืบพยานโจทก์จําเลยแล้วเห็นว่า จําเลยยังคงใช้ เครื่องหมายการค้าที่พิพาทอยู่ในระหว่างอุทธรณ์ และมีคําสั่งห้ามมิให้จําเลยใช้เครื่องหมายการค้า ที่พิพาทไว้ก่อนมีคําพิพากษา
ดังนี้ ศาลใดเป็นศาลที่มีอํานาจสั่งคําร้องของโจทก์ และคําสั่งห้ามมิให้จําเลยใช้เครื่องหมายการค้าที่พิพาทไว้ก่อนมีคําพิพากษาชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 254 “ในคดีอื่น ๆ นอกจากคดีมโนสาเร่ โจทก์ชอบที่จะยื่นต่อศาลพร้อมกับคําฟ้อง หรือในเวลาใด ๆ ก่อนพิพากษา ซึ่งคําขอฝ่ายเดียว ร้องขอให้ศาลมีคําสั่งภายในบังคับแห่งเงื่อนไขซึ่งจะกล่าวต่อไป เพื่อจัดให้มีวิธีคุ้มครองใด ๆ ดังต่อไปนี้
(1) ให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่พิพาทหรือทรัพย์สินของจําเลยทั้งหมดหรือบางส่วนไว้ก่อน พิพากษา รวมทั้งจํานวนเงินหรือทรัพย์สินของบุคคลภายนอกซึ่งถึงกําหนดชําระแก่จําเลย
(2) ให้ศาลมีคําสั่งห้ามชั่วคราวมิให้จําเลยกระทําซ้ําหรือกระทําต่อไป ซึ่งการละเมิดหรือ การผิดสัญญาหรือการกระทําที่ถูกฟ้องร้อง หรือมีคําสั่งอื่นใดในอันที่จะบรรเทาความเดือดร้อนเสียหายที่โจทก์ อาจได้รับต่อไปเนื่องจากการกระทําของจําเลยหรือมีคําสั่งห้ามชั่วคราวมิให้จําเลยโอน ขาย ยักย้ายหรือจําหน่าย ซึ่งทรัพย์สินที่พิพาทหรือทรัพย์สินของจําเลย หรือมีคําสั่งให้หยุดหรือป้องกันการเปลืองไปเปล่าหรือการบุบสลาย ซึ่งทรัพย์สินดังกล่าว ทั้งนี้ จนกว่าคดีจะถึงที่สุดหรือศาลจะมีคําสั่งเป็นอย่างอื่น
ในระหว่างระยะเวลานับแต่ศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ได้อ่านคําพิพากษา หรือคําสั่งชี้ขาดคดี หรือชี้ขาดอุทธรณ์ไปจนถึงเวลาที่ศาลชั้นต้นได้ส่งสํานวนความที่อุทธรณ์หรือฎีกาไปยังศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา แล้วแต่กรณี คําขอตามมาตรานี้ให้ยื่นต่อศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นมีอํานาจที่จะสั่งอนุญาตหรือยกคําขอเช่นว่านี้”
มาตรา 255 “ในการพิจารณาอนุญาตตามคําขอที่ยืนไว้ตามมาตรา 254 ต้องให้เป็นที่พอใจ ของศาลว่า คําฟ้องมีมูลและมีเหตุเพียงพอที่จะนําวิธีคุ้มครองตามที่ขอนั้นมาใช้ได้ตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(2) ในกรณีที่ยื่นคําขอให้ศาลมีคําสั่งตามมาตรา 254(2) ต้องให้เป็นที่พอใจของศาลว่า
(ก) จําเลยตั้งใจจะกระทําซ้ําหรือกระทําต่อไปซึ่งการละเมิด การผิดสัญญา หรือ การกระทําที่ถูกฟ้องร้อง”
วินิจฉัย
ป.วิ.แพ่ง มาตรา 254 เป็นบทบัญญัติให้สิทธิแก่โจทก์ในการขอคุ้มครองประโยชน์ของโจทก์ ในระหว่างพิจารณาก่อนพิพากษา แต่ก่อนที่ศาลจะสั่งอนุญาตตามคําขอของโจทก์นั้นจะต้องเป็นที่พอใจของศาล ด้วยว่าคําฟ้องของโจทก์มีมูลและมีเหตุเพียงพอที่จะนําวิธีคุ้มครองตามที่ขอนั้นมาใช้ได้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 255
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์ร้องขอให้ศาลมีคําสั่งห้ามมิให้จําเลยใช้เครื่องหมายการค้า ที่พิพาทไว้ก่อนมีคําพิพากษา เป็นคําขอวิธีการชั่วคราวตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 254(2) และเป็นการร้องขอในชั้นอุทธรณ์ เนื่องจากศาลชั้นต้นได้ส่งสํานวนความที่อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์แล้ว ดังนั้นศาลอุทธรณ์ย่อมเป็นศาลที่มี อํานาจสั่งคําร้องของโจทก์ เพราะกรณีไม่เข้าข้อยกเว้นตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 254 วรรคท้าย
และตามคําฟ้องของโจทก์ที่ขอให้ศาลบังคับจําเลยห้ามมิให้จําเลยใช้เครื่องหมายการค้าที่พิพาท และโจทก์ร้องขอให้ศาลมีคําสั่งห้ามมิให้จําเลยใช้เครื่องหมายการค้าที่พิพาทนั้น ถือว่าคําฟ้องของโจทก์มีมูล และเมื่อศาลสืบพยานโจทก์จําเลยแล้วเห็นว่า จําเลยยังคงใช้เครื่องหมายการค้าที่พิพาทอยู่ในระหว่างอุทธรณ์ ย่อมถือว่ามีเหตุเพียงพอต้องด้วย ป.วิ.แพ่ง มาตรา 255 ดังนั้นการที่ศาลมีคําสั่งห้ามมิให้จําเลยใช้เครื่องหมายการค้า ที่พิพาทไว้ก่อนมีคําพิพากษาจึงเป็นคําสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย
สรุป ศาลอุทธรณ์เป็นศาลที่มีอํานาจสั่งคําร้องของโจทก์ และคําสั่งห้ามมิให้จําเลยใช้ เครื่องหมายการค้าที่พิพาทไว้ก่อนมีคําพิพากษาเป็นคําสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อ 4. ศาลแพ่งมีคําพิพากษาถึงที่สุดให้จําเลยชําระเงินจํานวน 3,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย และค่าฤชาธรรมเนียมแก่โจทก์เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2544 จําเลยไม่ปฏิบัติตามคําพิพากษา โจทก์ขอให้ ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีให้ยึดอายัดและขายทอดตลาดทรัพย์สิน ของจําเลยชําระหนี้ตามคําพิพากษาแก่โจทก์ ศาลแพ่งออกหมายบังคับคดีตามคําขอของโจทก์ วันที่ 20 มิถุนายน 2554 โจทก์แถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีว่าโจทก์สืบทราบว่าจําเลยมีที่ดินเพียง แปลงเดียวตั้งอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ แต่โจทก์ขอเวลาตรวจสอบเลขที่โฉนดที่ดินและที่ตั้งของที่ดิน ให้แน่ชัดว่าตั้งอยู่ในอําเภอใด ต่อมาวันที่ 10 กันยายน 2554 โจทก์แถลงเลขที่โฉนดที่ดินและที่ตั้ง ของที่ดินของจําเลยต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีและขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดและขายทอดตลาด ที่ดินดังกล่าวเพื่อชําระหนี้ตามคําพิพากษาแก่โจทก์ เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคําสั่งว่าโจทก์มิได้ร้องขอ ให้บังคับจนล่วงพ้นเวลาที่กฎหมายกําหนดแล้ว โจทก์จึงหมดสิทธิบังคับคดีให้ยกคําแถลงขอให้ บังคับคดีของโจทก์
ให้วินิจฉัยว่า คําสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ยกคําแถลงขอให้บังคับคดีของโจทก์ชอบด้วยกฎหมาย หรือไม่
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 271 “ถ้าคู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายแพ้คดี (ลูกหนี้ตามคําพิพากษา) มิได้ปฏิบัติตาม คําพิพากษาหรือคําสั่งของศาลทั้งหมดหรือบางส่วน คู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะ (เจ้าหนี้ตามคําพิพากษา) ขอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคําพิพากษา หรือคําสั่งนั้นได้ภายในสิบปีนับแต่วันมีคําพิพากษาหรือคําสั่ง โดยอาศัย และตามคําบังคับที่ออกตามคําพิพากษาหรือคําสั่งนั้น”
วินิจฉัย
ตามบทบัญญัติมาตรา 271 แห่ง ป.วิ.แพ่งนั้น มีหลักว่า ถ้าคู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายแพ้คดี หรือลูกหนี้ตามคําพิพากษาไม่ปฏิบัติตามคําพิพากษาหรือคําสั่งของศาล คู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะหรือ เจ้าหนี้ตามคําพิพากษาย่อมมีสิทธิร้องขอให้บังคับคดีตามคําพิพากษาหรือคําสั่งนั้นได้
แต่อย่างไรก็ตาม การบังคับคดีนั้น เจ้าหนี้ตามคําพิพากษาจะต้องดําเนินการบังคับคดีภายใน 10 ปีนับแต่วันมีคําพิพากษาหรือคําสั่ง โดยอาศัยและตามคําบังคับที่ออกตามคําพิพากษาหรือคําสั่งนั้น
กรณีตามอุทาหรณ์ เมื่อศาลแพ่งมีคําพิพากษาอันถึงที่สุดให้จําเลยชําระเงินจํานวน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยและค่าฤชาธรรมเนียมแก่โจทก์เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2544 และจําเลยไม่ปฏิบัติตามคําพิพากษา โจทก์จึงชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคําพิพากษาดังกล่าวได้ภายในวันที่ 15 กรกฎาคม 2554 อันเป็นวัน ครบกําหนด 10 ปีนับแต่วันมีคําพิพากษาถึงที่สุด มิฉะนั้นโจทก์ย่อมหมดสิทธิบังคับคดีตามคําพิพากษานั้น
และแม้โจทก์ได้ขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีให้ยึดอายัดและ ขายทอดตลาดทรัพย์สินของจําเลย กับได้แถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีว่าจําเลยมีที่ดินเพียงแปลงเดียว ตั้งอยู่ที่ จังหวัดเชียงใหม่เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2554 แม้จะอยู่ภายใน 10 ปีนับแต่วันมีคําพิพากษาแล้วก็ตาม แต่โจทก์ กลับขอเวลาตรวจสอบเลขที่โฉนดที่ดินและที่ตั้งของที่ดินให้แน่ชัดว่าตั้งอยู่ในอําเภอใด เท่ากับโจทก์ก็ยังไม่ทราบ ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่แน่นอนเกี่ยวกับที่ดินเพียงพอที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะทําการยึดหรืออายัดได้ เช่นนี้ยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้ร้องขอให้บังคับคดีแก่ที่ดินของจําเลยตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 271 เมื่อโจทก์เพิ่งมา แถลงเลขที่โฉนดที่ดินและที่ตั้งของที่ดินของจําเลยต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี และขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดและ ขายทอดตลาดเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2554 อันเป็นเวลาภายหลังเมื่อพ้น 10 ปีนับแต่วันมีคําพิพากษา โจทก์ย่อม หมดสิทธิที่จะบังคับคดีเพื่อให้จําเลยชําระหนี้ตามคําพิพากษาแก่โจทก์ได้ ดังนั้น คําสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดี ที่ยกคําแถลงขอให้บังคับคดีของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมาย
สรุป คําสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ยกคําแถลงขอให้บังคับคดีของโจทก์ชอบด้วยกฎหมาย