การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2559
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3006 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 1
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1. นายยงยุทธออกเช็คชําระหนี้ค่าสินค้าให้นายพิชัยจํานวน 100,000 บาท นายพิชัยโอนเช็คดังกล่าวชําระหนี้ให้นายสงคราม นายสงครามนําเช็คไปขึ้นเงินที่ธนาคารเพื่อเช็คถึงกําหนด แต่ธนาคารปฏิเสธ การจ่ายเงิน เพราะเงินในบัญชีไม่พอจ่าย นายสงครามนําเช็คมาคืนนายพิชัย และได้รับเงินสดจาก นายพิชัยไปแล้วรุ่งขึ้นนายพิชัยนําเช็คดังกล่าวไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนขอให้ดําเนินคดีอาญา นายยงยุทธตาม พ.ร.บ. ความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค เมื่อพนักงานสอบสวนเสร็จ พนักงานอัยการ ยื่นฟ้องต่อศาลขอให้ศาลลงโทษนายยงยุทธตามความผิดดังกล่าว ระหว่างศาลชั้นต้นพิจารณาคดี นายพิชัยยื่นคําร้องต่อศาลขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ ดังนี้ ศาลจะวินิจฉัยกรณีของ พนักงานอัยการ และกรณีของนายพิชัยอย่างไร
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา 2 “ในประมวลกฎหมายนี้
(4) “ผู้เสียหาย” หมายความถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทําผิดฐานใด ฐานหนึ่งรวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอํานาจจัดการแทนได้ ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 4, 5 และ 6
(7) “คําร้องทุกข์” หมายความถึงการที่ผู้เสียหายได้กล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่ตามบทบัญญัติ แห่งประมวลกฎหมายนี้ว่ามีผู้กระทําความผิดขึ้น จะรู้ตัวผู้กระทําความผิดหรือไม่ก็ตาม ซึ่งกระทําให้เกิดความ เสียหายแก่ผู้เสียหาย และการกล่าวหาเช่นนั้นได้กล่าวโดยมีเจตนาจะให้ผู้กระทําความผิดได้รับโทษ”
มาตรา 28 “บุคคลเหล่านี้มีอํานาจฟ้องคดีอาญาต่อศาล
(1) พนักงานอัยการ
(2) ผู้เสียหาย”
มาตรา 30 “คดีอาญาใดซึ่งพนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลแล้ว ผู้เสียหายจะยื่นคําร้องขอเข้าร่วม เป็นโจทก์ในระยะใดระหว่างพิจารณาก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาคดีนั้นก็ได้”
มาตรา 120 “ห้ามมิให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีใดต่อศาล โดยมิได้มีการสอบสวนในความผิด นั้นก่อน”
มาตรา 121 วรรคสอง “แต่ถ้าเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัว ห้ามมิให้ทําการสอบสวนเว้นแต่จะมี คําร้องทุกข์ตามระเบียบ”
วินิจฉัย
โดยหลัก ผู้เสียหายในความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ คือ ผู้ทรงเช็ค ในขณะที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน (คําพิพากษาฎีกาที่ 1035/2529) ดังนั้น กรณีตามอุทาหรณ์ นายสงคราม จึงเป็นผู้เสียหายตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 2 (4) มิใช่นายพิชัย เพราะนายพิชัยได้โอนเช็คให้แก่นายสงครามไปแล้ว แม้ในภายหลังจะได้รับเช็คคืนมาจากนายสงครามก็ตาม
สําหรับการร้องทุกข์นั้น ผู้ร้องทุกข์ต้องเป็นผู้เสียหายในความผิดที่ร้องทุกข์ ดังนั้น เมื่อนายพิชัย ไม่ใช่ผู้เสียหายในความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ การแจ้งความของนายพิชัยจึงไม่ เป็นการร้องทุกข์ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 2 (7) และเมื่อความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค เป็นความผิดต่อส่วนตัว เมื่อไม่มีคําร้องทุกข์ พนักงานสอบสวนจึงไม่มีอํานาจสอบ วนตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 121 วรรคสอง ดังนั้น การสอบสวนที่พนักงานสอบสวนได้ดําเนินการไปจึงเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นผลให้พนักงานอัยการไม่มีอํานาจฟ้องตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 120 ประกอบมาตรา 28 ศาลจึงต้องพิพากษา ยกฟ้องคดีของพนักงานอัยการ และเมื่อศาลพิพากษายกฟ้องคดีของพนักงานอัยการแล้ว จึงถือว่าไม่มีคําฟ้องของ พนักงานอัยการอยู่ในศาล นายพิชัยซึ่งมิใช่ผู้เสียหาย จึงมิอาจขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการได้ (ป.วิ.อาญา มาตรา 30) ดังนั้น ศาลจึงต้องยกคําร้องการขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมของนายพิชัย
สรุป
ศาลต้องพิพากษายกฟ้องคดีของพนักงานอัยการ และสั่งยกคําร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ของนายพิชัย
ข้อ 2. ในระหว่างที่ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจําเลยฐานทําให้เสียทรัพย์ นายผักบุ้งผู้เสียหายยื่นคําร้องต่อศาลขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ ศาลอนุญาต ระหว่างการสืบพยานโจทก์ นายผักบุ้งยื่นคําร้องต่อศาลขอถอนคําร้องที่ขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับ พนักงานอัยการ โดยระบุเหตุผลว่า มีความคิดเห็นหลายอย่างไม่ตรงกับพนักงานอัยการ หากดําเนินคดี ร่วมกันต่อไปเกรงว่าจะเกิดความเสียหายแก่คดี ศาลอนุญาต ในวันรุ่งขึ้นนายผักบุ้งยื่นคําร้องต่อศาล ขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการอีกครั้ง โดยระบุเหตุผลว่าเพื่อการใช้สิทธิอุทธรณ์คดี
ดังนี้ ศาลจะอนุญาตให้นายผักบุ้งเข้าร่วมเป็นโจทก์หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา 30 “คดีอาญาใดซึ่งพนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลแล้ว ผู้เสียหายจะยื่นคําร้องขอ เข้าร่วมเป็นโจทก์ในระยะใดระหว่างพิจารณาก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาคดีนั้นก็ได้”
มาตรา 36 “คดีอาญาซึ่งได้ถอนฟ้องไปจากศาลแล้ว จะนํามาฟ้องอีกหาได้ไม่”
มาตรา 39 “สิทธินําคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป ดังต่อไปนี้
(2) ในคดีความผิดต่อส่วนตัว เมื่อได้ถอนคําร้องทุกข์ ถอนฟ้องหรือยอมความกันโดยถูกต้อง ตามกฎหมาย”
วินิจฉัย
ตามอุทาหรณ์ การที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้นายผักบุ้งเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการได้ ในครั้งแรกตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 30 แสดงว่าศาลชั้นต้นฟังว่านายผักบุ้งเป็นผู้เสียหาย สามารถดําเนินคดีแก่ จําเลยโดยอาศัยสิทธิตามฟ้องของพนักงานอัยการได้ เสมือนนายผักบุ้งเป็นโจทก์ฟ้องคดีเอง ดังนั้น การที่นาย ผักบุ้งได้ยื่นคําร้องต่อศาลขอถอนคําร้องที่ขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการในระหว่างการสืบพยานโจทก์ และศาลอนุญาต จึงมีผลเท่ากับเป็นการถอนฟ้องในส่วนของโจทก์ผู้เสียหายแล้ว และเมื่อความผิดฐานทําให้
เสียทรัพย์เป็นความผิดต่อส่วนตัว เมื่อมีการถอนฟ้องจึงมีผลทําให้คดีอาญาระงับไปด้วยตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 39 (2) และมีผลตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 36 คือ นายผักบุ้งจะนําคดีมาฟ้องใหม่ไม่ได้
ดังนั้น เมื่อคดีอาญาดังกล่าวระงับไปแล้ว ศาลจึงต้องมีคําสั่งจําหน่ายคดีของพนักงานอัยการ และมีคําสั่งยกคําร้องการขอเข้าร่วมเป็นเจทก์กับพนักงานอัยการในครั้งหลังของนายผักบุ้งผู้เสียหาย
สรุป
ศาลจะอนุญาตให้นายผักบุ้งเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการไม่ได้
ข้อ 3. ร.ต.อ.กล้าหาญเห็นนายตะขบกําลังทําร้ายนายคะน้าตรงทางสาธารณะ ทําให้นายคะน้าได้รับอันตรายสาหัส ร.ต.อ.กล้าหาญจะเข้าทําการจับนายตะขบแต่นายตะขบวิ่งหนีเข้าไปในบ้านมารดาของนายตะขบ ซึ่งนายตะขบก็พักอาศัยอยู่ในบ้านหลังนี้ด้วย ร.ต.อ.กล้าหาญจึงตามเข้าไปจับนายตะขบในบ้านมารดา ของนายตะขบทันที ดังนี้ การจับของ ร.ต.อ.กล้าหาญชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา 78 “พนักงานฝ่ายปกครองหรือตํารวจจะจับผู้ใดโดยไม่มีหมายจับหรือคําสั่งของศาลนั้น ไม่ได้ เว้นแต่
(1) เมื่อบุคคลนั้นได้กระทําความผิดซึ่งหน้าดังได้บัญญัติไว้ในมาตรา 80”
มาตรา 80 วรรคหนึ่ง ที่เรียกว่าความผิดซึ่งหน้านั้น ได้แก่ ความผิดซึ่งเห็นกําลังกระทําหรือ พบในอาการใดซึ่งแทบจะไม่มีความสงสัยเลยว่าเขาได้กระทําผิดมาแล้วสด ๆ”
มาตรา 81 “ไม่ว่าจะมีหมายจับหรือไม่ก็ตาม ห้ามมิให้จับในที่รโหฐาน เว้นแต่จะได้ทําตาม บทบัญญัติในประมวลกฎหมายนี้อันว่าด้วยการค้นในที่รโหฐาน”
มาตรา 92 “ห้ามมิให้ค้นในที่รโหฐานโดยไม่มีหมายค้นหรือคําสั่งของศาล เว้นแต่พนักงาน ฝ่ายปกครองหรือตํารวจเป็นผู้ค้นและในกรณีดังต่อไปนี้
(3) เมื่อบุคคลที่ได้กระทําความผิดซึ่งหน้า ขณะที่ถูกไล่จับหนีเข้าไปหรือมีเหตุอันแน่นแฟ้น ควรสงสัยว่าได้เข้าไปซุกซ่อนตัวอยู่ในที่รโหฐานนั้น”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ ร.ต.อ.กล้าหาญได้เข้าไปจับกุมนายตะขบในบ้านนั้นถือเป็นการจับ ในที่รโหฐาน ซึ่งการที่จะเข้าไปจับได้จะต้องมีอํานาจในการจับ โดยมีหมายจับหรืออํานาจที่กฎหมายให้ทําการจับได้ โดยไม่ต้องมีหมายและต้องทําตามบทบัญญัติใน ป.วิ.อาญา อันว่าด้วยการค้นในที่รโหฐาน คือ มีอํานาจในการค้น โดยมีหมายค้น หรือมีอํานาจที่กฎหมายให้ทําการค้นได้โดยไม่ต้องมีหมาย
ข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์ การที่ ร.ต.อ.กล้าหาญเห็นนายตะขบกําลังทําร้ายนายคะน้าตรงทางสาธารณะ ทําให้นายคะน้าได้รับอันตรายสาหัสนั้น ถือเป็นความผิดซึ่งหน้าประเภทความผิดซึ่งหน้าอย่าง แท้จริง ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 78 (1) ประกอบมาตรา 80 วรรคหนึ่ง ดังนั้น ร.ต.อ.กล้าหาญจึงมีอํานาจในการ จับนายตะขบแม้จะไม่มีหมายจับ และการที่นายตะขบได้วิ่งหนีเข้าไปในบ้านมารดาของนายตะขบซึ่งนายตะขบ
ก็พักอาศัยอยู่ในบ้านหลังนี้ด้วย ร.ต.อ.กล้าหาญจึงตามเข้าไปจับนายตะขบในบ้านมารดาของนายตะขบทันทีนั้น ถือว่าการจับของ ร.ต.อ.กล้าหาญเป็นการจับโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว เพราะ ร.ต.อ.กล้าหาญได้ทําถูกต้องตาม บทบัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาอันว่าด้วยการค้นในที่รโหฐานตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 81 ประกอบมาตรา 92 (3) เนื่องจากเป็นกรณีที่นายตะขบซึ้งได้กระทําความผิดซึ่งหน้าขณะที่ถูก ร.ต.อ.กล้าหาญ ไล่จับได้หนีเข้าไปซุกซ่อนตัวอยู่ในบ้านของมารดานายตะขบซึ่งเป็นที่รโหฐาน ร.ต.อ.กล้าหาญจึงมีอํานาจตามเข้าไป จับนายตะขบในบ้านมารดาของนายตะขบได้ทันที
สรุป
การจับของ ร.ต.อ.กล้าหาญชอบด้วยกฎหมาย
ข้อ 4. พ.ต.ต.ลองกองพนักงานสอบสวนทําการสอบสวนนายถั่วลันเตาผู้ต้องหาอายุ 26 ปี ในข้อหากระทําชําเราแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปี เป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทําถึงแก่ความตายโดยก่อนเริ่มถาม คําให้การ พ.ต.ต.ลองกองถามนายถั่วลันเตาว่ามีทนายความหรือไม่ นายถั่วลันเตาตอบว่าไม่มีและ ไม่ต้องการทนายความเพราะสํานึกผิดในการกระทํา พ.ต.ต.ลองกองจึงแจ้งข้อหาและแจ้งสิทธิของ ผู้ต้องหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134/4 วรรคหนึ่ง ให้ทราบก่อน ถามคําให้การ หลังจากที่นายถั่วลันเตาได้ฟังการแจ้งสิทธิดังกล่าวนายถั่วลันเตายังยืนยันต่อ พ.ต.ต.สองกองว่า ไม่ต้องการทนายความ พ.ต.ต.ลองกองจึงถามคําให้การนายถั่วลันเตาโดยที่ไม่มี ทนายความและนายถั่วลันเตายอมให้การโดยเต็มใจ พ.ต.ต.สองกองจึงจดคําให้การไว้ ต่อมาพนักงานอัยการยื่นฟ้องนายถั่วลันเตาในข้อหากระทําชําเราแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปี เป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทําถึงแก่ความตาย นายถั่วลันเตาต่อสู้ว่า พ.ต.ต.ลองกองไม่ได้จัดหาทนายความ ให้นายถั่วลันเตาจึงเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย พนักงานอัยการจึงไม่มีอํานาจฟ้อง
ดังนี้ ข้อต่อสู้ของนายถั่วลันเตาฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด
หมายเหตุ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 227 ตรี “ถ้าการกระทําความผิดตามมาตรา 276 วรรคสาม หรือมาตรา 277 วรรคสี่ เป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทํา (2) ถึงแก่ความตาย ผู้กระทําต้อง ระวางโทษประหารชีวิต”
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา 120 “ห้ามมิให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีใดต่อศาล โดยมิได้มีการสอบสวนในความผิด นั้นก่อน”
มาตรา 134/1 วรรคหนึ่ง “ในคดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิต หรือในคดีที่ผู้ต้องหามีอายุไม่เกิน สิบแปดปีในวันที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหา ก่อนเริ่มถามคําให้การให้พนักงานสอบสวนถามผู้ต้องหาว่ามีทนายความ หรือไม่ ถ้าไม่มีให้รัฐจัดหาทนายความให้”
มาตรา 134/4 “ในการถามคําให้การผู้ต้องหา ให้พนักงานสอบสวนแจ้งให้ผู้ต้องหาทราบก่อนว่า
(1) ผู้ต้องหามีสิทธิที่จะให้การหรือไม่ก็ได้ ถ้าผู้ต้องหาให้การ ถ้อยคําที่ผู้ต้องหาให้การนั้น อาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้
(2) ผู้ต้องหามีสิทธิให้ทนายความหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคําตนได้ เมื่อผู้ต้องหาเต็มใจให้การอย่างใดก็ให้จดคําให้การไว้ ถ้าผู้ต้องหาไม่เต็มใจให้การเลยก็ให้บันทึกไว้
ถ้อยคําใด ๆ ที่ผู้ต้องหาให้ไว้ต่อพนักงานสอบสวนก่อนมีการแจ้งสิทธิตามวรรคหนึ่ง หรือก่อนที่ จะดําเนินการตามมาตรา 134/1 มาตรา 134/2 และมาตรา 134/3 จะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ ความผิดของผู้นั้นไม่ได้”
วินิจฉัย
โดยหลักแล้ว ในคดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิต หรือในคดีที่ผู้ต้องหามีอายุไม่เกิน 18 ปีในวันที่ พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหา (ไม่คํานึงว่าในขณะกระทําความผิดจะมีอายุเท่าใดก็ตาม) ก่อนเริ่มถามคําให้การให้ พนักงานสอบสวนถามผู้ต้องหาว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีให้รัฐจัดหาทนายความให้ กรณีนี้เป็นบทบังคับเด็ดขาด หากผู้ต้องหาไม่มีทนายความและแม้จะไม่ต้องการก็ต้องจัดหาทนายความให้เสมอ (ป.วิ.อาญา มาตรา 134/1 วรรคหนึ่ง)
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่พนักงานอัยการยื่นฟ้องนายถั่วลันเตาในข้อหากระทําชําเราแก่เด็ก อายุยังไม่เกิน 13 ปี เป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทําถึงแก่ความตาย ซึ่งเป็นคดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิตนั้น ก่อนเริ่มถาม คําให้การ พ.ต.ต.ลองกองพนักงานสอบสวนต้องถามนายถั่วลันเตาว่ามีทนายความหรือไม่ หากนายถั่วลันเตาไม่มี ทนายความ ไม่ว่านายถั่วลันเตาจะต้องการทนายความหรือไม่ก็ตามก็ต้องจัดหาทนายความให้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า พ.ต.ต.ลองกองไม่จัดหาทนายความให้แก่นายถั่วลันเตาและถามคําให้การนายถั่วลันเตาโดยไม่มีทนายความ ซึ่งถือเป็น การไม่ปฏิบัติตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 134/1 วรรคหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตาม การที่ พ.ต.ต.ลองกองไม่ปฏิบัติตาม กฎหมายดังกล่าวถือเป็นเพียงเหตุทําให้ถ้อยคําใด ๆ ที่นายถั่วลันเตาได้ให้ไว้ต่อ พ.ต.ต.ลองกองไม่สามารถรับฟัง เป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของนายถั่วลันเตาตามมาตรา 134/4 วรรคท้ายเท่านั้น หาทําให้การสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมายทั้งหมดไม่
ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าได้มีการสอบสวนที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว พนักงานอัยการจึงมีอํานาจฟ้องคดีนี้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 120 การที่นายถั่วลันเตาต่อสู้ว่าเป็นการสอบสวนที่ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย พนักงานอัยการจึงไม่มีอํานาจฟ้องนั้น ข้อต่อสู้ของนายถั่วลันเตาจึงฟังไม่ขึ้น
สรุป ข้อต่อสู้ของนายถั่วลันเตาฟังไม่ขึ้น