การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2556

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3007 กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 2

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จําเลยจดทะเบียนที่ดินพิพาทเป็นทางภาระจํายอมแก่ที่ดินของโจทก์ หากจําเลยไม่จดทะเบียนภาระจํายอมดังกล่าวให้ถือเอาคําพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ถ้าจําเลยไม่ อาจจดทะเบียนภาระจํายอมนั้นให้โจทก์ได้ ให้จําเลยชําระค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองเป็นเงิน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชําระเสร็จ และให้จําเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกําหนดค่าทนายความให้ 5,000 บาท คําขออื่น นอกจากนี้ให้ยก จําเลยอุทธรณ์ว่า จําเลยไม่ได้ตกลงให้โจทก์ทําถนนในทางพิพาท โดยจําเลยตกลง จะไปจดทะเบียนทางพิพาทเป็นภาระจํายอม ค่าเสียหายของโจทก์มีจํานวนน้อยกว่า 20,000 บาท และอุทธรณ์ว่าโจทก์ถมดินในทางพิพาทเพื่อประโยชน์ของตนเอง แล้วนําคดีมาฟ้องเป็นการใช้สิทธิ ไม่สุจริต โดยจําเลยขออนุญาตอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา เมื่อโจทก์รับ สําเนาคําร้องขออนุญาตยื่นอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาของจําเลยแล้ว ไม่ค้าน ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ แต่มิได้สั่งอนุญาตให้จําเลยอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกา ศาลชั้นต้น มีคําสั่งรับอุทธรณ์ของจําเลยและมีคําสั่งให้ส่งสํานวนไปยังศาลฎีกา ให้วินิจฉัยว่า คําสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งรับอุทธรณ์ของจําเลยและมีคําสั่งให้ส่งสํานวนไปยังศาลฎีกาชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ศาลฎีกาควรมีคําพิพากษาหรือคําสั่งอย่างใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 223 ทวิ “ในกรณีที่มีการอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย ผู้อุทธรณ์อาจขออนุญาต ยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกา โดยทําเป็นคําร้องมาพร้อมคําฟ้องอุทธรณ์ เมื่อศาลชั้นต้นซึ่งมีคําพิพากษาหรือคําสั่ง ได้สั่งรับอุทธรณ์และส่งสําเนาคําฟ้องอุทธรณ์และคําร้องแก่จําเลยอุทธรณ์แล้ว หากไม่มีคู่ความอื่นยื่นอุทธรณ์ต่อ ศาลอุทธรณ์ตามมาตรา 223 และจําเลยอุทธรณ์มิได้คัดค้านคําร้องดังกล่าวต่อศาลภายในกําหนดเวลายื่นคําแก้อุทธรณ์ และศาลชั้นต้นเห็นว่าเป็นการอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย ให้สั่งอนุญาตให้ผู้อุทธรณ์ยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อ ศาลฎีกาได้ มิฉะนั้นให้สั่งยกคําร้อง ในกรณีที่ศาลชั้นต้นสั่งยกคําร้อง ให้ถือว่าอุทธรณ์เช่นว่านั้นได้ยื่นต่อศาลอุทธรณ์ ตามมาตรา 223 คําสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตหรือยกคําร้องในกรณีนี้ให้เป็นที่สุด เว้นแต่ในกรณีที่ศาลชั้นต้นสัง ยกคําร้องเพราะเห็นว่าเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ผู้อุทธรณ์อาจอุทธรณ์คําสั่งศาลชั้นต้นไปยังศาลฎีกา ภายในกําหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นได้มีคําสั่ง

ถ้าศาลฎีกาเห็นว่าอุทธรณ์ตามวิธีการในวรรคหนึ่งเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงให้ศาลฎีกา ส่งสํานวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยชี้ขาดต่อไป”

มาตรา 224 วรรคแรก “ในคดีที่ราคาทรัพย์สินหรือจํานวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ ไม่เกินห้าหมื่นบาทหรือไม่เกินจํานวนที่กําหนดในพระราชกฤษฎีกา ห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง เว้นแต่ ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีนั้นในศาลชั้นต้นได้ทําความเห็นแย้งไว้หรือได้รับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ได้ หรือ ถ้าไม่มีความเห็นแย้งหรือคํารับรองเช่นว่านี้ต้องได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์เป็นหนังสือจากอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น หรืออธิบดีผู้พิพากษาภาคผู้มีอํานาจ แล้วแต่กรณี”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ ประเด็นแรกที่จะต้องวินิจฉัยมีว่า คําสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งรับอุทธรณ์ของจําเลย และมีคําสั่งให้ส่งสํานวนไปยังศาลฎีกาชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า การยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 223 ทวินั้น กฎหมายกําหนดว่าจะต้องเป็นการอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายเท่านั้น โดยให้ ผู้อุทธรณ์ยื่นคําร้องขออนุญาตยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกามาพร้อมกับคําฟ้องอุทธรณ์ โดยยื่นต่อศาลชั้นต้น ซึ่งมีคําพิพากษาหรือคําสั่ง

ตามข้อเท็จจริง อุทธรณ์ของจําเลยที่ว่า จําเลยไม่ได้ตกลงให้โจทก์ทําถนนในทางพิพาท โดยจําเลย ตกลงจะไปจดทะเบียนทางพิพาทเป็นภาระจํายอม ค่าเสียหายของโจทก์มีจํานวนน้อยกว่า 20,000 บาท นั้น ถือเป็น การโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น จึงเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ส่วนอุทธรณ์ ของจําเลยที่ว่าโจทก์ถมดินในทางพิพาทเพื่อประโยชน์ของตนเอง แล้วนําคดีมาฟ้องเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริตนั้น ก็เป็น ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยเสียก่อนว่าจําเลยได้ตกลงให้โจทก์ถมดินในทางพิพาท โดยจําเลยจะไปจดทะเบียนทางพิพาท เป็นภาระจํายอมให้จริงหรือไม่ จึงเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงเพื่อนําไปสู่ปัญหาข้อกฎหมาย ดังนั้นเมื่อ อุทธรณ์ของจําเลยทั้งสองข้อดังกล่าวเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จําเลยจะขออนุญาต อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 223 ทวิ วรรคแรกได้ ส่วนที่ศาลชั้นต้น รับอุทธรณ์โดยมิได้สั่งอนุญาตให้จําเลยอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกา แต่เมื่อโจทก์รับสํานวนคําร้องขออนุญาตยื่น อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาของจําเลยแล้วไม่ค้าน และศาลชั้นต้นส่งสําเนามายังศาลฎีกา จึงพออนุโลมได้ว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้จําเลยอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาได้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 223 ทวิ วรรคแรกแล้ว ดังนั้นคําสั่งของศาลชั้นต้นที่สังรับอุทธรณ์ของจําเลยและมีคําสั่งให้ส่งสํานวนไปยัง ศาลฎีกาดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ประเด็นต่อมาที่ต้องวินิจฉัยมีว่า ศาลฎีกาควรมีคําพิพากษาหรือคําสั่งอย่างใดนั้น เห็นว่า เมื่อ ศาลฎีกาเห็นว่าอุทธรณ์ของจําเลยเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาย่อมมีอํานาจส่งสํานวนไปให้ศาลอุทธรณ์ วินิจฉัยชี้ขาดต่อไปตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 223 ทวิ วรรคสอง แต่อย่างไรก็ดี เมื่อทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์ของ คดีนี้ไม่เกิน 50,000 บาท ซึ่งต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 224 วรรคหนึ่ง

ดังนั้น เพื่อความรวดเร็วและกรณีไม่เป็นประโยชน์ที่ศาลฎีกาจะส่งไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย จึงชอบที่ศาลฎีกาจะพิพากษา ยกคําสั่งศาลชั้นต้นที่รับอุทธรณ์ของจําเลยและที่อนุญาตให้จําเลยยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกา และให้ศาลชั้นต้น สั่งอุทธรณ์ของจําเลยใหม่ และค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

สรุป คําสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งรับอุทธรณ์ของจําเลยและมีคําสั่งให้ส่งสํานวนไปยังศาลฎีกาไม่ชอบ ด้วยกฎหมาย และศาลฎีกาควรจะพิพากษายกคําสั่งศาลชั้นต้นที่รับอุทธรณ์ของจําเลย และที่อนุญาตให้จําเลย ยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกา และให้ศาลชั้นต้นสั่งอุทธรณ์ของจําเลยใหม่ และค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

 

ข้อ 2. โจทก์ฟ้องว่า จําเลยกู้ยืมเงิน 100,000 บาท ไปจากโจทก์ แล้วผิดนัดไม่ชําระ ขอให้บังคับจําเลยชําระหนี้จํานวนดังกล่าวแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้อง จําเลยให้การว่า จําเลยชําระหนี้ กู้ยืมตามฟ้องแก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วฟังว่าจําเลยชําระหนี้ ให้แก่โจทก์แล้ว 50,000 บาท จึงพิพากษาให้จําเลยชําระหนี้ที่เหลือ 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชําระเสร็จแก่โจทก์ จําเลยยื่นคําร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์โดยอ้างว่า มีพฤติการณ์พิเศษ ศาลชั้นต้นมีคําสั่งว่าไม่มีพฤติการณ์พิเศษที่จะขยายระยะเวลาอุทธรณ์ให้จําเลยได้ ให้ยกคําร้อง จําเลยอุทธรณ์คําสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์

ให้วินิจฉัยว่า

ศาลชั้นต้นจะมีคําสั่งรับอุทธรณ์คําสั่งศาลชั้นต้นของจําเลยหรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 190 “จํานวนทุนทรัพย์หรือราคาอันพิพาทกันในคดีนั้น ให้คํานวณดังนี้

(1) จํานวนทุนทรัพย์หรือราคานั้น ให้คํานวณตามคําเรียกร้องของโจทก์ ส่วนดอกผลอันมี ถึงกําหนดเกิดขึ้นในเวลายื่นคําฟ้องหรือค่าธรรมเนียมศาลซึ่งอาจเป็นอุปกรณ์รวมอยู่ในคําเรียกร้องห้ามไม่ให้คํานวณ รวมเข้าด้วย”

มาตรา 224 วรรคแรก “ในคดีที่ราคาทรัพย์สินหรือจํานวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ ไม่เกินห้าหมื่นบาทหรือไม่เกินจํานวนที่กําหนดในพระราชกฤษฎีกา ห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง เว้นแต่ ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีนั้นในศาลชั้นต้นได้ทําความเห็นแย้งไว้หรือได้รับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ได้ หรือ ถ้าไม่มีความเห็นแย้งหรือคํารับรองเช่นว่านี้ต้องได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์เป็นหนังสือจากอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น หรืออธิบดีผู้พิพากษาภาคผู้มีอํานาจ แล้วแต่กรณี”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ ศาลชั้นต้นจะมีคําสั่งรับอุทธรณ์คําสั่งศาลชั้นต้นของจําเลยหรือไม่ เห็นว่า การที่จําเลยอุทธรณ์คําสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์แก่จําเลยนั้น แม้มิใช่เป็นการอุทธรณ์ คําพิพากษาศาลชั้นต้นในประเด็นพิพาทแห่งคดี แต่เป็นอุทธรณ์คําสั่งศาลชั้นต้นอันเป็นสาขาย่อยของคดี ก็ย่อมตกอยู่ ในบังคับของ ป.วิ.แพ่ง มาตรา 224 วรรคแรก ที่บัญญัติว่า ในคดีที่ราคาทรัพย์สินหรือจํานวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกัน ในชั้นอุทธรณ์ไม่เกิน 50,000 บาท ห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงเช่นกัน

เมื่อปรากฏว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จําเลยชําระหนี้ 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับถัดจาก วันฟ้องจนกว่าจะชําระเสร็จแก่โจทก์ การที่จําเลยยื่นคําร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์โดยอ้างว่ามีพฤติการณ์พิเศษ และศาลชั้นต้นมีคําสั่งว่า ไม่มีพฤติการณ์พิเศษที่จะขยายระยะเวลาอุทธรณ์ให้จําเลยได้ ให้ยกคําร้อง จําเลยจึงอุทธรณ์ คําสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวนั้น ย่อมถือเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงซึ่งมีจํานวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ ไม่เกิน 50,000 บาท ต้องห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 224 วรรคแรก สําหรับดอกเบี้ย นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชําระเสร็จแก่โจทก์นั้นถือว่าเป็นดอกผลอันมิถึงกําหนดเกิดขึ้นในเวลายื่นคําฟ้อง ห้ามมิให้ คํานวณรวมเข้าเป็นทุนทรัพย์ในคดีตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 190(1) กรณีจึงไม่อาจนําดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้องที่จําเลย ต้องรับผิดตามคําพิพากษาศาลชั้นต้นมารวมคํานวณเป็นทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ได้ ดังนั้น เมื่ออุทธรณ์ของ จําเลยเป็นอุทธรณ์ที่ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามมาตรา 224 วรรคแรก ศาลชั้นต้นจะมีคําสั่งรับอุทธรณ์ของจําเลยไม่ได้

สรุป ศาลชั้นต้นจะมีคําสั่งรับอุทธรณ์คําสั่งศาลชั้นต้นของจําเลยไม่ได้

 

ข้อ 3. โจทก์ฟ้องว่า จําเลยกระทําละเมิดลอกเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ทําให้โจทก์เสียหายขอให้ศาลบังคับจําเลย ให้จําเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 10 ล้านบาท จําเลยให้การต่อสู้ว่า จําเลยไม่ได้กระทําละเมิด ไม่ได้ลอกเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ขอให้ศาลยกฟ้องใน ชั้นพิจารณา ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์และจําเลยแล้วเห็นว่า จําเลยไม่ได้กระทําละเมิด ไม่ได้ ลอกเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์ และมีคําพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ โจทก์ไม่เห็นด้วย โจทก์อุทธรณ์ว่า จําเลยกระทําละเมิดลอกเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์ พร้อมกับคําร้อง ต่อศาล ให้มีคําสั่งห้ามมิให้จําเลยใช้เครื่องหมายการค้าที่พิพากษาไว้ก่อนมีคําพิพากษา ดังนี้ ศาลใดเป็นศาลที่มีอํานาจสั่งคําร้องของโจทก์ และท่านเห็นว่า โจทก์จะร้องขอให้ศาลมีคําสั่งห้าม มิให้จําเลยใช้เครื่องหมายการค้าที่พิพาทไว้ก่อนศาลอุทธรณ์มีคําพิพากษาได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 254 “ในคดีอื่น ๆ นอกจากคดีมโนสาเร่ โจทก์ชอบที่จะยื่นต่อศาลพร้อมกับคําฟ้อง หรือในเวลาใด ๆ ก่อนพิพากษา ซึ่งคําขอฝ่ายเดียว ร้องขอให้ศาลมีคําสั่งภายในบังคับแห่งเงื่อนไขซึ่งจะกล่าวต่อไป เพื่อจัดให้มีวิธีคุ้มครองใด ๆ ดังต่อไปนี้

(1) ให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่พิพาทหรือทรัพย์สินของจําเลยทั้งหมดหรือบางส่วนไว้ก่อน พิพากษา รวมทั้งจํานวนเงินหรือทรัพย์สินของบุคคลภายนอกซึ่งถึงกําหนดชําระแก่จําเลย

(2) ให้ศาลมีคําสั่งห้ามชั่วคราวมิให้จําเลยกระทําซ้ําหรือกระทําต่อไป ซึ่งการละเมิดหรือ การผิดสัญญาหรือการกระทําที่ถูกฟ้องร้อง หรือมีคําสั่งอื่นใดในอันที่จะบรรเทาความเดือดร้อนเสียหายที่โจทก์ อาจได้รับต่อไปเนื่องจากการกระทําของจําเลยหรือมีคําสั่งห้ามชั่วคราวมิให้จําเลยโอน ขาย ยักย้ายหรือจําหน่าย ซึ่งทรัพย์สินที่พิพาทหรือทรัพย์สินของจําเลย หรือมีคําสั่งให้หยุดหรือป้องกันการเปลืองไปเปลาหรือการบุบสลาย ซึ่งทรัพย์สินดังกล่าว ทั้งนี้ จนกว่าคดีจะถึงที่สุดหรือศาลจะมีคําสั่งเป็นอย่างอื่น

ในระหว่างระยะเวลานับแต่ศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ได้อ่านคําพิพากษา หรือคําสั่งชี้ขาดคดี หรือชี้ขาดอุทธรณ์ไปจนถึงเวลาที่ศาลชั้นต้นได้ส่งสํานวนความที่อุทธรณ์หรือฎีกาไปยังศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา แล้วแต่กรณี คําขอตามมาตรานี้ให้ยื่นต่อศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นมีอํานาจที่จะสั่งอนุญาตหรือยกคําขอเช่นว่านี้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ ประเด็นแรกที่ต้องวินิจฉัยมีว่า ศาลใดเป็นศาลที่มีอํานาจสั่งคําร้องของโจทก์ เห็นว่า คําขอที่โจทก์ยื่นมาพร้อมอุทธรณ์นั้น ถือเป็นคําขอวิธีการชั่วคราวตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 254 โดยหลัก เป็นอํานาจของศาลอุทธรณ์ที่จะสังคําร้องดังกล่าว แต่ ป.วิ.แพ่ง มาตรา 254 วรรคท้าย ได้บัญญัติเป็นข้อยกเว้นไว้ว่า ให้ศาลชั้นต้นมีอํานาจสั่งคําร้องของโจทก์ได้ตลอดเวลาที่ศาลชั้นต้นยังไม่ได้ส่งสํานวนความที่อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์ ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ศาลชั้นต้นยังไม่ได้ส่งสํานวนความที่อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นย่อม เป็นศาลที่มีอํานาจสั่งคําร้องของโจทก์ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 254 วรรคท้าย

และประเด็นต่อมาที่ต้องวินิจฉัยมีว่า โจทก์จะร้องขอให้ศาลมีคําสั่งห้ามมิให้จําเลยใช้เครื่องหมาย การค้าที่พิพาทไว้ก่อน ศาลอุทธรณ์มีคําพิพากษาได้หรือไม่ เห็นว่า ป.วิ.แพ่ง มาตรา 254 นั้น เป็นบทบัญญัติที่ให้สิทธิ์ แก่โจทก์ในการขอคุ้มครองประโยชน์ของโจทก์ชั่วคราวในระหว่างพิจารณาก่อนพิพากษา ดังนั้น ในการร้องขอ

วิธีการชั่วคราวตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 254 โจทก์จะต้องร้องขอเพื่อไม่ให้โจทก์ต้องเสียหายในเรื่องที่โจทก์ฟ้อง ขอให้ศาลบังคับจําเลยเท่านั้น จะร้องขอในเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องที่โจทก์ฟ้องขอให้ศาลบังคับจําเลยไม่ได้ เมื่อคดีนี้ โจทก์ฟ้องเพียงต้องการให้ศาลบังคับจําเลยใช้เงินค่าเสียหาย โจทก์ก็ชอบที่จะร้องขอตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 254(1) โดยขอให้ศาลยึดหรืออายัดทรัพย์สินของจําเลยทั้งหมดหรือบางส่วนไว้ก่อนศาลพิพากษา ไม่ว่าทรัพย์สินนั้นจะอยู่กับ บุคคลใดก็ตาม ดังนั้น การที่โจทก์ร้องขอให้ศาลมีคําสั่งห้ามมิให้จําเลยใช้เครื่องหมายการค้าที่พิพาทไว้ก่อนศาลอุทธรณ์ มีคําพิพากษา อันเป็นการขอตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 254(2) จึงไม่สามารถทําได้ เพราะไม่เกี่ยวกับเรื่องที่โจทก์ฟ้อง ขอให้ศาลบังคับจําเลย

สรุป ศาลชั้นต้นเป็นศาลที่มีอํานาจสั่งคําร้องของโจทก์ และโจทก์จะร้องขอให้ศาลมีคําสั่ง ห้ามมิให้จําเลยใช้เครื่องหมายการค้าที่พิพาทไว้ก่อนศาลอุทธรณ์มีคําพิพากษาไม่ได้

 

ข้อ 4. ศาลชั้นต้นมีคําพิพากษาถึงที่สุดให้จําเลยชําระเงิน 1,000,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยและค่าฤชาธรรมเนียม เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2545 จําเลยไม่ชําระ โจทก์ขอให้ออกหมายบังคับคดี ต่อมา วันที่ 7 พฤษภาคม 2555 โจทก์แถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีว่า จําเลยนําเงินมาชําระหนี้ตาม คําพิพากษาแก่โจทก์บางส่วน จํานวน 50,000 บาท เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2550 ขณะนี้โจทก์สืบทราบ ว่าจําเลยถือกรรมสิทธิ์ที่ดินตั้งอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ แต่ไม่ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับที่ดินดังกล่าว ขอเวลาระยะหนึ่งแล้วจะมาแถลงให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดโดยเร็ว จนกระทั่งต่อมาวันที่ 19 มิถุนายน 2555 โจทก์แถลงขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดําเนินการยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 456 ของจําเลย ซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคําสั่งว่า การที่จําเลยนําเงินมาชําระหนี้ตาม คําพิพากษาให้โจทก์บางส่วน มีผลให้อายุความบังคับคดีสะดุดหยุดลง โจทก์จึงมีสิทธิบังคับคดีเพื่อชําระหนี้ตามคําพิพากษาส่วนที่เหลือได้ต่อไป

ให้วินิจฉัยว่า คําสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีชอบหรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 271 “ถ้าคู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายแพ้คดี (ลูกหนี้ตามคําพิพากษา) มิได้ปฏิบัติตาม คําพิพากษาหรือคําสั่งของศาลทั้งหมดหรือบางส่วน คู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะ (เจ้าหนี้ตามคําพิพากษา) ชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคําพิพากษา หรือคําสั่งนั้นได้ภายในสิบปีนับแต่วันมีคําพิพากษาหรือคําสั่ง โดยอาศัย และตามคําบังคับที่ออกตามคําพิพากษาหรือคําสั่งนั้น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ คําสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีชอบหรือไม่ เห็นว่า ป.วิ.แพ่ง มาตรา 271 บัญญัติให้เจ้าหนี้ตามคําพิพากษาชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีภายใน 10 ปีนับแต่วันมีคําพิพากษา เมื่อปรากฏว่าคดีนี้ ศาลชั้นต้นมีคําพิพากษาถึงที่สุดให้จําเลยชําระเงิน 1,000,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยและค่าฤชาธรรมเนียม เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2545 โจทก์จึงชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีได้ภายในวันที่ 17 มิถุนายน 2555

ตามข้อเท็จจริง แม้จะปรากฏจากคําแถลงของโจทก์ต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีวันที่ 7 พฤษภาคม 2555 ว่า จําเลยนําเงินมาชําระหนี้ตามคําพิพากษาแก่โจทก์บางส่วนเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2550 ก็ตาม ก็ไม่มีผลทําให้ ระยะเวลาการบังคับคดี 10 ปี ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 271 สะดุดหยุดลง เพราะกําหนดเวลาการบังคับคดี มิใช่ อายุความบังคับตามสิทธิเรียกร้องดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หากแต่เป็นระยะเวลาที่ กําหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งอาจขยายหรือย่นระยะเวลาดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 23 โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องร้องขอให้บังคับคดีภายใน 10 ปีนับแต่วันมีคําพิพากษา คือ ภายในวันที่ 17 มิถุนายน 2555

ส่วนที่โจทก์แถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2555 ที่ว่า ขณะนี้โจทก์ สืบทราบว่าจําเลยถือกรรมสิทธิ์ที่ดินตั้งอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ แต่ไม่ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับที่ดินดังกล่าว ขอเวลา ระยะหนึ่งแล้วจะมาแถลงให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดโดยเร็ว ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการร้องขอให้บังคับคดีตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 271 เพราะไม่มีรายละเอียดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับที่ดินเพียงพอที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะดําเนินการบังคับคดีได้ การที่โจทก์เพิ่งแถลงขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดําเนินการยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 456 ของจําเลย ซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัด เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2555 อันเป็นเวลาล่วงพ้นกําหนด 10 ปีนับแต่วันมีคําพิพากษาคือวันที่ 17 มิถุนายน 2555 แล้ว โจทก์จึงหมดสิทธิที่จะบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของจําเลยแล้ว

ดังนั้น คําสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ว่า การที่จําเลยนําเงินมาชําระหนี้ตามคําพิพากษา ให้โจทก์บางส่วน มีผลให้อายุความบังคับคดีสะดุดหยุดลง โจทก์จึงมีสิทธิ์บังคับคดีเพื่อชําระหนี้ตามคําพิพากษา ส่วนที่เหลือต่อไปนั้นจึงไม่ชอบ

สรุป คําสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ชอบด้วยกฎหมาย

Advertisement