การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2558
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3006 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 1
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1. พนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายมะระต่อศาลชั้นต้นในความผิดฐานลักทรัพย์ของนายผัดฉ่าผู้เสียหาย โดยการถอดอุปกรณ์ส่วนควบรถยนต์ออกเป็นอะไหล่ชิ้นส่วนต่าง ๆ และเอาไปเสียในขณะที่ รถยนต์อยู่ในความครอบครองของนายถั่วลันเตาผู้เช่า ศาลชั้นต้นมีคําสั่งประทับฟ้องในคดีที่ พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นนายถั่วลันเตาได้ยื่นฟ้องนายมะระ ในความผิดฐานเดียวกันอีก นายมะระให้การต่อสู้ว่านายถั่วลันเตาไม่ใช่ผู้เสียหายไม่มีอํานาจฟ้อง และพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องตนในความผิดเดียวกันไว้ก่อนแล้ว ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องซ้ำ ดังนี้
ข้อต่อสู้ของนายมะระฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา 2 “ในประมวลกฎหมายนี้
(4) “ผู้เสียหาย” หมายความถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทําผิดฐานใด ฐานหนึ่งรวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอํานาจจัดการแทนได้ ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 4, 5 และ 6”
มาตรา 28 “บุคคลเหล่านี้มีอํานาจฟ้องคดีอาญาต่อศาล
(2) ผู้เสียหาย” มาตรา 39 “สิทธินําคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป ดังต่อไปนี้
(4) เมื่อมีคําพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ ข้อต่อสู้ของนายมะระฟังขึ้นหรือไม่ เห็นว่า ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 28 (2) บุคคลที่จะมีอํานาจฟ้องคดีอาญาต่อศาลได้จะต้องเป็นผู้เสียหาย ซึ่งอาจเป็นผู้เสียหายที่แท้จริง หรืออาจเป็นผู้มีอํานาจ จัดการแทนผู้เสียหายตามที่กฎหมายกําหนด จากข้อเท็จจริงความผิดฐานลักทรัพย์นอกจากกฎหมายจะมุ่งคุ้มครอง เจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินแล้ว ยังให้ความคุ้มครองต่อผู้ครอบครองดูแลรักษาทรัพย์เหล่านั้นด้วย ดังนั้น แม้นายถั่วลันเตาจะไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์คันดังกล่าว แต่เมื่อนายถั่วลันเตาเป็นผู้เช่าซึ่งถือเป็น ผู้ครอบครองดูแลรักษารถยนต์ จึงเป็นผู้เสียหายตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 2 (4) และมีอํานาจฟ้องคดีนี้ได้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 28 (2) ข้อต่อสู้ของนายมะระที่ว่านายถั่วลันเตาไม่ใช่ผู้เสียหายไม่มีอํานาจฟ้องจึงฟังไม่ขึ้น
ส่วนการฟ้องซ้ํานั้น ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 39 (4) กําหนดหลักเกณฑ์ไว้ดังนี้
1 จําเลยในคดีแรกและคดีที่นํามาฟ้องใหม่เป็นคนเดียวกัน
2 การกระทําของจําเลยเป็นการกระทําเดียวกัน
3 ศาลชั้นต้นได้มีคําพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว
ตามข้อเท็จจริง แม้พนักงานอัยการได้ฟ้องนายมะระในความผิดฐานเดียวกันไว้ก่อนแล้ว แต่คดี อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นยังไม่ได้มีคําพิพากษาเสร็จเด็ดขาดแต่อย่างใด การที่นายถั่วลันเตานําคดีเรื่องนี้มาฟ้องอีกจึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ ดังนั้น คําให้การของนายมะระที่ว่าพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องตนในความผิด เดียวกันไว้ก่อนแล้ว ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องซ้ําจึงฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
สรุป ข้อต่อสู้ของนายมะระทั้งสองข้อฟังไม่ขึ้น
ข้อ 2. พนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายมะไฟและนายแกงไก่เป็นจําเลยในความผิดฐานร่วมกันทําร้ายร่างกายนายหน่อไม้ผู้เสียหาย ก่อนสืบพยานโจทก์นัดแรก นายหน่อไม้ยื่นคําร้องต่อศาลชั้นต้น ขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตให้นายหน่อไม้เข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการได้ ระหว่างดําเนินคดี นายหน่อไม้ไม่พอใจแนวทางการดําเนินคดีของพนักงานอัยการโจทก์จึงได้ยืน คําร้องต่อศาลชั้นต้นขอถอนตัวจากการเป็นโจทก์ร่วม โดยระบุว่ามีความเห็นหลายอย่างไม่ตรงกับ ความเห็นของพนักงานอัยการโจทก์ หากโจทก์ร่วมดําเนินคดีนี้ต่อไปอาจเกิดความเสียหายแก่คดี ศาลชั้นต้นจึงอนุญาตให้นายหน่อไม้ถอนตัวจากการเป็นโจทก์ร่วม ต่อมาภายหลังจากสืบพยานจําเลย เสร็จสิ้นก่อนที่ศาลชั้นต้นจะพิพากษาคดี นายหน่อไม้ได้ยื่นคําร้องต่อศาลชั้นต้นขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ในคดีนี้อีกครั้งหนึ่ง โดยระบุว่าเพื่อจะใช้สิทธิชั้นอุทธรณ์ฎีกาต่อไป ดังนี้ นายหน่อไม้จะยื่นคําร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในครั้งหลังได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา 30 “คดีอาญาใดซึ่งพนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลแล้ว ผู้เสียหายจะยื่นคําร้องขอ เข้าร่วมเป็นโจทก์ในระยะใดระหว่างพิจารณาก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาคดีนั้นก็ได้”
มาตรา 36 “คดีอาญาซึ่งได้ถอนฟ้องไปจากศาลแล้ว จะนํามาฟ้องอีกหาได้ไม่”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้นายหน่อไม้เข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ ได้ในครั้งแรกตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 30 แสดงว่าศาลชั้นต้นฟังว่านายหน่อไม้เป็นผู้เสียหายสามารถดําเนินคดีแก่ จําเลยโดยอาศัยสิทธิตามฟ้องของพนักงานอัยการได้ เสมือนว่านายหน่อไม้เป็นโจทก์ฟ้องคดีเอง ดังนั้น การที่ นายหน่อไม้ขอถอนตัวจากการเป็นโจทก์ร่วม ระบุว่าหากดําเนินคดีต่อไปอาจเกิดความเสียหายแก่คดี โดยไม่ ปรากฏว่านายหน่อไม้จะไปดําเนินการอะไรอีก ย่อมถือได้ว่านายหน่อไม้ไม่ประสงค์จะดําเนินคดีแก่จําเลยอีก ต่อไป มีผลเท่ากับเป็นการถอนฟ้องในส่วนของโจทก์ร่วมเด็ดขาดแล้ว
และเมื่อนายหน่อไม้ถอนฟ้องแล้ว ย่อมเกิดผลทางกฎหมายตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 36 คือ นายหน่อไม้จะนําคดีมาฟ้องใหม่ไม่ได้ เมื่อได้ความว่าฟ้องไม่ได้ การขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ ก็ทําไม่ได้เช่นเดียวกัน แม้จะยื่นคําร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาก็ตาม ดังนั้น นายหน่อไม้จะยื่นคําร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในครั้งหลังอีกไม่ได้ ต้องห้ามตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 36 (คําพิพากษาฎีกาที่ 7241/2544)
สรุป นายหน่อไม้จะยื่นคําร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในครั้งหลังไม่ได้ ตามหลักเหตุผลและ กฎหมายที่ได้อธิบายไว้ดังกล่าวข้างต้น
ข้อ 3. ร.ต.อ.ละมุดได้รับรายงานจากสายลับที่มีความน่าเชื่อถือว่านายเทาซึ่งขณะนี้กําลังขายอาหารอยู่ภายในร้านอาหารของนายเทามีเมทแอมเฟตามีนซุกซ่อนอยู่กับตัว ร.ต.อ.ละมุดจึงรีบไปที่ร้านอาหาร ของนายเทาทันที โดย ร.ต.อ.ละมุดไปถึงร้านอาหารของนายเท่าในช่วงเวลาที่ร้านอาหารยังเปิด ทําการขายอาหารอยู่ ร.ต.อ.ละมุดได้เดินเข้าไปหานายเทาและแสดงตัวว่าเป็นเจ้าพนักงานตํารวจ และขอตรวจค้นตัวนายเทา เมื่อ ร.ต.อ.ละมุดได้ค้นตัวนายเทาแล้วได้พบเมทแอมเฟตามีนอยู่ที่ตัว ของนายเทา ร.ต.อ.ละมุดจึงทําการจับนายเทาทันทีโดยไม่มีหมายจับ ดังนี้ การตรวจค้นและการจับของ ร.ต.อ.ละมุดชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา 78 “พนักงานฝ่ายปกครองหรือตํารวจจะจับผู้ใด โดยไม่มีหมายจับหรือคําสั่งของศาลนั้น ไม่ได้ เว้นแต่
(1) เมื่อบุคคลนั้นได้กระทําความผิดซึ่งหน้าดังได้บัญญัติไว้ในมาตรา 80”
มาตรา 80 วรรคหนึ่ง ที่เรียกว่าความผิดซึ่งหน้านั้น ได้แก่ ความผิดซึ่งเห็นกําลังกระทําหรือ พบในอาการใดซึ่งแทบจะไม่มีความสงสัยเลยว่าเขาได้กระทําผิดมาแล้วสด ๆ”
มาตรา 93 “ห้ามมิให้ทําการค้นบุคคลใดในที่สาธารณสถาน เว้นแต่พนักงานฝ่ายปกครองหรือ ตํารวจเป็นผู้ค้น ในเมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลนั้นมีสิ่งของในความครอบครองเพื่อจะใช้ในการกระทําความผิด หรือซึ่งได้มาโดยการกระทําความผิดหรือซึ่งมีไว้เป็นความผิด”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การตรวจค้นและการจับของ ร.ต.อ.ละมุดชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ร้านอาหารของนายเทาในช่วงเวลาที่ร้านยังเปิดทําการขายอาหารอยู่นั้นย่อมถือเป็นที่สาธารณสถาน การที่ ร.ต.อ.ละมุด แสดงตัวเป็นเจ้าพนักงานตํารวจและขอตรวจค้นตัวนายเทาโดยที่ไม่มีหมายค้นนั้น โดยหลักย่อมไม่สามารถทําได้ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อได้ความว่า ร.ต.อ.ละมุด ได้รับรายงานจากสายลับที่มีความน่าเชื่อถือว่านายเทามีเมทแอมเฟตามีน ซุกซ่อนอยู่ จึงมีเหตุอันควรสงสัยว่านายเทามีสิ่งของที่มีไว้เป็นความผิดซุกซ่อนอยู่ ดังนั้น ร.ต.อ.ละมุด จึงมีอํานาจ ค้นตัวนายเทาซึ่งอยู่ที่ร้านอาหารของนายเทาที่เปิดทําการอันเป็นที่สาธารณสถานได้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 93
และเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า พบเมทแอมเฟตามีนอยู่ที่ตัวของนายเทา ซึ่งถือเป็นความผิด ซึ่งหน้า ร.ต.อ.ละมุด จึงมีอํานาจจับนายเทาได้โดยไม่ต้องมีหมายจับตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 78 (1) ประกอบมาตรา 80 วรรคหนึ่ง การตรวจค้นและการจับกุมของ ร.ต.อ.ละมุด จึงชอบด้วยกฎหมาย
สรุป การตรวจค้นและการจับของ ร.ต.อ. ละมุด ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อ 4. นายสับปะรดร้องทุกข์ให้ดําเนินคดีแก่นายหินในความผิดฐานลักทรัพย์ในเคหสถาน ระหว่างการสอบสวนนายหินทราบว่าตนถูกกล่าวหาจึงเข้าหาพนักงานสอบสวนเพื่อให้ปากคํา พนักงานสอบสวน จึงได้สอบคําให้การของนายหินไว้ในฐานะผู้ต้องหาโดยปรากฏว่า ก่อนถามคําให้การพนักงานสอบสวน ถามนายหินว่ามีทนายความหรือไม่ นายหินตอบว่ามีทนายความแล้วหลังจากที่ทนายความของ นายหินมาถึงที่ทําการของพนักงานสอบสวนและได้เข้าร่วมฟังการสอบปากคํา พนักงานสอบสวน ได้แจ้งข้อหาลักทรัพย์ในเคหสถานแก่นายหิน แต่พนักงานสอบสวนไม่ได้แจ้งสิทธิของผู้ต้องหาตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134/4 วรรคหนึ่ง ให้ผู้ต้องหาทราบว่าผู้ต้องหา มีสิทธิที่จะให้การหรือไม่ก็ได้ ถ้อยคําที่ผู้ต้องหาให้การนั้นอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการ พิจารณาคดีได้ และผู้ต้องหามีสิทธิให้ทนายความหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคําได้
ดังนี้ พนักงานอัยการจะมีอํานาจฟ้องหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา 120 “ห้ามมิให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีใดต่อศาล โดยมิได้มีการสอบสวนในความผิด นั้นก่อน”
มาตรา 134/1 วรรคหนึ่งและวรรคสอง “ในคดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิต หรือในคดีที่ผู้ต้องหา มีอายุไม่เกินสิบแปดปีในวันที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหา ก่อนเริ่มถามคําให้การให้พนักงานสอบสวนถามผู้ต้องหา ว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีให้รัฐจัดหาทนายความให้
ในคดีที่มีอัตราโทษจําคุก ก่อนเริ่มถามคําให้การให้พนักงานสอบสวนถามผู้ต้องหาว่ามีทนายความ หรือไม่ ถ้าไม่มีและผู้ต้องหาต้องการทนายความ ให้รัฐจัดหาทนายความให้”
มาตรา 134/2 “ให้นําบทบัญญัติในมาตรา 133 ทวิ มาใช้บังคับโดยอนุโลมแก่การสอบสวน ผู้ต้องหาที่เป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปี”
มาตรา 134/3 “ผู้ต้องหามีสิทธิให้ทนายความหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคําตนได้”
มาตรา 134/4 “ในการถามคําให้การผู้ต้องหา ให้พนักงานสอบสวนแจ้งให้ผู้ต้องหาทราบก่อนว่า
(1) ผู้ต้องหามีสิทธิที่จะให้การหรือไม่ก็ได้ ถ้าผู้ต้องหาให้การ ถ้อยคําที่ผู้ต้องหาให้การนั้น อาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้
(2) ผู้ต้องหามีสิทธิให้ทนายความหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคําตนได้ เมื่อผู้ต้องหาเต็มใจให้การอย่างใดก็ให้จดคําให้การไว้ ถ้าผู้ต้องหาไม่เต็มใจให้การเลยก็ให้บันทึกไว้
ถ้อยคําใด ๆ ที่ผู้ต้องหาให้ไว้ต่อพนักงานสอบสวนก่อนมีการแจ้งสิทธิตามวรรคหนึ่ง หรือก่อนที่ จะดําเนินการตามมาตรา 134/1 มาตรา 134/2 และมาตรา 134/3 จะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ ความผิดของผู้นั้นไม่ได้”
วินิจฉัย
ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 120 กําหนดไว้ว่า ห้ามมิให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีใดต่อศาลหากยัง มิได้ทําการสอบสวนในความผิดนั้นก่อน ซึ่งการสอบสวนนั้นจะต้องทําตามขั้นตอนและวิธีการที่กฎหมายกําหนดไว้ เพราะหากผิดขั้นตอนในสาระสําคัญ การสอบสวนย่อมเสียไป ส่งผลให้พนักงานอัยการไม่มีอํานาจฟ้องในที่สุด
กรณีตามอุทาหรณ์ พนักงานอัยการจะมีอํานาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 134/4 วรรคหนึ่ง ก่อนถามคําให้การผู้ต้องหานั้น กฎหมายกําหนดให้พนักงานสอบสวนแจ้งให้ผู้ต้องหาทราบว่า
(1) ผู้ต้องหามีสิทธิที่จะให้การหรือไม่ก็ได้ ถ้าผู้ต้องหาให้การ ถ้อยคําที่ผู้ต้องหาให้การนั้นอาจใช้เป็นพยานหลักฐาน ในการพิจารณาคดีได้ และ
(2) ผู้ต้องหามีสิทธิให้ทนายความหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคําตนได้ จาก ข้อเท็จจริง แม้ว่าพนักงานสอบสวนจะมิได้แจ้งสิทธิแก่นายหินตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 134/4 วรรคหนึ่ง (1) (2) แต่มาตรา 134/4 วรรคท้าย ถือเป็นเพียงเหตุให้คําให้การของผู้ต้องหาจะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ ความผิดของผู้ต้องหาไม่ได้เท่านั้น หาทําให้การสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมายทั้งหมดไม่ ดังนั้นเมื่อมีการสอบสวน ที่ชอบด้วยกฎหมาย พนักงานอัยการจึงมีอํานาจฟ้องคดีนี้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 120
สรุป พนักงานอัยการมีอํานาจฟ้อง ตามหลักเหตุผลและหลักกฎหมายข้างต้น